ตามหาเจ้าป่า ทาร์ซานเจ้าป่าผู้กลายมาเป็นขวัญใจยาวนานของชาวอเมริกัน แอนิเมชั่นเรื่องนี้ทำได้อย่างไร?

ทาร์ซาน (Tarzan) แอนิเมชั่นแนวผจญภัยที่หลายคนโตมาด้วยกัน เป็นผลงานเรื่องสุดท้ายในยุคเรเนอซองส์ของดิสนีย์ที่เรียกกันว่าเป็นยุคทองของสตูดิโอ ยุคดิสนีย์เรเนอซองส์เริ่มต้นในปี 1989 หลังผลงานดังอย่าง เงือกน้อยผจญภัย (The Little Mermaid) ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ดิสนีย์มีแผนปล่อยแอนิเมชั่นเรื่องยาวเป็นประจำทุกปี ผลงานเหล่านี้หลายเรื่องกลายเป็นแอนิเมชั่นอมตะที่ครองใจคนดูมาอย่างยาวนานไม่ว่าจะเป็น โฉมงามกับเจ้าชายอสูร (Beauty and the Beast) – 1991 อะลาดิน (Aladdin) – 1992 เดอะไลอ้อนคิง (The Lion King) – 1994 ไปจนถึง มูหลาน (Mulan) ในปี 1998 

ต่างจากแอนิเมชั่นเรื่องก่อนๆ ที่มักนำแรงบันดาลใจมาจากตำนานเก่าแก่ ทาร์ซาน เป็นนิยายที่มีอายุไม่ถึงหนึ่งร้อยปี (ในตอนที่แอมิเมชั่นถูกสร้าง) และค่อนข้างมีความเป็นอเมริกันแบบร่วมสมัย นิยายเรื่องนี้แต่งโดยนักเขียนชาวอเมริกัน เอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรห์ส (Edgar Rice Burroughs) โดยหลังจากหนังสือถูกตีพิมพ์ในปี 1912 เรื่องราวในนิยายเล่มหลักและเล่มแยกอีก 24 เล่มก็ถูกหยิบมาทำเป็นหนังตั้งแต่ในเวอร์ชั่นขาวดำไร้เสียง จนถึงเวอร์ชั่นที่ร่วมสมัยขึ้นมา กล่าวกันว่าจำนวนครั้งที่ทาร์ซาน ถูกหยิบมาทำเป็นหนัง มีอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 45 เวอร์ชั่นก่อนดิสนีย์จะตัดสินใจหยิบโครงเรื่องมาทำเป็นแอนิเมชั่นเพื่อออกฉาย

อย่างไรก็ดี การที่ดิสนีย์เลือกหยิบนิยายเรื่อง Tarzan of the Apes มาเล่าใหม่ ถือเป็นการสานฝันของเอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรห์ส เจ้าของงานเขียนที่เคยกล่าวว่าเรื่องราวในนิยายของเขาน่าจะถูกนำเสนอได้เหมือนจริงที่สุดในรูปแบบแอนิเมชั่น เกล็น คีน (Glen Keane) ผู้ดูแลแอนิเมชั่นของ ทาร์ซาน กับทีมงาน 13 คน พยายามถอดแบบคาแรกเตอร์ของทาร์ซานออกมาจากเวอร์ชั่นหนังสือ และได้เลือกเอามูฟเมนต์ของตัวละครมาจากลูกชายวัยรุ่นของเขาซึ่งชื่นชอบการเล่นสเกตบอร์ดและกีฬาผาดโผน 

โทนี่ ฮอว์ก นักสเกตบอร์ดชื่อดังชาวอเมริกัน กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ทาร์ซาน ในขณะที่เจน พอร์เตอร์ นางเอกของเรื่อง ถอดแบบมาจากนักอนุรักษ์ป่าสองท่านซึ่งมีตัวตนอยู่จริง คือ เจน กูดอลล์ (Jane Goodall) กับไดแอน ฟอสซีย์ (Dian Fossey) ทั้งสองท่านเคยใช้ชีวิตอยู่ในป่าเพื่อศึกษากอริลลาและชิมแปนซี

ในการสร้างแอมิเมชั่นเรื่องนี้ ทีมงานต้องลงพื้นที่จริงในแอฟริกา พวกเขาเที่ยวชมเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าที่ประเทศเคนย่า และได้เดินทางไปสังเกตกอริลลาภูเขาในยูกันดา การสังเกตป่าและสิ่งมีชีวิตอย่างใกล้ชิดกลายเป็นภูมิหลังล้ำค่าในการสร้างแอนิเมชั่น กระทั่งหลานชายของเจ้าของผลงานหนังสือเมื่อได้เห็นตัวอย่าง ถึงกับกล่าวอย่างตื่นเต้นว่าตัวเขายินดีเหลือเกินที่จะได้เห็นตัวละครของปู่โลดแล่นในรูปแบบแอนิเมชั่น

เอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรห์ส เจ้าของหนังสือดัง Tarzan of the Apes กับเบื้องหลังแรงบันดาลใจที่สร้างให้ทาร์ซานกลายเป็นขวัญใจชาวอเมริกัน

ทาร์ซานเป็นหนึ่งในตัวละครอมตะและเป็นที่รักมากที่สุดของชาวอเมริกัน หนังสือพิมพ์ Los Angeles Times กล่าวว่า ภาพลักษณ์ บุคลิก หรือแม้แต่ชื่อทาร์ซาน ถูกนำไปผลิตเป็นสินค้ามากมายตั้งแต่เสื้อยืดไปจนถึงวิตามิน ในประเทศญี่ปุ่น ชื่อทาร์ซานเคยถูกนำไปตั้งเป็นชื่อนิตยสารฟิตเนสที่ได้รับความนิยม

แต่เรื่องราวโด่งดังของทาร์ซานมีที่มาจากตรงไหน? เสียงหนึ่งกล่าวว่าเบอร์โรห์สน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานโรมุลุสและแรมุส ซึ่งเป็นบุคคลในเรื่องปรัมปราเกี่ยวกับการก่อตั้งกรุงโรม ทั้งสองเป็นบุตรชายฝาแฝดของเรอา ซิลวิอา นักบวชหญิงพรหมจรรย์ กับมาร์ส เทพเจ้าแห่งสงคราม ตำนานกล่าวว่าพี่น้องฝาแฝดถูกทิ้งไว้ที่ริมแม่น้ำ และถูกนางหมาป่ารับไปเลี้ยงดู ต่อมาสองพี่น้องก่อตั้งเมืองของตัวเอง เมืองของโรมุลุสชื่อโรม ส่วนเมืองของแรมุสชื่อริมอเรีย สองพี่น้องเกิดขัดแย้งและได้ต่อสู้กัน โรมุลุสเป็นฝ่ายชนะ ส่วนแรมุสเสียชีวิตในการประลอง ทำให้โรมุลุสได้ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของกรุงโรม 

แต่อีกเสียงกล่าวว่าเรื่องเจ้าป่าทาร์ซานน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจาก Jungle Book (หรือที่รู้จักกันในนาม เมาคลีลูกหมาป่า) ผลงานของนักเขียนชาวอังกฤษ รัดยาร์ด คิปลิง (Rudyard Kipling) ตีพิมพ์เมื่อปี 1894 เกี่ยวกับประเด็นนี้ ตัวรัดยาร์ด คิปลิงเองเคยกล่าวหาว่านักเขียนชาวอเมริกันลอกเลียนผลงานของเขา แต่ข้อกล่าวหาที่ว่าไม่ได้มีผลในทางกฎหมาย 

แม้จะมีที่มาไม่แน่ชัด เรื่องเล่าเจ้าป่าอาจไม่ได้มาจากทั้งตำนานก่อตั้งกรุงโรมและผลงานของคิปลิง แต่มาจากบุคคลที่มีตัวตนจริงคือวิลเลียม ชาร์ล มิลดิน (William Charles Mildin) หนุ่มเชื้อสายขุนนางชาวอังกฤษที่ประสบอุบัติเหตุเรือแตกตอนอายุ 11 ปี และต้องใช้ชีวิตรอนแรมในป่าเป็นเวลาถึง 15 ปี ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือให้กลับมาประเทศบ้านเกิดได้สำเร็จ บันทึกของมิลตันกล่าวว่า ตัวเขาได้รับความช่วยเหลือจากฝูงลิงที่แบ่งอาหารให้ และได้รู้จักกลุ่มชนพื้นเมืองที่ยังใช้ชีวิตแบบชนเผ่า 

ตัวตนของวิลเลียม ชาร์ล มิลดิล มีหลายส่วนที่ดูคล้ายกับทาร์ซาน พวกเขาเป็นคนขาว มาจากตระกูลร่ำรวย ประสบเหตุไม่คาดฝันทำให้ต้องติดอยู่ในป่า และได้รับความช่วยเหลือจากฝูงลิง ส่วนที่แตกต่างในเรื่องราวของทั้งสอง คือมิลดิลอายุ 11 ปีแล้วในตอนนั้น เขาสามารถพูด อ่าน เขียน และบันทึกเรื่องราวของตัวเองในขณะที่ทาร์ซานคลอดหลังจากพ่อแม่ประสบภัย พ่อแม่ของทาร์ซานเสียชีวิตหลังจากนั้นทำให้ทาร์ซานไม่รู้ภาษามนุษย์ และไม่ทราบว่าตัวเองเป็นทายาทมรดกมหาศาล 

ทาร์ซานในเวอร์ชั่นนิยาย ได้มารู้จักตัวตนที่แท้จริงของตัวเองหลังค้นพบกระท่อมที่พ่อแม่เคยสร้างไว้ที่กลางป่า เขาเรียนรู้การอ่านเขียนจากหนังสือที่ถูกทิ้งไว้ แต่ไม่สามารถพูดได้เพราะไม่เคยได้ยินภาษาอังกฤษ ทาร์ซานเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ การสวมใส่เสื้อผ้า และการใช้อาวุธซึ่งทำให้เขาสามารถเอาชนะความอ่อนแอทางกายภาพได้ในท้ายสุด 

ทฤษฎีที่ว่าเอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรห์ส น่าจะได้รับความช่วยเหลือในการเขียนนิยาย มาจากความจริงที่ว่าตัวเขาไม่เคยเดินทางไปทวีปแอฟริกา แต่กลับเขียนบรรยายเรื่องราวได้อย่างสมจริง ประเด็นนี้ไม่อาจพิสูจน์ได้จนถึงปัจจุบันเนื่องจากบันทึกของวิลเลียม ชาร์ล มิลดิน ถูกเผยแพร่หลังจากที่เขาและทายาทเพียงคนเดียวเสียชีวิต เป็นไปตามพินัยกรรมที่ได้ทำไว้ก่อนตาย 

ทาร์ซานในเวอร์ชั่นของดิสนีย์ ทำไมตำนานเจ้าป่าถึงจับใจชาวอเมริกัน กลายเป็นขวัญใจของคนเมืองต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี

ทาร์ซาน เป็นแอมิเมชั่นเรื่องสุดท้ายในยุคเรเนอซองส์ของดิสนีย์ เพราะการ์ตูนเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้ายที่ได้รับรางวัลออสก้า ชนะในสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Original Song) หลังแอมิเมชั่นเรื่องนี้ ดิสนีย์ไม่สามารถคว้าออสก้าได้อีกเลยจนกระทั่งปี 2012 เมื่อ Paperman ชนะรางวัลออสก้าสาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นสั้นยอดเยี่ยม (Best Animated Short Film) 

เพลงประกอบแอมิเมชั่น ทาร์ซาน มีลักษณะแตกต่างจากการ์ตูนดิสนีย์เรื่องก่อนหน้า คือเป็นเพลงที่ถูกร้องโดยบุคคลที่สาม ตัวละครไม่ได้เปล่งเสียงร้องเพลงออกมาเองแบบที่เราเห็นกันตั้งแต่ใน เงือกน้อยผจญภัย มาจนถึง มู่หลาน หรือ เฮอร์คิวลิส วิธีการนำเสนอแบบนี้ เข้ากันได้ดีกับตำนานเจ้าป่าที่เป็นเหมือนเรื่องเล่า โดยสาเหตุที่ดิสนีย์เลือกเล่าเรื่องในวิธีนี้ อาจมาจากเรื่องราวของทาร์ซานที่ค่อนข้างมืดมน มีตัวละครเสียชีวิตจริงจากเหตุการณ์ในท้องเรื่อง (เพลงที่ชนะรางวัลออสก้าคือ You’ll Be In My Heart โดยฟิล คอลลินส์) 

ส่วนสาเหตุที่แอมิเมชั่นเรื่อง ทาร์ซาน ประสบความสำเร็จ กวาดรายได้ไปถึง 448.2 ล้านดอลลาร์ จากทุนสร้าง 130 ล้าน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวละครนี้โด่งดังอยู่แล้วเป็นทุนเดิม แต่การเปลี่ยนวิธีเล่าเรื่องให้เป็นการ์ตูนแอนิเมชั่น ทำให้เรื่องราวของเจ้าป่าสามารถเข้าถึงผู้ชมกลุ่มใหม่ๆ โดยตัดเรื่องทางเพศและความรุนแรงออกไปจากวเวอร์ชั่นหนัง 

นิยายเรื่อง Tarzan of the Apes มาในช่วงเวลาที่ถูกต้อง ช่วงทศวรรษที่ 1910s เป็นช่วงเวลาที่ชาวอัฟริกันอพยพเข้ามาในสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก สร้างความสงสัยว่าบุคคลมาใหม่เคยอาศัยในทวีปแบบไหน แอฟริกาในยุคนั้นเป็นดินแดนลึกลับ เต็มไปด้วยอันตราย ทำให้ ทาร์ซาน ถูกเขียนขึ้นด้วยกลิ่นอายของความเป็นฮีโร่ในเวอร์ชั่นป่า สิ่งที่ทาร์ซานแตกต่างจากนิยายของคนขาวซึ่งแต่งในช่วงเวลาเดียวกัน คือมันปราศจากกลิ่นอายของการล่าอาณานิคมแบบเข้มข้น (แม้จะมีบางมุมที่นักวิจารณ์วรรณกรรมยุคหลังมองว่ายกย่องคนขาวอยู่บ้าง) เนื่องจากคนเขียนเป็นชาวอเมริกันที่ไม่ได้เติบโตมากับแนวคิดนี้ตั้งแต่ต้น

เอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรห์ส เคยเป็นทหาร เขาเห็นการปฏิบัติที่เลวร้ายต่อกลุ่มคนอเมริกันพื้นเมืองและมีความกังวลในเรื่องนี้ นิยายของบอร์โรห์ส ไม่ต้องการสร้างความชอบธรรมให้คนขาวในการเข้าแทรกแซงและทำลายวัฒนธรรมอื่น แต่เป็นเรื่องราวผจญภัยในดินแดนที่ชาวอเมริกันกำลังให้ความสนใจเพียงเท่านั้น ซึ่งนั่นนำเสนอบุคลิกของสังคมอเมริกันในช่วงเวลาที่หนังสือออกวางขายได้เป็นอย่างดี 

ตอนจบของทาร์ซานและความแตกต่างกับเวอร์ชั่นนิยาย

ตอนจบของ ทาร์ซาน ในเวอร์ชั่นต้นฉบับมีความแตกต่างสำคัญจากในแอนิเมชั่น (หากเรานับกันที่หนังสือเล่มแรกซึ่งเป็นแรงบันดาลใจหลักของเรื่อง) ทาร์ซานในนิยายได้ช่วยกัปตันเรือซึ่งเป็นผู้พาเจน พอร์เตอร์ (นางเอกของเรื่อง) พ่อ รวมไปถึงนายพรานตัวร้ายมายังแอฟริกา แต่เมื่อทาร์ซานจะพาตัวกัปตันกลับไปที่ค่าย เขาพบว่ากลุ่มนักสำรวจเดินทางกลับไปแล้ว แต่เจนได้ทิ้งจดหมายไว้ กล่าวว่าเธอตัดสินใจกลับบ้านและจะไม่มาที่ทวีปแอฟริกาอีก 

กัปตันเรือใช้เวลาอยู่กับทาร์ซานจนสุขภาพกลับมาแข็งแรง เขาสอนทักษะการพูดและการอยู่ในสังคมมนุษย์ รวมไปถีงการอ่านแผนที่และเข็มทิศ ทำให้ในภายหลังเมื่อกัปตันพาทาร์ซานออกมาจากป่า เขาสามารถตามหาและพบเจนในท้ายสุด พวกเขายังคนพบตัวตนของพ่อแม่ทาร์ซานนั่นก็คือจอห์นและอลิซ เคลย์ตัน ตระกูลร่ำรวยที่มีมรดกมหาศาล (ส่วนทาร์ซานใช้ชื่อเดียวกับพ่อคือจอห์น เคลย์ตัน)

ทาร์ซานเมื่อเดินทางตามหาจนพบคนรัก เขากลับทราบว่าเจนตอบตกลงหมั่นหมายกับวิลเลียม เคลย์ตัน นายพรานซึ่งในเวอร์ชั่นดิสนีย์ถูกเลือกให้เป็นตัวร้ายหลักของเรื่อง นามสกุล ‘เคลย์ตัน’ ของพรานป่าเป็นนามสกุลเดียวกันกับพ่อแม่ของทาร์ซาน ทำให้ผู้อ่านทราบว่าวิลเลียมได้รับมรดกจำนวนมากจากครอบครัวของทาร์ซาน เรื่องจากทุกคนเชื่อว่าครอบครัวของจอห์นและอลิซเสียชีวิตแล้วทั้งหมด 

ทาร์ซานในตอนนี้ สามารถอ้างสิทธิ์การเป็นทายาท และคว้าตัวเจนมาครอบครอง แต่เขากลับเลือกละทิ้งทุกอย่าง เดินทางกลับเข้าป่าเพราะเชื่อว่าเจนจะมีความสุขมากกว่ากับคู่หมั้น เรื่องราวจบลงแบบไม่สมหวัง ต่างจากเวอร์ชั่นดิสนีย์ที่เจนกับพ่อตัดสินใจอาศัยในป่าอย่างมีความสุข 

การตัดสินใจของทาร์ซาน คล้ายจะนำเสนอนิยามความเป็นอเมริกันในช่วงทศวรรษที่ 1900s ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกายึดนโยบายโดดเดี่ยว ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับดราม่าในทวีปยุโรป  สังคมอเมริกันในยุคนั้นกำลังอยู่ในช่วงค้นหาตัวเองและสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นชาติ สิ่งนี้ถูกสะท้อนออกมาในวรรณกรรมร่วมสมัย (แม้นิยายภาคต่อที่ถูกเขียนออกมาตามคำเรียกร้องจะไปไกลถึงรุ่นลูกของทาร์ซานกับเจนชื่อแจ็ค) 

ดังนั้นหากจะหาคำตอบว่าทำไมตัวละครทาร์ซานถึงได้รับความนิยม และประสบความสำเร็จยาวนานร่วมร้อยปี แม้แต่ดิสนีย์ที่หยิบเอาตัวละครนี้มาเล่าใหม่ก็ยังได้อานิสงส์จากเรื่องราว กลายเป็นอีกผลงานขึ้นหิ่งที่คว้ารางวัลได้เป็นเรื่องสุดท้าย คำตอบนั้นอาจอยู่ที่ว่า ทาร์ซานคือตัวแทนสิ่งที่ชาวอเมริกันในช่วงเวลาหนึ่ง สังคมที่โหยหาการผจญภัย ใฝ่หาฮีโร่ที่จะมอบตัวตนให้คนในชาติ เรื่องราวของทาร์ซานจึงไม่ได้มีคุณค่าแค่ในแง่ของวรรณกรรม แต่เป็นการบันทึกฉบับสั้นที่ทำให้นักอ่านได้กลับไปเห็นทัศนคติและความเชื่อที่เคยและเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ 

References:

Did You Know? Seven Swinging Facts About Disney’s Tarzan https://d23.com/seven-swinging-facts-disneys-tarzan/ 

Revisiting Disney: Tarzan https://www.silverpetticoatreview.com/revisiting-disney-tarzan/ 

The Messed Up Origins of Tarzan | Disney Explained – Jon Solo https://www.youtube.com/watch?v=8O-24WJ6tQU 

11 popular misconceptions about Tarzan and his adventures https://www.deseret.com/2016/7/7/20591589/11-popular-misconceptions-about-tarzan-and-his-adventures 

Meet the Real Man Who Inspired Disney’s Tarzan https://www.rd.com/article/man-who-inspired-tarzan/ 

Tarzan: The Man Behind the Legend (Full Documentary) https://www.youtube.com/watch?v=UUdiZPzWD9c&t=59s

AUTHOR