Friday People : แบรนด์เสื้อผ้าจักรยานที่ออกแบบอย่างเข้าใจผู้ใช้ทุกคน

เมื่อ 5 – 6 ปีที่แล้ว กระแสการปั่นจักรยานในไทยได้รับความนิยมมาก ขนาดที่ว่าในปี 2554 ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่าเรานำเข้าจักรยานและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับจักรยานเฉลี่ยเดือนละประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยอดรวมทั้งปีมีมูลค่าสูงมากถึง 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3 พันล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นความตื่นตัวด้านการปั่นจักรยานกันมากจนน่าประหลาดใจ

เมื่อมีความต้องการจากผู้บริโภคสูงขนาดนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการปั่นจักรยานในบ้านเราจึงเติบโตและเกิดการแข่งขันในตลาด ช่วงนั้นมีกลุ่มนักปั่นในเมืองปรากฏตัวให้เห็นตามท้องถนนบ่อยครั้ง แต่ถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับทุกแวดวง เมื่อกระแสแพร่หลายได้ ก็มีวันซบเซาลงได้จากปัจจัยหลายด้าน เช่น ขาดนโยบายสนับสนุน ขาดกิจกรรมกระตุ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว มิหนำซ้ำในปีนี้ ประเทศที่มีอุตสาหกรรมจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรปกลับมีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 15 ภาพรวมของวงการนักปั่นทั่วโลกจึงได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน

แต่ในขณะที่กระแสการปั่นเริ่มถดถอย เมื่อ 3 ปีที่แล้ว สองหนุ่มเพื่อนซี้ โจ้-อมร ขันติธรรมากร หนึ่งในหุ้นส่วน Sealee Urban ร้านจักรยานไลฟ์สไตล์บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และ เชษฐ์-กุลเชษฐ์ ชลทรัพย์ เจ้าของกิจการเสื้อผ้าผู้หญิงที่ทำร่วมกับภรรยานาน 7 ปี กลับหันมาจับมือกันทำเสื้อผ้าไลฟ์สไตล์ผสานฟังก์ชันสำหรับการปั่นจักรยานที่ชื่อ Friday People ขึ้นมา

นี่คือมิติใหม่ของแบรนด์เครื่องแต่งกายวงการนักปั่นไทย ที่มีจุดยืนเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเสื้อผ้าปั่นจักรยานกับเสื้อผ้าสวมใส่สบายและดูดีในชีวิตประจำวัน ด้วยความที่โจ้เป็นนักปั่นและเชษฐ์เป็นนักทำเสื้อผ้าเป็นทุนเดิม เลยมั่นใจว่าตัวเองสร้างสรรค์สินค้าคุณภาพ ด้วยปณิธานการปลูกปั้นธุรกิจเสื้อผ้าสำหรับคอจักรยานในช่วงขาลงของธุรกิจ เราจึงประทับใจความกล้าและสะดุดตากับภาพลักษณ์สินค้าอันทันสมัย รวมถึงการวางจุดยืนที่ต่างไปจากแบรนด์เสื้อผ้าจักรยานอื่นๆ ในท้องตลาดไทย

ความท้าทายอีกประการคือการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับเสื้อผ้าฟังก์ชันที่ต้องการการทดลองใส่ให้เห็นผลจริง แต่โจ้และเชษฐ์บอกเราว่าถ้าได้ลองด้วยตัวเองแล้วจะพบว่าเสื้อผ้า Friday People ช่วยส่งเสริมการปั่นจักรยานในเมืองให้สะดวกสบายพร้อมทั้งดูดีมีสไตล์มากขึ้น ด้วยใจเชื่อว่าถ้าตั้งใจทำเสื้อผ้าที่ตอบโจทย์ตัวเองแล้วมีดี พวกเขาจึงอยากส่งต่อสิ่งดีนี้ให้คนที่ชอบปั่นจักรยานได้มีความสุขทั่วถึงกัน ที่สำคัญ ทั้งสองหนุ่มยังชอบมาเปิดบูทขายเสื้อผ้าและคุยกับผู้อ่าน HUMAN RIDE ที่งาน a day BIKE FEST ไม่เคยขาด

คิดเพื่อเสื้อผ้าปั่นเที่ยวตัวเดียวกัน

เชษฐ์ : “โจ้ปั่นจักรยานมา 6 ปี และเปิดร้านจักรยาน Sealee Urban มา 5 ปี เขารู้ความต้องการด้านฟังก์ชันเสื้อผ้าของคนขี่จักรยาน ส่วนผมอยู่ในธุรกิจเสื้อผ้ามานาน ทั้งออกแบบและตัดเย็บเอง เข้าใจเรื่องตลาดและกระบวนการผลิต”

“โจ้มาคุยว่า ปัจจุบันตลาดเสื้อผ้านักปั่นมีแต่เสื้อผ้ารัดๆ ถ้าอยากใส่แบบลำลองจะมีแต่เสื้อผ้าทั่วไป เขาเลยมองหาเสื้อผ้าที่อยู่กึ่งกลางของสองสิ่ง ซึ่งต้องมีฟังก์ชันสำหรับการระบายเหงื่อ ฟังก์ชันสำหรับการปั่น และต้องใส่ไปเที่ยวหรือใส่ออกมาใช้ชีวิตได้เหมือนเสื้อผ้าทั่วไป เลยมาคุยกันเรื่องส่วนผสมเสื้อผ้า เกิดเป็นโปรเจกต์ Friday People ตั้งแต่ปลายปี 2014 ที่เราเปิดคอลเลกชันแรก จากวันนั้นเราทำแบรนด์มา 3 ปีแล้ว”

โจ้ : “ผมเข้ามาทำเสื้อผ้าเพราะเราอยู่ในวงการจักรยานแล้วรู้สึกว่าสินค้าที่ต้องการหาซื้อไม่ได้ ชุดปั่นจักรยาน ถ้าไม่เป็นชุดกีฬาจะเป็นเสื้อผ้าใส่เที่ยวที่เข้ารูปเกินไป ใส่ปั่นได้ก็จริง แต่มาเดินข้างนอกไม่ค่อยเหมาะ บวกกับเราเป็นสไตล์ปั่นเที่ยวเมือง ปั่นไป แวะดูสถานที่ และหาของอร่อยกินไป บางทีเราใส่ชุดปั่นจักรยานถ่ายภาพหรือคนเห็นเราก็รู้สึกเคอะเขิน เพราะชุดจักรยานแนบเนื้อขึ้นมา ผมจะไม่ค่อยมั่นใจสรีระของตัวเอง อาจมีพุงออกบ้าง ถ้าปั่นจักรยานแข่งตามงานก็โอเคเพราะแต่งชุดเหมือนกัน แต่พอปั่นในเมือง เวลาขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส ชุดจัดเต็มอยู่คนเดียว เหมือนเราเป็นคนโดดเดี่ยวอยู่บนโลก พอใส่ชุดไปเที่ยว บางทีปั่นเยอะไม่ได้เพราะไม่ถนัด ต้องเปลี่ยนชุดบ่อยๆ ทำให้เสียเวลามาก เราอยากทำชุดที่ตอบโจทย์ทั้งสองอย่างแล้วไม่ต้องคอยเปลี่ยนบ่อยๆ ด้วย”

คิดเพื่อ Friday People

โจ้ : “ชื่อแบรนด์เกิดจากการที่ผมและกลุ่มเพื่อนเจอกันทุกวันศุกร์ เรามีกิจกรรมร่วมกันเยอะมาก ทั้งทำงาน ปาร์ตี้ และคุยเล่น ตัวผมเป็นคนชอบปั่นจักรยานมาก พอคุยกับเชษฐ์เกี่ยวกับปัญหาเสื้อผ้าของคนปั่นจักรยาน เราเลยลงมือทำแบรนด์เสื้อผ้าที่ตอบโจทย์คนกิจกรรมเยอะ แล้วคนรักวันศุกร์แบบพวกเราเลยเลือกใช้ชื่อแบรนด์ว่า Friday People เพื่อสะท้อนตัวตนของตัวเอง และคนที่มีไลฟ์สไตล์แบบเราด้วย”

เชษฐ์ : “เราตั้งใจทำเสื้อผ้าสำหรับทั้งการเวิร์กและเพลย์ ซึ่งเป็นช่องว่างของตลาดที่เข้าไปเติมเต็มความต้องการตรงนี้ได้ ผมมองว่ามีคนต้องการตรงนี้ แล้วเราไปตอบโจทย์ที่ไม่เหมือนใคร เพราะฉะนั้นเมื่อตัวเลือกน้อยกว่าคู่แข่งเลยน้อยตาม ผมอยากให้ Friday People เป็นเสื้อผ้าที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้ชายที่กิจกรรมเยอะๆ ได้”

โจ้ : “ไม่ใช่เน้นแค่กลุ่มนักปั่นอย่างเดียว แต่ถ้างานที่ต้องใส่เสื้อผ้าลุยในชีวิตประจำวันก็ต้องใช้ได้ เพราะเราเจาะกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ หรือทำงานกลางแจ้ง งานออกกองเยอะๆ งานตากล้อง งานที่อาศัยความคล่องตัว มีลูกค้าอย่างคุณหมอ ข้าราชการ ตำรวจ และอีกหลายอาชีพที่ใส่แล้วโอเค”

คิดเพื่อนักปั่นจักรยานแบบไหนก็ใส่ได้

โจ้ : “เสื้อผ้าของเราใส่ปั่นจักรยานได้ทุกแบบ แต่ที่เน้นเป็นพิเศษคือการปั่นในเมือง ไม่ใช่แค่ใส่ปั่นจักรยานนะ สมมติออกไปเที่ยวอยู่ดีๆ แล้วเพื่อนเกิดปุบปับชวนไปตีแบต เราก็ไปได้ แต่ถ้าเป็นสายปั่นจริงจังอาจเลี่ยงการใส่ชุดกีฬาไม่ได้ เพราะต้องใช้ปั่นเพื่อทำความเร็ว ตรงนั้นจะไม่ใช่กลุ่มค้าเราโดยตรง”

เชษฐ์ : “เราเอาไลฟ์สไตล์จักรยานเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเสื้อผ้า ต่อจากนั้นก็พัฒนาเป็นเสื้อผ้าของกีฬาอื่นๆ แต่ถ้าไม่ใส่ปั่นจักรยาน คนทำงานเหงื่อเยอะก็ใส่ได้ เพราะเราทำดีไซน์เรียบๆ เน้นสีหลักง่ายๆ อย่างสีเข้มและสีอ่อน ใช้ผ้าแห้งเร็ว โดยปกติเสื้อเชิ้ตทั่วไปเหงื่อออกแล้วผ้าจะแนบเนื้อ ซึ่งจะดูไม่ดีสำหรับคนทำงาน แต่เชิ้ตของเราแก้ไขปัญหาจุดนี้ได้”

คิดเพื่อฟังก์ชันระบายเหงื่อ

เชษฐ์ : “ตัวผมไม่ได้ปั่นจักรยาน แต่เป็นคนเหงื่อเยอะ ฟังก์ชันสำหรับการระบายเหงื่อเป็นฟังก์ชันที่อยากได้โดยส่วนตัว เพราะเวลาใส่กางเกงขาสั้นทั่วไปเหงื่อจะซึมเหนอะหนะหน้าขา ผมเลยเลือกใช้ผ้ากีฬาทำกระเป๋ากางเกง ตัดเย็บจากขอบเอวลงมา ทำให้ใส่แล้วโอเค ซึ่งตรงนี้เป็นการพยายามหาจุดเล็กจุดน้อยที่ตลาดเสื้อในปัจจุบันไม่ได้ลงรายละเอียด”

โจ้ : “อย่างเสื้อเชิ้ตหรือเสื้อโปโล เราทำรายละเอียดเฉพาะในปกเสื้อเพราะบางคนเหงื่อเยอะ ตรงคอเสื้อจะเหลือง เลยใช้ผ้าระบายเหงื่อและผ้ากีฬาสีดำ ส่วนแบรนด์กีฬาโดยตรงเขาจะใช้พวกผ้าที่ฟังก์ชันจ๋าๆ อย่างผ้าโพลีนพลิ้วๆ ซึ่งใส่ได้บางโอกาส แต่ของเราพยายามทำให้รูปทรงใส่ได้ในประจำวัน”

เชษฐ์ : “ผ้าที่เราใช้ทอทั้งสองด้าน ด้านในเป็นผ้ากีฬาไมโครโพลีเอสเตอร์ ด้านนอกจะทอด้วยคอตตอน ใส่แล้วเย็นสบายกว่าโปโลทั่วไป มีลูกค้าที่ซื้อเสื้อไปใส่ตีกอล์ฟ เพราะรูปลักษณ์ดูลำลอง ตีกอล์ฟเสร็จแล้วไปทำธุระต่อได้เลย”

คิดเพื่อฟังก์ชันเสียบแว่นตา

เชษฐ์ : “เราเป็นคนชอบใส่แว่น เพราะฉะนั้นเสื้อของเราจะมีหูเสียบแว่นโดยเฉพาะ เพราะปกติถ้าจะเสียบหน้าสาบเสื้อแล้วแว่นหล่น เลยทำหูช่องเสียบให้กระชับ ไม่ต้องกลัวร่วง”

โจ้ : “นอกจากช่องเสียบแว่นตาบนเสื้อเชิ้ต เรายังแบ่งรูเพื่อใส่แว่น และมีการแบ่งเป็นรูใส่โทรศัพท์ไปด้วย จะได้สะดวกเวลาเคลื่อนตัวเร็วๆ”

คิดเพื่อให้ของในกระเป๋ากางเกงไม่ร่วงหล่น

โจ้ : “เราคิดมานานแล้วว่ากางเกงทั่วไปทรงกระเป๋าตื้นมาก ใส่แล้วนั่งจะหล่นง่าย เลยดีไซน์ให้กระเป๋าลึกๆ เพื่อให้ใส่ของง่าย ใส่ได้จำนวนมากกว่าปกติ มีช่องกระเป๋าซิปที่ใส่มือถือได้ ป้องกันมือถือและของหล่นระหว่างปั่นจักรยาน”

คิดเพื่อฟังก์ชันเป้ากางเกงยืดหยุ่น

โจ้ : “เสื้อผ้าทั่วไปพอเราใส่ออกมาปั่นจะแบบเข้ารูปทำให้ยกแข้งขาไม่ได้ ตอนนั่งยองต้องค่อยๆ ลุก ถ้าขยับเร็วเป้าขาดจะขาด ทำให้ต้องกังวลเรื่องรั้งเป้า แต่กางเกงของเรารูปร่างไม่ต่างจากชุดทั่วไป แต่เป้าจะออกแบบให้มีความยืดหยุ่น เวลาใส่ไม่ต้องคอยระวังว่าจะขาดไหมเพราะเป็นผ้ายืด ช่วย 2 ส่วน ส่วนหนึ่งจะช่วยให้เคลื่อนไหวได้สะดวก อีกส่วนคือการระบายอากาศ”

คิดเพื่อฟังก์ชันปรับกระชับเอว

โจ้ : “กางเกงของเรามีแถบปรับเอว บางคนปั่นจักรยานแล้วขาจะใหญ่ขึ้น ต้องใส่กางเกงอัพไซส์ขึ้นไปเพื่อให้ใส่ต้นขาได้พอดี เขาต้องหากางเกงหลวมๆ มาใส่เพื่อให้ใส่ขาลงไปได้ แต่จะเกิดปัญหาไม่พอดีเอว เราก็เลยใช้ฟังก์ชันปรับลดเอวตามสะดวก เพื่อให้เกาะเอวตามปกติ แต่ขาไซส์ไหนก็ใส่ได้”

เชษฐ์ : “อย่างผมเองไม่ปั่นจักรยาน แต่เวลาออกไปกินเหล้ากินเบียร์ วันรุ่งขึ้นเราจะอ้วนขึ้นนิดหนึ่งเราก็จะปลดล็อกเพื่อปรับขนาดเอวให้พอดีได้ จะช่วยตอบโจทย์คนไม่ชอบใส่เข็มขัดด้วย”

คิดเพื่อนักปั่นสายกลางคืน

โจ้ : “สำหรับคนที่ชอบปั่นจักรยานตอนกลางคืนหรือจำเป็นต้องปั่นตอนค่ำ เสื้อผ้าของเรามีแถบสะท้อนแสงเพื่อช่วยให้คนที่ขับรถบนท้องถนนเห็นว่าเรากำลังปั่นอยู่ด้วย อย่างเสื้อโปโลจะซ่อนแถบนี้ไว้ตรงปก ถ้าจะใช้ก็พับขึ้นมา แต่ถ้าเป็นช่วงกลางวันก็ใส่เหมือนเสื้อผ้าปกติได้เลย”

คิดเพื่อคนกลุ่มเล็กๆ

โจ้ : “นอกจากแพสชันของเราที่คิดทุกอย่างจากปัญหาของตัวเองซึ่งเป็นฟังก์ชันที่ผมต้องการแต่ในท้องตลาดไม่มีให้ การพัฒนาเสื้อผ้าอีกส่วนมาจากฟีดแบ็กจากคนปั่นด้วยกัน ข้อดีของแบรนด์ขนาดเล็กอย่างเราคือใกล้ชิดกับลูกค้ามากกว่าแบรนด์ใหญ่ๆ ทำให้แก้ไขและพัฒนาได้ทันที กว่าจะมาถึงรุ่นที่วางขายตอนนี้ เราพัฒนามา 4-5 รุ่นแล้ว ค่อยๆ ปรับและพัฒนาเรื่อยๆ เน้นให้คนไทยซึ่งอยู่ในเมืองร้อนใส่”

“ตอนแรกผมวางไว้ว่าลูกค้าเราคือคนกลุ่มอายุ 24 – 35 ปี แต่พอจำหน่ายจริง อายุของลูกค้าส่วนมากเริ่มที่ 30 กว่าขึ้นไปจนถึง 55 ปี คนที่ซื้อเสื้อผ้าเราเลยเป็นผู้ใหญ่ที่เขาคำนึงถึงฟังก์ชันมากกว่าดีไซน์”

เชษฐ์ : “โจ้จะป้อนฟังก์ชันมาให้ว่าลูกค้าแต่ละกลุ่มอยากได้อะไร ผมจะคุยกับดีไซเนอร์ พยายามหาผ้าและดีไซน์แบบใหม่ คอยติดตามเทคโนโลยีดีๆ เข้ามาปรับใช้ โดยจะเน้นการใช้ผ้าโปโล ผ้าแห้งเร็ว ผ้าเชิ้ต และผ้าสแปนเด็กซ์ สี่กลุ่มหลักใหญ่ๆ มีรายละเอียดที่ต่างจากเสื้อผ้าทั่วไป 2 เรื่องคือวัตถุดิบ เสื้อผ้าทั่วไปเน้นแฟชั่น แต่เราเน้นวัตถุดิบเนื้อผ้าที่ตอบโจทย์ชีวิตลุยๆ ซึ่งในตลาดค่อนข้างน้อย เรื่องที่สองคือช่างตัดเย็บทั่วไปจะไม่เข้าใจรายละเอียดว่าต้องเย็บยังไง แต่เราใช้ช่างและนักออกแบบที่เชี่ยวชาญจริงๆ”

โจ้ : “ตอนแรกเราคิดว่านักปั่นที่ซื้อสินค้าเราจะมีแค่คนในเมืองใหญ่ แต่ความจริงเรามีลูกค้าตามต่างจังหวัดที่เขาเลือกเพราะฟังก์ชันแล้วถูกใจสินค้าเยอะมาก ผมแปลกใจเหมือนกันเพราะคนต่างจังหวัดตัดสินใจซื้อเสื้อผ้ากางเกงราคาหลักพันโดยไม่เคยลอง ไม่เคยจับผ้ามาก่อน แต่เขาไว้ใจและกล้าลองซื้อของบนตลาดออนไลน์มากขึ้น”

คิดเพื่อก้าวข้ามอุปสรรค

เชษฐ์ : “ความยากของการทำแบรนด์นี้คือการคัดเลือกผ้า ถึงแม้ผ้ากีฬาในตลาดมีเยอะ แต่เราต้องการผ้ากีฬาที่ดูไม่กีฬา”

โจ้ : “เพราะเราตั้งใจทำให้เสื้อผ้าเหมาะกับทุกไลฟ์สไตล์ ปัจจุบันลูกค้าเราก็โตขึ้น ไม่ใช่แค่กลุ่มคนปั่นจักรยาน แต่เพราะฟังก์ชันคิดมาเพื่อช่วยให้คนใส่รู้สึกดี โดยเฉพาะคนที่อยากตัวแห้งสบาย เสื้อไม่เปียกและดูเนี้ยบได้ตลอดเวลา”

เชษฐ์ : “อุปสรรคที่เรามีคือการนำเสนอสินค้าให้เห็นคุณสมบัติทุกอย่าง เราเป็นสินค้าฟังก์ชันขายบนพื้นที่ออนไลน์ ถึงเราถ่ายรูปสินค้าสวยและพยายามอธิบายรายละเอียดเสื้อผ้าแค่ไหน ใช่ว่าคนเห็นแล้วจะเข้าใจ เลยตั้งใจพยายามออกบูททุกปีเพื่อออกไปคุยกับลูกค้า ให้ลูกค้าได้ทดลองใส่จริง ลองใช้จริง เกิดการบอกปากต่อปากแล้วนำไปรีวิวอีกต่อ เพราะถึงขายออนไลน์ยังไงก็ไม่รู้สึกจริงเหมือนได้จับด้วยมือตัวเอง”

โจ้ : “ทุกวันนี้การตลาดบนโลกออนไลน์เปลี่ยนเร็วจริงๆ แค่เฟซบุ๊กอย่างเดียวผ่านมาสามปี ตอนนี้ระบบเปลี่ยนวิธีการให้คนเห็นโพสต์เราน้อยลง เราต้องปรับตัวให้ไวและทำการบ้านกันหนักขึ้นมากๆ นอกจากจะมีเฟซบุ๊กไว้สื่อสารกับลูกค้า เราก็มีไลน์ เผื่อลูกค้ามีปัญหาอะไรเราก็จะช่วยแก้ไขและตอบข้อสงสัยได้ตลอดเวลา”

คิดเพื่อความสุขของทุกคนในทุกๆ วัน

โจ้ :“ความสุขของเราคือได้ฟีดแบ็กกลับมาว่าเขาแฮปปี้ ใส่แล้วสบาย มันเป็นแรงขับเคลื่อนให้เราอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป เราอยากให้เสื้อผ้าของเราเป็นชุดที่เขาใส่ได้ทุกวัน ใส่แล้วมั่นใจ เราเชื่อว่าเขาเห็นคุณค่าความตั้งใจของเรา”

เชษฐ์ : “ผมว่าการทำ Friday People เป็นความสุขเล็กๆ ส่วนตัว เราทำเอง ได้ใส่เสื้อผ้าที่สบายด้วยตัวเอง แต่ความสุขที่ใหญ่กว่าคือคำชมจากลูกค้าและกำลังใจจากลูกค้าที่ได้รับกลับมา มันแสดงให้เห็นว่าเขาคิดเหมือนเรา ใจตรงกับเรา เขาเข้าใจสิ่งที่เราต้องการจะสื่อออกไปในรายละเอียดของเสื้อผ้า นี่คือกำลังใจที่จะทำให้เรายังทำเสื้อผ้าต่อไปเรื่อยๆ”

Friday People

ประเภทธุรกิจ : เสื้อผ้าเพื่อฟังก์ชันและไลฟ์สไตล์
คอนเซปต์ : เสื้อผ้าที่สามารถใส่ไปทำงานได้ ใส่เที่ยวได้ และใส่ทำกิจกรรมได้ตลอดทั้งวัน
เจ้าของ : โจ้-อมร ขันติธรรมากร (อายุ 34 ปี) และ เชษฐ์-กุลเชษฐ์ ชลทรัพย์ (อายุ 36 ปี)
Facebook | Friday People
www.friday-people.com

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR