สุรัฐชัย เชนยะวณิช ชายขี้สงสัยผู้หลงใหลการสะสมและสำรวจด้วยจักรยาน

จักรยานเป็นหนึ่งในของที่มีนักสะสมทั่วโลก 

ในเมืองไทย ถ้าให้เลือกพูดถึงหนึ่งคน ชื่อของ golflute ขึ้นมาในหัวเราเป็นอันดับแรก 

มองจากภายนอก กอล์ฟ-สุรัฐชัย เชนยะวณิช (หรือ golflute ในโลกออนไลน์) คือนักสะสมจักรยานที่น่าอิจฉา ทุกคันจัดวางในบ้านที่ตกแต่งอย่างดี คอลเลกชั่นของเขาพิเศษถึงขั้นเคยมีสื่อจักรยานระดับโลกติดต่อขอลงภาพจักรยานของเขา 

ถ้าเอ่ยชื่อ golflute ให้ตัวแทนบริษัทผลิตจักรยานดังๆ ระดับโลกฟัง ส่วนใหญ่จะรู้จักในฐานะลูกค้าระดับท็อปจากประเทศไทย

แต่หากรู้จักลึกๆ จะรู้ว่ากอล์ฟไม่ใช่คนมีฐานะที่มาเล่นจักรยานแค่ผิวเผินชั่วคราว เขาหลงรักมัน บางครั้งก็ออกจะบ้าคลั่ง และยังไม่เคยเบื่อกับการสำรวจโลกใหม่ด้วยจักรยาน

อาชีพหลักของกอล์ฟ คือเป็นผู้บริหารบริษัท เอ็น.เอ.พี.เซอร์วิส แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด หรือ N.A.P ผู้ให้บริการทำความสะอาดอาคารชั้นนำของไทย ช่วงวันหยุดเขาปั่นจักรยานเป็นงานอดิเรกร่วมกับเพื่อนในกลุ่มจักรยานชื่อว่า SinghaDTK รักใคร่กลมเกลียวออกปั่นด้วยกันเป็นประจำ

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น กอล์ฟเป็นเด็กที่มีจักรยาน BMX ข้างกายตลอดเวลา ปั่นเล่นกับกลุ่มเพื่อนในย่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วงวัยรุ่น ประเทศไทยเริ่มฮิตจักรยานเสือภูเขา แต่กลับไม่จูงใจให้กอล์ฟกลับมาปั่นมากนัก เหตุการณ์ที่ทำให้เขากลับมาหลงรักจักรยานอีกครั้งคือตอนที่จักรยานฟิกซ์เกียร์บูมใหม่ๆ เขาได้กลับไปทำความรู้จักเพื่อนเก่า และซื้อจักรยานยี่ห้อ Charge แบบ Single Speed มาปั่นเล่น

“ผมเป็นเด็กปั่นจักรยานอยู่แล้ว อยู่ที่บ้านนี้ตั้งแต่เกิด 40 กว่าปี เมื่อก่อนจะมีเพื่อนเล่นแถวบ้านเต็มเลย เด็กที่โตหน่อยก็จะชวนปั่นจักรยานไป ม.เกษตร ตอนนั้นผม 8-10 ขวบ” 

“ผมจำความรู้สึกแรกที่ปั่นจักรยาน Charge ได้ ตั้งใจว่าจะปั่นไปหน้าหมู่บ้านแล้วกลับมา พอปั่นปุ๊บ เฮ้ย ทำไมเร็วอย่างนี้ ผมก็เลยปั่นเลยไปเซ็นทรัล ลาดพร้าว ปั่นไปประมาณ 20 กม. ดีใจ จักรยานมันเป็นอย่างนี้เหรอ เพราะปกติปั่นแต่เสือภูเขาล้อใหญ่ๆ กับบีเอ็มเอ็กซ์ คันนี้กดแล้วมันเร็วเหลือเกิน” เขาเล่าเหมือนเด็กชายได้ของเล่นใหม่

หลังจากนั้น เขาก็เริ่มปั่นไกลขึ้น เร็วขึ้น เริ่มศึกษาหาจักรยานคันใหม่ บ้านเริ่มไม่มีที่เก็บ ปัจจุบันถ้าดูด้วยตาเขามีประมาณ 10 กว่าคัน แต่ละคันมีเหตุผลในการซื้อไม่เหมือนกัน

วิธีการเลือกจักรยานของกอล์ฟ เขาสรุปว่าจะเลือกคันที่เป็น talk of the moment พูดง่ายๆ คือคันที่กำลังดัง เป็นกระแส เช่น จักรยาน Pinarello Dogma F จักรยานที่หนึ่งในทีมจักรยานที่ดีที่สุด Ineos Grenadiers เลือกใช้ หรือ Cervelo P5X จักรยานรูปทรงประหลาดที่นำการออกแบบแหวกขนบยุค 2000 มาใช้ ทุกคันมักจะเป็นเหมือนผู้บุกเบิกในโลกจักรยานเสมอ

กอล์ฟบอกว่า เหตุผลหนึ่งที่เขาหลงใหลจักรยาน เพราะรู้สึกทึ่งกับเทคโนโลยีที่ทำให้จักรยานปั่นได้เร็วและไกลขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงในแง่ของอารมณ์ โลกนี้มีจักรยานหลายคันที่มีสถานะเป็นเหมือนงานศิลปะ มีศิลปินจำนวนมากที่มาสร้างสรรค์ผลงานบนเฟรมรูปสามเหลี่ยม

จักรยานในบ้านที่เข้าข่ายนี้มีหลายคัน หนึ่งในนั้นคือ Festka รุ่น Prime แบรนด์จักรยานจากสาธารณรัฐเช็ก แบรนด์นี้มีจุดเด่นเรื่องการทำจักรยาน Custom ออกแบบพิเศษ รุ่นของกอล์ฟออกแบบและวาดลวดลายคล้ายงานเซรามิก โดยศิลปินชื่อ Michal Bacak 

วิธีการออกแบบคันนี้น่าสนุกดี เมื่อศิลปินถามว่าอยากได้ลายแบบไหน กอล์ฟขอแค่มีชื่อภรรยาและลูก ที่เหลือเขาใช้วิธีส่งลิงก์ Instagram ให้ โดยบอกว่าให้เอาภาพที่เขาถ่ายซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องราวในชีวิตเขามาทำเป็นลาย 

ไม่มีการส่งงานให้ดูก่อน นักสะสมชาวไทยบอกว่าเขาอยากเซอร์ไพรส์ คันนี้ทำเสร็จถูกส่งไปโชว์ในงานจักรยานระดับโลกก่อนจะวนกลับมาส่งที่เมืองไทย ซึ่งก็สมใจอยากเมื่อจักรยานมาส่งถึงบ้านพร้อมลวดลายที่มาจากองค์ประกอบสำคัญในชีวิตเขาจริงๆ  

อีกคันที่เขาพูดถึงคือ Cervelo RCA ในยุคที่จักรยานคันนี้ออกมา (ประมาณปี 2013) มีนวัตกรรมที่โดดเด่นมาก เป็นจักรยานน้ำหนักเบามากแต่ยังปั่นดีอยู่ กอล์ฟซื้อจักรยานคันนี้ในช่วงที่เขาเริ่มสนใจจักรยานเสือหมอบหรือ Road Bike “ด้วยความอยากลอง เขาว่ากันว่าดี เขาว่ากันว่าเร็ว มันเป็นยังไง มันก็คือความอยากลองและสนองความขี้สงสัยของผมด้วย”

“จักรยานเป็นพาหนะเคลื่อนที่ด้วยกำลังมนุษย์ได้เร็วที่สุดในโลก ไม่มีอะไรเร็วกว่านี้แล้ว แล้วก็ปั่นได้เป็นร้อยกิโลเมตร ปั่นไปเชียงใหม่ก็ได้ ปั่นไปภูเก็ตก็ยังได้ คือนอกจากการปั่นแล้ว มันก็ได้ออกกำลังกาย ร่างกายก็แข็งแรง กินอะไรก็ได้ ปั่นกับเพื่อนก็เจอเพื่อน ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งวิเศษ” เจ้าตัวเล่าแบบตาเป็นประกาย

ในแง่ความแพงของจักรยาน เจ้าตัวไม่ปฏิเสธ แต่เขาก็มีเหตุผลในการตัดสินใจ

“ในเมื่อจักรยานเป็นสิ่งที่เคลื่อนที่ด้วยแรงคนได้เร็วที่สุดบนโลก ผมว่าตรงนี้มันเลยเป็นประเด็นในการทดสอบเทคโนโลยี ผมก็เป็นคนชอบเทคโนโลยี ชอบเห็นใครที่บ้าคลั่งทำจักรยานได้เบากว่า ลื่นกว่า บางทีนักปั่นต้องเพิ่มเงิน 200,000 – 300,000 บาทเพื่อให้มันเร็วขึ้นจิ๊ดเดียว ถามว่าคุ้มมั้ย แล้วแต่คน บางคนก็บอกโง่ แต่ผมก็รู้สึกว่าความบ้าคลั่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนน่ะ” คนรักจักรยานเล่า 

“เมื่อก่อนตอนที่โควิดยังไม่มา ผมไปยุโรปกันทุกปี เราอยากไปขึ้นภูเขาลูกนี้เพราะเคยเห็นใน Tour de France มันเป็นการผจญภัย แม้แต่เส้นที่เราเคยไปทุกครั้งอย่างเส้น Workpoint (ถนนสายรองหน้าบริษัท Workpoint Entertainment) ไปแต่ละทีมันก็เปลี่ยนไปหมด ถนนเส้นที่ดีอยู่แล้วจะโดนทุบ สร้างใหม่ เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง

“พอไปหน้าแล้ง ทุ่งนาที่เคยเห็นเขียวๆ จะโดนตัดเฮี้ยน ไปอีกทีมันค่อยๆ งอก พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็เป็นสีทอง สวยดี ตอนปั่นไปดูช่วงน้ำขึ้นแถวอยุธยา น้ำท่วมทุ่งหมดเลย ผมก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนเดียวหรือเปล่า แต่ผมรู้สึกขี้สงสัยเรื่องแบบนี้ สงสัยว่าทางสายนี้มันไปไหนวะ จักรยานมันตอบโจทย์ผม” นักสะสมตัวยงเล่า

ความช่างสงสัย ดูจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้กอล์ฟหลงรักจักรยาน ทั้งในแง่ของการสำรวจโลกเทคโนโลยีของจักรยานว่ามันจะทำได้เร็วสักแค่ไหน และในเชิงการเดินทาง เป็นพาหนะที่ทำให้เขามีความสุขเสมอเมื่อต้องการสำรวจเส้นทางใหม่ๆ 

“ผมเป็นคนไม่กลัวการปั่นออกถนน เพราะเราปั่นจักรยานตั้งแต่เด็ก รู้ว่าถ้าอยู่ในเลนเรายังไงรถก็ไม่ชน ตอนที่ปั่นไปเซ็นทรัลแล้วกลับมา 20 กม. ไม่เหนื่อยเลย ตอนนั้นรู้สึกว่าเร็วมาก ชอบ ก็เลยลองสำรวจเส้นทางที่อยู่ใกล้ๆ บ้านเราแต่รถยนต์ไปไม่ได้ เดินไปก็ขี้เกียจ ร้อนก็ร้อน ตอนนั้นรู้สึกว่าจักรยานมันเป็นสิ่งที่พาเราไปที่ไหนก็ได้จริงๆ ผมอยู่แถวนี้มา 40 ปียังรู้สึกว่ามีอะไรให้ explore อีกเยอะ” 

วงการจักรยานไทยเติบโตและเปลี่ยนผ่านเหมือนรถไฟเหาะ ขึ้นไปอยู่จุดสูงสุด ดิ่งลงมา และกลับขึ้นไปอีกครั้ง ไม่ว่าใครจะมองมันอย่างไร กอล์ฟก็ยังรักจักรยานไม่เปลี่ยน เขายังปั่นจักรยานทั้งนอกบ้าน (เส้น Workpoint คือถิ่นประจำ หลับตาปั่นยังได้) และในบ้านด้วยเครื่อง Trainer 

ปีนี้เขามีแผนจะทำบ้านใหม่ สร้างโซนที่เป็นเหมือนแกลเลอรี่ส่วนตัวไว้เก็บจักรยานโดยเฉพาะ เขาพาเดินชม เล่าโปรเจกต์ที่กำลังทำ ฟังแล้วก็น่าอิจฉาในความรักต่อสิ่งสิ่งหนึ่งไม่เปลี่ยน มันทำให้เขาดูมีพลังและเป้าหมายในการใช้ชีวิตอย่างน่าประหลาด

ความหลงใหลการสำรวจโลกด้วยจักรยาน พาผู้บริหารหนุ่มมาไกลมาก เขาอาจจะเบื่อปีหน้าก็ได้ ไม่มีใครรู้ แต่ ณ วันนี้ เขายังสนุกกับมัน และจะปั่นมันเรื่อยไปอย่างสนุกสนาน

เพราะมันทำให้เขารู้สึกมีชีวิต

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย