Ausara Surface : แบรนด์ผ้าทอโลหะของนักเล่นแร่แปรธาตุผู้เชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้

Highlights

  • Ausara Surface คือแบรนด์สิ่งทอจากโลหะและแร่ธาตุต่างๆ สำหรับตกแต่งภายใน ซึ่งถือกำเนิดจากการรวบรวมเอาความรักในสิ่งทอ การทดลอง องค์ความรู้ และประสบการณ์ตลอดหลายปีของผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์ด้านสิ่งทออย่าง ปุ๊ก–จารุพัชร อาชวะสมิต เข้าไว้ด้วยกัน
  • จุดแข็งของแบรนด์นอกจากจะอยู่ที่การควบคุมการผลิตและการออกแบบโดยผู้คร่ำหวอดในวงการสิ่งทอแล้ว ยังอยู่ที่นวัตกรรมการนำแร่ธาตุมาฉีดเป็นเส้น แล้วถักทอเป็นผืนด้วยเครื่องจักรที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับการนี้โดยเฉพาะ
  • Ausara Surface เป็นแบรนด์เดียวในโลกที่ผลิตสิ่งทอในลักษณะนี้ได้ แต่เชื่อไหมว่าจุดเริ่มต้นจริงๆ ของแบรนด์คือผ้าเช็ดหน้า Hello Kitty ผืนเล็กๆ ผืนเดียวเท่านั้นเอง

ถ้าเราบอกว่าอะไรๆ ก็ทอเป็นผ้าได้ คุณจะเชื่อไหม? Ausara Surface

ยังไม่ต้องให้คำตอบตอนนี้ก็ได้ แต่เราอยากชวนคุณไปทำความรู้จักกับนักทอผ้า อาจารย์ด้านสิ่งทอ ที่ปรึกษาด้านผลิตภัณฑ์ให้กับหลายองค์กรใหญ่ และที่สำคัญคือนักทดลองเล่นแร่แปรธาตุ ควบตำแหน่งผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ผ้าทอโลหะ Ausara Surface ที่เริ่มต้นจากการเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ แล้วสร้างสรรค์สิ่งที่หลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ออกมาให้ประจักษ์แก่สายตา

ทั้งหมดนี้เรากำลังพูดถึง จารุพัชร อาชวะสมิต หรือ อาจารย์ปุ๊ก ของเหล่านักศึกษาภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

กี่ทอผ้ามันมหัศจรรย์มาก อะไรก็ตามที่คุณทำเป็นเส้นได้ คุณทอได้หมด” ผู้คร่ำหวอดในวงการสิ่งทอเล่าอย่างอารมณ์ดี

ดีบุก ทองแดง ทองเหลือง บะซอลต์ เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งจากหลากหลายแร่ธาตุที่จารุพัชรนำมาพัฒนาเป็น vertical textile ผลิตภัณฑ์ตกแต่งภายในที่แปลกใหม่ ให้พื้นผิวสัมผัสไม่เหมือนผ้าที่เราเคยคุ้น และมีรูปทรงสวยงามราวกับเป็นงานศิลปะ

ด้วยความสงสัย เราถามจารุพัชรเรื่องกรรมวิธีในการทำงานแต่ละชิ้น เธอเล่าอย่างเรียบง่าย ในความหมายที่ทั้งฟังแล้วเข้าใจง่าย (สมแล้วที่เป็นอาจารย์!) และฟังแล้วดูง่ายดายเหลือเกิน ขัดกับเวลา 1 ปีเต็มที่เธอและทีมงานลงทุนไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชิ้นแรก

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคุยกันนานเข้า เราก็ได้ค้นพบความจริงชวนประทับใจที่ว่า แท้จริงแล้ว Ausara Surface ไม่ได้มีอายุไม่กี่ปีอย่างที่เราเข้าใจ แต่มันค่อยๆ เติบโตอยู่ในตัวจารุพัชรตั้งแต่ตอนที่เธอเริ่มหัดเดินแล้วต่างหาก

จุดบรรจบของงานฝีมือและวิทยาศาสตร์

“เรารู้ตัวตั้งแต่ยังไม่รู้ตัวว่าชอบสิ่งทอ ตอนเด็กๆ คุณยายเป็นช่างเย็บผ้า เป็นครูสอนเย็บผ้า และทำธุรกิจนำเข้าจักรซิงเกอร์ ตอนที่เราอายุ 3 ขวบ เพิ่งเดินได้ เราเห็นคุณยายเย็บผ้า เราก็อยากเล่นบ้าง เลยไปแอบยืนถีบจักร ทุกวันคุณยายจะมาเจอว่าเข็มเย็บผ้าหัก ด้ายก็เป็นปม แต่ไม่รู้ว่าใครทำ เขาก็จะบ่นเป็นประจำ จนวันหนึ่งคุณยายมาเจอเรากำลังถีบจักร ก็เลยจับสอนเย็บผ้า จะได้ทำเป็น จะได้ไม่ทำของคุณยายพังอีก เราก็เลยเย็บผ้ามาตั้งแต่เด็ก ชอบมาตั้งแต่ตอนนั้น นอกจากนี้คุณยายก็สอนถักโครเชต์ ถักนิตติ้งด้วย นั่นเป็นอิทธิพลของคุณยาย

“อิทธิพลอีกทางมาจากคุณแม่ คุณแม่ทำงานเป็นนักวิชาการโรคพืชที่กรมวิชาการเกษตร ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็เลยเอาลูกเข้าโรงเรียนสาธิตเกษตรฯ ตอนเย็นหลังเลิกเรียนคุณแม่จะรับเรามาอยู่ที่ห้องแล็บเพื่อรอคุณพ่อมารับกลับบ้าน ตอนนั้นเรา ป.1 ต้องนั่งรอในห้องแล็บก็เบื่อ เราเห็นคุณแม่ส่องกล้องจุลทรรศน์ดูใบไม้ ก็เลยควักผ้าเช็ดหน้า Hello Kitty ของตัวเองขึ้นมาส่องที่กล้องจุลทรรศน์บ้าง ปรากฏว่าผ้ามันขยายเป็นร้อยเท่าแล้วมันสวยมาก เราได้เห็นว่าเกลียวของตัวผ้าเป็นอย่างไร เห็นว่าสีแดงของ Hello Kitty มันเกาะอยู่แค่ด้านบน ไม่ได้ลงไปถึงเส้นใยผ้า เห็นความมหัศจรรย์ของผืนผ้า เราได้รู้ว่าผ้าที่เราเห็นแบบนี้ มันไม่ใช่แบบนี้ แต่มันมีรายละเอียดมากกว่านั้น ก็เลยคิดในใจว่าอีกหน่อยเราจะเรียนทอผ้าสวยๆ แบบนี้”

ความคิด ทักษะ และปรัชญาในการถักทอ

“ตอนเข้ามหาวิทยาลัย เราเลือกเรียนสาขาวิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพราะนอกจากสอนการออกแบบพลาสติก เฟอร์นิเจอร์ โลหะ ไม้ ที่นี่ก็สอนการออกแบบสิ่งทอด้วย สิ่งสำคัญคือเราได้ฝึกการแปรสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาเป็นโมเดลหรือชิ้นงานจริง งานบางอย่างมันสเกตช์เอาไม่ได้ โดยเฉพาะงาน surface หรือการสร้างลักษณะพื้นผิว มันเป็นเรื่องการทดลอง ทดลองทอแบบนี้ ทดลองขึ้นโครงแบบนี้ ทดลองเคมีแบบนี้ ทุกอย่างกลายเป็นพื้นฐานให้เรารู้จักคิดว่า เฮ้ย ถ้าทำแบบนี้จะได้ผลเป็นยังไง

“ตอนไปเรียนต่อที่ School of Arts, University of Michigan – Ann Arbour เราก็เลือกเรียนสิ่งทอ ได้เรียนกับคุณครูชื่อ Prof. Sherri Smith ครูน่ารักมาก เราเป็นนักเรียนคนเดียวของครู ก็เลยจะได้รับความสนใจจากครูตลอดเวลา (หัวเราะ) ทุกเช้าครูก็จะเดินมาตรวจงาน เขามองปราดเดียวก็รู้ว่าเราทอผิดตรงไหน

“ครูคนนี้ให้ความลับกับเราอย่างหนึ่ง เป็นประโยคเด็ด เป็นปรัชญาเลยล่ะ เวลาอยู่ในสตูดิโอเราก็ทอนู่นนี่นั่นไป ครูเห็นว่าเราชอบทดลอง ชอบใช้โครงสร้างที่ซับซ้อน ครูก็เลยบอกว่า ‘ปุ๊ก คุณรู้ไหม เส้นด้ายมันไม่ชอบถูกบังคับ ถ้าคุณใส่มันไว้ในโครงสร้างลายทอ มันก็จะเรียบตรง เพราะคุณบังคับมัน แต่ถ้าคุณปล่อยมัน ไม่โดนเส้นยืนบังคับ เส้นพุ่งมันก็จะโค้ง’ ประโยคนี้ทำให้เราเข้าใจว่าวัสดุมีความรู้สึก มีธรรมชาติของมัน มันต้องการจะเป็นแบบหนึ่ง แต่เราไปบังคับให้มันเป็นอีกแบบหนึ่ง จริงๆ เส้นด้ายไม่ได้อยากจะตรงแบบนี้ มันอยากจะโค้ง อยากจะเป็นปม แต่เราบังคับมันอยู่

“ครูเปิดประตูให้เรา ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเส้นด้าย แต่เป็นเรื่องของวัสดุโดยภาพรวม เราได้รู้ว่าวัสดุแต่ละอย่างมีคุณสมบัติตามธรรมชาติ มีชีวิต มีความลับของตัวเอง ถ้าเราปล่อยให้วัสดุเป็นไปตามธรรมชาติ มันก็จะเป็นอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราไปบังคับมัน มันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เช่น เหล็ก ถ้าเราเคลือบมัน พอเจอความชึ้นก็จะไม่ขึ้นสนิม แต่ถ้าเราไม่เคลือบ พอเจอความชื้นก็ขึ้นสนิม ในขณะเดียวกัน ถ้าเหล็กโดนความร้อนก็จะเป็นอีกแบบ โดนความเย็น โดนกรด โดนเบส ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เรากลายเป็นคนละเอียดกับวัสดุมากขึ้น เรามองอะไรไม่เหมือนเดิม ไม่ได้มองวัสดุเป็นแค่วัสดุ แต่มองลึกลงไปถึงคุณสมบัติความเป็นธาตุของมัน เรียกได้ว่าประโยคนี้เปลี่ยนชีวิตเราเลย เราเป็นหนี้บุญคุณครูมากในการที่ครูสอนแบบนี้”

ทำเป็นเส้นได้ ก็ทอได้

“จากนั้นเราก็สนใจว่าจะนำวัสดุอื่นๆ มาทอเป็นผ้าได้อย่างไร คือจะเอาวัสดุอื่นๆ มาทำเป็นเส้นได้อย่างไร เพราะกี่ทอผ้ามันมหัศจรรย์มาก อะไรก็ตามที่คุณทำเป็นเส้นได้ คุณทอได้หมด บะซอลต์ ทอง เงิน ทองแดง ทองเหลือง ดีบุก อลูมินัม สเตนเลส แก้ว หนัง ไม้ ดอกไม้ โทรศัพท์ยังทอได้เลย หรือถ้ากี่ใหญ่พอเอามนุษย์ทั้งคนใส่ไปก็ได้ (หัวเราะ)

“กรรมวิธีการทำมันเป็นวิทยาศาสตร์เลยล่ะ โชคดีที่ตอนเด็กๆ เราชอบเรียนเคมี ก็เลยมีความรู้เบื้องต้นว่าอะไรเป็นอะไร แล้วมาศึกษาเพิ่ม ถามผู้รู้ และทำงานร่วมกับวิศวกร พูดให้เข้าใจง่ายคือเราต้องแปลงร่างแร่ธาตุหลายตลบ คือต้องทำให้กลายเป็นของเหลวก่อน แล้วจากของเหลวก็ฉีดออกมาเป็นเส้น จากเส้นทอเป็นผืน จากผืนทำเป็นผลิตภัณฑ์ แต่ในกระบวนแต่ละขั้นเราก็ต้องทดลองว่า แบบไหนจะเหมาะที่สุด เช่น ฉีดเป็นเส้นแบบไหนถึงจะเหมาะกับการใช้ทอผ้า

“นอกจากนี้เราต้องพัฒนาเครื่องจักร ต้องปรับอย่างไรให้มันทำงานกับโลหะแต่ละประเภทได้ ดูความนิ่ม-แข็งของโลหะ ดูเปอร์เซ็นต์การดีดตัว ทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลาในการทำ R&D อย่างผ้าทอล็อตแรกของ Ausara Surface เราใช้เวลา 1 ปีในการทำตัวอย่างออกมาทั้งหมด 9 แบบ เพื่อส่งเป็นสวอตช์ผ้าให้นักออกแบบตกแต่งภายในเลือกดู”

ความมั่นคงและหนักแน่นของการเริ่มต้นธุรกิจในวัย 40

“เราตั้งบริษัทกับพาร์ตเนอร์ชื่อ โชษณ ธาตวากร อดีต CFO ของ Alexander Lamont ซึ่งทำวัสดุตกแต่งภายในแบบหรูหรา พวกเราวางแผนกันชัดเจนตั้งแต่แรกว่าเราจะทำอะไร ไม่ทำอะไร เราจะเอาเงินไปลงทุนกับอะไร ไม่ลงทุนกับอะไร อย่างแรกคือเราจะไม่มีโชว์รูมหรือออฟฟิศจนกว่าจะจำเป็นจริงๆ สอง คือเราจะไม่มีเครื่องจักรหนัก เราจะใช้ supplier โดยเซ็นสัญญาตกลงกันว่าความรู้นี้เป็นของเรา เขาจะไม่ผลิตให้คนอื่น และสาม เราจะไม่เสียเงินในการทำการตลาด สินค้าของเราพูดด้วยตัวของมันเอง เพราะมันก้าวออกไปจากการออกแบบแล้ว มันเป็นนวัตกรรมที่ไม่สามารถมีใครเลียนแบบได้ เราอยู่เฉยๆ แล้วลูกค้าจะมาหาเราเอง

“พวกเราอยู่ในวงการนี้กันมานาน เราไม่ได้ตั้งบริษัทตอนอายุ 20 เราตั้งบริษัทตอนอายุ 40 เพราะฉะนั้นเรารู้ว่าตลาดขาดอะไร ช่องว่างทางการตลาดอยู่ตรงไหน นักออกแบบตกแต่งภายในต้องการอะไร เรารู้ว่าต้องขายอะไร ขายใคร ขายที่ไหน ขายอย่างไร ราคาเท่าไหร่ มันคือการที่เราอยู่ในวงการนานจนเราเห็นหมดแล้ว นี่คือข้อดีของการตั้งบริษัทตอนที่อายุ 40 ก็คือไม่ลองผิดลองถูกแล้ว รู้แล้วว่าต้องทำยังไง ดังนั้นเราไม่เคยมีภาวะขาดทุน เราได้ผลกำไรกลับคืนและสามารถแบ่งปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้นได้ตั้งแต่ปีแรก”

ไม่มีอะไรสูญเปล่าหากเชื่อว่าเป็นไปได้

“ถ้าเป็นไปได้ เราอยากเอาสิ่งที่สวยงามแต่จับต้องไม่ได้อย่างแสงแดด เมฆ ท้องฟ้า มาทอเป็นผ้า แล้วออกมาเป็นม่านลม ม่านแสง และอีกสิ่งหนึ่งที่จับต้องไม่ได้ก็คือพลังงานของมนุษย์ พวกพลังงานเสียง พลังงานความร้อน พลังงานจิต เราสนใจเรื่องแบบนี้ เพราะรู้สึกว่าจริงๆ แล้วคนเราปล่อยพลังงานออกมาทิ้งขว้าง ไม่ถูกนำไปใช้ เราว่าในอนาคตอันไกล โลกจะขาดแคลนถ้าเรายังบริโภคกันอย่างไม่ระวังแบบนี้อยู่ เราจะไม่ค่อยมีวัสดุใช้ ดังนั้นเราจะไม่มองแค่วัสดุที่เรามองเห็นและจับต้องได้อีกต่อไป เราจะมองพลังงานที่จับต้องไม่ได้ด้วย ทุกอย่างจะมีค่า เราไม่สามารถทิ้งขว้างอะไรได้เลยแม้กระทั่งพลังงานเหล่านี้ อย่างใน The Matrix ที่หุ่นยนต์หลอกคนให้อยู่ในความฝัน แล้วเอาความร้อนที่ออกมาจากตัวเราไปขับเคลื่อนเครื่องจักร

“อย่าคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้นะ ในอนาคตถ้าเทคโนโลยีมาถึง เราก็คงจะทอม่านพลังงานได้ เพราะถ้าเรามัวแต่คิดอยู่ในกรอบ เราคงไม่มีผ้าทองแดง ผ้าดีบุก ผ้าบะซอลต์ อย่าไปตั้งคำถามว่ามันจะเป็นไปได้หรือเปล่า แต่คิดและเชื่อว่ามันเป็นไปได้”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย