แกะรอย ‘AQUARIA’ งานสนุกของ Eyedropper Fill ที่พาเราแปลงเป็นแมงกะพรุนออกว่ายในทะเล

AQUARIA คืองาน Installation Art คั้นสดจากมันสมองของ เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และ นัท-นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล แห่งสตูดิโอมัลติมีเดีย Eyedropper Fill งานชิ้นนี้ไม่ต้องการให้ผู้ชมเสพผลงานแค่เพียงดวงตา แต่ยังพาเราและผู้ร่วมสนุกกลายร่างเป็นแมงกะพรุนดีไซน์น่ารักน่าหยิกออกผจญภัยไปใน AQUARIA มหาสมุทรดิจิทัลสุดลึกลับ โดยตัวงานเป็นส่วนหนึ่งของ Sansiri Market Fest ซึ่ง Eyedropper Fill เคยฝากงาน visual สุดประทับใจมาแล้วในโปรเจกต์ Virtual Journey เมื่อปีก่อน

ก่อนการผจญภัยครั้งใหม่จะเริ่ม หลายคนอาจรู้สึกถึงความสนุกซนผ่านแสงสีที่ตกกระทบจอประสาทตา แต่เมื่อเราได้ออกสะกดรอยตามแมงกะพรุนหัวหน้าฝูงอย่างเบสท์และนัท เรากลับพบรายละเอียดที่มากมายเกินกว่าที่ดวงตาเคยบอก

ดึงโลกในจอออกมานอกจอ


เบสท์:
จุดกำเนิดของไอเดีย คือเราสนใจเรื่อง screen หรือหน้าจอ เพราะแบ็กกราวนด์เราทำฟิล์ม ทำมิวสิกวิดีโอ ทำสารคดีมาก่อน เรารู้สึกว่างานจอเกี่ยวข้องกับคนปัจจุบันค่อนข้างเยอะ สังเกตดูว่าทุกวันนี้ทุกคนจะเหมือนมีจออยู่รอบตัว เงยหน้าก็จอโทรทัศน์ ก้มหน้าก็จอมือถือ เราก็เลยอยากทดลองขยับบทบาทตัวเองจากที่สื่อสารกับคนผ่านจอ ให้ออกมาในลักษณะของ space ดู เพราะว่าในจอที่ทุกคนดูก็เหมือนมีโลกอีกโลกหนึ่งข้างหลังจอนั้น ซึ่งเราไม่อยากจำกัดตัวเองว่าเป็นแค่ film maker

นัท: อย่างที่เบสท์บอกว่าเราอยู่โลกของสกรีนซะเยอะ พวกเราก็อยากดึงประสบการณ์ตรงนี้ออกมาข้างนอก แล้วพอเป็นงานพื้นที่ คนก็น่าจะลองเล่นกับประสาทสัมผัสอื่นๆ ด้วย อย่างตากับหูเราก็ใช้บ่อยอยู่แล้ว ดังนั้นเลยตั้งโจทย์กันเองว่าอยากให้คนได้สัมผัส ได้ใช้พื้นที่ร่วมกันด้วย เพราะเดี๋ยวนี้พอมีมือถือ เราก็ติดกับจอจนทำให้ disconnect กับโลกรอบข้าง เราพบว่าสัมผัสของคนยุคนี้มันกลายเป็นแค่การกดไลก์กันและกันแล้วเท่านั้น ก็อยากให้คนออกจากจอมาพบความสนุกใหม่ๆ ที่ไม่ได้มีอยู่แค่โลกใน screen แล้ว สร้างความรู้สึก เป็นที่อยู่ เป็น Visual Installation ที่ไม่ได้เสพได้แค่สายตาอย่างเดียว

เบสท์: อีกแรงบันดาลใจคือ ด้วยโจทย์ที่ต้องทำงานชิ้นนี้ให้กับ Sansiri ซึ่งเขาทำที่อยู่อาศัยให้คน เราก็เลยย้อนกลับไปนึกถึงว่ามนุษย์แต่ก่อนเขาอาศัยอยู่กันอย่างไร จากนั้นก็เริ่มคิดถึงคำว่า บ้าน ซึ่งคำว่าบ้านในยุคเก่าก่อนนั้น จริงๆ อาจไม่ได้มีหน้าเป็นอาคารหลังคาทรงจั่วตามภาพจำทุกวันนี้ บ้าน มันอาจจะเป็นรังดักแด้ ท้องทะเล ปะการัง ก็ได้ หรือว่าแม้กระทั่งมดลูก หรือรังนก ก็เป็นไปได้ และนี่คือแรงบันดาลใจแรกของเรา

ทดลองหาสิ่งมีชีวิตที่ใช่และกลายพันธุ์ได้จริง


เบสท์:
ตอนนั้นก็เริ่มทดลองจากวัสดุใกล้ตัวก่อน เช่น แรกเริ่มเราสนใจเรื่องมดลูกกับอวัยวะของคน ก็เลยเอาแสงยิงเข้าไปในถุงก๊อบแก๊บแล้วก็เอาหลอดปักเข้าไปและเป่าลม แต่ไม่ได้ทำออกมา เพราะว่า…มาลองนึกภาพจบดูว่าสมมติต้องทำเป็น Installation มดลูกใหญ่ๆ แล้วกลุ่มเป้าหมายงานนี้ซึ่งเป็นครอบครัวจูงเด็กๆ มาเดินเล่นในมดลูกก็คงฮาร์ดคอร์ไป จนมาเจอ key visual คนถูกห่อหุ้มด้วยวัสดุคล้ายเยื่อบางๆ เราก็คิดว่า เอ๊ะ! ปกติเราทำงาน installation เราไปติดกับไปยึดกับตัวพื้นที่ตลอด แต่งานนี้ตั้งใจว่าอยากให้งานมันใกล้กับคนมากๆ ก็เลยเกิดคำถามว่าทำไมเราไม่เอางานที่ติดตั้งในพื้นที่จริงมาติดตั้งบนตัวคนไปเลยล่ะ ซึ่งเราว่านี่มันคือจุดเปลี่ยนของเราเลยก็ว่าได้ ซึ่งมันก็ให้รู้สึกของความเป็นบ้าน เหมือนเป็นรังดักแด้

นัท: หลังจากนั้นเราก็รีเสิร์ชเรื่องสัตว์เรืองแสงกับสัตว์ที่มีใยห่อหุ้มไปเรื่อยๆ เช่น พวกหนอน ดักแด้ หิ่งห้อย แต่ถ้าสัตว์น้ำก็นึกถึงแมงกะพรุนกล่องก็ชอบเลย เพราะเป็นสัตว์เซลล์เดียว ซึ่งมนุษย์เองก็เคยเป็นสัตว์เซลล์เดียวมาก่อน และที่น่าสนใจคือมันมีตารอบตัว มีตารอบๆ อวัยวะของมัน และไม่ใช่ตาที่รับภาพแบบเดียวกับตาคนรับรู้ แต่ตาของมันทำหน้าเสมือนเซนเซอร์ที่รับรู้ภาพจากการเคลื่อนไหวและสี ก่อนนำไปพัฒนาต่อในการคิด Visualize ขึ้น

จากก้อนไอเดียสู่ร่างแมงกะพรุน


เบสท์:
จากก้อนไอเดียนี้เราก็นำมาทดลองกับผ้ามุ้ง เพราะเปรียบเสมือนเป็นการจำลองสิ่งที่กระทบตัวแมงกะพรุนนั้นขึ้นมา เราก็พบว่ามันแข็งแรง และทำได้จริง บวกกับมาเจอโจทย์หลักของงาน คือนอกจากต้องทำ installation แล้วเราต้องมีเวิร์คช็อป D.I.Y ซึ่งต้องเกี่ยวโยงกับงานด้วย ก็เลยเป็นที่มาของการมองหาวัสดุใกล้ๆ ตัวที่มีฟอร์มคล้ายๆ แมงกะพรุน จริงๆ ก่อนหน้านั้นเราอยากเล่นกับกระโจมนั่งสมาธิด้วย แต่ก็ฮาร์ดคอร์ไปก็เลยมาดูตัวผ้ามุ้งที่ให้ความรู้สึกเหมือนผิวโปร่งแสง และออกจะใสๆ ของเจ้าแมงกะพรุนกล่องนั่นเอง ส่วนฝาชีมันก็น่ารักดีนะ เพราะว่าเป็นครั้งแรกของเราเลยที่เอาของที่เห็นได้ทั่วไปมาเจอกับงาน installation ที่มัน visual มากๆ ส่วนน้องๆ ในทีมตอนนั้นก็ช่วยกันเย็บชุดแมงกะพรุนเป็นโรงงานนรกกันอยู่ 2 อาทิตย์ (หัวเราะ)

นัท: ช่วงที่ทดลองทำตัวแมงกะพรุนแล้ว เราก็ต้องทำที่อยู่ให้แมงกะพรุนด้วย นั่นก็คือ มหาสมุทร ก็เลือกใช้ผ้ามุ้งมาเล่นเพื่อให้เกิดความโปร่งเบา โปร่งใส พลิ้วไหวเหมือนตัวคลื่นเวลาเราใช้พัดลมเป่าเข้าไป ช่วงนั้นชาวบ้านแถวออฟฟิศก็สงสัยกันว่าเด็กๆ ออฟฟิศนี้ทำอะไรกัน เดี๋ยวก็ควัน เดี๋ยวก็สี (หัวเราะ)

รับรู้โลกกว้างอย่างแมงกะพรุน

เบสท์: พอเราได้ตัวแมงกะพรุนแล้ว ก็เริ่มมาดูเรื่อง visual เรารู้ว่าแมงกะพรุนมันรับรู้โลกด้วยการเห็นแค่สี และรับรู้จังหวะการเคลื่อนไหวรอบตัว ดังนั้นโจทย์เรื่อง visual จึงเป็นอะไรที่ abstract ประมาณหนึ่ง คือจะมีแค่สีและรูปทรงพิกเซลกลมๆ เคลื่อนไหวไปมา แทนที่จะเห็นภาพเป็นตัวเป็นตน ซึ่งเราแบ่งงานภาพออกเป็น 7 ซีเควนซ์ ในเวลา 7 นาที เริ่มจากคนค่อยๆ กลายเป็นแมงกะพรุนกำลังไปในทะเล ผ่านน้ำตื้น ไปสู่น้ำลึก แล้วก็เจอเพื่อนสัตว์น้ำ ฝูงปลานีโม่ เกิดพายุใต้ทะเล คลื่นซัดไปมาจนมาเกยตื้นตื่นเห็นแสงสว่างของวันใหม่ โดยแต่ละช่วงเราก็ทำการรีเสิร์ชสีให้อิงกับสถานการณ์จริง ลดทอนรูปฟอร์มเปิดโอกาสให้คนตีความ และใช้การเคลื่อนไหวที่ตรงกับสภาพแวดล้อม โดยศึกษาจากการสังเกตดูจากของจริง แล้วนำมาออกแบบเป็น Motion Graphic ในโปรแกรม After Effect

นัท: อย่างซีเควนซ์ที่ 5 ที่เหล่าแมงกะพรุนต้องเจอพายุ โดนซัดไปมา รอบตัวเต็มไปด้วยเศษแพปะการังลอยฟุ้ง เราเลยใช้สีพวกใต้ทะเลที่สด ก่อนเจอสายฝนในฉากต่อมาเราก็เลือกสื่อผ่านสีฟ้าและขาว เพื่อให้ความรู้สึกเย็น แต่อาศัยการเคลื่อนไหวของ visual ช่วยให้คนรู้สึกโดนพัดพา ก็ไปนั่งดูเลยว่าเวลาอยู่ใต้น้ำ ฝนตกลงมา ลักษณะจังหวะเม็ดฝนเป็นอย่างไร หรืออย่างผ้าก็มีส่วน ผ้านิ่งๆ มันก็จะคนละความรู้สึกกับผ้าที่โดนลมแล้ว เราก็อยากให้ผ้าเคลื่อนไหวใกล้เคียงคลื่นใต้น้ำ และอยากให้ visual ที่ฉายลงบนผ้าโดนบิดไปด้วย

ดำดิ่งทะเลลึกเพื่อล้วงลึกสัญชาติญาณที่หายไป


นัท:
สุดท้ายแมงกะพรุน และมหาสมุทรมันตอบโจทย์เรื่องการกลับบ้าน มหาสมุทรก็คือบ้านหลังแรกของมนุษย์ ก่อนที่เราจะกลายเป็นคน เราเคยเป็นสัตว์เซลล์เดียว เราว่าก็น่ารักดี คือไม่ต้องใช้ความคิดเยอะ เราใช้ความรู้สึก ใช้สัญชาตญาณเป็นสำคัญ เหมือนสัตว์ก็ไม่ได้มีระบบความคิดซับซ้อนเช่นเดียวกับคน มันก็ทำตามสัญชาตญาณ งานนี้เปิดโอกาสให้ผู้ชมพาตัวเองไปอยู่ตรงไหนในห้องก็ได้ เล่นกับชุด เล่นกับผ้าที่เราติดตั้งไว้อย่างไรก็ได้ หรือจะยืนมองเฉยๆ ก็ไม่ผิด เพราะนั่นคือสัญชาตญาณของเขาที่โต้ตอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า

ก็เลยกลับมาทีเรื่องคน disconnect กับโลกงานนี้จะพาพวกเขากลับสู่โลกอีกครั้ง ซึ่งจริงๆ จอโทรศัพท์มันคือตู้ปลานะ มันคือ Aquarium แล้วเราอยากให้งาน Aquaria เป็นตู้ปลาสเกลใหญ่สเกลขยายที่พอเราเห็น
เราดำดิ่งลงไปกับมันได้เลย

เบสท์: เราว่าซีนที่ดีที่สุดของงานนี้ของแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย และเราว่ามันสนุกเวลาจบรอบแล้วเราได้คุยได้ถามเขา หรือเขาได้ถามตัวเองว่าคุณรู้สึกยังไง ชอบไม่ชอบตรงไหน เราก็อยากปล่อยพื้นที่ให้คนมีตัวเลือกในการเอนจอยกับงานเหมือนเป็นงานของเขาเอง งานนี้ไม่ใช่งานส่วนตัวของเรา อยากให้คนดูเป็นคนช่วยให้งานเราเกิดขึ้นมากกว่า เราพยายามสร้างความท้าทายตรงนี้มากกว่า โดยเฉพาะกลุ่มคนไทย เราอยากรู้มากๆ เลยว่าพวกเขาจะกล้าวิ่ง กล้าเดินไหม อย่างตะกี้เราเห็นฝรั่ง เขาไม่อยู่นิ่งเลย เขาเดินรอบๆ เลย เราว่ามันน่าสนใจเลย เราก็จะเก็บข้อมูลนี้ไปพัฒนาต่อในงานต่อไป

**เดินทางไปพบกับประสบการณ์แปลกใหม่ที่ Aquaria 18 – 19 กุมภาพันธ์นี้ที่ Sansiri Market Fest ณ Habito Mall

Facebook l Eyedropper Fill

ภาพ Eyedropper Fill และ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR