เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา แอนิเมชั่นเรื่องเจ้าหญิงนิทราในเวอร์ชั่นของดิสนีย์เพิ่งฉลองครบรอบ 60 ปี ซึ่งใครหลายคนเมื่อได้รู้อายุที่แท้จริงของแอนิเมชั่นเรื่องนี้ อาจจะรู้สึกตกใจเนื่องจากชื่อของเจ้าหญิงออโรร่า เจ้าชายฟิลลิป และนางฟ้าปีศาจมาเลฟิเซนต์ ยังคงโลดแล่นอยู่ในความทรงจำผ่านสื่อร่วมสมัย
เจ้าหญิงนิทราในเวอร์ชั่นดิสนีย์เป็นผลงานต่อจากซินเดอเรลล่า แต่กลับทิ้งช่วงห่างกันถึง 9 ปี โดยซินเดอเรลล่านั้นออกฉายปี 1950 ส่วนเจ้าหญิงนิทรา กว่าจะได้ฤกษ์ออกฉายก็ปาเข้าไปปี 1959
เหตุผลที่เจ้าหญิงนิทรากินเวลานานมากในช่วงการผลิต ส่วนแรกเป็นเพราะดิสนีย์ทุ่มเททุนและเวลาไปกับการก่อสร้าง Disneyland Park (เปิดตัวในปี 1955) ส่วนหลังเป็นเพราะตำนานเจ้าหญิงนิทรา ไม่ใช่เนื้อหาที่เหมาะกับเด็กเท่าไหร่ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาหลายครั้งเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสังคมในปัจจุบัน
จากความเป็นแม่สู่จุมพิตแห่งรักแท้ เจ้าหญิงนิทรากับพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง
ตำนานเกี่ยวกับหญิงสาวผู้ตกอยู่ในภาวะหลับใหลเป็นเรื่องเล่าเก่าแก่ในยุโรปที่อาจสืบย้อนกลับไปถึงทศวรรษที่ 1300s กล่าวถึงคู่รักชายหญิงคือทรอยลัสกับเซลแลนดีน (Troylus and Zellandine) พล็อตเรื่องเดียวกันถูกตีพิมพ์ในฝรั่งเศสเมื่อราวปี 1528 ภายใต้หนังสือรวมเล่มนิทานชื่อ Perceforest นักวิชาการบางท่านมองว่า Troylus and Zellandine อาจเป็นเจ้าหญิงนิทราเวอร์ชั่นเก่าที่สุด ส่วน Perceforest ถือเป็นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก
อย่างไรก็ดีโครงเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหญิงผู้ถูกสาปให้ต้องหลับใหล กลายเป็นที่รู้จักมากที่สุดในอีก 100 ปีต่อมาเมื่อเกียมบาติสตา บาซิเล (Giambattista Basile) กวีชาวอิตาเลียนได้นำเรื่องราวที่ว่านี้มาเรียบเรียงใหม่ โดยใช้ชื่อว่า ‘Sun, Moon, and Talia’ ในเวอร์ชั่นนี้เจ้าหญิงนิทรามีชื่อว่าทาเลีย พระบิดาของพระองค์ได้รับคำทำนายจากนักปราชญ์ว่าลูกสาวเพียงคนเดียวจะพบภัยจากเสี้ยนของใยผ้า จึงสั่งห้ามไม่ให้มีการนำผ้าชนิดต่างๆ เข้ามาสู่ราชอาณาจักร ทาเลียเมื่อเติบโตขึ้นบังเอิญเห็นหญิงชรากำลังปั่นผ้า เธอเกิดความสนใจและเข้าไปสัมผัสทำให้เสี้ยนจากผ้านั้นปักลงใต้เล็บ เจ้าหญิงล้มลงเข้าสู่การนิทราอันแสนยาวนาน พระราชาเสียใจมากจึงได้นำลูกสาวไปฝากไว้ในคฤหาสน์ชานเมืองของพระองค์ และไม่ทรงกลับไปที่นั่นอีก
หลายปีผ่านไปมีพระราชาจากอีกอาณาจักรเดินทางผ่านมาระหว่างการล่าสัตว์ พระองค์ถูกใจรูปโฉมที่งดงามของทาเลีย แต่เมื่อไม่สามารถปลุกหญิงสาวให้ตื่นได้ พระราชาจึงตัดสินใจข่มขืนฝ่ายหญิงทั้งยังหลับก่อนกลับไปอาณาจักรของตนเอง ทาเลียตั้งครรภ์ลูกแฝดและคลอดเด็กทารกทั้งสอง วันหนึ่งลูกของเธอพยายามปีนเข้าหาแม่เพื่อดูดนม แต่พลาดไปดูดนิ้วของมารดาทำให้เสี้ยนที่ตำอยู่หลุดออก ทาเลียตื่นจากนิทราพบว่าตนเป็นแม่ของเด็กทั้งสองที่เกิดขึ้นอย่างปริศนาจึงได้ตั้งชื่อลูกของเธอว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์ (เนื่องจากการเกิดของทารกเป็นเรื่องปริศนาพอๆ กับการเกิดของพระอาทิตย์และพระจันทร์)
พระราชากลับมาอีกครั้งและพบว่าหญิงสาวผู้งดงามตื่นจากนิทราพร้อมกับเด็กแฝดชายหญิง พระองค์ดีใจเป็นอย่างมาก ส่วนทาเลียเมื่อได้ยินเรื่องทั้งหมดก็ตัดสินใจที่จะรักพระราชาและรอให้พระองค์มารับตัวเธอกับลูกกลับอาณาจักร น่าเสียดายที่พระราชามีภรรยาอยู่แล้ว ราชินีเมื่อทราบเรื่องนี้จึงออกอุบายให้ผู้รับใช้พาตัวเด็กทารกทั้งสองมายังอาณาจักร บอกพ่อครัวให้ฆ่าเด็กเพื่อปรุงเป็นอาหารถวายพระราชา ต่อมาราชินีสั่งให้ฆ่าทาเลียด้วยการเผาทั้งเป็นแต่พระราชาเข้ามาช่วยไว้ทัน ราชินีจึงถูกประหารชีวิตแทน ส่วนทารกทั้งสองโชคดีว่าคนครัวเกิดมีใจสงสารจึงรักษาชีวิตไว้และปรุงเนื้อสัตว์อื่นๆ ถวายเพื่อตบตาราชินี หลังผ่านเหตุการณ์นี้ทาเลีย พระราชา พร้อมทั้งลูกทั้งสองจึงได้อยู่ร่วมกันต่อมาอย่างมีความสุข
นิทานในเวอร์ชั่นของเกียมบาติสตา บาซิเล ตีพิมพ์ในราวปี 1636 คงพล็อตเรื่องจากต้นฉบับซึ่งมีการข่มขืนฝ่ายหญิง ตลอดจนการกินเนื้อลูกตัวเองซึ่งเป็นเอกลักษณ์จากนิทานปรัมปราตั้งแต่ยุคกรีกโรมัน ยกตัวอย่างเช่นเทพโครนอสระแวงว่าจะถูกลูกแย่งชิงอำนาจจึงได้กลืนลูกลงท้องตั้งแต่แรกเกิด ส่วนการข่มขืนสตรีที่หมายปองก็เป็นสิ่งที่เทพเจ้าแห่งเทือกเขาโอลิมปัสกระทำกันอยู่จนเป็นเรื่องคุ้นเคย สตรีที่ถูกล่วงละเมิดไม่อาจทำอะไรได้ นอกจากยอมรับและต้องเผชิญกับบาปที่ตามมาไม่ต่างจากการที่เทพีเฮร่าตามหึงหวงอนุภรรยาของเทพซูส โดยเหตุที่นิยายในเวอร์ชั่นเก่ามีโครงเรื่องโหดร้าย เนื่องจากไม่ได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อเล่าให้เด็กฟัง แต่เป็นความบันเทิงสำหรับผู้ใหญ่ การนำนิทานมาปรับเปลี่ยนเพื่อผู้ฟังที่มีอายุน้อย เพิ่งถูกริเริ่มในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 เท่านั้น
เจ้าหญิงนิทราในเวอร์ชั่นที่เราพอจะคุ้นตา ถูกเขียนขึ้นโดยชาร์ล แปโร นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้วางรากฐานวรรณกรรมในยุคใหม่และวรรณกรรมประเภทเทพนิยาย งานของเขาตีพิมพ์ในปี 1697 มีจุดแตกต่างคือที่มาของคำสาปเกิดจากนางฟ้าผู้ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีศีลจุ่มของเจ้าหญิง ชาร์ล แปโรเขียนงานของเขาเพื่อเผยแพร่ในหมู่ชนชั้นสูงของฝรั่งเศส ดังนั้นจึงเพิ่มเติมรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนาเข้าไป ในเวอร์ชั่นนี้เจ้าหญิงตกอยู่ในภาวะนิทราเพราะเข็มปั่นด้าย โดยนางฟ้าองค์สุดท้ายได้บรรเทาคำสาป กล่าวว่าพระนางจะไม่ตาย แต่จะหลับไปเวลาหนึ่งร้อยปีและจะตื่นเพราะลูกชายของกษัตริย์
ทันทีที่เจ้าหญิงเข้าสู่ภาวะหลับใหล ทั้งราชสำนัก (นอกจากกษัตริย์กับราชินี) ได้เข้าสู่ห่วงนิทราอันยาวนานเพื่อติดตามเจ้าหญิง เวลาผ่านไปหนึ่งร้อยปี เจ้าชายจากอีกราชวงศ์เดินทางมาพบเจ้าหญิงนิทรา พระองค์ตกหลุมรักหญิงสาวและได้คุกเข่าลงข้างร่างอันงดงามของฝ่ายหญิง เจ้าหญิงนิทราตื่นขึ้นจากการหลับใหลอันยาวนานด้วยการกระทำที่แสดงถึงการให้เกียรติของฝ่ายชาย เมื่อเธอตื่นขึ้น ทั่วทั้งราชสำนักก็กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ทั้งสองสมรสและมีบุตรด้วยกันสองคน ลูกชายชื่อทิวา (Day) ส่วนลูกสาวชื่อรุ่งอรุณ (Aurora)
ในเวอร์ชั่นของพี่น้องกริมม์ ตีพิมพ์ในปี 1812 เรื่องราวในนิทานคล้ายคลึงกับงานของชาร์ล แปโร เป็นส่วนใหญ่ ต่างกันที่เจ้าหญิงในเรื่องนี้ถูกเรียกว่าไบรเออร์ โรส และเจ้าชายต้องฝ่าทุ่งหนามกุหลาบที่รายล้อมปราสาทของเจ้าหญิงเพื่อพิสูจน์ความรัก การปลุกเจ้าหญิงในเวอร์ชั่นของพี่น้องกริมม์ เปลี่ยนจากการคุกเข่าเป็นการมอบจุมพิตแห่งรักแท้
นิทานในทั้งสามเวอร์ชั่นเขียนขึ้นในต่างช่วงเวลาโดยมีการแฝงสัญลักษณ์แตกต่าง สื่อถึงค่านิยมสังคมตามแต่ละสมัย ในหนังสือเรื่อง Dictionary of Symbols โดยฌอง เชอวาลิเย (Jean Chevalier) กล่าวถึงสัญลักษณ์ เจ้าชาย กับ เจ้าหญิง ว่าเป็นตัวแทนความสัมพันธ์ของชายหญิงในอุดมคติสังคม ยังมีข้อสันนิษฐานว่า เสี้ยนจากใยผ้า ตลอดจนเข็มปั่นด้ายอาจหมายถึงสัญลักษณ์ที่สื่อถึงเพศชาย เสี้ยนบาดนิ้ว หรือเข็มตำมือ เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดเลือด อาจสื่อถึงการเสียพรหมจารีของฝ่ายหญิง ทันทีที่ผู้หญิงเข้าสู่วัยที่ต้องแต่งงาน เธอได้เสียความเป็นตัวของตัวเองไป เปรียบเสมือนเจ้าหญิงนิทราที่ตกอยู่ในสภาวะหลับใหล (ราชาและราชินีสื่อถึงพ่อแม่ที่ไม่อยากเสียลูกของตัวเองไปจากบ้านจึงพยายามปกป้องลูกสาวจากการแต่งงาน)
การจะปลุกหญิงสาวให้ตื่นขึ้น มีวิธีแตกต่างกันไปตามแต่ค่านิยมที่ซ่อนไว้ในนิทาน เรื่องเล่าเวอร์ชั่นดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็น Troylus and Zellandine ไปจนถึง Sun, Moon, and Talia ฝ่ายหญิงตื่นจากภาวะนิทราไม่ใช่เพราะความรักจากฝ่ายชาย แต่ด้วยสัญชาตญาณของความเป็นแม่ (เมื่อทารกดูดเสี้ยนที่ตำมือของเธอออก) แต่แนวคิดนี้ถูกปรับเปลี่ยนไปในเวอร์ชั่นของชาร์ล แปโร ที่การตื่นของเจ้าหญิงนิทราเกิดจากการกระทำที่สื่อถึงการให้เกียรติกัน (การคุกเข่าของฝ่ายชาย) นั่นเป็นเพราะในช่วงเวลาของนายชาร์ล แปโร ค่านิยมเรื่องการสมรส แม้จะเกิดจากความเหมาะสมแต่ก็มีอุดมคติเรื่องการให้เกียรติซึ่งกันและกัน
ในเวอร์ชั่นของพี่น้องตระกูลกริมม์ แนวคิดเรื่องการสร้างครอบครัวที่มีสามี-ภรรยาเป็น ‘คู่ชีวิต’ (companionate marriage) เริ่มได้รับความนิยม การปลุกเจ้าหญิงให้ตื่นจากการหลับ จึงเกิดขึ้นจากจุมพิตแห่งรักแท้
ด็อกเตอร์เกรซ ฮอกสตาด (Grace Hogstad) ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัมปราวิทยา (Mythological Studies) กล่าวถึงการตื่นขึ้นของหญิงสาวในทั้งสามเวอร์ชั่น ว่าเป็นการแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เพราะเมื่อฝ่ายหญิงตื่นขึ้นจากการหลับใหล บ้านจึงกลับคืนสู่ชีวิตชีวาและกลายเป็นบ้านอย่างแท้จริง (เมื่อเจ้าหญิงนิทราตื่นขึ้น ทั้งราชสำนักก็กลับมามีชีวิต)
ดิสนีย์กับการปลุกเจ้าหญิงนิทราให้กลายมาเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัย
ในเวอร์ชั่นของดิสนีย์ การตัดสินใจนำเจ้าหญิงนิทรากลับมาเล่าใหม่ ได้อ้างอิงนิทานจากสองเวอร์ชั่นหลัง คือฉบับของนายชาร์ล แปโร และสองพี่น้องตระกูลกริมม์ ดิสนีย์เลือกใช้วิธีปลุกเจ้าหญิงนิทราด้วยจุมพิตแห่งรักแท้ตามแบบหลัง แต่เพื่อเพิ่มให้เนื้อเรื่องดูเข้าใจได้สำหรับโลกยุคปัจจุบัน จึงมีการเพิ่มฉากการพบกันระหว่างเจ้าหญิงและเจ้าชายในป่า เพื่อให้ทั้งสองมีโอกาสทำความรู้จักกัน ก่อนที่จะนำไปสู่เหตุการณ์มอบจุมพิตในตอนท้าย
ดิสนีย์ยังได้ปรับช่วงเวลาแห่งการหลับใหลของเจ้าหญิง จากเดิมที่พระองค์จะต้องตกอยู่ให้ห้วงนิทราเป็นเวลาหนึ่งร้อยปี ให้เหลืออยู่แค่หลักชั่วโมงหรือหลักวัน เนื่องจากเจ้าชายได้เดินทางฝ่าขวากหนาม เอาชนะนางฟ้าปีศาจมาเลฟิเซนต์และช่วยเจ้าหญิงออกมาจากคำสาปร้าย
เจ้าหญิงนิทราในเวอร์ชั่นของดิสนีย์ใช้ชื่อว่าออโรร่า ซึ่งเป็นชื่อของลูกสาวเจ้าหญิงนิทราตามเวอร์ชั่นของชาร์ล แปโร ส่วนรูปลักษณ์ของออโรร่าอ้างอิงมาจากออดรีย์ เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn) หนึ่งในนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมที่สุดของโลกตลอดกาล ออดรีย์โด่งดังเป็นอย่างมากในยุคนั้น ได้รับฉายาเป็น ‘เจ้าหญิงเเห่งวงการฮอลลีวู้ดยุคทอง’ โดยการนำออดรีย์ มาเป็นแบบนั้น เคยได้รับการกล่าวถึงอย่างเป็นทางการโดย รอน ดิออส แอนิเมเตอร์ของดิสนีย์ เขากล่าวว่าเจ้าหญิงนิทรา “ดูเหมือนออดรีย์ เฮปเบิร์น เป็นอย่างมาก เพียงแต่นุ่มนวลกว่า มีการขยับท่าทางที่เหมือนกับเจ้าหญิงตามแบบฉบับดิสนีย์”
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง คือเจ้าหญิงนิทราเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นดิสนีย์เรื่องแรกที่มีการมอบชื่อให้ตัวละครเอกฝ่ายชาย ในเรื่องสโนไวท์ พระเอกของเรื่องถูกกล่าวถึงผ่านๆ ว่าเป็น เจ้าชาย ในเรื่องซินเดอเรลล่า เจ้าชายผู้ตามหาสาวน้อยสวมรองเท้าแก้วได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น เจ้าชายรูปงาม (Prince Charming) อย่างไรก็ดี เมื่อดิสนีย์ตั้งใจทำการ์ตูนเรื่องต่อไป กล่าวกันว่าทีมออกแบบตัวละครได้ลองหาต้นแบบเจ้าชายที่เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวอเมริกันมากที่สุด ซึ่งผลก็มาตกที่เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามีผู้ล่วงลับของควีนเอลิซาเบธที่ 2
อย่างไรก็ดี แนวคิดนี้เป็นแค่เรื่องเล่ามากกว่าความจริง เนื่องจากทีมงานดิสนีย์เองไม่เคยออกมายอมรับ และบรรดาผู้ทำการศึกษาในประเด็นที่ว่าก็ให้ข้อสันนิษฐานกันไปคนละอย่าง ซาร่า ดูนนิแกน (Sarah Dunnigan) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ เจ้าของผลงานวิจัยด้านเทพนิยายกับวัฒนธรรมกล่าวว่า เธอเชื่อในทฤษฎีนี้ “เนื่องจากเจ้าหญิงนิทราออกฉายในช่วงปี 1950s ซึ่งเป็นช่วงที่เจ้าชายฟิลิปได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชาวอเมริกัน” ในปีที่เจ้าหญิงนิทราออกฉาย ควีนเอลิซาเบธเพิ่งขึ้นครองราชย์ได้ราว 6 ปี ภาพของราชินีสาวคนสวยกับเจ้าชายรูปงามกลายเป็นพาดหัวข่าวดังในสังคมอเมริกัน
แม้ว่าประเด็นนี้จะยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่แฟนดิสนีย์จำนวนมากก็มองว่าทฤษฎีเรื่องชื่อเจ้าชายน่าจะเป็นไปได้ แม้ว่าดิสนีย์-หากตั้งใจใช้ชื่อเจ้าชายจริง ก็น่าจะหยิบมาแค่ชื่อ เพราะคาแรกเตอร์อื่นๆ ของตัวละคร ถูกออกแบบให้เหมือนเจ้าชายในอุดมคติเทพนิยาย มากกว่าจะถอดแบบมาจากเจ้าชายฟิลิปตัวจริงซึ่งขึ้นชื่อเป็นคนปากร้าย ตรงไปตรงมา มีอารมณ์ขันแบบร้ายกาจจนหลายคนเข็ดขยาดไปตามๆ กัน
ดิสนีย์ VS ความจริง เจ้าหญิงนิทราในประวัติศาสตร์กับการตลาดดิสนีย์
แอนิเมชั่นเรื่องเจ้าหญิงนิทรามีการระบุช่วงเวลาที่ชัดเจนกว่าทั้งสโนไวท์และซินเดอเรลล่า เนื่องจากเจ้าชายฟิลลิป ตัวละครหลักของเรื่องได้กล่าวในเชิงขำขันว่าตัวเขาอยู่ในศตวรรษที่ 14 แต่พระบิดาทำตัวเหมือนคนจากยุคก่อน ปราสาทของเจ้าหญิงออโรร่ายังมีความคล้ายคลึงกับปราสาทในเยอรมนีดังนั้นเรื่องราวในเวอร์ชั่นดิสนีย์จึงอาจตีกรอบคราวๆ ได้ว่าจะอ้างอิงจากวัฒนธรรมยุคกลาง
หากเรายึดเอาช่วงเวลานี้เป็นที่ตั้งเครื่องแต่งกายหลักของออโรร่าแทบจะไม่ได้เป็นไปตามยุคสมัย ยกตัวอย่างเช่น คอเสื้อแบบตัว V ยังไม่เป็นที่นิยมในยุคนั้น โดยหากจะว่ากันจริงๆ คอเสื้อแบบปาดไหล่ หรือตัดเป็นทรงเหลี่ยมดูจะได้รับความนิยมมากกว่า ชุดของออโรร่าในศตวรรษที่ 14 ควรมีลักษณะเป็นกระโปรงทรงบานแบบมีสายรัดบริเวณสะโพกหรือหน้าท้องแบบที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Kirtle และเนื่องจากออโรร่าเป็นเจ้าหญิง เครื่องประดับบริเวณริมขอบแขนเสื้อหรือชายผ้าของพระองค์อาจเป็นขนเออร์มิน ซึ่งเป็นขนสัตว์ที่ถูกสงวนไว้สำหรับเชื้อพระวงศ์เท่านั้น
การประดับชุดสำหรับชนชั้นสูงในช่วงศตวรรษที่ 14 นิยมงานปักที่อาจใช้อัญมณีมีค่าซึ่งเข้าใจได้ว่าดิสนีย์ตัดทอนตรงส่วนนี้เนื่องจากใช้เวลาในการลงรายละเอียดมาก ในเรื่องเจ้าหญิงนิทรามีฉากดังคือการปะทะกันของนางฟ้าแม่ทูนหัว เกี่ยวกับสีชุดของเจ้าหญิงออโรร่าว่าควรมีสีน้ำเงินหรือสีชมพู โดยหากอ้างอิงในเชิงประวัติศาสตร์ สีน้ำเงินเป็นสีที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงมากกว่า ส่วนสีชมพูนั้นยังไม่เป็นที่นิยมมากนักและไม่ใช่สีที่มีความสำคัญกระทั่งศตวรรษที่ 18 เมื่อมีการค้นพบเทคนิคการย้อมผ้าแบบใหม่ด้วยการใช้สีย้อมจากบราซิล ทำให้สีชมพูดูชัดขึ้น สว่างขึ้น ติดทนนานขึ้น และมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากสีแดงอย่างชัดเจน
ชุดของเจ้าหญิงออโรร่า หากดูกันเฉพาะในแอนิเมชั่นจะพบว่ามีการใช้สีน้ำเงินเป็นสีหลัก แต่หากดูกันในเวอร์ชั่นของที่ระลึกที่ผลิตตามมา จะเห็นได้ว่าชุดของเจ้าหญิงออโรร่ามักมีสีชมพูมากกว่าสีน้ำเงิน ที่เป็นแบบนี้เป็นเพราะดิสนีย์ต้องการสร้างความแตกต่างระหว่างชุดของซินเดอเรลล่าที่อยู่ในโทนสีฟ้า ประกอบกับว่าสีชมพูได้รับความนิยมอย่างมากในสังคมอเมริกันยุค 1950s เพราะเป็นช่วงเวลาที่ของเล่นแบบแบ่งเพศชาย/หญิงกำลังได้รับความนิยม จนเกิดเป็นคำว่า pink tax ขึ้นมา เพื่อล้อเลียนว่าสินค้าที่เป็นสีชมพูจะมีราคาสูงเป็นพิเศษ เพราะเป็นสิ่งของที่ผู้ปกครองนิยมซื้อให้ลูกสาว
มองกันในมุมนี้เจ้าหญิงนิทราในเวอร์ชั่นที่เรารู้จักกันในปัจจุบันไม่เพียงผ่านการขัดเกลาตัวตนผ่านค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนรูปแบบไป แต่ยังเปี่ยมไปด้วยการตีความแบบใหม่ๆ ที่ทำให้เราเห็นความเป็นไปตลอดระยะเวลา 60 ปี ที่ดิสนีย์ได้ปลุกให้นิทานเรื่องนี้กลับมามีตัวตนอีกครั้ง แล้วคุณล่ะ ชอบเจ้าหญิงนิทราในเวอร์ชั่นไหน และคุณจดจำเจ้าหญิงออโรร่าในชุดสีน้ำเงินหรือสีชมพูมากกว่ากัน
References:
https://www.mirror.co.uk/film/sleeping-beauty-facts-60th-anniversary-13838175