“วัยรุ่นยุคใหม่อ่อนไหวราวเกล็ดหิมะ” คำที่ผู้ใหญ่ใช้สบประมาทหนุ่มสาวว่าบอบบางและสนใจแต่ตัวเอง

“วัยรุ่นยุคใหม่อ่อนไหวราวเกล็ดหิมะ” คำที่ผู้ใหญ่ใช้สบประมาทหนุ่มสาวว่าบอบบางและสนใจแต่ตัวเอง

Highlights

  • snowflake generation คือคำที่ผู้ใหญ่ใช้สบประมาทเย้ยหยันคนหนุ่มสาวว่าบอบบาง อ่อนไหวเกินไป สนใจแต่ตัวเอง และขี้เกียจ
  • คำว่า 'snowflake' ถูกใช้ในในแคมเปญโฆษณา ‘Your Army Needs You’ เพื่อใช้ดึงดูดคนหนุ่มสาวสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพ ผ่านโปสเตอร์และวิดีโอ
  • และ snowflake กลายเป็นคำที่แสดงถึงช่องว่างระหว่างวัยของคนต่างยุคต่างสมัยที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกเด็ก เมื่อเกิดการปะทะกันระหว่างรุ่นที่เติบโตต่างกัน

‘คุณไม่ได้พิเศษ  คุณไม่ได้สวยงาม คุณไม่ได้เป็นเกล็ดหิมะอันพิเศษ แตกต่าง ไม่เหมือนใคร คุณเป็นเพียงสารอินทรีย์ที่เน่าสลายได้ เหมือนสรรพสิ่งอื่นๆ ในโลกนี้’

นักเขียนสายดิบดาร์ก Chuck Palahniuk เขียนประโยคนี้ลงในหนังสือนิยายแสบๆ คันๆ อันโด่งดัง อย่าง Fight Club ในปี 1996 และคำนี้ก็ปรากฏในเวอร์ชั่นหนังปี 1999 ด้วย จากนั้นการใช้ snowflake หรือเกล็ดหิมะ เพื่อเปรียบคนที่ทึกทักสำคัญตนว่าพิเศษ แตกต่าง ก็เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายใน popular culture และกลายเป็นคำจำกัดความของหนุ่มสาวและวัยรุ่นยุคใหม่

เราอาจสงสัยว่าทำไมต้องเปรียบเทียบลักษณะคนกับ ‘เกล็ดหิมะ’ ด้วยนะ หลายคนอาจเคยได้ยินว่าผลึกเกล็ดหิมะนั้นมีโครงสร้างสวยงามวิเศษตามธรรมชาติ เมื่อส่องขยายดูก็พบว่ามีหลากหลายรูปร่าง ไม่ซํ้าแบบ แต่ละผลึกก็แตกต่างกัน ในขณะเดียวกัน เกล็ดหิมะก็มีคุณสมบัติเปราะบางเหลือเกิน เพียงแตะเบาๆ ก็สลาย ละลายหายไปได้ในพริบตา คำนี้จึงเป็นคำอุปมาชั้นดีกึ่งๆ ประชดว่า ‘เจ้าผลึกหิมะน้อยอันอ่อนไหว’

ผลึกหิมะที่มีหลากหลายรูปทรงช่างพิเศษแปลกตาและมีค่า
/ Smithsonian Institute flickr.com

 

จากคำเปรียบเปรยนิสัยกลายเป็นคำเหมารวมไว้เรียกคนรุ่นใหม่

ในปี 2016 พจนานุกรม Collins ได้บัญญัติคำว่า ‘snowflake generation’ หรือรุ่นสมัยแห่งเกล็ดหิมะ ให้กลายเป็นคำสำคัญประจำปี แปลว่าคนหนุ่มสาวในช่วงปี 2010s ที่ถูกมองว่าไม่อดทนและอ่อนไหวต่อคำโจมตีกว่าคนรุ่นก่อนหน้า (The young adults of the 2010s, viewed as being less resilient and more prone to taking offence than previous generations.) คำนี้จึงแสดงลักษณะคนรุ่นใหม่ว่าช่างเปราะบางอ่อนไหว และสำคัญตนว่าตัวเองพิเศษเหนือใคร ยอมรับคนที่เห็นต่างไม่ได้ 

‘เกล็ดหิมะอันพิเศษแตกต่าง’ กลายเป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช้กล่าวค่อนแคะแซะว่า ดูสิ ‘เด็กสมัยนี้’ คิดว่าตนเองพิเศษเหนือใคร ไม่อดทน ไม่พยายาม ด้วยคติที่ว่าคนในยุคใหม่ถูกปลูกฝังเลี้ยงดูโดยพ่อแม่รุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่ทะนุถนอมอย่างดี พ่อแม่คอยพร่ำว่าพวกเขาพิเศษและสำคัญ จนพวกเขาอ่อนไหว ไม่เอาไหน และเหยาะแหยะเกินไป กลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจแต่ตัวเองและขี้เกียจ

Your Army Needs You
ที่มา: apply.army.mod.uk

ในปี 2019 คำว่า snowflake ถูกใช้ในแคมเปญโฆษณา ‘Your Army Needs You’ (กองทัพต้องการคุณ) ซึ่งกองทัพบกสหราชอาณาจักร หรือ British Army ใช้เพื่อดึงดูดคนหนุ่มสาวเจเนอเรชั่น Z (อายุประมาณ 16-25 ปี) เพื่อให้สมัครเป็นทหารในกองทัพ ผ่านโปสเตอร์และวิดีโอ

เราจะเห็นว่าคำว่า snowflake ได้ถูกรวบรวมเข้ากับชุดคำที่ใช้เรียกคนรุ่นใหม่ที่ถูกผูกติดกับอินเทอร์เน็ตและมือถือ อย่าง selfie addicts (คนเสพติดเซลฟี), game addicts (คนติดเกม), phone zombie (ซอมบี้ติดมือถือ) ไม่แน่ใจว่าถ้อยคำที่รุนแรงค่อนแคะนี้จะทำให้คนหนุ่มสาวอ่านแล้วกระแทกใจจนอยากทิ้งสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไปรับใช้ชาติหรือไม่ 

แม้จะมีคนไม่พอใจ ตั้งคำถาม และออกมาวิจารณ์เยอะมากๆ ว่าเหมารวมคนรุ่นใหม่ว่าไม่เอาไหน ติดเกม ติดมือถือ คิดว่าตัวเองพิเศษ แต่เว็บไซต์ The Drum ก็ได้ระบุว่าแคมเปญนี้ทำให้คนรุ่นใหม่สมัครเป็นทหารมากถึง 16,000 คน ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2019 แถมกระตุ้นให้คนเปิดดูเว็บไซต์เป็นล้านครั้ง หากทางกองทัพตั้งใจใช้กลยุทธ์ที่ว่ายิ่งมีคนด่า ยิ่งมีคนเห็น ยิ่งมีคนสนใจ และสารก็ยิ่งไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จมาก

วิดีโอ Your Army Needs You ซึ่งมีคนกดไลก์ 1,000 คนและอันไลก์ในจำนวนพอๆ กัน

 

เมื่อคำเปรียบเทียบกัดกร่อนจิตใจถูกใช้ปิดปาก ‘คนรุ่นใหม่’

จากคำที่ใช้เน้นย้ำว่าทุกคนสำคัญ พิเศษ กลายเป็นคำที่ใช้ค่อนแคะแซะคนรุ่นใหม่ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและการลงประชามติ Brexit ในปี 2016 คำนี้ถูกใช้เพื่อตัดพลังและจำกัดเสียงและความเคลื่อนไหวว่าไม่สำคัญ อ่อนแอ และไร้เดียงสา snowflake กลายเป็นคำที่แสดงถึงช่องว่างระหว่างวัยของคนต่างยุคต่างสมัย กลายเป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกเด็กเมื่อเกิดการปะทะกันระหว่างรุ่นที่เติบโตต่างกัน

ในปี 2015 มีเหตุการณ์ที่ศาสตราจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยเยลได้ถกเถียงกันเรื่องชุดวันฮาโลวีนที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสมทางวัฒนธรรม จนทำให้ความสนุกหดหายไป คนรุ่นใหม่ซีเรียสเกินไปว่าอะไร PC ไม่ PC อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้

จากคำที่ใช้จำกัดความนิสัยส่วนบุคคลกลายเป็นคำที่ถูกใช้จำกัดความและเหมารวมคนรุ่นใหม่ทั้งยุค snowflake มากไปกว่านั้น คำนี้ได้ถูกขยายการใช้งานออกไปอีก นอกเหนือจาก ‘snowflake generation’ (คนรุ่นเกล็ดหิมะ) ยังมีคำว่า ‘special snowflake syndrome’ (โรคเกล็ดหิมะพิเศษ) ที่มีความหมายในทางลบและค่อนแคะดูถูก 

จากคำที่เคยใช้เพื่อแสดงถึงความสำคัญ มีคุณค่า เป็นปัจเจกบุคคล กลายเป็นคำที่ใช้แซะคนรุ่นใหม่ว่าอย่าสำคัญตัวผิด เป็นคำแซะทางการเมืองที่ทำให้คนรุ่นใหม่กลายเป็นเด็กเมื่อวานซืนที่บอบบางและหลงตัวเอง ก่อนจะกลายเป็นคำแพร่หลายอย่างที่เรารู้จักในช่วงปี 2010s

ก่อนที่ Palahniuk จะหยิบคำนี้มาใส่ในนิยายชื่อดัง คำว่า snowflake ถูกใช้ในวาระทางสังคมและการเมืองหลายครั้ง อย่างในปี 1860 สหรัฐอเมริกาใช้คำนี้ในแวดวงคนผิวสีที่รณรงค์ให้เลิกทาสและเรื่องความเท่าเทียมกัน ในยุคนั้นการเปรียบเทียบกับ snowflake ให้ความหมายโดยนัยคือการที่สังคมให้คุณค่ากับคนผิวขาวมากกว่าคนผิวสี ซึ่งเกล็ดหิมะก็เป็นสีขาวเหมือนสีผิวของคนขาว และ snowflake ยังเคยถูกใช้จำกัดความคนผิวสีที่มีลักษณะอุปนิสัยเหมือน ‘คนขาว’ ลืมรากเหง้าของตัวเอง

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ในปี 2016 ปีเดียวกันนี้ได้เกิดการลงมติ Brexit และการเลือกตั้งของอเมริกาครั้งที่แล้วที่ได้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาบริหารประเทศ ท่ามกลางเสียงสะอื้นไห้ของคนรุ่นใหม่ผู้ผิดหวัง เสียใจ กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คนรุ่นแก่ดูถูกคนรุ่นใหม่ว่าเจ้าพวกเกล็ดหิมะ ช่างอ่อนไหว ไร้เดียงสา ไม่รู้อะไร คำนี้จึงถูกใช้เพื่อการปะทะกันระหว่างรุ่น

ไม่มีอะไรจะปิดปาก หรือลดคุณค่าความเห็นของใครสักคนได้ดีไปกว่าการบอกว่าเขานั้นได้รับ ‘สิทธิประโยชน์’ การที่ผู้ใหญ่มองความเห็นของคนรุ่นใหม่และเหยียดหยันว่า ‘ดูสิ พวกเธอโชคดีมากแค่ไหน’ เป็นการผลักและกดดันให้ผู้เห็นปัญหาหุบปากไป อย่าสำคัญตัวผิด อย่าบ่น อย่าอิดออด อย่าแสดงความเห็น อย่าเรียกร้อง รับผิดชอบชีวิตตัวเองพอ อย่าประท้วงสอบถามถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม ปัญหาในชีวิตพวกเธอเกิดจากความอ่อนแอไม่เอาไหน ความไม่ขยัน และความไม่อดทนเองนะ

การแปะป้ายให้กับกลุ่มคนหนุ่มสาวว่าเป็น snowflake สามารถตัดกำลังใจและทำให้พวกเขาสูญเสียความมั่นใจ จะแสดงออกและขับเคลื่อนอะไรเสียงของเขาก็กลายเป็นไร้ความหมาย อ่อนเกินกว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบของโลกนี้ได้ และทำให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นช้าลงไปอีก ทั้งที่โลกนี้ยังมีปัญหาอีกมากที่ต้องได้รับการแก้ไขให้ทันท่วงที

 

การแปะป้ายคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เรื่องใหม่ของประวัติศาสตร์โลก

การแปะป้ายคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด และคนหนุ่มสาวทุกยุคทุกสมัยก็มีความปรารถนาจะเปลี่ยนแปลงโลกและระบบที่เขาเติบโตให้ดียิ่งขึ้น คนรุ่นเราเกิดมาโดยได้เป็นพยานของวิกฤตการณ์ทางการเงินและวิกฤตการณ์โลกร้อนที่ดูสิ้นหวัง ไร้ทางออก เห็นความเหลื่อมล้ำที่หนักอึ้ง มองเห็นความวุ่นวายทางสังคมและการเมือง คนรุ่นใหม่ไม่ได้ไร้เดียงสาและพยายามกำลังต่อกรกับระบบอันยิ่งใหญ่กว่าตัวเขามาก หากใช้เหตุผลก็ดูสิ้นหวังสิ้นดี ทำไปทำไมไร้ผล ความเชื่อที่จะเปลี่ยนแปลงจึงต้องใช้ใช้อุดมคติและพลังใจพลังกายสูงมากๆ 

ตอนเราไปเที่ยวที่ฮานอย เวียดนาม ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์คุกสงคราม เห็นคนแก่ๆ หลายคนมาที่นี่เพื่อดูอดีตของตัวเองที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก ในห้องสงครามเวียดนามซึ่งมีรวมภาพการประท้วงจากทั่วโลก มีลุงชาวอเมริกันคนหนึ่งพูดอย่างภูมิใจ ว่า ‘We were there, we were in the protest!’ ตอนเขายังหนุ่มสาวเขาเคยเข้าร่วมประท้วงสงครามเวียดนาม ตอนนี้พวกเขากลับมาดูประวัติศาสตร์ที่ตนเองเคยเป็นส่วนร่วมเล็กๆ ในความเคลื่อนไหวนั้น

นึกย้อนไปถึงสมัยฝึกงานที่บริษัทกราฟิกแห่งหนึ่งที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เพื่อนของเจ้านายจากเดนมาร์กโม้ให้ฟังว่า สมัยหนุ่มๆ เขาได้ไปร่วมเดินประท้วงเรื่อง LGBT กับ Harvey Milk ที่ซานฟรานซิสโกด้วยนะ แม้ไม่มีใครจดจำความสำคัญของเขาได้นอกจากตัวเขาเองที่บันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนและชีวิต

เหล่าผู้ใหญ่มองกลับไปและภูมิใจกับวัยหนุ่มสาวอันมีพลังของตน แต่กลับมองว่าทำไมคนหนุ่มสาวสมัยนี้สนใจแต่ตัวเอง ช่างไม่รู้เรื่องราวอะไร ไม่เข้าใจระบบและโลกที่เขากำลังต่อต้านและประท้วงสอบถามดีพอ นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่และคนตื่นตัวทางสังคมได้แต่ถูกปรามาสซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ‘เด็กสมัยนี้จะไปรู้อะไร’ จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จะไปเข้าใจอะไร ยิ่งเร้าให้คนรุ่นใหม่ต้องพิสูจน์ตัวเองว่า ไม่ได้เปราะปางอ่อนไหวอย่างที่เขาวิจารณ์ โดนด่า โดนทำร้าย ก็ยังทนได้และถกเถียงอย่างใจเย็น ไม่ได้ละลายง่ายๆ เหมือนเกล็ดหิมะอันบอบบางที่แตะต้องไม่ได้อย่างที่ผู้ใหญ่ว่า ความเคลื่อนไหวที่แข็งแรงนี้ต่อเนื่องไม่ใช่แค่การรวมตัวกันเพื่อเซลฟีแล้วจบไปเท่านั้น หากแต่เป็นการต่อสู้ระยะยาว

ในฐานะคนอายุวัยยี่สิบปลายๆ เราเชื่อว่าจงพูดออกมาหากเราเห็นสิ่งที่ยังไม่ดีพอ หากไม่พอใจ และเราเชื่อว่ามันดีได้กว่านี้ หากเรายังไม่สิ้นหวัง อย่าคิดว่าเสียงเราเล็กจนไม่มีความหมายในทางสถิติ เพราะเสียงของเราทุกคนมีอิทธิพลต่อคนรอบตัว แม้เราเปลี่ยนใจเขาไม่ได้ แต่เราคือตัวแทนและความเห็นหนึ่ง อย่าได้หวั่นไหวต่อความไม่พิเศษ ไม่สำคัญ หรือรู้สึกไร้พลัง เพราะเพียงแค่ได้แลกเปลี่ยนกับคนรอบตัวก็มีความหมายและสำคัญแล้ว 

แม้ในโลกที่ทุกคนพิเศษ แตกต่าง จะทำให้ไม่มีใครพิเศษและแตกต่าง แม้คนรุ่นใหม่จะรู้ตัวว่าตนเองไม่พิเศษ ไม่สำคัญ ดูไร้พลัง แต่ใครๆ ก็สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนเล็กๆ ที่ไม่ไร้ความหมายให้กับคนรอบตัวเขาได้ พูดสิ่งที่คิดและทำสิ่งที่เชื่อได้

เราต่างหวังว่าสิ่งที่เราเชื่อมั่นจะคงทนต่อกาลเวลา และเราจะมองกลับมาด้วยความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้า

คนรุ่นใหม่จงพิสูจน์ตัวเองว่า เราไม่ได้เป็นเกล็ดหิมะที่ละลายง่ายๆ อย่างที่เขาว่า 🙂

 

อ้างอิง

apply.army.mod.uk

collinsdictionary.com

metro.co.uk

play.acast.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ploypuyik

ทำงานกราฟิก ชอบทำงานภาพประกอบ และจริงๆ แล้วชอบเล่าเรื่องด้วยค่ะ