ตามไปหวีดในนิทรรศการมังงะสยองขวัญของชินทาโร่ เคโกะ นักวาดที่เคยสร้างความสะพรึงมาแล้วทั่วโลก

Highlights

  • ชินทาโร่ เคโกะ คือนักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่นวัย 50 ปี เจ้าของมังงะแนวสยองขวัญที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของวงการ ความสำเร็จนี้พาเขาให้เดินทางไปจัดนิทรรศการภาพวาดมาแล้วทั่วโลก
  • งานของเขาจัดอยู่ในประเภท 'กุโระมังงะ' หมายถึงมังงะที่สะท้อนภาพความวิปลาสและความเสื่อมโทรมของศีลธรรม เล่าเรื่องเซ็กซ์ เพศ ความรุนแรง ของสกปรก การตัดแต่งร่างกาย และอื่นๆ อีกมากมายเกินจินตนาการ
  • ในขณะเดียวกัน งานของเขาก็สอดแทรกความตลกและเป็นการวิพากษ์สังคมที่เปิดโอกาสให้คนดูได้ตีความ
  • และเป็นโอกาสดีงามของมังงะเลิฟเวอร์ชาวไทย เพราะอาจารย์ชินทาโร่พานิทรรศการ Strange Collection มาเปิดให้ชมกันที่บางกอกบ้านเรา ตั้งแต่ 27 กันยายน - 20 ตุลาคมนี้

ขนลุก

แอร์ไม่ได้หนาว แต่ภาพตรงหน้าต่างหากที่ทำให้ฉันรู้สึก และรู้สึกมากขึ้นทุกวินาที

สิ่งมีชีวิตร่างสูงใหญ่กำลังจ้องฉันกลับ ส่วนหัวคล้ายเด็กสาวมัธยมปลายไว้ผมเปียสองข้าง แต่นั่นก็เป็นองค์ประกอบความเป็นมนุษย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะส่วนที่เหลือคือร่างกายที่คล้ายถูกผ่าครึ่ง แหวกให้เห็นลำไส้ลักษณะคล้ายกิ้งกือภายใน ที่ประหลาดกว่าคือจำนวนดวงตาและมือของมันที่มีมากเกินกว่าฉันจะนับไหว

เหมือนภาพในฝันร้าย เป็นสัตว์ประหลาดที่ถ้าเจอเราจะรีบวิ่งหนีทันที ภาวนาให้ฝันนี้จบไวๆ

ฉันอยากหนี แต่น่าแปลกที่ฉันละสายตาจากมันไม่ได้เลย

sk1

เหมือนกับหลายคน ฉันกลัวผี กลัวอะไรอี๋ๆ แต่กลับชอบดู ฉันชอบหนังสยองขวัญ นิยายเรื่องลี้ลับ และการ์ตูนญี่ปุ่นประเภทเดียวกันนี้ที่อ่านแล้วต้องพักหายใจเป็นช่วงๆ

นั่นคือสาเหตุที่ฉันมาอยู่ที่นิทรรศการ Strange Collection จัดแสดงภาพวาดและคอมิกแนววิปลาส (หรือที่หลายคนรู้จักในนาม ‘กุโระคอมิก’) ของ อาจารย์ชินทาโร่ เคโกะ นักวาดภาพมือฉมังของญี่ปุ่น ผู้ขึ้นชื่อเรื่องการสร้างงานโดยผสมผสานองค์ประกอบน่ารักๆ อย่างเด็กสาวมัธยมปลายเข้ากับความบ้าคลั่งของชายแก่ งานของเขาสะท้อนความเสื่อมโทรมของศีลธรรม ความโรคจิตวิตถาร เลือด เซ็กซ์ ของสกปรก ความรุนแรง การตัดแต่งร่างกาย และอีกมากมายที่ดูแล้วต้องอุทานว่า ‘คิดได้ไง’

ฉันรู้ทันทีว่าตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าไป ความน่ากลัวทั้งหลายในฝันร้ายกำลังจะถูกปลุก

ชั้นสองของร้าน Code Corner ใจกลางสามย่าน ห้องทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่โล่งกว้างถูกดัดแปลงเป็นโถงนิทรรศการของอาจารย์ชินทาโร่

มุมหนึ่งของห้อง เขานั่งทำงานเงียบๆ อยู่กับโต๊ะไม้ขนาดกะทัดรัด กำลังร่างสเกตช์รูปใหม่ที่จะใช้ในกิจกรรมของทุกวัน นั่นคือการแสดงวิธีการสร้างความสยองขวัญให้ดู

“ปกติผมไม่ต้องการอะไรมากเลย แค่กระดาษ ดินสอ ปากกาตัดเส้น และสีน้ำธรรมดา” อาจารย์บอกเมื่อฉันขออนุญาตนั่งสนทนาเรื่องเทคนิค ระหว่างพูด มือของเขาก็ลากเส้นฉวัดเฉวียนบนกระดาษอย่างเชี่ยวชาญ “ผมเริ่มจากร่างโครง ตัดเส้น และลงสี ใช้วิธีการธรรมดาเหมือนนักวาดคอมิกทั่วไป” อาจารย์อธิบายเพิ่มเติม

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจของการวาดกุโระมังงะ อาจารย์เล่าให้ฟังว่าเขาชอบวาดและเสพสื่อประเภทนี้มาตั้งแต่เด็ก “ไม่มีเหตุผลอื่นเลยนอกจากความชอบ มันไม่มากพออีกเหรอ” อาจารย์ยิ้ม ก่อนจะเล่าต่อว่าหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้เขายังทำงานวาดการ์ตูนได้ต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 40 ปีคือการดูหนังสยองขวัญ

โดยเฉพาะหนังสยองขวัญสัญชาติไทย

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาเลือกมาจัดแสดงงานที่เมืองไทย เพราะอาจารย์อยากมาประเทศที่มอบแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างงานหลายๆ ชิ้นของเขาสักครั้ง

“ผมดูหนังสยองขวัญไทยแทบทุกเรื่อง ชอบที่สุดคือเรื่อง ลองของ กับ กระสือ” เขาลุกออกจากโต๊ะแล้วพาเราไปดูภาพวาดภาพหนึ่งที่จัดแสดงอยู่บนผนัง ในมุมหนึ่งของภาพนั้น มีตัวละครที่มีแค่หัวกับไส้

“ทำไมอาจารย์ถึงชอบวาดเด็กสาวไฮสกูลนัก” ฉันถาม เพราะสังเกตว่าแต่ละภาพนั้นต่างมีเด็กสาววัยรุ่นประกอบอยู่เป็นส่วนใหญ่ พวกเธอบางคนถูก ‘ชำแหละ’ และสร้างสรรค์ใหม่จนเหลือเค้าโครงเดิมเพียงน้อยนิด ในขณะที่เด็กสาวบางคนกลายเป็นปีศาจในภาพวาดของตัวเอง

“ทำไมจะไม่ล่ะ” อาจารย์ตอบแล้วหัวเราะน้อยๆ ก่อนจะอธิบายให้ฟังว่า ความจริงแล้วกุโระมังงะเกิดขึ้นเพื่อวิพากษ์สังคมชายเป็นใหญ่ของญี่ปุ่นก่อนยุครุ่งเรืองของมังงะเสียอีก ศิลปินสร้างกุโระมังงะเพราะต้องการล้อเลียนภาพวาดดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ผู้หญิงมักจะเป็นฝ่ายถูกกระทำเสมอ และงานของอาจารย์ก็มีการนำแนวคิดนี้มาปรับใช้เช่นกัน

“มีคนถามผมเรื่องนี้บ่อยเหมือนกัน ผมก็ตอบตลอดว่าทำไมจะไม่ล่ะ ศิลปะของญี่ปุ่นแนวนี้อยู่มาตั้งแต่สมัยโบราณ ผมแค่อยากถ่ายทอดออกมาให้โมเดิร์นมากขึ้น เป็นเด็กสาวชุดนักเรียนอยู่ในสถานการณ์แหวะๆ กับชายแก่ พวกเขาดูเป็นคู่ตรงข้ามที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และหลายครั้งที่เด็กสาวนั้นจะอยู่เหนือชายแก่ด้วย”

ไม่เพียงแค่เด็กสาวและชายแก่เท่านั้น หากใครได้อ่านการ์ตูนของอาจารย์ชินทาโร่อย่างละเอียดถี่ถ้วน จะสามารถจับสังเกตได้ว่า บางครั้งสถานการณ์ในการ์ตูนของเขาก็สะท้อนภาพระบบชนชั้นในญี่ปุ่นออกมาอย่างเจ็บแสบ ยกตัวอย่างหนึ่งในรูปที่สื่อสารเรื่องชนชั้นให้ล้อไปกับกิมมิกช่องการ์ตูน ช่องแรกเป็นภาพของผู้หญิงที่อยู่ต่ำกว่าผู้ชาย ช่องถัดลงมาคือภาพของผู้ชายคนเดิมอยู่ต่ำกว่าผู้ชายอีกคน ซึ่งหมายถึงตำรวจและประชาชน

“ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ชนชั้นของคุณสามารถเปลี่ยนแปลงได้” อาจารย์บอกกับเรา

ถ้าให้นึกเร็วๆ ถึงการ์ตูนแนวสยองจากญี่ปุ่น หลายคนคงนึกไปถึงงานของอาจารย์จุนจิ อิโต้ ผู้วาดการ์ตูนเรื่องคลังสยองขวัญลงหลุม, ก้อนหอยมรณะ และอื่นๆ อีกมากมายที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา

หลายคนอาจไม่รู้ว่าในญี่ปุ่น มังงะแนววิปลาสนี้ได้รับความนิยมในวงกว้างไปทั่วประเทศ และมีศิลปินหลายคนที่ผลิตงานสู่ท้องตลาด โดยเฉพาะในฤดูร้อนที่สื่อบันเทิงประเภทสยองขวัญจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

“ช่วงหน้าร้อน คนญี่ปุ่นชอบเสพเรื่องราวสยองขวัญ น่ากลัว เป็นเหมือนธรรมเนียมเลย” อาจารย์เล่าอย่างออกรส “เราเสพพวกเรื่องสยดสยองพวกนี้เพื่อเอนเตอร์เทน นั่นคือเหตุผลว่าการ์ตูนมังงะและภาพยนตร์แนวนี้ถูกปล่อยในหน้าร้อนเป็นส่วนใหญ่ เพราะตอนคุณกลัวคุณจะรู้สึกหนาวขึ้นมา”

sk-17

สไตล์ของคุณกับอาจารย์อิโต้ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ฉันถาม

“ผมคิดว่างานของอาจารย์อิโต้นั้นจะเน้นเรื่องราวที่สยองขวัญ วิชวลด้านภาพที่พยายามทำให้คุณกลัว แต่งานของผมคือความสยองขวัญที่มีความตลกเป็นส่วนประกอบ” อาจารย์พูด ขณะที่พาฉันไปดูรูปเด็กสาวที่ถูกตัดแต่งหน้าตาให้เป็นชิงช้าสวรรค์ แวบแรกฉันขนลุก แต่ดูๆ ไปก็รู้สึกสนุกอย่างประหลาด

“ยกตัวอย่างนะ เวลาคุณอ่านงานของอาจารย์อิโต้แล้วเจอภาพสยอง คุณจะรู้สึกกลัว กลับมาอ่านอีกทีก็อาจจะรู้สึกหรือไม่รู้สึกกลัวแล้วก็ได้ แต่ของผม ทุกครั้งที่มองหรืออ่าน คุณจะได้รับสิ่งใหม่ๆ หรือตีความให้แตกต่างได้เสมอ ไม่ใช่แค่มุกหลอกให้น่ากลัวเฉยๆ นั่นคือเหตุผลว่าตอนคุณอ่านมังงะของผม คุณจะได้ไอเดียหรือแรงบันดาลใจบางอย่างมากกว่าความน่ากลัว”

ฟีดแบ็กที่ดีจากผู้เข้าร่วมนิทรรศการชาวอิตาเลียน อเมริกัน ฮอลแลนด์ ฮ่องกง และหลายประเทศทั่วโลก ยืนยันคำพูดของเขาได้ดี จริงๆ ฉันก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่างานของเขาน่ากลัวในปราดแรกที่เห็น แต่พอได้จมอยู่กับนิทรรศการนี้ไปนานๆ มองลึกลงไปภายใต้เลือดสีแดงฉานเพื่อขบคิดตีความ

ฉันว่านี่แหละคือความสนุกที่ทำให้งานของอาจารย์ชินทาโร่นั้นแตกต่างและมีเสน่ห์

รูปวาดสยองขวัญเหล่านี้อาจทำให้เก็บไปฝันร้ายได้ แต่ฉันว่ามันคงเป็นฝันร้ายที่น่าตื่นตาตื่นใจ

คงเป็นฝันที่วิ่งหนีกันสนุกจนอยากยืดเวลาตื่นออกไปอีกนิด


นิทรรศการ Shintaro Kago「Strange Collection」Bangkok Thailand จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน – 20 ตุลาคม 2019 (หยุดทุกวันจันทร์) เวลา 14:00-20:00 น. ที่ Code Corner จุฬาฯ ซอย 6 จ่ายเพียง 200 บาทจะได้รับสิทธิเข้าชมงานพร้อมของที่ระลึก ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่

หมายเหตุ : ผู้เข้าชมควรมีอายุ 18 ปีขึ้นไป

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน