Bike Zone: ร้านจักรยานเพื่อแฟนคลับไตรกีฬาตัวจริง

พื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรของร้าน Bike Zone ในย่าน A Square สุขุมวิทซอย 24 เต็มไปด้วยจักรยานและผู้คน
ไม่ว่าจะเป็นพนักงานของร้านที่ยืนถกเถียงเรื่องจักรยานรุ่นต่างๆ
กับลูกค้าหน้าเก่าอย่างสนิทสนม
หรือลูกค้าหน้าใหม่ที่แวะเวียนเข้ามาเลือกอุปกรณ์เสริมกระจุกกระจิกที่แขวนอยู่เต็มผนังร้านด้วยความสนุกสนาน
ที่นี่เป็นร้านจักรยานที่ผ่านร้อนผ่านหนาวของเทรนด์จักรยานในประเทศไทยมากว่า 8
ปี เริ่มจากร้านขนาดเล็กในโซน outdoor ของห้างอัมรินทร์พลาซ่าจนกลายมาเป็นร้านจักรยานไตรกีฬาที่มีชื่อเสียงในวงการ

หลังจาก ไตรคงพันธุ์ ปราโมช ณ อยุธยา หนึ่งในเจ้าของร้านและผู้ก่อตั้ง
จบบทสนทนาออกรสกับเพื่อนนักปั่นเรียบร้อย
เราก็ได้เข้าไปพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับชุมชนจักรยานขนาดย่อมแห่งนี้

เมื่อกระแสมาตรงกับสิ่งที่ชอบ

“ผมชอบขี่จักรยานมาตั้งแต่เด็ก ตอนเรียนอยู่ที่อังกฤษก็ยืมจักรยานเพื่อนมาปั่น
พอกลับมาเมืองไทย ทุกอาทิตย์ก็จะขี่จักรยานเสือภูเขาออกต่างจังหวัดไปไหนต่อไหน ร้าน
Bike Zone เลยเริ่มมาจากการเป็นร้านขายจักรยานเสือภูเขา
ซึ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการจักรยานสมรรถนะสูง โดยมีกลุ่มนักแข่งและชาวต่างชาติที่เราเข้าถึงอยู่แล้ว
เลยถือโอกาสทำร้านจักรยานมาสนองคนกลุ่มนี้แล้วพอเค้าเริ่มมาเล่นไตรกีฬากัน กระแสไตรกีฬาเริ่มมา
ผมที่ชอบเล่นไตรกีฬามาตั้งแต่ปี 2002 แล้ว ก็เลยลองเปลี่ยนมาขายจักรยานไตรกีฬาเป็นหลัก”

“ถ้าถามว่าแล้วทำไมจากขี่จักรยานเฉยๆ กลายมาเปิดร้าน
สำหรับเราที่ชอบของพวกนี้
เวลาไปเดินงานโชว์ในต่างประเทศแล้วมันเหมือนไปดูร้านของเล่นใหญ่ๆ
เค้ามีเทคโนโลยีใหม่ๆ มีจักรยานสวยๆ เราก็เหมือนเด็กเข้าร้านของเล่น ทำให้อยากมาทำตรงนี้
ใจเราก็ชอบด้วย ได้เงินนิดหน่อยก็โอเค”

“แต่ก่อนตั้งแต่เปิดร้านในปี 2008 มาจนถึงปี 2013 ผมทำงานประจำเป็นระดับสูงอยู่ในองค์กรของเกษรพลาซ่า ดูโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายพันล้าน
แต่พอเข้าปี 2013 ผมก็ตัดสินใจว่า ทางนี้ต้องการเราแล้ว เลยออกจากการเป็นพนักงานประจำ
มาทำที่นี่เต็มตัว”

รู้ความเป็นไปในตลาด

“ในช่วง 4 – 5 ปีแรกที่เราเปิดร้าน ตลาดจักรยานยังเล็ก
มันมาเริ่มโตตอนช่วงปี 2010 – 2011 ซึ่งช่วงนั้น
ขายจักรยานเสือภูเขาได้คันละ 3 – 4 หมื่นก็ดีใจมากแล้ว แต่พอช่วงปี 2013 – 2014 เทรนด์มันก็มา ไม่ใช่แค่เทรนด์จักรยาน
แต่เทรนด์ดูแลสุขภาพ คนอายุประมาณ 30 – 40 กว่า
การงานครอบครัวมั่นคงแล้ว มีเงิน ก็อยากดูแลสุขภาพ จักรยานคันละแสนต้นๆ ก็กลายเป็นของธรรมดา
การที่เราเปิดร้านตั้งแต่ปี 2008 ถือว่าจังหวะโอเค เพราะพอกระแสมันมาถึง
เราก็ค่อนข้างอยู่ตัวแล้วพอดี”

“พอมาถึงปี 2015 เศรษฐกิจโลกเริ่มนิ่ง
ตลาดเริ่มอิ่มตัว จะเริ่มมีความคงตัวแล้ว ส่วนปี 2016 นี่เห็นได้ชัดเลยว่าตลาดไม่โตเท่าปีก่อนๆ
อาจเพราะคนที่ฉาบฉวยเล่นตามเทรนด์หายไปแล้ว คนที่มาตอนนี้คือตัวจริง ซึ่งเป็นคนที่จะอยู่อีกนาน”

“ปี 2016 ผมมองว่าตลาดไตรกีฬาโตมาก มีงานบ่อยมาก แล้วคนอยากหัดเล่นไตรกีฬา
ที่ผ่านมาทาง Bike Zone ทำสปอนเซอร์สนามที่บางปู เรียกว่า Bangkok
Dash เป็นไตรกีฬาระยะสั้น ง่ายๆ ระยะทางไม่ไกลมาก คนเริ่มเล่นไตรกีฬาที่นั่นเยอะ
15 ปีกว่าของผมก็ไปเริ่มที่นั่น ซึ่ง 3 ปีที่แล้ว รอบละ 70 คนคือใหญ่ ในขณะที่ปีนี้ รอบละ 200 คนเป็นปกติ ขนาดช่วงที่มีงานอื่นชน นึกว่าจะไม่มีคน ก็คือรอบละ 120
คน แล้ว 70 – 80 เปอร์เซ็นต์เป็นหน้าใหม่ทั้งนั้น จักรยานที่เอามาใช้ก็มีทุกรูปแบบ
คือเค้าอยากมาลอง แล้วมันสนุก ซึ่งไตรกีฬาพอลองเล่นแล้วมันติด”

เสน่ห์ของจักรยานไตรกีฬา

“ไม่ว่าจะเป็นคนระดับซีอีโอหรือพนักงาน เวลาไปขี่จักรยานแล้วทุกคนเท่ากัน
ไม่มีกำแพงกั้น ทุกคนอยู่บนถนนเหมือนกัน ยิ่งพอมาอยู่ในสนามแข่ง ทุกคนก็ยิ่งเท่ากันหมด
ไม่ใช่ว่าลูกน้องจะต้องมาให้ซีอีโอไปก่อน เสน่ห์มันอยู่ตรงนี้”

“ส่วนไตรกีฬาจะเป็นเสน่ห์อีกอย่าง คือเป็นกีฬาที่ไม่ competitive เกินไป
ถึงเราแข่งกับคนอื่นอยู่ก็ตาม แต่ทุกคนช่วยกัน เชียร์กัน คอยผลักดันกัน
ขนาดปล่อยตัวก็คนละเวลากัน ดังนั้นบางทีเราวิ่งอยู่ในสนาม เราไม่รู้หรอกว่าคนนี้กับเราแข่งกันหรือเปล่า
เราเลยแข่งอยู่กับตัวเอง ทำเวลาให้ดีที่สุดของตัวเอง พอแข่งจบแล้วค่อยมาดูว่าเราอยู่ตรงไหนของการแข่งขัน”

“แล้วไตรกีฬามันยังเป็นวงการเล็ก
ไม่เหมือนจักรยานที่เวลาลงแข่งต้องเฉพาะรุ่น มีเป็นทีม ทีมต้องผ่านเงื่อนไข
ในขณะที่ไตรกีฬา เราแข่งในสนามเดียวกับโปรระดับโลก เค้าอาจจะเร็วกว่าเราเยอะ
แต่เราก็เห็นเค้าวิ่งในสนามด้วยกัน บางทีเค้าก็วิ่งผ่านเรา บางทีสวนกัน
แล้วสนามบ้านเราอย่างภูเก็ต ก็เป็นสนามที่ทุกคนรู้จัก แชมป์โลกก็มาแข่งที่นี่เยอะ เราได้สัมผัสแชมป์โลกในสนามเดียวกับเรา
ซึ่งถ้าเป็นแข่งจักรยาน ไม่มีทาง”

ทุกสิ่งที่ขายมีความพิเศษ

“ที่จริงหน้าร้านเป็นแค่ส่วนหนึ่งของธุรกิจ แต่ละแบรนด์ที่เรานำเข้ามา
เรานำเข้าเจ้าเดียวในไทย แล้วกระจายให้กับร้านค้าทั่วประเทศ เรียกว่าเป็น Sole Distributor ซึ่งตรงนั้นใหญ่กว่าหน้าร้านมาก
แต่ผมว่าเราก็ควรมีหน้าร้านเพื่อให้ได้สัมผัสกับกลุ่มลูกค้า เพื่อให้รู้จักเทรนด์
รู้จักอะไรอีกเยอะ”

“เรามี 4 แบรนด์ แบรนด์หลักของเราคือ Cervélo จะเน้นจักรยานเสือหมอบกับจักรยานไตรกีฬา แล้วเค้าเน้นระดับแข่ง รถรุ่นล่างๆ
ของเค้าก็เคยชนะ World Championship มาแล้ว
เพราะฉะนั้นรถทุกคันของ Cervélo จะเน้นสมรรถนะ”

“แต่จริงๆ แบรนด์แรกที่เรานำเข้าคือ Marin แบรนด์ตั้งชื่อตามเมืองทางเหนือของซานฟรานซิสโก
ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของจักรยานเสือภูเขาเลยเป็นแบรนด์แรกที่เราขาย”

“อีกแบรนด์นึงก็คือ Ceepo เป็นแบรนด์ญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้งเป็นนักไตรกีฬา
ตอนนั้นผมไปงานไทเป แล้วได้ไปสนิทกับเจ้าของแบรนด์เลย เป็นแบรนด์ที่ไม่ได้โตเท่า Cervélo
เพราะจะเน้นไตรกีฬาอย่างเดียว มีจักรยานเสือหมอบอยู่แค่รุ่นสองรุ่น
แล้วคนก็ยังไม่ค่อยรู้จัก แต่ Ceepo จะกำลังมาพร้อมกับกระแสไตรกีฬา”

“และแบรนด์สุดท้ายคือ Quintana Roo หรือ QR เป็นแบรนด์แรกของโลกที่ทำจักรยานไตรกีฬา
เพราะแต่ก่อนคนเอาจักรยานเสือหมอบมาแข่งไตรกีฬา ซึ่งต้องปั่นตั้ง 180 กิโลเมตร
จักรยานเสือหมอบไม่ค่อยใช่ ทาง QR เลยมาคิดค้นใหม่ เลยเป็นแบรนด์ที่มีแต่รถไตรกีฬาอย่างเดียว”

“จักรยานในร้านใช้วิธีสั่งมาดูก่อนว่าโมเดลไหนขายได้ขายไม่ได้ โดยสั่งเข้ามาไม่เยอะ
คือเราคงไม่ได้สั่งมาเป็นร้อยคัน เพราะตลาดมันไม่ได้มีคนซื้อเยอะขนาดนั้น
แต่ก็มีบางรุ่นที่พอออกมาปั๊บ ลูกค้าก็โทรมาขอจองไว้ก่อนเลยทันที
ที่สั่งเข้ามาแล้วต้องสั่งเพิ่มก็มีเหมือนกัน”

ให้ความสำคัญกับบริการ

“นอกจากสมรรถนะของจักรยานแล้ว เราเน้นการสร้างชุมชนจักรยาน
เพราะคนขี่จักรยานส่วนใหญ่ เพื่อนขี่แล้วชวนไปขี่ด้วยกัน คือต้องมีเพื่อน ขี่คนเดียวมันไม่สนุก
แล้วโซเชียลมีเดียก็มีส่วนช่วยมาก อย่างสุวรรณภูมิที่เค้าว่าเป็นที่เช็กอินใน Instagram
เยอะติดอันดับโลก ผมว่ามันไม่ได้มาจากสนามบิน
มันมาจากคนที่ไปปั่นจักรยานเลียบรันเวย์กันมากกว่า ปั่นเสร็จแล้วเค้าก็ถ่ายรูป
แท็กสถานที่ คนเห็นก็อยากไปปั่นบ้าง”

“ช่วงที่เค้าบูมเปิดร้านจักรยานกันเมื่อ 2 – 3 ปีที่แล้ว บางร้านเปิดมาก็ประสบความสำเร็จได้
เพราะเค้ารักจักรยานอยู่แล้ว และมีการสร้างชุมชนจักรยาน พอเปิดก็เลยมีกลุ่มคนที่จะแนะนำเพื่อนต่อ
แต่ร้านที่เปิดมาโดยที่ก็ไม่ได้ขี่จักรยาน ไม่ได้มีชุมชน แค่เห็นมันเป็นเทรนด์ อยากเปิดเพราะน่าจะรวยได้
ก็เจ๊ง เพราะฉะนั้นมันต้องเข้าถึงกลุ่มลูกค้า แล้วสร้างชุมชนจักรยานให้ยั่งยืน ถ้าไม่มีเรื่องบริการ
แล้วเน้นแต่ขายอย่างเดียว ผมว่ายาก”

“บริการของเรามีตั้งแต่ทำความสะอาดรถ ขายชิ้นส่วนอุปกรณ์เสริมต่างๆ ไปจนถึงให้คำปรึกษาเรื่องไตรกีฬา
ช่วงแรกๆ เราจัดเวิร์กช็อปบ่อย เดือนละหนเลย แล้วทุกวันนี้งานไตรกีฬาทุกงาน
ผมต้องไป พลาดไม่ได้ เพราะต้องไปโชว์ตัว และไปให้บริการ
แค่ลูกค้าเห็นหน้าเราก็สบายใจแล้วว่ามี Bike Zone มาให้บริการเค้า ถามว่าพวกนี้เป็นเปอร์เซ็นต์สูงมั้ยเทียบกับการขายจักรยาน
ก็คงไม่สูง แต่มันทำให้ร้านจักรยานมีชีวิต ถ้าร้านจักรยานไม่มีบริการเสริม มันจะเงียบและตาย
เพราะบางทีคนมาร้านจักรยาน แค่อยากมาเจอมานั่งคุย ดังนั้น ถ้าคนติดเรื่องบริการ
ตอนนี้ร้านอยู่ที่ไหนเค้าก็มา”

“คนชอบขี่จักรยานอยู่แล้ว เราแค่ต้องหากิจกรรมเสริมไม่ให้เบื่อ เช่นต้องทำให้รู้ว่านอกจากสกายเลนแล้วมันยังมีที่อื่นให้ขี่อีกเยอะ
เราต้องจัดงานให้เค้าเห็นว่ามันมีทางขี่สวยๆ ไปต่างจังหวัด เช่นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
เราจัดงาน Cervélo
fanclub คนมาเป็นร้อย ขี่ที่วู้ดแลนด์ เมืองไม้ จังหวัดนครปฐม จากบ้านผมไป
45 นาทีเอง เร็วกว่าไปสุวรรณภูมิอีก ทางดี ขี่ต่างจังหวัด
รถน้อย อยู่กับธรรมชาติ สวยมาก ต้องให้คนกรุงได้สัมผัส”

“แล้วเราก็มีแนะนำไตรกีฬาให้ด้วย อย่างล่าสุด 2 อาทิตย์ที่แล้วผมไปจัดงานที่หาดใหญ่ให้กับกลุ่มนักปั่นซึ่งเค้าไม่รู้เรื่องไตรกีฬาเลยนอกจากรู้ว่ามันมีอยู่
ตอนว่ายน้ำก็เดินกันทั้งนั้น จาก 50 คนว่ายน้ำเป็นกันจริงๆ
แค่ 3 – 4 คน ที่เหลือเดินกวักน้ำเอา แต่เค้าก็สนุกไง
เราไปจัดอะไรง่ายๆ ให้เค้าได้สัมผัส คราวหน้าเราจะจัดอีกทีตอนเดือนมีนาคม
เค้าก็เริ่มตั้งใจซ้อมเพื่อมาลงรอบหน้า เพราะมันท้าทายดี”

ถูกก่อนไม่ถูกกว่าเสมอไป

“ร้านเราขายแพงกว่าราคา dealer ทั่วไป
เพื่อไม่ให้ไปแข่งกับคนอื่น แต่ลูกค้าก็ซื้อ เพราะถือว่าซื้อความมั่นใจ จักรยานพวกนี้คันละเป็นแสน เกิดอะไรขึ้นมา ร้าน dealer
ไม่ได้มีอะไหล่ให้ รับผิดชอบไม่ได้ แต่ของเรา คุยกันได้ ถึงจะยังไม่รู้ว่าเป็นความผิดของใคร
อาจให้คันอื่นไปขี่แทนก่อน อย่างน้อยคนซื้อก็อุ่นใจว่าเรามีบริการสนับสนุนให้”

“อีกอย่าง ถ้าเราไปแข่งด้วยราคา แล้วเราลดกำไรเราลง ขายได้
แก้ปัญหาระยะสั้นได้ก็จริง แต่ในที่สุดแล้ว ราคามันก็จะตกจนเราอยู่ไม่ได้ในระยะยาว”

มองอนาคตของวงการ

“2 – 3 ปีที่แล้ว
เทคโนโลยีก้าวกระโดด เฟรมคาร์บอนเกิดขึ้นและพัฒนาเร็วมาก
จักรยานที่ออกตอนต้นปีกับตอนปลายปี ต่างกันแบบที่คนขี่รู้สึกได้เลย
แต่ตอนนี้เทคโนโลยีมันมาถึงจุดที่พัฒนาขึ้นได้อีกไม่เท่าไรแล้ว ถ้าเปรียบสมรรถนะรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่
คนจะไม่ค่อยรู้สึกแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้เค้าซื้อของใหม่ เราต้องสร้างคุณค่าให้กับแต่ละแบรนด์ที่เรานำเข้ามา
ให้คนรู้สึกว่าเค้าไม่ได้แค่ซื้อจักรยานอย่างเดียว แต่เป็นส่วนหนึ่งของเค้า
เหมือนเสื้อผ้าแบรนด์เนม หรือนาฬิกาแพงๆ ที่สะท้อนตัวตนของคนใช้ มันเป็นเรื่องของอารมณ์”

“แบรนด์อย่าง Cervélo มีจุดแข็งตรงที่เริ่มมาจากวิธีการคิดแบบวิศวกรรม
คือเน้นการออกแบบให้ได้สมรรถนะสูง แต่ก็ทำให้ติดอยู่ในกรอบของวิศวกรรม ทำให้สีหรือดีไซน์มันไม่ใช่
เราเลยต้องมองว่า จะทำยังไงให้คนอยากได้ เพราะสำหรับคนทั่วไป การที่รถเราเร็วกว่ารถคันอื่น
0.02 วินาทีมันไม่ได้มีความหมาย
แต่เค้าเห็นแล้วชอบ สวย ขี่แล้วโคตรเท่เลย ถึงจะอยากได้ เวลาเราเอาไปขี่ในสนาม
คนก็มองว่าเราขี่จักรยานอะไร ยิ่งคนเอเชีย เรื่องการมีอิมเมจเป็นเรื่องสำคัญ
เพราะฉะนั้นปีหน้าสิ่งที่เราต้องไปสร้างคือทุ่มด้านตรงนี้”

ธุรกิจของเราเอง

“เงินจากการทำธุรกิจอาจไม่ได้ดีเท่าอยู่องค์กร แต่มันก็เป็นธุรกิจของเรา
เราสนุกกับมัน เวลาผมไปซ้อมจักรยานที่สกายเลน ก็ได้ไปเจอลูกค้าด้วย
ถือว่าทำงานไปพร้อมกับซ้อม หรือถ้าไปแข่ง คนอื่นเห็นเราลงแข่ง
ก็เป็นหน้าตาของแบรนด์ของบริษัท เวลาผมไปต่างประเทศ บางคนเห็นว่าไปเที่ยว แต่จริงๆ
เราไปทำงาน ไปเพื่อสร้างสัมพันธ์กับแบรนด์อื่นๆ และในโอกาสเดียวกันเราก็ได้ไปเที่ยวด้วย
ได้ไปแข่งด้วย ทุกอย่างมันรวมเป็นสิ่งเดียวกัน แล้วเป็นสิ่งที่เราชอบ”

“ถ้าเราได้ทำอะไรที่ใจเรารัก
เราจะทำมันได้ดี ไม่เบื่อ อย่างผมตอนที่ทำงานองค์กร บางวันเราก็ขี้เกียจไปทำงาน
แต่อันนี้มันใจรัก มันเป็นธุรกิจของเรา อาจมีบางช่วงที่เหนื่อย ออกงานบ่อย
ขอพักบ้างก็มี แต่ก็ยังอยากทำทุกวัน”

Bike
Zone

ประเภทธุรกิจ: ร้านขายจักรยานไตรกีฬาและอุปกรณ์จักรยาน
คอนเซปต์: Performance & Community (เน้นจักรยานสมรรถนะสูงและให้บริการกับชุมชนนักปั่น)
เจ้าของ: คงพันธุ์ ปราโมช ณ อยุธยา และ เฟาส์โต้ อิสเกียว
Website: www.bikezone.co.th
Facebook
l
bikezoneth

ภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

AUTHOR