ตัวหนังสือที่คุณกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้คือบันทึกที่ผมเขียนหลังจากได้เจอผู้ชายคนหนึ่ง
เขาชื่อยรรยง บุญ-หลง เป็นสถาปนิกและนักเขียน
หลายครั้งที่เราเจอกันไม่ว่าจะสถานที่ใดสถานีรถไฟฟ้า ร้านกาแฟชื่อดัง ห้างสรรพสินค้าหรู ตึกสูงย่านธุรกิจ บ้านในซอยสุขุมวิท ไปจนถึงสลัม เขามักบอกผมเสมอว่า “พกสมุดบันทึกติดตัวตลอดเวลาเจอเหตุการณ์แปลกๆ ก็จดเก็บไว้ บางทีมันอาจจุดประกายความคิดในอนาคตได้”
ตัวจริงเขาเป็นคนแปลกหรือเปล่าอันนี้ผมไม่รู้ แต่เท่าที่ได้สนทนากัน ผมว่าเขาเจอประสบการณ์แปลกๆ เยอะ ที่สำคัญเขาเป็นคนคิดแปลก
แปลกแรก, ที่มาของขีดตรงกลางในนามสกุลพระราชทาน ‘บุญ-หลง’ มาจากชื่อต้นตระกูลคือ บุญชี (เจ้าพระยาสุรบดินทร์ สุรินทร์ฤๅชัย) และ หลง (เจ้าพระยาพลเทพ) เจ้าพระยาพระคลัง หรือ หน บุญ-หลง ผู้แปล สามก๊ก ก็เป็นบรรพบุรุษของเขา
แปลกสอง, สมัยเรียนอยู่ที่ University of California, Berkeley สถานที่ซึ่งค้นพบไซโคลตรอนและธาตุพลูโตเนียม เขาอ้างว่าเคยเป็นฮิปปี้ หนวดเครา ผมเผ้ายาวรุงรังกินแต่ถั่วและผลไม้เพื่อยังชีพ
แปลกสาม, ขณะที่นักศึกษาสถาปัตย์ใฝ่ฝันจะได้ทำงานบริษัทดังๆ ออกแบบสิ่งก่อสร้างสวยๆ เขากลับปลดเนกไท ถอดสูท เดินดุ่มเข้าไปในย่านเนื้อสันใน (Tenderloin) อันเป็นย่านต้องห้ามของนครซานฟรานซิสโก เพราะอุดมไปด้วยอาชญากรรมยาเสพติด และเสียงกัมปนาทของลูกปืน ทำงานเป็นสถาปนิกรับจ้างให้กับเหล่าโรบินฮูดเงินล้าน
แปลกสี่, หลังกลับมาพำนักเมืองไทยได้ไม่นาน โปรเจกต์มากมายก็ถูกป้อนใส่เขา ทั้งที่มีงานประจำมั่นคงอยู่แล้ว เขากลับเจียดเวลาลงพื้นที่ชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ ทำงานเป็นสถาปนิกชุมชน พูดคุยกับชาวบ้านเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต
“ยรรยงเป็นสถาปนิกที่มีอุดมการณ์มากๆ โดยเฉพาะในเรื่องของสถาปัตยกรรมชุมชน เขาทำให้เรารู้ว่าอามิสสินจ้างเป็นแรงจูงใจเฉพาะสถาปนิกบางประเภทเท่านั้น แต่งานที่สัมฤทธิ์คือเป้าหมายที่สูงกว่า” อนุสรณ์ ติปยานนท์ สถาปนิกนักเขียนชื่อดังกล่าวเช่นนั้น
แปลกห้า, นอกจากงานเขียนแบบแล้ว งานเขียนของเขาก็แปร่งแปลกเช่นกัน ผลงานเล่มแรก บันทึกลับสถาปนิกโรบินฮูด คือเรื่องเล่ากึ่งสารคดีที่แปรรูปมาจากประสบการณ์แปลกๆ ในย่านเนื้อสันใน ส่วนเล่มล่าสุด รู รัง เรือน หรือ Holes Hives and Houses (ให้ตายสิผมชอบชื่อนี้ชะมัด) หน้าปกก็เขียนชัดว่า ประวัติศาสตร์แปลกประหลาดของมนุษยชาติที่เล่าผ่านสถาปัตยกรรม
ยรรยงไม่ได้อยากสร้างอาคาร แต่เขาอยากสร้างนวัตกรรม
หลังจากที่เขาแนะนำให้จดอะไรแปลกๆ เก็บไว้ ผมก็สรุปเอาดื้อๆ ว่า ‘ยรรยง บุญ-หลง’ นี่แหละคือประสบการณ์ ‘แปลก’ ที่ผมควรบันทึกให้คุณผู้อ่านได้ลิ้มรสความแปลกมีคุณค่าหรือเปล่า อันนี้ผมไม่รู้ แต่ก็คงเหมือนกับที่เขากล่าวไว้
“เจอเหตุการณ์แปลกๆ ก็จดเก็บไว้ บางทีมันอาจจุดประกายความคิดในอนาคตได้”
ขอต้อนรับสู่ The Secret Sketchbooks of Yanyong Boon-Long ครับ
เล่มหนึ่ง: ชีวิต high-rise กับแนวคิดของสถาปนิก
รถไฟฟ้าเคลื่อนตัวออกจากสถานีบางจากหัวขบวนมุ่งหน้าเข้าใจกลางเมืองกรุงเทพฯ อากาศร้อนจัด แดดจ้า ฟ้าเปิดหลังจากฝนตกติดต่อกันมาร่วมอาทิตย์
ผมและยรรยงบุญ-หลง ยืนโหนที่จับ มองวิวนอกหน้าต่าง เป้าหมายของเราคือสถานีอโศก
เหตุผลของการเดินทางในเช้าวันนี้เกิดจากคำชวนง่ายๆ ของเขาที่ว่า “อยากไปดูที่ทำงานผมไหม”
ถามง่ายๆ ผมก็ตอบตกลงไปสั้นๆ นึกว่าจะนัดกันสบายๆ ในห้องแอร์บนตึกสักแห่ง ก่อนจะรู้ภายหลังว่าที่ทำงานของเขามีหลายแห่งกระจายทั่วกรุงเทพฯ หรือว่ากันให้ถูกผู้ชายคนนี้ทำงานหลายอย่าง
งานหลักเลี้ยงชีพของยรรยงคือสถาปนิกกลุ่มบริษัทดีที (DTGO) แผนกจีน ตำแหน่งบนนามบัตรเขียนว่า Interdisciplinary Coordinator หรือ ผู้ประสานงาน ‘แนวนอน’ ผู้ช่วยที่ปรึกษาด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ งานนี้ทำให้เขาเดินทางค่อนข้างบ่อยก่อนหน้านี้ก็เพิ่งกลับจากจีน และกำลังจะบินไปพม่าอาทิตย์หน้า
เราเพิ่งนั่งรถออกมาจากออฟฟิศในซอยสุขุมวิท 50 สถานที่ที่เรากำลังจะไปคือเอ็กซ์เชนจ์ ทาวเวอร์ ความสูง 42 ชั้น สี่แยกอโศก จริงๆ เขายังมีออฟฟิศอีกแห่งบนตึกสูง ดิ ออฟฟิเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์
ขบวนรถไฟฟ้าเลื้อยไปตามรางเหมือนงูยักษ์ชอนไชป่าคอนกรีตข้างนอกบานหน้าต่างคือทัศนียภาพกรุงเทพฯ จากมุมสูง ตึกรูปทรงต่างๆ เรียงรายเป็นทิวแถว ขณะที่ตัวกำลังโอนเอนตามแรงเหวี่ยง ผมถือโอกาสนี้ถามความเห็นจากเขา
“ตึกสวยในมุมมองคุณเป็นยังไง”
“ความสวยงามไม่สำคัญอะไรเลย” เขากล่าว
“สำหรับผม ตึกสวยคือตึกที่ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้น รวยขึ้น ผมมองว่าสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในช่วง 300 ปีที่ผ่านมาเป็นยุคสมัยเดียวกันหมด คือยุคสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านสไตล์โรมันหรือบ้านสไตล์ deconstruction ก็ใช้นวัตกรรมที่ไม่ต่างกันมากนัก เช่นเดียวกับฟิสิกส์สมัยใหม่ที่มีมาเกือบ 400 ปีแล้ว ตั้งแต่ยุคของนิวตัน จนถึงแมกซ์ พลังค์ ซึ่งอยู่ในยุคเดียวกัน เพราะเขามองพัฒนาการของประวัติศาสตร์ในระยะยาว
“แต่วงการสถาปัตย์จะมองประวัติศาสตร์ของยุคต่างๆ ไม่เกิน 20 ปี ดังนั้นเราเลยมียุคของสไตล์จำนวนมาก นวัตกรรมที่สำคัญจริงๆ ของที่อยู่อาศัยมนุษย์ในยุคสมัยใหม่เห็นจะเป็นลิฟต์และโครงเหล็ก ซึ่งตึกสไตล์โรมันหรือตึกสไตล์ deconstruction ก็ใช้เหมือนกันหมด”
โดยปกติสถาปนิกในระบบมักออกแบบโรงแรม รีสอร์ต สปา สำนักงาน หรือหมู่บ้าน ถ้าไปเปิดหนังสือจำพวกรวมสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เรามีศักยภาพมากทีเดียว อาคารหลายแห่งได้รางวัลระดับโลก สถาปนิกไทยหลายคนสร้างชื่อให้กับประเทศ
แต่เมื่อรสนิยมในการมองความสวยงามผิดแผกออกไป ยรรยงจึงไม่ค่อยสนใจสิ่งเหล่านี้
“ผมสนใจสลัม” เขากล่าว
“สลัมคือแหล่งที่อยู่อาศัยที่กำลังโตเร็วที่สุดในโลกปัจจุบัน หากมนุษย์ต่างดาวมาสอดแนมโลกของเรา พวกเขาคงจะบอกว่านี่แหละคือรูปลักษณ์ของที่อยู่อาศัยมนุษย์ส่วนใหญ่ ตึกเป็นเครื่องมือในการทำมาหากินเท่านั้น ห้องแถวถึงจะรกแต่มันก็ทำให้คนเป็นเสี่ยหลายคนนะแม้ว่าสลัมจะไร้ระเบียบ แต่ก็สามารถทำให้คนมีที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งงานได้ หลายคนกลายเป็นเจ้าพ่อ ซึ่งถ้าเป็นที่อเมริกา คนจนมักจะไม่มีโอกาสเหล่านี้เลย
พึ่งแต่สวัสดิการของรัฐ แม้ระบบของเมืองไทยจะไร้ระเบียบ แต่ก็มีอิสรภาพในการทำมาหากินมากกว่าที่อื่น มีความเป็นกันเองสูง”
“สถานีต่อไป อโศก” เสียงจากรถไฟฟ้าบอกเราว่าใกล้ถึงที่หมาย เขาสวมสูทสีเทาทับเสื้อเชิ้ตขาวเดินเข้าตึก เห็นโต๊ะทำงานแล้วก็พอจะเดาได้ว่าไม่ค่อยได้ใช้งาน ในแต่ละวันเขาต้องย้ายที่ประชุมบ่อย ไม่ค่อยได้อยู่นิ่ง ใช้ชีวิตอยู่บนตึกสูงเป็นส่วนใหญ่
ออกจากเอ็กซ์เชนจ์ทาวเวอร์ เขาชวนเราไปอีกที่ทำงานหนึ่ง ซึ่งต้องมุดลงใต้ดินต่อ MRT ไปยังสถานีรัชดาภิเษก เวลาพักเที่ยงพอดี พนักงานออฟฟิศแต่งตัวโก้หรูเดินกันขวักไขว่ มองเผินๆ เขาก็ไม่ต่างอะไรกับพนักงานออฟฟิศเหล่านี้ คนเมืองมีการศึกษา รายได้สูง มีไลฟ์สไตล์แบบ high-rise นี่คือชีวิตในฝันของหนุ่มสาวหลายคน
“ผมสนใจสลัม” ฟังแล้วก็ชวนสงสัยว่าอะไรซ่อนอยู่ในสูทสีเทาตัวนี้
รถไฟฟ้าใต้ดินเคลื่อนตัวออกจากสถานีสุขุมวิท เขาค่อยๆ เล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟัง…
“ความสวยงามไม่สำคัญอะไรเลย สำหรับผม
ตึกสวยคือตึกที่ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้น รวยขึ้น”
คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 2
(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 146 ตุลาคม
2555)
ภาพ
ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