บูรณะสถาน : บริษัทสถาปนิกผู้มอบชีวิตให้อาคารเก่า

เมื่อก้าวลงจากรถไฟฟ้าสถานีอุดมสุข
จะพบคอมมูนิตี้มอลล์เล็กๆ ชื่อ ‘วันอุดมสุข’ ตั้งอยู่ ความพิเศษของที่นี่คือมันเป็นอาคารพาณิชย์เก่าที่เคยถูกทิ้งร้าง
แต่ได้รับการหยิบมาปรับปรุงจนกลายเป็นคอมมูนิตี้มอลล์สวยงามน่าเดิน
ที่ตั้งอยู่กลมกลืนกับชุมชนโดยรอบ นี่คือหนึ่งในผลงานของ ‘บูรณะสถาน’
บริษัทสถาปนิกที่มุ่งเน้นงานปรับปรุงอาคารเก่า ขณะที่บริษัทอื่นหลายแห่งสนใจการออกแบบสิ่งใหม่ๆ
ชาวบูรณะสถานกลับเลือกเดินสวนทางไปหยิบอาคารเก่ามาปัดฝุ่น แปลงโฉม จนมีชีวิตชีวาขึ้นมา

เราเดินขึ้นบันไดไปยังออฟฟิศของบูรณะสถานที่ตั้งอยู่ชั้นบนของโครงการที่พวกเขาทำ
แล้วเริ่มต้นพูดคุยกับ อัง-อังสนา บุญเกษม และ เฟรนด์-ชิดชนก พลีสุดใจ
ตัวแทนทีมบูรณะสถาน ถึงเรื่องราวและแนวคิดของบริษัทสถาปนิกที่น่าสนใจแห่งนี้

ทางเลือกที่เพิ่มขึ้น

อัง: “ก่อนหน้านี้บริษัทเราชื่อบูรณะ ทำงานพวกสร้างตึกใหม่
แต่ต่อมาเห็นตลาดว่ายังไม่มีใครสนใจทำงานแนวบูรณะอาคาร เราก็เลยหันมาทำด้านนี้
เรียกชื่อกันว่า บูรณะสถาน เรากำลังนำเสนอทางเลือกให้คนเห็นว่าอาคารเก่ายังอยู่ได้นะ
หรือถ้าพูดขยายความก็คือ เรากำลังจะบอกว่า จริงๆ ทุกอย่างอยู่ร่วมกันได้ เราไม่ได้ปฏิเสธตึกใหม่
แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธตึกเก่า เรากำลังนำเสนอว่า ยังมีทางเลือกนะ คือไม่ใช่แค่อาคารใหม่เท่านั้นที่จะตอบสนองกับยุคสมัย
อาคารเก่าก็ตอบโจทย์ได้ ทุกอย่างอยู่ร่วมกันได้หมด”

เฟรนด์: “คนทั่วไปนึกว่ามันมีทางเลือกอยู่แค่
2 ทางคือ มันเก่าแล้ว เราทำอะไรกับมันไม่ได้แล้ว อีกอย่างคือทุบแล้วสร้างใหม่ แต่เราเหมือนเสนอตัวเลือกเข้าไปอีกอย่างหนึ่งว่าการที่คุณมีของเก่าอยู่
มันไม่ได้จำเป็นว่าแย่นะ ทำให้ดีได้ในของเก่าตรงนั้นแหละ
ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นของใหม่ทุกอย่างแล้วมันจะดี เหมือนเพิ่มทางเลือกขึ้นมาอีกทางหนึ่ง”

ชุบชีวิตให้อาคารเก่า

อัง: “การเก็บตึกเก่าไว้มันช่วยสะท้อนให้เห็นได้ว่าตรงนี้มีความเป็นมาอย่างไร
เคยเกิดอะไรขึ้นมา ซึ่งถ้าพูดถึงในแง่ศึกษาประวัติศาสตร์ มันจะมีการเก็บสองแบบคือ เก็บไว้เพื่อศึกษาโดยเฉพาะ
เหมือนเป็นงานอนุรักษ์ที่คนอื่นทำกัน คือคงไว้ร้อยเปอร์เซ็นโดยที่บางทีก็คือเก็บไว้แสดง
ไม่ได้ให้คนเข้าไปใช้ โอเค ตึกบางตึกควรอยู่อย่างนั้น แต่ตึกบางตึกเราคิดว่า ถ้ามันใช้ได้ อาจจะทำให้อยู่ต่อไปข้างหน้าได้
สิ่งที่บูรณะสถานกำลังทำคือปรับให้มันใช้การได้ เพราะเราไม่อยากให้อาคารเก่าถูกหยุดอยู่แค่นั้น
เป็นการปรับปรุง ผสมผสานของเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน เราเรียนสายสถาปัตย์ มันจะมีกฎเกณฑ์ว่าบ้านสไตล์นี้ต้องมีชาน
มีสเต็ปขึ้นมา แต่บางอย่างเราก็รู้สึกว่าถ้าจะให้วัยรุ่นหรือว่าคนทำงานในสมัยนี้ไปอยู่
มันคงไม่ใช่ฟังก์ชันแบบนั้นแล้ว เราก็อาจต้องปรับฟังก์ชันให้มันตอบรับชีวิตเขา เพื่อให้เขาใช้งานได้
ของเก่าก็มีเสน่ห์ แต่เราก็อยากให้มันมีชีวิตไปด้วย”

เลือก
รับ ปรับ ใช้

อัง: “สำหรับงานสถาปัตย์
พระอาทิตย์อยู่ที่เดิม ทิศทางลมอยู่ที่เดิม เพราะฉะนั้น
ถ้าเป็นสิ่งที่สถาปนิกเขาคิดมาดีแล้วจริงๆ มันก็ควรอยู่อย่างนั้น
เรากำลังพูดถึงองค์ประกอบอย่างรูปทรงอาคาร หรือการบังแดด แต่ถ้าบางตึกไม่ได้คิดเรื่องนี้มา
เราก็ต้องมาดูว่าจะเพิ่มเติมอะไรเข้าไป”

“หลักที่เรายึดในการทำงานคือ
ต้องมองให้ครบทุกด้าน มากที่สุดเท่าที่เราจะคำนึงถึงได้ หมายความว่า เราไม่ได้ทำแค่เพื่อให้มันสวยงาม
บางอย่างไม่จำเป็นต้องสวยงามที่สุดแต่มันอาจลงตัวที่สุด อยู่ร่วมกันกับทุกอย่างได้มากที่สุด
เป็นการเก็บอดีตไว้แบบผสมผสานให้ลงตัวที่สุดกับปัจจุบัน
เพื่อให้มันอยู่ต่อไปในอนาคตข้างหน้า”

คุณค่าของอดีต

อัง: “สิ่งที่เราชอบในการปรับปรุงอาคารคือเวลาไปคุยกับลูกค้า
เขามีเรื่องราว มีเรื่องเล่า อาจไม่ใช่ในทุกโครงการ แต่ถ้าเราเอาเรื่องราวมาทำเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิด
ของตัวการออกแบบได้ เราจะได้มูลค่าเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ต้องไปลงทุน หมายความว่า
ถ้าเราทำอะไรสักอย่างที่มีราก เรากำลังสร้างคุณค่าให้มันโดยไม่ต้องเสียเงินเยอะ
อย่างตึกพวกนี้ ถ้าให้เจ้าของเล่า เขาจะเล่าเรื่องราวของตัวเองมากมาย พอเปิดโครงการ
ถ้าเขาเอาไปเล่าต่อได้ มันก็จะเหมือนต้นไม้มีรากน่ะ มั่นคง แข็งแรง และเติบโตได้”

“ตึกเก่ามันเก่าด้วยอะไร
ด้วยเวลาที่ผ่านไป เราซื้อเวลาไม่ได้ เท่ากับว่าตึกใหม่ทำหน้าที่นี้ไม่ได้
การที่เราจะหยิบตึกเก่ามาพัฒนาก็คงต้องดูว่าสิ่งที่เขาคิดมามันเป็นอย่างไร
ดีแล้วหรือยัง เรื่องราวที่เกิดขึ้นตรงนั้นคืออะไร ถ้าเราเอามาต่อยอดได้
นั่นก็คือสิ่งที่ตึกใหม่ทำไม่ได้ ลูกค้าจะได้อะไร ก็จะได้เรื่องพวกนี้ เรียกว่าร่องรอยจากกาลเวลา”

ส่งต่อความทรงจำ

อัง: “เรามองว่าถ้าสตัฟฟ์อาคารเก่าไว้พันปี
มันก็อยู่อย่างนั้นพันปีเลย คนที่อยู่ตรงนี้ก็ได้แค่มองว่า อ๋อ สิ่งนี้คืออย่างนี้
หมายความว่า เรื่องราวของมันจะกลายเป็นเรื่องที่ถูกหยุดไว้เมื่อพันปีที่แล้ว
แต่ถ้าของสิ่งนี้ถูกใช้งาน หนึ่งปีจะมีเรื่องเล่าสู่คนถัดๆ ไปอย่างน้อยๆ
มันจะถูกบอกเล่าเรื่องราวมาเรื่อยๆ ซึ่งถ้ามันเป็นสิ่งที่เรารักแล้วเราเป็นคนใช้มัน
อยู่กับมัน ส่งต่อเรื่องราวไป เราก็จะรู้สึกดีกับมันมากกว่า
รู้สึกว่าอยากเก็บมันไว้ และการส่งต่อให้คนอื่นก็ยิ่งทำให้รู้สึกดีกับมันมากกว่าเดิม
ส่งผลต่อการคงอยู่ของอาคารเองต่อไป เช่น ตึกร้อยปีของคนทั่วไปกับตึกร้อยปีที่พ่อแม่เรา
ปู่ย่าเราอยู่มาก่อน เราก็จะรู้สึกผูกพันกับตึกแบบหลังมากกว่า”

“มีโครงการนึงน่ารักมาก
เป็นบ้านของปู่ย่า ตกทอดมาจนถึงรุ่นเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน แล้วเขาก็มีลูกขึ้นมา
เลยคิดว่าจะมารีโนเวตบ้านนี้แล้วอยู่กัน เขาเก็บพื้นไม้เดิมไว้ อะไรที่พ่อแม่เคยเหยียบ
วันนี้ลูกเขาก็ได้มาเดินบนพื้นนี้ด้วยกัน เรามองว่ามันก็น่ารักดีนะ”

ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

อัง: “เป้าหมายของเราคืออยากพัฒนาตัวเองในด้านงานพวกนี้
บูรณะสถานกำลังนำเสนอทางเลือกในการปรับปรุงอาคารเพื่อให้มันอยู่ร่วมกับบริบทและก้าวไปข้างหน้าได้
เท่ากับว่าเรากำลังเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะอาคารแต่ละอาคารไม่เหมือนกัน
เราก็อยากพัฒนาศักยภาพให้ทำเรื่องพวกนี้ได้ดียิ่งขึ้น”

เฟรนด์: “สำหรับเรา งานรีโนเวตเป็นงานที่ยาก ในทีมเราก็พยายามเรียนรู้
หาวิธีทำที่ง่ายที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ตอนนี้มันอาจยังไม่ร้อยเปอร์เซนต์
เรารับงานทั้งหมดที่เข้ามาไม่ได้ อาจต้องเลือกทำบางอัน แต่เรารู้สึกว่ามีคนสนใจงานรีโนเวตเยอะขึ้นมาก
ทำให้รู้สึกว่าถ้าวันหนึ่งเราพร้อม ก็อาจทำให้ดีขึ้น จนรับได้ทุกงานก็ได้”

“เราไม่ได้ปฏิเสธตึกใหม่ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธตึกเก่า เรากำลังนำเสนอว่า ยังมีทางเลือกนะ คือไม่ใช่แค่อาคารใหม่เท่านั้นที่จะตอบสนองกับยุคสมัย อาคารเก่าก็ตอบโจทย์ได้ และทุกอย่างอยู่ร่วมกันได้หมด”

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR