เฮอร์คิวลิส การ์ตูนฮีโร่ที่ไม่ประสบความสำเร็จของดิสนีย์ แต่กลับเป็นที่จดจำของแฟนคลับ

ทุกวันนี้ดิสนีย์อาจมีชื่อเสียงจากหนังซูเปอร์ฮีโร่อันเนื่องมาจากความสำเร็จอย่างล้นหลามของสตูดิโอดัง Marvel แต่ย้อนหลังไปร่วมสามสิบปี ดิสนีย์เคยมีไอเดียทำการ์ตูนแนวซูเปอร์ฮีโร่เป็นของตัวเองมาก่อน  แต่ผลตอบรับกลับไม่ดีดังที่ตั้งใจ การ์ตูนฮีโร่ที่ว่าอ้างอิงเนื้อหาจากตำนานกรีกโบราณ ‘เฮอร์คิวลิส’ ออกฉายในฤดูร้อนของปี 1997 เฮอร์คิวลิสมีความน่าสนใจอย่างไร  ทำไมแอนิเมชั่นที่ไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของรายได้ แต่กลับได้รับเสียงเรียกร้องจากแฟนคลับจำนวนมากให้นำผลงานชิ้นนี้มาผลิตใหม่ในรูปแบบไลฟ์แอคชั่น?

ทำไมต้องเฮอร์คิวลิส? ดิสนีย์มีไอเดียแบบไหนจึงนำตำนานกรีกมาเล่าใหม่ผ่านแผ่นฟิล์ม 

หลังประสบความสำเร็จกับแอนิเมชั่นแนวผจญภัยอย่างอะลาดิน (1992) ดิสนีย์มีแนวคิดจะปั้นอนิเมชั่นที่มีแนวการดำเนินเรื่องใกล้เคียงกัน ไม่ใช่ตำนานเรื่องเล่าของเจ้าหญิงจากเทพนิยาย แต่เป็นเนื้อเรื่องชวนตื่นเต้นที่เต็มไปด้วยภาระกิจและมุกตลก ในปี 1992 ทีมงานดิสนีย์เสนอไอเดียหลายเรื่อง สองในนั้นต่อมากลายเป็นแอนิเมชั่นดังอย่างโพคาฮอนทัส (1995) และ ซินแบด (2003) โดยซินแบดถูกนำไปผลิตโดย DreamWorks Animation 

ส่วนไอเดียเกี่ยวกับเฮอร์คิวลิส ถูกนำเสนอโดยโจ ไฮดาร์ (Joe Haidar) แอนิเมเตอร์คนดังของดิสนีย์ซึ่งต่อมาจะมีส่วนร่วมในผลงานชิ้นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Atlantis: The Lost Empire (2001) หรือ Enchanted (2007) ตัวเขากล่าวว่าเรื่องราวของเฮอร์คิวลิสในเวอร์ชั่นของดิสนีย์ จะนำเสนอฮีโร่ที่มีความเป็นมนุษย์ มีมุมอ่อนแอ รู้จักถ่อมตน แนวเรื่องเป็นการมองหาความหมายที่แท้จริงของความกล้าหาญและการลุกขึ้นช่วยเหลือผู้อื่น ไอเดียของไฮดาร์เป็นที่สนใจ จอห์น มัสเคอร์ (John Musker) และรอน เคลเมนท์ (Ron Clements) สองผู้กำกับซื้อไอเดียในทันที มัสเคอร์กล่าวว่า ตัวเขาเป็นแฟนคลับฮีโร่ในโลกคอมมิคอยู่แล้ว งานนี้ถือเป็นโอกาสที่ดิสนีย์จะได้ทำ ‘superhero movie’ ของตัวเองบ้าง 

เป็นเวลานานก่อนหนังแนวซูเปอร์ฮีโร่จะทำรายได้ถล่มทลาย เฮอร์คิวลิสเป็นโปรเจ็กต์ตั้งต้นที่ผู้เขียนบทต้องการนำเสนอแง่มุมต่างๆ ของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ฮีโร่’ ต่างจากอะลาดินที่เก่งกาจ มีความเป็นตัวของตัวเองมาตั้งแต่ต้น เฮอร์คิวลิสพาเราไปรู้จักการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของบุคคลที่มีความรับผิดชอบยิ่งใหญ่ ตั้งแต่การฝึกฝน พิสูจน์ตนเอง การจัดการกับชื่อเสียง ไปจนถึงการตกผลึกเพื่อเข้าใจว่าอะไรคือความสำคัญอันดับหนึ่งของชีวิต เฮอร์คิวลิสต้องตัดสินใจว่า ระหว่างการได้รับการนับถือเป็นเทพเจ้า กับการได้รับความรักจากปุถุชนทั่วไป สิ่งไหนที่สำคัญมากกว่า ซึ่งนั้นทำให้ผู้ชมแอนิเมชั่นได้รับแง่คิดไปพร้อมๆ กันกับตัวละคร

ดิสนีย์วางภาพเฮอร์คิวลิสเข้ากับบุคคลจริงที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในยุคนั้น นั่นคือไมเคิล จอร์แดน นักบาสระดับตำนานของทีม Chicago Bulls ผู้กลายเป็นขวัญใจของคนทั้งชาติ ในแอนิเมชั่นของดิสนีย์ ความนิยมในตัวเฮอร์คิวลิสพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีของเล่น เมนูอาหารที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเขา กระทั่งรองเท้าแตะ ก็ยังเขียนคำว่า ‘Air Hercules’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับไมเคิล จอร์แดน ชายผู้มีสถานะเปรียบเสมือนเทพเจ้าของชาวอเมริกัน 

เรื่องราวของเฮอร์คิวลิสถูกเล่าขานโดยเทพธิดาผู้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ศาสตร์แขนงต่างๆ หรือที่เรียกกันว่า ‘มิวส์’ (Muses) ตามตำนาน มิวส์ทั้ง 9 ขับขานบทเพลงแสนไพเราะห์ที่แม้แต่เทพเจ้ายังต้องหยุดฟัง บทบาทการขับรองของกลุ่มเทพีมิวส์ ถูกนำเสนอโดยนักร้องสาวชาวแอฟริกัน-อเมริกัน 5 คน ซึ่งล้วนแต่ประสบความสำเร็จในเวทีบรอดเวย์มาก่อน บุคลิกของมิวส์ทั้ง 5 ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนักร้องตัวจริง โดยในระหว่างที่ทั้ง 5 ร้องเพลงประกอบแอนิเมชั่น ได้มีการบันทึกวีดีโอเพื่อนำไปสร้างบุคลิกของตัวละคร 

จอห์น มัสเคอร์ และรอน เคลเมนท์ สองผู้กำกับ ตั้งใจให้เรื่องราวของเฮอร์คิวลิสถูกบอกเล่าในสไตล์เพลงแบบกอสเปล (Gospel) ซึ่งเป็นแนวเพลงที่เน้นการประสานเสียงร้อง ส่วนมากเป็นการร้องเพื่อเฉลิมฉลอง บอกเรื่องราวทางศาสนา เชื่อกันว่ากอสเปลพัฒนามาจากโบสถ์ของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และเป็นภาพสะท้อนสังคมร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี 

ตำนานต้นฉบับกับเฮอร์คิวลิสฉบับแอนิเมชั่น

ปัญหาสำคัญที่สุดของการหยิบเอาตำนานกรีกมาดัดแปลงใหม่น่าจะเป็นเรื่องเนื้อหาที่มีความรุนแรงเกินไป ไม่เหมาะจะพาลูกหลานไปชมในโรงภาพยนต์ เฮอร์คิวลิสในฉบับของดิสนีย์แทบจะยกเครื่องต้นฉบับแทบทั้งหมด จุดต่างของฉบับแอนิเมชั่นกับตำนาน ยกตัวอย่างเช่น 

1. เฮอร์คิวลิสไม่ใช่ลูกของซูสกับภรรยา แต่เป็นลูกชู้ที่มาจากการถูกล่อลวงของฝ่ายหญิง 

ตามตำนาน เฮอร์คิวลิสมีสถานะเป็นลูกครึ่งเทพเจ้า เนื่องจากพ่อของเขาคือเทพเจ้าซุส – เทพเจ้าสูงสุดแห่งเทือกเขาโอลิมปัส ส่วนแม่เป็นมนุษย์ธรรมดาคือนางอัลคมีน ซูสถูกใจความงามของนางอัลคมีนจึงปลอมตัวเป็นสามีเพื่อเข้าไปร่วมรัก ต่อมานางอัลคมีนตั้งท้องและคลอดลูกชายคือเฮอร์คิวลิส 

ตามตำนานต้นฉบับเฮอร์คิวลิสมีน้องชายคนละพ่อซึ่งเกิดจากสามีที่ถูกต้องของนางอัลคมีน แต่ในภาคแอนิเมชั่น น้องชายฝาแฝดถูกตัดออกไป ส่วนนางอัลคมีนกับสามี ถูกเปลี่ยนให้เป็นพ่อแม่บุญธรรมผู้เก็บเฮอร์คิวลิสมาเลี้ยงดูตั้งแต่เล็กๆ 

2. ตัวร้ายของเรื่องไม่ใช่เฮดีส แต่เป็นเฮรา ภรรยาของซูส 

นางอิจฉาที่ตามจองร้างจองผลาญเฮอร์คิวลิสคือเทพีเฮรา ภรรยาหลวงของซูสที่ขึ้นชื่อเรื่องความหึงหวง ในเวอร์ชั่นของดิสนีย์ เฮราถูกวางตัวเป็นเทพีที่งดงามและอบอุ่น แต่ในเวอร์ชั่นต้นฉบับ เฮรากลั่นแกล้งเฮอร์คิวลิสต่างๆ นานา ตั้งแต่ทำให้เฮอร์คิวลิสคุ้มคลั่งจนพลั้งมือฆ่านางเมการา – ภรรยาของเฮอร์คิวลิส พร้อมลูกเล็ก แถมยังวางแผนให้เฮอร์คิวลิสต้องเข้าไปทำภารกิจอันตราย 12 ประการเพื่อลบล้างความผิด ภารกิจเหล่านี้อันตรายมาก เฮราหวังว่าเฮอร์คิวลิสจะพลั้งพลาด เสียชีวิตจากการทำภารกิจ ซึ่งภารกิจเหล่านี้ปรากฏอยู่บ้างในภาคแอนิเมชั่น เช่นการปราบไฮดร้า การจับหมูป่าเอราแมนเทียน หรือการสังหารสิงโตเนเมียน ฯลฯ 

3. ไม่มีม้าเพกาซัสในตำนาน

ในภาคแอนิเมชั่น เพกาซัสถูกสร้างขึ้นจากก้อนเมฆเพื่อเป็นของขวัญจากซูสให้ลูกชาย แต่เพกาซัสไม่ปรากฏในเรื่องราวตามต้นฉบับของเฮอร์คิวลิส เจ้าม้ามีปีกสีขาวมีบทบาทในเรื่องราวของเพอร์ซีอุส ลูกครึ่งเทพเจ้าอีกคนที่ทำภารกิจสำคัญคือบั่นคอนางเมดูซ่า ตามตำนานของเพอร์ซิอุส เพกาซัสเกิดมาจากเลือดที่พุ่งออกมาจากศีรษะของเมดูซ่า วีรบุรุษผู้กล้าอีกคนที่ได้ขี่ม้าเพกาซัส คือ เบลเลโรฟอน ผู้ปราบปีศาจคิเมร่า การเพิ่มเพกาซัสเข้าไปในแอนิเมชั่นเฮอร์คิวลิส น่าจะเป็นเพราะม้าบินแบบนี้มีความนิยมในวัฒนธรรมยุโรป แถมน่าจะถูกใจเด็กๆ ที่ชอบม้าอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

4. มิวส์ เทพธิดาผู้ขับขานตำนานเฮอร์คิวลิส มีทั้งหมด 9 นาง

ตามตำนานกรีก มิวส์ทั้ง 9 ประกอบไปด้วยเทพีผู้เป็นตัวแทนศาสตร์แขนงต่างๆ ได้แก่

1. ไคลโอ (Clio) – ประวัติศาสตร์ 

2. ยูเรนิอา (Urenia) – ดาราศาสตร์ 

3. เมลพอมินี (Melpomene) – โศกนาฏกรรม 

4. ธาไลอา (Thalia) – สุขนาฏกรรม 

5. ทิร์ปซิคอเร (Terpsichore) – นาฏศิลป์ 

6. แคลลีโอพี (Calliope) – กวีนิพนธ์มหากาพย์

7. เอราโต (Erato) – กวีนิพนธ์รัก 

8. โพลิฮิมเนีย (Polyhymnia) – เพลงสดุดีปวงเทพ 

9. ยูเทอร์พี (Euterpe) – ดนตรี

ในแอนิเมชั่นของดิสนีย์กลุ่มมิวส์ทั้ง 9 ถูกตัดทอนเหลือแค่ 5 ได้แก่ ไคลโอ เมลพอมินี ธาไลอา ทิร์ปซิคอเร และ แคลลีโอพี โดยมีการกล่าวว่ามิวส์พระองค์ไหนคือเทพีอะไรโดยใส่ฉากให้เทพีแต่ละนางถือสิ่งของพระจำตัว สัญลักษณ์ของไคลโอคือม้วนกระดาษ เมลพอมินีคือหน้ากากโศกนาฏกรรม ธาไลอาคือหน้ากากสุขนาฏกรรม ทิร์ปซิคอเรคือพิณ ส่วนแคลลีโอพีคือกระดานชนวน การตัดทอนกลุ่มเทพีมิวส์ให้เหลือเพียง 5 น่าจะเป็นประโยชน์เรื่องการควบคุมตัวละครในเรื่องไม่ให้อยู่ในจำนวนที่มากและน่าสับสนจนเกินไป 

5. เมการา นางเอกของเรื่องไม่ได้ลงเอยอย่างมีความสุขกับเฮอร์คิวลิส 

ตามตำนาน เมการาเป็นธิดากษัตริย์เมืองธีบส์ บทบาทของเธอตามต้นฉบับปรากฏอยู่น้อยมาก เมการาตายตั้งแต่ต้นเรื่องเพราะถูกเฮอร์คิวลิสที่โดนสาปลงมือสังหารพร้อมลูกน้อย

ในเวอร์ชั่นดิสนีย์ เมการา หรือ เม็ก เป็นตัวละครหญิงที่มีคาแร็กเตอร์น่าสนใจ ความสัมพันธ์ของเธอกับเฮอร์คิวลิสไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยความรักเป็นที่ตั้ง (ต่างจากตัวละครหญิงส่วนใหญ่ของดิสนีย์) ความจริงที่เม็กเป็นคนของเฮดีสซึ่งถูกส่งมาเพื่อหาจุดอ่อนของเฮอร์คิวลิส ทำให้บุคลิกของเธอเฉียบขาด แข็งแกร่ง มีความเป็นผู้นำ และดูจะเป็นผู้ใหญ่เสียยิ่งกว่าฝ่ายชาย

เม็กได้รับบทเรียนจากความรักเนื่องจากเธอมอบวิญญาณของตัวเองให้เฮดีสเพื่อช่วยแฟนหนุ่ม แต่แฟนหนุ่มของเธอกลับทิ้งเม็กไปหาผู้หญิงอื่น บทเรียนราคาแพงทำให้เม็กเป็นผู้หญิงที่ไม่เชื่อเรื่องความรัก ตรงกับเพลง “I Won’t Say (I’m In Love)” บทเพลงประจำตัวของเธอที่กล่าวว่าตัวเธอจะไม่ขอยอมรับหรอกว่ากำลังมีความรักเพราะบทเรียนที่ผ่านมามันทำให้เจ็บช้ำเหลือเกิน 

เม็กเห็นด้านไม่สวยงามของความรัก เธอเคยใจสลาย ต้องต่อสู้กับความสับสนมากมายเพื่อเปิดใจให้รักครั้งใหม่ เม็กเข้าใจว่าการรักใครสักคนมีผลตามมาอย่างไร เธอตัดสินใจสละตัวเองให้เฮอร์คิวลิสทั้งที่รู้ดีว่าจุดจบของเธออาจไม่สวยงามนัก ซึ่งนั่นทำให้คาแรกเตอร์ของเม็กน่าสนใจและมีมิติมากกว่าตัวละครหญิงที่ผ่านมาของดิสนีย์ 

เฮอร์คิวลิสไม่ประสบความสำเร็จจริงหรือไม่? ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

แม้จะมีข้อดีและสีสันมากมาย แต่ในสายตาของดิสนีย์ แอนิเมชั่นเรื่องนี้ทำผลงานน่าผิดหวัง กวาดรายได้ไปเพียง 252 ล้านดอลลาร์จากทุนสร้าง 85 ล้าน (ในขณะที่อะลาดินกวาดรายได้ไปถึง 504 ล้าน จากทุนสร้างเพียง 28 ล้าน) 

หนังสือพิมพ์ The New York Times กล่าวว่าเฮอร์คิวลิสเปิดตัวน่าผิดหวัง ทำรายได้เพียง 58 ล้านดอลลาร์ในสองอาทิตย์แรก ต่างจากโพคาฮอนทัสที่ทำรายได้มากถึง 80 ล้านดอลลาร์ หรือ The Lion King ที่ทำรายได้ไปถึง 119 ล้านดอลลาร์ในสองสัปดาห์แรก ส่วนเหตุผลที่ผลประกอบการของเฮอร์คิวลิสไม่เป็นที่น่าพอใจ The New York Times ได้อ้างถึงบทสัมภาษณ์ผู้บริหารท่านหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนามของดิสนีย์ ซึ่งกล่าวถึงปัญหาขอแอนิเมชั่นเรื่องนี้ที่ ‘ไม่สามารถดึงดูดคนทั้งครอบครัวได้’

“ถ้าครอบครัวหนึ่งมีลูกสามคน เป็นลูกชายวัย 12 และ 10 ปี ส่วนลูกสาวคนเล็กอายุ 8 ขวบ คุณแม่อยากพาลูกคนเล็กไปดูเฮอร์คิวลิส แต่ลูกชายอาจอยากดู Men in Black มากกว่า กลับกันถ้าลูกวัย 10 ขวบเป็นลูกสาว เธอก็อาจอยากดู My Best Friend’s Wedding มากกว่าเฮอร์คิวลิส”

Washington Post กล่าววิจารณ์งานภาพของเฮอร์คิวลิสว่าทำขึ้นอย่างลวกๆ และมีการใช้คอมพิวเตอร์แอนิเมชั่นเพื่อประหยัดเวลา ตัวละครเฮดีสถูกทำไปเปรียบเทียบกับจินนี่ในเรื่องอะลาดินซึ่งทำไว้ดีกว่า ส่วนเพลงก็ไม่น่าจดจำเท่าอะลาดินหรือลิตเติลเมอร์เมท 

อีกหนึ่งเหตุผลที่เฮอร์คิวลิสไม่ถูกใจเด็กเล็ก และไม่สามารถครองแชมป์หนังครอบครัวยอดนิยม อาจมาจากการสอดแทรกมุกตลกสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งเด็กดูแล้วไม่เข้าใจและคงไม่ขำ ยกตัวอย่างเช่น บทพูดของเฮดีสที่กล่าวว่านรกให้บริการลูกค้าหลายพันคน ตั้งใจล้อคำโฆษณาของแม็กโดนัลด์ การเรียกเมืองธีปส์เป็น ‘มะกอกผลใหญ่’ (the Big Olive) มาจากชื่อเล่นของมหานครนิวยอร์กที่ถูกเปรียบว่าเป็น “the Big Apple” หรือการที่ครูฝึกของเฮอร์คิวลิสบอกว่า ถ้าเขาประสบความสำเร็จที่เมืองธีปส์ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในทุกที่ มาจากเนื้อเพลง New York, New York ของ แฟรงค์ ซินาตร้า (Frank Sinatra) “If you can make it there, you can make it anywhere” 

แม้คำวิจารณ์จากสื่อจะไม่ดีนัก แต่โพลสำรวจความพึงพอใจจากผู้ชม กลับพบว่ามีการให้คะแนนเฮอร์คิวลิสสูงกว่าโพคาฮอนทัสซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่า แม้แอนิเมชั่นจะไม่ทำเงิน แต่ก็ไม่ได้ล้มเหลวมากมายในสายตาผู้ชมทั่วไป 

ปัญหาใหญ่ที่ทำให้เฮอร์คิวลิสไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากเป็นเพราะจังหวะของแอนิเมชั่นไม่ดี มีคู่แข่งมาก ยังเป็นเพราะแอนิเมชั่นเรื่องนี้มาในช่วงปลายยุคเรนาซองซ์ของดิสนีย์ ซึ่งผู้ชมเริ่มอิ่มตัวกับการนำเสนอเนื้อหาในรูปแบบเดิม โดยหากเฮอร์คิวลิสมาก่อนอะลาดิน ก็อาจจะประสบความสำเร็จได้ไม่น้อยไปกว่ากัน 

เฮอร์คิวลิสน่าผิดหวังจริงหรือไม่? คำถามนี้อาจได้รับคำตอบต่างไปหากมองในแต่ละมุม ดิสนีย์ที่หวังรายได้จากแอนิเมชั่นอาจตอบว่า ใช่ หนังไม่ทำกำไรเท่าที่คาดหวัง แต่สำหรับเด็กหลายคนที่เติบโตมากับเฮอร์คิวลิส แอนิเมชั่นเรื่องนี้ถือเป็นความทรงจำของช่วงเวลา เป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่แฟนคลับตั้งตาให้กลับมาในรูปแบบไลฟ์แอคชั่น

References:

The Original Hercules and Disney’s http://www.maicar.com/GML/DisneyHercules.html 

Disney’s Hercules: 10 Things That Would Be Different If The Movie Was Mythologically Accurate https://screenrant.com/disney-hercules-differences-if-mythologically-accurate/ 

27 hidden references and clever jokes in ‘Hercules’ you probably missed as a kid https://www.insider.com/hercules-clever-interesting-details-that-went-over-your-head 

Disney’s Myth Conception https://www.washingtonpost.com/wp-srv/style/longterm/movies/review97/herculeshowe.htm 

5 Reasons A Disney Hercules Remake Is A Great Idea https://www.cinemablend.com/news/2495681/5-reasons-a-disney-hercules-remake-is-a-great-idea 

Hercules: 6 Reasons Why The Disney Animated Movie Is Still Underrated https://www.cinemablend.com/movies/hercules-reasons-why-the-disney-animated-movie-is-still-underrated 

7 Reasons Why Hercules Is The Best Disney Movie https://www.theodysseyonline.com/hercules-best-disney-movie 

Hercules Is Too Weak to Lift Disney Stock https://www.nytimes.com/1997/07/10/business/hercules-is-too-weak-to-lift-disney-stock.html 

Time Has Been Kind To Disney’s ‘Hercules’, A Flawed But Fascinating Attempt To Recapture The Magic Of ‘Aladdin’ https://www.slashfilm.com/568984/hercules-revisited/ 

Megara’s FULL Story | Her Mythology & Sarcasm Explained: Discovering Disney Hercules https://www.youtube.com/watch?v=h3Ueer86n50 

WHY ‘HERCULES’ HAS THE BEST DISNEY SOUNDTRACK OF ALL TIME https://www.nylon.com/articles/hercules-movie-soundtrack-anniversary

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ประภวิษณุ์ อินทร์ตุ่น

นักออกแบบสายแอมบิเวิร์ท ผู้หลงใหลธรรมชาติ เสียงเพลง ภูเขา งานอดิเรกคือ อ่านหนังสือ ปาร์ตี้ และของกิน