หายใจเข้าหอม หายใจออกมาเป็นความสุข ‘Herbpiness’ อะโรมาติกแบรนด์ที่เริ่มจากสมุนไพรในรั้วบ้าน

Highlights

  • หลี–ประภาวี ศิวเวทกุล เติบโตมาในบ้านที่แวดล้อมด้วยสมุนไพร จากการปลูกของคุณแม่ผู้เป็นนักชีววิทยาและนักพฤกษศาสตร์ เธอจึงนำสมุนไพรใกล้ตัวในรั้วบ้านมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีทั้งสรรพคุณและให้กลิ่นหอม ในชื่อแบรนด์ Herbpiness 
  • คอนเซปต์ของแบรนด์เกิดจาก 2 คำคือ herb และ happiness ด้วยหมายให้ผู้ที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์และได้กลิ่นหอมจากสมุนไพรมีความรู้สึกดีทางกายและทางใจควบคู่กันไปด้วย
  • ผลิตภัณฑ์ตัวล่าสุดคือ Herbal Cooling Spray หรือสเปรย์สมุนไพรเย็น สกัดจากสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็นและให้กลิ่นหอมสดชื่น ที่จะขอเป็นตัวช่วยให้คนไทยหายร้อน 

ภาพในวัยเยาว์ของ หลี–ประภาวี ศิวเวทกุล ยังแจ่มชัด เธอเติบโตมาในบ้านที่แวดล้อมไปด้วยสมุนไพรไทยนานาชนิด กะเพราเอย โหระพาเอย ไหนจะขิง ข่า ตะไคร้ อัญชัน ตำลึง ฯลฯ ล้วนชูช่องามผ่านการปลูกของคุณแม่วีรวรรณ ศิวเวทกุล ผู้เป็นนักชีววิทยาและนักพฤกษศาสตร์ หลีเล่าว่าเมื่อเธอในวัยเด็กโดนยุงกัดแล้วขึ้นตุ่มแดง แม่จะเด็ดใบตำลึงหรือไม่ก็ใบพญายอมาบดจนแหลกแล้วพอกเพื่อแก้คันให้ หรือเมื่อลูกเริ่มออกอาการคัดจมูก แม่ก็จะออกไปเด็ดสะระแหน่ที่กลิ่นมีฤทธิ์ช่วยให้หายใจโล่งมาใช้บรรเทาอาการ

คุณแม่ปลูกสมุนไพรในรั้วบ้านมาตั้งแต่หลียังเด็กกระทั่งเติบใหญ่ ความรู้และกลิ่นจรุงของพืชพรรณจึงค่อยๆ หลอมเข้าสู่ชีวิต กระทั่งราว 4-5 ปีที่ผ่าน หลีมีความคิดอยากทำผลิตภัณฑ์ของตนเองขึ้นมาสักอย่าง เธอนึกถึงสวนของแม่และกลิ่นหอมของสมุนไพรที่คุ้นเคยเป็นอย่างแรก 

และนี่คือที่มาอย่างย่นย่อของ Herbpiness แบรนด์ที่หยิบจับสมุนไพรใกล้ตัวมาแปรรูปกลายร่างเป็นหลากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยชูสรรพคุณและกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ของสมุนไพรชนิดนั้นๆ ผ่านแพ็กเกจจิ้งร่วมสมัย

Herbiness

ก่อนบทสนทนาเริ่มต้น หลีจัดวางหลากผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Herbpiness บนโต๊ะตรงหน้า กวาดสายตามองไวๆ มีทั้งยาดมกระปุกย่อม, ยาหม่องน้ำขนาดพกพา, บาล์มสมุนไพรจากไขผึ้งและน้ำมันมะพร้าวธรรมชาติ, น้ำมันหอมระเหย, aroma roller และนั่น…สเปรย์สมุนไพรดับร้อนที่เพิ่งเปิดตัวใหม่หมาดๆ 

“คอนเซปต์ของแบรนด์เราตรงกับคำ 2 คำคือ herb และ happiness เพราะอยากให้คนที่ได้ใช้ของของเราและได้กลิ่นหอมจากสมุนไพรรู้สึกมีความสุขขึ้น ได้รับความสุขทั้งภายนอกและภายใน หมายถึงใช้แล้วดีขึ้นทางกายและให้ความรู้สึกดีทางใจด้วย” หลีกล่าวถึงจุดประสงค์ในการทำแบรนด์นี้

ฉัน ผู้เป็นหนึ่งในคนที่เคยใช้สินค้าของเธอมาก่อน นึกออกทันทีว่ากลิ่นหอมจากผลิตภัณฑ์ของ Herbpiness สามารถสร้างความสุขแก่ผู้ใช้ได้ยังไง

เริ่มต้นจากเฮิร์บหอมๆ รอบบ้าน

ก่อนหน้าจะก่อร่างสร้างแบรนด์ หลีเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ ทำงานด้านกราฟิก ออกแบบแพ็กเกจจิ้ง ทำแบรนดิ้งต่างๆ 

“หลีเคยทำงานประจำ พอทำไปได้ระยะหนึ่ง ความรู้สึกอยากทำงานมันหมดไป ไม่อยากตื่นไปทำงาน ไปเจอมลภาวะ เจอรถติด เป็นออฟฟิศซินโดรม กราฟความสุขในชีวิตเริ่มลดลง เลยรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่น่าจะใช่ และเราก็ทำแบรนด์ให้คนอื่นมาเยอะเหมือนกัน ก็เลยนึกอยากทำของตัวเองขึ้นมาบ้าง ทีนี้เราก็มองว่าอะไรที่เป็นสิ่งที่ผูกพันมาตั้งแต่เด็ก เพราะเวลาเราทำแบรนด์หรือโปรดักต์อะไรสักอย่างควรเป็นสิ่งที่เราชอบ เป็นสิ่งที่เรามีแพสชั่นกับมันมากๆ เป็นสิ่งที่อยากทำให้เราตื่นเช้ามาทำงานได้”

และสิ่งนั้นก็คือสมุนไพรในสวนของคุณแม่อย่างที่เกริ่นเล่า 

“นอกจากเป็นนักชีววิทยาแล้ว คุณแม่ยังเป็นนักปลูกต้นไม้ด้วย คุณแม่ชอบปลูกพวกพืชผักสวนครัวและสมุนไพรไว้ในบ้าน ตอนเด็กๆ เวลาเราเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ แม่ก็จะใช้สมุนไพรที่ปลูกในรั้วบ้านนี่ล่ะมาบรรเทาอาการให้ โดยที่ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเลย 

“สวนของคุณแม่ก็ไม่ได้ใหญ่อะไรมาก หลีโตมากับสวนนั้น เห็นคุณแม่ปลูกนั่นปลูกนี่มาตลอด กลายเป็นว่าเรารู้สึกชอบสมุนไพร ชอบดอกไม้ไปเลย แล้วก็ซึมซับความรู้ด้านสมุนไพรต่างๆ ว่ามันช่วยบรรเทาอาการอะไรได้บ้าง ถ้าเจ็บป่วยหนักๆ ยังไงก็ต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ถ้าเป็นเพียงอาการเล็กๆ น้อยๆ เช่น รู้สึกไม่สบาย หรือคันจากแมลงสัตว์กัดต่อยที่สามารถบรรเทาในเบื้องต้นได้ เรามีสมุนไพรในบ้านนี่นา เราก็เด็ดจากสวนมาใช้ได้”

หลียกยาหม่องขึ้นมาเป็นตัวอย่าง “อย่างยาหม่อง เราทำออกมา 3 กลิ่น 3 สี สีเขียวทำจากตำลึงและพญายอที่แม่เคยเอามาให้ใช้ตอนเด็กๆ ช่วยลดผดผื่น แก้อาการคันจากยุงหรือแมลงกัด ส่วนสีเหลืองทำจากขมิ้นชันและไพล เอามานวดๆ ถูๆ ที่คอบ่าไหล่ บรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ หรือแก้คัน แก้ผดผื่น ก็ยังได้”

การใช้สมุนไพรในการบรรเทาอาการเจ็บป่วยอาจหายช้า ไม่ได้ดีขึ้นแบบเร็วทันใจ แต่สำหรับหลีผู้โตมาพร้อมสมุนไพรรอบตัว เธอเห็นผลกับตนเองว่าการใช้ธรรมชาติเยียวยาคือการอนุญาตให้ร่างกายต่อสู้ไปพร้อมกับการใช้ธรรมชาติรักษา และในขณะเดียวกันนั้นร่างกายจะค่อยๆ สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาจากภายใน

“สมุนไพรหรือดอกไม้ที่เอามาใช้ทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เราปลูกเองทั้งหมด ตอนนี้แม่เกษียณแล้วนะคะ แต่ก็ยังทำสวนที่นครปฐมให้อยู่เลย”

คุณแม่ของหลีนับเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของ Herbpiness ทั้งเป็นมือปลูก ทั้งเป็นผู้ให้คำปรึกษา สมุนไพรตัวไหนออกฤทธิ์ในเรื่องใด พืชตัวใดอยู่ด้วยกันแล้วยิ่งช่วยกันชูสรรพคุณ ดอกไม้ชนิดใดเด่นเรื่องกลิ่นบำบัด เธอได้ความรู้จากคุณแม่ควบคู่ไปกับการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ในออฟฟิศ Herbpiness ที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่นี้ มองไปบนโต๊ะ จะเห็นเครื่องไม้เครื่องมือปรุงสมุนไพรและทดลองกลิ่นราวกับโต๊ะของนักวิทยาศาสตร์ และหนังสือพฤกษศาสตร์ทั้งเล่มเล็กเล่มใหญ่ที่หลีเอาไว้หาความรู้

อีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการทำแบรนด์คือสามีของเธอ เก่ง–ชนาธิป พานิช ที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องการผลิต

“เราใช้สมุนไพรจากสวนของคุณแม่คุณเก่งที่สมุทรปราการด้วย เพราะแต่ละที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกสุมนไพรแตกต่างกัน หรือมีจังหวะการออกดอกออกผลให้เก็บเกี่ยวไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่เราได้กุหลาบมอญ กระดังงา ดอกประยงค์ ตะไคร้หอม และอัญชัน ที่ปลูกในสวนที่สมุทรปราการ ส่วนที่นครปฐมจะปลูกพวงชมพู พญายอ ตำลึง แล้วค่อยเอาสมุนไพรที่ปลูกได้ดีจากสวนของแต่ละบ้านมาใช้

“ส่วนสมุนไพรหรือดอกไม้ชนิดใดที่ปลูกในไทยไม่งามหรือไม่ดีเท่าที่ต้องการอย่างดอกลาเวนเดอร์เราจะนำเข้าจากต่างประเทศ คุณเก่งมีญาติอยู่ที่ฝรั่งเศส เขาปลูกเองที่นั่นและหิ้วกลับมาให้ทุกปี เพราะอากาศที่ฝรั่งเศสทำให้ปลูกง่ายและได้คุณภาพดีกว่า แต่อะไรที่ปลูกเองได้ เราจะปลูกเอง และปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่เร่งโต ไม่พ่นสารเคมี เพราะทุกอย่างที่ทำเราใช้เองด้วย จึงอยากให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด ค่อยๆ เก็บเป็นล็อตๆ เท่าที่ต้องการใช้” 

ไม่เพียงปลูกเองกับมือ ไม่เพียงปล่อยให้โตและงามตามวิถีธรรมชาติ สมุนไพรและดอกไม้ที่หลีนำมาใช้ล้วนมีกลิ่นหอม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายคนหลงรัก

 

การออกแบบกลิ่นที่ต้อง happy together

“เปิดดมได้เลยนะคะ” หลีส่งยาดมกระปุกกลมในขนาดพกพาให้ ฉันเปิดฝา สูดกลิ่น ชื่นใจ

“ยาดมเป็นโปรดักต์ตัวแรกของเรา คุณแม่ชอบยาดมมาก ซื้อของคนอื่นมาดม กลิ่นก็ไม่ค่อยถูกใจ อยากให้กลิ่นแรงกว่านี้บ้าง อยากให้หอมกว่านี้บ้าง คุณแม่ก็เลยลองทำยาดมเองดู พอให้คนอื่นใช้ ทุกคนก็ตอบรับมาดี เราก็เลยทำยาดมแบบกระปุกเล็กๆ ขึ้นมาเป็นอย่างแรก”

ขึ้นชื่อว่ายาดม อย่างไรก็ต้องมีกลิ่นนำ ยาดมสูตรของคุณแม่เธอเป็นกลิ่นต้นตำรับ เกิดจากการผสานกันของสมุนไพรจากภูมิปัญญาตะวันออกที่มีกลิ่นหอมเย็นกว่า 10 ชนิด เช่น กระวาน กานพลู ดอกจันทร์ สะระแหน่ การบูร ฯลฯ พ่วงมาด้วยสรรพคุณที่ช่วยแก้วิงเวียน คัดจมูก จากนั้นจึงต่อยอดสูตรต้นตำรับโดยการเพิ่มกลิ่นส้มเข้าไป หลีอธิบายว่ากลิ่นหอมของส้มเป็นกลิ่นบำบัด สูตรดมแล้วจะรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ตื่นตัว สบายใจ

