​Made Here On Earth : คอมมูนิตี้จิ๋วของคนรักงานไม้ที่สนุกจะเห็นความฝันกลายร่างเป็นงานจริง

การมีความฝันที่จะลงมือทำบางสิ่งเป็นเรื่องง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเริ่มต้นลงมือทำให้เป็นจริง และไม่ใช่เรื่องง่ายขึ้นไปอีกที่จะช่วยให้คนอื่นได้ลงมือทำความฝันนั้นได้เช่นกัน

ใช่, ไม่ใช่เรื่องง่าย เอฟ-วิทิต ชัยสัมฤทธิ์โชค อดีตนักออกแบบของเล่นไม้ นักเรียนออกแบบด้าน Sustainable Design ดีไซน์เนอร์แท้งค์น้ำที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของ SA-TI HANDCRAFT COFFEE และ Made Here On Earth คอมมูนิตี้จิ๋วของคนรักงานไม้ที่สนุกจะเห็นความฝันกลายร่างเป็นชิ้นงานจริงแบบฟูลไทม์บอกเราอย่างนั้น

แต่การมีอยู่ของ Made Here On Earth กับบทสนทนาในสตูดิโอทำงานช่างที่เต็มไปด้วยความสนุกเคล้าเสียงเลื่อยของเหล่าช่างสมัครใจและสมัครเล่น ยืนยันให้เรารู้ว่า มันอาจไม่ได้ยากเกินไปที่จะทำให้เป็นความจริง

เริ่มเปิดกล่องเครื่องมือ

ถ้าสืบสาวราวเรื่องว่า Made Here On Earth เริ่มต้นมาจากไหน อาจต้องย้อนเวลากลับไปตั้งแต่สมัยที่เอฟยังเป็นเพียงเด็กน้อยเล่นซนในโรงเก็บเครื่องมือของลุง ซึ่งเป็นลูกมือคนสำคัญของอากง ก่อนห่างหายเข้าไปในโลกของการเรียนและทำงานด้านออกแบบ แล้วได้พบว่างานช่างคืออายิโนะโมโตะ เครื่องชูรสในชีวิตที่ไร้รสชาติจากการทำงานเข้าออกตอกบัตร และความเครียดในเมืองใหญ่

“ไอเดียคอมมูนิตี้นี้เราว่ามันเริ่มมาจากความซนวัยเด็กเลย คุณพ่อของอากงมีทักษะงานช่างหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือทักษะงานไม้ แล้วก็ตกทอดมาถึงอากง กับคุณลุงของเราที่เป็นลูกมือของอากงคนสุดท้าย

สมัยเรายังเด็ก เวลาไปอยู่บ้านลุง จำได้ว่าเราจะชอบเล่นกับอุปกรณ์ เครื่องมือช่างไม้ต่างๆ เช่น เห็นเลื่อยเป็นปืน แต่โชคดีว่าอยู่ในสายตาของลุง (หัวเราะ) แกก็อดไม่ได้ที่จะเข้ามาบอกมาสอนว่ามันไม่ได้ใช้อย่างนี้ เลื่อยต้องจับแบบนี้ เลื่อยแบบนี้ เขาบอกอะไรเราก็ฟังก็จำเพราะว่าเคยโดนเลื่อยบาดสิ่วบาดมาบ้างจากความซน

พอโตขึ้นเราก็หายไปจากโลกเครื่องมือ ผันตัวไปอยู่สายการเรียนออกแบบแล้วคิดถึงงานช่างอีกครั้งเวลาต้องเข้าห้องเวิร์คช็อปของมหาวิทยาลัย ใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ สร้างแบบ เวลาได้ยินรุ่นพี่สอน ไอ้ประโยคที่คุณลุงเราเคยบอกก็กลับมา จำได้เลยว่าตื่นเต้นมาก นอกจากเพื่อนในมหาวิทยาลัย ชีวิตในห้องเวิร์คช็อป กลิ่นน้ำมันเครื่อง เสียงเครื่องมือคือความทรงจำที่ติดอยู่ในหัวเราจนวันนี้”

“แล้วก็ห่างหายไปอีกตอนมาทำงานเป็นดีไซน์เนอร์อยู่ออฟฟิศ ทำงานจันทร์ถึงศุกร์ เราเริ่มรู้สึกพลังในตัวเริ่มจางลงเรื่อยๆ เริ่มเพลียๆ เวลากลับมาถึงบ้าน ก็เลยหาอะไรบางอย่างทำเพื่อเติมพลังตัวเอง เปิดเอากล่องเครื่องมือเก่ามารื้อดู แล้วแม่ก็บอกว่าข้าวของนั่นนู่นนี่ในบ้านพัง ช่วยซ่อมให้หน่อย ไอ้เราก็ทำไปทำมา ชักสนุก มันทำให้วันธรรมดาๆ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง (หัวเราะ) ความรู้สึกนั้นอาจจะมาจากทำเสร็จแล้วแม่ภูมิใจ ลูกแม่เก่งจัง (ทำท่าปรบมือยิ้ม) ก็อวยกันอยู่สองคนแม่กับลูก มีกันอยู่แค่นี้แหละ

หลังๆ เราก็เริ่มเล่นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ บางไอเดียไม่มีเครื่องมือพอจะสร้าง วิ่งไปหาช่าง ช่างก็บอกไม่ทำ แต่เราคนที่เคยทำมารู้อยู่ว่าสิ่งนี้สามารถทำได้ ตอนนั้นเหลือบไปเห็นเครื่องมือเขาที่เราไม่มีนี่แทบอยากจะขอเข้าไปใช้ทีนึง แต่ก็เข้าใจช่างนะ

เพื่อนเราที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งด้วยกันก็เจอปัญหานี้ เขาก็เริ่มทักขึ้นมาว่าน่าจะมีสถานที่ที่รวมเครื่องไม้เครื่องมือของคนอยากทำสิ่งของอะไรสักอย่างให้เป็นจริงนะ ก็เลยเกิด Made Here On Earth”

ร่างแบบชิ้นงานในฝัน

“ที่นี่เราไม่อยากให้เป็นสตูดิโอทำงานแบบปิด อยากให้คนเข้ามายุ่งวุ่นวายกับเรา (หัวเราะ) มันเลยเป็นคอมมูนิตี้จิ๋วมากกว่าที่จะเป็นสถานที่ทำงานของนักออกแบบสาย Maker เท่านั้น ก็ค่อยๆ กลายร่างไอเดียให้เป็นจริงตั้งแต่การเลือกโลเคชันว่าควรเป็นที่ที่มีความเป็นเมือง แต่ไม่เมืองจ๋า ซึ่งย่านอารีย์ตอบโจทย์ เราอยากส่งต่อสิ่งนี้ให้คนเมืองนะ เพราะว่าการลงมือทำบางสิ่งด้วยตัวเองแล้วเห็นเป็นชิ้นงานจริงๆ มันเติมเต็มความรู้สึก ทำให้คนลืมความเหนื่อยล้าเรื่องงาน ชีวิต ครอบครัว อะไรก็แล้วแต่ ชีวิตคนมันกลมขึ้นถ้าได้ลงมือจดจ่อสติกับการผลิตชิ้นงาน”

ลงมือสร้างชิ้นงานอย่างยั่งยืน

“เหตุผลที่เราอยากให้คนมายุ่ง และออกแบบที่นี่เป็นคอมมูนิตี้เพราะมันคือแนวคิดการออกแบบอย่างยั่งยืนอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้จากคลาส Sustainable Design ยั่งยืนเพราะว่าอะไร

หนึ่ง ข้าวของเครื่องใช้ที่คนเราทิ้งกัน มันเป็นของที่ซื้อมาได้ง่าย หลายอย่างไม่ได้ออกแบบมาเพื่อตัวเราโดยเฉพาะ ถ้าสิ่งนั้นถูกออกแบบมาแล้วใช่มากๆ กับตัวเรา ยังไงเราก็เก็บ แต่ในโลกความเป็นจริง เราเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องซื้อ แต่ถ้าของสักอย่างในชีวิตประจำวันที่เราสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง บางอย่างซื้อมาแล้วอาจจะแค่เพนท์ลายลงไป บางคนเขาก็รู้สึกว่ามันมีคุณค่ามากแล้วไม่อยากทิ้งลงถังขยะ นั่นก็คือการช่วยลดความสิ้นเปลืองอีกทางนะ เราเชื่อว่าการออกแบบอย่างยั่งยืนสามารถเริ่มมาจากแค่การทำของชิ้นเล็กๆ แล้วค่อยๆ เริ่มลุกลามเป็นของชิ้นใหญ่ๆ ในที่สุด

ชื่อสตูดิโอของเรายังบ่งบอกถึงความภูมิใจในสิ่งที่เราทำขึ้นเองกับมือ อาจไม่ได้สวยในสายตาคนอื่น แต่โคตรมีคุณค่าทางใจกับเรา และเป็นการระลึกว่า สิ่งที่เราทำ เราเอาทรัพยากรของโลกมาใช้นะ อย่าลืม ทำแล้วก็ดูแล ก็รักเขาด้วย

สองคือการที่มีคนเข้ามาวุ่นวาย มันสร้างการเชื่อมโยงของผู้คนต่อกันไปเรื่อยๆ ซึ่งสนุกมากเลย ทำให้เราเปิดโลกอะไรตั้งหลายอย่าง และเปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีทักษะแต่มีฝันได้ลองทำจริงๆ ถ้าทำงานสตูดิโอปิดก็อาจจะมีแต่กลุ่มนักออกแบบมาใช้ แต่กลุ่มคนที่เขาอยากมีของใช้เป็นของตัวเองแต่ไม่เคยมีทักษะจะไม่มีวันมาแน่นอน เพราะรู้สึกว่าฉันไม่เก่งเลย ฉันตัวเล็กจัง”

พูดคุยกับทีมช่างเพื่อพัฒนาชิ้นงานไฟนอล

“กลุ่มเป้าหมาย เราแยกออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือกลุ่มนักอยากออกแบบแต่ไม่มีทักษะทำงานช่างมาก่อน ไม่มีเครื่องมือ เราก็จะสอนตั้งแต่ยื่นอาวุธให้ก็คืออุปกรณ์ เครื่องมือช่าง เครื่องจักร ตลอดจนสอนวิธีล่าทุกรูปแบบ เพราะเมื่อจบชิ้นงานเขาจะสามารถออกไปล่าได้เองแล้ว กลุ่มต่อมาเป็นนักออกแบบที่รู้วิธีการใช้อาวุธ การล่าอยู่แล้ว เพียงแต่เขาอาจไม่ได้มีอาวุธที่พร้อมมือ ที่นี่ก็มอบอาวุธให้เขาใช้เต็มที่ และกลุ่มสุดท้ายคือคนที่ไม่มีเวลาแต่ต้องการข้าวของเฉพาะตัวมากๆ เราก็จะยื่นเมนูอาหารให้ นั่งพูดคุยกัน เช่น บางคนอยากได้ตู้ใส่ถุงช็อปปิ้งได้โดยไม่ต้องพับ แล้วต้องวางหม้อหุงข้าวได้ แต่ก็ต้องได้ไซส์ สี พอดีกับห้องเขา เราก็คุย พัฒนาแบบให้เขาจนกว่าเขาจะบอกว่าใช่ แล้วลงมือทำ หรือออกล่าให้เขา”

อยากทำเมื่อไหร่ก็แวะมา (จนกว่าชิ้นงานจะสำเร็จ)

“โมเดลการออกแบบบริการให้คนที่มาใช้งานเข้ามาเมื่อไหร่ก็ได้ มาจากคำถามที่ว่าจะทำอย่างไรให้การมาฝึกฝนฝีมือที่นี่ผ่อนคลายที่สุด เราไม่อยากให้คนรู้สึกกดดันเหมือนเวลาไปกวดวิชา ต้องเข้าตามเวลาเป๊ะๆ หรือทำงานออฟฟิศ ต้องทำงานเข้าออกตามเวลาทุกวันก็โหดพออยู่แล้ว ถ้าต้องมาที่นี่ให้ตรงเวลาที่ซื้อไว้อีกก็ตายกันพอดี

เราจึงดีไซน์เป็นบัตรชั่วโมงมีตั้งแต่ 10 ชั่วโมง 100 ชั่วโมง มาถึงก็แตะบัตรเข้าประตูมาทำงานในสตูดิโอเมื่อไหร่ก็ได้ จนกว่าเวลาบัตรจะหมด แต่บัตรเวลาแต่ละตัวก็มีวันหมดอายุเหมือนกัน เช่น 10 ชั่วโมง มีอายุการใช้งาน 30 วัน เพราะไม่อยากให้ยืดเวลาออกไปนานมากจนไฟในการลงมือทำมอดไปก่อนชิ้นงานเสร็จ”

แบ่งปันชิ้นงานให้ผู้อื่น

“เราอยากให้ที่นี่เป็นคอมมูนิตี้จิ๋ว แล้วกระจายความตั้งใจของเราออกไปให้มากที่สุด เราจึงออกแบบกิจกรรมพูดคุยเสวนาฟรีๆ ควบคู่ไปด้วยเมื่อมีเวลา อย่างวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ เราจัดกิจกรรม Talk On Earth “Start Up Break The Invisible Walls” เป็นงานพูดคุยแบบสบายๆ ในสวนเล็กๆ ของสตูดิโอเรา ก็ชวนคนที่เขาสนุกจะเห็นความคิด ความฝันเป็นชิ้นงานจริง แล้วประสบความสำเร็จมาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ เล่าถึงวิธีต่อยอดธุรกิจในอนาคต

อย่างคุณชาติฉกาจ ไวกวี ในแง่มุมการก่อตั้งแบรนด์ Truly และ Airlab คุณพงศ์ศักดิ์ เอื้อบุญปีติ นักออกแบบที่เชี่ยวชาญด้านทักษะงานไม้ ช่างทำกีต้าร์และเจ้าของแบรนด์ fruitful อันนี้จะเป็นในมุมของช่าง และคุณภูสินธุ์ เต็มมาศ กับคุณพงษ์ภัทร์ แผ่สุวรรณ เจ้าของแบรนด์ MUCA บ้านแมวโมดูลาที่มีจุดเริ่มต้นการสร้างผลงานที่ Made Here on Earth สองคนนี้เขาเริ่มจากมานั่งดื่ม นั่งคุยกับเพื่อน ไปๆ มาๆ ก็เริ่มชวนเราคุยว่าผมอยากทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็สนุกไปด้วยกัน และมันดีที่ได้เห็นเขาตั้งแต่ตอนความฝันยังอยู่ในกระดาษ แล้วที่ประทับใจมากคือตัดภาพมาอีกทีเราก็ไปนั่งอยู่ในภาพหมู่งานแต่งเขาแล้ว (หัวเราะ) นี่แหละความสนุกของการออกแบบที่นี่ให้เป็นคอมมูนิตี้จิ๋วๆ”


Made Here On Earth

ประเภทธุรกิจ: Co –Workshop Space
คอนเซปต์: คอมมูนิตี้จิ๋วของคนรักงานไม้ที่สนุกจะเห็นความฝันกลายร่างเป็นชิ้นงาน
เจ้าของ: เอฟ-วิทิต ชัยสัมฤทธิ์โชค (อายุเท่าไหร่นั้น ยังเป็นปริศนา แต่ทายจากใบหน้าคิดว่า 20 ปลายๆ กลายๆ 30)
Facebook | Made Here On Earth

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR