แม้ว่าแบรนด์นี้จะห่างหายไปถึง 3 ปี แต่เมื่อ โจ๊กเกอร์-ฑีฆาวัฒน์ ปัทมาคม ผู้ก่อตั้งเดิมเจอะเจอกับ ต๊อด-อารักษ์ อ่อนวิลัย ศิลปินที่มีความฝันคล้ายๆ กัน คืออยากจะให้ศิลปะกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ พวกเขาจึงร่วมมือกันสานต่อแบรนด์ URFACE ให้กลับมาทำให้วงการศิลปะคึกคักอีกครั้ง ความสนุกของกระเป๋าแบรนด์นี้คือ เราจะตื่นเต้นเสมอเมื่อเห็นว่ามีงานศิลปะของศิลปินคนไหนอยู่บนกระเป๋าบ้าง การกลับมาในครั้งนี้ก็เช่นกัน พวกเขาเปิดตัวกระเป๋ากว่า 20 ลายซึ่งทำงานร่วมทำงานกับศิลปินไทย 6 คนและศิลปินต่างประเทศระดับท็อปอีก 5 คน และอนาคต พวกเขาจะเปิดร้านเป็นของตัวเองอีกด้วย เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ขายของเพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นพื้นที่ให้กับศิลปิน เป็นพื้นที่ให้คนที่สนใจศิลปะ และตั้งใจไว้ว่าวันหนึ่งจะคอยสนับสนุนเด็กรุ่นใหม่ให้สร้างงานศิลปะอีกด้วย
สิ่งที่พวกเขาทำนั้นปลุกความตื่นตัวให้กับศิลปินและยังกระตุกความตื่นเต้นให้กับคนที่ชอบงานศิลปะอย่างเราด้วย พวกเขามีความฝันอะไร และลงมือทำแบบไหน เลื่อนลงไปอ่านเลย
อยากให้ศิลปะจับต้องได้
โจ๊ก: “ไอเดียเริ่มจากเวลาเราไปต่างประเทศ เราจะเห็นแกลเลอรี่หรือพิพิธภัณฑ์เยอะมาก ซึ่งเราเป็นคนชอบดูงานศิลปะ เลยคิดจะนำงานศิลปะมาใส่ในสินค้าสักอย่าง มองไปในตลาดก็เห็นเสื้อผ้าเยอะแล้ว เลยคิดถึงกระเป๋า เพราะมันคือสิ่งที่คนพกติดตัวตลอดเวลา แล้วเด็กนักเรียนชายก็ใส่ชุดนักเรียนเหมือนๆ กัน สิ่งที่แตกต่างกันได้คือกระเป๋าสตางค์ ซึ่งกระเป๋าชิ้นหนึ่งก็อยู่กับเขาตลอดเวลา ความแข็งแรงของไอเดียนี้คือมันจะไม่มีทางตัน เพราะงานศิลปะมันเยอะและหลากหลายมาก เลยเกิดเป็นแบรนด์ URFACE คือเรารู้สึกว่ายังไม่มีใครทำแบบนี้เลย ไอ้ความคิดบ้าๆ บอๆ นี้ไอเดียมันผ่าน มันมีคู่แข่งน้อยในตลาด เราก็ลุยเลย ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วโดยมีผมและตั้ม MAMAFAKA (พฤษ์พล มุกดาสนิท) เป็นผู้ก่อตั้ง แต่หลังจากที่ตั้มเสีย เราก็หยุดทำไปเลย ก็มีหลายเสียงเรียกร้องให้ทำต่อ พอสองปีให้หลังเราเจอต๊อด ได้คุยกันแล้วมีทัศนคติหลายอย่างที่ตรงกัน”
ทำคุณภาพสินค้าให้ดี
โจ๊ก: “พอมาถึงช่วงที่เราจะเริ่มต้นทำอีกครั้ง เราก็คุยกับต๊อดให้ลึกขึ้น เพราะมันมีปัญหาหลายอย่างในเฟสที่แล้ว คือเมื่อก่อนเราไม่ได้ลงลึกกับสินค้ามาก มีไอเดียว่าอยากเอางานศิลปะมาทำเป็นกระเป๋า ช่วงนั้นก็ยังไม่เข้าใจกระบวนการการทำสินค้าขนาดนั้น ยังไม่ได้ตรวจสอบวัสดุที่ใช้ว่าคุณภาพดีไหม ซึ่งทำให้กระเป๋าเฟสแรกมีปัญหาเรื่องสีหลุดลอก เราก็เรียนรู้จากความผิดพลาด ก็คุยกับต๊อดว่า ถ้าเรากลับมามันต้องแข็งแรงกว่าเดิม คุณภาพต้องดี เราต้องทดสอบสินค้าก่อน ตอนที่ลูกค้าซื้อไปแล้ว เราอยากให้เขาภูมิใจที่ได้ใช้ ดังนั้นอุปกรณ์จำพวกห่วง ซิป หรือโซ่ เราก็นำเข้าจากญี่ปุ่นเลย ดังนั้นหลังจากเจอกับต๊อด เราก็ช่วยกันพัฒนาสินค้าเกือบปี เพื่อให้ได้สินค้าที่ดีที่สุด”
แบรนดิ้งเป็นเรื่องสำคัญ
โจ๊ก: “ก่อนจะสร้างสตอรี่ให้แบรนด์ คุณต้องมั่นใจว่าสินค้าของคุณเจ๋ง สตอรี่มันสามารถโม้ไปได้อยู่แล้ว แต่เดี๋ยวนี้ลูกค้าเก่งและฉลาด ดังนั้นไม่ต้องไปโกหกลูกค้าหรอก แต่ต้องทำสินค้าให้ดี มีคุณภาพจริงๆ
เพราะถ้าของคุณดีจริง คุณก็เล่นสนุกกับสตอรี่ของแบรนด์ได้เยอะ”
“ด้วยความที่เราหายไปนาน 3 ปี สิ่งที่แรกที่ต้องการคือ อยากให้คนจดจำได้ว่าแบรนด์เราทำอะไร หรือมีคอนเซปต์อะไร ซึ่งเราก็กลับมาแบบไม่ธรรมดาด้วยนะ เลยเป็นที่มาของคอนเซปต์ ‘URFACE is back, URBACE is bag’ คือกลับมาแล้วคนจำได้เลยว่า URFACE มันแรง มันเจ๋ง เราอยากสร้างคาแรกเตอร์ของแบรนด์ใหม่ให้เป็นแบรนด์สนุก กวนประสาทหน่อยๆ ดังนั้นคอลเลกชันแรกที่ออกมาหลังจากหายไป 3 ปีคือบ้าทำกับศิลปิน 10 คนคือศิลปินไทย 5 คนแล้วก็ศิลปินต่างประเทศอีก 5 คน (สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย แล้วก็ฮ่องกง) รวมต๊อดอีกหนึ่งคน แต่ละคนที่เราทำงานด้วยก็เป็นศิลปินดังๆ ทั้งนั้น ผลงานที่ศิลปินส่งมาก็มีมากกว่า 1 ชิ้น ดังนั้นเราจึงมีงานเยอะมากกว่า 20 ลาย ตอนที่เราเปิดตัวมันเลยมีฟีดแบ็กที่ดี หลายคนบอกว่า บ้าหรือเปล่า ทำไมทำออกมาเยอะขนาดนี้ แต่ความสำคัญที่เราตั้งใจคือคนต้องจำได้ แล้วรู้สึกว่าเรากลับมาจริง กลับมาแรง แล้วทุกอย่างมันคิดใหม่หมดเลย”
เรียนรู้จากการแก้ปัญหา
โจ๊ก: “มันได้เรียนรู้ความผิดหวัง มันไม่มีทางโรยด้วยกลีบกุหลาบ เราเชื่อว่าทุกแบรนด์ต้องมีปัญหา ขนาดเราเคยทำมาแล้ว มาเริ่มต้นใหม่อีกรอบยังมีปัญหาเลย เรายังบู๊ใส่กันกับพาร์ตเนอร์เลย แต่สุดท้ายการที่เราบู๊ใส่กันก็เพื่อพัฒนาสินค้าให้ดีที่สุด สุดท้ายมันก็มีความสนุกด้วย ความรู้สึกระหว่างทางมันเหนื่อยมาก มีอุปสรรคเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ก็มีอะไรให้เราเรียนรู้อีกเยอะเลย แล้วโมเมนต์แห่งความสำเร็จ เราจะมีความสุขมาก คือมันเจ๋งมากนะที่ได้อยู่ในบรรยากาศแบบนั้น”
ทำงานด้วยความสนุก
ต๊อด: “สำหรับเราคือเป็นความสนุกที่ได้นำงานศิลปะของไทยไปใช้บนผืนผ้า และก็ได้ทำงานร่วมกับศิลปินต่างประเทศหลายๆ คนด้วย”
โจ๊ก: “เราต้องสนุกกับสิ่งที่ทำก่อนเลย แล้วก็มีเป้าหมายเดียวกันกับต๊อดเลย คือถ้ามันสามารถไปต่างประเทศได้วางขายในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก อย่างโตเกียว ลอนดอน ซานฟรานซิสโก นิวยอร์ก แล้วก็ได้ทำงานร่วมกับศิลปินดังๆ จากต่างชาติ เราว่ามันก็มีความสุขมากกว่าคิดว่าจะรวยกว่านี้อีกเท่าไร คือเราคิดว่าแพสชันสำคัญกว่า”
เปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่เสมอ
โจ๊ก: “เราอยากให้ลูกค้าเราจดจำแบรนด์ในทางนี้ คือความสนุก ลูกค้าเขารู้จักจังหวะของการขายของอยู่แล้ว ดังนั้นเราเลยเลือกที่จะสับขาหลอก คิดว่าเมื่อทำงานไปสัก 3 – 4 คอลเลกชัน เราก็จะเปลี่ยนวัสดุของกระเป๋าตามศิลปิน ซึ่งนี่แหละคือความสนุกของแบรนด์ที่เราตั้งใจไว้ เพราะมันสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ตายตัว ที่เราสามารถทำอะไรก็ได้ แล้วลูกค้าก็จะเดาไม่ถูก เพราะเรารู้สึกว่าแบรนด์กระเป๋าในตลาดไม่ขยับเท่าไร ซึ่งเราไม่อยากทำให้แบรนด์ตายตัว อยากจะปรับเปลี่ยนไปได้เพื่อให้แบรนด์มันสนุก ลูกค้าสนุก แล้วเราก็สนุกด้วย ซึ่งเราคิดว่าวิธีการทำแบบนี้จะทำให้เราไม่เฉาด้วย การเปลี่ยนแปลงนี้แบรนด์เราก็ยังมีความแข็งแรง มี DNA ที่ดี เมื่องานมันคือการนำศิลปะมาผสมผสาน ซึ่งเราไม่ได้ขายเลยว่ามันเป็นกระเป๋าไวนิล แต่จะบอกว่ามันเป็นงานศิลปะนั่นแหละ”
หน้าร้านเป็นที่แสดงศิลปะ
โจ๊ก: “เรารู้สึกว่าถ้าไม่มีหน้าร้าน มันจะเล่าตัวตนของตัวเองไม่ชัด เพราะถ้าสินค้าของเราไปรวมอยู่ในร้านที่มีหลายๆ สินค้าด้วย เราก็จะแสดงตัวตนไม่ชัด แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะน้อยกว่า แต่เราไม่สามารถแสดงภาพลักษณ์ของแบรนด์เราได้ คือเราอยากให้ลูกค้ามาสัมผัสกับผลิตภัณฑ์จริง คือหลายคอมเมนต์บอกว่าขอจริงสวยกว่าภาพถ่าย เราก็เลยคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะกระจายไปสู่ภายนอก คือนอกจากเรื่องของสินค้าแล้ว การมีพื้นที่ของตัวเองมันเล่นอะไรได้อีกเยอะมากเลย เล่นกับโปรดักต์ เล่นกับศิลปิน หรือจะทำร้านเป็นศิลปะเลย คือเราไม่อยู่กับที่แน่ๆ คือมันอาจจะมีแฟชั่นโชว์ มีฉายหนัง แต่มันก็กลับมาที่แก่นของเรา คือศิลปะกับสินค้า คือถ้ามีพื้นที่ก็น่าจะสนุกกว่านี้ หรืออาจจะเป็นการโชว์ทีสิสเรียนจบของเด็กนักศึุกษาก็ได้ คือเรารู้สึกว่าอยากจะเข้าไปสนับสนุนเด็กๆ นักศึกษาเหมือนกัน ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นการเข้าไป give ไม่ใช่การ take เพียงอย่างเดียว สิ่งที่เธอออกแบบก็เอามาไว้บนกระเป๋าเรามั้ย คือเราเชื่อว่าถ้าเด็กๆ พวกนี้โตขึ้น เขายังอยู่ในวงการศิลปะ แล้วเขายังเจ๋งอยู่ วันหนึ่งพวกเขาคงจำเราได้ ที่เราเห็นคุณค่าของงานเขา วันนั้น เขาอาจจะมาทำงานกับเราก็ได้ แต่ก็ไม่ได้หวังอะไรหรอก เห็นรอยยิ้มน้องๆ ก็โอเคแล้ว มันเป็นเรื่องแพสชันจริงๆ แต่ธุรกิจก็คือธุรกิจ ซึ่งถ้าเราเดินถูกต้อง มันก็เป็นไปตามแผนของมันอยู่แล้ว คือเราไม่อยากให้ไฟตัวเองมอดด้วย ไม่อยากทำเหมือนเดิมตลอด”
meet the dream makers
facebook | URFACE
ทุกความฝันเป็นจริงได้เมื่อลงมือทำ
โดยวิธีทำของแต่ละคนก็แตกต่างกัน บางคนอาจจะลองผิดลองถูกลุยกับมันสักตั้ง
แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร
อย่างน้อยความฝันก้อนนั้นก็ออกมาเป็นรูปเป็นร่างมากกว่าคนที่คิดฝันเพียงอย่างเดียว
พบหลายความฝันที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้คุณลงมือทำที่ Siam Discovery
ภาพ สลัก แก้วเชื้อ