“นิ่งเฉยไม่ต่างจากการสนับสนุน” ว่าด้วยปัญหาการคุกคามทางเพศและวัฒนธรรม call out ในไทย

(คำเตือน : บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศและการข่มขืน) คุกคามทางเพศ

Sexual Harassment หรือการคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แม้บ้านเมืองจะพัฒนาไปถึงไหน แต่ปัญหานี้ยังวนเวียนอยู่ราวกับวงจรชีวิตของยุงก็ไม่ปาน

หากย้อนไปเมื่อหลายปีก่อนที่โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ยังไม่บูม การล่วงละเมิดทางเพศถือเป็นเรื่องที่คนไทยไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก จะเป็นกระแสใหญ่โตทีก็ต้องอยู่ในระดับที่เหยื่อออกมาแจ้งความ หรือเป็นกรณีฉาวที่ชาวบ้านเมาท์กันต่อได้ เช่นการถูกคนในครอบครัวกระทำชำเรา ซึ่งสุดท้ายแทนที่สังคมจะประณามคนทำ เหยื่อกลับถูกกล่าวโทษด้วยเหตุผลที่ฟังแล้วต้องคิ้วขมวดอย่าง ‘แต่งตัวยั่วยวน’, ‘อ่อยเองหรือเปล่า’ หรือร้ายแรงที่สุดคือ ‘มันเป็นเรื่องปกติ’

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการผลักให้เหยื่อเป็นฝ่ายผิด เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้คนอื่นๆ ที่โดนกระทำในลักษณะเดียวกันนั้นปิดปากเงียบ และทำให้การไม่พูดกลายเป็นเรื่องปกติอย่างน่าเศร้า

แต่ในยุคที่ชีวิตของหลายคนผูกติดกับโลกออนไลน์ มีแคมเปญ #MeToo ช่วยจุดประเด็นให้เหยื่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากทั่วโลกกล้าออกมาพูดความจริง โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถูกคุกคามและเวทีแห่งการเรียกร้องความยุติธรรม ยกตัวอย่างในประเทศจีน ลั่ว เฉียนเฉียน อดีตนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในปักกิ่งได้ออกมาแฉผ่านเว็บไซต์สุดฮิตของจีนอย่าง Weibo ว่าถูกอาจารย์ที่ปรึกษาของตัวเองล่วงละเมิดทางเพศ เธอยังรวบรวมหลักฐานจากศิษย์เก่าคนอื่นๆ ผู้มีประสบการณ์เดียวกันไปแจ้งหน่วยวินัยจนอาจารย์คนนั้นถูกไล่ออก หรือในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าระเบียบสังคมแบบชายเป็นใหญ่ครอบงำอย่างเกาหลีใต้ก็ยังมีผู้หญิงจำนวนมากกล้าเปิดโปงว่าเคยถูกคุกคามโดยคนบันเทิงและผู้มีอิทธิพลหลายคนจนผู้กระทำผิดต้องอนาคตดับไปตามๆ กัน

มูฟเมนต์เหล่านี้ทำให้เหยื่อโดยเฉพาะผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศคนอื่นๆ ลุกขึ้นมาเล่าเรื่องของตัวเองบ้าง เรื่องราวของพวกเธอสร้างความตระหนักรู้เป็นวงกว้าง เกิดการสนับสนุนให้เหยื่อไม่โทษตัวเองและไม่มองข้ามเรื่องนี้อีกต่อไป

เรื่องนี้ที่ว่าไม่ได้หมายถึงแค่การคุกคามระดับถูกเนื้อต้องตัวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการคุกคามด้วยคำพูดหรือตัวอักษรในโซเชียลมีเดียอย่างการแซว การพูดสองแง่สองง่าม การวิจารณ์รูปร่างหน้าตาที่ส่อไปในทางลามกอนาจาร ไปจนถึงการพูดแทะโลมอย่างสนุกปาก

ถ้าให้ยกกรณีที่เห็นได้ชัดและสร้างการถกเถียงในประเด็นการคุกคามทางเพศจนเป็นมหากาพย์ในไทย คงหนีไม่พ้นกรณีการใช้คำว่า ‘ห อ ม’, ‘คือลือ’ หรือ ‘เบิ้มๆ’ ซึ่งมีต้นตอจากผู้ชายกลุ่มหนึ่งคอมเมนต์รูปมีมที่มีคำว่า ‘หอมจริงๆ’ จากซีรีส์จีนเรื่อง ยอดพ่อครัววังจักรพรรดิ ใต้ภาพผู้หญิงและเน็ตไอดอลหลายคนจนกลายเป็นเทรนด์ฮิตในกลุ่มชายชาวเน็ต ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมอย่างหนักขนาดที่สื่อในกระแสหลายสำนักนำไปเสนอข่าว

เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการคุกคามทางเพศของไทยยังมีอยู่ แม้โซเชียลมีเดียแทบทุกแอพฯ จะมีฟังก์ชั่นรีพอร์ตคอมเมนต์หรือโพสต์เชิงคุกคามก็ตาม แต่นั่นคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือผู้ใช้หลายคนอาจไม่ได้เปิดใจกับประเด็นการคุกคามทางเพศกันอย่างจริงจัง จนบางครั้งไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ตัวเองทำคือการคุกคาม หลายคราวเราจึงเห็นการต่อสู้กันของขั้วตรงข้ามระหว่างคนที่ออกมาก่นด่าคนกระทำผิดกับคนที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ทำคือการคุกคามทางเพศ

น่าสังเกตว่ามีหลายครั้งที่เหยื่อผู้โดนคุกคามออกมาพูดเพื่อสิทธิของตัวเอง ในขณะที่หลายครั้งเหยื่อก็เลือกที่จะเงียบเพราะไม่ได้รู้สึกว่าถูกคุกคาม ไม่อยากออกมาเรียกร้อง หรือด้วยเหตุผลใดๆ แต่บรรยากาศของยุคนี้ทำให้หลายคนมองว่าการคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องปัจเจกที่ต่างคนต่างต้องต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเองอีกต่อไป การนิ่งเฉยหรือไม่ออกมาเรียกร้องอาจเป็นการสนับสนุนให้เกิดการคุกคามทางเพศกับเหยื่อคนอื่นๆ ในอนาคต อาจพูดได้ว่าการนิ่งเฉยทำให้การคุกคามทางเพศกลายเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้นั่นเอง

นอกจากกระแสในโลกโซเชียลมีเดียที่คุกรุ่น การเรียกร้องยังขยายขอบเขตจากโลกออนไลน์มาสู่โลกแห่งความจริง ผลักดันให้มูฟเมนต์นี้มีพลังขึ้นและเห็นภาพชัดเจน หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือม็อบของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องความเท่าเทียมพร้อมกับประชาธิปไตยกันมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 โดยเฉพาะม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล, Mob Fest และม็อบนักเรียนเลว ที่หยิบหลากหลายปัญหาสังคมมาพูดรวมถึงประเด็นการคุกคามทางเพศ เช่น การปราศรัยบนเวทีถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา การแสดง ‘สีดาลุยไฟ’ โดยกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกที่พูดถึงหญิงที่ถูกปิตาธิปไตยกดขี่ในเชิงสัญลักษณ์ รวมถึงการที่ผู้ชุมนุมบางคนถือป้ายที่มีข้อความประจานความเลวร้ายของการคุกคามทางเพศ

ทั้งหมดถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของมูฟเมนต์ที่ทำให้เหยื่อผู้เคยถูกคุกคามทางเพศหลายคนตระหนักว่าที่จริงแล้วตนเคยถูกคุกคามทางเพศแต่ไม่รู้ตัวมาตลอด เกิดกระแสของการศึกษาเรื่องการคุกคามทางเพศจากหนังสือ งานวิชาการ และสื่ออย่างจริงจัง การได้เห็นคนที่เคยผ่านประสบการณ์คล้ายๆ กันออกมาพูดอย่างกล้าหาญ ช่วยผลักดันให้เหยื่อหลายคนออกมาแสดงตัว เหล่านี้คือปรากฏการณ์ที่ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการเรียกร้อง (call out) และการพยายามทำลายวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย

ถึงจะมีสัญญาณดีๆ แต่ในสังคมไทยที่ระบบชายเป็นใหญ่ฝังรากลึก การแก้ปัญหาการคุกคามทางเพศยังต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากทุกคนในสังคม ซึ่งอาจเริ่มได้จากการสร้างความตระหนักรู้แก่คนรุ่นใหม่ ปลูกฝังให้คนทุกเพศทุกวัยรู้จักเคารพสิทธิเสรีภาพในเรือนร่างของตนและผู้อื่น ในขณะที่คนรุ่นก่อนอาจต้องเปิดใจต่อการรื้อค้นและตั้งคำถามต่อค่านิยมเดิมๆ ที่ผลิตซ้ำกันมานาน รวมถึงหยุดการกล่าวโทษเหยื่อ เพื่อทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกสะดวกใจมากขึ้นในการออกมา call out การคุกคามทางเพศ

เลิกตัดสินเหยื่อจากเสื้อผ้าที่พวกเขาใส่ พฤติกรรมที่พวกเขาทำ และไม่ปล่อยให้การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องปกติอีกต่อไป นั่นอาจเป็นวิธีการที่จะจัดการปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน

นลินรัตน์ ตู้ทับทิม หญิงสาวผู้ไม่ยอมปิดปากเงียบกับการคุกคามทางเพศอีกต่อไป

ท่ามกลางกระแสต่อต้านการคุกคามทางเพศในไทย หนึ่งในเหยื่อที่ออกมาพูดจนกลายเป็นแรงกระเพื่อมใหญ่ซึ่งทำให้ใครหลายคนหันมาสนใจการขับเคลื่อนเรื่องนี้คือ เอิน–นลินรัตน์ ตู้ทับทิม หญิงสาวที่หลายคนอาจคุ้นหน้าจากภาพถ่ายของเธอในม็อบนักเรียนเลวเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 ซึ่งกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว 

ในภาพนั้นนลินรัตน์สวมชุดนักเรียน ม.ปลาย แปะสก็อตช์เทปรูปตัว X ปิดปาก และถือป้าย ‘หนูถูกครูทำอนาจาร รร.ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย’

ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อนตอนที่นลินรัตน์ยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เธอเคยถูกครูในโรงเรียนคนหนึ่งฉวยโอกาสลวนลามด้วยการจับหน้าอกและส่วนอื่นของร่างกายมากถึง 3 ครั้ง หลังจากอดทนเกือบ 4 ปี นลินรัตน์ตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากโรงเรียนแต่กลับถูกเพิกเฉย เธอต้องทนทรมานกับภาวะทางจิตเวชและโรคแพนิกที่เกิดจากเหตุการณ์การถูกคุกคามครั้งนั้นต่ออีกหลายปี

คุกคามทางเพศ

“เรารอมาตลอดว่าเมื่อไหร่จะมีใครออกมา call out เรื่องนี้ เพราะเมื่อ 4-5 ปีก่อนเราไม่กล้าบอกใคร คิดว่าถ้าบอกไปน่าจะโดนกระแสตีกลับรุนแรง คุณหมอประเมินแล้วว่าน่าจะรับกระแสต่อต้านไม่ไหว เราก็ปล่อยผ่านเรื่องนี้มาตลอด” สิ่งที่นลินรัตน์ทำได้มีเพียงการโพสต์เรื่องราวของตัวเองผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งแม้จะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจ แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวจากทางโรงเรียนต้นเหตุ จุดนี้เองที่นลินรัตน์คิดว่าสักวันการ call out ของเธอจะต้องก้าวออกจากโลกออนไลน์แล้วยกระดับสู่การเรียกร้องที่เป็นรูปธรรมกว่านั้น  

“กระทั่งช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เราเห็นเคสการคุกคามทางเพศในเด็กเยอะมาก ไม่ว่าจะถูกคุกคามจากครูหรือเด็กด้วยกัน ประจวบกับช่วงนั้นมีม็อบนักเรียนเลวที่ชวนให้คนออกมาพูดปัญหาในโรงเรียน เรารู้สึกว่าปัญหานี้ยังไม่เป็นที่พูดถึงในวงกว้างสักเท่าไหร่เลยตัดสินใจออกมาแสดงตัวในม็อบ”

คุกคามทางเพศ

นลินรัตน์เปรียบเปรยว่า กระแสต่อต้านการคุกคามทางเพศก็เหมือนพลุที่จุดแล้วดับ สิ่งสำคัญคือการมีคนเห็นพลุดอกนั้นแล้วจุดต่อ ตอนที่เธอออกไปจุดพลุของตัวเอง เธอไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าผลจะเป็นยังไง 

“ที่ผ่านมายังไม่เคยมีเด็กอายุเท่าเราออกมาจุดแต่อย่างน้อยเราอยากทำให้คนที่จะออกมารู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องกลัวการจุดพลุดอกนี้เลย”

โชคดีที่การจุดพลุครั้งนั้น ประกายไฟของมันเจิดจ้ากว่าที่นลินรัตน์เคยคิด การแสดงออกของเธอทำให้เกิดการถกเถียงเรื่องนี้บนโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง มีเหยื่อหลายคนกล้าออกมาบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านโซเชียลมีเดีย จำนวนคอมเมนต์เห็นด้วยมีมากกว่าคนที่โทษเหยื่อ ซึ่งถ้าใครทำอย่างหลังก็มักจะโดน ‘ทัวร์ลง’ หรือรุมรีพอร์ต 

นลินรัตน์สรุปว่านี่คือหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นการตระหนักรู้ต่อประเด็นคุกคามทางเพศที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็เป็นผลจากการขับเคลื่อนที่ทำอย่างต่อเนื่องหลายปี

คุกคามทางเพศ

“โซเชียลมีเดียเหมือนเครื่องขยายเสียงของเรา ถ้าไม่มีโซเชียลฯ คนคงไม่กล้าออกมาพูดกันขนาดนี้ คนอื่นๆ ที่โดนเหมือนกันก็กล้าออกมา call out โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาปิดปากเหมือนเมื่อก่อน เพราะถ้าวันหนึ่งที่มีคนเอาสก็อตช์เทปมาปิดปากเมื่อไหร่ เดี๋ยวก็ต้องมีคนมาดึงออกให้หรือไม่ก็เป็นตัวเขานี่แหละที่ดึงออกเอง” เธอยืนยันหนักแน่น 

แม้ว่าวันนี้นลินรัตน์จะยังไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เรื่องของเธอจะจบลงด้วยดีหรือไม่ สำหรับเธอการเรียกร้องเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะทำต่อไปจนกว่าการคุกคามทางเพศจะหายไปจากสังคม


Hear Our Voices คุกคามทางเพศ

หนึ่งในตัวแปรที่ช่วยผลักดันกระแสเรียกร้องเรื่องการคุกคามทางเพศให้บูมขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ คือสื่อและกลุ่มคนที่ผลิตคอนเทนต์เรื่องเพศและเฟมินิสต์ หากคุณกำลังมองหาแหล่งข้อมูลที่อ่านง่าย ดูสนุก สามารถให้คำปรึกษาได้ดี รายชื่อเหล่านี้คือส่วนหนึ่งที่อยากชวนให้รู้จัก

Thaiconsent – สื่อออนไลน์ว่าด้วยเซ็กซ์และเพศสัมพันธ์ สอดแทรกเนื้อหาสาระทางสังคมอย่างสร้างสรรค์ กับความตั้งใจที่อยากให้สังคมไทยมองเซ็กซ์เป็นเรื่องสนุก ปลอดภัย และไม่ทำให้ใครลำบากใจ

THAT MAD WOMAN – แอ็กเคานต์อินสตาแกรมที่ต้องการขยายและผลักดันพื้นที่และเสียงของทุกเพศที่โดนกดขี่ โดยเล่าข้อควรรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศผ่านกราฟิกสีสันสดใสเข้าใจง่าย

เฟมินิสต์ปลดแอก – กลุ่มคนที่เชื่อมั่นในความเท่าเทียมทางเพศและเป็นปฏิปักษ์ต่อการกดขี่และความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบ ขับเคลื่อนทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่ไปด้วยกัน

เฟมินิสต์หน่อย – เพจที่รวบรวมบทความและข่าวสารเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศในบริบทของประเทศไทย เพื่ออัพเดตให้ทุกคนรู้ว่าตอนนี้สถานการณ์เรื่องเพศในสังคมไปถึงไหนกันแล้ว

Feminista – แหล่งรวบรวมงานเขียนเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องเฟมินิสต์ เรื่องเพศ ความเป็นเพศ เพศวิถี โดยต้องการสื่อสารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ

SPECTRUM – สื่อออนไลน์ที่นำเสนอประเด็นเรื่องเพศในแง่มุมต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ภายใต้คอนเซปต์ ‘พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน’


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ a day ฉบับ sex is more สามารถสั่งซื้อได้ที่ godaypoets.com/product/a-day-246/

AUTHOR