ในสังคมแห่งการรักษาหน้า จะพูดถึงปัญหาแบบตรงไปตรงมาอย่างไรให้ไม่บั่นทอน

ในสังคมแห่งการรักษาหน้า จะพูดถึงปัญหาแบบตรงไปตรงมาอย่างไรให้ไม่บั่นทอน

Highlights

  • ความเงียบกลายเป็นระเบิดความสัมพันธ์เวลาที่อันตราย ในสังคมแบบไทยๆ เรามักไม่เคยถูกสอนว่าการไม่เห็นด้วยนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ในกระบวนการสร้างสรรค์และการอยู่ร่วมกันกับคนที่แตกต่างหลากหลาย
  • วัฒนธรรมรักษาหน้าและเสียหน้าเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมของคนเอเชีย ภาพลักษณ์และหน้าตาสำคัญมากๆ ในญี่ปุ่นมีแนวคิดของ ‘หน้า’ (mentsu) เหมือนกัน โดยการไม่เห็นด้วยกับใครสักคนในที่สาธารณะนำมาซึ่งความอับอาย ทำให้เขาเสียหน้า (mentsu wo ushinau)
  • เราทะเลาะกันได้หากไม่บั่นทอนทำลายล้างทางอารมณ์ หากพ่อแม่ทะเลาะกันโดยมีความมั่นคงทางอารมณ์อาจเป็นผลดีกับเด็ก เพราะทำให้เด็กเข้าใจกลไกของโลกที่คนไม่ต้องเห็นตรงกันแต่อยู่ร่วมกันและรักกันได้ และช่วยทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ กล้าเห็นต่างอย่างเคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ยอมรับความเห็นที่แตกต่างได้เมื่อโตขึ้น

เราต่างคุ้นเคยกับประโยคที่บอกว่า “หากไม่มีเรื่องดีๆ จะพูดก็หุบปากเอาไว้ อย่าพูดเสียดีกว่า” (“if you don’t have anything nice to say, don’t say it at all”)

Mokita เป็นคำศัพท์ภาษา Kilivila ที่พูดกันในท้องถิ่นหมู่เกาะ Trobriand Islands ประเทศปาปัวนิวกินี ที่ซึ่งสุขภาพของเผ่าวัดผลจากความเปิดเผยกันในกลุ่ม ยิ่งเผ่าเปิดเผยต่อกันมากเท่าไหร่ก็ยิ่งสามัคคีและมีสุขภาพแข็งแรงเท่านั้น หากเทียบกับภาษาอังกฤษ Mokita ใกล้เคียงกับคำอุปมาว่า ‘ช้างในห้อง’ หรือ elephant in the room อันหมายถึงปัญหาที่ชัดเจนและใหญ่ แต่กลับไม่มีใครอยากพูดถึง

Mokita

ไม่อยากพูดให้เสียนํ้าใจ เงียบไว้คงดีกว่า

เราต่างอยากเป็นคนนิสัยดี ไม่อยากเป็นคนตรงๆ แรงๆ ร้ายๆ ไม่อยากเป็นคนมีพิษมีภัยที่ทำให้บรรยากาศเสีย เราจึงมักเลือกที่จะปิดปากเงียบไว้ เพราะไม่เปลืองตัว ไม่ต้องถกเถียง ไม่ต้องสร้างสงครามกับใคร ไม่ต้องมีศัตรู แต่ความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่เกิดขึ้นได้ ความจริงที่ขมมักกลืนได้ยาก บางความสัมพันธ์หรือบางสภาพแวดล้อมในชีวิตของเรามักมีเรื่องที่พูดไม่ได้ เราอาจเลือกไปบ่น ระบาย นินทากับเพื่อนสนิทที่ไว้ใจกันหลังไมค์ หรืออาจตั้งสเตตัสลอยๆ ให้คนสงสัยว่าเราไปโกรธใครมา

ในสังคมการเรียนแบบไทยๆ เรามักไม่เคยถูกสอนว่าการไม่เห็นด้วยนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ในกระบวนการสร้างสรรค์และการอยู่ร่วมกันกับคนที่แตกต่างหลากหลาย ในการทำงานย่อมมีคนเสนอไอเดียที่ไม่เข้าท่าหรือเสนอหนทางที่ทำให้เรายิ่งเสียเวลา การอยู่ร่วมกันย่อมมีเรื่องที่เราไม่เห็นด้วย มีบางปัญหาที่เราเลือกจะเงียบไว้ หรือตกลงกันว่าจะไม่พูดให้เสียนํ้าใจหรือเสียหน้า

Mokita

โลกหรือสังคมที่ดูปลอดภัยไร้ปัญหาอาจเป็นเพราะเราไม่กล้าพูดถึงปัญหาที่มีอยู่อย่างเปิดใจ แล้วเราจะสร้างสภาพแวดล้อมที่พูดถึงปัญหากันอย่างตรงไปตรงมาอย่างไร?

Kim Scott แนะนำไว้ในหนังสือเรื่อง Radical Candor ที่แปลว่า ‘การพูดตรงไปตรงมาอย่างถึงที่สุด’ ซึ่งเสนอวัฒนธรรมการทำงานที่ให้ฟีดแบ็กกันอย่างโปร่งใส ไม่เก็บงำ ไม่นำไปนินทา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพูด 4 แบบ ที่ Scott แบ่งแยกเอาไว้ อันได้แก่

  • Obnoxious Aggression ความรุนแรงอันเป็นพิษ บั่นทอนจิตใจ เช่น การบูลลี่ด้วยวาจา การกลั่นแกล้งตรงไปตรงมา ทำให้รู้สึกด้อยค่า หมดความหมาย การล้อเลียนให้เสียความมั่นใจ
  • Ruinous Empathy ความเห็นอกเห็นใจที่ทำร้าย คือเมื่อเห็นปัญหาแล้วอยากตักเตือน แต่เลือกเงียบไว้ดีกว่า ความเห็นอกเห็นใจประเภทนี้มักนำไปสู่การเลิกพูดไปเลย รู้สึกว่าพูดไปก็เท่านั้น จากเกรงใจอาจจะกลายเป็นความเกลียด ไม่อยากยุ่งสุงสิงด้วย
  • Manipulative Insincerity การปั่นและชักใยอยู่เบื้องหลัง คนที่ประสงค์ไม่ดีแต่เลือกทางที่ปลอดภัยคือทำดีต่อหน้า แต่นินทาและว่าร้ายข้างหลัง ทำให้คนเกลียดบางคนลับหลัง
  • Radical Candor การพูดตรงไปตรงมาอย่างจริงใจด้วยความเป็นห่วงและใส่ใจ เพราะเห็นปัญหาและอยากหาทางแก้ไข การพูดตรงไปตรงมาควรทำในที่ลับเพื่อไม่ทำให้คนที่เราอยากตักเตือนเสียหน้า และควรชมเมื่อมีเรื่องจะชมเท่านั้นเพื่อให้การชมนั้นมีความหมาย

ความเงียบกลายเป็นระเบิดเวลาแห่งความสัมพันธ์ที่อันตราย การไม่พูดมักนำมาสู่ปัญหาอีกแบบ ความสามัคคีที่เกิดจากคนใดคนหนึ่งเงียบและถูกเหยียบเบรกเอาไว้ ความไม่ยอมตำหนิอาจนำมาซึ่งการโกรธเงียบลับๆ ที่อาจกลายเป็นไม่มองหน้ากันเมื่อเวลาผ่านไป สังคมแห่งการไม่พูดกันให้ชัดเจนอาจนำไปสู่การพูดลับหลังแบบเติมแต่งจนไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร ทุกคนต่างมีความจริงที่ตัวเองอยากเชื่อเมื่อเราไม่ยอมคุยกัน

Mokita

Face Culture สังคมแห่งการรักษาหน้า ได้หน้า และเสียหน้า

‘หน้า’ เป็นแนวคิดและคุณค่าอันเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมคนเอเชีย เรามักเลือกทางอ้อมมากกว่าทางตรง เรามักถูกกำกับด้วยความเกรงใจไม่อยากมีปัญหา เราจึงเลือกจะไม่พูดถึงปัญหา เราไม่อยากหักหน้าและทำให้ผู้อื่นเสียนํ้าใจ ชาวเอเชียมักมีหน้าเป็นใจกลางแห่งอัตลักษณ์และตัวตน เพราะหน้าคือชื่อเสียง ศักดิ์ศรี และเกียรติยศที่ต้องรักษาไว้ ในการประชุมหรือการทำงาน จึงมีมารยาทเข้าใจตรงกันว่า อย่าไปหักหน้าใคร หรือทำให้ใครเสียหน้า

คำว่า ‘รักษาหน้า’ ในภาษาอังกฤษ เริ่มมีตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ชาวต่างชาติจากตะวันตกผู้อยากจะมาอาศัยในเอเชียหรือประเทศไทย และอยากเข้าใจจิตใจและวัฒนธรรมคนเอเชียต้องเรียนรู้วัฒนธรรม ‘Saving Face’ นี้เหมือนกัน ไม่ใช่แค่เพียงในประเทศไทย ในญี่ปุ่นมีแนวคิดของหน้า (mentsu) เหมือนกัน โดยการไม่เห็นด้วยกับใครสักคนในที่สาธารณะจะนำมาซึ่งความอับอาย ทำให้เขาเสียหน้า (mentsu wo ushinau) บทความหนึ่งของ Forbes ได้อธิบายว่า หน้าคือคุณค่าสำคัญของคนจีน หากมีใครอธิบายว่า ‘กิจกรรมนี้เกี่ยวกับหน้าหรือภาพลักษณ์’ ทุกคนจะยิ้มและพยักหน้าอย่างเข้าใจ

Mokita

Mokita

ฝึกทะเลาะกันให้ได้แบบไม่บั่นทอนจิตใจ

เราทะเลาะกันได้กับคนที่เรารักและเชื่อใจมากที่สุด หลายคู่รักเลือกที่จะเงียบเพื่อรักษาความมั่นคงเอาไว้ การทะเลาะกันหรือการเห็นไม่ตรงกันเป็นความจริงของโลกที่เราต้องฝึกยอมรับให้ได้ เพราะกลัวว่าจะทำให้ปัญหาใหญ่ขึ้น เราไม่อยากให้เด็กรับรู้ความขัดแย้งในครอบครัวเพื่อปกป้องพวกเขาไม่ให้รู้สึกเศร้าหมองหรือมีปม แต่เมื่อพวกเขาโตขึ้นก็จะพบว่าโลกย่อมมีความขัดแย้งไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา แต่พ่อแม่มักหวังดีกับลูกและเก็บความขัดแย้งไว้ให้พ้นการรับรู้ของลูก

งานวิจัยเรื่องความขัดแย้งในการแต่งงาน พบว่าในชีวิตคู่มี conflict อยู่ 2 ประเภท คือแบบสร้างสรรค์ (constructive) กับทำลาย (destructive) แน่นอนว่าไม่มีเด็กคนไหนชอบเห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน ในการวิจัยพบว่าการที่พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยอาจไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นวิธีการทะเลาะต่างหากที่มีผลกับลูก เด็กนั้นเพียงต้องการรู้สึกปลอดภัย หรือเรียกว่า ‘emotional security theory’ เราควรเปลี่ยนวิธีคิดว่า เราทะเลาะกันได้หากนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีกว่า การขัดแย้งที่มีความมั่นคงทางอารมณ์มากพอและไม่ทำลายล้างทางอารมณ์อาจดีกับเด็ก เพราะทำให้เด็กเข้าใจกลไกของโลกที่คนไม่ต้องเห็นตรงกันแต่อยู่ร่วมกันได้ รักกันได้ และช่วยทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ กล้าเห็นต่างอย่างเคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ยอมรับความเห็นที่แตกต่างได้เมื่อโตขึ้น การทะเลาะกันไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การเรียกชื่อหรือการชินชากับการปิดกั้นความจริง (censorship) เมื่อโตขึ้น

โลกไม่ได้สงบ หอมหวาน หรือสันติด้วยการที่ทุกคนตกลงไม่พูดถึงปัญหาที่เราเห็นกันอยู่ชัดเจน แต่ด้วยการยอมรับความแตกต่างและปัญหาให้ได้ต่างหาก

เพราะขั้นแรกของการแก้ปัญหา คือการยอมรับว่าปัญหามีอยู่จริง

 

อ้างอิง

blog.maurafaygroup.com

books.google.co.th

forbes.com

japanintercultural.com

onlinelibrary.wiley.com

qz.com

radicalcandor.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ploypuyik

ทำงานกราฟิก ชอบทำงานภาพประกอบ และจริงๆ แล้วชอบเล่าเรื่องด้วยค่ะ