Slow Reverse วงดนตรีอิเล็กทรอนิกป๊อปในตำนานที่กลับมาอย่างงดงามกับอัลบั้มใหม่ 20 เพลง

Highlights

  • คุยกับสมาชิกวง Slow Reverse ออย–ศรีวรา อารยวงษ์กุล (นักร้อง, คีย์บอร์ด), แพง–กษวรรณ กังวาลพิวัฒน์ (นักร้อง, คีย์บอร์ด) และ อุซ–อุกฤษฏ์ ศิริชนะ (นักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์) วงอิเล็กทรอนิกป๊อปที่สร้างปรากฏการณ์ขนาดย่อมในแวดวงดนตรีอินดี้ไทยเมื่อหลายปีก่อน
  • นอกจากบทเพลงที่มีเนื้อหาและดนตรีเปิดกว้างให้คิดต่อเหมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่งแล้ว คอนเซปต์กับการดีไซน์ส่วนประกอบต่างๆ ของวงก็ผ่านการคิดการวางแผนมาอย่างละเมียดละไม นี่จึงเป็นเหตุผลที่ใครๆ ก็ต่างรอผลงานของพวกเขาอย่างใจจดใจจ่อ
  • ในที่สุดพวกเขาก็กลับมาพร้อมกับอัลบั้มใหม่ The Moon Arrives ที่ประกอบด้วย 20 บทเพลง กับเนื้อหาเพลงภาษาอังกฤษที่โตขึ้น แนวดนตรีที่เปลี่ยนไป และปกที่ดีไซน์มาอย่างงดงาม สร้างความเซอร์ไพร์สให้แฟนเพลงทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่อย่างแน่นอน

ความล่องลอยนั้นยังคลอจางๆ ในหัว

นี่คือความรู้สึกของฉันหลังจากฟัง All This Time เพลงใหม่ล่าสุดของวงดนตรีในตำนานที่หายไปนานหลายปี ด้วยน้ำเสียงใสๆ ของนักร้องหญิงสองคนที่สอดประสานกันเป็นอย่างดีด้วยลีลาการร้องแบบกระซิบกระซาบ ดนตรีที่เน้นหนักไปทางซาวนด์อิเล็กทรอนิก ก่อนค่อยๆ เฟดเอาต์จบเพลง ทิ้งไว้แต่บรรยากาศเคว้งคว้างมืดๆ แบบบอกไม่ถูก

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2009 มีวงดนตรีเล็กๆ ชื่อ Slow Reverse เกิดขึ้นและสร้างปรากฏการณ์น่าสนใจในแวดวงดนตรีอินดี้ของไทย เริ่มต้นจากเนื้อร้องที่เป็นภาษาอังกฤษ ดนตรีที่ฟังกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ และการที่เพลงไตเติลอย่าง Moving ทะยานขึ้นไปสู่อันดับ 2 ของชาร์ตคลื่นวิทยุ Fat Radio ทำให้ไม่ว่าใครที่ไปเทศกาลดนตรี Fat Festival ต่างตามล่าซื้ออัลบั้มของพวกเขาจนหมดอย่างรวดเร็ว

วงดนตรีสุดเท่ที่เกิดจากการรวมตัวของนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อสิบกว่าปีก่อน ประกอบไปด้วย ออย–ศรีวรา อารยวงษ์กุล นักร้องและมือคีย์บอร์ด, แพง–กษวรรณ กังวาลพิวัฒน์ นักร้องและมือคีย์บอร์ด และ อุซ–อุกฤษฏ์ ศิริชนะ หัวเรือใหญ่นักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ นอกจากบทเพลงจะมีเนื้อหาและดนตรีเปิดกว้างให้คิดต่อเหมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่งแล้ว คอนเซปต์กับการดีไซน์ส่วนประกอบต่างๆ ของวงก็ผ่านการคิดและวางแผนมาอย่างละเมียดละไม นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ชื่อวง Slow Reverse ช่างตรงกับวิธีการทำงานของพวกเขา

ถึงจะช้า แต่โปรดมั่นใจได้เลยว่าผลงานวงนี้ดีชัวร์ๆ เพลงจากอัลบั้มแรกของพวกเขาเป็นเครื่องยืนยันชั้นดี

เนื่องจากทั้งสามคนกลับมาพร้อมอัลบั้มใหม่ The Moon Arrives หลังห่างหายไปหลายปี เราจึงไม่รอช้า ขอเดินทางไปพูดคุยถึงการทำงานเพลงและความพิเศษของอัลบั้มนี้ทันที ถือเป็นการรำลึกถึงความหลังและรียูเนียนเล็กๆ ระหว่างศิลปินกับแฟนเพลงให้หายคิดถึง

