Manhattan Mango : Food Truck สีสดใสที่ดึงดูดใจลูกค้าด้วยเมนูมะม่วง

นอกจากตัวเลือกยอดฮิตอย่างคาเฟ่ หนึ่งในกิจการที่เราเห็นหนุ่มสาวโดดมาทำกันอยู่เรื่อยๆ คือฟู้ดทรักสุดเก๋ที่ทุกวันนี้มักพบจอดอยู่ตามอีเวนต์ต่างๆ และหนึ่งในฟู้ดทรักที่ยืนระยะมาได้เกือบ 2 ปี หรือตั้งแต่สมัยเมืองไทยยังมีฟู้ดทรักไม่กี่คันก็คือ Manhattan Mango แบรนด์ฟู้ดทรักของ ปิยะ ชยาภัม และวรทรรศ พลอยครบุรี ที่นำแมนฮัตตันซึ่งเป็นเมืองแห่งฟู้ดทรัก และมะม่วงผลไม้ของดีของไทยมาบวกกันกลายเป็นฟู้ดทรักที่คนชอบมะม่วงต้องหลงรัก เพราะทุกเมนูที่ขายล้วนมีมะม่วงผสม

เรานัดปิยะมานั่งพูดคุย ถึงเรื่องราวการเป็นเจ้าของหนึ่งในกิจการในฝันของหนุ่มสาวยุคนี้ ที่จะสนุก น่าสนใจแค่ไหน ลองอ่านกันได้เลย

จุดเริ่มต้น

“ช่วงระหว่างเรียนอยู่ที่วิทยาลัยดุสิตธานี เราได้ไป work & travel ที่อเมริกา ช่วงเวลาว่าง เรามีเพื่อนอยู่ที่นิวยอร์ก ก็เลยไปเที่ยวที่นั่น ได้ไปเห็นฟู้ดทรักเยอะ แล้วพอไปอยู่ต่างประเทศนานๆ กินอาหารฝรั่งทุกวันก็เบื่อ หาร้านอาหารไทยที่เป็นรสชาติแบบไทยจริงๆ ก็ค่อนข้างยาก เราก็เลยไปซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อหาวัตถุดิบมาทำอาหารเอง ได้เห็นพวกผลไม้ไทย เลยคิดว่าผลไม้เรามีชื่อเสียงอยู่แล้ว ทำไมเราไม่เอาวัตถุดิบที่มีมาใช้ เราอยากสร้างแบรนด์ที่ถ้าคิดถึงมะม่วง จะคิดถึงแบรนด์เรา

“พอกลับมาก็เลยคิดกับหุ้นส่วน ทำรถขึ้นมา เป็นรถไม้ที่ไม่เหมือนรถเข็นคนอื่น ขายยำมะม่วงอยู่แถวซอยสุทธิสารวินิจฉัย หลังจากนั้นก็ล้มเลิกไปเพราะเรากลับไปอเมริกาอีกรอบ คราวนี้พอกลับมาไทยก็คิดว่าอยากทำร้าน แต่การจะเริ่มต้นร้านค้าขึ้นมา มันค่อนข้างใช้ทรัพยากรหลายอย่าง เช่น เงิน สถานที่ คุยไปคุยมา เราเลยตัดสินใจเริ่มทำฟู้ดทรัก ชื่อ Manhattan Mango ซึ่งตอนนั้นฟู้ดทรักในเมืองไทยน่าจะมีประมาณไม่เกิน 10 คัน”

โดดเด่นด้วยมะม่วง

“เรามีมะม่วง ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงเปรี้ยวหรือมะม่วงสุก เป็นส่วนประกอบในทุกเมนู มีทั้งของคาว ของหวาน เครื่องดื่ม ในความคิดคือ ถ้าใครคิดถึงมะม่วงให้มาหาเรา อย่างเมนูไก่ทอด เราก็คิดว่าจะทำยังไงให้ไก่ทอดมีมะม่วงเป็นส่วนประกอบ ก็ทำเป็นซอสราดลงไป แรกๆ คนจะไม่ค่อยเข้าใจ เอามะม่วงไปทำอาหารคาวได้ด้วยเหรอ เราก็เริ่มจากเอาไปให้ลองชิม ให้เขาติชมดู อธิบายให้ฟัง ซึ่งช่วงแรกๆ เราลงไปทำเอง อยู่เอง ยังไม่ได้จ้างลูกน้องเหมือนทุกวันนี้ ผมว่าทุกธุรกิจคงเป็นลักษณะแบบนี้ คือเข้าไปคลุกคลี เรียนรู้ว่าคนใช้จ่ายยังไง ตัวไหนที่ได้กระแสตอบรับดี สักช่วงนึงก็รู้แล้วว่าอันนี้มันน่าสนใจนะ ส่วนในเรื่องราคา มะม่วงเป็นวัตถุดิบที่มีตามฤดูกาล เราก็พยายามตั้งราคาให้เหมือนถัวเฉลี่ยกันไป ไม่ขึ้นไม่ลงมาก ถ้าช่วงมะม่วงถูกก็ได้กำไรเยอะหน่อย ถ้าช่วงมะม่วงแพงก็เอากำไรจากช่วงที่ได้กำไรเยอะมาถัวเฉลี่ยเอา”

ชวนให้ตั้งคำถาม

“ตั้งแต่เริ่มแรก เราตั้งใจอยากให้คนที่เห็นรถ Manhattan Mango แล้วเกิดคำถามว่า สิ่งนี้คืออะไร ขายอะไร อย่างสีฟ้าที่ใช้บนตัวรถก็ตั้งใจให้เป็นที่จดจำได้ง่าย คนที่ผ่านมาก็จะคิดว่า เฮ้ย มันคืออะไร น่าสนใจยังไง เราไม่เขียนรายละเอียดลงไปว่ารถเป็นฟู้ดทรักด้วย บนรถจะไม่มีคำว่า food truck เหมือนคันอื่นๆ แต่มีเฟซบุ๊ก มีเว็บไซต์ เราตั้งใจอยากให้คนเข้าไปกดดู หาคำตอบด้วยตัวเอง เพราะถ้าเห็นรถแล้วมันมีรายละเอียดทุกอย่างตั้งแต่แรก เราคิดว่ามันจะดูไม่ค่อยน่าสนใจ”

ความฝันเคลื่อนที่

“ข้อดีของฟู้ดทรักคือมันเคลื่อนที่ไปได้เรื่อยๆ ผ่านตาคนเหมือนโฆษณาที่อยู่บนรถเมล์หรือรถยนต์ ซึ่งจะมากกว่าการอยู่กับที่ แล้วถ้าไปจอดตรงนี้แล้วมันไม่โอเค คุณก็ย้ายที่ไปได้ เป็นการกระจายความเสี่ยงออกไป แต่ข้อเสียคือ พื้นที่ของตัวกรุงเทพฯ มันไม่เอื้ออำนวย ถ้าเทียบกับอเมริกาที่จะจัดสรรพื้นที่ไว้ให้จอดรถขายของ ทำให้คนตามหาฟู้ดทรักได้ง่ายกว่าเพราะมีที่จอดประจำ เราก็ต้องประยุกต์ ตอนนี้ก็รับไปตามงานอีเวนต์ แล้วเพื่อให้คนกลับมาหาเราได้โดยไม่ต้องตามรถไปเรื่อยๆ เราก็กำลังจะมีโปรเจกต์เปิดร้านขึ้นมาด้วย”

พลังของพื้นที่

“ตำแหน่งที่ไปจอดรถมีผลมากต่อกิจการของเรา เราจะเลือกที่ที่คนเยอะ และดูว่าตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเราที่เน้นไปทางชาวต่างชาติและกลุ่มวัยทำงานมั้ย ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องตัวพื้นที่ แต่เป็นเรื่องของตัวอีเวนต์ที่เราไปด้วย เพราะถึงแม้เป็นที่เดียวกัน มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นอีเวนต์ไหน ธีมอะไร เราเข้าไปอยู่แล้วถูกที่หรือเปล่า รวมถึงออร์แกไนเซอร์ไหนเป็นผู้จัด ขึ้นอยู่กับการโปรโมตของเขาด้วย”

มาแล้วมาอีก

“การจะทำให้คนกลับมาซื้อซ้ำ ส่วนมากเราก็จะลงมาคุยกับลูกค้าเอง อธิบายเอง แล้วก็คอยบอกเขาว่าเราจะไปไหนต่อ สมมติไม่เจอเราตรงนี้ เราจะแจ้งเขาผ่านทางเฟซบุ๊กนะ มีอะไรก็ติดต่อได้ ช่วงหลังๆ ก็มีคนสนใจมากขึ้น ถามว่าจะไปจอดที่ไหนต่อบ้าง”

เคล็ดลับความอยู่รอด

“การที่ฟู้ดทรักของเราจะอยู่รอดได้ เราต้องใส่ใจกิจการตัวเอง คอยไปออกงานตามอีเวนต์ต่างๆ แล้วก็คอยสรรหาเมนูใหม่ๆ มานำเสนอ หรือเมนูที่คุ้นเคยอยู่แล้วก็เอามาทำให้ดียิ่งขึ้น เราไม่ได้เน้นกลยุทธ์ด้านราคามาก แต่อยากนำเสนอตัวสินค้าที่ได้ลองแล้วลูกค้ากลับมาซื้ออีกมากกว่า ซึ่งการที่ทุกวันนี้มีคู่แข่ง ก็ช่วยให้เรามีแรงกระตุ้นที่จะทำอะไรมากขึ้น . มากกว่าหยุดนิ่งอยู่กับที่”

ทำร้านเหมือนสร้างบ้าน 

“ถ้าใครอยากเปิดฟู้ดทรัก ต้องรู้ว่าจะทำอะไร ทำให้ใคร ทำไปเพื่ออะไร แล้วก็ควรมีความรู้ด้านอาหารพอสมควร ถ้าคุณทำอาหารไม่เป็นก็คงต้องไปฝึกทำ ไปดูตัวอย่างไอเดียที่เขามีอยู่แล้ว แล้วก็เรียนรู้ไปทีละอย่าง การทำธุรกิจเหมือนการสร้างบ้าน คุณจะทำวันนี้ พรุ่งนี้ให้เสร็จ มันไม่มีหรอก ต้องค่อยๆ เก็บรายละเอียดทีละนิด ทุกวันนี้ ผมมองย้อนกลับมาก็ยังเข้าใจว่า กว่าแบรนด์แบรนด์หนึ่งจะใหญ่โต เราอาจเห็นว่าทุกอย่างมันดี แต่แท้จริงเขาอาจล้มลุกคลุกคลานมาแล้วเท่าไหร่ก็ไม่รู้”

สิ่งที่ยังทำแล้วมีความสุข

“การทำ Manhattan Mango ทำให้เราเรียนรู้พฤติกรรมของคนว่าเป็นยังไง แล้วก็เรียนรู้ที่จะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้เวลาขายของ บางครั้งเราก็เดินออกมาอยู่ไกลๆ พยายามมองว่า ความต้องการของคนจริงๆ คืออะไร แล้วก็เอามาปรับปรุง ตอนนี้เรายังมีความสุขกับการได้ทำ Manhattan Mango มีคนเดินมาถามเยอะว่าคุณขายแฟรนไชส์มั้ย สนใจจะต่อยอดมั้ย แต่เรายังไม่ได้มองไปถึงการขายธุรกิจให้ใคร เพราะอยากดูแลเองได้แบบเต็มร้อย ยังอยากจะทำเองให้สุดความสามารถ”

“ข้อดีของฟู้ดทรักคือมันเคลื่อนที่ไปได้เรื่อยๆ ผ่านตาคนเหมือนโฆษณาที่อยู่บนรถเมล์หรือรถยนต์ ซึ่งจะมากกว่าการอยู่กับที่ แล้วถ้าไปจอดตรงนี้แล้วมันไม่โอเค คุณก็ย้ายที่ไปได้ เป็นการกระจายความเสี่ยงออกไป”

Manhattan Mango

ประเภทธุรกิจ: ฟู้ดทรัก
คอนเซปต์: ร้านขายอาหารและเครื่องดื่มที่ทุกเมนูมีมะม่วงเป็นส่วนประกอบ
เจ้าของ: ปิยะ ชยาภัม (31 ปี)
วรทรรศ พลอยครบุรี (29 ปี)
เว็บไซต์: manhattanmango.com
Facebook l Manhattan Mango

ภาพ ช่อไพลิน ไพรบึง

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ช่อไพลิน ไพรบึง

ช่างภาพฝึกหัดแห่ง a team junior 12