ปฎิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจที่พักกำลังเนื้อหอมสุดๆ
เพราะตอบโจทย์หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ล้วนมีจิตวิญญาณนักเดินทางอยู่ในตัว
แต่ประเภทที่พักหลากหลายตั้งแต่แค่แบ่งพื้นที่ในบ้านเป็น Airbnb เช่าพื้นที่ขนาด 1 คูหาทำเป็นโฮสเทลหลายเตียง
หรือจะเอาชนะด้วยบูติกโฮเทลที่แตกต่างด้วยคอนเซปต์และการตกแต่ง
ก็ล้วนมีเงื่อนไขและสิ่งที่คนทำต้องคิดแตกต่างกัน
เพื่อเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่นักเดินทางจะกดจองให้ได้
ถึงจะรู้ดีว่าย่านราชเทวี พญาไท
มีโฮสเทลเท่ๆ ผุดขึ้นมารองรับนักเดินทางมากมาย
แต่เราก็ตื่นเต้นไม่น้อยที่ได้รู้ว่าในซอยเล็กๆ อย่างเพชรบุรี 7 ซึ่งเป็นแหล่งหอพักนักศึกษายังมีบูติกโฮเทล 3 ชั้นสีขาวสะอาดที่ไม่เพียงเน้นการให้บริการแสนสบาย
แต่ยังชูด้วยคอนเซปต์การผสมผสานวัฒนธรรมทั้งไทย จีน มุสลิม เข้าด้วยกัน พรรณวดี
โอรพันธ์ Co-founder
แห่ง Noursabah Boutique Bed Bangkok (ณุศบา
เบด บางกอก) เปิดประตูต้อนรับเราพร้อมเล่าให้ฟังถึงการเดินทางของที่พักแห่งนี้ที่น่าสนใจไม่ต่างจากทริปของนักเดินทางคนไหนๆ เลย
จากห้องเช่าสู่ที่พักแสนสบาย
“ก่อนหน้านี้เราก็ทำงานประจำในบริษัทต่างชาติเกี่ยวกับโลจิสติกส์
พอถึงจุดหนึ่ง พี่ชายก็บอกว่าควรกลับมาอยู่บ้านที่กรุงเทพฯ
เราก็ลองคิดดูว่าที่บ้านมีอะไรให้ทำได้บ้าง พอดีที่ดินตรงนี้เป็นของแม่
เดิมเป็นบ้านเช่าเก่าๆ โทรมๆ เรารู้สึกเสียดายและอยากพัฒนาย่านนี้
เพราะพอมีรถไฟฟ้าก็กลายเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวผ่านไปมา เลยคิดจะทำเป็นบ้านเช่า
ซึ่งก็ต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะขอความร่วมมือจากคนที่เช่าอยู่เดิมได้
เพราะเขาก็อยู่มานาน”
“ความตั้งใจแรกเราไม่ได้จะทำเป็นโรงแรม
แต่พอเริ่มทำก็ตั้งใจ อยากทำให้ดีตั้งแต่ตัวอาคาร ของตกแต่ง แสงเข้าตรงไหน
เพราะอยากให้คนได้อยู่สบาย พอคุยกับพี่อินทีเรียดีไซเนอร์
เขาก็ช่วยออกแบบให้มันสวยงามขึ้นมาได้
เรามองดูก็คิดว่ามันเป็นที่พักสำหรับต้อนรับแขกเหรื่อต่างประเทศได้ งั้นเปลี่ยนจากบ้านให้เช่ามาเป็นที่พักเล็กๆ
คล้ายโฮมสเตย์ดีกว่า”
เป็นมิตรต่อทุกชนชาติศาสนา
“เราเองเป็นคนไทยมุสลิม
แต่โตมาในชุมชนจีนแถวตลาดโบ๊เบ๊ แถมยังเรียนโรงเรียนคริสต์ด้วยซ้ำ
เมืองไทยเป็นเมืองที่ผสมผสานวัฒนธรรมทั้งไทย จีน มุสลิม อยู่ร่วมกันได้หมด ซึ่งพอมองธุรกิจที่พัก
เรายังไม่ค่อยเห็นใครหยิบเรื่องการอยู่ร่วมกันของคนหลายเชื้อชาติในไทยมากนัก
เลยตั้งใจทำให้ที่นี่เป็น Cultural Hotel ตั้งแต่งานออกแบบก็ไม่ได้อาหรับจ๋า
แต่เน้นสไตล์โคโลเนียล ช่องหน้าต่างเป็นลายไทย แต่ประตู หน้าต่าง เป็นบานเฟี้ยม
ทั้งหมดคือการผสมผสานวัฒนธรรมเข้าด้วยกันเพราะเราเห็นว่านี่แหละคือจุดแข็งของเมืองไทย”
“ส่วนความเป็นมุสลิมมันมีอยู่แล้วเพราะตัวคนทำเองเป็นมุสลิม
อย่างอาหารที่เราบริการก็เป็นฮาลาล 100 เปอร์เซ็นต์
แขกชาวมุสลิมที่มาพักก็ไม่ต้องกังวลว่าจะกินอะไรได้ไม่ได้ และที่นี่ไม่เสิร์ฟแอลกอฮอล์
ส่วนบริการบางอย่างก็มีกิมมิคนิดหน่อย เช่น
ในห้องพักเราเตรียมผ้าปูสำหรับทำละหมาดไว้ให้
แขกชาวมุสลิมที่มาพักเลยจะชอบเราเป็นพิเศษ เพราะเหมือนมาแล้วเขากินง่ายสบายใจ
ได้อยู่กับคนที่มีวัฒนธรรมคล้ายๆ กัน”
ที่พักที่สนับสนุนคนในชุมชน
“ในซอยนี้ที่เราอยู่เป็นชุมชนมัสยิดพญาไท
และจะมีเด็กๆ ชาวมุสลิมที่มาเรียนที่กรุงเทพฯ พักอยู่เยอะ ตอนรับสมัครพนักงาน
เราก็อยากสนับสนุนน้องๆ กลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งมาจาก 3 จังหวัดภาคใต้ซึ่งเขาจะพูดได้ทั้งภาษาไทย
ภาษาอังกฤษ และภาษามลายู มันก็เป็นจุดแข็งของเราในการต้อนรับแขกชาวมุสลิมจากมาเลเซีย
อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ด้วย ซึ่งพอเด็กกลุ่มนี้มาทำงานกับเรา ชีวิตเขาก็ง่ายด้วย
จะไปทำละหมาดก็ไปได้ อยู่กับเราก็เหมือนอยู่กับครอบครัว”
เจาะตลาดนักท่องเที่ยวคนละกลุ่มกับโฮสเทล
“เราวาง positioning ของเราให้แตกต่างจากโฮสเทลใกล้เคียงกัน
ที่นี่เป็นเหมือนที่พักเล็กๆ มีห้องเดียวที่เป็นเตียงสองชั้น พักได้ 4 คน และห้องครอบครัว นอกนั้นเป็นห้องเดี่ยวสำหรับ 2 คนหมดเลย
ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 1,500 บาท
ชาวต่างชาติบางคนเข้ามาทีแรกเจอราคานี้ก็ไม่เข้าใจ แต่พอได้พักหรือเห็นการให้บริการของเราที่ไม่เหมือนที่อื่นก็ขออยู่ต่อก็มี
อย่างมินิบาร์ในตู้เย็น เราไม่คิดเงินเลย เพราะเวลาไปเที่ยว พอเข้าที่พักแล้วเราก็ไม่อยากเดินออกไปร้านสะดวกซื้ออีกแล้วล่ะ
ที่ณุศบาจึงมีขนม ชา กาแฟ นม ของกินง่ายๆ ไว้บริการแขก”
“ลูกค้าช่วงแรกที่ยังไม่ได้ทำการตลาดก็เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินไปเดินมาย่านนี้เพราะตัวอาคารเองก็พอขายได้อยู่
พอเราเริ่มไปอยู่ในเว็บไซต์ที่พัก (Online Travel Agency) ลูกค้าที่ได้กลับเป็นคนจีนเป็นส่วนใหญ่
แต่เป็นกลุ่มที่มาเที่ยวเอง พาครอบครัวมาเที่ยว ไม่ใช่กรุ๊ปทัวร์
หรือถ้าคนไทยก็เป็นแก๊งเด็กๆ ที่เพิ่งเรียนจบ อยากมาเที่ยวมาพักในสถานที่สวยๆ
ชอบงานฝีมือ ชอบความรื่นรมย์ มาแล้วก็ถ่ายรูปกันไป
เราเลยมองว่าจุดขายของเราคือไลฟ์สไตล์และประสบการณ์บางอย่างที่อยากให้กับแขกที่มาพักจริงๆ
ให้เขาประทับใจ มีครั้งหนึ่งแขกที่มาพักพาลูกมาด้วย ลูกเขาก็บอกว่าคราวหน้าอยากมาพักที่บ้านนี้อีก
เขาใช้คำว่าบ้านแทนที่จะเป็นโรงแรม
เราก็ถือว่าได้ให้ประสบการณ์การพักอย่างสบายอย่างที่หวังไว้แล้ว”
ธุรกิจที่ต้องเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา
“เราเชื่อว่าบางอย่างแค่เปลี่ยนวิธีการ
ไม่ใช่ว่าปัญหาจะแก้ไม่ได้ ช่วงแรกที่ทำเราก็ไม่ได้ศึกษาเรื่องการตลาดก่อน
รอว่าเมื่อไหร่แขกจะมาพักสักที ลุ้นเหมือนกันว่าจะไหวไหม เปิดเพจเฟซบุ๊ก
ทำคอนเทนต์และบูสต์โพสต์แล้วก็ไม่มีคนจอง เลยรู้ว่าไม่ใช่ละ
เราทำคอนเทนต์ให้คนเห็นคนกดไลก์ แต่เขาไม่ได้มาพักกับเรา
คนที่จะมาพักคือนักท่องเที่ยวที่มองหาที่พักต่างหาก ก็เลยติดต่อกับ OTA จนเริ่มดีขึ้น”
“ธุรกิจที่พักต้องให้เวลาจูนตัวเอง
หาจุดแตกต่างให้ได้ ทำไปสักพักเราจะเริ่มเห็นกลุ่มลูกค้า เห็นว่าเทศกาลนี้
แขกชาตินี้จะมาเยอะ หรือแม้แต่ความคิดเห็นของแขกก็เอามาปรับได้ แขกกลายมาเป็นครูสอนเราด้วย
เราก็ขอบคุณแขกที่ติติงบอกเราเพราะช่วงแรกๆ ยังมีปัญหาไฟกระตุก ทีวีสัญญาณไม่มา
เราคิดจากตอนเราไปเที่ยว ไปพักโรงแรมต่างๆ ว่าเราแค่อยากเจอพนักงานที่สามารถถามไถ่พูดคุย
ช่วยเหลือเราได้ อยากได้ประสบการณ์แบบไหน เราก็ทำกับแขกที่มาพักแบบนั้น
หรือถ้าเราได้ไปพักในโรงแรมดีๆ จะทำยังไงให้ที่พักของเราดีเท่าๆ กันหรือดีไปกว่านั้น
เราอยากทำที่พักที่ดีพอจะกล้าชวนเพื่อนได้ว่ามาพักกับเราสิ”
“ตอนนี้มีแต่คนอยากทำโฮสเทล
ถามเราก็ดีหมดแหละไม่ว่าจะเป็นแนวไหน
แต่ต้องมีตัวตนชัดเจนแล้วลูกค้าก็จะเลือกจากสิ่งที่เราเป็น
ไม่จำเป็นที่เราต้องไปแข่งกับใครตราบใดที่เราไม่เหมือนใคร”
Noursabah
Boutique Bed Bangkok (ณุศบา เบด บางกอก)
ประเภทธุรกิจ: บูติกโฮเตล
คอนเซปต์: ที่พักอยู่สบายที่ผสมผสานวัฒนธรรมหลากหลายของเมืองไทย
เจ้าของ: พรรณวดี โอรพันธ์ (38 ปี)
Facebook | Noursabah Boutique Bed Bangkok
นอกจาก Noursabah
Boutique Bed
Hotel ที่ซอยเพชรบุรี 7 แล้ว
ยังมีที่พักคอนเซปต์เดียวกันในสไตล์ Bed and Breakfast ชื่อ Noursabah Pattaya ที่พัทยา จังหวัดชลบุรี
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Noursabah Pattaya – ณุศบา พัทยา
ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์