Death Cleaning แนวคิดการจัดบ้านให้เรียบร้อยก่อนตายเผื่อวันที่เราไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว

Death Cleaning แนวคิดการจัดบ้านให้เรียบร้อยก่อนตายเผื่อวันที่เราไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว

Highlights

  • Death Cleaning (n.) มาจากคำว่า 'dostadning'
  • Death Cleaning คือการทำความสะอาดบ้านก่อนตาย อธิบายให้ชัดกว่านั้นคือกระบวนการจัดเก็บข้าวของ ทำความสะอาด และจัดบ้านให้เสมือนว่าเราจะตายจากโลกไปเมื่อไหร่ก็ได้ จัดการเท่าที่ทำได้เพื่อไม่ให้เป็นภาระลูกหลานหรือคนรอบตัวในวันที่เราไม่อยู่แล้ว
  • นอกจากประโยชน์ทางตรง ประโยชน์ทางอ้อมของ Death Cleaning คือการทำให้เราได้คิดทบทวนถึงเรื่องราวที่ผ่านมา พร้อมสานสัมพันธ์กับความทรงจำของตัวเองในอดีต

ตอนที่คุณยายเราเสียชีวิต สิ่งของและเสื้อผ้าในห้องคุณยายได้ถูกทิ้งไว้เกือบปี

หลังจากนั้นน้าเราค่อยๆ จัดการข้าวของลำเลียงใส่กล่อง ทิ้งไปบ้าง บริจาคบ้าง ทั้งของเล็กและใหญ่ นั่นเองที่ทำให้เราคิดกับตัวเองว่าต่อให้รักและคิดถึงแค่ไหน ถึงจุดหนึ่งสิ่งของของคนที่เรารักก็คงต้องถูกจัดการใหม่ให้สะดวกกับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ดี และเมื่อมนุษย์คนหนึ่งตายจากไป ร่างก็เน่าสลายหรือถูกเผากลายเป็นเถ้า แต่ของใช้หรือวัตถุจำนวนมากไม่ได้เน่าสลายตาม สิ่งเหล่านั้นล้วนมีชีวิตยืนยาวกว่าเจ้าของ วันนี้เราเลยอยากแนะนำให้รู้จักกับแนวคิด Death Cleaning หรือแนวคิดการจัดบ้านเผื่อความตายและชีวิตอันไม่แน่นอน

Death Cleaning (n.) มาจากคำว่า ‘dostadning’ หรือการทำความสะอาดบ้านก่อนตาย อธิบายให้ชัดกว่านั้นคือ กระบวนการจัดเก็บข้าวของ ทำความสะอาด และจัดบ้านให้เสมือนว่าเราจะตายจากโลกไปเมื่อไหร่ก็ได้ จัดการเท่าที่ทำได้เพื่อไม่ให้เป็นภาระลูกหลานหรือคนรอบตัวในวันที่เราไม่อยู่แล้ว

แนวคิด Death Cleaning นี้มีจุดเริ่มต้นมาจากหนังสือ The Gentle Art of Swedish Death Cleaning ​โดย Margareta Magnusson ศิลปินสูงอายุชาวสวีดิช เธอเริ่มลองทำ Death Cleaning ในบั้นปลายชีวิต และได้พบกับความสุนทรี แม้อาจฟังดูหม่นหมองจากการเก็บบ้านเผื่อชีวิตอันไม่แน่นอน แต่สิ่งที่เธอค้นพบกลับไม่ได้เศร้า เพราะนั่นเป็นโอกาสอันดีที่เธอได้สานสัมพันธ์กับคนรอบตัวในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

สรุปวิธีคิดของ Death Cleaning

  • อย่าเศร้ากับการจัดการนี้ การระลึกถึงความตายไม่จำเป็นต้องเศร้า หม่นหมอง จงทำด้วยความยินดี
  • จงอ่อนโยน การเก็บข้าวของนั้นต้องทำไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด ค่อยๆ ทำไปอย่างอ่อนโยน
  • ไม่ต้องรีบร้อน กระบวนการ Death Cleaning นั้นสามารถทำได้เรื่อยๆ ไม่ต้องทำบ้านให้โล่งว่างเหมือนใหม่ ทำซ้ำไปตลอดชีวิต แต่ใช้เวลาวันละ 30 นาที หรือนานๆ ที ค่อยๆ ทำไปก็ได้
  • คิดเสมอว่าเราอยากทิ้งอะไรไว้ให้คนจดจำ เมื่อตัดสินใจจะมอบอะไรให้คนที่เรารัก ต้องคิดว่าเขาจะแฮปปี้ไหมที่ได้รับมัน คิดเผื่อคนรอบตัวเรามากๆ
  • เก็บของดีๆ เอาไว้ใช้ยาวๆ แต่อะไรที่ไม่สำคัญกับเราก็ควรปล่อยไป ลดการใช้ของและการบริจาคสิ่งที่จะกลายเป็นขยะอย่างรวดเร็ว
  • อย่าลืมบอกคนรอบตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ แม้จะเป็นของส่วนตัวของเรา แต่เราสามารถชวนคนใกล้ตัวมาช่วยเก็บได้หากต้องการ เพราะการเก็บบ้านกับคนใกล้ตัวอาจเป็นโอกาสได้ร่วมระลึกถึงความทรงจำดีๆ ผ่านวัตถุต่างๆ ร่วมกัน

ถ้าฟังเผินๆ แนวคิดนี้ดูคล้ายกับแนวคิดการทำความสะอาดบ้านและกำจัดสิ่งของไม่จำเป็นในบ้านให้เหลือน้อยชิ้นที่สุดตามฉบับของ ‘มาริเอะ คนโดะ’ ผู้แนะนำให้เราทิ้งสิ่งของที่ไม่สปาร์กจอยออกไปให้หมด แต่ถ้าศึกษากันจริงๆ วิธีการจัดบ้านเผื่อความตายของแมกนัสสันนั้นเสนอเพิ่มเติมในเรื่องของการสานสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย 

หากเราไม่ได้ใช้ของชิ้นใด แนวคิดนี้เสนอว่าเราก็ควรมอบให้คนอื่นเสียตั้งแต่วันนี้ และแนวคิดแบบ Death Cleaning ยังเน้นย้ำด้วยว่าการมอบสิ่งของเหล่านั้นให้ผู้อื่นยังสามารถสร้างสายใยมิตรภาพและผูกความสัมพันธ์กันขณะที่ยังมีเวลาอยู่ร่วมกันได้ด้วย

ในทางกลับกัน หากเราจัดบ้านแล้วพบสิ่งของที่ไม่ได้อยากมอบให้ใครแต่ยังมีคุณค่ากับเราก็สามารถเก็บไว้ดูได้ โดยเขียนระบุไว้ด้วยว่าถ้าเราตายเมื่อไหร่ก็สามารถทิ้งสิ่งของชิ้นนี้ไปได้เลย ไม่ต้องมอบให้แก่ใคร

Death Cleaning จึงเป็นวิธีการปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระจากวัตถุ สามารถทำไปเรื่อยๆ เพื่อระลึกถึงชีวิตที่ผ่านมา และตัดใจมอบของให้คนที่เรารักใช้โดยไม่ต้องรอวันที่เราจากไป ในแง่การปฏิบัติจริงอาจนำมาซึ่งความขมขื่นเศร้าหมองอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วกิจกรรมนี้มีข้อดีในแง่ที่ว่าตัวเราเองรู้ดีที่สุดว่าเราอยากส่งต่อและอยากทิ้งของชิ้นไหน เพื่อที่ว่าในวันที่ไม่อยู่ คนที่อยู่ข้างหลังเราจะได้ไม่วุ่นวายและจดจำเราในฐานะความทรงจำดีๆ ต่อไปได้ด้วย

 

อ้างอิง

The Gentle Art of Swedish Death Cleaning: How to Free Yourself and Your Family from a Lifetime of Clutter

AUTHOR

ILLUSTRATOR

erdy

นักวาดภาพประกอบคนหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันว่าจะรวย จะรวย จะรวย