BnA Hotel โรงแรมญี่ปุ่นที่อยากให้การนอนช่วยซัพพอร์ตศิลปินท้องถิ่น

ก่อนจะเข้าเรื่อง เราขอแนะนำย่านโคเอนจิให้ทุกคนรู้จัก 

ที่นี่เป็นย่านที่มีซับคัลเจอร์แข็งแรง เต็มไปด้วยไลฟ์เฮาส์ ร้านเสื้อผ้าวินเทจ ร้านขายแผ่นเสียง โรงอาบน้ำสาธารณะเก่าแก่ และแกเลอรีจิ๋วแต่แจ๋วมากมาย หลังจากอาศัยอยู่ในย่านมาหลายปี เราคุ้นเคยกับบรรยากาศเหล่านี้เลยไม่ค่อยแปลกใจเวลาเห็นสตรีทอาร์ตใหม่ๆ บนผนัง หรือการเปิดตัวของ BnA Hotel Koenji โรงแรมศิลปะเล็กๆ ที่มีเพียง 2 ห้องกับ 1 บาร์

มาตื่นเต้นอีกทีก็ตอนรู้ว่าโรงแรมศิลปะกับภาพวาดบนผนังที่กระจายไปทั่วนั้นเป็นผลงานของคนกลุ่มเดียวกันที่มุ่งมั่นส่งเสริมศิลปินในท้องถิ่นและสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วไป แถมทำเป็นล่ำเป็นสัน นอกจากที่โคเอนจิ ยังมีที่อากิฮาบาระ นิฮงบาชิ และเกียวโต 

ที่สำคัญ แม้ในญี่ปุ่นจะมีโรงแรมศิลปะมากมาย แต่ที่นี่เป็นที่เดียวที่แบ่งรายได้ให้กับศิลปินเจ้าของผลงานในแต่ละห้องโดยตรงทุกครั้งที่มีคนเข้าพัก

ดูรูปในเว็บแล้วอยากค้างแรม ได้อ่านเรื่องราวแล้วค้างคาใจ ณ เวลาบ่าย 2 ของวันธรรมดาที่อากาศแสนดี ก่อนแขกจะเริ่มทยอยเข้าพัก เราเลยขอเช็กอินยึดพื้นที่ล็อบบี้สุดเก๋ของ BnA Wall เพื่อพูดคุยกับ Yu Tazawa 1 ใน 4 ผู้ก่อตั้งซึ่งรับบทเป็น CEO ของ BnA ถึงความสร้างสรรค์ทั้งปวง

Bed and Art

BnA ย่อมาจาก Bed and Art เป็นธุรกิจที่เกิดจากการรวมตัวของ 4 หนุ่มผู้มีวิสัยทัศน์คล้ายกัน ได้แก่ Yu Tazawa, Yuto Maeda, Keigo Fukugaki และ Kenji Daikoku สำหรับพวกเขา BnA ไม่ใช่โรงแรมแต่เป็น cultural space ส่วนห้องพักของพวกเขาถือเป็นงานศิลปะที่เข้าถึงได้ผ่านประสบการณ์ (การนอน)

“ผมกับยูโตะทำธุรกิจ Airbnb ด้วยกันมาก่อน ตอนนั้นทำง่ายๆ ขำๆ ต่างคนต่างทำธุรกิจอื่นไปด้วย จนได้มารู้จักกับเคโกะซึ่งเป็นสถาปนิกและอินทีเรียดีไซเนอร์ ผมกับเคโกะต่างไปเรียนที่อเมริกาทั้งคู่และกลับมาอยู่ญี่ปุ่นในช่วงไล่เลี่ยกันเพื่อนเลยแนะนำให้รู้จักกัน” ยูซึ่งไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมและศิลปะเริ่มเล่า

BnA Hotel
The Room With A Pink Carpet, Colliu, BnA_WALL, photographer Tomooki Kengaku

ในฐานะดีไซเนอร์ เคโกะอยากยกระดับศิลปะแห่งการออกแบบอาคารและการออกแบบภายใน เขาไม่ชอบที่งานศิลปะมักถูกใช้เป็นแค่เครื่องประดับในงานตกแต่งบ้าน เช่น เวลาเราออกแบบห้องหรือที่ทำงาน เราออกแบบอย่างอื่นก่อนแล้วค่อยเลือกงานศิลปะมาใส่เป็นขั้นตอนสุดท้าย ตอนเคโกะได้ออกแบบออฟฟิศให้บริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นเขาเลยชวนสตรีทอาร์ทิสต์ชาวญี่ปุ่น 2-3 คนมาร่วมงาน และแทนที่จะออกแบบออฟฟิศแล้วเอางานศิลปะมาตกแต่ง เขาเริ่มจากงานศิลปะก่อนแล้วค่อยคิดส่วนอื่น

เมื่อเคโกะและยูได้คุยกันเรื่องนี้ พวกเขาเลยเกิดไอเดียว่าอยากทำบางอย่างร่วมกันที่ผสมผสานระหว่างธุรกิจ การออกแบบ และศิลปะ

“เราผสมบริการกับศิลปะให้กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และในเมื่องานศิลปะช่วยทำให้คนจองห้องพักมากขึ้น รายได้ส่วนหนึ่งก็ควรจะถูกส่งต่อให้ศิลปินด้วยถึงจะยุติธรรม เท่าที่รู้ผมว่าเราน่าจะเป็นเจ้าเดียวที่แชร์รายได้ให้ศิลปิน”

ความเป็นมาของผู้ก่อตั้ง 3 คนแรกเป็นเช่นนี้ ส่วนเรื่องราวของผู้ก่อตั้งคนที่ 4 นั้นเราขออุบไว้ก่อน

Galápagos Danchi, Mizuguchi Guchi, BnA Alter Museum, Photographer Tomooki Kengaku

Bed, Art, Wall and Museum

อย่างที่เกริ่นไว้ BnA ทำงานมาหลายโปรเจกต์ รวมแล้วนับได้ 4 โรงแรมที่มีคอนเซปต์แตกต่างกันออกไปแต่มีจุดร่วมหลักคือการแบ่งปันรายได้ให้เจ้าของผลงานในห้องพัก 

“ตอนสร้างโรงแรมเราพยายามคิดถึงคาแร็กเตอร์ของเมืองนั้นๆ แล้วหาความเชื่อมโยงกับคนในชุมชนและบริบทของย่าน อย่างโคเอนจิเป็นย่านที่ศิลปินอยู่อาศัยและพักผ่อน เราเลยทำส่วนพนักงานต้อนรับให้เป็นบาร์สำหรับแฮงก์เอาต์ของศิลปิน ศิลปินกับนักท่องเที่ยวจะได้สังสรรค์แลกเปลี่ยนกัน แต่นิฮงบาชิเป็นย่านออฟฟิศเราเลยทำให้เป็นที่ที่ศิลปินมาทำงานและสร้างเวิร์กช็อปชั้นใต้ดินให้ศิลปินมานั่งทำงานและจัดอีเวนต์ได้” ซีอีโอหนุ่มเล่าถึงการวางคอนเซปต์ของแต่ละสาขา

ขอยกตัวอย่างดีเทลของโรงแรมด้วย BnA Wall ที่เรานั่งชิลอยู่ ที่นี่รับบทเป็น creative hub ในนิฮงบาชิ ย่านธุรกิจสุดหรูของโตเกียว โดยมีพระเอกเป็น ‘wall’ หรือ ‘กำแพง’ ตามชื่อเป๊ะๆ เพราะที่นี่สร้างกำแพงสูง 6 เมตรยาวจากชั้นใต้ดินขึ้นมายังล็อบบี้ ให้ศิลปินที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักได้โอกาสมาวาดสตรีทอาร์ต โชว์ผลงานแบบปังๆ แถมยังสามารถถ่ายรูปนำไปทำพอร์ตโฟลิโอต่อได้ด้วย

[Photo by~Takeshi Sasaki]
BnA Hotel
[Photo by~Takeshi Sasaki or Tomooki Kengaku]

แม้ญี่ปุ่นจะดูเปิดกว้างทางศิลปะแต่การหาพื้นที่สาธารณะวาดภาพสตรีทอาร์ตแบบถูกกฎหมายนั้นยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ขนาดใหญ่แบบนี้ ชั้นใต้ดินของโรงแรมสาขานี้จึงถูกเรียกว่า factory เป็นพื้นที่ให้ศิลปินได้แสดงฝีมือ จัดอีเวนต์ วางขายผลงานต่างๆ ซึ่งภาพบนกำแพงจะเปลี่ยนใหม่ทุก 2-3 เดือนให้ศิลปินหน้าใหม่คนอื่นๆ ได้รับโอกาสแบบเดียวกัน แขกที่มาพักก็วินเหมือนได้ล็อบบี้ใหม่เรื่อยๆ 

ส่วนห้องพักก็ธีมแน่นจัดเต็ม ที่นี่มีห้องหลากหลายแบบ เช่น ห้อง Daytime’s Daydream จำลองความสตรีทของโตเกียว พื้นเป็นกระเบื้องที่ใช้ 3D printing ทำลวดลายของสิ่งที่น่าจะมีคนเมาทำหล่นตกบนพื้นถนนย่านชิบุยะ เช่น ร่ม ถุงมือ กุญแจ, ห้อง Sushi Wars นี่เต็มไปด้วยป๊อปคัลเจอร์ ตะโกนความเป็นญี่ปุ่นเต็มที่ สร้างสรรค์โดยศิลปินอิสระอดีตไอดอลสาวที่ผันตัวมาเป็นนักดนตรี ส่วนห้อง Hardcore Game Room ก็ตรงตัวตามชื่อเป๊ะๆ มีความสนุกซ่อนไว้มากมาย เช่น เกมโอเทลโล่บนผนังที่เล่นได้จริง โต๊ะที่ทำจากตัวต่อไม้เจงก้า ภาพลวงตาที่ต้องใช้มือถือหรือกล้องมองถึงจะเห็นภาพ

BnA Hotel
Daytime’s Daydream, EVERYDAY HOLIDAY SQUAD, BnA_WALL, Photographer Tomooki Kengaku
SUSHI WARS, Mako Watanabe, BnA_WALL, Photographer Tomooki Kengaku
HARDCORE, magma, BnA_WALL, Photographer Tomooki Kengaku

ถ้าแหวกแนวหน่อยต้องยกให้ห้อง Float ที่ล้ำมาก ดูเผินๆ คือความทันสมัยไฟนีออน แต่จริงๆ มีธีมคือ meditation หรือการทำสมาธิ มีเสียงดนตรีให้เลือกเปิดกล่อมเกลาจิตใจและอุปกรณ์ทำสมาธิเรียบเก๋ ห้องทุกแบบมาพร้อมกิมมิกสนุกๆ ตั้งแต่ประตูห้องที่เขียนชื่อผลงาน ชื่อศิลปิน และวิธีที่ใช้ราวกับเป็นรายละเอียดผลงานที่มักเห็นเขียนกำกับใต้ภาพ

“เวลาสร้างห้อง เรามีงบให้ศิลปินก้อนหนึ่งแล้วเปิดโอกาสให้ศิลปินสร้างสรรค์ห้องได้เต็มที่โดยไม่ได้มีบรีฟกำหนดทิศทางอะไร ผมอยากให้ห้องเป็นงานศิลปะถาวรและไม่ได้เน้นแค่สไตล์ร่วมสมัย อย่างโรงแรม BnA Alter Museum ที่เกียวโตมีทั้งงานแบบดั้งเดิม (traditional) ผสมงานอาว็อง-การ์ด ใช้วิธีสร้างผลงานอะไรก็ได้ ส่วนศิลปินจะเป็นใครก็ได้ที่ทำห้องสนุกๆ ด้วยกันได้ ไม่ต้องเป็นคนญี่ปุ่นก็ได้ ขอแค่มาจากชุมชน”

Float, YOSHIROTTEN, BnA_WALL, Photographer Tomooki Kengaku

คำพูดของเขาทำให้เราร้องอ๋อ คิดถึงห้อง Galápagos Danchi ที่ได้แรงบันดาลใจจากอพาร์ตเมนต์ญี่ปุ่นในยุค 1950, ห้อง 2019/3019 ที่ใช้เทคนิคการซ่อมแซมเซรามิกเก่าแก่อย่างคินสึงิ และห้อง goen no ma ที่เต็มไปด้วยเหรียญ 5 เยนที่คนมักใช้บริจาคในศาลเจ้า

จากการที่ BnA ช่วยโปรโมตศิลปินในท้องถิ่นด้วยวิธีนี้มาระยะใหญ่ มีศิลปินหลายคนที่ผลงานไปเข้าตาคนในวงการศิลปะจนได้รับคำชวนให้ไปจัดนิทรรศการหรือวาดกำแพงที่ต่างประเทศด้วยนะ

BnA Hotel
goen no ma, Ryuichi Ohira, BnA_WALL, Photographer Tomooki Kengaku
BnA Hotel
goen no ma, Ryuichi Ohira, BnA_WALL, Photographer Tomooki Kengaku

Bed, Art and Community

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะรู้สึกแล้วว่าคำว่า ‘ชุมชน’ เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของ BnA 

มันเป็นสิ่งที่ทำให้ CEO ยูได้พบกับ ‘เคนจิ’ ผู้ก่อตั้งคนที่ 4 ด้วย

“Airbnb ห้องแรกของเราที่ย่านอิเคะบุคุโระ เป็นเหมือนโปรเจกต์ DIY เป็นโปรเจกต์นำร่อง เป็นห้องง่ายๆ ตั้งอยู่ในย่านที่ไม่ได้มีบรรยากาศทางวัฒนธรรมอะไรเป็นพิเศษ แต่ผู้คน สื่อ และนักท่องเที่ยวต่างชาติก็เริ่มสนใจห้องของเรา ตอนนั้นผมได้เรียนรู้ว่าคนที่มาพักสนใจคอมมิวนิตี้เบื้องหลังงานศิลปะในห้องด้วย เหมือนกับพอเห็นศิลปินออกแบบห้อง เห็นงานแล้วรู้ว่ามีชุมชนเบื้องหลัง”

โปรเจกต์ถัดมายูเลยเริ่มมองหาย่านที่มีบรรยากาศทางวัฒนธรรมแข็งแรงและได้เจอเคนจิ ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนในโคเอนจิและทำสเปซสร้างสรรค์เพื่อศิลปินมา 7-8 ปี โรงแรม BnA Koenji โรงแรมแห่งแรกของ BnA จึงเกิดขึ้นโดยปรับจากพื้นที่ที่ชุมชนศิลปินใช้อยู่แล้วให้กลายเป็นศูนย์กลางระหว่างศิลปินในท้องถิ่นกับนักท่องเที่ยว

[Photo by~Takeshi Sasaki or Tomooki Kengaku]

ส่วน Koenji Mural City Project เป็นโปรเจกต์ที่ต่อยอดจากโรงแรม งานนี้พวกเขาขอความร่วมมือจากคนในท้องถิ่นและสำนักงานเขตเพื่อใช้กำแพงเป็นผืนผ้าใบให้ศิลปิน สร้างมูลค่าทางวัฒนธรรมใหม่จากการเป็นเมืองวินเทจอย่างเดียวให้กลายเป็นย่านที่คนอยากมาเพื่อชมงานศิลปะด้วย 

“การทำงานกับเคนจิครั้งนี้กลายเป็นโมเดลให้เรา นั่นคือการหาผู้นำชุมชนที่เราจะสร้างโรงแรมแล้วต่อยอดร่วมกัน และแทนที่จะเลือกชวนศิลปินที่ดังแล้วมาร่วมงานเราก็พยายามหาศิลปินในท้องถิ่น ไม่จำกัดว่าต้องเป็นคนญี่ปุ่นเท่านั้น แค่เป็นคนในท้องถิ่นที่ยังไม่ถูกค้นพบ”

เป้าหมายของ BnA คือ ‘Inspire Everyone to be a Creative Citizen’ หรือการ ‘สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนเป็นพลเมืองที่สร้างสรรค์’ พวกเขาจึงไม่ได้เน้นแค่การจัดแสดงศิลปะและสนับสนุนศิลปินในท้องถิ่น แต่อยากให้โรงแรมกลายเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ สนับสนุนให้คนมีความคิดสร้างสรรค์และกล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ โดยไม่ต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ แค่ตื่นมาในห้องพักแล้วรู้สึกอยากทำอะไรบางอย่าง แม้จะเป็นแค่ความคิดก็ได้ รวมไปถึงรับงานโปรเจกต์อื่นๆ ที่สอดคล้องกับแนวทางนี้ ทั้งการเป็นที่ปรึกษาการพัฒนาเมืองและพื้นที่ต่างๆ

“การสร้างสรรค์เป็นพื้นฐานของมนุษย์อยู่แล้ว เป็นสิ่งที่พาผู้คนเข้ามาหากัน ชุมชนไม่ได้สร้างจากคนสองคนหรือการทำอะไรเท่ๆ แต่การทำโปรเจกต์สามารถส่งเสริมการสร้างชุมชนได้

“ตอนเรียนอยู่ที่ฟิลาเดลเฟียผมชอบสไตล์คอมมิวนิตี้ของเขามาก ที่นั่นเป็นเมืองศิลปะ มีดนตรี สตรีทอาร์ตมากมาย งานศิลปะ งาน DIY เทคโนโลยีอยู่ร่วมกัน มีการข้ามวงการซ้อนกันไปมาทั้งธุรกิจ แฟชั่น ศิลปะ ซึ่งผมชอบมาก มันต่างจากญี่ปุ่นที่คอมมิวนิตี้ศิลปะยังเล็กและจำกัดวงแคบ”

BnA Hotel
[Photo by~Takeshi Sasaki or Tomooki Kengaku]

ในเว็บไซต์ของ BnA Hotel มีข้อความที่เราชอบมาก 

“ถ้าใครมีโปรเจกต์บ้าๆ และดูท่าจะเป็นไปไม่ได้ ติดต่อเข้ามาเลยนะ”

แค่อ่านก็รู้สึกถึงความเป็นไปได้ที่ไม่จำกัดของพวกเขาและโปรเจกต์ในอนาคต

เราถามยูว่าที่ผ่านมามีโปรเจกต์บ้าๆ อันไหนเล่าให้ฟังได้บ้าง เขาบ่นว่าเลือกยากแล้วหัวเราะนิดหน่อยก่อนแง้มให้ฟังว่าโปรเจกต์ Watari Triple C Project ที่กำลังทำอยู่ก็พีคไม่เบา ที่ผ่านมาเราเห็นงานศิลปะและธุรกิจผสมผสานกันส่งเสริมการเลี้ยงชีพของศิลปิน ส่วนโปรเจกต์นี้ที่นำชื่อมาจากเมืองที่โดนสึนามิถล่มในปี 2011 จะนำศิลปะ ดนตรี และกีฬามารวมกันเพื่อฟื้นฟูเมือง

จาก Bed และ Art สู่ Bed, Art, Music, Sports และ Community วันข้างหน้า BnA จะเดินทางพาโรงแรมไปเชื่อมโยงกับอะไรอีก เราชักอยากรู้แล้วสิ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Kanith

นักเขียนภาพประกอบอิสระที่ติดเกม