โพคาฮอนทัส ว่าด้วยข้อถกเถียงเชิงประวัติศาสตร์ของการนำบุคคลจริงมานำเสนอใหม่ผ่านสายตาของดิสนีย์

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์กับความสนุกสนานของผู้รับชม เป็นสองสิ่งที่วงการภาพยนตร์ต้องคำนึงเสมอเมื่อมีการหยิบเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงมาสร้างใหม่เป็นหนัง หรือแม้แต่แอนิเมชั่นที่กลุ่มเป้าหมายหลักต้องการทั้งความบันเทิงไปพร้อมๆ กับความรู้ 

หลังจากดิสนีย์หยิบเรื่องเล่าที่คาบเกี่ยวระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่งอย่าง อะลาดิน มาสร้างจนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แม้จะครองใจผู้ชม แต่การหยิบวัฒนธรรมอาหรับและตั้งใจใช้ฉากหลังเป็นเมืองที่มีอยู่จริงอย่างเมืองแบกแดดของอิรัก (ภายหลังเปลี่ยนเป็นเมืองอัลคาบารีซึ่งเป็นนครในจินตนาการที่ไม่มีอยู่จริง) ก็สร้างกระแสไม่พอใจทำให้เกิดการประท้วงจากคณะกรรมการต่อต้านการเลือกปฏิบัติอเมริกัน-อาหรับ (American-Arab Anti-Discrimination Committee -ADC) อันเนื่องมาจากเพลงเปิดของเรื่อง (Arabian Night) มีท่อนร้องที่กล่าวว่า “Where they cut off your ears if they don’t like your face / It’s barbaric, but hey, it’s home – ที่ที่เขาตัดหูคุณเพราะไม่ชอบหน้า มันดูป่าเถื่อนนะ แต่ที่นี่คือบ้าน” ทำให้ต่อมาดิสนีย์ต้องเปลี่ยนเนื้อเพลงท่อนนี้ใหม่ ให้กลายเป็น “Where it’s flat and immense and the heat is intense / It’s barbaric, but hey, it’s home – ที่ราบเวิ้งว้างและร้อนจัด มันดูป่าเถื่อนนะ แต่ที่นี่ก็คือบ้าน” 

หากการอ้างอิงสถานที่และวัฒนธรรมที่คล้ายความเป็นจริงยังนำไปสู่ข้อถกเถียง การเลือกเอาบุคคลในประวัติศาสตร์อย่างโพคาฮอนทัสมาแปลงโฉมอีกครั้งก็ยิ่งจะต้องอาศัยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก 

เรื่องราวของโพคาฮอนทัสในเวอร์ชั่นดิสนีย์กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มีความแตกต่างกันแค่ไหน ทำไมดิสนีย์ถึงก้าวจากเทพนิยายไปสู่ตัวละครที่มีจริงในประวัติศาสตร์ แล้วผลกระทบของสิ่งนี้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในแง่ไหน บทความนี้จะพาย้อนไปในปี 1995 เมื่อแอนิเมชั่น โพคาฮอนทัส ถูกปล่อยออกมาเป็นครั้งแรก 

จากเรื่องจริงสู่แอนิเมชั่น โพคาฮอนทัสกับความตั้งใจของดิสนีย์ 

“จุดมุ่งหมายของ โพคาฮอนทัส คือการยกย่องวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองอเมริกัน” ปีเตอร์ ชไนเดอร์ ประธานแอนิเมชั่นของดิสนีย์ กล่าวไว้เช่นนี้เกี่ยวกับโปรเจกต์ โพคาฮอนทัส “เราต้องการนำเสนอมุมมองที่น่ายกย่องและมีพลังของชนพื้นเมืองอเมริกันในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโรงภาพยนตร์” ชไนเดอร์กล่าวว่าภาพยนตร์แอนิเมชั่นความยาว 78 นาทีที่กำลังจะเข้าฉายในวันที่ 23 มิถุนายนของปี 1995 จะเป็นการ ‘นำวัฒนธรรมและภาษาที่สูญหาย ให้ได้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง’

แอนิเมชั่นเรื่องนี้ มาพร้อมคำสัญญาว่าจะเคารพวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองและได้รับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากเรย์มอนด์ อดัมส์ อดีตประธานองค์กรสหอินเดียนแห่งเวอร์จินี (United Indians of Virgini) รวมไปถึงทีมงานและทีมนักแสดงที่เป็นชาวพื้นเมืองอเมริกัน ยกตัวอย่างเช่น ในฉากที่โพคาฮอนทัสได้รับสร้อยคอของแม่เป็นของขวัญ ได้มีการเปลี่ยนคำพูดจากเดิมที่ตัวละครกล่าวคำ ‘ขอบคุณ’ ไปเป็นการแสดงความรู้สึก ‘เป็นเกียรติ’ ซึ่งตรงกับวัฒนธรรมท้องถิ่นมากกว่า แทนที่จะเรียกโพคาฮอนทัสด้วยชื่อต้น  พ่อของโพคาฮอนทัสกลับเรียกตัวเอกของเรื่องด้วยสรรพนาม ‘ลูกสาวของพ่อ’ (my daugther) ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวพื้นเมืองอเมริกันปฏิบัติต่อกันในความเป็นจริง 

ไอรีน เบดาร์ด นักแสดงชาวอเมริกันพื้นเมือง ผู้ให้เสียงเป็นโพคาฮอนทัส กล่าวถึงแอนิเมชั่นเรื่องนี้ในแง่ดี เธอคิดว่าแอนิเมชั่นเรื่องนี้จะทำให้สังคมอเมริกันตระหนักถึงความหลากหลาย และยังเปิดโอกาสที่จะทำให้เด็กรุ่นใหม่ได้เห็นตัวละครหญิงที่เป็นมากกว่าตุ๊กตาบาร์บี้ 

อย่างไรก็ดี เมื่อเรื่องนี้ออกฉาย ก็มีเสียงต่อต้านออกมาหลายแบบ อาจารย์สอนวิชาอเมริกันพื้นเมืองศึกษา จาก University of Virginia กล่าวว่า แอมิเมชั่นเรื่องนี้มีหลายประเด็นที่ไม่เป็นไปตามประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจารย์อย่างเธอจะต้องหยิบไปอธิบายเพิ่มเติมในห้องเรียนเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ในขณะที่ชาวพื้นเมืองบางส่วนคิดว่าแอนิเมชั่นเรื่องนี้สนุก แต่ไม่ควรใช้ชื่อเรื่องว่า ‘โพคาฮอนทัส’ บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิจากวงการภาพยนตร์กล่าวว่า พวกเขาสามารถให้คำปรึกษาที่ดีกว่านี้ถ้าดิสนีย์คิดถามความเห็นจากพวกเขาก่อน 

จิม เพนเทคอสต์ โปรดิวเซอร์ของแอนิเมชั่นโพคาฮอนทัสตอบกลับกระแสเหล่านี้ว่าไม่ใช่เรื่องเกินคาด เขาทราบดีว่าการนำบุคคลที่มีอยู่จริง และยิ่งเป็นคนพื้นเมืองอเมริกันมาสร้างใหม่จะทำให้เกิดกระแสถกเถียงในวงกว้าง ส่วนดิก คุ๊ก ประธานฝ่ายจัดจำหน่ายในประเทศและการตลาดทั่วโลกของสตูดิโอดิสนีย์ เชื่อว่าก้าวที่ยิ่งใหญ่ของดิสนีย์ในการหยิบเรื่องราวของบุคคลจริงมาตีความใหม่ จะทำให้ตำนานเรื่องเล่าของโพคาฮอนทัสกลับมาอยู่ในกระแสและเปิดให้มีการตีความอย่างกว้างขวาง 

“ไม่ว่าคุณจะทำอะไร ก็ต้องมีคนที่ไม่พอใจอยู่ดี” เรย์มอนด์ อดัมส์ อดีตประธานองค์กรสหอินเดียนแห่งเวอร์จินี (United Indians of Virgini) ที่ปรึกษาหลักของแอนิเมชั่นเรื่องนี้กล่าว “บางคนไม่พอใจที่ได้เห็นขนนก หรือบางคนอาจไม่ชอบกระทั่งการตั้งชื่อทีมเบสบอลว่า the braves” 

‘บิดเบือนประวัติศาสตร์?’ ความแตกต่างระหว่างเรื่องราวของโพคาฮอนทัสจากเรื่องจริงสู่แอมิเมชั่น 

โพคาฮอนทัส (Pocahontas) เป็นลูกสาวคนโปรดของพาวฮาทัน-ผู้นำชนพื้นเมืองอเมริกัน เธอเกิดในปี 1596 ในแผ่นดินที่ปัจจุบันอยู่ใกล้กับเมืองเจมส์ทาวน์ในรัฐเวอร์จิเนียของสหรัฐอเมริกา 

ชื่อ ‘โพคาฮอนทัส’ แม้จะเป็นที่รู้จักกันมาก แต่ก็ไม่ใช่ชื่อจริงอย่างเป็นทางการของหญิงสาว เธอมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า อมอนเต้ (Amonute) ส่วนอีกชื่อหนึ่งที่ถูกเรียกในครอบครัวคือ มาโตอาคา (Matoaka) แปลว่าดอกไม้งามที่บานอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสาย แม่น้ำที่ว่านี้ น่าจะเป็นแม่น้ำมาทาโพนี (Mattaponi) และแม่น้ำพามังกี (Pamunkey) ซึ่งเป็นจุดที่เผ่าของเธอตั้งรกรากอยู่อาศัย สำหรับชื่อโพคาฮอนทัสที่ถูกเลือกมาใช้ในแอมิเมชั่น เป็นชื่อเล่นของหญิงสาวซึ่งมีความหมายว่า ‘เด็กผู้สนุกสนาน’ หรือ ‘เด็กผู้กล้าหาญ’ ซึ่งอาจจะตรงกับลักษณะนิสัยของโพคาฮอนทัสที่ถูกนำเสนอในแอมิเมชั่น

จุดต่างอย่างแรกระหว่างเรื่องจริงกับแอมิเมชั่น คืออายุของโพคาฮอนทัส ตามประวัติศาสตร์ โพคาฮอนทัสพบกับกัปตันจอห์น สมิธ ตอนเธออายุได้ราว 10-11 ปี การพบกันของทั้งสองเกิดขึ้นเพราะกัปตันจอห์นถูกจับ โดยขณะนั้นเขามีอายุได้ 27 ปี ด้วยช่วงอายุที่แตกต่าง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ความรักโรแมนติกจะเกิดขึ้นระหว่างทั้งสอง บันทึกของจอห์น สมิธ บอกให้เรารู้ว่าบุคคลทั้งสองแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ภาษาของกันและกัน ในบันทึกของจอห์น มีประโยคง่ายๆ อย่าง ‘โพคาฮอนทัสมีขนมปังขาวหลายก้อน’ ‘บอกโพคาฮอนทัสให้ช่วยหยิบตะกร้ามาสามอัน’

คามิลลา ทาวน์เซนด์ เจ้าของผลงานหนังสือ Pocahontas and the Powhatan Dilemma และอาจารย์วิชาประวัติศาสตร์ จาก Rutgers University ประเทศสหรัฐอเมริกา สันนิษฐานว่าจอห์นกับโพคาฮอนทัสน่าจะใช้วิธีสื่อสารกันเป็นประโยคง่ายๆ โดยเมื่อจอห์นกล่าวข้อความเป็นภาษาอังกฤษ โพคาฮอนทัสก็จะแปลคำเหล่านี้เป็นภาษา Algonquian (ภาษาที่ชนพื้นเมืองใช้) จากนั้นจอห์นก็จะบันทึกข้อความเหล่านี้ลงไปในแผ่นกระดาษ ดังนั้นหากทั้งสองจะมีความรู้สึกดีๆ ให้กัน ความรู้สึกนั้นก็น่าจะเป็นความเคารพ หรือความเป็นเพื่อน มากกว่าความรักในแบบหนุ่มสาว 

ด้วยอายุที่น้อยมากของโพคาฮอนทัส เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกันที่เด็กสาวจะช่วยชีวิตจอห์น สมิธ ให้รอดจากการถูกสังหาร ในส่วนนี้ ดิสนีย์นำเอาฉากที่โพคาฮอนทัสวางหัวของเธอเหนือศีรษะของจอห์นเพื่อป้องชายหนุ่ม มาจากบันทึกที่เขียนขึ้นเองของจอห์น สมิธ แต่นักประวัติศาสตร์คิดว่าจอห์นน่าจะแต่งเรื่องขึ้นมาเพื่อทำให้การผจญภัยของเขาน่าสนใจ เพราะหากมีพิธีดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เด็กหญิงอายุน้อยอย่างโพคาฮอนทัสก็ไม่น่าจะสามารถเข้าร่วมพิธีได้ตั้งแต่ต้น 

จอห์น สมิธ เดินทางกลับอังกฤษหลังจากพบกับโพคาฮอนทัสได้ราวสองปี หลังจากนั้นโพคาฮอนทัสจึงได้สมรสกับโคคูม (ตัวละครที่แอมิเมชั่นนำเสนอว่าเป็นนักรบในเผ่าที่บิดาของโพคาฮอนทัสอยากให้ลูกสาวแต่งงานด้วย) บันทึกของฝั่งอังกฤษกล่าวว่า โคคูมเป็น ‘private captain’ ซึ่งอาจหมายความว่าเขาทำหน้าที่เป็นผู้คุ้มกันส่วนตัวให้กับหัวหน้าเผ่า เป็นไปได้ว่าการสมรสเกิดจากความเต็มใจเนื่องจากชนพื้นเมืองอนุญาตให้ลูกสาวสามารถเลือกคู่สมรสได้เอง และโคคูมนั้นอยู่ในฐานะที่ต่ำกว่าฝ่ายหญิง 

แต่ชีวิตสมรสของโพคาฮอนทัสก็มีอันต้องจบลงเมื่อเธอถูกจับเป็นตัวประกันของฝ่ายอังกฤษเพราะความสัมพันธ์ระหว่างชนพื้นเมืองกับนักล่าอาณานิคมเลวร้ายลง ชื่อของโคคูมไม่ปรากฏอีกเลยหลังจากนั้น เป็นไปได้ว่าเขาถูกฆ่า หรือต้องเลิกรากับโพคาฮอนทัสด้วยสาเหตุบางอย่าง หลังจากนั้นโพคาฮอนทัสจึงสมรสกับชาวอังกฤษอีกคนคือจอห์น รอล์ฟ เรื่องราวของเขากับโพคาฮอนทัส ถูกหยิบมานำเสนอเป็นแอนิเมชั่นภาคต่อ ‘Pocahontas II: Journey to a New World’ ซึ่งเราจะไม่กล่าวถึงในบทความนี้ 

การเปลี่ยนโพคาฮอนทัสจากเด็กสาวอายุ 10-11 ปีมาเป็นหญิงสาววัยแรกรุ่น ถูกโจมตีอย่างหนักว่าเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ ปฏิเสธโอกาสที่จะนำเสนอเด็กในฐานะสะพานเชื่อมสองวัฒนธรรม และยังจงใจหลีกเลี่ยงความจริงที่เลวร้ายของโพคาฮอนทัส เนื่องจากเธอถูกลักพาตัว เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ และต้องแต่งงานกับจอห์น รอล์ฟ ก่อนจะเสียชีวิตที่ประเทศอังกฤษตอนอายุแค่ 21 ปี 

จิม เพนเทคอสต์ โปรดิวเซอร์ของแอมิเมชั่นโพคาฮอนทัส ยอมรับว่าภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้เป็น ‘หนังรัก’ มากกว่า ‘บทเรียนทางประวัติศาสตร์’ เขายังกล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างจอห์น สมิธ กับโพคาฮอนทัส ไม่เคยถูกอธิบายให้ชัดเจนตามหลักฐานที่มีและปรากฏอยู่ในขณะนั้น

อย่างไรก็ดี ตัวเขาเลือกจะดำเนินเนื้อหาในทิศทางนี้เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจเนื้อเรื่องได้ง่ายขึ้น “ผู้คนยังคงโต้เถียงกันว่าใครเป็นคนฆ่าเคนเนดีและลินคอล์น ยิ่งคุณย้อนกลับไปนานเท่าไหร่ เรื่องราวก็ยิ่งซับซ้อนขึ้นเท่านั้น” เขายังกล่าวถึงประเด็นรักโรแมนติกที่ไม่เป็นไปตามประวัติศาสตร์ว่า “เราไม่ได้บอกเสียหน่อยว่าทั้งสองได้ลงเอยกัน” 

ผลกระทบของโพคาฮอนทัส เรื่องราวของเธอในแอนิเมชั่นดิสนีย์ ทำให้เรื่องราวของสตรีผู้นี้ได้รับการยอมรับมากขึ้นจริงหรือ 

คามิลลา ทาวน์เซนด์ เจ้าของผลงานหนังสือ Pocahontas and the Powhatan Dilemma และอาจารย์วิชาประวัติศาสตร์ จาก Rutgers University กล่าวว่า แม้โพคาฮอนทัสของดิสนีย์จะมีหลายจุดที่ไม่ตรงกับประวัติศาสตร์ แต่ก็มีส่วนช่วยอย่างมากที่ทำให้ชาวพื้นเมืองอเมริกันหันมาให้ความสนใจและมองโพคาฮอนทัสในแง่มุมใหม่

“เรื่องราวของโพคาฮอนทัสเป็นที่นิยมอยู่แล้วในหมู่นักล่าอาณานิคม เพราะมันนำเสนอโพคาฮอนทัสในฐานะชนพื้นเมืองที่สยบยอมต่อคนขาว เธอชื่นชมวัฒนธรรม และแม้แต่ศาสนาของคนเหล่านี้ เธออยากทำหน้าที่เป็นทูตแห่งสันติภาพ เลือกจะสมรสกับชายผิวขาว ย้ายไปอยู่กับเขา ละทิ้งประชาชนของตัวเอง แนวคิดแบบนี้ทำให้คนขาวรู้สึกสบายใจว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะอย่างน้อยก็ยังมี ‘ชนพื้นเมืองรักดี’ (good indian) ที่เห็นด้วยกับพวกเขา” 

คามิลลา ทาวน์เซนด์ กล่าวว่า ชนพื้นเมืองเบื่อหน่ายกับภาพลักษณ์ของโพคาฮอนทัส แต่การมาถึงของแอนิเมชั่นดิสนีย์ได้ตีความบุคลิกของเธอในรูปแบบใหม่ โพคาฮอนทัสเป็นตัวเอกของเรื่อง เธอเก่งกาจ เฉลียวฉลาด เป็นตัวของตัวเอง กลายเป็นโมเดลให้เด็กรุ่นใหม่ลองเปิดใจกับสตรีผู้นี้มากขึ้น

“ชาวพื้นเมืองอเมริกันเริ่มตระหนักว่าพวกเขาควรเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโพคาฮอนทัส เพราะในความเป็นจริง เธอไม่ได้ขายวิญญาณให้ชาติตะวันตก และไม่ได้ยกย่องวัฒนธรรมของคนขาวมากไปกว่าวัฒนธรรมของเธอเอง โพคาฮอนทัสเป็นสตรีที่กล้าหาญ เธอพร้อมจะทำทุกอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อช่วยเหลือผู้คนของเธอ” 

ทาวน์เซนด์มองว่า แอนิเมชั่นของดิสนีย์ทำให้เรื่องราวของโพคาฮอนทัสถูกหยิบขึ้นมาศึกษาอีกครั้ง ในยุคที่ยุโรปเดินทางมาถึงโลกใหม่ พร้อมวิทยาการมากมายที่ชนพื้นเมืองไม่อาจต้านทาน การกระทำของโพคาฮอนทัสในตอนนั้นอาจแฝงไว้ด้วยแนวคิดทางการเมืองที่ชาญฉลาด ยกตัวอย่างเช่นการที่เธอแต่งงานกับจอห์น รอล์ฟ การเปลี่ยนศาสนา และการตัดสินใจเดินทางไปอังกฤษ หากโพคาฮอนทัสไม่ได้จบชีวิตลงด้วยวัยเพียง 21 ปี เราก็ไม่อาจทราบได้ว่าสตรีที่โดดเด่นผู้นี้จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อีกแค่ไหน การจากไปของโพคาฮอนทัสเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างชนพื้นเมืองกับคนขาวก็เลวร้ายลงจนถึงจุดแตกหัก 

แต่ก็ใช่ว่านักประวัติศาสตร์ทุกคนจะใจดีกับแอนิเมชั่นเรื่องนี้ ในปี 2008 นักประวัติศาสตร์และนักเขียน อเล็กซ์ ฟอน ทันเซลมานน์ จาก The Guardian ได้ให้คะแนน โพคาฮอนทัส ในฐานะแอนิเมชั่นเพื่อความสนุกสนานอยู่ในระดับ B แต่ในด้านความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ เขากล่าวว่าแอนิเมชั่นทำได้แค่ในระดับ D+ เท่านั้น แน่นอนว่า โพคาฮอนทัส ไม่ใช่สารคดีประวัติศาสตร์ แต่คุณค่าของแอนิเมชั่นเรื่องนี้จะถูกกล่าวถึงและจดจำในแง่มุมไหน ก็อยู่ที่ใครจะมองมันด้วยเป้าหมายอย่างไรในอนาคต 

References: 

The True Story of Pocahontas https://www.smithsonianmag.com/history/true-story-pocahontas-180962649/ 

Disney’s ‘Pocahontas’ Vs. History’s Pocahontas https://www.bustle.com/articles/91394-6-historical-inaccuracies-in-disneys-pocahontas-but-that-doesnt-mean-you-stop-painting-with-all 

Disney’s History Lesson : ‘Pocahontas’ Has Its Share of Supporters, Detractors https://www.latimes.com/archives/la-xpm-1995-02-09-ca-29997-story.html 

Pocahontas https://www.history.com/topics/native-american-history/pocahontas 

The Messed Up TRUE Story of Pocahontas https://www.youtube.com/watch?v=pZMvyfDKMoQ 

Arab American group charges “Aladdin’ with racial slurs https://www.tampabay.com/archive/1993/05/23/arab-american-group-charges-aladdin-with-racial-slurs/ 

Arabian Nights – Origianl Soundtrack Release – Aladdin https://www.youtube.com/watch?v=pkV-YFTEy9o&t=1s

AUTHOR