Feminist City หนังสือที่เล่าเรื่องความไม่ง่ายของชีวิตผู้หญิงในเมืองที่ออกแบบโดยผู้ชาย

สารภาพตามตรงว่า–ด้วยความที่ผมเป็นผู้ชายด้วยแล้ว–ในครั้งแรกที่เห็นชื่อหนังสือเล่มนี้ผมไม่ค่อยเข้าใจนักว่า ‘Feminist City’ หรือ ‘เมืองของเฟมินิสต์’ คืออะไร เมืองของผู้หญิงงั้นเหรอ? หรือจะหมายความว่าเมืองที่ออกแบบโดยผู้หญิงกันนะ?

“ไม่ถึงกับผิด แต่ก็ยังไม่ถูกต้องนัก” Leslie Kern รองศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Mount Allison ประเทศแคนาดาและผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คล้ายจะบอกกับผมแบบนั้น คำถามคือ แล้วสำหรับเคิร์น อะไรกันล่ะคือเมืองของเฟมินิสต์?

เมืองแห่งความไม่เท่าเทียม

เสมอมาในประวัติศาสตร์ พื้นที่เมืองคือจุดศูนย์กลางของความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางการเมืองที่บดขยี้คนตัวเล็กๆ ไปจนถึงการแบ่งแยกเชื้อชาติ เหยียดสีผิว และการกดขี่ทางเพศ และแม้ว่าในสังคมปัจจุบันในบางพื้นที่ประเด็นต่างๆ ที่ยกตัวอย่างมานี้จะถูกรับรู้และจัดการไปบ้างแล้ว ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เพียงแค่เฉพาะผู้หญิง แต่ยังรวมถึงผู้คนจากหลากหลายเพศสภาพ ศาสนา และชาติพันธุ์ยังรับรู้ได้ถึงการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ไม่เป็นธรรม และถูกกีดกันออกจากกระบวนการตัดสินใจใดๆ สำหรับเคิร์นเมืองจึงยังเป็นพื้นที่ของความไม่เท่าเทียมและการกดขี่ซึ่งกำหนดประสบการณ์และวิถีชีวิตภายในเมืองของคนเหล่านี้อย่างไม่สอดคล้องกับความต้องการของพวกเขา

ผ่านหนังสือเล่มนี้ เคิร์นพยายามจะพิจารณาประเด็นความไม่เท่าเทียมกันในสังคมที่กำหนดรูปแบบชีวิตในเมืองของคนกลุ่มต่างๆ ผ่านมุมมองทางเพศภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประสบการณ์ของผู้หญิง เคิร์นตั้งคำถามว่า ‘ประสบการณ์ของผู้หญิงในเมืองที่ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่างๆ ทั้งในระดับกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสัญลักษณ์นั้นเป็นยังไง ยิ่งเมื่ออุปสรรคทั้งหลายเหล่านี้มีความเป็นเพศ (gendered) ด้วยแล้ว’

แต่ก่อนที่จะไปสำรวจคุณลักษณะของเมืองในปัจจุบันว่าได้สร้างอุปสรรคอะไรให้กับผู้หญิงบ้าง เราอาจจำเป็นต้องทวนเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปสู่อดีตกันสักหน่อยว่า เมืองกลายเป็นอุปสรรคของผู้หญิงได้ยังไง

การควบคุมผู้หญิงในเมืองสมัยใหม่

“ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นปัญหาของเมืองสมัยใหม่อยู่เสมอ” เคิร์นกล่าวประโยคนี้ในหน้าแรกๆ ของหนังสือเล่มนี้

ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม การเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของเมืองต่างๆ ในยุโรปได้นำมาซึ่งความปั่นป่วนระหว่างชนชั้นต่างๆ ในสังคม โดยที่ค่านิยมแบบยุควิกตอเรียนที่ครั้งหนึ่งเคยขีดเส้นแบ่งอย่างชัดเจนเพื่อจัดระเบียบผู้คนแต่ละชนชั้นและรักษาสถานะอันสูงส่งของผู้หญิงผิวขาวก็ได้ถูกท้าทายภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อจำนวนประชากรในเมืองเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในเมืองก็ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะหลบเลี่ยง

“สุภาพบุรุษและสุภาพสตรีถูกบังคับให้ต้องเดินไหล่ชนไหล่กับชนชั้นล่าง ถูกเบียดและผลักโดยปราศจากพิธีการหรือความเคารพใดๆ” Elizabeth Wilson นักประวัติศาสตร์วัฒนธรรมกล่าวถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของชนชั้นนำยุโรปภายใต้การขยายตัวขึ้นของความเป็นเมือง

Feminist City

ในแง่นี้ ภายใต้ระเบียบของสังคมยุคเก่าที่โดนท้าทาย จึงไม่เพียงทำให้การแยกแยะความแตกต่างระหว่างชนชั้นทำได้ยากขึ้นเท่านั้น แต่ผู้หญิงเองก็ได้รับผลกระทบจากการถูกเข้าใจผิดว่าเป็น ‘ผู้หญิงสาธารณะ’ (public woman) ความพร่าเลือนทางสถานะระหว่างผู้หญิงชนชั้นสูงกับผู้หญิงชนชั้นล่างในลักษณะนี้ได้นำไปสู่กระบวนการจัดการผู้หญิง 2 รูปแบบด้วยกัน นั่นคือ ในกรณีของผู้หญิงจากชนชั้นสูง พวกหล่อนก็จะยิ่งถูกกีดกันออกจากพื้นที่เมืองมากขึ้น จากการที่เมืองถูกรับรู้ว่าเป็นพื้นที่ของความไร้ระเบียบและอาจนำอันตรายมาสู่หญิงสาวเหล่านี้ ทว่าในกรณีของผู้หญิงจากชนชั้นล่าง เมื่อกระบวนการกลายเป็นเมืองได้ส่งผลให้ ‘สลัม’ ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนคุณภาพชีวิตของชนชั้นล่างที่ไม่เคยจะเป็นที่โปรดปรานของชนชั้นสูงอยู่แล้วยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในพื้นที่สาธารณะ ‘การจัดระเบียบ’ จึงกลายเป็นปฏิบัติการในการควบคุมชนชั้นล่างเหล่านี้ โดยที่ผู้หญิงได้กลายเป็นเป้าหมายหนึ่งที่ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ กีดกันให้ต้องถอยออกห่างจากพื้นที่เมืองที่ลำพังแค่ผู้ชายก็สร้างความวุ่นวายมากพอแล้ว ทำไมยังต้องมีผู้หญิงอีก

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงจากชนชั้นไหน แต่เมื่อได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงแล้ว ‘เสรีภาพในการเคลื่อนที่’ ก็แทบจะถูกจำกัดในทุกมิติ ภายใต้การเกิดขึ้นของเมืองสมัยใหม่ ในขณะที่ผู้ชายได้รับอิสรภาพในการเป็นส่วนหนึ่งกับเมืองได้อย่างเต็มที่ ผู้หญิงกลับต้องเผชิญหน้ากับข้อจำกัดในการเคลื่อนที่ที่คล้ายจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จากครรภ์มารดาสู่การเป็นแม่คน

กลับมาในยุคสมัยปัจจุบันกันบ้าง แม้ว่าข้อจำกัดต่างๆ ที่จำกัดอิสรภาพของผู้หญิงในยุคปัจจุบันจะลดลงไปบ้างแล้ว แต่เคิร์นกลับมองว่าความพยายามที่จะควบคุมร่างกายของผู้หญิงยังคงเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นอยู่เสมอไม่เว้นวัน 

หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดซึ่งมาจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือร่างกายของผู้หญิงขณะตั้งครรภ์และเป็นแม่คน “การตั้งครรภ์และการต้องเป็นแม่ทำให้ฉันตระหนักถึงความเป็นเพศของเมืองได้อย่างแจ่มแจ้งเต็มสองตา” เคิร์นอธิบายว่าเมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์ ร่างกายของหล่อนจะเปลี่ยนสถานะไปสู่ ‘ทรัพย์สินสาธารณะ’ (public property) โดยทันที ในความหมายที่ว่าร่างกายของผู้หญิงขณะที่ยังไม่ตั้งครรภ์จะทำให้ผู้หญิงสามารถกลืนเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนในเมืองได้บ้าง ทว่าเมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์ขึ้นมา สภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปไม่เพียงทำให้ผู้หญิง ‘ไม่สามารถ’ กลืนเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนในเมืองได้ แต่ร่างกายขณะตั้งครรภ์ยังกลายเป็นร่างกายที่ถูกจ้องมองเป็นพิเศษจากสายตาต่างๆ จนทำให้ผู้หญิงสูญเสียความเป็นส่วนตัวไปแทบจะในทันที

Feminist City

การจ้องมองก็เรื่องหนึ่ง แต่ทัศนคติที่สังคมมีต่อร่างกายของผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์กับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จำเป็นต้องพิจารณา นั่นเพราะท้องที่ป่องออกมาจะถูกรับรู้ในฐานะ ‘ความไม่สะดวกสบาย’ โดยทันที ไม่ว่าจะในแง่ของการเคลื่อนที่ซึ่งจำเป็นต้องระมัดระวังกว่าเดิม รวมไปถึงการครอบครองพื้นที่ที่มากขึ้นจากร่างกายที่ขยายใหญ่ “ฉันอับอายกับท้องใหญ่ๆ ของฉัน และการต้องประคองร่างกายของตัวเองอย่างกระท่อนกระแท่นในพื้นที่สาธารณะ ฉันไม่อยากเปล่งแสง ฉันอยากจะหลบซ่อนอยู่เงียบๆ” เคิร์นรำพันกับตัวเอง

หากร่างกายที่ตั้งครรภ์คือความไม่สะดวกสบาย การเป็นแม่ที่ต้องเดินทางพร้อมกับลูกตัวน้อยๆ ก็ย่อมจะหมายถึง ‘ความลำบากลำบน’ เพราะลำพังแค่ผู้หญิงคนเดียวเมืองก็ดูจะไม่ใช่พื้นที่ที่ง่ายนักในการเคลื่อนที่อยู่แล้ว แต่พอกรณีนี้ที่มีอีกชีวิตหนึ่งติดสอยห้อยตามมาด้วยตลอดเวลา ความไม่ง่ายที่มีอยู่แล้วก็ยิ่งจะทบทวีขึ้นไปอีกขั้น ไม่ว่าจะจากสายตาของผู้คนที่คอยประเมินคุณสมบัติของแม่ว่าสามารถดูแลลูกได้จริงๆ หรือเปล่า อันตรายต่างๆ ที่อาจจะทำร้ายแม่และเด็กน้อย ไปจนถึงการเคลื่อนไหวที่จำเป็นต้องคำนึงถึงอีกชีวิตหนึ่งอยู่ตลอดเวลา

“เมื่อใดที่ฉันปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง ปิดบังร่างกายที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ของฉันจนสังเกตได้ยาก หรือสามารถดูแลลูกๆ ได้ในระดับที่คนแปลกหน้าจะพึงพอใจ ฉันจะได้รับรอยยิ้มและความช่วยเหลือ ทว่าในทันทีที่ร่างกายของฉันขยายใหญ่จนเห็นได้ชัด หรือลูกๆ ฉันเสียงดังจนเกินไป ฉันกลับต้องเผชิญกับสายตาที่เกรี้ยวกราด ถ้อยคำเหยียดหยาม หรือกระทั่งบางครั้ง–การทำร้ายร่างกาย”

Feminist City

สำหรับเคิร์น ไม่ใช่ทุกวันที่ประสบการณ์ในเมืองจะหมายถึงความเลวร้าย ถึงอย่างนั้นมันก็ยังเป็นความไม่แน่ไม่นอนที่คาดเดาไม่ได้ ยิ่งเมื่อเธอตระหนักว่าโครงสร้างต่างๆ ของเมืองเองก็ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับชีวิตของคนที่กำลังเป็นแม่คนมากนัก ทุกๆ อย่างถูกลดหลั่นลงมาจนกลายเป็นความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล 

คำถามคือ ต้องทำยังไงกันล่ะเราถึงจะมีเมืองที่ชีวิตของแม่ๆ เหล่านี้จะสามารถดำเนินไปอย่างง่ายดายขึ้นได้

เมืองของเฟมินิสต์

“นึกออกไหมว่า เมืองที่ถูกออกแบบภายใต้การคำนึงถึงชีวิตประจำวันของคนเป็นแม่จะมีหน้าตาประมาณไหน แล้วถ้ากับแรงงานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำล่ะ? หรือกับผู้พิการล่ะ” เคิร์นชวนผู้อ่านจินตนาการถึงความเป็นไปได้ของเมืองที่แตกต่างออกไป

ในแง่นี้ ข้อเสนอหลักของหนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่ว่าเราจะออกแบบเมืองที่เหมาะสำหรับผู้หญิงยังไง แต่คือเราจำเป็นต้องมองเห็นเงื่อนไขในการดำเนินชีวิตของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายในกระบวนการออกแบบเมือง โดยเงื่อนไขที่ว่านี้ก็ไม่ได้หมายถึงความแตกต่างทางกายภาพ เช่น ผู้หญิงกับผู้ชาย หรือเด็กกับผู้สูงอายุเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำต่างๆ ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากร ไปจนถึงการเหยียดเพศและชาติพันธุ์

เคิร์นอธิบายว่า ปัญหาของการออกแบบเมืองในปัจจุบันคือการอนุมานไปล่วงหน้าว่ามนุษย์ที่อาศัยอยู่ในเมืองจะมีรูปร่างและฐานะประมาณไหน กล่าวให้ถึงที่สุดคือ ‘ผู้ชายผิวขาวที่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างเป็นปกติ’ มักจะเป็นตัวแบบพื้นฐานในการวาดภาพรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนในเมือง ภายใต้วิธีคิดเช่นนี้ การออกแบบวิธีการใช้สอยพื้นที่ต่างๆ ในเมืองจึงมักอยู่ภายใต้การอนุมานว่าผู้คนส่วนใหญ่ที่จะเข้าถึงพื้นที่เหล่านี้เป็นผู้ชายเป็นหลัก–หรือไม่อย่างนั้นก็อาจเป็น ‘ผู้หญิงผิวขาวที่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างเป็นปกติ’ โดยที่ประชากรที่รูปพรรณสัณฐานแตกต่างไปจากนี้ก็มักจะไม่ถูกให้ความสำคัญสักเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้ ประสบการณ์ในการใช้สอยพื้นที่เมืองระหว่างผู้หญิงผิวขาวกับผู้หญิงผิวดำย่อมจะแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับผู้คนเพศหลากหลายที่มักถูกมองข้ามอยู่เสมอในกระบวนการออกแบบเมือง

“เมืองของเฟมินิสต์ไม่จำเป็นต้องมีพิมพ์เขียวในการสร้างมันขึ้นมาจริงๆ ฉันไม่ได้ต้องการให้นักวางผังเมืองเฟมินิสต์สักคนมาล้มล้างทุกสิ่งอย่างแล้วเริ่มต้นกันใหม่ แต่เมื่อเราเริ่มมองเห็นว่าเมืองของเราถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองวิถีชีวิตรูปแบบหนึ่งยังไง หากเราพยายามมองให้กว้างไกล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสภาพ ชาติพันธุ์ และความแตกต่างของร่างกาย นั่นจะทำให้เรามองเห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการออกแบบเมือง”

สำหรับเคิร์น การเสนอแนวคิดเมืองของเฟมินิสต์จึงไม่ได้หมายความว่าเธอมีคำตอบที่ชัดเจนต่อการแก้ไขทุกปัญหาในเมือง แต่คือ ‘การเรียกร้อง’ ให้นักวางผังเมืองพิจารณาประสบการณ์ของผู้คนต่างๆ ภายในเมืองในฐานะส่วนสำคัญของกระบวนการวางแผน เพราะมนุษย์ไม่ใช่จุดกลมๆ จุดหนึ่งบนแผนที่ที่ปราศจากชีวิต แต่คือจุดกลมๆ ที่มีชีวิตและต่างก็แบกรับข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป

“เมืองของเฟมินิสต์คือการทดลองที่จำเป็นต้องดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งรูปแบบชีวิตที่แตกต่าง คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า และเป็นธรรมขึ้นในพื้นที่เมือง” เคิร์นกล่าวทิ้งท้าย

เมืองของเทวดา

ผมคิดว่า Feminist City คือหนังสือที่น่าสนใจมากเล่มหนึ่ง โดยเฉพาะที่หนังสือเล่มนี้หยิบจับประสบการณ์ต่างๆ ในการใช้เมืองของผู้คนที่ต่างก็มีเงื่อนไขในชีวิตที่แตกต่างกันไป ไม่เพียงแต่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้คนเพศหลากหลายที่ต่างก็รู้สึกว่าในหลายๆ ครั้ง เมืองดูจะไม่ใช่พื้นที่ที่ให้การต้อนรับพวกเขาสักเท่าไหร่นัก

แต่หากหนังสือเล่มนี้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้างก็เห็นจะเป็นสิ่งที่ตัวผู้เขียนบอกไว้อย่างชัดเจนว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ในเล่มนั้นมาจากประสบการณ์ชีวิตของผู้คนในภาคพื้นทวีปเหนือเป็นหลัก และไม่ค่อยมีคำบอกเล่าจากผู้คนในภาคพื้นทวีปใต้หรือในภูมิภาคที่ห่างไกลออกมาหน่อยอย่างเอเชียมากนัก ซึ่งก็คงจะเป็นโจทย์ที่ฝากถึงพวกเราซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้รับไม้ต่อและพิจารณาด้วยสายตาและประสบการณ์ในชีวิตประจำวันว่า เมืองที่เรากำลังอาศัยอยู่ได้สร้างข้อจำกัดอะไรให้กับเราบ้าง

เยอะแยะมากมายเต็มไปหมด นั่งนับกันจนจะตายไปข้าง ยิ่งพอเป็นเมืองที่พร่ำพ่นกันว่าเทพสร้างๆ แต่ไหนล่ะเทพที่ว่า เคยถอดสถานะเทวดาลงมาเดินถนนร่วมกับประชาชนคนธรรมดาบ้างสักครั้งไหม

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone