Fotoclub BKK จากร้านล้างฟิล์มสู่คอมมิวนิตีถ่ายภาพ ที่อยากให้คิดก่อนกดชัตเตอร์

ขอสารภาพตั้งแต่ต้นเรื่องก่อนเลยว่า เมื่อมีโอกาสได้สัมภาษณ์ ‘เจต-สุรเจต โภคมั่งมี’ หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้าน Fotoclub BKK คอมมิวนิตีสำหรับคนชอบถ่ายภาพ กล้องและฟิล์มในย่านเจริญกรุง แถมยังเป็นผู้คลุกคลีในแวดวงภาพถ่ายต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี สำหรับผู้เขียนที่มีประสบการณ์การถ่ายรูปเท่ากับศูนย์ หรืออยู่ระดับมือใหม่หัดลอง เมื่อไปสัมภาษณ์คนในระดับสุดยอดแฟนพันธุ์แท้เรื่องกล้องก็แอบตื่นเต้นไม่ใช่น้อย

เพราะมีความคิดแรกก่อนสัมภาษณ์ว่า การถ่ายภาพที่สวยๆ สำหรับสายตามือใหม่กับมืออาชีพต้องแตกต่างกันจนยากจะเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นการใช้กล้อง ฟิล์มหรือภาพต่างๆ แต่คำตอบของเขากลับเรียบง่ายแตกต่างจากที่คิดไปสิ้นเชิง

“คนมักจะถามว่า ใช้เลนส์อะไร ใช้กล้องอะไรถึงถ่ายภาพสวย”

“ทุกรูปไม่มีคำว่า สวยหรือไม่สวย คุณอย่าไปสนใจมาก สนใจว่าคุณอยากได้ภาพแบบไหนแล้วภาพที่คุณถ่ายออกมา มันเป็นแบบนั้นหรือเปล่า”

“คำว่า ‘สวย’ มันใช้ไม่ได้กับศิลปะในยุคนี้แล้ว ภาพถ่ายก็เหมือนกัน มันแค่ต้องอยู่ให้ถูกที่ ถูกเวลา ถูกบริบทเท่านั้นเอง”

“ต้องคิดก่อนว่าภาพนี้จะเล่าเรื่องอะไร บอกอะไร แล้วความน่าสนใจของภาพนี้อยู่ตรงไหน”

ร้าน Fotoclub BKK อยู่บนเส้นเจริญกรุง อยู่ถัดจากตึกไปรษณีย์กลางไปสักนิด ตรงบริเวณหัวมุมสี่แยกซอยเจริญกรุง 32 ถ้าเดินไปเชื่อว่าจะเห็นป้าย ‘เจริญกรุง’ ตัวอักษรสีแดงบนหัวตึกชัดเจน ภายนอกหลายคนอาจจะคิดว่าเป็นร้านขายฟิล์มและล้างรูปภาพเล็กๆ 

แต่ความจริงแล้วมุมมองของเจต ‘ฟิล์ม’ เป็นตัวกลางที่เชื่อมการถ่ายภาพของเจตให้ไปไกลกว่าสิ่งที่เห็น นั่นคือการสร้างคอมมิวนิตีสำหรับคนที่สนใจการถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดเปิดเวิร์กช็อปสอนการถ่ายภาพ สตูดิโอถ่ายภาพ พื้นที่แสดงแกลเลอรีศิลปะ พื้นที่เปิดโอกาสให้ขายสินค้าเกี่ยวกับถ่ายรูป หรือคาเฟแหล่งพบปะสังสรรค์ เพื่อตอบโจทย์อยู่ 2 เรื่องหลักสำคัญ

1. อยากให้ผู้ที่สนใจถ่ายภาพสนุกกับการเรียนรู้คิดก่อนกดชัตเตอร์

2. อยากสร้างคอมมิวนิตีการถ่ายภาพแบบสร้างสรรค์

จนเป็นที่มาของ #ร้านล้างฟิล์มที่ไม่ใช่ร้านล้างฟิล์ม

จุดเริ่มต้นความคิดเหล่านี้มาจากประสบการณ์การถ่ายรูปที่ผ่านมาของเขา ตั้งแต่ช่วงเด็ก เรียนหนังสือและทำอาชีพเกี่ยวกับการถ่ายรูปและศึกษาผลงานของศิลปินชื่อดังมากมาย จนตกผลึกได้ว่า อยากแชร์ความรู้ให้คนที่สนใจเพิ่มมากขึ้น

“แรกเริ่มผมเคยอยู่ชมรมถ่ายภาพตอน ม.5 แล้วผมรู้สึกสนุกมากที่เดินออกไปหน้าโรงเรียน แล้วเอากล้องมาถ่ายแพนนิงรถบนถนน (Panning Shot การถ่ายภาพที่เคลื่อนไหว) ผมว่ามันคือกิจกรรมการเรียนรู้ที่สนุก แล้วมันไม่ได้จำเป็นว่าคุณจะเรียนรู้เทคนิคต่างๆ อย่างลึกซึ้งนี้เพื่อไปเป็นช่างภาพมืออาชีพ สำหรับผมมันคือ งานอดิเรกด้วยซ้ำ เรียนรู้มา 20 ปี 30 ปี แล้ว ก็ยังไม่เบื่อ การถ่ายภาพมันคืออีกหนึ่งมิติความสวยงามของชีวิตที่ดีมาก เลยอยากเผยแพร่ให้คนอื่นต่อ”

“ยกตัวอย่างผมได้ไอเดียจาก ‘Martin Parr’ เขาทำโปรเจกต์ถ่ายภาพหนึ่งชื่อว่า Common Sense ซึ่งมันเหมือนเป็นรูปง่ายๆ ไปถ่ายมาทุกที่ทั่วโลกเลยนะ แต่ทำไมเราดูแล้วรู้สึกว่า ไม่ว่าจะถ่ายจากที่ไหน ก็ยังเป็นลายเซ็นเขา มันมีความเหมือนกัน มันแปลก มันอาร์ต มันชอบ ก็เลยไปค้นหาเพิ่มเติม แล้วเอามาทำโปรเจกต์ที่ Fotoclub ชื่อ Common Sense of Charoenkrung ให้คนที่มาเข้าร่วม ช่วยกันถอดรหัสก่อน ว่าอะไรที่ทำให้รูปที่อยู่ในซีรีส์นี้ที่มันพิเศษ ศิลปินเขาใช้เทคนิคอะไรในการเล่าเรื่อง แล้วออกไปถ่ายกันตามแนวคิดนั้น”

“หากให้นิยามคำว่า ‘สวย’ สำหรับผมว่ามันคือคำว่า ‘ความน่าสนใจ’” 

จากตัวอย่างงานที่เจตชื่นชอบ เขาไม่ได้มองว่ารูปถ่ายด้วยกล้องเลนส์อะไร ฟิล์มยี่ห้อไหนทำให้เกิดออกมาเป็นภาพเหล่านี้ แต่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับ ‘แนวคิด’ ก่อนจะกดชัตเตอร์ถ่ายรูปมากทีเดียว เพราะมันเป็นสิ่งที่กำหนดภาพออกมาให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ที่อยากจะถ่ายทอดของผู้ถ่ายรูป

เขาเล่าต่อว่า ภาพแต่ละรูปจะมีเรื่องราวต่างๆ ต่างเกิดจากการคิดก่อนว่าจะถ่ายอะไร เช่นหากโจทย์ถ่ายรูปคือย่านสถาปัตยกรรมย่านเจริญกรุง ภาพดังกล่าวก็ต้องมีตึกอาคารในเจริญกรุง ทีนี้ต้องคิดก่อนว่าจะถ่ายตึกไหน ตอนไหน ถ่ายจากมุมไหน ให้มันน่าสนใจไม่ซ้ำกับคนอื่น ถ้าผ่านกระบวนการคิดเหล่านี้แล้วบวกความน่าสนใจเข้าไป รูปที่ออกมาน่าจะสวย 

“ความสวยของแต่ละคนมันต่างกันพอสมควร จับต้องยาก แต่ทุกรูปที่ ‘สวย’ มักมีความ ‘น่าสนใจ’ อยู่ในนั้นด้วย”

เสน่ห์ของฟิล์มคือ ข้อจำกัด

ในเมื่อเจตให้ความสำคัญกับแนวคิดการถ่ายรูปมาก แล้วกล้องฟิล์มมีเสน่ห์ในการถ่ายภาพอย่างไรในสายตาเขา เจตรีบตอบว่า “มันบังคับให้เราคิดเยอะๆ ก่อนถ่าย” นั่นแหละ

“ก่อนหน้านี้ผมบอกว่า เราต้องคิดก่อนถ่ายรูปถึงจะทำให้เกิดเรื่องราวที่น่าสนใจ ทีนี้การถ่ายฟิล์มก็เหมือนกันเลย ฟิล์มหนึ่งม้วนมีแค่ 36 รูป เราจะไปซี้ซั้วกดก็ไม่ได้ ทุกครั้งที่จะกด มันต้องคิดก่อน อะไรที่มีปริมาณน้อย มันจะมีคุณค่ามากกว่าอยู่แล้ว มันเป็นกฏของธรรมชาติ”

“นี่ยังไม่พูดถึงว่าฟิล์มแพงสุดๆ ในยุคนี้อีกนะ”

“เพราะข้อจำกัดของฟิล์ม มันทำให้มันมีเสน่ห์ในตัวเอง”

“ถ่ายมาเบลอ ถ่ายมาเสีย มันต้องตั้งคำถามแล้ว ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ร้านล้างเสียหรือเปล่า กล้องเสียหรือเปล่า ทำไมมืดจัง ทำไมสว่างจัง การตั้งคำถามนี้แหละเริ่มเรียนรู้แล้ว มีลูกค้าไปเที่ยวญี่ปุ่นมาใส่ฟิล์มผิดเสียทั้งม้วน ไม่ได้สักรูปแต่กลับจำจนตาย ในทางกลับกันไปคาเฟถ่ายมาเป็นพันรูป สุดท้ายจำไม่ได้สักรูป นี่แหละเสน่ห์”

ระหว่างเจตพูดเรื่องฟิล์มก็พลางชี้รูปภาพต่างๆ พร้อมพูดถึงประเภทของฟิล์มที่มีหลายรูปแบบในการใช้งาน ที่แตกต่างกัน สำหรับเราที่ไม่ค่อยเก่งเรื่องการถ่ายรูป จึงเกิดความสงสัยว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใช้แบบไหนถึงจะดี

“ฟิล์มมันมีหลายประเภท มันไม่ได้ต่างกันสักเท่าไหร่ ฟิล์มมันถูกออกแบบแต่งมาให้เลย บางอันเหมาะสำหรับถ่ายตอนกลางคืน ตอนกลางวันหรือมีลูกเล่นต่างๆ มันเป็นความสนุกอย่างหนึ่งสำหรับคนเล่นกล้องจริงจัง คล้ายๆ ฟิลเตอร์ที่เราเห็นเวลาแต่งรูป มันเหมือนกันเลย มันก็เป็นเสน่ห์ของฟิล์มเช่นกัน”

จากร้านล้างฟิล์มสู่คอมมิวนิตีการถ่ายภาพ

หลังจากเปิดร้านถ่ายรูปมาได้นานหลายปี เขามองว่าร้าน Fotoclub BKK ไปไกลกว่าร้านขายฟิล์มหรือร้านล้างรูป แต่อยากสร้างพื้นที่ที่ให้คนสนใจการถ่ายรูปมาเจอกันทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ผ่านพื้นที่ร้านและกิจกรรมต่างๆ ที่มีตลอด

“โชคดีที่หุ้นส่วนทุกคนก็รักการถ่ายภาพและมีความหลังดีๆกับการทำชมรมถ่ายภาพตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนเหมือนกัน กำไรที่ได้มา ผมเอามาทำกิจกรรมได้ ไม่เคยมีใครขัดเลย”

ไม่ว่าจะเป็นทริปเดินถ่ายรูปย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ หรือสอนการถ่ายภาพมุมมองต่างๆ กับศิลปินและผู้เชี่ยวชาญ ภายในอาคารร้าน Fotoclub BKK บนชั้นสองยังเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการให้คนมาโชว์ผลงานถ่ายภาพต่างๆ อย่างตอนที่เรามา เค้ากำลังทดลองจำลองห้องชั้นสองให้เห็นถึงจุดกำเนิดของกล้องถ่ายภาพเพื่อหวังให้คนได้มาเรียนรู้

นอกจากนี้เจตยังพาพวกเราข้ามไปยังอีกตึกหนึ่งที่เพิ่งเปิดใหม่ ‘Breddie n’ Bicko’ ข้างล่างเป็นคาเฟของหวานสุดน่ารัก ข้างบนเป็นสตูดิโอที่เจตตั้งใจให้เป็นทั้งพื้นที่ให้เช่าถ่ายรูป พื้นที่กิจกรรมให้คนเข้ามาร่วมสัมผัสและสามารถสอนเรื่องทิศทางของแสงแดดในการถ่ายรูปให้ผู้ที่สนใจได้ลองฝึกถ่ายรูปได้หลากหลายบรรยากาศ

ขณะที่เจตอธิบายพื้นที่แต่ละโซนทั้งหมดอย่างสนุกสนาน เราชวนคุยต่อว่า คาดหวังอะไรกับการทำสิ่งนี้ทั้งหมดไหม เพราะคุณลงทุนกับมันเยอะมากเลย

“สำหรับผมผ่านไปแล้ว 20 ปี 30 ปี เรายังค้นพบว่า เรายังบ้าถ่ายรูป ยังชอบถ่ายรูป ถ่ายได้ทุกอาทิตย์ ถ่ายได้ทุกวัน ผมถ่ายกล้องฟิลม์ ถ่ายทุกกล้อง และผมเห็นอะไรที่ใหญ่กว่าการทำร้านล้างฟิล์ม ถ้าเป็นเรื่องของการถ่ายภาพ ผมอยากสร้างคอมมิวนิตี ซึ่งแต่ก่อนผมเคยคาดหวัง แต่ตอนนี้ผมไม่คาดหวังแล้ว ผมแค่อยากทำให้คนสนใจถ่ายรูป ได้เรียนรู้และสนุกไปกับมันก็พอแล้ว”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream