ทำไมมนุษย์เรามองหาเก้าอี้อยู่ตลอดเวลา เมื่อวิวัฒนาการ ‘การนั่ง’ ป่วนมนุษย์

Highlights

  • สถิติพบว่าคนเมืองเสียชีวิตจากการขาดออกกำลังกายเฉลี่ยห้าล้านคนต่อปี เสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และอีกสารพัดโรค ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากนิสัยนั่งๆ นอนๆ ติดต่อกันมากกว่าสิบสี่ชั่วโมงต่อวันโดยไม่มีกิจกรรมอื่นแทรก
  • Hadza ชนเผ่าในประเทศแทนซาเนีย ทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันออก พวกเขาจะไม่นั่งเก้าอี้และมีกิจวัตรประจำวันที่ค่อนข้างแอ็กทีฟ คนในเผ่าไม่ป่วยจากโรคที่คนเมืองเป็น และแทบไม่มีใครเลยที่เข้าข่ายอ้วนหรือน้ำหนักเกิน
  • ท่านั่งประจำของพวกเขาคือ 'ท่านั่งยอง' (resting squat) ที่ฝ่าเท้าทั้งสองแนบสนิทพื้น ทิ้งก้นไปหลังข้อเท้าทำให้กล้ามเนื้อขาทำงานมากกว่านั่งบนเก้าอี้
  • คำแนะนำเพื่อสุขภาพที่ดีคือนั่งเก้าอี้ให้น้อยลง ควรให้เวลาพักเบรกตัวเองทุกๆ 30-40 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย ไม่เกร็งอยู่ในท่าเดิมนานๆ

เคยประหลาดใจกับตัวเองไหมว่าทำไมสายตาของเราถึงต้องมองหา ‘เก้าอี้’ อยู่ตลอดเวลา

ไม่ว่าจะเข้าไปในร้าน ตึก อาคาร จิบกาแฟ กินก๋วยเตี๋ยว หรือมีเหตุให้ต้องรออะไรสักอย่าง “มีเก้าอี้ว่างไหมน้อ” หลายคนยอมควักกระเป๋าซื้อเก้าอี้ที่แปะสรรพคุณโก้เก๋เพื่อสุขภาพร้อยแปดแม้จะสนนราคาหลักแสนบาท คุณอาจจะมีเก้าอี้ตัวโปรดที่นั่งเป็นประจำ หากใครมานั่งทับก็รู้สึกไม่ชอบใจ (เพื่อนที่ผู้เขียนรู้จักคนหนึ่งไม่ยอมนั่งเก้าอี้ที่ยังอุ่นๆ จากก้นคนอื่นด้วยซ้ำ) แถมนักการเมืองบ้านเราก็หวงเก้าอี้ตำแหน่งเสียยิ่งกว่าอะไร

ราวกับว่าเก้าอี้มีพลังลึกลับบางอย่างดึงดูดให้เราต้องหย่อนก้นลงไปสัมผัสเสมอ แล้วทำไมมนุษย์ถึงอดใจไม่ได้ที่จะต้องนั่งเก้าอี้ ทั้งๆ ที่หากเทียบช่วงเวลาวิวัฒนาการมนุษย์กับกำเนิดของเก้าอี้ก็น่าจะกินเวลาเพียงพริบตาเดียวเท่านั้น การนั่งของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปถึงขนาดไหน ทำไมแค่การนั่งถึงป่วนชีวิตเราได้มากมายขนาดนี้

ก่อนจะเริ่มเข้าสู่เนื้อหาต่อไป ขณะนี้คุณนั่ง ยืน หรือนอนอ่านบทความในท่าไหนกัน อย่าเพิ่งรีบเปลี่ยนท่า แล้วคุณจะรู้ว่าแค่อากัปกิริยาง่ายๆ ของคนเรามีที่มาซับซ้อนกว่าที่คิด

 

ชนเผ่าที่ไม่เอาเก้าอี้

มีเรื่องตลกจากนักมานุษยวิทยาที่เข้าไปทำงานในประเทศแทนซาเนีย ทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันออก มีอยู่วันหนึ่งที่ทีมวิจัยได้เชิญสมาชิกเผ่า Hadza เป็นชนเผ่าที่ยังดำรงชีวิตวิถีดั้งเดิมแบบล่าสัตว์เก็บของป่าที่เหลืออยู่น้อยมากในทวีปแอฟริกา ทีมงานเชิญสมาชิกในเผ่ามาพูดคุยในห้องที่จัดไว้พร้อมเก้าอี้รองรับทุกคน แต่เมื่อถึงเวลาปรากฏว่าชนเผ่า Hadza กลับนั่งยองบนพื้นหรือยืนโดยไม่มีใครนั่งเก้าอี้ที่เตรียมไว้เลยสักคน ส่วนนักมานุษยวิทยาชาวตะวันตกพอเห็นเก้าอี้ปุ๊บก็นั่งลงโดยอัตโนมัติตามความเคยชิน

(ภาพจาก : David Raichlen)

บรรยากาศที่ต่างคนต่างมีอากัปกิริยาแตกต่างทำให้ทีมนักวิจัยประหลาดใจ แค่เรื่องง่ายๆ อย่างการนั่งก็สามารถสะท้อนรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ น่าสนใจที่ชนเผ่า Hadza มีกิจวัตรประจำวันที่ค่อนข้างแอ็กทีฟ พวกเขาเดินเท้าไปหาของป่าไม่ต่ำกว่าสิบห้ากิโลเมตรทุกๆ วัน คนในเผ่าไม่ป่วยจากโรคที่คนเมืองเป็น และแทบไม่มีใครเลยที่เข้าข่ายอ้วนหรือน้ำหนักเกิน

ตรงข้ามกับคนเมืองที่เสียชีวิตจากการขาดออกกำลังกายเฉลี่ยห้าล้านคนต่อปี เสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และอีกสารพัดโรค ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากนิสัยที่พวกเรานั่งๆ นอนๆ โดยไม่มีกิจกรรมอื่นแทรก เรานั่งติดต่อกันมากกว่าสิบสี่ชั่วโมงต่อวัน ไม่ว่าจะทำงานหรือทำกิจกรรมผ่อนคลาย เราแทบนั่งเพื่อทำทุกอย่าง ทั้งๆ ที่สัตว์อื่นบนโลกที่ขี้เกียจมากกว่าเราแต่ก็ไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ามนุษย์ ดังนั้นการนั่งจึงอาจจะเป็นคำสาปของเหล่ามนุษย์สายพันธุ์ Homo sapiens ก็ว่าได้ ทั้งๆ ที่วิวัฒนาการน่าจะให้ประโยชน์กับความขี้เกียจและส่งต่อรุ่นต่อรุ่น เช่น สัตว์เลื้อยคลานยังต้องนอนนานเป็นเดือนเพื่อผ่านช่วงที่มีทรัพยากรจำกัด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็ยังจำศีลเพื่อผ่านคืนวันอันหนาวเหน็บ ญาติของเราอย่างชิมแปนซี หรือโบโนโบที่นอนเล่นทั้งวันก็ไม่ยักจะเป็นอะไร แต่พอมนุษย์ขี้เกียจบ้างปุ๊บ เอ้า ตายง่ายๆ เฉยเลย

ผู้เขียนเคยมีบทความเปรียบเทียบความขี้เกียจของเหล่าไพรเมตและมนุษย์ไว้บ้างแล้วชื่อว่า ทำไมมนุษย์ขี้เกียจแล้วอ้วนแต่ลิงขี้เกียจแล้วไม่เป็นไร เมื่อวิวัฒนาการบังคับให้คนแอ็กทีฟเพื่ออยู่รอด

ความลับอาจอยู่ที่ท่านั่ง

กลับมาที่รูปแบบของชนเผ่า Hadza ในหมู่บ้านเล็กๆ ของพวกเขานั้นไม่มีเก้าอี้เลย และเขาไม่จำเป็นต้องใช้เก้าอี้ หลังจากเหนื่อยล้าจากการล่าสัตว์และหาของป่า พวกเขาจะมานั่งพักใต้ร่มไม้ จากนั้นก็สุมไฟเพื่อย่างเนื้อสัตว์ที่ล่ามาได้ ทำความสะอาดผลไม้ที่เก็บมา ท่านั่งประจำของพวกเขาคือ ‘ท่านั่งยอง’ (resting squat) ซึ่งเป็นท่าที่พวกเราทุกคนรู้จัก แต่ในชีวิตปัจจุบันแทบจะไม่มีใครทำกันเลยเนื่องจากอาจดูไม่สุภาพ และการหล่อหลอมทางสังคมทำให้ท่านั่งนี้ใช้แค่ขับถ่ายในส้วมซึมเท่านั้น ยิ่งทุกวันนี้หลายบ้านมีชักโครกกันหมดแล้ว ท่านั่งยองจึงห่างไกลตัวออกไปอีก ซึ่งเอาเข้าจริงท่านั่งยองนี้มีรากวิวัฒนาการมานานกว่าสองล้านปีในมนุษย์ นักโบราณคดีพบว่ามนุษย์โบราณอย่าง Homo erectus ที่ว่าสามารถเดินตัวตรงได้แล้วยังนั่งยองๆ เป็นประจำด้วย ถือเป็นท่าที่มีความเก่าแก่พอๆ กับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้

(ภาพจาก : David Raichlen)

จะบอกว่าชนเผ่า Hadza ไม่มีเทคโนโลยีพอเพื่อประดิษฐ์เก้าอี้ก็ว่าเช่นนั้นไม่ได้ เพราะชนเผ่านี้เป็นนักล่าที่รู้จักใช้เครื่องมือทุ่นแรง พวกเขาสร้างธนู หอกที่สังหารเหยื่อได้เด็ดขาด และมีกระท่อมที่แข็งแรงพอที่จะต้านพายุแรงได้สบายๆ เพียงแต่พวกเขาไม่จำเป็นต้องทำเก้าอี้เพื่อนั่ง และแทบจะไม่มีเฟอร์นิเจอร์ใดๆ เพื่อการตกแต่งเลย อย่างมากสุดพวกเขาก็นอนบนแผ่นหนังสัตว์ และนั่งรอบกองไฟด้วยท่านั่งยองๆ

การนั่งยองของชนเผ่า Hadza เรียกว่าท่า deep squat ที่ฝ่าเท้าทั้งสองแนบสนิทพื้น ทิ้งก้นไปหลังข้อเท้า เอาจริงๆ ก็เป็นท่าที่ไม่สบายนักหากไม่เคยฝึกมาก่อน (ยิ่งฝรั่งเจอท่านี้เข้าคงแปลกใจ เพราะพวกเขานั่งยองๆ แทบไม่ได้กันสักคน ถ้าไม่ได้เล่นโยคะ) ท่านี้จำเป็นต้องอาศัยความยืดหยุ่นพอสมควร

สมาชิกเผ่า Hadza ตั้งแต่เด็กจนแก่เฒ่านั่งท่านี้กันหมด การนั่งยองทำให้กล้ามเนื้อขาทำงานมากกว่านั่งบนเก้าอี้ และมอบความสะดวกในการเคลื่อนตัวไม่ว่าจะหุงหาอาหารหรือแล่เนื้อสัตว์ที่มักวางอยู่ในระดับพื้น การนั่งยองทำให้พวกเขาทำกิจกรรมอื่นๆ ได้โดยไม่เสียเวลา เพียงแค่พวกเขาถ่ายน้ำหนัก ขยับขา ก็หันไปทำอย่างอื่นได้ทันที ทีมวิจัยได้ทดลองติดตั้งเซ็นเซอร์ขนาดเล็กเพื่อวัดกิจกรรมกล้ามเนื้อของคนในเผ่าทั้งชายและหญิงจำนวนยี่สิบแปดคน เพื่อดูว่าพวกเขามีกิจวัตรอะไรบ้างในแต่ละวัน ซึ่งผลปรากฏออกมาน่าสนใจ

ชาวเผ่า Hadza ใช้เวลาพักผ่อนแต่ละวันนานถึงสิบชั่วโมงเทียบเท่ากับคนในสังคมเมือง แต่ที่แตกต่างกันอย่างน่าอัศจรรย์คือชาว Hadza เปลี่ยนอิริยาบถนั่งและเดินมากกว่าคนเมืองกว่าห้าสิบเท่า! เรียกได้ว่าพวกเขาไม่ได้อยู่เฉยแม้จะเป็นเวลาพักผ่อนก็ตาม

เมื่อตรวจดูสุขภาพแต่ละคนพบว่าชนเผ่านี้ล้วนมีสุขภาพดี มีไขมันไตรกลีเซอไรด์ในระดับต่ำ ทำให้ห่างไกลโรคเกี่ยวกับหัวใจ ยิ่งไปกว่านั้นท่านั่งยองเองก็ยังเป็น ‘ท่ากายบริหาร’ โดยกลายๆ ที่ทำให้กล้ามเนื้อได้ออกแรงสม่ำเสมอ เนื่องจากเวลาที่เรานั่งยองและพยายามทรงตัวจากศูนย์ถ่วงที่โน้มต่ำด้านหลัง ทำให้กล้ามเนื้อขาทำงานมากขึ้นกว่านั่งบนเก้าอี้สิบเท่า ซึ่งชาว Hadza นั่งท่านี้นานถึงหนึ่งในสามของกิจกรรมในแต่ละวัน ช่วยให้กล้ามเนื้อได้แอ็กทีฟตลอดเวลาแม้เสร็จกิจที่ต้องใช้กำลังมากอย่างการเก็บของป่าและล่าสัตว์

กิจกรรมต่อเนื่องทำให้กล้ามเนื้อทรงตัวเรียกว่า active resting ลดการก่อตัวของไขมันไตรกลีเซอไรด์ตลอดทั้งวัน ต่างจากคนเมืองที่ถ้าพักแล้วคือพักเลยเบ็ดเสร็จ พวกเรานั่งหรือนอนบนโซฟาโดยไม่กระดิกกล้ามเนื้อ (ยกเว้นปากจะเคี้ยวนู่นนี่) เรานั่งนานติดต่อเป็นชั่วโมงๆ เมื่อมองย้อนกลับไปท่านั่งยองนี้เองที่บรรพบุรุษของเรานั่งติดต่อกันเป็นเวลากว่าสองล้านปี ก่อนที่มนุษย์จะเข้าสู่การทำกสิกรรมด้วยซ้ำ

มีข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า เมื่อเราเปลี่ยนบทบาทจากการล่าสัตว์หาของป่าสู่การทำกสิกรรม อาจเป็นจุดกำเนิดให้มนุษย์ประดิษฐ์เก้าอี้ จากหลักฐานโบราณคดีที่ปรากฏย้อนไปยังจุดกำเนิดเก้าอี้ราวห้าพันปีก่อน นี่จึงแสดงว่าท่านั่งยองมีมานานกว่านั้น ก่อนที่เราจะเรียนรู้การนั่งเก้าอี้ ห้าพันปีให้หลังนี่จึงทำให้การนั่งทำลายสุขภาพของเรามากกว่าที่คิดเพราะร่างกายมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ขี้เกียจตั้งแต่แรก การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและทางสังคมทำให้เราผูกพันกับการนั่งบนเก้าอี้มากขึ้นเรื่อยๆ ดำเนินไปพร้อมกับความเจริญทางด้านวัตถุ การนั่งบนเก้าอี้จึงเป็นอากัปกิริยาที่ยอมรับของสังคมในขณะที่ท่านั่งยองถูกมองว่าไม่สุภาพ ไม่สำรวม ดูไร้อารยะ ทำให้เราค่อยๆ รังเกียจที่จะนั่งท่ายองไปโดยปริยาย

การนั่งนานๆ สามารถทำลายสุขภาพได้ นักวิทยาศาสตร์พบว่าร่างกายจะสร้างไขมันชนิดหนึ่งที่อยู่ในกระแสเลือด เรียกว่าไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) เมื่อไม่แอ็กทีฟไขมันนี้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การเปลี่ยนท่านั่งบ่อยๆ มีส่วนช่วยลดไขมันลง มีงานวิจัยที่ศึกษาอาสาสมัครที่เป็นพนักงานออฟฟิศโดยให้พวกเขาเปลี่ยนอิริยาบถให้ลุกนั่งมากกว่าเดิมขณะทำงานเป็นเวลาสี่วัน ผลปรากฏว่าช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์โได้มากถึง 32 เปอร์เซ็นต์ การเคลื่อนไหวเบาๆ เป็นครั้งคราวช่วยให้ผนังหลอดเลือดมีการเคลื่อนตัวยืดหยุ่น ทำให้เลือดสูบฉีดไปเลี้ยงหัวใจได้ง่ายขึ้น และดีต่อมวลรวมของร่างกาย

 

จะทิ้งเก้าอี้เลยดีไหม?

ในเมื่อเราเกิดมาพร้อมกับสังคมที่มีเก้าอี้ จะโยนเก้าอี้ทิ้งเลยก็กระไรอยู่ หรือจะให้คุณเปลี่ยนมานั่งยองๆ แบบชนเผ่า Hadza ก็อาจทรมานร่างกายจนเกินไป พวกเขาฝึกนั่งท่านี้มาแต่เด็กๆ วิถีชีวิตที่อยู่กับพื้นดินทำให้การนั่งยองยังคงอยู่ในอารยธรรมของพวกเขาอย่างเหนียวแน่น

สำหรับมนุษย์เมืองอย่างเราๆ การนั่งให้น้อยลงน่าจะเป็นคำแนะนำเพื่อสุขภาพที่ดีที่สุด ควรให้เวลาพักเบรกตัวเองทุกๆ 30-40 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย ไม่เกร็งอยู่ในท่าเดิมนานๆ จะหาเรื่องเข้าห้องน้ำ กินกาแฟ และข้ามไปเมาท์กับเพื่อนแผนกข้างๆ หรือถ้าคุณเป็นสายฮาร์ดคอร์หน่อยก็อาจลองขออนุญาตหัวหน้านั่งท่าชนเผ่า Hadza กลางออฟฟิศเพื่อโชว์ให้เพื่อนๆ เห็นถึงท่านั่งอารยธรรมเก่าแก่ของมนุษย์อันน่าศึกษาและน่าพิศวง

บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องอายที่จะนั่งยอง จะมาหาว่าเราไร้อารยะก็ว่าไป แต่บรรพบุรุษพวกเรานั่งยองมานานกว่าสองล้านปี

เอ้า นั่งลง!

 

อ้างอิง

Sitting, squatting, and the evolutionary biology of human inactivity

PNAS March 31, 2020 117 (13) 7115-7121; first published March 9, 2020

pnas.org

Triglyceride Test (Lowering Your Triglycerides)

medicinenet.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

banana blah blah

นักวาดภาพประกอบ ที่ชอบกินอาหารสุกๆดิบๆ เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนชีวิตนั้นก็สุกๆดิบๆไม่ต่างกัน