“กลิ่นซิตรัสช่วยให้สดชื่น จึงทำยาดมกลิ่นส้มขึ้นมาด้วย และพอเราทำพิมเสนน้ำคล้ายๆ ยาหม่องน้ำ นอกจากจะมี 2 กลิ่นเหมือนยาดม ก็เพิ่มกลิ่นซิตรัสของทั้งเขตหนาวและเขตร้อนเข้ามาด้วย คือกลิ่นเลมอนและกลิ่นตะไคร้ ตัวนี้ลูกค้าชอบกันมาก เป็นสมุนไพรน้ำสำหรับใช้ดมและทา”

ตัวที่ชูเรื่องกลิ่นอย่างชัดเจนคือ air freshener หรือสเปรย์หอมที่ออกแบบมา 3 กลิ่นด้วยกัน Have a Good Time หอมสดชื่นจากเปลือกส้ม Have a Good Day สกัดกลิ่นจากยูคาลิปตัส และ Have a Good Dream กล่อมด้วยกลิ่นลาเวนเดอร์ ซึ่งการใช้กลิ่นลาเวนเดอร์เพื่อนำไปวางใต้หมอนให้นอนหลับสนิทมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ

“เวลาออกแบบกลิ่น เราต้องคิดถึงหลายด้าน ทั้งความชอบของลูกค้า ความเข้าถึงง่าย กลิ่นอะไรเป็นกลิ่นที่ทำให้รู้สึกดี ได้กลิ่นแล้วมีความสุข แต่ทุกกลิ่นที่ทำออกมาต้องเป็นกลิ่นที่เราเองชอบก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าเราทำกลิ่นที่ดมแล้วไม่รู้สึกชอบก็ไม่รู้จะทำออกมาให้ดีได้ยังไง เอาแต่ใจหรือเปล่าไม่รู้ แต่ในฐานะคนทำ ดมเองแล้วเราสบายใจก่อนเป็นคนแรก พอเราลองใช้เอง รู้สึกแฮปปี้แล้ว ลูกค้าใช้ มีฟีดแบ็กกลับมาว่าเขาแฮปปี้ เราก็ยิ่งแฮปปี้มากขึ้นไปอีก สุดท้ายแล้วมันไปตรงกับวัตถุประสงค์ที่เราอยากทำตั้งแต่แรกคืออยากให้คนที่ใช้สินค้าของเรารู้สึกดี มีความสุขขึ้น”

 

พลิกสมุนไพรจากเชยเป็นน่าใช้

“หลายคนอาจมองว่าภาพลักษณ์ของสมุนไพรดูคร่ำครึ เวลาพูดถึงการใช้สมุนไพร บางคนจะรู้สึกว่า โห! แก่จัง” หลีชวนคุยถึงประเด็นนี้ “อีกหนึ่งความตั้งใจของเราก็คืออยากพลิกภาพของสมุนไพรให้ร่วมสมัยขึ้น ให้คนทำงานใช้ได้ วัยรุ่นก็ใช้ได้ ไม่ใช่เรื่องของผู้สูงอายุเสมอไป และเราคิดว่าภูมิปัญญาของไทยมีมากมาย เราสามารถนำสิ่งที่สนใจมาประยุกต์ได้เยอะมาก”

Herbpiness จึงพลิกสมุนไพรเชยๆ ให้น่าใช้ด้วยกลิ่น ด้วยการนำเสนอ และด้วยแพ็กเกจจิ้ง  

“ถ้าให้นึกภาพสมุนไพรแบบโบราณจริงๆ ก็อาจนึกถึงสมุนไพรที่ถูกบดๆ สีดำๆ เราก็คลี่คลายมันซะ ใช้สมุนไพรที่เป็นชิ้นเป็นอัน อย่างตัว aroma botanic roller เป็นน้ำหมักสมุนไพรและดอกไม้ ผสมผสานกับน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติ ตัวนี้เราใส่ดอกไม้เข้าไปข้างใน ด้วยอาชีพเดิมของหลีที่ผ่านการทำกราฟิกมาเยอะ ก็มองว่าการทำแพ็กเกจจิ้งแบบแปะกราฟิกลงไปเฉยๆ เราก็จะเห็นแค่กราฟิกแบนๆ แต่พอเราใส่เป็นดอกไม้จริง ให้ฟอร์มของธรรมชาติเป็นกราฟิกในตัวมันเอง จึงมองได้รอบด้าน มีมิติ ตั้งใจให้เหมือนเราจัดแจงแพ็กเกจจิ้งกันอยู่” 

นอกจากจะได้รื่นรมย์กลิ่นดอกไม้ ยังเพิ่มสุนทรียะทางการมองเห็น หลีบอกว่าแม้ใช้หมดแล้ว ดอกไม้ในหลอดก็ยังคงสภาพอยู่ได้ด้วยกรรมวิธีผลิตเช่นเดียวกับที่คนสมัยโบราณนำจำปามาดองเพื่อถนอมดอก

aroma botanic roller ที่หลีเอ่ยถึง เธอตั้งใจให้เป็นกลิ่นดอกไม้บำบัดเพื่อบรรเทาความเครียดโดยตรง 3 กลิ่น ใช้ดอกไม้ต่างชนิด แต่จับคู่ด้วยสีและสรรพคุณ กลิ่นแรกคือ pink prink กุหลาบมอญและพวงชมพู ให้เซนส์หวานธรรมชาติ ดมแล้วรู้สึกเบิกบาน ส่วนสีม่วงครามคือดอกลาเวนเดอร์และอัญชัน ช่วยให้จิตใจสงบ คลายจากความเครียด จึงใช้ชื่อว่า kram calm สุดท้ายคือสีเหลืองจากดอกกระดังงาและดาวเรือง ในชื่อ gold glow กลิ่นจรุงช่วยปรับสมดุลทางอารมณ์  

“หลีเป็นคนคิดคอนเซปต์นี้ คุณแม่ก็แนะนำว่ามีดอกไม้ชนิดไหนที่ไปด้วยกันได้ เช่นกุหลาบมอญกลิ่นหอมมากนะ ลองสกัดดูไหม กระดังงาหอมชื่นใจนะ ดอกประดู่ก็ทั้งสวยและหอม ดอกประยงค์นี่ขึ้นชื่อเลยนะว่าหอมไกล ปลูกไว้หน้าบ้าน เดินไปถึงหลังบ้านยังได้กลิ่นเลย แม่เป็นคนแนะนำว่าดอกไม้แต่ละตัวเป็นยังไง เพราะแม่สัมผัสกับดอกไม้มาค่อนข้างมาก” 

นี่คือหนึ่งคอลเลกชั่นที่ลูกค้าให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะนอกจากสรรพคุณและกลิ่นหอม ยังเล่นด้วยการจับคู่สีดอกไม้ เล่นกับชื่อกลิ่น หลอดกะทัดรัดน่าพกไว้ใช้ โชว์ฟอร์มดอกไม้ วางไว้ก็ดูสวย 

 

ร้อนปุ๊บ ฉีดปั๊บ ให้สมุนไพรเป่าไล่ความร้อน

ดึงสรรพคุณของสมุนไพรและดอกไม้มาใช้ ชูกลิ่นหอมอย่างเป็นธรรมชาติ นำเสนอแพ็กเกจจิ้งให้น่าหยิบจับ ทุกองค์ประกอบของ Herbpiness ปรากฏชัดอยู่ในผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ล่าสุด herbal cooling spray สเปรย์สมุนไพรเย็นที่ขอเป็นตัวช่วยให้คนไทยหายร้อน

“ประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อน เชียงใหม่ยังร้อนเลย หลีคิดไปถึงว่าเวลาเราไปข้างนอก เราต้องผจญมลภาวะอะไรบ้าง หนึ่งเลยคือความร้อน เราจึงใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น แบ่งเป็น 2 กลิ่น คือ ตะไคร้หอมและเปปเปอร์มินต์ กับลาเวนเดอร์และยูคาลิปตัส ความเย็นที่ได้คือเย็นจากตัวสมุนไพร อย่างยูคาลิปตัสมีความเย็นในตัวเองอยู่แล้ว หรือเปเปอร์มินต์ก็ช่วยเรื่องความเย็นสดชื่นได้ดี 

“โปรดักต์ตัวนี้จึงตั้งใจทำให้เป็นเอาต์ดอร์สเปรย์ เป็น survival kit ออกไปข้างนอกแล้วพกขวดนี้ขวดเดียวก็รอดได้ อ่ะ ร้อนเหรอ ฉีดตามร่างกายหรือข้อพับให้เย็นขึ้น ตกกลางคืนหรือไปอยู่ในที่ที่มียุง ก็ฉีดกันยุงได้ถึง 2-3 ชั่วโมง เพราะเราใช้สมุนไพรอย่างตะไคร้หอมและลาเวนเดอร์ที่ป้องกันยุงและแมลงได้ด้วย แถมยังช่วยให้ผ่อนคลาย หรือออกไปข้างนอก ไปเจอมลพิษ อยู่ในที่ที่เสี่ยงต่อแบคทีเรีย ก็ฉีดๆ ลูบๆ ตามแขนขา สามารถป้องกันแบคทีเรียได้”

ในขวดสเปรย์ใส สวย สะอาด กลิ่น lemongrass + peppermint มีตะไคร้หอมสีส้มอมชมพูเต็มเรียวใบลอยอยู่ข้างใน ขณะที่กลิ่น lavender + eucalyptus ปักดอกลาเวนเดอร์เข้าไปในขวด ตรงกับความต้องการของเจ้าของแบรนด์ที่อยากให้สมุนไพรและดอกไม้เป็นกราฟิกให้แพ็กเกจจิ้งด้วยตัวมันเอง และแน่นอนว่าต้องมาพร้อมกลิ่นหอมไม่ด้อยน้อยไปกว่าผลิตภัณฑ์ตัวไหน

ในมุมมองของหลี กลิ่นช่างมีอานุภาพ “กลิ่นมีทั้งกลิ่นที่ดีและกลิ่นที่ไม่ดี ถ้าเราเข้าไปในพื้นที่ที่กลิ่นไม่ดี อาจเป็นบริเวณที่มีขยะหมักหมม เราจะรู้สึกแย่ทันที กลับกัน ถ้าตรงไหนมีกลิ่นที่ดี ก็จะทำให้อารมณ์เราเปลี่ยนเป็นดีขึ้น เหมือนกันกับที่คนชอบไปเที่ยวทุ่งดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม เพราะกลิ่นสามารถ change your mood จากหน้ามือเป็นหลังมือได้เลย สมมติเราเครียดเรื่องงานมาแล้วได้จิบชากุหลาบที่มีกลิ่นหอม เปิดเพลงสบายๆ ฟัง ก็ทำให้อารมณ์และความรู้สึกเปลี่ยน โปรดักต์ที่เราทำมาจากความตั้งใจที่จะ change your mood อยู่ข้างนอกร้อนๆ รู้สึกอารมณ์เสีย ก็ใช้คูลลิ่งสเปรย์ให้รู้สึกเย็นขึ้น และปรับอารมณ์ด้วยกลิ่นหอมๆ”

หลีบอกว่าเสียงตอบรับจากลูกค้าทำให้เธอได้รู้ว่าตนเองบรรลุจุดประสงค์ในการสร้างแบรนด์นี้ 

“เวลาเราไปออกงานแฟร์ ได้เจอลูกค้า ก็ได้ฟีดแบ็กที่ดีเป็นส่วนใหญ่ เคยมีลูกค้ามาบอกหลีว่าห้ามเลิกทำนะ เขาบอกเราว่าใช้แล้วรู้สึกดีขึ้นจริงๆ นั่นเพราะเราเองก็เคยผ่านความรู้สึกเครียดและดีเพรสจากการทำงานประจำมาก่อน เราจึงทำ Herbpiness ด้วยความเข้าใจในลูกค้า การที่ทำให้เขามีความสุขขึ้นก็ส่งผลให้เรามีความสุขขึ้นเหมือนกัน และนี่เป็นธุรกิจที่ทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วย จึงรู้สึกว่าตรงตามคอนเซปต์ของเราแล้วล่ะ คือ breathe in, happiness out เป็นโควตของแบรนด์เราเลย เขาสูดกลิ่นหอมๆ เข้าไปแล้วรู้สึกดี ความสุขก็จะออกมา ตอนที่สูดกลิ่น ข้างในอาจรู้สึกมืดๆ อยู่ แต่พอหายใจออกมา เราจะรู้สึกสว่างขึ้นแล้ว”

คำว่าได้กลิ่นแล้วรู้สึกสว่างขึ้น อาจเป็นนามธรรมอยู่สักหน่อย แต่หากได้ลองสูดกลิ่นสักครั้งจะเข้าใจคำว่าสว่างของเธอได้ทันที

ในฐานะหนึ่งคนที่เคยใช้ เฮิร์บของ Herbpiness เราขอยืนยันว่าช่วยให้แฮปปี้ได้จริงๆ


Herbpiness 

facebook : herbpiness
instagram : HERBPINESS
website : herbpiness.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อย รวบรวมผลงานไว้ที่ pathipolr.myportfolio.com