Bok Bok Bike ร้านจักรยานที่เชื่อเรื่องคุณค่าของการเดินทาง

บางคนอาจไม่รู้ว่า หนึ่งในประเทศที่นักปั่นทั่วโลกชื่นชอบและอยากมาสักครั้งคือประเทศไทย

บ้านเราถือเป็นประเทศใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน มีเส้นทางเชื่อมต่อกับหลายประเทศ อากาศไม่หนาวไม่ร้อนเกินไป มีร้านค้าที่เป็นตัวแทนสินค้าจักรยานชั้นนำหลายแบรนด์ เราจึงมักเห็นนักปั่นหลายชาติใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางการเดินทาง กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดหนึ่งที่พวกเขาหลายคนนิยมปั่นผ่าน

ในกรุงเทพฯ มีร้านจักรยานแห่งหนึ่งที่นักปั่นสาย ‘ทัวริ่ง’ แทบทุกคนต้องแวะ นั่นคือร้านจักรยานชื่อ Bok Bok Bike ถ้าเข้าเพจเฟซบุ๊กของร้าน จะเห็นว่ามีนักปั่นจากรัสเซีย, สาธารณรัฐเช็ก, ออสเตรเลีย, ฟินแลนด์, อินเดีย และประเทศอื่นๆ มาแวะที่ร้านราวกับเป็นศูนย์นักท่องเที่ยวด้วยจักรยาน

เรารู้จัก หมา-ประพฤติ ปาลสาร เจ้าของร้าน มานาน แต่ไม่เคยคุยกับเขาจริงจังเกี่ยวกับร้าน ทำไมเขาถึงยังทำร้าน ในวันที่การทำธุรกิจจักรยานไม่ง่ายดังเดิม ทำไมเขาถึงยังเน้นและเชื่อในการทำจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว ในวันที่จักรยานกลายเป็นกิจกรรมวัฒนธรรมหนึ่ง เขาเห็นอะไรบ้างในฐานะส่วนหนึ่งของการเติบโต

หมาจะเล่าให้เราฟัง

เริ่มจากความชอบในจักรยานและการเดินทาง

จักรยานทัวริ่งคือจักรยานที่ออกแบบเพื่อการเดินทางไกลและนาน ส่วนมากคนใช้จักรยานแบบนี้จะต้องพกสัมภาระไปเยอะๆ จักรยานจึงถูกออกแบบให้ขนของได้โดยที่ไม่เสียสมดุล ปั่นได้ปลอดภัยตลอดการเดินทาง

ในความเป็นจริง การจะใช้จักรยานแบบไหนเดินทางเป็นเรื่องเฉพาะคน แล้วแต่ความชอบ (แต่ถ้าคุณเลือกจักรยานที่ถูกออกแบบมาเพื่อเส้นทางนั้นโดยเฉพาะก็จะปั่นสบายตัวขึ้น) นักปั่นท่องเที่ยวแต่ละคนจะกำหนดระยะทางและเวลาตามชอบ บางคนปั่นแค่วันเดียว บางคนปั่นเป็นปีรอบโลก

Bok Bok Bike เกิดมาในยุคที่คนรู้จักจักรยานทัวริ่งไม่มากนัก ก่อนมาทำร้าน หมายังเป็นเพียงวิศวกรคนหนึ่งในจังหวัดระยอง เขารักการปั่นจักรยาน ความรักค่อยๆ ผลักดันให้เขาเรียนรู้การอัพเกรดและซ่อมจักรยานด้วยตัวเอง จนกระทั่งวันหนึ่งเส้นทางเดิน (และปั่น) ของเขาก็ต้องเปลี่ยนไปด้วยจังหวะชีวิต

“เราลาออกจากงานเพราะอยากกลับมาอยู่กับครอบครัวที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นไม่ได้คิดหรอกว่าจะมาทำร้านจักรยาน แต่ช่วงที่ว่างก็คิดสนุกว่าอยากหารายได้นิดหน่อยเลยเอาของเกี่ยวกับจักรยานมาขายในเว็บไซต์ รับซ่อมจักรยานที่บ้านไปด้วย พอดีตอนนั้นของที่เอามาขายเป็นแบรนด์ดัง เราเลยคิดว่าควรจะมีหน้าร้าน คิดไปคิดมาก็เลยเปิดร้าน Bok Bok Bike ขึ้นมา”

หมาค่อยๆ เริ่มสร้างร้านจักรยานที่ตัวเองอยากให้เป็น ความหลงรักในการเดินทางด้วยจักรยานเป็นแรงบันดาลใจให้เขาทำ Bok Bok Bike เป็นร้านสำหรับเหล่านักปั่นทัวริ่งโดยเฉพาะ

“เราคิดตั้งแต่ตอนเปิดร้านใหม่ๆ เลยนะว่าจะเน้น Touring and Folding (จักรยานทัวริ่งและจักรยานพับ) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากในตอนนั้น เราค่อยๆ มองหาว่าเมืองไทยยังขาดอะไร และเอาสิ่งนั้นเข้ามาในตลาด คนไทยมักคิดว่าจักรยานทัวริ่งใช้แค่เพื่อการปั่นทางไกล แบกกระเป๋าหลายใบ ความจริงยังมีจักรยานแบบกลางๆ ที่ใช้งานได้หลากหลาย เช่น จักรยานแบบ Light Touring หรือ Adventure Touring เราก็ค่อยๆ เอาเข้ามาทีละตัว รวมถึงอะไหล่อย่างขอบล้อ ยาง แฮนด์ ตะแกรง หรือกระเป๋า เราอยากมุ่งมาทางนี้แม้ตอนนั้นจักรยานทัวริ่งในไทยจะเพิ่งเริ่มต้นก็ตาม” หมาย้อนอดีตให้เราฟัง

การทำสิ่งใหม่อาจดูเป็นเรื่องท้าทายและน่าตื่นเต้น แต่ความใหม่นี้ก็มีข้อเสียคือเส้นทางที่กำลังเดินไปไม่มีใครเป็นแม่แบบมาก่อน ปัญหานี้กลายเป็นอุปสรรคและคำถามมากมายในการทำธุรกิจช่วงแรก เขาก้าวผ่านความลำบากนี้ได้แล้วพร้อมบทเรียนที่หยิบติดตัวมาระหว่างทาง

ทำธุรกิจด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและความจริงใจ

หมาไม่ได้ขายแค่จักรยาน แต่ขายความอุ่นใจให้นักปั่นตลอดการเดินทาง

ถ้าใครเคยปั่นจักรยานทางไกลจะรู้ว่าสองข้างทางไม่ได้สะดวกสบาย ไม่มีร้านสะดวกซื้อให้แวะทุกครั้งที่ใจอยาก บ่อยครั้งก็เจอภูมิประเทศที่หลากหลาย มีทั้งวันที่ต้องปั่นตากแดด ดิ่งลงเขาในวันฝนตก หรือปั่นไปในความมืดโดยไม่รู้ว่าจุดแวะพักจะอยู่อีกไกลแค่ไหน

ถ้ามีอุปกรณ์ที่ดี อุปสรรคจะเบาลง หมาซึ่งเป็นนักปั่นรู้ข้อนี้ดี เขาจึงขายของด้วยความซื่อสัตย์ และความน่าเชื่อถือของ Bok Bok Bike เกิดจากการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและจริงใจ

ดูเป็นเคล็ดลับการค้าที่ไม่น่าตื่นเต้น แต่เจ้าของร้านคิดว่าสิ่งนี้สำคัญที่สุด

“สูตรสำเร็จของการทำร้านจักรยานมันไม่ตายตัวหรอก ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับลูกค้าเพราะมันคือความปลอดภัย” หมาตอบเราด้วยสายตาจริงจัง

“ตัวเราเองไม่เชื่อการไปบอกลูกค้าว่า ‘อันนี้ดีนะครับ’ โดยที่เรายังไม่เคยได้ลองใช้มันเลย ที่เราทำคือศึกษาข้อมูลจากนักปั่นทั่วโลก เขาพูดถึงของตัวนี้อย่างไร ทำไมถึงนิยมใช้ เข้าเว็บไซต์ผู้ผลิตเพื่อดูว่าของชิ้นนี้มีดีมีด้อยยังไง หลังจากนั้นเราก็ให้ความรู้กับลูกค้า”

“เราไม่สามารถเอามาขายโดยบอกว่าอันนี้ดีสุดในโลก มันไม่ง่ายขนาดนั้นและไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น เราต้องพูดให้เขาเข้าใจว่าของชิ้นนี้ดีเพราะอะไร ยกตัวอย่างจักรยาน Thorn ที่เป็นจักรยานทัวริ่งอันดับต้นๆ ของโลกแต่เมืองไทยไม่รู้จักเลยและราคาสูงมาก เราจะทำยังไงให้คนรู้จัก Thorn สิ่งที่เราทำคือไปซื้อมาปั่น เราจะตอบได้ว่ามันดียังไง พร้อมเอารูปมาลงและข้อมูลประกอบ เราเชื่อว่ามีคนที่เห็นคุณค่าและคิดว่าคุ้มค่าที่จะจ่าย” หมาตอบเราพร้อมรอยยิ้ม งานล้นมือในวันนี้คงเป็นตัวชี้วัดอย่างดีว่าคำตอบที่เขาคิดนั้นถูกต้องขนาดไหน

นอกจากอุปกรณ์ หมายังชอบเล่าเรื่องสนุกๆ ในการเดินทางบนโลกออนไลน์ โดยมี agenda เล็กๆ ว่าวิธีการเดินทางด้วยจักรยานให้สนุกมีหลากหลาย เช่น คนชอบคิดว่าปั่นจักรยานทัวริ่งต้องปั่นให้ได้เยอะๆ และเร็ว เขาก็เขียนถึงทริปที่พักตามโรงแรมที่ไม่ได้วางแผนไว้ก่อน เพราะเชื่อว่าถ้าเรายืดหยุ่นกับการเดินทางก็จะได้เห็นระหว่างทางมากกว่าการปั่นให้จบวัน บางทริปเขาพกจักรยานพับลงเรือ ปั่นตามรอยเส้นทางที่ถูกพูดถึงใน นิราศเมืองแกลง โดย สุนทรภู่ (ทริปนี้เขาไปกับ กฤช เหลือลมัย นักเขียนผู้รักการปั่นจักรยานตัวจริงอีกคน)

ธุรกิจจักรยานในปัจจุบันเป็นธุรกิจหนึ่งที่เจอปัญหาการตัดราคากันเองระหว่างร้านค่อนข้างสูง หลายร้านจำเป็นต้องเอากำไรน้อยลงเพื่อลดราคาให้เท่ากับตลาด แต่กับร้าน Bok Bok Bike ราคาค่าซ่อมของทางร้านกลับไม่ได้อิงกับราคาตลาดขนาดนั้นเพราะหมาบอกกับเราว่าสิ่งที่เขาให้ค่ามากกว่า คือคุณภาพของงาน

“วันที่เปิดร้าน เรารู้ว่าธุรกิจจักรยานไม่ง่ายเลย จะทำยังไงให้อยู่ยั่งยืนได้ เรามีคำตอบกับตัวเองอีกข้อหนึ่งคือ จงทำให้ดี ดีคือมีคุณภาพ ขายของที่มีคุณภาพ ดูแลอย่างมีคุณภาพ ซ่อมแซมแบบมีคุณภาพ ราคาสูงนะแต่เราจะทำให้แบบดีๆ เลย รวมถึงการสอนให้เขาได้ซ่อมจักรยานอง เพราะเวลาไปทัวริ่งมันมีโอกาสที่เขาต้องดูแลตัวเองสูง เราอยากให้เขาดูแลและทำเป็นโดยมาลองที่ร้านเราก่อน”

“เราเชื่อว่าสิ่งนี้จะมีคนยอมรับและพร้อมใช้บริการ ปีแรกเราอาจมีลูกค้าแบบนี้ได้สัก 5 คน ปีที่สอง 10 คน ปีที่สาม 15 คน ไม่เกิน 5 ปีเราจะได้ลูกค้าประมาณ 100 คนที่เหนียวแน่นกับเรา แค่นี้ก็พอแล้วนะ เพราะถ้าลูกค้ายังปั่นต่อเนื่อง เขาต้องเอารถมาจูนมาปรับอยู่แล้ว คนเหล่านี้ก็เหมือนเป็นประชาสัมพันธ์เราในตัว” หมาเล่าให้เราฟังถึงแนวคิดตั้งแต่เปิดร้าน พร้อมเสริมถึงเป้าหมายที่เขาเห็นในใจ

“ถ้าเขาเอนจอยกับสิ่งที่เราทำให้ เขาได้ไปเดินทางท่องเที่ยวอย่างที่หวัง เราเชื่อว่าเขาจะอยู่กับเรา”

จุดแวะพักของนักปั่นทัวริ่งทั่วโลก

ด้วยแนวทางการทำร้านที่ชัดเจนมาหลายปี ลูกค้าประจำจาก 5 คนก็เพิ่มขึ้นจนเป็นหลักร้อยดั่งที่หมาคิดไว้

แต่นอกจากคนไทยแล้ว นักปั่นทัวร์ริ่งจากทั่วโลกต่างมุ่งหน้ามาเยี่ยมเยียนที่ร้านคูหาเดียวนี้เช่นกัน บ้างเอารถมาซ่อม (สินค้าจักรยานทัวริ่งบางตัวหาได้ที่นี่เท่านั้น) แต่บ้างก็มาเยี่ยมเยียนถามไถ่

“ในเอเชียใต้นี้ก็มีเส้นทางปั่นอยู่ไม่กี่เส้น มันเลยมีโอกาสที่เขาจะเข้ามาหาเราเยอะ ตั้งแต่ประมาณเดือนพฤศจิกายนจนถึงพฤษภาคม จะมีคนปั่นในภูมิภาคนี้มากหน่อยเพราะข้างบนมันหนาว ปั่นไม่ได้ นักปั่นทัวริ่งก็จะมารวมตัวกันในบางจุด ส่วนหนึ่งก็มาที่ร้านเรา เดี๋ยวนี้ก็เยอะหน่อยเพราะกระแสปากต่อปาก มีเหมือนกันที่แค่แวะมาเยี่ยมเพราะเพื่อนบอกให้มา” หมาเล่าให้เราฟัง

“นักปั่นต่างชาติกับไทยนี่ต่างกันมั้ย” เราเอ่ยถามด้วยความสงสัย

“เขาก็เป็นคนธรรมดา แต่ที่เราสัมผัสได้ชัดคือพวกเขามีความกระหายที่จะเดินทาง คนเหล่านี้มีหลายแบบ บางคนทำงานเก็บเงินเพื่อเอาเงินมาท่องเที่ยว บางคนก็ทำงานไปด้วย ที่เจอเยอะหน่อยก็คือคนทำงานสายไอที ที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ส่วนแบบอื่นๆ ก็มีทั้งคนที่เขาลงทุนแล้วใช้เงินที่ปันผลเอามาบริหารให้พอกับการท่องเที่ยว

“ถ้าเป็นคนไทย ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยทำงาน แต่น้อยคนที่จะไปทัวริ่งได้เป็นเดือนๆ ส่วนใหญ่ก็ 3 วัน อาทิตย์นึง สองอาทิตย์ อะไรแบบนี้ เราว่าการเดินทางหรือการปั่นทัวริ่งมันไร้รูปแบบมาก อยู่ที่เราจะออกแบบ จักรยานแบบไหนก็ออกไปปั่นทัวริ่งได้นะ แค่ต้องรู้ข้อจำกัดว่ามันทำงานได้ขนาดไหน ทั้งหมดนี้เราออกแบบได้ด้วยตัวเองให้มันตรงกับเราที่สุด”

การเติบโตทางธุรกิจที่ไม่ใช่การขยายร้าน

Bok Bok Bike อยู่ในตึกแถวคูหาเดียวบนถนนกรุงเกษม ไม่ไกลจากสถานีรถไฟกรุงเทพและทางด่วนยมราช (ก่อนตั้งร้านเจ้าตัวคำนวณแล้วว่าชัยภูมินี้ดีกับโลจิสติกส์ ขนส่งสินค้าสะดวกทุกรูปแบบ) สินค้าแน่นร้านจนไม่มีที่เดิน ใครเคยมาคงสงสัยเหมือนเรา ทำไมหมาถึงไม่ขยายร้าน

“จริงๆ คือร้านเราขยายไปมากแล้วนะ” หมาบอกกับเราพร้อมเสียงหัวเราะเล็กๆ พร้อมเล่าต่อให้เราหายสงสัย

“การขยายธุรกิจเราไม่ต้องขยายพื้นที่ก็ได้ ยกตัวอย่างสิ่งที่เราทำแล้วชัดมากเลยคือการทำล้อ 1 วง สมัยก่อนเราใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง แต่หลังๆ เราสามารถทำล้อ 1 วงในเวลาชั่วโมงครึ่ง ด้วยเทคนิค เครื่องมือ และกระบวนการที่พัฒนา ปกติทำได้วันละคู่ เดี๋ยวนี้ทำได้วันละ 6 คู่แล้วเป๊ะขึ้นด้วย ดังนั้นสำหรับเรา ร้านคือขยายไปเยอะแล้วในเชิงประสิทธิภาพและบริการ”

หมายังขยายร้านด้วยวิธีที่เข้าใจคนใช้จักรยานสายนี้ นั่นคือการจับมือกับร้านจักรยานหลายจังหวัด รวมเป็นเครือข่ายร้านจักรยานทัวร์ริ่งเพื่อบริการลูกค้าให้มีประสิทธิภาพขึ้น หมาบอกกับเราว่าสิ่งนี้เปรียบเหมือนการมีเพื่อนและเพื่อนของเขาก็กระจายอยู่หลายจุดมาก เช่น ร้าน Big Mountain ที่ปากช่อง ร้าน Triple Cats Cycle ที่เชียงใหม่ ร้าน Vee Bike ที่ยะลา หรือร้าน Bike Café ที่หาดใหญ่ ฯลฯ บางร้านเกิดจากการเข้าไปพูดคุยเพื่อเป็นพันธมิตร แต่บางร้านเจ้าของก็เคยเป็นลูกค้า Bok Bok Bike มาก่อน หมาเข้าไปมีส่วนช่วยและให้คำปรึกษาตั้งแต่วันแรกที่เปิดร้านเลยทีเดียว

“เรามี know-how จากที่เคยล้มลุกคลุกคลานมา พอรู้ว่าอะไรที่ขายได้และขายไม่ได้เราก็จะเข้าไปแนะนำ หรืออย่างการซ่อม เราก็จะเอาเข้ามาฝึกที่ร้านจนชำนาญ พอเปิดร้านเราก็เข้าไปช่วยดูแลในขั้นต้น หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของเขาแล้วที่ต้องลงไปอยู่กับลูกค้า สัมผัสลูกค้าว่าความต้องการคืออะไร แต่เหนืออื่นใดคือคอนเซปต์ที่ยังเหมือนเดิมคือการทำให้ดีและมีคุณภาพ

“เรามีเพื่อนแบบนี้เพื่อกระจายลูกค้า และขยายการบริการให้มันซัพพอร์ต ถ้าคุณปั่นทัวริ่งแล้วรถตายที่ไหน เราสามารถส่งอะไหล่ให้ได้ทุกที่ หรือมาหาอะไหล่ที่กรุงเทพฯ แล้วไม่มี คุณสามารถปั่นต่อไปรับอะไหล่ที่หาดใหญ่ได้โดยที่ไม่ต้องเสียเวลารอ มันไม่ได้กว้างเฉพาะประเทศไทยนะ เรามีเพื่อนอยู่เวียดนาม มาเลเซีย และอินเดียด้วย ดังนั้นถ้าคุณมีปัญหาอยู่ที่ไหนในเอเชียใต้ เราสามารถช่วยกันได้หมดเลย”

ปัจจุบันหมาและ Bok Bok Bike กลายเป็นเหมือนรุ่นพี่ใจดีในวงการ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หมาได้เห็นวงการจักรยานค่อยๆ ได้รับความนิยมและเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ท่ามกลางโลกที่ค่อยๆ หมุนไป บางอย่างในตัวเขาเองก็ค่อยๆ ปรับตัวตาม แต่จิตวิญญาณบางอย่างยังคงหนักแน่นดังเดิม

“ถ้าเทียบกับ 10 ปีก่อน คนปั่นจักรยานเยอะขึ้นมาก สำหรับเรามันดีอยู่แล้ว เพราะโดยส่วนตัวเราศรัทธาการใช้จักรยาน มันเป็นนวัตกรรมของมนุษย์ที่ดีมาก ผมคิดว่าการพัฒนาของมันถึงจุดสูงสุดแล้ว ทุกวันนี้เราแค่เปลี่ยนตามเทคโนโลยี ของใหม่ๆ เข้ามาเราก็ต้องตาม แต่วิธีการจัดการร้านยังคงเหมือนเดิม เรายังยึดถือในคุณภาพและการให้ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญเหมือนวันแรกที่เราเริ่ม” หมาย้ำสิ่งที่เขาตั้งใจด้วยน้ำเสียงหนักแน่นที่ทำให้เราเชื่อใจเขาอย่างประหลาด

คนที่รักจักรยานมักฝันถึงการเปิดร้าน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ทำแล้วมีความสุข เราถามหมาว่าสำหรับคนที่ทำเป้าหมายสำเร็จแล้วอย่างเขารู้สึกอย่างไรกับชีวิตตอนนี้

“มันเป็นชีวิตที่มีความสุข เราตื่นมาทำงานทุกวัน แต่ไม่รู้สึกเหมือนทำงาน คือมันมีงานต้องทำ แต่มันสนุกไง เรามีความสุขในการทำ ตอนนี้เราก็ยังปั่นทัวริ่ง ทุกวันที่เข้าร้านก็คือมาทำรถ แล้วก็คุยกันว่าทริปต่อไปไปไหนดี นั่นก็คือความสุขของเราแล้ว” หมากล่าวทิ้งท้าย

สำหรับร้านจักรยานที่เชื่อเรื่องการเดินทาง เราเชื่อว่าผู้ที่แวะมา (ไม่ว่าจะมาเป็นแวะมาซื้อของหรือมากินเบียร์) จะไม่ได้แค่ความรู้และอุปกรณ์จักรยาน

แต่ยังได้ความคิดว่า การเห็นโลกกว้างด้วยการเดินทางมีค่ากับมนุษย์มากเพียงใด

ภาพ ธนวัฒน์ อัศวชุติพงศ์ และ ประพฤติ ปาลสาร

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ธนวัฒน์ อัศวชุติพงศ์

ช่างภาพฝึกงานสายฮาผู้ชื่นชอบเพลง EDM