Smitheries : สตูดิโอสอนทำเครื่องประดับตามใจผู้เรียน

บนชั้นสองของห้องแถวเล็กๆ
ที่ซ่อนตัวอยู่ระหว่างซอยทองหล่อ 5 กับ 7 มีสตูดิโอเวิร์กช็อปขนาดเล็กกะทัดรัดชื่อ
Smitheries กำลังดำเนินกิจการอยู่อย่างเงียบๆ แต่มั่นคง สิ่งที่พวกเขาทำนั้นสุดแสนจะเฉพาะทางและพิเศษ
นั่นก็คือ การสอนให้คนทั่วไปได้มาลองหัดทำเครื่องประดับด้วยตนเอง เมื่อเราก้าวเข้าไปในพื้นที่ขนาดมินิของร้าน
กิม
-ไชยวัฒน์ วัฒนานุกิจ
และ พิม-ปิยะมาศ หมื่นประเสริฐดี ละมือจากการสอนนักเรียนที่กำลังง่วนอยู่กับการทำเครื่องประดับของตัวเอง มาเล่าเรื่องราวของโรงเรียนขนาดกะทัดรัดแห่งนี้ให้ฟัง

แบ่งปันความรู้
ไชยวัฒน์: “ผมชอบงานคราฟต์ งานที่ทำด้วยมือ เพราะสุดท้ายแล้ว มันจดจ่ออยู่ที่มือกับความคิดของเรา
แค่นี้แหละไม่ต้องไปวุ่นวายกับใครมาก เรากำหนดเองได้ว่าจะให้มันเป็นยังไง
ที่จริงผมเรียนด้านภูมิสถาปัตย์ แต่มันไม่ค่อยได้ลงมือทำจริงๆ ไม่ค่อยเห็นภาพ เลยลองหาอย่างอื่นทำ
โชคดีได้ไปลองเรียนด้านจิวเวลรี่ดูแล้วชอบ จากนั้นก็เลยมาทางนี้ยาวเลย เป็นศาสตร์ที่เรียนรู้ไม่จบสิ้น
นำไปประยุกต์ได้เยอะแยะ ”

“เหตุผลที่ผมอยากสอนทำเครื่องประดับเพราะว่าแต่ก่อนธุรกิจเครื่องประดับในไทยมันเป็นธุรกิจระบบปิด
ทำกันแค่ในสายตระกูล ไม่สอนกัน อาจเป็นเพราะวัสดุแพง
อย่าง เพชร พลอย เงิน ทอง คนทำก็ไม่อยากให้คนนอกเข้ามายุ่ง มาเรียนรู้อะไรง่ายๆ พอผมมาเปิดเป็นที่แรกๆ
ที่เปิดให้คนนอก ให้ใครเรียนก็ได้ เลยมีคนสนใจ โรงเรียนแห่งแรกของผมคือ One Form One Piece ที่ลาดพร้าว ผมสอนมา 10 กว่าปี
ส่วนที่นี่เปิดได้เกือบ 2 ปีแล้ว จะต่างกันตรงที่ทองหล่อจะอยู่ในเมืองมากกว่า
กลุ่มลูกค้าก็เป็นชาวต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งนอกจากโรงเรียนผมก็มีที่คล้ายๆ กันอีกแค่
2 – 3 ที่ เจ้าของเขาก็เรียนกับผม ถ้าถามว่าแต่ละที่ต่างกันตรงไหน ผมว่าคนสอนก็ไม่เหมือนกัน
ทัศนคติ ลักษณะงานก็ไม่เหมือนกันแน่ๆ”

ข้อดีของความยาก
ไชยวัฒน์: “การทำเครื่องประดับไม่เหมือนคอร์สเรียนสีน้ำหรือปักผ้าที่คนอาจตัดสินใจมาเรียนได้ง่ายกว่า
ทักษะงานฝีมือแบบนี้มันเป็นทักษะใหม่ และดูค่อนข้างจริงจัง มีการใช้เครื่องไม้เครื่องมือจริงจัง
อย่าง ค้อน เลื่อย ไฟ คนก็ไม่ค่อยกล้าเรียนเพราะดูยาก แต่ข้อดีก็คือมันจะยังไม่มีคนเปิดสอนเยอะ
หาเรียนยาก ดังนั้นคนที่อยากเรียนซึ่งต้องชอบสิ่งนี้จริงๆ ก็จะมาเรียนกับเรา เรียกได้ว่ากลุ่มลูกค้าของเราค่อนข้างพิเศษ
เป็น niche market”

ชั้นเรียนที่เข้ากับนักเรียน
ไชยวัฒน์: “การเปิดสอนของเราจะเปิดเป็นเวิร์กช็อปซึ่งไม่เหมือนของคนอื่นที่มักจะเปิดเป็นคอร์ส
นักเรียนครบถึงจะเปิด แล้วก็สอนเหมือนกันหมด แบบนั้นมันง่ายสำหรับคนสอน
แต่ว่านักเรียนก็อาจจะได้รู้ไม่ครบ ซึ่งการเปิดสอนแบบเราไม่ง่าย ต้องชอบสอนและต้องใช้ความอดทนเยอะด้วย
เพราะนักเรียนบางคนสอนง่าย บางคนสอนยากต่างกันไป”

ปิยะมาศ: “วิธีการสอนคือ เราจะออกแบบให้เข้ากับตัวบุคคล เราจะดูเป็นคนต่อคนว่าเขาเป็นยังไง
ถ้าเขาช้า เราก็ค่อยๆ สอน ถ้าเขาชอบดีไซน์มากกว่าการนั่งทำ เราก็จะเน้นไปด้านนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะยึดตามที่กำหนดไว้ตอนแรก
แต่จะสอนโดยดูว่านักเรียนชอบแบบไหน และถ้าอยากเรียนครบก็เรียนทุกคอร์ส นักเรียนเลือกได้
แต่ต้องเรียนเบสิกให้ได้ก่อน”

ไชยวัฒน์: “ใครเข้ามาสมัครโรงเรียนเรา ถ้าที่มันว่างอยู่ก็เรียนได้เลย
ประมาณ 4 – 5 คนก็เต็มที่แล้ว ส่วนใหญ่ลูกค้าก็จะอยากรู้ว่าต้องทำอะไรบ้างเพื่อนำความรู้ไปเปิดร้านของตัวเอง
หรืออย่างคอร์สวันเดียว ก็จะมีที่มาเป็นคู่ มาทำแหวนแลกกันใส่ หรือจะต่างคนต่างทำก็ได้
ก็เรียนรู้วิธีทำแหวนตั้งแต่แรกจนออกมาเป็นแหวนอย่างที่เขาอยากได้เลย เวลาทำเสร็จเขาก็ภูมิใจว่า
ได้ทำแหวนเป็นของเราเอง”

ชิ้นเดียวในโลก
ไชยวัฒน์: “เราหาซื้อวัสดุทำเครื่องประดับสำเร็จรูปยาก มันเป็นโลหะ
มันแข็ง ต้องมานั่งหลอมนั่งรีด ส่วนใหญ่วัสดุทำเวิร์กช็อปที่เป็นเงิน ผมก็เลยจะผสมเอง
มีสูตรทำความแข็ง สีที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งตรงนี้ต้องใช้เวลากับประสบการณ์
น่าจะพูดได้ว่าที่นี่จะเน้นเกี่ยวกับการทำมือ เป็นเครื่องประดับชิ้นเดียวที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละคน

ปากต่อปาก
ปิยะมาศ: “ส่วนใหญ่ลูกค้าเราจะมาจากการบอกปากต่อปาก เขาเลยจะรู้อยู่แล้วว่าเราเป็นยังไง
แทบไม่มีการรีวิวโรงเรียนเราด้วยซ้ำ อาศัยเน้นผลงานมากกว่า พอนักเรียนทำชิ้นงาน เราก็จะโชว์รูปว่านักเรียนเราทำได้แบบนี้นะ
คือเวลาโฆษณาลงแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างแมส มันไม่ใช่ที่ที่คนของเราอยู่ เลยกลายเป็นดึงคนที่ไม่ใช่เข้ามาด้วยความคิดผิดๆ
จะมาเรียนคอร์สเราต้องไม่รังเกียจว่ามือจะเลอะ แต่ถ้าเราโฆษณาไป คนก็จะคาดหวังไปอีกอย่างซึ่งเขาก็อาจผิดหวัง บางทีมันก็เสียเวลา ปวดหัวปวดใจด้วย การไม่โฆษณาเลยทำให้เราได้คนที่ตรงกลุ่มมากกว่า
เพราะว่าเขาอยากทำสิ่งนี้ เสาะหาเรา ไปถามคนอื่นมาจนเจอเรา เป็นคนที่อยากเรียนจริงๆ
มาด้วยใจที่อยากเรียน”

สอนด้วย ขายด้วย
ไชยวัฒน์: “ผมไม่ได้สอนอย่างเดียวแต่เปิดช็อปด้วย
ตอนแรกมีจิวเวลรี่ขาย แต่ช่วงหลังๆ ผมทำแว่นตาด้วย เป็นแว่นที่ค่อนข้างเป็นการสั่งทำพิเศษ
ต้องมาวัด มาคุยกัน แล้วผมก็จะดีไซน์ให้คนๆ นั้น จากลักษณะบุคลิกและหน้าตา ซึ่งพอมาทำแว่นตาก็ทำจิวเวลรี่น้อยลง
ตอนนี้ผมทำงานแบบครึ่งต่อครึ่ง คือถ้าช่วงไหนสอนเยอะก็จะทำแว่นน้อยลง ถ้าวันไหนสอนน้อย
ก็จะทำแว่นเยอะขึ้น แต่ก็ถือว่าการทำโรงเรียน 2 แห่งเป็นอาชีพหลักของผม ส่วนพิมก็จะมีอาชีพเสริมอย่างกราฟิกดีไซเนอร์”

ทำสิ่งที่รักและรู้จริง
ปิยะมาศ: “ถ้าจะทำให้ฝันเป็นจริงได้ ควรทำในสิ่งที่ชอบ
ไม่ใช่แค่ว่าเห็นธุรกิจนี้ไปได้ดี แล้วก็มาแย่งทำ มันไม่เกี่ยว เพราะว่าคุณทำไม่เป็น
สอนไม่เป็น แล้วจะเอาอะไรไปขาย ก็เหมือนหลอกคนอื่นว่าจะขายความรู้ แต่จริงๆ ไม่มี ดังนั้นถ้าคุณมีสิ่งที่คุณถนัด
แล้วคุณทำเป็นโรงเรียนหรือทำเป็นร้านค้าพาณิชย์ได้ก็ทำ แต่ต้องแน่ใจว่าตัวเองรู้ศาสตร์นั้นจริงๆ
ไม่ใช่ย้อมแมวขาย มันบาปกรรมนะ (หัวเราะ)”

“ถ้าจะทำให้ฝันเป็นจริงได้ ควรทำในสิ่งที่ชอบ ไม่ใช่แค่ว่าเห็นธุรกิจนี้ไปได้ดี แล้วก็มาแย่งทำ มันไม่เกี่ยว เพราะว่าคุณทำไม่เป็น สอนไม่เป็น แล้วจะเอาอะไรไปขาย” – ปิยะมาศ หมื่นประเสริฐดี

Smitheries

ประเภทธุรกิจ:โรงเรียนสอนออกแบบเครื่องประดับ
คอนเซปต์:สตูดิโอสอนทำเครื่องประดับตามใจผู้เรียน
เจ้าของ: ไชยวัฒน์
วัฒนานุกิจ, ปิยะมาศ หมื่นประเสริฐดี
เว็บไซต์: www.oneform-onepiece.com/
Facebook l smitheriesworkshop

ภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

AUTHOR