‘Theyby’ คำเรียกเบบี้ที่ยังไม่ระบุตัวตนทางเพศจนกว่าเด็กจะเลือกเอง

Highlights

  • Theyby คำนี้เกิดขึ้นมาสำหรับพ่อแม่ทางเลือกที่ตัดสินใจยังไม่ระบุเพศของเด็ก ซึ่งในทางกฎหมาย บางประเทศและบางรัฐในสหรัฐอเมริกาและ นั้นผู้ปกครองสามารถกรอกช่อง ‘x’ ในช่องเพศทางกายภาพของเด็กทารกได้แล้ว
  • เมื่อ ‘เบบี้’ กลายเป็น Theyby โดยพวกเขาจะไม่ถูกเรียกโดยใช้สรรพนาม ‘he’ หรือ ‘she’ ซึ่งถูกมองว่าสื่อถึงวิธีคิดเรื่องเพศแบบ binary ซึ่งแสดงออกทางภาษา แต่เด็กจะถูกเรียกโดยสรรพนามว่า ‘they’ แทน
  • หากไม่มีคำว่า ‘เด็กหญิง’ หรือ ‘เด็กชาย’ ผู้ปกครองจะเลี้ยงดูพวกเขาโดยโฟกัสที่นิสัย บุคลิกภาพ พัฒนาการ โดยไม่ต้องยึดติดว่าเขาควรจะโตมาเป็นหญิงที่สวยงามหรือชายที่เข้มแข็ง ตัวตนของพวกเขาจะไม่ถูกจำกัดอยู่ตามลักษณะแบบ stereotype ตามเพศ

หากเรามีลูก สิ่งที่คนรอบข้างมักถามคำแรกมักเป็นคำถามว่าคือ ‘ลูกสาว’ หรือ ‘ลูกชาย’

เด็กทารกในช่วงปีแรกนั้นแยกด้วยตามองไม่ออกหรอก แต่เราเคยชินกับการอยากรู้ว่ามนุษย์ที่เราได้รู้จักนั้นเป็นอะไร มีพ่อแม่จำนวนหนึ่งเล็งเห็นว่า สังคมมักเผลอปฏิบัติตนกับหญิงและชายต่างกันตั้งแต่เด็กยังไม่รู้เดียงสา ในช่วงไม่นานมานี้ เกิดแนวคิดใหม่ที่จะเลี้ยงลูกแบบ gender neutral

จะช้าไปไหม หากพ่อแม่รอให้ทารกเติบโตจนรู้ความแล้วเลือกระบุเพศของตัวเองตามความสมัครใจ สังคมจะยอมรับได้ไหมหากทารกเป็นแค่ทารก โดยยังไม่มี ‘หญิง’ หรือ ‘ชาย’ มากำกับแต่แรก ไม่ให้ใครรู้เพศทางกายภาพหรือชีวภาพ (biological sex) จนกว่าเด็กน้อยจะเลือกได้ว่าอยากเป็นตัวตนแบบไหนที่เขาปรารถนาหรืออยากถูกเรียกว่าอะไร

 

เมื่อเบบี้กลายเป็น Theyby

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เกิดเทรนด์ของคำที่ชื่อว่า ‘Theyby’ อ่านว่า เดย์-บี้  แปลว่า ‘ทารกที่เป็นกลางทางเพศ’ (gender neutral baby) โดยคำนี้ผสมจาก they (พวกเขา,  สรรพนามไม่ระบุเพศ) + baby (เด็กทารก)

จริงอยู่ แม้คำว่า baby จะไม่ระบุเพศอยู่แล้ว คำนี้เกิดขึ้นมาใช้เน้นย้ำสำหรับพ่อแม่ทางเลือกที่ตัดสินใจยังไม่ระบุเพศของเด็ก ซึ่งในทางกฎหมาย บางประเทศและบางรัฐในสหรัฐอเมริกา ผู้ปกครองสามารถกรอกช่อง ‘x’ ในช่องเพศทางกายภาพของเด็กทารกได้แล้ว

เมื่อ ‘เบบี้’ กลายเป็น Theyby พวกเขาจะไม่ถูกเรียกโดยใช้สรรพนาม ‘he’ หรือ ‘she’ ซึ่งถูกมองว่าสื่อถึงวิธีคิดเรื่องเพศแบบ binary ซึ่งแสดงออกทางภาษา แต่เด็กจะถูกเรียกโดยสรรพนามว่า ‘they’ แทน ซึ่งเป็นสรรพนามแบบ gender neutral มีเพียงคนสนิท คนในครอบครัวเท่านั้นที่รู้ว่าเด็กมี biological sex เป็นเพศอะไร อาจไม่เลือกขอดูเพศเด็กในอัลตราซาวนด์และอาจขอให้พยาบาลไม่ต้องแจ้งว่าพวกเขาเป็นเด็กหญิงหรือชายในวันแรกเกิด

ผู้ปกครองที่เลือกเลี้ยงลูกโดยวิธีนี้ เชื่อว่าการที่ลูกถูกกำหนดว่าเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชายแต่แรกเกิด มักตามมาด้วยความคาดหวังทางสังคมและอคติทางเพศที่ต่างกันแม้เราจะไม่ตั้งใจก็ตาม การเลี้ยงดู Theyby มักตามมาโดยวิธีปฏิบัติที่เป็นกลางทางเพศตามมาด้วย รวมไปถึงสิ่งของที่เลือกใช้

  • ตั้งชื่อลูก ตั้งชื่อที่ฟังดูกลางทางเพศ ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นชื่อเด็กหญิงหรือเด็กชายจากชื่อ
  • การแต่งตัว ชุดที่ไม่จำกัดแค่ชมพูหรือน้ำเงิน แต่สามารถเป็นชุดอะไรก็ได้ อาจเป็นสีแดง สีเหลือง สีส้ม สีเขียว สีเทา ลายเรขาคณิต ลายทาง หรือแพตเทิร์น
  • ของเล่น เลือกประเภทหลากหลาย ไม่จำกัดว่าเป็นของเล่นสำหรับหญิงหรือชาย
  • กิจกรรมที่ทำ พาเด็กไปลองกิจกรรมที่หลากหลาย เล่นกีฬาที่หลากหลายเปิดกว้าง โดยไม่ยึดติดว่าเด็กเพศไหนควรทำกิจกรรมอะไร
  • เลือกนิทาน อันมีเนื้อเรื่องเล่าที่หลุดจากการ stereotype มีตัวละครหลากหลาย เพื่อให้เด็กไม่เคยชินกับการแบ่งแยกเพศหญิงและเพศชายว่ามีลักษณะและหน้าที่ต่างกันอย่างเป็นธรรมดา

 

หากไม่มีคำว่า ‘เด็กหญิง’ หรือ ‘เด็กชาย’ ผู้ปกครองจะเลี้ยงดูพวกเขาโดยโฟกัสที่นิสัย บุคลิกภาพ พัฒนาการ โดยไม่ต้องยึดติดว่าเขาควรโตมาเป็นหญิงที่สวยงามหรือชายที่เข้มแข็ง ตัวตนของพวกเขาจะไม่ถูกจำกัดอยู่ตามลักษณะแบบ stereotype ตามเพศ คนรอบข้างแค่เรียนรู้ที่จะเคารพในตัวเลือกนี้ ไม่ว่าเด็กน้อยที่เราพบจะเป็นหญิงหรือชายหรือเป็นเพศอื่นๆ อันมากมายหลากหลายที่เป็นไปได้

แนวทางการเลี้ยงลูกแบบ Theyby ไม่ได้แปลว่าจะ dismiss หรือห้ามลักษณะความเป็นหญิงหรือชาย ไม่รับรู้การมีอยู่ของเพศทางชีวภาพ ห้ามเด็กมีของเล่นแบบเด็กหญิงหรือแบบเด็กชายโดยสิ้นเชิง ไม่ได้ห้ามใส่ชุดเดรสสีชมพูหรือห้ามใส่ชุดที่ดูเป็นเด็กชาย แต่คือการสร้างตัวเลือกที่กว้างและหลากหลาย ไม่จำกัดอยู่กับเพศตามกายภาพตามกำเนิดของเด็ก เพื่อจำลองโลกที่จะลดการ stereotype ทางเพศให้เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตของเขาตั้งแต่แรกเกิด 

เมื่อ Grimes ศิลปินสาวได้ประกาศว่าทารกของเธอกับ Elon Musk อันมีนามแสนนอกกรอบว่า X Æ A-12 จะถูกเลี้ยงโดยไม่ระบุเพศ เราอาจเริ่มเห็นการเลี้ยงดูแบบนี้เยอะขึ้น กลายเป็นเรื่องปกติในไม่ช้า

 

หลายคนอาจรู้สึกไม่คุ้นเคย ไม่ต้องกลัวว่าเด็กน้อยจะสับสนเมื่อโตไปไหม เพราะตามวัยแล้ว เด็กในช่วงวัย 2-3 ขวบจะเริ่มพัฒนาตัวตน (identity) ของตัวเอง พ่อแม่ก็ค่อยๆ ให้ความรู้เรื่องเพศว่าในเชิงชีวภาพมีหญิงและชาย และเมื่อพร้อม ลูกสามารถเลือกได้ว่าอยากแทนตัวเองเป็น she, he หรือ they ต่อไปในชีวิต เมื่อรู้ตัวว่าตัวเองอยากระบุตัวตนเป็นเด็กหญิง เด็กชาย หรือเพศอื่นๆ อันหลากหลายมากมายตามที่เขาพึงพอใจและมั่นใจ

อาจฟังดูไม่คุ้นเคย แต่งานวิจัยจากประเทศสวีเดน มีโรงเรียน preschool โปรแกรมที่สนับสนุนสภาพแวดล้อมที่เป็นกลางทางเพศพบว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงและสอนในโรงเรียนแบบนี้มีแนวโน้มเปิดกว้างกับคนเพศทางเลือกได้ง่ายกว่า พวกเขาจะไม่ค่อยสังเกตเพศของคนอื่น และได้คะแนนน้อยกว่าในแบบทดสอบภาพพิมพ์เกี่ยวกับเพศ gender stereotyping

 

เมื่อสังคมคาดหวังและมักปฏิบัติกับชายและหญิงแตกต่างกันแต่แรกเริ่ม เราจะหลุดพ้นจากกรอบนั้นได้ไหม?

แน่ล่ะว่าเราสามารถแบ่งเพศของมนุษย์ได้เป็นหญิงหรือชายตั้งแต่แรกเกิดชัดเจนด้วยอวัยวะเพศ ยกเว้นในบางกรณีที่เพศของทารกไม่ชัดเจน แต่นอกเหนือไปจากอวัยวะเพศหรือความต่างทางชีวภาพ สังคมก็มักปฏิบัติกับมนุษย์คนหนึ่งต่างกันเมื่อเขาเป็นหญิงหรือเป็นชาย มนุษย์คนหนึ่งจึงเริ่มมีประสบการณ์ชีวิตโดยผูกติดกับสิ่งที่สังคมคาดหวังก่อนที่เขาจะรู้จักตัวเองเสียอีก การเลี้ยงลูกแบบ gender neutral จึงอยากทดลองหลุดจากกรอบทางสังคมนี้ นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงและความเท่าเทียมอย่างแท้จริง

พ่อแม่ผู้เลี้ยงลูกแบบ Theyby สังเกตเห็นการปฏิบัติที่ต่างไปจากคนแปลกหน้าที่ทึกทักไปว่าลูกเป็นหญิงหรือชาย เมื่อเด็กสวมชุดใส่ชุดสีชมพูแสนหวาน หรือชุดสีฟ้าในบางวัน โดยที่เขายังบอกว่าเด็กเป็นหญิงชาย เราต่างเคยชินกับการอยากรู้ว่าคนที่พบเห็นเขาเป็นเพศไหนทั้งที่เป็นเรื่องตัวตนส่วนตัว เราอาจเผลอมีอคติทางเพศ (gender bias) กับแม้กระทั่งกับทารกที่ยังเดียงสา ยังไม่รู้จักตนเองด้วยซ้ำ

แม้เราจะเติบโตมาในโลกที่บอกว่ามีความเท่าเทียมทางเพศ หญิงชายจะประกอบอาชีพอะไรก็ได้ และควรได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน แต่ในสารคดี No More Boys and Girls: Can Our Kids Go Gender Free? ของ BBC ซึ่งไปสำรวจโรงเรียนประถมหนึ่งบนเกาะ Isle of Wight ในประเทศอังกฤษ กลับพบว่า เด็กประถมวัย 7 ขวบเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าเพศชายเป็นเพศที่ต้องแข็งแรงกว่า ต้องเป็นผู้นำ นอกจากนี้เด็กผู้หญิงยังเชื่อว่าผู้ชายถูกออกแบบมาให้เป็นผู้นำมากกว่า เด็กหญิงควรชอบเล่นตุ๊กตา ส่วนเด็กชายต้องเก่งเลขกว่า และเด็กแทบทุกคนมักคิดว่าบางอาชีพนั้นถูกจำกัดเป็นอาชีพของเพศใดเพศหนึ่ง เช่น ช่างแต่งหน้าต้องเป็นหญิง ช่างยนต์ต้องเป็นชาย นักเต้นต้องเป็นหญิง ฯลฯ 

เด็กหญิงรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองว่าจะแข็งแรงเข้มแข็งได้เหมือนเด็กชาย ทั้งที่ในวัยก่อนเจริญพันธุ์ กล้ามเนื้อทักษะของเด็กในวัยนี้แข็งแรงเท่าๆ กัน  ส่วนเด็กชายเชื่อสนิทใจว่าการร้องไห้คือความอ่อนแอ และไม่มีคำศัพท์ในการอธิบายความรู้สึกของตนเองมากนัก 

จากในสารคดี ครูก็มักเผลอเรียกเด็กด้วยคำห้อยท้ายต่างกันในชั้นเรียน เด็กหญิงจะถูกเรียกให้อ่อนหวานว่า love, sweet pea ส่วนเด็กชายจะถูกแทนว่า mate, fellow แม้จะทำไปด้วยความรักและเอ็นดูแต่ก็เน้นย้ำความแตกต่างระหว่างเพศ นำมาสู่การทดลองเพื่อสร้างห้องเรียนที่เท่าเทียมทางเพศมากขึ้นเพื่อท้าทายความเชื่อเดิมที่เด็กมีต่อ role ทางสังคมที่ถูกจำกัดไว้กับเพศที่เขาคุ้นเคย

 

เมื่อเรามองดูสินค้าสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิด เช่น ของเล่น ชุดสวมใส่ นิทาน การ์ตูน มักมีการแบ่งประเภทหญิง-ชายตั้งแต่แรกเกิด เด็กจึงเกิดมาพร้อมกับสภาพแวดล้อมที่แยกหญิง-ชายชัดว่าควรหน้าตายังไง และเติบโตมามีลักษณะยังไง

เราเคยชินว่าเด็กหญิงกับเด็กชายนั้นต่างกันตามธรรมชาติ จริงๆ แล้วร่างกายของเด็กหญิงและเด็กชายไม่ได้ต่างกันมากในวัยก่อนเจริญพันธุ์ รวมทั้งความสามารถทางด้านต่างๆ และรวมถึงสมองและสติปัญญา แต่การเป็นหญิงหรือชายนั้นตามมาด้วยความคาดหวังทางสังคมที่ต่างกันโดยที่หลายคนก็ไม่รู้ตัว แม้หลายครั้งจะเต็มไปด้วยความเอ็นดูก็ตามที

ในหนังสือ Everybody Lies: Big Data, New Data, and What the Internet Can Tell Us About Who We Really Are บทหนึ่งเล่าว่า ในการเสิร์ชกูเกิลมักเชื่อมโยงอคติทางเพศของพ่อแม่ พ่อแม่มักสืบค้นหาว่า ลูกชายมีพรสวรรค์ไหม? มากกว่าลูกสาวถึง 2.5 เท่า ทั้งที่ในอเมริกามีสัดส่วนเด็กหญิงในห้องเรียนแบบ gifted มากกว่า และพ่อแม่มักเสิร์ชว่า ลูกสาวของฉันอ้วนไปไหม ทั้งที่มีเด็กชายที่น้ำหนักเกินเกณฑ์มากกว่าเด็กหญิง การสืบค้นเกิดขึ้นในที่ลับ แต่แสดงให้เห็นความกังวลของผู้ปกครองในเรื่องรูปร่างหน้าตาที่มักเชื่อมกับเพศหญิง ส่วนความกังวลทางสติปัญญามักเชื่อมกับความเป็นเด็กชาย

ลองนึกว่าเด็กหญิงต้องเติบโตมากับความเชื่อว่าตนเองต้องสวย ต้องบอบบางน่ารัก ต้องอ่อนหวาน ส่วนผู้ชายที่ดีคือต้องฉลาด อัจฉริยะ หรือเก่งเลข เข้มแข็ง ชอบเอาชนะ สิ่งเหล่านี้คือความคาดหวังทางสังคมที่ยึดติดโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นความธรรมดาของโลกที่เด็กค่อยๆ พาตัวเองไปสู่และกลายเป็นส่วนหนึ่ง

 

แน่นอนว่ามีกระแสไม่เห็นด้วยกับ gender neutral parenting มากมาย กล่าวว่าเป็นวิธีที่ชั่วร้าย ฝืนธรรมชาติของ biological sex และกลัวไปถึงขึ้นว่าจะทำให้เด็กกลายเป็นคนประหลาดของสังคมตั้งแต่ก่อนวัย จะถูกรังแกเพราะแตกต่างจากคนอื่น ซึ่งดูเป็นคำกล่าวหาที่รุนแรงเพราะเมื่อเราลองดูแล้วการเลี้ยงลูกแบบ Theyby แทบจะไม่ต่าง ไม่ได้แปลกประหลาด ผิดธรรมชาติ เพราะเด็กก็คือเด็ก คือมนุษย์วัยเริ่มต้นที่เราต้องดูแล ทะนุถนอม ต้องใส่ใจเลี้ยงดูเขาให้เติบโตมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ไม่ต่างกันไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม

gender neutral parenting แค่เพิ่มตัวเลือกและความเป็นไปได้ของสิ่งของและกิจกรรมที่เด็กจะทำให้หลากหลาย เพิ่มความเป็นไปได้ใน identity อันหลากหลาย ลดความคาดหวังที่มักผูกติดมากับเพศ ช่วยให้เราระวังมากขึ้นที่จะไม่ผูกจำกัดภาพจำของมนุษย์คนหนึ่งเพียงเพราะอวัยวะเพศที่เขามีแต่แรกเกิดโดยเฉพาะในช่วงวัยที่เขากำลังเติบโตหล่อหลอมตัวตน ผ่านการสะท้อนสภาพแวดล้อมและสังคมที่เขากำลังจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง

เราต่างก็เคยชินกับโลกที่หมกมุ่นในการจำแนกว่าใครเป็นหญิงหรือเป็นชาย ต้องแยกแถวเด็กหญิงและชาย มีเครื่องแบบและวิธีปฏิบัติที่แตกต่างเป็นมาตรฐานปกติ

Tim Kreider เขียนเรียงความหนึ่งซึ่งสะกิดใจเราเสมอว่า Nobody loves newborns for who they are; they aren’t anyone yet. “ไม่มีใครรักเด็กทารกแรกเกิดเพราะตัวตนที่พวกเขาเป็น เพราะพวกเขายังไม่เป็นใครเลย”

คงไม่สายไปหากให้เวลาทารกค่อยๆ เติบโตแล้วค้นพบตัวตนของตัวเองที่เขามั่นใจและเลือกสิ่งที่เขาพึงพอใจจะถูกเรียก

เราสามารถรักเด็กคนหนึ่งได้โดยไม่ต้องรู้หรือแคร์ว่าเขาเป็นเด็กหญิงหรือชาย รักในตัวตนของเขาโดยไม่ต้องนำมาผูกกับความเป็นเพศที่เขายังไม่เข้าใจ เพียงอดทนรอให้เด็กค่อยๆ เติบโต เรียนรู้ และค้นพบตัวตนของตัวเอง

 

อ้างอิง

BBC Radio 4 – Beyond Today, Why raise a child gender neutral?

Be The Change | Hidden Brain

Early preschool environments and gender: Effects of gender pedagogy in Sweden

Everybody Lies: Big Data, New Data, and What the Internet Can Tell Us About Who We Really Are

No More Boys and Girls: Can Our Kids Go Gender Free?, Series 1

Raising Gender Creative Children

AUTHOR

ILLUSTRATOR

erdy

นักวาดภาพประกอบคนหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันว่าจะรวย จะรวย จะรวย