Shortcut Organic : ฟู้ดทรักคลีนๆ เพื่อสุขภาพดีของคนเมือง

จากคนที่เคยแอนตี้อาหารออร์แกนิก
ด้วยเหตุผลที่ว่าแพงเกินความจำเป็น แถมกินแล้วก็ไม่ต่างจากอาหารปกติทั่วไป
แต่ในวันนี้ ยุทธนา เจริญชัย กลายเป็นเจ้าของฟู้ดทรักอาหารปลอดสารที่ชื่อว่า ‘Shortcut Organic’ และกำลังฝันไกลนำเทรนด์คาราวานรถขายอาหารเพื่อสุขภาพมาสู่คนเมือง
เราจะมาคุยกับเขาถึงจุดเปลี่ยนในชีวิต และความฝันที่จะทำให้คนไทยได้กินอาหารดีและมีสุขภาพแข็งแรงกัน

จากคนจัดอีเวนต์ เบนเข็มสู่รถขายอาหารปลอดสาร
เดิมทียุทธนาเคยทำหนังสือ เป็นออร์แกไนเซอร์รับจัดงานอีเวนต์ งานดีเงินดีก็จริง
แต่รายได้ก็แลกมาด้วยสุขภาพที่คอยจะย่ำแย่ลง รุนแรงถึงขั้นรู้สึกชาไปทั้งแขน ตัดเล็บเองยังไม่ได้
จนภรรยาหรือคุณกรรณิกา เจริญชัย แนะนำให้ลองล้างพิษด้วยการกินดู

“แฟนผมสนใจด้านนี้ก่อน คือเขาหยุดงานไป 3 ปีเลย เพื่อมาปลูกผัก เข้ากลุ่มจิตอาสา แล้วตัวเขาเองเป็นหอบหืดรุนแรง
ต้องคอยพ่นยาตลอด แต่กินอาหารพวกนี้แล้วดีขึ้น ตอนนี้แทบไม่ต้องพ่นยาแล้ว
เราก็เลยตัดสินใจลองเปลี่ยนดู งดแป้ง งดเนื้อสัตว์ เน้นกินผักกับน้ำสกัดทุกมื้อ
แค่ 10 วันแรกก็รู้สึกดีขึ้น สัก 6 เดือนก็หายเป็นปกติ
มันหายได้จริงๆ ถ้าคุณกล้ากิน กล้าที่จะเบรก คือถ้าไม่ป่วยเองก็ไม่รู้จัก
ไม่เชื่อวิธีนี้”

เพราะรู้ตัวว่าขืนทำงานแบบเดิมคงอยู่ได้ไม่นาน
ยุทธนาจึงตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพ
โดยเริ่มต้นจากรับเอาสินค้าจากเกษตรกรมาขายในห้างสรรพสินค้า ก่อนจะเปลี่ยนมาดัดแปลงรถไว้เร่ขายของ
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ ‘Shortcut
Organic ทางลัดสู่อาหารปลอดสารเคมี’

Shortcut Organic : Food Truck เพื่อสุขภาพ
“เราขายแบบฟู้ดทรักเพราะดึงดูดความสนใจได้มากกว่าตั้งร้านทั่วไป
ถึงแม้เราจะเป็นรถขายสินค้าออร์แกนิกคันเดียวในขบวนฟู้ดทรักทั้งหลาย
มีลูกค้าเข้ามาซื้อและสอบถามข้อมูลเรื่องการกินอยู่ในวิถีของเราอย่างต่อเนื่อง
เราอิ่มเอมใจทุกครั้งที่ลูกค้าจากลาด้วยการยกมือไหว้ เราปลื้มปีติกับคำชมในเรื่องการใส่ใจเลือกอาหารดีมีประโยชน์มาขาย
เราดีใจกับการทักทายของลูกค้าหน้าเดิม เราพบว่ายิ่งขายยิ่งมีความสุข
และสนุกกับการบอกเล่าถึงที่มาของสินค้า
อธิบายเรื่องความต่างของอาหารอินทรีย์และอาหารเคมี”

“บางคนบอกใช้ชื่อนี้เหมือนฆ่าตัวตาย
รัดคอตัวเองชัดๆ Shortcut Organic นี่คือเอาอะไรมาขายนอกเหนือจากนี้ไม่ได้เลยนะ
ช่วงแรกๆ ก็ยังเถียงกันกับแฟนว่าจะเอายังไงกันดี แต่กาญจนาเขาฟันธงเลยว่าต้องเป็นชื่อนี้
ของไม่ดีเราจะไม่เอาให้ลูกค้ากินเด็ดขาด บังคับตัวเองไปในตัวเลย ซึ่งของที่เราขายก็จะเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกทั้งหมด
กาแฟโรบัสต้าจากระนอง น้ำตาลอ้อย นม ขนมปังอินทรีย์
คือวัตถุดิบที่ใช้ก็มาจากสินค้าในเครือข่ายของเราที่การันตีได้ว่าเป็นสินค้าออร์แกนิกจริงๆ”

ผลพลอยได้จากการตัดสินใจครั้งนี้ไม่ใช่แค่สุขภาพที่ดีของลูกค้า
แต่ Shortcut Organic ยังทำให้ยุทธนาและภรรยามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
จากคนทำงานออฟฟิศที่เคยไม่ได้นอนติดกัน 3 วัน
วันนี้เขาเลือกเวลาทำงานเองได้ จะขายที่ไหน วันไหน บริหารจัดการทุกอย่างเองได้หมด

ค้นหาเอกลักษณ์ ก้าวข้ามอุปสรรค
ยุทธนาเล่าว่า เมื่อก่อนนั้นเขาขับรถแห่ไปขายทุกที่
และเคยแม้กระทั่งเสียเงินค่าเช่าไปฟรีๆ ถึงวันละเกือบ 3,000 บาท
แลกกับการนั่งดูคนเดินไปมา กาแฟโบราณยังครองตลาด
ไม่มีใครสนใจกาแฟออร์แกนิกเท่าที่ควร

“ช่วงแรกๆ อุปสรรคเยอะมาก
ต้องควักเนื้อเอาเงินตัวเองมาหมุนมาโปะ เพราะมันอยู่ไม่ได้จริงๆ ก็อยู่แบบนั้นกันเป็นปีๆ จนมาเจอทางรอดคือคิดค้นเมนูที่เป็นเอกลักษณ์ของเรา
อย่างนมมิลค์เบอร์รี่ เราเอาหม่อนไปหมักในน้ำผึ้ง ใส่นม เติมโซดา
แล้วก็พัฒนาเมนูพิเศษไปเรื่อยๆ นมข้นหวาน ครีมเทียมอะไรเราก็ไม่ใช้
เราใช้นมออร์แกนิกกับน้ำตาลอ้อยแทน ส่วนราคาตอนแรกตั้งไว้ 30 – 40 บาท
แต่ถูกมากก็อยู่ไม่ได้อีก เลยค่อยๆ ขึ้นมาเป็น 60 จนตอนนี้อยู่ตัว
ดีขึ้นมากแล้ว”

คาราวานปลอดสาร เครือข่ายเพื่อสุขภาพ
เพราะมีเป้าหมายที่อยากให้อาหารปลอดสารเข้าถึงกลุ่มคนให้ได้มากที่สุด
ยุทธนาจึงเริ่มต้นชักชวนกลุ่มเพื่อนที่ขายของและทำเกษตรอินทรีย์ด้วยกัน ขยายเครือข่ายฟู้ดทรักเพื่อสุขภาพให้เติบโตแข็งแรง

“จุดเริ่มต้นก็ชวนกันว่าอยากจะทำอะไรที่แปลกและสร้างสรรค์
ก็คิดถึงการสร้างคาราวานขายอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ก็เน้นไปว่ามันจะเหนื่อยมากนะ
ถ้าทำแล้วอย่าทิ้งกัน คือเราไม่ได้เน้นขายแค่เอากำไร
แต่เรามีเป้าหมายอยากให้คนมีสุขภาพดี ถ้ามาทำคือต้องมีใจรักจริงๆ
ต้องไปเข้าฟังอบรม ไม่ยังงั้นถึงเวลาคุณเห็นว่ากำไรน้อย เอาของไม่อินทรีย์มาขายปนกัน
ความน่าเชื่อถือมันก็ไม่เหลือ อย่างตอนนี้รถฟู้ดทรัก 2,000 คัน แค่ 7
คันเท่านั้นเองที่ยอมรับเงื่อนไข และมีใจอยากทำจริงๆ”

เทคนิคจูงใจ เปลี่ยนตัวเองเพื่อสังคม
แน่นอนว่าโจทย์หลักของยุทธนาคือการทำอย่างไรให้คนหันมาสนใจอาหารปลอดสาร
และผู้เข้าร่วมคาราวานสามารถขายสินค้าได้ เขาเริ่มต้นด้วยการแนะแนวความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์และเสนอแนะช่องทางทำกิน
สร้างแบรนด์ที่สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง อย่าง ‘Trust Food Good Truck’ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับสมาชิก

“เมื่อเข้าร่วมกับเราแล้วเราคือพี่น้องกัน
ไปไหนไปกัน โตไปด้วยกัน เราจะคอยบอกคอยแชร์แหล่งที่มาของวัตถุดิบในกลุ่มเครือข่าย
เชื่อมโยงเกษตรอินทรีย์ เพื่อจะได้ไม่ต้องผ่านคนกลาง ถ้าเราดีลกันเองได้
เราก็ลดต้นทุนได้ กระจายสินค้าได้มากขึ้น ผู้บริโภคก็ได้กินของดี”

ยุทธนามองว่า ทุกวันนี้ที่เกษตรอินทรีย์ไม่ยั่งยืน
เพราะคนมองเป็นแค่แฟชั่น คนขายไม่ได้ซื่อสัตย์กับลูกค้าจริงๆ
มาเข้าร่วมกับคาราวานก็ขายของออร์แกนิกหวังกำไร แต่พอกลับไปก็ขายอีกอย่าง ดังนั้นตัวคนขายเองก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเพื่อให้ตัวเองสุขภาพดีเช่นกัน
และการรณรงค์ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กันเลย

ไม่ใช่แค่คนขายกาแฟ ความสุขแค่อยากเห็นคนมีสุขภาพดี
“ผมมีความสุขที่ได้นำสิ่งดีๆ มาให้คุณ
มีความสุขที่เกษตรกรไม่ใส่สารเคมีให้คุณกิน มันคือความภาคภูมิใจที่เราได้ออกไปพูดคุยแล้วเจอคนที่สุขภาพดี
คนที่อยากรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วเข้ามาหามาถามเรา เราก็บอกเขาทุกอย่างเท่าที่เรารู้
เพื่อให้เขานำไปต่อยอดได้”

ยุทธนาทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญในการทำเพื่อสังคมคือต้องเป็นคนคิดบวก
อย่าย่อท้อต่ออุปสรรค หลังจากนี้เขาเองก็จะขยายเครือข่ายคาราวานอาหารเปลอดสารให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

“เราจะค่อยๆ โตขึ้น
เพื่อให้คนในสังคมมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน”

Shortcut Organic

ประเภทธุรกิจ: ฟู้ดทรัก
คอนเซปต์:
ฟู้ดทรักขายเครื่องดื่มปลอดสารเคมี
เจ้าของ: ยุทธนา เจริญชัย (48 ปี) กรรณิกา เจริญชัย (49 ปี)
Facebook: Shortcut Organic

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR