ทุกคนอาจจะมีสิ่งที่ยังติดอยู่ในใจ สิ่งที่เรารอคอยให้ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อที่จะได้ลงมือทำ จนกาลเวลาล่วงเลยผ่านไปนาน รู้ตัวอีกทีผมของเราที่เคยเป็นสีดำก็กลายขาว ผิวหนังที่เคยเต่งตึงก็หย่อนคล้อย
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้จะหยุดเราไม่ให้เริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ได้
‘สนุกสนาน ขี้เล่น และเข้าถึงง่าย’ สิ่งที่เรารู้สึกเมื่อได้เห็นภาพผ่านโซเชียลมีเดียของ
‘สมบูรณ์-สมบูรณ์ วิวัฒนานุกูล’ คุณลุงช่างไม้วัย 74 ปี ผู้มีใจรักในไม้มาตั้งแต่ยังหนุ่ม โดยใช้ชื่อว่า Boon’s Hobby มีความหมายตรงตัวว่าเป็นงานอดิเรกของลุงสมบูรณ์ ที่ตั้งใจทำสนุกๆ ไม่ใช่ธุรกิจจริงจัง
ความน่าสนใจของ Boon’s Hobby คือการนำไม้เก่าที่เขาเก็บสะสมไว้ มาสร้างสรรค์เป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายในบ้าน โดยลุงสมบูรณ์ตั้งใจไว้ว่าจะพยายามคงรูปของไม้ให้ธรรมชาติได้มากที่สุด
ด้วยใจรักและใส่ใจในรายละเอียดนั้น ทำให้ผลงานของเขาสะท้อนคาแรกเตอร์ความเป็นตัวเองได้อย่างแจ่มชัด
เมื่อ ‘ไม้เก่า’ กับ ‘วัยเก๋า’ มาเจอกัน เกิดเป็นความเข้ากันแบบลงตัว เราจึงอยากจะพาทุกคนมารู้จักกับลุงสมบูรณ์ แห่ง Boon’s Hobby ผู้เรียก ‘กองไม้’ ว่า ‘กองสมบัติ’
ปลุกไม้จากแพชชัน
หากถามถึงจุดเริ่มต้นความสนใจในไม้ เราคงต้องขอพาทุกคนย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2526 สมัยที่ลุงสมบูรณ์พักอยู่กับน้องชายที่จังหวัดเชียงราย มาวันหนึ่งน้องชายซื้อตอไม้สักมาไว้เต็มโรงงาน ลุงสมบูรณ์เห็นไม้ก็ความเกิดรู้สึกชอบ
เลยให้น้องชายไปเร่ตุนซื้อเก็บไว้ คิดเผื่อว่าวันหนึ่งจะเอามาทำอะไร เวลาล่วงผ่านเลยไป แพชชันที่ก่อตัวมาอย่างยาวนานผ่านไป 30 กว่าปี ก็เพิ่งได้เริ่มลงมือทำจนเกิดเป็น Boon’s Hobby
เขาตั้งต้นสตูดิโอช่างไม้แถบชานเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ที่มองไปแต่ทางไหนก็เจอแต่ไม้ตั้งอยู่เต็มไปหมด จนเรานึกภาพต่อไม่ออกว่าไม้เหล่านี้จะ สามารถนำไปทำเป็นอะไรได้บ้าง
“ที่ตั้งอยู่ตรงนั้นหรอ สี่ห้าปีแล้ว ผมเรียกมันว่า “กองสมบัติ” จริงๆ กองสูงกว่านั้นนะ ติดหลังคาเลย”
ลุงสมบูรณ์ได้ไม้มาจากอาคารโรงงานยาสูบที่ถูกรื้อทิ้งแล้ว เขาเห็นแล้วก็อดเสียดายไม่ได้ที่เศษไม้เหล่านี้จะมีจุดจบเป็นเพียงเชื้อไฟ เลยปิ๊งไอเดียคืนชีพให้กับกองไม้กระท่อนกระแท่นเหล่านี้ โดยเอามาลองทำเป็นเก้าอี้สนาม
เมื่อความรักในงานไม้เริ่มหนักแน่นขึ้นเรื่อยๆ เขาก็เริ่มสะสมไม้ตามแหล่งต่างๆ มาชุบชีวิตให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง “อย่างเช่นกองที่อยู่ตรงนี้ ผมก็ไปซื้อมาจากจังหวัดตาก เป็นไม้เนื้อแข็งที่อยู่แถบเขื่อน พอมันตายเขาก็เอามาขายเป็นมัดๆ” ลุงสมบูรณ์พูดพร้อมชีไม้ชี้มือ อวดคลังสมบัติของเขาให้เราฟัง
สำหรับเขาการสัมผัสงานไม้ โดยเฉพาะพวกไม้เก่าๆ ทำให้เราเห็นคุณค่าของมัน “ยกตัวอย่างว่า ถ้าเป็นคนที่ป่วยหรือเป็นคนที่นอนอยู่กับที่ เราอยากปลุกให้เขาลุกขึ้นมา ให้เขามีคุณค่า อยากสร้างคุณค่าในตัวเขา มีความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เหมือนตอไม้ที่โกดังที่เชียงรายเก็บไว้ ผมก็อยากปลุกให้เขาตื่นขึ้นมา”
เศษไม้เหล่านี้จะถูกลุงสมบูรณ์นำมาล้างเนื้อล้างตัวทำความสะอาดเสียใหม่ และสร้างสรรค์เป็นผลงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เก้าอี้ โต๊ะ ม้านั่ง หรือเชลฟ์วางของ โดยผลงานเหล่านี้จะนำไปวางฝากขายที่ร้าน Woot Woot Store และ Mana.Chujai Café หรือจะสั่งตามออร์เดอร์ก็ได้เช่นกัน
ไม่ฝืนไม้ ไม่ฝืนตัวเอง
จุดเด่นของ Boon’s Hobby คือความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว งานไม้ของเขาโดดเด่นในด้านรูปทรง ความไม่เป๊ะและไม่เนี้ยบจนเกินไป ถ้าเทียบเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตตามแม่พิมพ์ในโรงงานแล้ว งานของลุงสมบูรณ์ไม่สมบูรณ์ตามชื่อเสมอไป ตามหลักการแบบ ‘ไม่ฝืนไม้ และไม่ฝืนตัวเอง’ ที่ลุงสมบูรณ์ยึดมั่นมาตลอด
ไม่ฝืนไม้ คือการที่ลุงสมบูรณ์จะอิงจากสภาพและลักษณะรูปทรงของไม้เป็นหลัก ถ้าไม้มายังไงก็จะพยายามให้ไม้อยู่ในรูปแบบที่เหมือนธรรมชาติมากที่สุด ไม่อยากไปเปลี่ยนไม้ทำให้มันเรียบเป๊ะ หรือขัดจนเงา แค่ทำให้มันเรียบร้อยมากขึ้น ผลงานที่ออกมาจะเน้นทำให้มันแข็งแรง ไม่ได้ใส่อะไรเข้าไปเพิ่มเติมแต่งเยอะ รวมถึงไม่ทำสีและไม่ย้อมสีของไม้
“ส่วนใหญ่ผมจะทำตามรูปทรงของไม้ มีอย่างออร์เดอร์หนึ่ง ลูกค้าสั่งเก้าอี้แบบนี้ตัวหนึ่ง ไซซ์เท่านี้ แต่พอไปดูไม้ที่จะใช้ มันก็ไม่ได้เป๊ะ เราพยายามไม่เอาไม้มาตัดทิ้ง พยายามคงสภาพมันไว้”
ลุงสมบูรณ์ยังเล่าอีกว่าหากไม้กองนั้นมาจากต้นเดียวกัน เวลาเขาทำงานออกมา เขาจะพยายามให้มันอยู่ในตัวเดียวกัน ไม่อยากเอาไม้อื่นเข้ามาผสม เพราะมีความรู้สึกผูกพันว่าไม่อยากให้พวกเขาแยกจากกัน
ไม่ฝืนตัวเอง คือการที่ทำด้วยความคิดของตัวเองเป็นหลัก ไม่ได้กังวลว่าความคิดของเราจะไม่อยู่ในกรอบ
ทำตามจังหวะตัวเอง ไม่รีบร้อนทำเพื่อตามยอดออร์เดอร์ให้ทัน แต่จะใช้เวลากับมัน
ด้วยแนวคิดและความทุ่มเทนี้เขาจึงมีความมั่นใจว่างานที่เขาทำมันไปต่อ และมันขายได้
“ความคิดก็มาจากตัวเรา มาจากวัตถุดิบที่เรามีกับตัวเรา ว่าเราจะสร้างมันขึ้นมายังไง และเราก็ไม่มีข้อจำกัดทางความคิด อย่างเช่น ขาต้องทรงนี้ บางทีขาหน้าเป๋ไปทางหนึ่ง ขาหลังเป๋อีกทางหนึ่ง แต่มันทรงตัวอยู่ได้ นั่งได้”
วิธีการคิดงานของลุงสมบูรณ์จะเริ่มจากมองไม้ก่อน แล้วก็จะเห็นภาพจากไม้ เขาจะจินตนาการว่าไม้ที่เขามีจะสามารถเป็นอะไรได้บ้าง เช่น งานชิ้นหนึ่งเขาออกแบบให้มันเป็นจระเข้ เกิดจากการที่ไม้มีร่องไม้ ลายและผิวของไม้หยาบๆ ทรงไม้คล้ายกับ ตัวจระเข้ แต่ก็มีบางงานเช่นกันที่เขาต้องทำออกมาก่อน ภาพถึงจะตามมา
แต่ถึงอย่างนั้นเอง ลุงสมบูรณ์ก็เป็นคนยังก้าวเดินไปตามทางของโลกที่กำลังหมุนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ งานของเขาจึงเป็นงานที่พยายามไม่อิงรูปแบบเก่าๆ
เพราะฉะนั้นหลักการไม่ฝืนไม้และไม่ฝืนตัวเองของลุงสมบูรณ์นี่แหละ ที่ทำให้ผลงานทุกชิ้นของเขามีความยูนีค เป็นงานที่มีชิ้นเดียวในโลก ที่ยังมีลายเซ็นและความครีเอทีฟของลุงสมบูรณ์อยู่ชัดเจน
ประกอบไม้ด้วยใจรัก
ระหว่างการทำไม้เป็นชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์ต่างๆ เราถามกลับว่าหากสมมติเขาเริ่มทำ Boon’s Hobby ในตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น เขาคิดว่ามันจะออกมาเป็นยังไง จะต่างจากตอนนี้ไหม สามารถทำเป็นงานหลักได้เลยหรือเปล่า
“ไม่ได้ (หัวเราะ) ตอนนั้นเรายังมองไม่ลึกพอ เช่น ตอไม้ เมื่อก่อนอาจเอามาตั้งเป็นกระถาง แต่พอมาตอนนี้ เราคิดว่าไม้ชิ้นใหญ่สามารถเอามาทำอะไรได้มากกว่านั้น ใส่ดีเทลเข้าไปได้มากขึ้น ทำให้มันมีมูลค่ามากกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่เราเห็นคุณค่าของไม้มากขึ้น”
การใช้เวลาคลุกคลีอยู่กับไม้นอกจากจะทำให้ลุงสมบูรณ์เห็นคุณค่ามากขึ้นแล้ว ก็ทำให้เขารู้สึกผูกพันกับไม้มากขึ้น สิ่งแรกหลังจากที่ลูกค้าได้รับของไป เขามักจะถามลูกค้าอยู่เสมอว่าชอบไหม ถ้าลูกค้าบอกชอบมาก เขาก็จะมีความสุขมาก แสดงว่าไม้เหล่านั้นจะอยู่กับเจ้าของได้อย่างสบายๆ
“คือเราให้เขาไปเนี่ย เราไม่ได้รู้สึกเสียดาย เพียงแต่ให้กับคนที่เขาโอเคแค่นั้นเอง แต่ทุกคนที่ซื้อไปเขาก็ซื้อด้วยใจรักนะ แล้วเราทำออกมาแต่ละชิ้นเนี่ยเราทำด้วยตัวเราเอง ทำด้วยใจเรา ไม่ใช่ทำเพื่อขาย”
“ใจรักในสิ่งที่ทำนี่สำคัญมากนะ ถ้าใจไม่รักมันจะไม่มีรายละเอียด เราจะมองมันอย่างกับสี่เหลี่ยม คือไม่รู้หลังสี่เหลี่ยมมีอะไร ไม่มองและไม่อยากเห็น เพราะว่าถ้าไม่รักก็คือไม่อยากเห็นใช่ไหม ถ้าเรารัก เราก็อยากเห็น ยกตัวอย่างไม้ ถ้าเรารัก เราก็อยากเห็นว่าลายไม้เป็นยังไง ถ้าไม่รักก็เออ ไม้ ไม่เห็นลาย (หัวเราะ)”
ชีวิตที่ผูกพันกับไม้
“งานไม้ที่เราทำจะอยู่คู่กับคนที่ซื้อไปอีกนาน เหมือนฝากให้คนนึกถึงเมื่อเราจากไป”
ลุงสมบูรณ์ในวัย 74 บอกกับตัวเองไว้ว่าอยากใช้ชีวิตประจำวันเป็นปกติมากที่สุด ไม่อยากใช้ชีวิตไปตามอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่คนว่ากันว่าพออายุ 60 ก็เริ่มต้องเข้าวัดเข้าวากัน เขาจึงตั้งใจจะทำงานไม้ไปจนกว่าร่างกายตัวเองจะทำไม่ไหว ทำในแบบที่ไม่ใช่ต้องเร่งมือทำ หรือต้องมีคนสั่งถึงจะทำ แต่ทำในแบบที่ถึงไม่มีคนสั่งก็จะทำต่อไป ตามเศษไม้ที่เขามีอยู่
“ผมคิดว่ามันเป็นการใช้ชีวิตที่สมูท ไม่ติดขัด ที่เราทำงานนี้ ไม่ต้องคอยกังวลเรื่องออร์เดอร์ ไม่ได้ต้องวางไว้ว่าเดือนหนึ่งเราต้องทำได้เท่าไหร่ มันก็ทำให้ใจเราไม่ร้อน ไม่เหมือนสมัยเราทำธุรกิจ ดอกเบี้ยมันวิ่งตามอยู่ตลอดเวลา แซงหน้าเราจนเราวิ่งตามไม่ทัน (หัวเราะ) ทำธุรกิจเสียหายเยอะ ถ้าหากว่าเราไม่มีประสบการณ์เนี่ย มาถึงตอนนี้เรามองกลับไปกับสิ่งที่เดินมา เราก็จะเห็นเลย…ถ้าบอกให้เดินเส้นทางใหม่ก็จะไม่เดินแล้ว”
คุยกันไปเรื่อยๆ จนมาถึงช่วงใกล้จบบทสนทนา เราอยากรู้ว่าหากเปรียบชีวิตของคนเรากับไม้ มันจะเหมือนกันไหม หรือต่างกันยังไง
“เปรียบเทียบกันไม่ได้ (หัวเราะ) คืออายุเยอะขนาดนี้นะ ผมคิดว่างานไม้ที่ทำขึ้นมาแต่ละชิ้นเนี่ย เหมือนกับฝากให้คนนึกถึงเมื่อเราจากไป มันจะอยู่คู่ไปอีกนานกับคนที่ซื้อ อย่างเช่นตัวที่ตั้งอยู่นี้ ที่เรายกกันไม่ไหวน่ะ ตั้งเป็นร้อยปีก็ยังอยู่ได้”
เราถามทิ้งท้ายก่อนจะจากกันว่า สรุปแล้วกองไม้ที่ตั้งอยู่มากมายจนนับไม่ถ้วนเหล่านี้ ลุงสมบูรณ์กะจะใช้จนหมดเลยไหม
“ก็ถ้าไม่ตายไปก่อน” ลุงสมบูรณ์ตอบพร้อมกับหัวเราะออกมาอีกครั้ง
Boon’s Hobby
Facebook : https://www.facebook.com/boonshobby
Instagram : https://www.instagram.com/boonshobby/
ร้าน Woot Woot Store
ที่อยู่: Warehouse 30 เจริญกรุง 30 แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
แผนที่ https://maps.app.goo.gl/NTsQfoHA575na7kM7
เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 11::00-18:00 น. (ปิดทุกวันพุธ)
ร้าน Mana.Chujai Café
ที่อยู่: 16 ซอย ลาดพร้าววังหิน 3 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร 10230
แผนที่ https://maps.app.goo.gl/SYNuDmQ1etBPzGf16
เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 09:00-17:00 น.