Patani Studio แล็บล้างอัดภาพที่ยังเชื่อมั่นในเสน่ห์ของฟิล์ม

ในยุคที่ใครๆ ก็ถ่ายรูป แต่งรูปผ่านแอพพลิเคชันแล้วแชร์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กได้รวดเร็วทันใจ ร้านล้างฟิล์มอาจกลายเป็นสิ่งปลูกสร้างตกสมัยที่เราไม่ได้เข้าไปเยี่ยมเยียนมานาน แต่ด้านหลังของบานประตูสีฟ้าในซอยนานาที่มีตัวอักษรเขียนกำกับว่า Patani Studio ยังพร้อมต้อนรับช่างภาพมืออาชีพและสมัครเล่นที่หลงใหลเสน่ห์ของภาพฟิล์มให้มาล้างอัดรูปอยู่ทุกวัน

เต้-ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ยังง่วนอยู่กับการล้างอุปกรณ์อัดภาพในบ่ายวันเสาร์ที่เราเปิดประตูเข้าไป บทสนทนาที่เราพูดคุยกันในห้องมืดเคล้ากลิ่นน้ำยาล้างฟิล์มนี้บรรจุเรื่องราวของสตูดิโอเล็กๆ ที่เต้ตั้งใจให้เป็นทั้งพื้นที่ทำงานศิลปะส่วนตัวและพื้นที่ทดลองงานของคนรักภาพฟิล์มไปพร้อมกัน

 

ทางเลือกคือทางที่ชอบ
“เราเรียนออกแบบภายในที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ลาดกระบัง เด็กสถาปัตย์ฯ ทุกคนต้องถ่ายรูปสถาปัตยกรรมเก่าๆ มาทำรีเสิร์ชอยู่แล้ว เราก็ได้กล้องฟิล์ม Nikon ของพ่อมาใช้ ก็สนุกกับการล้างอัดรูปตั้งแต่ตอนนั้น พอเรียนจบก็รู้ตัวว่าไม่อยากทำงานสายที่เรียนมาเพราะเราชอบทางนี้มากกว่า เลยไปหาหนังสือมาอ่านเอง ไปเรียนเรื่องการใช้ห้องมืด ล้างอัดรูปเพิ่มที่วิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา เราชอบภาพถ่ายสไตล์สารคดีก็หาดูตามนิตยสาร National Geographic ดูภาพข่าวต่างๆ เอง

“ก่อนหน้านี้เราใช้ห้องเก็บของที่บ้านเป็นห้องมืด ล้างอัดฟิล์มได้ระดับหนึ่งแต่ก็ไม่เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ก็พอดีมาได้ตึกนี้เพราะเพื่อนฝรั่งเขาทำงานอยู่ที่ซอยนานานี้ก่อน ต้องรีโนเวทใหม่เลยตั้งแต่ทาสี กะเทาะปูนเก่าออก เดินระบบน้ำไฟใหม่ เรากั้นห้องบนชั้นสองให้เป็นห้องมืด เสียเงินไปเยอะแต่ก็โอเค เพราะย่านนี้เป็นชุมชนที่มีส่วนผสมระหว่างคนมาใหม่ที่เป็นศิลปิน ช่างภาพ กับคนอยู่เก่าที่อัธยาศัยดี น่ารัก แล้วราคานี้เราได้ทั้งตึก มีดาดฟ้า มีพื้นที่ส่วนตัวไว้นั่งเล่นได้ ถ้าไปเช่าที่อื่นก็อาจได้แค่ห้องๆ เดียว”

มั่นใจในมาตรฐานของปาตานี
“ลูกค้ามีคนไทยกับต่างชาติครึ่งๆ เลย ส่วนใหญ่จะแนะนำกันมาปากต่อปากเพราะกลุ่มที่เล่นกล้องฟิล์มก็ไม่ใหญ่หรอก แล้วในประเทศอื่นรอบๆ เราก็ไม่ค่อยมีร้านล้างฟิล์มแบบนี้เท่าไหร่ ช่างภาพต่างชาติเขาเลยจะส่งฟิล์มมาที่ร้านเราบ่อย
อย่างเคสล่าสุดก็มีช่างภาพฝรั่งเศสที่เขาอยากทำ archive ภาพถ่ายตอนเขมรแดงยึดกัมพูชา เป็นฟิล์มเก่าปี 1975 ก็มาพรินต์รูปกับเรา เราจะคุยกับลูกค้าว่าอยากได้งานแบบไหน ยิ่งภาพขาวดำเป็นงานที่เกี่ยวกับรสนิยมของแต่ละคน ชอบมืดแบบนี้ ขอสว่างนิดนึง ถ้าเป็นช่างภาพอาชีพเขาจะลองหลายๆ แบบแล้วแก้ไป เราก็ค่อยๆ จูนกัน ถ้าโปรเจกต์นี้โอเคก็ไปกันต่อ

“สำหรับเรางานห้องมืดเหมือนงานช่าง ยิ่งทำเยอะก็ยิ่งเพิ่มทักษะ เพราะฟิล์มมันอัดได้หลายแบบมาก แล้วแต่ว่าเรามองเห็นแบบไหน ลูกค้าที่มาร้านก็เหมือนเข้ามาใช้มาตรฐานของเรา รู้ว่าเราทำงานประเภทนี้ได้ ถ้าใช้ฟิล์มก็ควรไปให้รู้ว่าฟิล์มมันทำงานได้สุดถึงไหน ร้านเราเลยเป็นทางเลือกให้คนที่อยากอัดภาพฟิล์มใหญ่ๆ อยากลองอัดแบบแอนะล็อกทุกขั้นตอนก็มาได้ ไม่ใช่อยากลองแต่ดันไม่มีที่ให้ลองแล้ว ถ้าไม่ชอบราคาแพงไป ก็โอเค เราให้อิสระแค่ต้องมีพื้นที่ให้ลอง”

พื้นที่ที่ทำงานของคนอื่น พื้นที่ที่สร้างงานของตัวเอง
“เราตั้งใจแต่แรกว่าจะทำเป็นร้านเล็กๆ อย่างนี้แหละ แต่ปีนี้วางแผนว่าจะทำเวิร์กช็อปให้เป็นระบบมากขึ้น เพราะตอนนี้เครื่องอัดรูปเรามีแค่ 2 เครื่องใหญ่ อยากทำห้องมืดที่มีเครื่องเล็กๆ ให้นักศึกษามาใช้มาแชร์กันตกคนละไม่กี่บาท และจะทำพื้นที่โชว์เคสของเราให้คนเข้ามาดูรูป เราจะได้จัดการกับผลงานเก่าๆ ของเราที่เก็บไว้ก็ไม่มีคนเห็น ถ้าเขาชอบก็ซื้อไปได้หรือเพื่อนๆ จะฝากขายรูปก็ได้

“เมื่อก่อนอาจมีคนใช้กล้องฟิล์ม 10,000 คน ตอนนี้อาจเหลือแค่ 500 คน แต่ 500 คนก็เป็นปริมาณมากพอที่ร้านเล็กๆ จะทำกำไรได้ งานเท่าที่มีตอนนี้ก็เต็มมือไปหมด สตูดิโอเราอาจรับลูกค้าแค่ 10 คนเพราะคนที่ต้องการงานสไตล์นี้ก็เป็นส่วนน้อยลงไปอีก ทุกวันนี้สำหรับเราคืออยู่ได้ มีเงินพอจ่ายค่าเช่า ซื้อกระดาษ ซื้อของมาทำงานศิลปะของตัวเองต่อ

“ยิ่งเราอยู่กับฟิล์มทั้งวันมันก็ช่วยพัฒนางานส่วนตัวไปด้วย ทำให้รู้ว่าทำอะไรได้มากกว่าเอาฟิล์มมาอัดตรงๆ ลงกระดาษ ทุกครั้งเป็นการทดลอง ลองว่าเลเยอร์สีเป็นยังไง ลองแบบนี้จะให้ผลลัพธ์ยังไง บางทีล้างมารูปอาจจะเสียก็ได้ แต่มันให้เอฟเฟกต์อะไรและเราเอาไปใช้ทำอะไรต่อได้รึเปล่า อยู่กับฟิล์มเยอะมันก็ตอบแทนเรา”

“ร้านนี้เราทำให้เป็นรายได้เลี้ยงชีพส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนคือในฐานะที่เราเป็นศิลปิน มันก็ช่วยขยับขยายพื้นที่ในการสร้างงานของเรา คนเข้ามาก็ได้เห็นตัวตนเราชัดขึ้นด้วย มีคนเคยบอกว่าผู้ชายอายุ 30 ปีควรมีพื้นที่เป็นของตัวเอง ยิ่งเป็นศิลปินด้วยแล้วก็ยิ่งจำเป็น”

PATANI STUDIO

ประเภทธุรกิจ: สตูดิโออัดและล้างภาพถ่ายฟิล์ม
คอนเซปต์: ร้านอัดและล้างภาพฟิล์มสุดเก๋าที่ยังคงใช้วิธีแบบอนาล็อกทุกขั้นตอน
เจ้าของ: เต้-ธวัชชัย
พัฒนาภรณ์ (35 ปี)
เว็บไซต์: facebook.com | Patani studio – ปาตานี สตูดิโอ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!