Skin hunger เพราะเป็นมนุษย์เราจึงโหยหาการถูกสัมผัสร่างกาย

Highlights

  • จะบอกว่า 'skin hunger' หรือ 'touch hunger' คือคำศัพท์แห่งยุคโควิด-19 ก็ได้ เพราะมันหมายถึงอาการโหยหาการสัมผัสมนุษย์คนอื่นที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ที่มนุษย์ต้องห่างไกลกัน
  • สัมผัสทางกายสำคัญกับมนุษย์ในหลากหลายมิติ ตอนเป็นทารกมนุษย์เรียนรู้ที่จะสานสัมพันธ์และรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้สัมผัสแม่ เมื่อโตขึ้นเราก็รู้สึกสดชื่นและมีชีวิตชีวาเมื่อได้เชื่อมโยงหรือติดต่อกับผู้อื่นและสังคม
  • ในช่วงเวลาที่การสัมผัสอันอบอุ่นอาจนำมาซึ่งโรคร้าย มีผู้แนะนำว่าสามารถบรรเทาอาการโหยหาสัมผัสได้หลายวิธี เช่น การหัดสัมผัสตัวเองในจุดที่รู้สึกดี ลองหาสัตว์เลี้ยงมาอยู่ด้วย หรือแม้กระทั่งอาบน้ำอุ่น

skin hunger

ช่วงที่โควิด-19 รุนแรงจนต้องล็อกดาวน์และทำงานที่บ้าน มีใครรู้สึกไม่สดชื่นและคิดถึงการสัมผัสร่างกายมนุษย์คนอื่นบ้างไหม?

วันนี้เราเลยขอแนะนำให้รู้จักอาการหรือคำว่า ‘skin hunger’ หรือ ‘touch hunger’ แปลตรงๆ หมายถึง “ความหิวโหยของผิวหนัง” แต่ในความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น คำนี้หมายความว่า “ความรู้สึกโหยหาการสัมผัสผู้อื่นหรือความปรารถนาที่จะเชื่อมต่อกับคนอื่นผ่านสัมผัสทางกายภาพ ไม่ว่าจะผ่านการสัมผัส การกอด จับมือ หรืออื่นๆ  

พูดให้ง่ายกว่านั้น มันคือการโหยหาหรือความปรารถนาทางชีวภาพและจิตวิทยาของเราตามธรรมชาติการเป็นมนุษย์นั่นเอง

 

เพราะเป็นมนุษย์จึงต้องสัมผัส

‘skin hunger’ เป็นที่พูดถึงบ่อยขึ้นในช่วงปี 2020 เพราะนโยบายรักษาระยะห่างทางสังคม และเมื่อต้องล็อกดาวน์เพราะโรคระบาดทำให้มนุษย์ตัดขาดจากกันและกัน (ในทางกายภาพ) อาการนี้จึงทวีความเข้มข้นไปอีกขั้นจนเกิดเป็นคำว่า ‘touch deprivation’ หรืออาการโหยหาการสัมผัสอย่างรุนแรง

มนุษย์เรียนรู้ผ่านการสัมผัสตั้งแต่แรกเกิด เด็กทารกเรียนรู้ที่จะสานสัมพันธ์และรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้สัมผัสตัวแม่ เมื่อโตขึ้นเรารู้สึกมีชีวิตชีวาเมื่อได้เชื่อมต่อกับคนอื่นและสังคม การสัมผัสร่างกายมนุษย์คนอื่นยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีสุขภาวะที่ดีเพราะการสัมผัสทำให้สมองของเราหลั่งฮอร์โมนส์ oxytocin หรือสารแห่งความเชื่อใจ ความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ซึ่งช่วยคลายความกังวลและผ่อนคลายระบบประสาทของเราให้อยู่ในสภาวะปกติ

อาการเช่นนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ ในช่วงยุค 60s เด็กกำพร้าชาวโรมาเนียหลายพันคนถูกพามาพักพิงในบ้านเด็กกำพร้าโดยขาดการติดต่อกับมนุษย์ (human contact) อย่างสิ้นเชิง นักประสาทชีววิทยา Mary Carlson และจิตแพทย์ได้ไปเยี่ยมเด็กๆ และพบว่าพวกเขามีอาการไม่ออกเสียง ไม่แสดงสีหน้าเพื่อบอกความรู้สึก ตัดขาดจากสังคม และมีการเคลื่อนไหวที่ผิดเพี้ยนไป สอดคล้องกับที่นักจิตวิทยา Harry Harlow สรุปไว้ว่าลิงวัยทารกนั้นโหยหาความรู้สึกของการถูกบำรุงดูแลยิ่งกว่าการได้รับดูแลจริงๆ เสียอีก

ข้อสรุปนี้มาจากการทดลองของฮาร์โลว์ที่ให้ลูกลิงกำพร้าอยู่กับแม่ลิงปลอมทำจากลวดซึ่งให้นมได้ และแม่ลิงปลอมทำจากผ้าซึ่งไม่มีอาหาร ผลการทดลองพบว่าลูกลิงวิ่งหาแม่ลิงขดลวดเฉพาะเวลาต้องการอาหารเท่านั้น ในขณะที่ช่วงเวลาอื่นๆ มันเลือกจะอยู่กับแม่ลิงที่ทำจากผ้าซึ่งนุ่มนิ่มและมีสัมผัสคล้ายแม่ลิงจริงๆ มากกว่า

ทั้งนี้ ‘การโหยหาการสัมผัส’ ไม่จำเป็นต้องเป็นการสัมผัสที่สื่อถึงความรักและอาจไม่ได้เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์แต่เป็นการสัมผัสทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ในบางอาชีพที่การสัมผัสร่างกายคนแปลกหน้าเป็นส่วนสำคัญที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เช่น ช่างแต่งหน้า ช่างตัดผม หมอนวด หรือเทรนเนอร์ อาชีพเหล่านี้กลายเป็นอาชีพที่ตกที่นั่งลำบากในช่วงการรักษาระยะห่าง บางคนต้องไปหาช่องทางบริการอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ เช่น สอนออนไลน์หรือแนะนำผ่านวิดีโอคอล แต่ก็ไม่อาจทดแทนประสบการณ์ผ่านการสัมผัสทางกายภาพได้

 

ในวันที่เราต้องรักษาระยะห่าง เราจึงหิวโหยความใกล้ชิดผูกพัน

เมื่อเกิดโควิด-19 อันมาพร้อมกับข้อปฏิบัติที่ทำให้เราต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน ต้องกักตัวเองเพื่อดูอาการ ระมัดระวังการข้ามเขตแดน ทั้งหมดเป็นไปเพื่อลดความเสี่ยงโดยเราต้องหักห้ามใจจากความเป็นมนุษย์ที่อยากสัมผัส–ใกล้ชิด–เชื่อมต่อกัน

เราได้อ่านเรื่องราวจำนวนมากของผู้คนที่ต้องกล่าวลาคนในครอบครัวที่กำลังจะจากไปโดยมีข้อแม้ว่าห้ามสัมผัสร่างกาย เมื่อคนที่เรารักกำลังจะตายตรงหน้าแต่กลับเข้าไปกอดไม่ได้โรคนี้จึงร้ายกาจกับเราทุกคนเพราะได้พรากเอาสัมผัสอุ่นที่ช่วยให้จิตใจแข็งแรงไป เราไม่สามารถกอดใครได้สนิทใจไปอีกสักพักจนกว่าจะอยู่ในภาวะที่วางใจได้

บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสให้ได้มากที่สุดเพื่อความปลอดภัยของทั้งหมอและคนไข้ แต่นั่นกลับทำให้งานของหมอบางคนยากขึ้น เพราะหลายครั้ง ‘การสัมผัส’ ส่งผลทางใจต่อคนไข้ เช่น มีรายงานว่าเมื่อต้องดูแลคนไข้อีโบลาซึ่งห้ามสัมผัสคนไข้เด็ดขาด การรักษาพยาบาลก็เป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะการสัมผัสช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกไว้ใจและปลอดภัย

ในเวลาเช่นนี้ ลำพังแค่ต้องติดตามข่าวมหาศาล ฟังยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อ ส่องมองดูการจัดการของรัฐอย่างคับแค้นใจ หรือเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจก็พาลให้เครียดมากอยู่แล้ว หากต้องล็อกดาวน์อยู่คนเดียวกับข่าวสารมากมายอาจยิ่งทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่ไปกว่าเดิม การรักษาระยะห่างทางสังคมจึงกลายเป็นฝันร้ายของมนุษยชาติ ไม่ใช่แค่ในเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งด้านจิตใจและอารมณ์ในช่วงที่เราต้องการ ‘คนอื่น’ มากที่สุด

แม้การใกล้ชิดคนที่เรารัก รู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ ความรู้สึกของผิวสัมผัสนุ่มเนียน ขนแขนสากๆ และอุณหภูมิร่างกายอุ่นๆ อาจหาอะไรมาทดแทนได้ยาก แต่เรายังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ หากการตัดสินใจของเราทำให้มีใครต้องป่วยหรือตายก็คงรู้สึกผิดในใจไปอีกนาน

 

มีคนแนะนำวิธีแก้ปัญหาความรู้สึกเดียวดายหรือตึงเครียดจากการไร้สัมผัสหลายทาง เผื่อใครอยากลองพิจารณาแก้ขัดไปก่อน เช่น

  • เป็นโอกาสดีที่เราจะเรียนรู้ที่จะสัมผัสตัวเอง ลองสัมผัสร่างกายของเราว่ารู้สึกดีตรงส่วนไหน สำรวจดินแดนร่างกายของเราว่าโดนสัมผัสตรงส่วนไหนแล้วรู้สึกดี
  • อาบน้ำอุ่น หรือลองหาของที่มีผิวสัมผัสน่าพึงใจ เช่น ผ้าห่มที่อุ่นสบาย หมอนที่นุ่มกำลังดี
  • ลองนวดส่วนต่างๆ ในร่างกายด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า มือ หรือเท้า
  • ลองหาสัตว์เลี้ยงมาอยู่ด้วย อุปถัมภ์สัตว์ไร้บ้าน แต่เราก็ต้องมั่นใจก่อนว่าพร้อมดูแลเขาในระยะยาวไม่ใช่เพราะเหงาชั่วคราว
  • สร้างบับเบิลเพื่อน ครอบครัว หรือคนใกล้ตัวจำนวนจำกัด เป็นคนที่เราไว้ใจว่าปลอดภัยเพื่อพบปะกันได้บ้าง และจดบันทึกการพบเจอไว้ด้วย เผื่อต้องย้อนหลังกลับมาตรวจสอบหากคนใกล้ตัวเหล่านี้ติดเชื้อ
  • ในบางประเทศ หากอยากกอดกับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง อาจต้องมีแผ่นพลาสติกกั้นไว้เพื่อความปลอดภัย

 

เมื่อได้รู้จักกับคำว่า skin hunger หวังว่าคำคำนี้จะช่วยอธิบายว่ามันคือความรู้สึกที่เรามีร่วมกัน ไม่เป็นไรที่เราจะไม่ชินกับการไม่ได้พบเจอและไม่ได้สัมผัสมนุษย์คนอื่น ไม่ผิดที่เราจะคิดถึงสัมผัสทางกายภาพที่ไม่มีอะไรมาแทนได้อย่างหมดจด

ความรู้สึกโหยหาการสัมผัสนี้ไม่ได้จำกัดเลยว่าเราจะเป็นคนเก็บตัวหรือชอบเข้าสังคม แค่เพราะเป็นมนุษย์ เราจึงอยากสัมผัสใกล้ชิดกันและกันในช่วงเวลาอันไม่แน่นอนและเต็มไปด้วยเรื่องน่าวิตกกังวลมากมายเหลือเกิน

สุดท้าย เราก็คงได้แต่รอวันที่มนุษย์ทุกคนจะเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง รอวันที่พวกเราจะได้กลับมาสบายใจอีกครั้ง ไม่ต้องวิตกกังวลที่จะสวมกอดกัน


อ้างอิง

onlinelibrary.wiley.com

vice.com

 

AUTHOR

ILLUSTRATOR

erdy

นักวาดภาพประกอบคนหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันว่าจะรวย จะรวย จะรวย