Grandpa is still beside me (อยู่ตรงนี้) โปรเจกต์ภาพถ่ายที่อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าคนข้างๆ ก่อนจะสายเกินไป

พอร์ตโฟลิโอของ กุลชนาฎ เสือม่วง

ชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ สาขาการถ่ายภาพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ชื่อผลงาน Grandpa is still beside me (อยู่ตรงนี้)

“อย่าลืมถ่ายรูปคนที่อยู่ข้างๆ เก็บไว้เยอะๆ นะ จะได้ไม่ต้องมานึกเสียดายทีหลังเหมือนเราตอนนี้”

ถ้าดูเผินๆ รูปเหล่านี้เหมือนจะเป็นเพียงรูปถ่ายเก่าๆ ธรรมดาๆ แต่ความจริงแล้วนี่คือผลงานทีสิสของ ‘ครีม–กุลชนาฎ เสือม่วง’ นักศึกษาสาขาการถ่ายภาพ ชั้นปีที่ 4 ที่ใช้เทคนิคการตัดต่อภาพเพื่อนำตัวเองในปัจจุบันเข้าไปอยู่ในภาพอดีตของปู่ในสถานที่ที่เคยใช้เวลาร่วมกัน โดยใช้ชื่อผลงานว่า ‘Grandpa is still beside me (อยู่ตรงนี้)’

แม้เบื้องหน้าของภาพเหล่านั้นเต็มไปด้วยรอยยิ้ม แต่เบื้องหลังล้วนมาจากความเสียดายที่ตัวเองไม่เคยมีรูปถ่ายกับปู่ก่อนที่เขาจะจากไป จนกลายเป็นปมในใจของครีมตั้งแต่เด็กจนโต แต่ในขณะเดียวกันความเสียดายเหล่านี้ก็ได้สอนให้ครีมเห็นคุณค่าของคนใกล้ตัวมากขึ้น ทำให้รู้ว่าการถ่ายรูปเป็นสิ่งที่เยียวยาจิตใจเสมอมา และอยากจะใช้ชีวิตเพื่อทำในสิ่งที่รักต่อไป

ภาพถ่ายจะพาครีมนั่งไทม์แมชชีนกลับไปหาปู่ในอดีตยังไงบ้าง เราชวนพลิกดูทีละหน้าพร้อมๆ กัน

ม้วนภาพแห่งความทรงจำ

เราทุกคนต่างมีความทรงจำในอดีตที่ยังคอยขับเคลื่อนชีวิตเราอยู่เสมอ

สำหรับครีมคือ ความรู้สึกเสียดายที่ตัวเองไม่เคยมีรูปกับปู่ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เธอชอบถ่ายรูปจนถึงทุกวันนี้

“ปู่มีความสำคัญกับเรามาก เพราะปู่คือมนุษย์ที่ตามใจเราที่สุดในชีวิตแล้ว ตอนเด็กๆ เราเป็นคนที่ไม่ค่อยได้อะไรในวันสำคัญจากครอบครัวเลย วันเด็กก็ไม่เคยได้ไปเที่ยวเหมือนเด็กคนอื่น มีครั้งหนึ่งที่เป็นวันเกิดเรา เราก็บอกปู่ว่าวันนี้วันเกิดนะ ทำไมไม่มีใครให้ของขวัญเลย ปู่ก็พาไปซื้อพิซซ่าถาดละ 60 บาท แค่นั้นเราก็จะร้องไห้แล้วที่ปู่ยังเห็นความสำคัญ เวลาที่เราโดนพ่อดุ ปู่ก็จะคอยห้ามตลอด เวลาเราบ่นว่าอยากได้อะไรวันต่อมาเขาก็จะหามาให้ บ่นว่าอยากไปไหนเขาก็จะพาไปเลยทั้งๆ ที่ร่างกายเขาก็ไม่ค่อยไหว 

“แต่ด้วยความที่ตอนนั้นยังเด็กก็ไม่ได้ใส่ใจปู่เท่าไหร่ มีบางวันเรารู้สึกรำคาญปู่ด้วยซ้ำว่าทำไมปู่ต้องมานอนข้างๆ แต่จริงๆ ที่เขามานอนเพราะเขาแค่อยากจะมาอยู่ด้วย พอวันหนึ่งที่ปู่เสียเพราะเส้นเลือดในสมองแตก ตอนนั้นเราอยู่ ป.3 จำได้ว่าร้องไห้หนักมากทั้งวันทั้งคืน เพราะมันไม่มีสัญญาณอะไรเตือนเลย 

“ช่วงเราจบ ป.6 เราก็ได้กลับมานั่งดูรูปในอัลบั้มเก่าๆ กับย่าอีกรอบ ดูไปดูมาเราก็สงสัยว่าไม่มีรูปกับปู่เลย ย่าบอกว่าช่วงนั้นปู่กล้องพังหรือขายไปแล้วนี่แหละ ตอนนั้นเราหดหู่อยู่หลายวัน เราก็เลยบอกตัวเองตั้งแต่ตอนนั้นว่าหลังจากนี้จะถ่ายรูปเก็บไว้เยอะๆ เพราะเราไม่อยากมานึกเสียดายทีหลังอีกแล้ว ความเสียดายตอนนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เราชอบถ่ายรูปเลย

“ประโยคที่บอกว่า ‘เรามักลืมใส่ใจคนรอบข้างแล้วให้ความสำคัญกับคนไกลตัว’ เราโคตรเจ็บเลยเพราะมันตรงกับเรามาก เราจะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เรามีอยู่สำคัญแค่ไหนจนกว่าเราเสียมันไป มันเลยกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่อยากกลับมารู้สึกกับประโยคนี้อีก 

นั่งไทม์แมชชีนกลับไปหาอดีต

“ตอนที่อาจารย์ให้โจทย์ทีสิส มีคำพูดหนึ่งที่สะกิดใจเรามากคือ ‘ให้ลองนึกถึงเรื่องที่คุณทำแล้วจะอยู่กับมันได้ 3 เดือน หรือต่อให้จบงานไปแล้วคุณก็ยังอยากจะอยู่กับมัน’ ตอนนั้นเรื่องปู่ก็เข้ามาในหัวทันที” ครีมสารภาพว่าเมื่อได้โจทย์ก็นั่งคุยกับตัวเองอยู่พักใหญ่ เพราะใจหนึ่งก็อยากทำมาก อีกใจก็กลัวว่าตัวเองจะรู้สึกดิ่ง แต่สุดท้ายครีมก็ตัดสินใจที่จะทำเพราะอยากแก้ปมความรู้สึกเสียดายที่อยู่ในใจตลอด 13 ปีที่ผ่านมา

“เรารู้สึกอยากทำอะไรเพื่อปู่บ้าง เราไม่รู้ว่าทีสิสสำหรับคนอื่นเป็นยังไง แต่ทีสิสสำหรับเราคืองานที่เราจะต้องจำไปตลอดชีวิตเพราะมันมีแค่ชิ้นเดียว และสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเราก็คือปู่นี่แหละ 

Grandpa is still beside me (อยู่ตรงนี้) คือโปรเจกต์ทีสิสที่ครีมตัดต่อภาพตัวเองในปัจจุบันเข้าไปในภาพอดีตของปู่ แล้วนำไปวางในมุมต่างๆ ของบ้านหรือสถานที่ต่างๆ ที่เคยใช้เวลาร่วมกันกับปู่ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากชุดภาพถ่าย Imagine Finding Me ของ ชิโนะ โอสึกะ (Chino Otsuka) ช่างภาพญี่ปุ่นที่เธอชื่นชอบ โดยศิลปินคนนี้ได้นำภาพตัวเองตอนเป็นผู้ใหญ่มารีทัชลงไปในภาพสมัยเด็กของตนเอง

“เราชอบศิลปินคนนี้มากๆ ตอนเราเห็นงานของ ชิโนะ โอสึกะ ครั้งแรกก็รู้สึกว่าแม่งเท่ว่ะ เขาตัดต่อได้เนียนสุดๆ เหมือนเขาพาเรานั่งไทม์แมชชีนกลับไปหาอดีตเลย เราก็เลยอยากใช้เทคนิคนี้มาเป็น Reference ซึ่งอาจารย์ก็แนะนำเพิ่มว่าอยากให้เอารูปไปวางในสถานที่ที่มีความทรงจำหรือมี Easter Egg อะไรบางอย่างด้วย

แค่มีใจเราทำได้ทุกอย่าง

เมื่อตัดสินใจได้ว่าจะนำหัวข้อนี้มาทำเป็นโปรเจกต์ชิ้นสุดท้ายของรั้วมหาวิทยาลัย ครีมเลยอยากย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้นที่ทำให้เริ่มถ่ายรูป โดยตั้งต้นจากการกลับบ้านจังหวัดที่สิงห์บุรีเพื่อหารูปปู่ในอัลบั้มเก่าๆ แล้วคัดเลือกจากรูปที่ดูมีเรื่องราวมากที่สุด

“เราไม่ซีเรียสว่าต้องใช้รูปที่เข้ากับสถานที่ เพราะว่าสุดท้ายก็ถ่ายในบ้านเราอยู่ดี เราก็เลยเลือกรูปที่มันชัด ดูมีสตอรี่ให้เราเข้าไปได้ หลังจากนั้นก็สเก็ตรูปตัวเองและกรอบรูปเพื่อนำไปเลือกมุมถ่ายต่างๆ ภายในบ้าน โลเคชันเราก็พยายามเลือกที่มันไม่ดูบังคับเกินไป เช่น ติดตามฝาผนังหรือวางในห้องนอนเพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด

รูปก็มีแล้ว โลเคชันก็มีแล้ว มาถึงขั้นตอนการตัดต่อและการควบคุมแสงที่ครีมเล่าว่าเป็นพาร์ตที่ยากที่สุด

“รูปตัวเราที่ใช้ตัดต่อเข้าไปในภาพของปู่จะเป็นรูปที่ถ่ายใหม่ทั้งหมด เพราะเราอยากใส่เสื้อผ้าของปู่ถ่ายรูปด้วย พาร์ตตัดต่อเราใช้วิธีดูแสงจากรูปของปู่ ถ้ารูปไหนถ่ายด้วยกล้องฟิล์มที่เปิดแฟลชมันก็จะง่ายหน่อย เพราะเรารู้ว่าแหล่งแสงมันอยู่ตรงไหน แต่ถ้าเป็นรูปกลางแจ้ง เราก็ต้องมาดูเวลาอีกทีว่าพระอาทิตย์ของเขากับเรามันอยู่ทิศไหน มีเมฆครึ้มไหมหรือแสงจ้าเลย เราก็มีศึกษาเรื่องแสงเพิ่มเติมด้วย แต่ถ้ามันคอนโทรลอะไรไม่ได้เราก็ต้องใช้ไฟแฟลชช่วยเพื่อเลียนแบบแสงในรูป มันค่อนข้างยากที่จะทำให้แสงมันเป๊ะๆ กับของรูปปู่ เราก็เลยต้องมาพึ่งการตัดต่อ 

“ซึ่งการตัดต่อเป็นเรื่องที่เราไม่เก่งที่สุดแล้ว เราเพิ่งมาเริ่มตัดต่อตอนเข้าลาดกระบัง ตอนปี 1 ยังโดนอาจารย์ว่าอยู่เลยว่าภาพมันลอย แต่ที่เราเอาการตัดต่อมาทำเป็นทีสิสเพราะอยากชาเลนจ์ตัวเองด้วย เรารู้สึกว่าถ้าใจเราอยากทำอะไรสักอย่าง อะไรที่มันเป็นข้อจำกัดเราทำได้หมดเลย เราก็ได้เรียนรู้จากงานนี้ว่าแค่มีใจเราทำได้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ครีมเล่าว่าวิธีการทำงานที่เธอทำมาตลอดเพื่อให้ภาพได้ถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้ดีที่สุด คือการหาเพลงที่เข้ากับอารมณ์ของงานนั้นๆ หนึ่งในนั้นคือเพลง ‘คิดยาว’ ของ Television Off ที่ปล่อยออกมาช่วงที่เธอทำทีสิสพอดี

“ช่วงที่เรากลับบ้านมาหาข้อมูลเกี่ยวกับปู่เพื่อทำทีสิสเราได้คุยกับย่าแทบทุกวัน มีประโยคหนึ่งที่ย่าพูดแล้วสะดุดมากคือปู่น่าจะรู้อยู่แล้วว่าตัวเองใกล้จะไปแต่ไม่ได้บอกใคร เพราะไม่อยากให้คนที่บ้านเป็นห่วง ย่าเป็นคนเดียวที่ได้รู้ว่าปู่กำลังจะบอกลา ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจว่าทำไมปู่ไม่บอกเราบ้าง 

“เราต้องขอบคุณเพลง ‘คิดยาว’ ที่ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของปู่มากขึ้น เพลงนี้ทำให้คำถามที่เราสงสัยว่าถ้าปู่รู้ตัวว่าตัวเองจะไปทำไมถึงไม่บอกเราหายไปหมดเลย เพราะจริงๆ แล้วการจากลามันพูดยากมาก การที่คนๆ หนึ่งจะลาไปไม่ใช่การคิดสั้นแต่เขาคิดมายาวแล้ว เพลงนี้ทำให้มวลอารมณ์ตอนทำทีสิสของเรามันลึกซึ้งขึ้นมาก

ถ่ายรูปแล้วอย่าลืมอัดรูป

“ถ่ายรูปแล้วอย่าลืมอัดรูปเก็บไว้ด้วยนะ” คือประโยคที่ครีมเน้นย้ำตลอดบทสนทนา

ในยุคสมัยเปลี่ยนไป ความนิยมของการอัดรูปก็ยิ่งน้อยลง คนส่วนใหญ่เลือกที่จะเก็บเป็นไฟล์เพราะมีความรวดเร็ว เข้าถึงง่าย และสะดวกสบายมากกว่า แต่ทำไมคนรุ่นใหม่อย่างครีมถึงยังเลือกที่จะอัดรูปเก็บไว้เป็นชีวิตจิตใจ นี่คือสิ่งที่เราสงสัย

“ตอนที่เข้ามาเรียนตอนปี 1 ใหม่ๆ เราไม่เข้าใจเลยว่าทำไมอาจารย์ต้องให้อัดรูปด้วย เพราะมันเปลืองตังต์ เราส่งเป็นไฟล์ก็ได้ไม่ใช่เหรอ ประหยัดกว่าเยอะเลย แต่อาจารย์ก็บอกว่าอัดแล้วมันเก็บไว้ได้ เพราะถ้าเราเก็บเป็นไฟล์ พอวันนึงไฟล์มันหายไปก็เท่ากับว่าเราไม่ได้ถ่ายอะไรไว้เลย คำพูดของอาจารย์วันนั้นก็เลยทำให้เราเริ่มอัดรูปเก็บไว้เรื่อยๆ 

“เมื่อก่อนเราอัดให้คนอื่นเพราะรู้สึกว่าไม่อยากให้เขาลืมรูปที่เราถ่าย แต่หลังๆ เรารู้สึกว่าแค่อยากให้เขาจำช่วงเวลานั้นไว้ก็พอแล้ว ปกติเวลาเราถ่ายใครแล้วอยากให้เขาเก็บรูปไว้เราก็จะอัดมาให้เลย เคยมีครั้งหนึ่งที่น้องของย่าป่วยหนักมาก เราเลยถามย่าว่าเคยมีรูปกับน้องไหม ย่าก็บอกว่าไม่มี เราเลยถ่ายให้แล้วก็รีบไปอัดรูปมาให้ทั้งสองคน ตอนนั้นย่าเอารูปไปอวดทุกคนเลยว่าถ่ายรูปกับน้องมาด้วย หลังจากนั้นไม่กี่วันน้องของย่าก็จากไปอย่างสงบ เรารู้สึกดีใจมากที่ได้ถ่ายรูปให้เขาสองคนเก็บไว้ เหมือนได้ติ๊กความรู้สึกผิดในใจไปหนึ่งช่องที่เราไม่เคยถ่ายปู่เก็บไว้เลย

“เรารู้สึกว่าคนสมัยใหม่ไม่ค่อยอัดรูปกันแล้ว อาจจะเพราะว่าเปลืองตังค์หรือไม่มีเวลา แต่เราอยากให้คนอัดรูปเก็บไว้จริงๆ แม้ว่ามันอาจจะเสียเวลานิดหนึ่งแต่มันคุ้มมากๆ ไม่อยากให้ทุกคนมาเสียดายเหมือนเราในตอนที่ไม่มีโอกาสแล้ว

อยู่ตรงนี้

โปรเจกต์งานครั้งนี้มีระยะเวลาทำทั้งหมดเพียง 3 เดือนตามระยะเวลาที่อาจารย์ให้ ระหว่างนั้นก็มีอุปสรรคมากมายเหมือนเป็นเครื่องวัดใจ ครีมสารภาพว่าเป็นงานที่สู้ชีวิตไม่น้อย แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกดีใจที่งานนี้ทำให้ได้สนิทกับครอบครัวมากขึ้น และยังเป็นแรงบันดาลให้คนอื่นอยากกลับไปถ่ายรูปกับคนในครอบครัว

“ตอนที่เราทำโปรเจกต์นี้มีช่วงที่เราป่วยหนักมาก ซึ่งตอนนั้นพี่สาวก็เป็นไข้เลือดออกอีก เราก็ต้องไปเฝ้าพี่ที่โรงพยาบาล คือไม่มีช่วงเวลาให้ถ่ายงานเลย แต่อาทิตย์หน้าต้องส่งงานเซ็ตแรกแล้ว พอหลังจากกลับจากโรงพยาบาลก็เหลือแค่วันนั้นวันเดียวที่ต้องถ่าย เราก็เลยถ่ายแบบจับเวลา ถ่ายเสร็จก็แต่งคืนนั้นเลย ตอนเช้าก็ต้องนั่งรถจากสิงห์บุรีไปลาดกระบังเลยเพราะต้องไปพรีเซนต์ 

“แต่สิ่งที่ได้จากงานนี้มีเยอะมากๆ หนึ่งคือรู้สึกว่าเราได้ใช้เวลากับครอบครัวเยอะขึ้น เพราะว่าที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ค่อยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับครอบครัวเท่าไหร่ สองคือเราดีใจที่ฟีดแบ็กมันดีมาก มีคนทักมาบอกเยอะเลยว่าขอบคุณที่ทำงานนี้ขึ้นมา พอเขาอ่านจบปุ๊บรู้สึกอยากกลับไปถ่ายรูปกับคนที่บ้านเลย สิ่งนี้มันเหนือความคาดหมายเราไปอีกขั้น

“สุดท้ายคือโปรเจกต์นี้ทำให้เราได้ทบทวนกับตัวเองว่าความรู้สึกเสียดายที่อยู่กับมาตลอด 13 ปี มันกระทบจิตใจเราจริงๆ หรือเปล่า แต่ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่เลย เพราะมันทำให้เราเห็นคุณค่าของคนที่อยู่ข้างๆ มากขึ้น ทำให้เรามีการถ่ายรูปเป็นสิ่งที่เยียวยาหัวใจและคอยเลี้ยงจิตวิญญาณของเราไว้ ถ้าวันนั้นเราไม่รู้สึกเสียดาย ชีวิตเราตอนนี้อาจจะไม่ได้มีความสุขกับสิ่งที่เรียนก็ได้ เราไม่รู้ว่าถ้าเลือกอย่างอื่นที่ไม่ใช่ถ่ายรูปเราจะมีความสุขมั้ย แต่ตอนนี้เราโคตรมีความสุขทุกครั้งที่ได้ถ่ายรูปเลย 

“เราอยากขอบคุณปู่ที่ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมันมีค่ามากๆ เราไม่เคยรู้สึกอยากตายเลย เขาทำให้เราอยากจะใช้ชีวิตทุกวันเพื่อถ่ายรูป ถึงแม้ว่าบางทีเราอาจจะมีความรู้สึกเสียใจที่ยังไม่ได้ทำอะไรหลายๆ อย่างด้วยกันอยู่บ้าง หรือรู้สึกว่าเหตุการณ์สำคัญในชีวิตถ้ามีเขาอยู่มันก็ดี

“แต่ความจริงแล้วปู่ไม่ได้หายไปไหน เพราะเขา ‘อยู่ตรงนี้’ ในใจของเรานี่แหละ

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream