วิญญาณออกจากร่าง เห็นแสงปลายอุโมงค์ สมองทำงานอย่างไรใน ‘ภาวะเฉียดตาย’

Highlights

  • ประสบการณ์เฉียดตาย (NDEs) เป็นภาวะฉับพลันเมื่อร่างกายเผชิญกับความรุนแรงที่ไม่ทันตั้งตัวจากหัวใจวาย ภาวะช็อก ถูกอัดกระแทกด้วยแรงระเบิด ตกจากที่สูง หรือสามารถเกิดจากอีกหลายๆ ปัจจัย
  • มีความพยายามอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ในเชิงการแพทย์ว่า การที่เราเห็นแสงสวรรค์จากปลายอุโมงค์นั้น น่าจะเกิดจากความดันเลือดที่ไปเลี้ยงระบบการมองเห็นลดลงกะทันหัน ทำให้สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว รูม่านตาหดตัว หรือภาพแคบลงในลักษณะคล้ายอุโมงค์
  • ปรากฏการณ์ NDEs อาจไปดึงความทรงจำจากสมองส่วนต่างๆ มาด้วย และดึงเอาประสบการณ์ในอดีตที่จัดอยู่ในความทรงจำระยะยาว (long-term memory) หรืออาจไปดึงเอาความทรงจำ รูป รส กลิ่น เสียง ทำให้รู้สึกเหมือนถอดจิตได้
  • หากคุณถามผู้รอดชีวิตทุกคนว่า ปรากฏการณ์ NDEs ของพวกเขาสมจริงแค่ไหน ทุกคนจะตอบว่า “จริงอย่างแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์แม้เขาจะไปเจอกับเทพธิดาหรือปีศาจซาตาน เพราะสมองถูกทำให้คิดแบบนั้น

การเผชิญหน้ากับความตายทิ้งอะไรบางอย่างในสมองของพวกเราหรือไม่ แม้เราจะรู้จักกลไกการทำงานของสมองค่อนข้างดีแล้วขณะที่มีชีวิตปกติ แต่เราแทบไม่รู้อะไรเลยเมื่อสมองต้องเผชิญความตายอยู่ใกล้เพียงแค่เอื้อม

ประสบการณ์เฉียดตาย (Near-Death Experiences) เป็นภาวะฉับพลันเมื่อร่างกายเผชิญกับความรุนแรงที่ไม่ทันตั้งตัวจากหัวใจวาย ภาวะช็อก ถูกอัดกระแทกด้วยแรงระเบิด หรือตกจากที่สูง ประสบการณ์เหล่านี้ถูกเล่าผ่านหลายวัฒนธรรมทั่วโลกที่ล้วนมีจุดร่วมคล้ายคลึงกันคือ เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ รู้สึกเหมือนวิญญาณออกจากร่าง หรือเหาะเหินเดินอากาศได้

ทำไมสมองถึงนำเสนอประสบการณ์เหล่านี้ให้กับพวกเรา และความตายจะแทรกตัวอยู่ในสมองมนุษย์ต่อไปยังไง

 

เคยสบตากับความตายมาแล้วหรือยัง

แฟนๆ ที่ชื่นชอบอ่านวรรณกรรมของ Ernest Hemingway น่าจะทราบดีว่า นักเขียนเรื่องสั้นชาวอเมริกันผู้นี้ชอบใช้ชีวิตโลดโผน โชกโชนไปด้วยประสบการณ์เลือดตกยางออกตั้งแต่ครั้งหนุ่มๆ  เขาเคยร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 และถูกระเบิดตกใส่ระยะเผาขนห่างเพียงไม่กี่หลา แรงระเบิดกระแทกร่างลอยละลิ่วจนเขาไปรู้สึกตัวอีกทีที่เตียงผู้ป่วยในสภาพเจ็บสาหัส เฮมิงเวย์เขียนจดหมายเล่าประสบการณ์ครั้งนั้นว่า

“ผมได้สบตากับความตายมาแล้ว ความตายนั้นง่ายนิดเดียว ในพริบตาชีวิตก็อาจดับวูบไป… ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย ตายคือตาย เท่านั้นเอง”

หลังจากนั้นเฮมิงเวย์นำประสบการณ์เฉียดตายและมุมมองต่อความตายมาเขียนเป็นเรื่องสั้นชื่อ The Snows of Kilimanjaro ใน ค.ศ. 1936 ที่เล่าเรื่องตัวละครชายผู้เป็นโรคเนื้อตายเน่า (gangrene) ที่จู่ๆ เขาก็ไร้ซึ่งความเจ็บปวด และสามารถถอดจิตล่องลอยไปตามสถานที่ต่างๆ ผ่านน้ำตก ลัดเลาะแนวภูเขา จนกระทั่งไปอยู่ ณ จุดสูงสุดของยอดเขาคิลิมันจาโร

วรรณกรรมนี้มีจุดเด่นอยู่ที่การบรรยายประสบการณ์เฉียดตายได้อย่างน่าสนใจ จนถือว่าเป็นกรณีคลาสสิกในการอธิบาย Near-Death Experiences (เรียกย่อว่า NDEs) เฮมิงเวย์บรรยายถึงความมืดมิด การไร้ซึ่งความเจ็บปวด การเห็นแสงสว่างโชติช่วง และความรู้สึกเงียบสงบไร้การถูกจองจำ

นักอ่านหลายคนลงความเห็นว่า คนที่จะบรรยายได้เช่นนี้จะต้องเคยมีประสบการณ์เฉียดตายมาแล้วหลายครั้ง สามารถจ้องมองความตายโดยไม่รู้สึกหวาดผวา เขาคนนั้นถึงจะเรียบเรียงปรากฏการณ์สุดพิสดารเป็นภาพได้เช่นนี้

หากคุณเคยมีประสบการณ์เฉียดตายมาบ้าง จำได้ไหมว่าเห็นภาพอะไร ณ ขณะนั้น


NDEs ในเชิงกายภาพ

ประสบการณ์เฉียดตาย (NDEs) เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง หัวใจล้มเหลว เกิดภาวะช็อก และสามารถเกิดจากอีกหลายๆ ปัจจัย ผู้ป่วยที่เป็นโรคภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันถึง 1 ใน 10 มักเคยมีประสบสถานการณ์นี้ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้รอดชีวิตจากปรากฏการณ์ NDEs มักบอกเล่าประสบการณ์ในทำนองว่า วิญญาณหลุดออกจากร่าง จิตไปอยู่ในอีกมิติอื่น หรือท่องไปในดินแดนที่ไร้ขอบเขตของพื้นที่และกาลเวลา เหตุการณ์เหล่านี้ทรงพลังมากเสียจนอาจเปลี่ยนทัศนคติต่อการใช้ชีวิตไปอย่างถาวร

น่าสนใจที่ว่าหลายคำบอกเล่าของผู้ประสบเหตุการณ์ล้วนมีทำนองคล้ายกัน เช่น การถอดจิต การสามารถหลุดพ้นจากความเจ็บปวด หรือมีการเห็นภาพบางอย่างร่วมด้วย เช่น เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ ได้เจอคนรักที่สูญเสียไป หรือเจอคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เห็นมิติของเวลาที่บิดเบี้ยว เดินทางไปพบเทพเทวดา หรือเผชิญหน้าอสูรร้าย

มีความพยายามอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ในเชิงการแพทย์ว่า การที่เราเห็นแสงสวรรค์จากปลายอุโมงค์นั้น น่าจะเกิดจากความดันเลือดที่ไปเลี้ยงระบบการมองเห็นลดลงกะทันหัน ทำให้สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว รูม่านตาหดตัว ทำให้มีโอกาสเห็นภาพบิดเบี้ยว หรือภาพแคบลงในลักษณะคล้ายอุโมงค์ที่เรียกว่า ‘วิสัยทัศน์อุโมงค์’ (tunnel vision) ทำให้การมองเห็นรอบข้างแคบลงและเห็นแสงสว่างเพียงจุดเดียวอยู่เบื้องหน้า

 

ปรากฏการณ์ NDEs นี้อาจมอบทั้งความรู้สึกเชิงบวกและเชิงลบก็ได้ บางคนอาจรู้สึกเหมือนได้พบความสงบเงียบเหมือนอยู่ในวิหารศักดิ์สิทธิ์ รู้สึกใกล้ชิดกับเทพเทวดา แต่บางคนอาจกลายเป็นประสบการณ์เลวร้ายเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความว่างเปล่าอันน่าหวาดผวา อาจสัมผัสถึงความโกรธเป็นฟืนเป็นไฟหรือความโดดเดี่ยวอ้างว้าง  แต่โดยส่วนใหญ่เรามักจะได้ยินเรื่องราวเชิงบวกจากปรากฏการณ์ NDEs มากกว่า เพราะคนส่วนใหญ่ที่รอดชีวิตมักเล่าเรื่องที่รู้สึกดีต่อตัวเอง การรอดชีวิตเป็นโอกาสที่สองที่ฟ้าประทานมาให้ ส่วนประสบการณ์ด้านแย่ๆ มักไม่ถูกเล่าต่อ เพราะคนที่ผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงมีจิตใจบอบช้ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากเล่าเรื่องแย่ๆ จะพานให้สังคมคิดว่าตัวเองเป็นคนบาปที่สวรรค์ไม่ต้องการ ก็เลยไม่เล่าให้ใครฟังเสียมากกว่า ดังนั้นปรากฏการณ์ NDEs ก็ไม่ได้เป็นเรื่องดีเสมอไป

 

แต่ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ประสบการณ์เฉียดตายทำให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าชีวิตมันแสนเปราะบาง มีเพียงเส้นบางๆ ที่อะไรก็ตามมากระชากก็คงขาดได้ทันทียื้อไว้ เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้เกราะทางความคิดของเราถูกลอกออกทีละแผ่นๆ จากที่เคยเชื่อหรือวาดฝันอะไรไว้จะกลับมาทบทวนว่าความเป็นจริงของชีวิตมักมีเหตุการณ์ต่างๆ มาทำลายความเชื่อนี้ได้เสมอ

แม้ความรู้สึกที่ตามมาจะหนักหน่วง แต่นักจิตวิทยาเชื่อว่าจะสามารถหายได้โดยอาศัยเวลาทีละน้อย คล้ายการบำบัดคนที่เป็น PTSD (post-traumatic stress disorder) แต่ในบางกรณีความทรงจำก็ไม่ได้หายไปไหน แต่ยังคงอยู่ในความทรงจำในหลายรูปแบบ อาจจะเป็นเสียง กลิ่น ภาพ รส หรือการสัมผัส ที่ทำให้กลับไปหวนนึกถึงประสบการณ์เฉียดตายนั้นอีกครั้ง

นักจิตวิทยาจากหลายสถาบันสนใจกลไกความคิดผ่านผลพวงปรากฏการณ์ NDEs มากว่า 40 ปี คนแรกที่ให้นิยามนี้อย่างเป็นทางการคือ Raymond Moody นักจิตวิทยาที่ใช้คำว่า ‘Near-Death Experiences’ และออกหนังสือขายดีตามมาในชื่อ Life After Life เขาได้สัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตมากมาย และพบรูปแบบที่คล้ายๆ กันในชุดเรื่องเล่าของแต่ละคน นำมาจัดหมวดหมู่จนนำมาสู่การศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์

เขาพบว่าประสบการณ์นี้พิเศษตรงที่ความทรงจำจะผูกโยงกับความรู้สึกอันเข้มข้น แม้หลายคนจะจดจำเหตุการณ์ไม่แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือบางคนบอกเล่าเกินความจริง แต่หากให้พวกเขานึกถึงประสบการณ์เฉียดตายนั้นอีกครั้ง คนส่วนใหญ่จะพูดถึงความรู้สึกเป็นอันดับแรกก่อนเหตุการณ์เท็จจริงเสมอ จึงทำให้เรื่องเล่าของแต่ละคนมีส่วนผสมของจินตนาการเข้าไปด้วย

แต่ความท้าทายของการศึกษาประสบการณ์เฉียดตายคือ NDEs จะอยู่ในความทรงจำของเราและเปลี่ยนพฤติกรรมของคนบางคนได้อย่างถาวรตลอดชีวิตได้ยังไง เช่นเดียวกับกรณีเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ที่รอดจากเหตุระเบิดตกใส่ครั้งแรกจนทำให้เขาเสพติดความเสี่ยงตาย นำไปสู่กิจกรรมสุดบ้าเลือดหลายอย่างที่ตามมา ทั้งสู้กับวัวกระทิง ชกต่อยกับนักเลง ขับรถด้วยความเร็วสูง และอีกสารพัด จนจบท้ายด้วยการฆ่าตัวตายโดยยิงปืนลูกซองกรอกปาก ความระห่ำของเขาถ่ายทอดมาเป็นงานเขียนที่เรียบง่ายแต่หนักแน่น มักกล่าวถึงความตายที่เรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตองเช่นกัน

การเปลี่ยนพฤติกรรมถาวรอาจเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวคุณ บุคคลนั้นอาจไม่รู้สึกต้องการทรัพย์สมบัติอะไรเลย กลายเป็นคนชอบทำบุญและทำเพื่อผู้อื่น อันนี้จัดเป็นกรณีเชิงบวก แต่ก็อาจมีคนที่ยอมกล้าเสี่ยงทำอะไรร้ายแรงเพียงเพราะไม่หวาดกลัวความตาย ซึ่งมองว่าความตายนั้นไม่ทรมานและเกิดขึ้นง่ายนิดเดียว มีชีวิตอยากทำอะไรก็ได้จะคิดมากทำไม

 

วิทยาศาสตร์พยายามให้คำตอบ

การศึกษากลไกทางประสาทในมิติวิทยาศาสตร์นั้นทำได้ค่อนข้างยาก เพราะ NDEs อาจเกี่ยวโยงกับภาวะสมองกระทบกระเทือนหลายปัจจัยร่วม ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดเมื่อสมองได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง สมองอาจได้รับความเสียหายหรือความดันโลหิตผิดปกติอย่างรวดเร็ว และก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเอาคนเป็นๆ ไปนอนในเครื่อง MRI แล้วทำให้เขาช็อกขั้นขีดสุดเพื่อศึกษาสมอง (ทารุณชะมัดเลยถ้าทำกันจริงๆ)

ดังนั้นอาจต้องใช้องค์ความรู้การแพทย์สมัยใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงนิยามของความตาย จากในอดีตที่เมื่อหัวใจมนุษย์หยุดเต้นแพทย์จะถือว่าตายแล้ว แต่ปัจจุบันเรามีเครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าที่ทำให้หัวใจกลับมาเต้นได้อีกครั้ง จึงทำให้มีการนิยามความตายใหม่เสมอ เป็นภาวะสมองตาย (brain dead) ที่สูญเสียเลือดจนสมองเสียหายจนไม่สามารถย้อนคืนหรือฟื้นฟูได้ สมองจะโหยหาเลือดมาหล่อเลี้ยงให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด (ischemia) และสมองขาดอ็อกซิเจน (anoxia) เมื่อสมองไม่มีกิจกรรมคลื่นไฟฟ้าใดๆ ถึงจะเรียกว่าตายแล้ว

อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ NDEs อาจทำให้สมองมีความใกล้เคียงกับภาวะสมองล้มเหลวแต่ไม่ถึงกับตายโดยทันที มีเพียงสมองบางส่วนที่ได้รับความกระทบกระเทือนรุนแรง หากอธิบายให้เห็นภาพ สมองจะเปรียบเสมือนจังหวัด ที่หากเมืองใดเมืองหนึ่งไฟดับกะทันหันและไม่มีกระแสไฟฟ้าเข้ามาทดแทน เมืองข้างเคียงจะค่อยๆ ดับตามไปด้วยจากกิจกรรมไฟฟ้าในประสาทลดลงฉุกเฉิน จุดนี้เองที่ปรากฏการณ์ NDEs อาจไปดึงความทรงจำจากสมองส่วนต่างๆ มาด้วย และดึงเอาประสบการณ์ในอดีตที่จัดอยู่ในความทรงจำระยะยาว (long-term memory) หรืออาจไปดึงเอาความทรงจำ รูป รส กลิ่น เสียง ทำให้รู้สึกเหมือนถอดจิตได้ที่เรียกว่า out-of-body experiences หรือ OBE

การกระทบกระเทือนอาจรบกวนสมองส่วน temporoparietal junction (TPJ) ที่อยู่ ณ จุดกลีบสมองขมับ (temporal lobe) และสมองกลีบข้าง (parietal lobe) ที่ควบคุมการรับรู้ความสัมพันธ์และตำแหน่งของร่างกาย (body scheme) ของเราจะคอยอัพเดตร่างกายมวลรวมของเราทั้งหมด พอถูกรบกวนจะรู้สึกว่าร่างกายลอยได้ เดินทางไปที่ต่างๆ ได้

จากนั้นเมื่อสมองกลับมามีกิจกรรมปกติอีกครั้ง บุคคลนั้นรอดชีวิตแต่ได้รับประสบการณ์ที่สมองไปดึงมา ทำให้เขาได้ชุดเรื่องเล่ามาใช้อธิบายประสบการณ์เฉียดตายที่พวกเขาเจอขณะหมดสติ นั่นเพราะสมองยังทำงานต่อเนื่องตามกลไกตามธรรมชาติ แม้เราจะไม่รู้สึกตัวก็ตาม

ดังนั้นหากคุณถามผู้รอดชีวิตทุกคนว่า ปรากฏการณ์ NDEs ของพวกเขาสมจริงแค่ไหน ทุกคนจะตอบว่า “จริงอย่างแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์” แม้เขาจะไปเจอกับเทพธิดาหรือปีศาจซาตาน เพราะสมองถูกทำให้คิดแบบนั้น มันจริงเช่นเดียวกับการที่เขาเดินหน้าปากซอยตามปกตินั่นเอง

สมองที่ทำงานผิดพลาดอย่างฉุกเฉินนี้เองทำให้แต่ละคนได้ชุดเรื่องเล่าของประสบการณ์อันแปลกประหลาด และน่าสนใจที่ปรากฏการณ์ NDEs ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพราะสมองถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงเท่านั้น แต่อาจมีปรากฏการณ์ NDEs แบบเบาๆ ที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อนอนไม่พอ มือชา ขาชาเป็นอัมพาตชั่วคราว เหนื่อยล้ามากๆ ได้รับสารเคมีบางชนิด จนกิจกรรมไฟฟ้าในสมองผิดพลาด บางคนอาจรู้สึกเคลิบเคลิ้มเป็นสุข หรือจิตหลุดออกจากร่าง

มีรายงานว่าสารหลอนประสาทหลายชนิดอย่าง เห็ดขี้ควาย (magic mushroom) และสารแอลเอสดี อาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ NDEs ได้เช่นกัน ซึ่งในทางศาสนาหรือลัทธิก็มีการใช้สารหลอนประสาทในพิธีกรรมเพื่อให้เราใกล้เคียงความรู้สึกเข้าใกล้พระเจ้าหรือสัมผัสกับผู้สร้างโลก

จากกลไกอันมหัศจรรย์ของสมองนี้เองที่ทำให้ประสบการณ์เฉียดตายเป็นเรื่องของธรรมชาติ หาใช่ปาฏิหาริย์ที่ทำให้มนุษย์มีโอกาสใช้ชีวิตอีกครั้ง น่าสนใจที่การแพทย์สมัยใหม่พาเราไปสำรวจมิติของความตายได้ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ

ความตายนั้นมีชีวิตในสมองของพวกเราเสมอ เพียงแค่รอเวลาสำแดงออกมานั้นเอง

หากเวลานั้นมาถึง คุณจะหวาดกลัวหรือเป็นสุขสงบ ความตายก็มอบโอกาสให้ทุกคนเท่ากัน เพียงแต่คุณไม่ได้เลือกเท่านั้นเอง

 

อ้างอิง

Dr. Raymond Moody’s Near-Death Experience Research

Getting Comfortable With Death & Near-Death Experiences: Near-Death Experiences: An Essay in Medicine & Philosophy

LIFE AFTER LIFE

 

AUTHOR

ILLUSTRATOR

banana blah blah

นักวาดภาพประกอบ ที่ชอบกินอาหารสุกๆดิบๆ เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนชีวิตนั้นก็สุกๆดิบๆไม่ต่างกัน