หลังจากหายไปหลายปี กลับมารวมตัวกันทำเพลงอีกรอบ รู้สึกยังไงกันบ้าง

ออย : เราหายไปพักหนึ่งแหละ แต่จริงๆ เราหายไปแค่ปีสองปีเองเพราะก็เล่นสดอยู่เรื่อยๆ จนมีช่วงที่ไปทำวง Aerolips เลยเล่นสดได้น้อยลง แต่หลังจากนั้นก็ทำเพลงกันเลย

อุซ : ตอนเรียกประชุมวงคือปลายปี 2014 เราแต่งเพลงไว้ค่อนข้างเยอะแล้ว ก็เรียกมาคุยกันว่าปีหน้าเริ่มอัดได้ คิดว่าสัก 2 ปีเสร็จแน่นอนแล้วก็ยาวเลย แต่ที่ยาวเพราะโตขึ้นด้วย ทีแรกคิดว่าเป็นหนุ่มสาวกันอยู่ มีเวลาว่างมากมาย แต่มันไม่ใช่แล้ว ตอนอัลบั้มแรกเราทำเพลงกันปี 2006 ยังมีเวลาว่างกันเยอะ พอโตขึ้นต้องรับผิดชอบมากขึ้นก็รวมตัวยาก อย่างออยต้องโฟกัสกับร้านตัวเอง แพงเปลี่ยนออฟฟิศและเรียนปริญญาโท เป็นช่วงอายุที่มีความรับผิดชอบมากขึ้นเลยนัดอัดเพลงกันยาก ส่วนเรื่องการสร้างเพลงมันช้าในแง่การตัดสินใจ เพราะพอเป็นอัลบั้มที่ 2 เราต้องคิดว่ามันจะพัฒนาไปทางไหนได้บ้าง อะไรที่เราจะเพิ่มเติม อะไรที่เราอยากเปลี่ยน อะไรที่อยากเก็บเอาไว้ และอะไรคือจุดเด่น เราไม่ค่อยแน่ใจว่าแฟนเพลงเขาชอบจุดไหน

จุดเด่นหนึ่งของ Slow Reverse คือเสียงของนักร้องหญิงสองคน อยากรู้ที่มาที่ไปของการเลือกฟอร์มวงแบบนี้

อุซ : เรื่องนักร้องเป็นเรื่องตลกมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ตอนเรียนที่ทำเพลงเล่นๆ กับพี่ชายออย ซึ่งออยขึ้นชื่อว่าหน้าตาน่ารักมาตั้งแต่เด็ก เลยบอกพี่ชายออยว่าดึงน้องสาวนายมาเป็นนักร้องดีกว่า ถ้าในวงมีพี่ชายกับน้องสาวจะได้เท่ดี สรุปคือพี่ชายเขาทำงานไปด้วยทำเพลงไปด้วยไม่ไหวเลยขอออกจากวง เหลือเรา ออย และนักร้องอีกคนคือชมพู (พิมพ์อุมา ศิระยรรยง) แต่พออัดเสียงทำอะไรเสร็จปุ๊บ ชมพูบินไปอเมริกาเลย

ออย : ทีนี้ทำเพลงเสร็จก็ต้องเล่นคอนเสิร์ตใช่ไหม ไม่มีพี่ชมพูจะทำยังไง จะคอนเฟอเรนซ์ก็ไม่ง่าย เราเลยต้องหานักร้องอีกคนมาร้องชั่วคราว

อุซ : เราเริ่มทำเพลงตอนออยเรียนปี 3 ทำเสร็จตอนออยปี 5 กำลังจะเรียนจบ และชมพูก็หายไป เห็นไหมว่ากระบวนการมันนานตั้งแต่อัลบั้มแรกแล้ว ประจวบกับตอนนั้นมีเพื่อนเราเรียนจบจากเมืองนอกมาเป็นอาจารย์ที่คณะ สอนทันรุ่นออย เราก็ถามว่ามีนิสิตคนไหนน่าชวนมาเป็นนักร้องบ้าง จนมารู้ทีหลังว่าแพงกับออยเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน 

แพง : แล้วช่วงเราเรียนพี่อุซช่วยเหลือเยอะเหมือนกัน เลยคิดว่านี่เป็นการตอบแทนบุญคุณพี่ๆ

อุซ : ตอนนั้นเราไม่คิดว่าทำเพลงเสร็จจะเล่นสดเลย เพราะมันเล่นสดยาก มีงานหนึ่งที่ต้องไปเล่นสดต่างจังหวัดก่อนที่อัลบั้มจะออก คิดว่าน่าจะเป็นงานเดียวในชีวิตก็เลยขอให้แพงมาช่วยร้อง พอเล่นเสร็จก็คิดว่าคงไม่มีอะไรแล้วล่ะ เดี๋ยวอัลบั้มออกคงรันของมันไป คิดว่าถ้าชมพูกลับมาก็มีนักร้อง 3 คนช่วยกันร้องสบายๆ แต่เขาก็ไม่กลับมาอีกเลย (หัวเราะ)

ถึงจะมีนักร้องหน้าตาดี แต่ก็ไม่ค่อยมีใครได้เห็นนอกจากไปดูเล่นสด

ออย : ความจริงวงเรามีประเด็นเรื่องไม่ค่อยโผล่หน้าออกมาให้ใครเห็นตั้งแต่อัลบั้มแรกแล้ว

อุซ : คอนเซปต์คือเราอยากมีนักร้องสาวน่ารักแต่ไม่อยากโชว์ว่าน่ารัก อยากให้คนดูมาเห็นเอาเอง ดังนั้นในมิวสิกวิดีโอหรือบนปกอัลบั้มเลยไม่มีสองคนนี้ เราไม่อยากโชว์ให้ใครเห็นว่าหน้าตาพวกเราเป็นยังไง มันจะเท่กว่าและสร้างเสริมจินตนาการกว่า ตอนเล่นสดค่อยมาดูแล้วกรี๊ดกร๊าดกันไป 

แพง : ย้อนแย้งไหม อยากได้นักร้องหน้าตาน่ารักแต่สุดท้ายก็กะว่าจะไม่เล่นสด ไม่อยากโผล่หน้าให้ใครเห็น (หัวเราะ)

 

จากอัลบั้มแรกมาจนถึงตอนนี้ก็หลายปีแล้ว อะไรที่ทำให้ทั้งสองคนยังอยู่กับ Slow Reverse

ออย : ทำไมถึงจะไม่อยากอยู่ล่ะ มันไม่ใช่ภาระ มันเหมือนกิจกรรมที่เราไปออกกำลังกายสนุกๆ ไม่ใช่การผูกมัดจริงจังแบบที่ต้องซ้อมทุกเดือนหรือมีข้อแลกเปลี่ยนต่อกัน อยู่กันเหมือนเพื่อนพี่น้อง

อุซ : เวลาโทรไปถามออยว่าไม่ว่างวันไหนแล้วออยตอบว่าไม่ว่างถึงเดือนหน้า เราก็บอกว่า โอเค จบ ไม่มีการถามว่าทำไมไม่ว่าง ซึ่งเอาจริงๆ Slow Reverse เหมือนไม่ได้เป็นวงด้วยซ้ำ

แพง : เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ไม่ได้เป็นภาระ ไม่ได้ต้องอย่างนี้อย่างนั้น ไม่เครียดเลย

อุซ : ไม่ได้เครียดว่าถ้าทำพลาดต้องโดนว่า ค่อยๆ ทำไป ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ร้องไปสัก 50 รอบก็โอเค ถ้าไม่ดีก็เอาใหม่ กลับไปพักก่อนแล้วค่อยว่ากัน

แต่ระหว่างนั้นจะมีแฟนคลับเรียกร้องให้กลับมาทำเพลงกัน คุณกดดันไหม 

อุซ : กดดันเพราะแฟนคลับนี่แหละ (หัวเราะ) คอมเมนต์ที่น่ารักคือ ‘รออัลบั้มอยู่นะคร้าบ’ เราก็จะตั้งใจทำ

ออย : ไม่ใช่ว่าเราช้าแล้วไม่สนใจคนที่อยากให้มีอัลบั้มหรือเล่นสดนะ เราอยากทำหมด แต่ถ้ามันไม่ได้ก็คือไม่ได้จริงๆ

อุซ : อีกอย่างที่ไม่ได้เล่นสดในช่วง 2-3 ปีหลัง ไม่ใช่ไม่มีคนชวน แต่มันเป็นจุดที่เรากำลังมูฟไปสู่อัลบั้มใหม่ คือเราเล่นสดได้แต่ขอไม่เล่นดีกว่า ให้คนได้พักหูก่อน ไม่งั้นจะเล่นไปเรื่อยๆ แล้วสักพักก็มีอัลบั้มออกมา ซึ่งจะดูธรรมดามากเลย เราต้องเก็บตัวนิดหนึ่งให้มันมีอะไร เหมือนระเบิดที่ก่อนระเบิดก็เงียบนิดหนึ่งก่อน อีกอย่างเพื่อเป็นการโฟกัสงานด้วย

 

อยากให้เล่าถึงวิธีการทำงานเพลง

อุซ : การทำงานของ Slow Reverse จะวางแผนก่อนเหมือนอัลบั้มแรก เราคุยกันก่อนว่าธีมอัลบั้มนี้คืออะไร ใช้เครื่องดนตรีอะไรบ้าง เนื้อเพลงเป็นแนวไหน อะไรใช้ได้ อะไรไม่ใช้ จะมีกี่เพลง ซึ่งเรากำหนดจำนวนเพลงตั้งแต่วันแรกเลย มันเหมือนเราสร้างโจทย์ขึ้นมาเพื่อเป็นแกนให้เกาะไว้ สร้างโครงสร้างพื้นฐานของอัลบั้มขึ้นมาก่อนแล้วค่อยๆ สร้างสิ่งต่างๆ รอบโจทย์ ทีนี้พอเป็นอัลบั้มที่ 2 เราอยากให้โจทย์ท้าทายขึ้นมันก็เลยยากขึ้นด้วยก็สรุปกันตั้งแต่วันแรกที่คุยเลยว่าจะมี 20 เพลง

20 เพลงในอัลบั้มเดียวเลยเหรอ

อุซ : จริงๆ เราถูกแนะนำหลายอย่างมาก ตั้งแต่ให้แบ่งออกไหม ทำไมใช้เวลานานจัง ออกแผ่นหนึ่งก่อนดีหรือเปล่า บางคนบอกให้ซอยเป็น 4 อัลบั้มเลยสิ ได้เงินเยอะนะ ขาย 4 ครั้ง ซึ่งก็ได้เยอะจริงแหละแต่เราวางมาแล้วว่าเป็นแบบนี้ มันมีความเชื่อมโยงเป็นคอนเซปต์ที่ซ่อนอยู่ พอเชื่อมกันทั้งสองอัลบั้มก็แยกไม่ได้แล้ว ต้องทำใจ ที่สำคัญอัลบั้มนี้ผลิตมาเพื่อเป็นแผ่นเสียงตั้งแต่แรก วางไว้ว่าทำแผ่นเสียง 2 แผ่น มี 4 หน้า คล้ายๆ ภาพยนตร์ที่มี 4 ตอนเชื่อมกัน และบางเพลงมีส่วนที่ไปโผล่ในเพลงอื่นด้วย เหมือนสกอร์ภาพยนตร์ที่ถ้าดาร์ทเวเดอร์โผล่ต้องมีเพลงนี้ มีจุดเชื่อมกันอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ที่วางไว้เป็นคอนเซปต์

 

มีความเปลี่ยนแปลงอะไรของเนื้อหาเพลงระหว่างอัลบั้มแรกกับอัลบั้มนี้บ้าง

อุซ : เพลงเราเป็นเพลงปลายเปิด เนื้อเพลงพูดถึงเหตุการณ์ที่ไม่ได้เจาะจงมาก เน้นความรู้สึกกับประสบการณ์แล้วไปจบที่คนฟังเองว่าเขาจะเอาไปรีเลตกับตัวเองยังไง เรารู้สึกว่ามันส่งเสริมจินตนาการ พอเป็นอย่างนี้ภาษาอังกฤษเลยเหมาะกว่า ส่วนแรงบันดาลใจในการแต่งอัลบั้มแรกมาจากความรู้สึกแหละ แต่ก็พยายามทำให้เข้ากับคอนเซปต์ที่วางไว้ นั่นคือความสัมพันธ์ของตัวเราและคนรอบตัว มีคนรักและคนไม่รัก เราก็แตกๆ เอามาเกลากันว่าคำไหนโอเค คำนี้ดีไหม

เมื่อก่อนตอนพี่ชายออยอยู่ก็มาช่วยดู สองคนนี้มาตบๆ คำ บางคำร้องไม่ได้ เสียงขึ้นประหลาด เราต้องมาเลือกใหม่ มันมีชุดคำให้เลือกอยู่ บางทีแต่งมาก็ให้ทั้งสองคนเลือกว่าคำไหนดี หรือใช้คำแบบนี้ไปอย่างนี้เลย เพราะความหมายทั้งหมดอาจโอเค แค่เลือกวางให้ตรงธีม

เนื้อเพลงชุดใหม่มีเนื้อความที่กว้างขึ้นตามอายุ พูดถึงชีวิตมากขึ้นกว่า เป็นเรื่องการมองตัวเอง การยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น การยอมรับในสิ่งที่ดี-ไม่ดี การปรับตัว และการปลอบประโลมจิตใจ

ตอนที่ได้ฟังเพลงในอัลบั้มนี้ครั้งแรก รู้สึกยังไงกันบ้าง

แพง : ตอนนั้นเราเห็นแต่เนื้อเพลง ยังไม่ได้ฟังซาวนด์ เดโม่เป็นแค่ทำนองคร่าวๆ 

อุซ : ตอนนั้นทั้งสองคนต้องจินตนาการเยอะ เพราะตอนเราดราฟต์เพลงแทบยังไม่มีเครื่องดนตรีอะไรเลย กลองเป็นแค่เสียงติ๊กๆ และเสียงซินธิไซเซอร์ที่ไม่ใช่อันที่ใช้จริง

แพง : ตอนดูเนื้อร้องก็สไตล์ Slow Reverse ไม่มีที่ไม่ชอบเลย แค่อยากทำออกมาให้ดี อยากให้ออกมาแล้วเป็นเราและเป็น Slow Reverse ด้วย

ออย : เราชอบนะ แตกต่างตรงที่โตขึ้น เนื้อร้องค่อนข้างติดหู อย่างเพลง All This Time ที่เป็นซิงเกิลออกมา ไปอัดเสียงแล้วติดปากเลย เราชอบที่พี่อุซมีวิธีการอัดเสียงที่ทำงานง่าย ภาพในหัวเขาชัด ทำให้สื่อสารกับเราโดยใช้คำที่ง่าย ให้เราทำได้ แต่ด้วยความที่เราไม่ได้เก่งขนาดเป็นนักร้องอัดเสียงมืออาชีพ ถึงภาพในหัวเขาชัด เราก็ยังอัด 10-20 เทคเหมือนเดิม (หัวเราะ)

 

แล้วดนตรีเปลี่ยนไปมาก-น้อยแค่ไหน

อุซ : เปลี่ยนเยอะเหมือนกัน ถ้าแฟนเพลงไม่ได้ฟังนานอาจไม่รู้สึก จะได้ยินเสียงที่คุ้นๆ รู้สึกว่าเรากลับมาแล้ว แต่ถ้าฟังเพลงต่อกันอาจจะเหวอ เพราะเปลี่ยนเยอะ อย่างซิงเกิลนี้ก็อิเล็กทรอนิกมากขึ้น ซึ่งถ้าฟังทั้งอัลบั้มจะไม่ได้เป็นแบบนี้ เรามีกลองที่เป็นป๊อปร็อกแบบยุคนั้นอยู่ เพียงแต่สัดส่วนของเครื่องดนตรีอาจเปลี่ยนไปบ้าง กีตาร์นัวๆ เพราะๆ ที่เราเคยมีทุกเพลงอาจมีน้อยลง เนื่องจากคอนเซปต์อัลบั้มที่วางไว้เหมาะกับเครื่องดนตรีเสียงสังเคราะห์มากกว่า

หลายจุดที่เราอัดกีตาร์ไปแล้วยอมดึงออกและเปลี่ยนเป็นเสียงสังเคราะห์หรือเสียงอื่นๆ ในโน้ตเดียวกันแทน เพราะรู้สึกว่าอัลบั้มนี้กีตาร์ไม่ได้เด่นขนาดนั้น นี่ยังไม่รู้เลยว่าจะเล่นสดยังไงเหมือนกัน เพราะเป็นซินธิไซเซอร์เยอะ พวกเสียงเบลกรุ๊งกริ๊งๆ และไวโอลินมีอยู่บ้างเหมือนเดิม เติมเครื่องเป่าเข้ามานิดหน่อย เทกซ์เจอร์เพลงจะฟุ้งขึ้นนิดหนึ่ง มีมิติความลึกขึ้นมาอีกหน่อย

นอกจากเพลงแล้ว วงยังให้ความสำคัญกับงานดีไซน์อัลบั้มเต็มที่

อุซ : คอนเซปต์ของ Slow Reverse คือชอบให้มีความเป็นศิลปะมากๆ โดยเฉพาะส่วนหน้าปกกับมิวสิกวิดีโอ เวลามีคนติดต่อมาว่าอยากทำมิวสิกวิดีโอให้ โจทย์แรกที่บอกเขาและเขาอาจผงะไปโดยไม่ได้ตั้งตัวคือ เราจะบอกเขาว่าต้องไม่มีนักร้องในมิวสิกวิดีโอนะ เพราะอยากให้เป็นงานของผู้กำกับไปเลย เป็นแอนิเมชั่นหรืออะไรก็ได้ ให้เป็นงานศิลปะของเขาไป

ส่วนหน้าปกอัลบั้มก็อยากให้เป็นเหมือนศิลปะที่คราฟต์มากๆ ตั้งแต่หน้าปกปลาวาฬอัลบั้มแรกก็วาดด้วยมือนะ ปกอัลบั้มรีมิกซ์ (Slow Reverse : Illumination) ก็ฝนดินสอ พอมาอัลบั้มนี้เลยคิดว่าจะทำอะไรดี อยากได้นักออกแบบใหม่ๆ ที่นอกจากเป็นนักออกแบบแล้วยังมีสกิลงานอาร์ตด้วย เกือบกลับไปให้แม็ก–พีระ สุขอาษา (Clubpopp) ที่เคยออกแบบอัลบั้มเก่าๆ ทำให้เราอีกครั้งแล้ว จนได้มาเจอ ก๊อง–กีรติ เงินมี ที่เคยทำงานกราฟิกให้นิตยสาร happening เราเลยให้เขาดูแลอัลบั้มนี้ ปกเป็นเทคนิคภาพพิมพ์แบบ etching ซึ่งก็ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเสร็จ อัลบั้มนี้เราให้เขาออกแบบปก เทป ซีดี และแผ่นเสียงไม่ต้องเหมือนกันเลย แค่คุมให้ทั้ง 3 ปกอยู่ในไดเรกชั่นเดียวกัน

สำหรับพวกคุณแล้ว Slow Reverse เปรียบเหมือนอะไรในชีวิต

แพง : เรามองเป็นของขวัญ เป็นประสบการณ์ แต่ไม่ได้เป็นประสบการณ์ที่เคร่งเครียดกว่าจะได้มา เป็นเหมือนของขวัญที่เข้ามาเติมในชีวิตเรา ถ้าวันหนึ่งแก่ไปก็ดีใจที่มีอัลบั้มเจ๋งๆ ปกซีดีสวยๆ ได้ไปเล่นคอนเสิร์ตชิลล์ๆ เป็นกำไรชีวิต

ออย : สำหรับเรา Slow Reverse ถือเป็นโชคดีที่ได้ทำ ไม่ใช่ทุกคนที่ได้ทำ ไม่ใช่ทุกคนที่ได้ขึ้นคอนเสิร์ต ไม่ใช่ทุกคนที่ได้ออกเทป วงคือผลพลอยได้ของพี่อุซกับพี่ชายที่มาตกที่เรา แม้ไม่ใช่ความฝันของเราแต่เราก็ได้ทำความฝันของคนอื่น พี่ชายเราก็ภูมิใจ

อุซ : เนื่องจากเราเป็นแกนนำ สิ่งนี้คือสิ่งที่ต้องทำ เป็นเหมือนแรงขับบางอย่างที่ต้องเกิดขึ้น มันปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าเราจะไปเรียนหรือทำอาชีพอะไรสุดท้ายก็มาตกที่ตรงนี้แหละ เพราะเป็นสิ่งที่ค้างอยู่ตั้งนานแล้ว พอมาทำก็เป็นสิ่งที่เราชอบ เหมือนเป็นชะตาของเรา

 

ฟังดูแล้วมีอัลบั้มต่อไปแน่นอนใช่ไหม

อุซ : อยากทำนะถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ (หัวเราะ) แต่ขอตอบแบบเผื่อๆ ไว้ดีกว่าว่าไม่รู้เหมือนกัน เพราะถ้าเฉลยไปเลยเดี๋ยวคนจะรอ เราต้องทำเหมือนเดิม เราต้องหายตัว ให้คิดเสียว่า Slow Reverse เหมือนการสั่งของจากจีน ต้องอย่าไปคาดหวังว่ามันจะมาเมื่อไหร่ ทำเป็นลืมๆ ไปแล้ววันที่มันมาเราจะรู้เอง


ขอขอบคุณสถานที่ ร้าน 3nvy

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย