10mm. & 10ml. : ความฝันขนาดจิ๋วแต่ยิ่งใหญ่ของสองสาวพี่น้องนักวาดภาพ มุนินฺ และ SIRI

ลายเส้นดินสอบางๆ ตัวการ์ตูนชายหญิงวัยมัธยม ความสัมพันธ์อุ่นๆ ของหนุ่มสาว เพื่อน และคนในครอบครัว คือเอกลักษณ์ที่เราจำได้ดีจากการ์ตูนของ มุนินฺ ที่อ่านทีไรก็น้ำตาซึมคิดถึงใครสักคน 9 ปี คือระยะเวลาที่ตัวการ์ตูนเหล่านี้ย้ายจากบล็อก exteen.com สู่เพจเฟซบุ๊ก และกลายเป็นหนังสือนิยายภาพขนาดกะทัดรัด พร้อมกับยังโลดแล่นอยู่ในโลกของคนอ่านที่ต่างเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ไม่ต่างจากคนทำ เมษ์-มุนินทร์ สายประสาท คือนักวาดภาพสาวที่เริ่มต้นการเขียนการ์ตูนเล่าเรื่องตั้งแต่ยังเรียนอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังเรียนจบ เธอก้าวเข้าสู่อาชีพนักวาดการ์ตูนมืออาชีพ และก่อร่างความฝันด้วยการทำสำนักพิมพ์ของตัวเองในชื่อ 10 มิลลิเมตร (10mm.) ที่ตั้งใจพิมพ์หนังสือภาพโดยเฉพาะเมื่อ 3 ปีที่แล้ว พร้อมกับเปิดบุ๊กคาเฟ่เล็กๆ ในตัวเมืองโคราช ส่วนพี่สาวแท้ๆ กวาง-สิรินาฏ สายประสาท ที่หลายคนอาจคุ้นลายเส้นน่ารักกับเรื่องเล่าท่องเที่ยวอ่านง่ายอย่าง ไต้หวันไปวันๆ ในนามปากกา SIRI ก็เพิ่งเปิดคาเฟ่ เวิร์กช็อปสตูดิโอ และแกลเลอรี่ในชื่อที่พ้องกันว่า 10ml. เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ความฝันและการทำสิ่งที่รักด้วยมือของสองสาวพี่น้อง เพราะอยากสร้างพื้นที่และเส้นทางให้นักวาดภาพไทยรุ่นใหม่ได้มีที่ไป คือเหตุผลที่พอแล้วที่เราอยากนั่งคุยกับพวกเธอยาวๆ

สำนักพิมพ์ที่อยากผลักดันงานหนังสือภาพแบบใหม่ๆ

มุนินฺ: “ช่วงแรกที่ยังเป็นนักวาดการ์ตูนอิสระ เราออกหนังสือกับหลายสำนักพิมพ์ คาแรกเตอร์ของแต่ละที่จะเหมาะกับเรื่องเล่าบางอย่าง เงื่อนไขพวกนี้ทำให้เราอยากลองทำหนังสือแบบที่เราอยากทำจริงๆ และก็ตั้งใจอยากให้ผลงานของเราได้มาอยู่รวมกัน ไม่กระจัดกระจาย

“เราทำงานหนังสือมาได้ประมาณปีที่ 7 – 8 รู้สึกว่าตัวเองทำเกือบครบกระบวนการของหนังสือแล้ว คิดว่าน่าจะหาคนมาช่วยหรือเรียนรู้เองได้ อีกเหตุผลคือเราคิดว่าจะทำงานของเราไปได้อีกนานแค่ไหน จะมีวันที่หมดไอเดียหรือแรงบันดาลใจไหม แต่เรายังอยากเห็นการ์ตูนหรือแนวการเล่าเรื่องแบบนี้อีก การทำสำนักพิมพ์เลยเท่ากับมองหาคนใกล้ตัวหรือน้องๆ ที่เราเคยเห็นผลงานและพยายามจะผลักดันพวกเขาให้ขึ้นมา”

คาแรกเตอร์ของนักเขียนต้องไปไหนไปกัน

มุนินฺ: “หนังสือล็อตแรกๆ ก็เป็นงานของเราเอง แล้วก็พี่กวาง ส่วนนักเขียนคนอื่นก็เริ่มจากเพื่อนที่เราเห็นว่าคนนี้เก่งด้านไหน พอคนเริ่มเห็นว่าเราทำอะไรอยู่ ก็เริ่มมีน้องๆ เข้ามาหาแต่ไม่ใช่มายื่นต้นฉบับนะ แค่เป็นว่ายินดีด้วยนะพี่ มาเป็นเพื่อน เป็นพี่น้องก่อนแล้วเราจะค่อยเข้าไปเห็นผลงานและตัวตนเขาเอง

“เราทำสำนักพิมพ์กันแบบโฮมเมด เราไม่ใช่แค่ทำหน้าที่เป็น บ.ก. กับนักเขียนแล้วทวงงานกัน แต่เราต้องเจอกัน อยู่ด้วยกัน ไปไหนไปกันได้ เลยค่อนข้างจำกัดว่าไม่ใช่ใครก็ได้ แต่เราคัดทั้งลักษณะงานและตัวตนของเขาด้วย อยากให้นักเขียนได้เจอกับคนอ่านด้วย ตัวตนเขาน่าจะต้องเข้าถึงได้ประมาณหนึ่ง ซึ่งถ้านี่เป็นความฝันของเขา ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากหนังสือออกมันจะดีกับเขาหมดเลย เรารู้ว่าเขาต้องดีใจแน่ๆ ที่ได้เดินไปเจอหนังสือของตัวเองที่ร้านหนังสือ เขาจะมาที่บูททุกวัน มาคุยกับคนอ่านของเขา ทุกคนไม่ได้โฟกัสว่าสิ่งนี้เป็นรายได้หลักอะไร

“เราอยากได้คนออกมาทำหนังสือ มาพยายามด้วยกัน และสนุกไปด้วยกัน”

SIRI: “ตอนแรกเราเองทำงานเป็นผู้แทนขายเครื่องมือแพทย์ แต่เป็นคนชอบวาดภาพอยู่แล้ว เวลาไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือคาเฟ่ จะชอบถ่ายรูปแล้ววาดตัวการ์ตูนลงไปบนรูปถ่าย เล่าเรื่องว่าตัวการ์ตูนนี้ไปไหนมาบ้าง มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น เป็นคาแรกเตอร์เด๋อๆ พังๆ คนเลยเอาใจช่วย เลยได้เริ่มเปิดเพจโดยมุนินทร์เป็นพี่เลี้ยง คนอ่านก็บอกว่าเราเล่าเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางแล้วสนุก เลยมุ่งมาสายนี้ดีกว่า”

รู้กลุ่มคนอ่านก็ทำงานได้ตรงจุด

มุนินฺ: “เรามีโค้ชในการทำสำนักพิมพ์คือพี่คิด (สมคิด เปี่ยมปิยชาติ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Fullstop) ที่เห็นว่าพวกเราเป็นรุ่นใหม่และพยายามส่งพลังมาให้เราทำต่อ อย่างเรื่องการสำรวจคนอ่านก็มาจากพี่คิด ซึ่งพอคุยแล้วก็พบว่าเป็นกลุ่มเดียวกับ Fullstop คือคนที่ทำงานสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ หมอ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ที่อ่านหนังสือเรียนแล้วเขาเครียดแล้ว ต้องการเนื้อหาที่เบา ง่ายๆ มีเวลาไม่เยอะแต่ขอได้เปิดหนังสืออ่านก็ผ่อนคลายแล้ว เราเลยมองว่าเราอยากทำงานให้เขาที่มีเนื้อหาลึกซึ้ง แต่เข้าถึงง่าย มีภาพประกอบที่น่าดู แนวทางจากที่ทีแรกเป๋ๆ ก็เริ่มชัดว่าคนอ่านอยากได้อะไร พอลองออกเรื่องสั้น เรื่องแต่ง คนก็ยังอ่าน เขาเริ่มจดจำเรา เปิดรับในสิ่งที่เราเลือกมาแล้ว”

“แรกๆ เราออกประมาณปีละ 3 – 4 เล่ม หลังๆ เริ่มเยอะขึ้นเป็นปีละ 6 เล่ม อย่างงานสัปดาห์หนังสือเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้แค่ของเราเองก็ 4 เล่มแล้ว พี่คิดบอกตลอดว่าต้องทำงานให้มาก ต้องไม่ทำให้คนอ่านที่ติดตามงานเราผิดหวัง ทำไมนักวาดต้องอาร์ตขนาดนั้น ทำไมบางคนสามปีถึงออกแค่เล่มเดียว ความต่อเนื่องก็หาย เพราะกลุ่มคนอ่านของเรามีกำลังซื้ออยู่แล้ว แต่พอไปถึงทำไมมีหนังสือออกใหม่แค่นิดเดียว นักวาดคนนี้ไม่ออกสักเล่ม พอไม่มีอะไรให้เขาซื้อ คราวหลังก็ไม่มาแล้ว”

สร้างที่ทางที่ไปให้นักวาดการ์ตูนไทยรุ่นใหม่

มุนินฺ: “ยิ่งมีนักวาดภาพเยอะๆ ก็ต้องดีอยู่แล้ว อย่างช่วงที่เพจเฟซบุ๊กมาแรงแล้วมีหนังสือภาพที่รวมจากนักวาดในนั้นก็เป็นช่วงที่คึกคัก เราในมุมคนซื้อก็สนุกเหมือนกัน เห็นหนังสือภาพก็หยิบเลย แต่ช่วงนี้เริ่มแผ่วลงซึ่งอาจคัดคุณภาพมากขึ้น งานนี้มันไม่ได้ผลตอบแทนเยอะขนาดนั้นเลยทำให้บางคนเข้ามาแล้วก็หายไป เรามีหน้าที่ทำตรงนี้ว่ามีคนเข้ามาเยอะแล้วทิศทางที่จะไปต่อคืออะไร นักวาดภาพรุ่นใหม่ยังไม่เห็นว่าเขาจะมั่นคงได้ยังไง ยังไม่มีรูปแบบการเล่าที่ชัดเจน เราพยายามทำให้เห็นว่ามีรุ่นพี่ทำงานแบบนี้โอเคนะ แต่ต้องอดทน ต้องทำงานต่อเนื่อง เราจะช่วยไกด์เขาเพราะเราก็อยากให้มีนักวาดที่เขียนเล่าเรื่องได้มากขึ้นในวงการนิยายภาพ ถ้าทำได้มันจะมีทางให้ไปต่อเยอะ”

สถานที่ที่มีปริมาตรเป็นความฝัน

มุนินฺ: “บุ๊กคาเฟ่ 10mm. เกิดจากเราสร้างบ้านที่โคราช พื้นที่ละแวกนั้นมีร้านอาหาร คนมาบ้างอยู่แล้ว งั้นเรามาทำร้านหนังสือให้คนเดินเล่นหน่อยมั้ย มีของกระจุกกระจิกให้เลือก มีกิจกรรมให้นั่งทำอย่างเขียนโปสการ์ด ออกแบบปกสมุด ทำเลไม่ได้อยู่ในย่านที่คนไปเที่ยวเท่าไหร่ แต่ก็อยากทำให้มันเป็นดิสเพลย์ขึ้นมา ส่วนตัวเราก็ขายหนังสือเองอยู่แล้วหรือมีหนังสือฝากขายบ้าง ก็ขายตรงนี้ด้วยเลย ตรงนั้นเป็นบ้านเราด้วยก็นั่งทำงานเปิดเพลงไป ไม่ได้คิดถึงกำไรขาดทุนมาก แต่สุดท้ายก็อยากได้กำไรแหละ (หัวเราะ)

“ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนโคราช ถ้าคนกรุงเทพฯ ก็จะแวะตอนขากลับจากภาคอีสาน แต่เป็นกลุ่มคนที่มีคาแรกเตอร์เดียวกับคนอ่านหนังสือของเรา ชอบทำอะไรเล็กๆ ง่ายๆ ก็พอใจแล้ว เราเลยพยายามจัดกิจกรรมให้คนอยากกลับมา จัดนิทรรศการ หรือมีงานศิลปะอะไรให้ทำ ถ้ามาครั้งนี้ก็จะได้เจอสิ่งนี้เป็นสิ่งใหม่”

SIRI: “ส่วนที่ 10ml. เดิมทีเป็น Porjai Home Cafe ซึ่งเป็นเพื่อนกัน แล้วเราเปิดสอนเวิร์กช็อปที่สตูดิโอชั้น 3 ของตึกนี้ สักพักเพื่อนอยากเซ้งร้านเพื่อเขาจะได้ทำเค้กส่งอย่างเดียว เราเลยเข้ามาดูแลแทน ตั้งใจให้เป็นคาเฟ่ที่มีคอนเซปต์เหมือนพื้นที่ทดลองเชิงศิลปะ โลโก้เป็นหลอดทดลอง โทนสีเป็นแม่สีอย่างแดง เหลือง น้ำเงินให้มันไปด้วยกันกับเวิร์กช็อปที่กลุ่มคนอ่านของเราจะมาใช้เวลาว่างในวันหยุดทำอะไรง่ายๆ อย่างการวาดภาพ จัดดอกไม้ ถ่ายรูป”

“ส่วนแกลเลอรี่ก็แสดงงานศิลปะที่เข้าถึงง่าย สนับสนุนนักวาดรุ่นใหม่ๆ ด้วย มันเกิดมาจากเราเคยถูกชวนไปจัดแสดงงานที่ประเทศไต้หวัน ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เป็นศิลปินที่มีคนรู้จักขนาดนั้น เราเลยคิดว่าดีจังที่ไต้หวันเขาเปิดโอกาสให้ศิลปินที่มีแพสชันกับสิ่งที่ทำอยู่ เลยลองเอาโมเดลนี้กลับมาทำ คุณจะเป็นใครก็ได้แต่คุณมาแสดงงานที่นี่ได้นะ”

ช้า แต่ว่าได้ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง

มุนินฺ: “ความช้าอาจจะหมายถึงการเติบโต การจะมีอะไรขึ้นมาสักอย่าง เราคิดไตร่ตรอง หาทีม หากำลัง เป็นไปตามกระบวนการแต่เพราะว่าคนเราน้อย เพราะเราอยากอยู่ในมัน อยากเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ทำ มันเลยช้า แต่ตัวเราจริงๆ เป็นคนรีบมาก ไม่เคยช้าเลย เราทำหลายอย่างเราถึงต้องเร็ว เล่มนี้เป็น บ.ก. ต้องทำอะไร เล่มนี้เขียนเองก็ต้องรีบทำ แต่กลายเป็นว่าแบบนี้เราก็โอเคที่ได้ค่อยๆ ทำมัน

“ตั้งแต่เด็กเลยที่เราอยากทำอะไรด้วยตัวเอง ต่อให้เหนื่อยก็อยากทำเพราะมันให้ผลลัพธ์ที่ดีกับเรา ความเหนื่อยมันเหนื่อยกว่าตอนเป็นนักวาดอิสระแน่นอนที่ส่งงานเสร็จก็จบงานแล้ว แต่ตอนนี้ต้องมาดูสีหน้าแท่น แต่ทุกสิ่งเราอยากทำ อยากออกจากห้องทำงานไปดูร้าน แต่งานก็อยากวาด เป็นธรรมชาติของเราอยู่แล้วที่ชอบทำอะไรเยอะๆ ไปหมด แต่ที่เยอะๆ ไปหมดก็คือเฉพาะที่เราชอบจริงๆ นะ”

สำนักพิมพ์ 10mm.

ประเภทธุรกิจ: สำนักพิมพ์และคาเฟ่ขนาดกะทัดรัด
คอนเซปต์: ทำหนังสือภาพแบบฉบับโฮมเมดที่คัดสรรทั้งคนเขียนและคนอ่านที่ชอบใช้เวลาว่างไปกับอะไรเล็กๆ ง่ายๆ แต่มีความสุข
เจ้าของ: มุนินทร์ สายประสาท (อายุ 29 ปี)
facebook | 10mm.

10ml.

ประเภทธุรกิจ: คาเฟ่ เวิร์กช็อปสตูดิโอ และแกลเลอรี่
คอนเซปต์: พื้นที่ทดลองเชิงศิลปะที่ผสมผสานทั้งคาเฟ่ เวิร์กช็อปสนุกๆ ง่ายๆ และแกลเลอรี่จัดแสดงงานศิลปินรุ่นใหม่
เจ้าของ: สิรินาฏ สายประสาท (อายุ 34 ปี)
facebook | 10ml.

ภาพ 10mm.

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย