พลิกดูปัญหาบ้านเมืองที่สอดไส้อยู่ในการ์ตูนตลกของ ‘สะอาด’

มานึกๆ ดูก็น่าแปลกใจที่คนไม่อ่านการ์ตูนอย่างเรากลับติดใจ ครอบครัวเจ๋งเป้ง การ์ตูนซีรีส์สี่ช่องของนักวาดการ์ตูนชื่อ สะอาด หรือ ภูมิ-ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ แบบหนึบหนับ ระดับที่ต้องตั้งค่าเพจเป็น see first ในเฟซบุ๊ก

อาจเป็นเพราะความตลกอันเกิดจากส่วนผสมของคาแร็กเตอร์สมาชิกในครอบครัวทั้งสี่ ได้แก่ พ่อ เสาหลักของครอบครัว ผู้เคารพ (หรือกลัว) เมียอย่างสุดใจ, แม่ ผู้บัญชาการสูงสุดของบ้าน, ซอนย่า เด็กหญิงวัยประถมที่มีหัวสมองซับซ้อนจนฉลาดเกินครู และเจ๋งเป้ง แฝดชายขั้วตรงข้ามของซอนย่า คือเรียนไม่เอาอ่าว รักการกีฬา และซื่อแบบสุดๆ

หรือที่จริง สาเหตุที่เรารักครอบครัวเจ๋งเป้งอาจเป็นเพราะนอกจากชีวิตใต้หลังคาบ้านและในรั้วโรงเรียนประถม การ์ตูนแก๊กเรื่องนี้ยังพูดถึงปัญหาสังคมแบบน่ารักน่าหยิก ทั้งรถติดในกรุงเทพฯ น้ำท่วมหนัก นักการเมืองไร้คุณภาพ และวิกฤตการศึกษาที่ดูจะโผล่มาบ่อยเป็นพิเศษ

รู้ตัวอีกที เราก็ไล่อ่านครอบครัวเจ๋งเป้งในเพจจนครบทุกตอน มีหนังสือรวมเล่มครอบครัวเจ๋งเป้งไว้ครอบครอง ลามไปถึงตามอ่านการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ของสะอาดอีกด้วย นั่นทำให้เรารู้ว่าไม่ใช่แค่ครอบครัวเจ๋งเป้งเท่านั้น แต่กับเรื่องอื่นๆ เขาก็ยังสามารถสร้างแก๊กตลกไปพร้อมกับการสอดไส้เรื่องบ้านเมืองไว้ข้างในได้ ในแบบที่เราอ่านแล้วขำและขื่นไปพร้อมๆ กันอยู่บ่อยๆ

ไม่นานมานี้ ภูมิเพิ่งจับครอบครัวเจ๋งเป้งมารวมเล่มเป็นครั้งที่ 2 เป็นเหตุผลที่เรานัดคุยกับเขาในวันที่ร้อนอบอ้าวจนอึดอัด เหมือนสถานการณ์บ้านเมืองที่สอดแทรกอยู่ในการ์ตูนของเขา และเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เป้าหมายของ ‘สะอาด’ ใหญ่กว่าแค่การเขียนการ์ตูนไปหลายเท่าตัว

แก๊กที่ 1 : กำเนิดครอบครัวเจ๋งเป้ง

เพราะเจ๋งเป้งคือการ์ตูนที่ติดอยู่ในใจ เราเลยชวนภูมิคุยถึงที่มาที่ไปของการ์ตูนเรื่องนี้ก่อน ถึงเพิ่งรู้ว่าการ์ตูนที่ทำเราหัวเราะจนปวดท้องนั้นมีจุดเริ่มต้นจากความอยากเล่าเรื่องราวของครอบครัวที่ไม่อบอุ่นนัก

“ครอบครัวเจ๋งเป้งเกิดจากการที่เราอยากสร้างซีรีส์การ์ตูนเรื่องครอบครัวที่ไม่อบอุ่น เรารู้สึกว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับครอบครัวหรือซิตคอมในไทยมักจะพูดถึงครอบครัวอบอุ่น แต่ครอบครัวของเราหรือของหลายๆ คนที่เรารู้จักมันไม่ได้อบอุ่นขนาดนั้น เราอยากให้ครอบครัวเจ๋งเป้งเป็นครอบครัวที่เราเจอได้ในชีวิตประจำวัน”

เมื่อได้โครงร่างของเรื่องแล้ว สิ่งต่อมาที่ภูมิทำคือออกแบบคาแร็กเตอร์ให้แข็งแรง แล้วจึงออกแบบความสัมพันธ์ของตัวละคร ซึ่งเขาเปรียบเทียบว่ามันก็เหมือนกับการเล่นมุกตลกคาเฟ่นั่นแหละ

“มันเหมือนกับเราเล่นตลกคาเฟ่ แต่ละคนจะต้องมีบทบาทของตัวเอง เช่น ตัวชง ตัวตบ ตัวอธิบายสถานการณ์ พอเราสร้างคาแร็กเตอร์เสร็จ เราก็เซตนิสัยและความสัมพันธ์กึ่งการเมืองในบ้านด้วยการคิดแทนเป็นสัตว์ เช่น เจ๋งเป้งเหมือนหมา ร่าเริง คิดอะไรซื่อๆ , ซอนย่าจะคิดแบบแมว หยิ่ง ทะนง ไม่ค่อยแสดงออก, แม่เป็นเหมือนสิงโตที่ทุกคนเกรงขาม, พ่อเป็นม้าลายที่วิ่งหนีหัวซุกหัวซุนแต่ใจดี แต่ละตัวจะมีสิ่งที่ชนะและแพ้ธาตุกัน พอวางสมการของคาแร็กเตอร์ปุ๊บ เราก็จับมาลงล็อกในแต่ละแก๊ก”

แก๊กที่ 2 : ขมขื่นวิทยา ที่มาของมุกตลกเรื่องโรงเรียน

ด้วยอายุของเจ๋งเป้งและซอนย่าที่อยู่ในวัยประถม เรื่องราวส่วนใหญ่ในครอบครัวเจ๋งเป้งจึงวนเวียนอยู่ในรั้วโรงเรียน (โดยเฉพาะในครอบครัวเจ๋งเป้งเล่ม 2 ซึ่งมีการ์ตูนยาวเรื่องการหาเสียงเลือกตั้งในโรงเรียนด้วยซ้ำไป) ซึ่งโรงเรียนนี่เองที่ภูมิบอกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปมใหญ่ในชีวิตของตัวเอง

“เรามีปมชีวิตด้านการศึกษา มองย้อนกลับไป เราไม่มีความสุขกับชีวิตในห้องเรียนโดยเฉพาะตอนประถม ตอนนั้นเราเรียนที่โรงเรียนคาทอลิกซึ่งเข้มงวดมาก แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาเท่ากับการที่เรารู้สึกว่าไม่มีใครสนับสนุนความฝันของเราที่ชอบวาดรูป เขาควบคุมเด็กด้วยความกลัว เช่น กลัวถูกลงโทษหรือหักคะแนน ซึ่งความกลัวนี้มันติดอยู่กับเราทำให้เราเป็นคนขี้กลัวจนกระทั่งทุกวันนี้”

นั่นตรงกันข้ามกับเจ๋งเป้งที่มองโลกในแง่ดีมากๆ และซอนย่าที่สวนกลับครูได้ทุกคนเลยนะ-เราบอกเขา

“ใช่” ภูมิตอบอย่างรวดเร็ว “เพราะอย่างนี้ เวลาที่เราปล่อยตัวละครลงไปในพื้นที่โรงเรียน ตัวละครของเราจะทำสิ่งที่สวนทางกับเราทุกอย่าง คิดดูว่าแต่ก่อนเราขี้กลัวมาก กลัวกระทั่งไม่กล้าขอครูไปเข้าห้องน้ำจนอึราด แต่ว่าตัวละครเราจะกล้ามากๆ เหมือนเป็นการบำบัดปมในจิตใจระดับหนึ่งมั้ง

“ทุกวันนี้เราสนใจเรื่องการศึกษามากระดับที่เราเคยไปเรียนครู ต่อให้เราซิ่วออกมาเพราะรู้สึกผิดหวังกับคณะ เราก็ยังสนใจด้านนี้อยู่ เราซื้อหนังสือครูมาอ่านเพราะรู้สึกว่าถ้าเราเขียนการ์ตูนไม่รอดเราอาจจะไปเป็นครู เราอยากจะจริงจังกับมันถ้าเรามีโอกาส”

แก๊กที่ 3 : การ์ตูนการเมืองเรื่องดราม่า

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ติดตามงานของภูมิ คุณน่าจะเห็นว่าจากที่เขาเคยเขียนการ์ตูนสนุกๆ เพียงอย่างเดียว ช่วงหลังๆ ภูมิเริ่มหยอดเรื่องสังคมลงไปในงานทีละนิดๆ จนวันหนึ่งสิ่งนี้ก็กลายเป็นภาพที่เราจำเขาไปเสียแล้ว

นั่นอาจเป็นเพราะย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน ขอบเขตการอ่านของภูมิในตอน ม.ปลายขยายจากแค่การ์ตูนไปสู่หนังสือเนื้อหาหนักๆ หนังสือที่แปะชื่อเสกสรรค์ ประเสริฐกุล, กนกพงศ์ สงสมพันธ์ุ หรือสำนักพิมพ์ openbooks เริ่มโผล่มาบนชั้นหนังสือและเปิดโลกของเขาให้กว้างขึ้น ขณะที่เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ภูมิเลือกเรียนสาขาวิชาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งพาเขาลงพื้นที่ไปเจอความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่เขาไม่เคยสัมผัส จนทำให้เขารู้สึกกับเหตุบ้านการเมืองมากขึ้น

“ถึงจุดหนึ่ง เราก็เข้าใจว่าทุกอย่างในสังคมเชื่อมโยงถึงกัน เช่น การกินอาหารทุกมื้อของเราเชื่อมโยงกับพื้นที่ทางภาคเหนือที่ป่าถูกทำลาย หนังสือการ์ตูนเล่มหนึ่งก็เกิดจากการตัดต้นไม้ในพื้นที่สักพื้นที่หนึ่ง พอรู้ถึงจุดนี้ การไปเจอปัญหาจริงๆ ทำให้เรารู้สึกว่าการใช้ชีวิตทุกวันนี้ของเราไม่ได้เกี่ยวกับเราคนเดียว แต่มันเกี่ยวกับคนอื่นๆ ในสังคมด้วย”

แล้วจุดเปลี่ยนที่ชัดเจนที่สุดในงานของภูมิเกิดขึ้นตอนไหนกันนะ เราอยากรู้

“จุดเปลี่ยนที่ชัดเลยคือช่วงรัฐประหาร ก่อนหน้านั้นเราก็สนใจการเมืองประมาณหนึ่ง แต่รัฐประหารคือการจุดระเบิดบางอย่าง ยิ่งช่วงนั้นสื่อโดนเซนเซอร์กันแหลกลาน เราเลยรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เรามีช่องทางการสื่อสารที่ไม่ต้องแคร์ว่ากอง บ.ก.จะไม่เห็นด้วยหรือใครจะมาเซนเซอร์เรา ยิ่งสังคมถูกปิดกั้น มันยิ่งจำเป็นที่เราต้องพูดออกไป”

“งานทุกชิ้นที่เราเขียนมีความโกรธอยู่ในนั้น จะเห็นเลยว่างานช่วงนั้นของเราดาร์ก ประชด เสียดสี และมืดหม่นมากๆ ซึ่งทำให้เรารู้สึกดำดิ่งและหดหู่กับการอยู่ในเมืองไทยขนาดที่เราคิดถึงการย้ายประเทศอยู่เป็นระยะๆ”

เราฟังแล้วก็นึกถึงที่ภูมิบอกว่าตัวเองเป็นคนขี้กลัว

จะบ้าเหรอ คนขี้กลัวแบบไหนจะกล้าพูดเรื่องแบบนี้กัน

“จริงๆ แล้ว เราทำด้วยความกลัวมากๆ แหละ” ภูมิบอกแล้วนิ่งคิดไปพักหนึ่งก่อนจะพูดต่อ “อย่างเวลาเขียนการ์ตูน ก่อนจะกดโพสต์ ใจเราเต้นตึกๆๆๆ เลย เรากลัวมาก แต่ถ้าเราไม่ทำเราจะมีความรู้สึกผิดที่รุนแรงกว่า โดยผลลัพธ์เราก็รู้สึกแย่อยู่ดี เช่น มีคนด่า มีคนผิดหวังเพราะเขาชอบเราจากการ์ตูนตลก มีคนอ่านที่พูดว่าจะไม่ขอติดตามอีกต่อไป ซึ่งเรายอมแลกนะ แต่เราก็เสียใจเพราะเราผูกพันกับคนอ่านมาก”

ถ้าใครยังจำได้ ช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 คนไทยแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างชัดเจน เฟซบุ๊กเต็มไปด้วยคอมเมนต์แลกหมัดทางอุดมการณ์จนใครก็ตามที่หลงไปร่วมสนามด้วยก็ต้องกลับมาพร้อมบาดแผลไม่แพ้กัน รวมไปถึงตัวภูมิเองด้วย

“ช่วงนั้นเราเป็นหนึ่งในคนที่กระโจนเข้าไปถกเถียง แต่พอทำไปเรื่อยๆ มันก็ทำให้เรารู้สึกหมดพลัง ในช่วงหลังเราเลยพยายามจะสื่อสารประเด็นให้มีความหวังมากขึ้น เพราะเรารู้สึกว่าต่อให้สังคมมีปัญหายังไง ความหวังก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่ การสื่อสารแบบนี้ช่วยให้เราประคองความรู้สึกและความหวังของตัวเองไว้ด้วย”

แก๊กที่ 4 : ความหวังของสะอาด

เมื่อเริ่มคิดถึงเรื่องความหวังมากขึ้น ภูมิจึงเลิกเขียนการ์ตูนที่ทำให้เขาดำดิ่งไปกับอารมณ์หดหู่ แต่หันกลับมาสู่สิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาหลงรักโลกการ์ตูนตั้งแต่เด็กๆ แทน

สิ่งนั้นเรียกง่ายๆ ว่า ความสนุก

“เราโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่น มันทำให้มีอะไรฝังอยู่ในสมองส่วนที่ลึกสุดว่าการ์ตูนแม่งต้องสนุก ซึ่งก็ไม่ใช่ความจริง เพราะว่ามีการ์ตูนหลายเรื่องที่ไม่สนุกเลยแต่มันดีมากๆ ถ้าย้อนกลับไป เราว่าสำหรับเรามันคือเรื่องของความกลัว เรากลัวว่าคนจะไม่อ่านมัน เพราะฉะนั้นลึกๆ ทุกครั้งที่เราเขียน เราจะคิดว่ามันต้องเอนเตอร์เทน ขณะเดียวกันเรื่องสังคมมันเป็นแพสชั่นผสมกับความรู้สึกผิดต่อสังคมของเรา”

การพูดว่าจะทำให้การ์ตูนของตัวเองอ่านสนุกดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังนั้นไม่ง่ายสักนิด เพราะภูมิคิดละเอียดถึงขั้นว่าจะวางสเปซของช่องการ์ตูนยังไงไม่ให้น่าเบื่อ หรือกระทั่งบทของตัวละคร เขาก็พยายามทำให้เป็นบทที่ทั้งอธิบายสถานการณ์ไปด้วยและตลกไปด้วยพร้อมๆ กัน ซึ่งวัดจากจำนวนแฟนเพจของเพจ ‘สะอาด’ มากกว่า 1 แสนคน แฟนเพจ ‘ครอบครัวเจ๋งเป้ง’ อีก 5 หมื่นกว่าคน (ยังไม่รวมเพจอื่นๆ ที่เขาทำ อย่างเพจการ์ตูนแมว ลีอองมาติน แมวบ้าที่รัก – Leon&Martin เราก็คิดว่าเขาทำได้ดีทีเดียว)

แต่ดูเหมือนภูมิเองยังคิดว่าเขาทำได้มากกว่าแค่เขียนการ์ตูน

“พื้นฐานในการเขียนครอบครัวเจ๋งเป้งคือการเล่าเรื่องให้สนุก แต่เรื่องการแก้ปัญหาสังคมเราทำได้แค่ระดับหนึ่งเพราะเพดานมันมีเท่านี้ ถ้าเราทำมากกว่านี้มันก็จะไม่ใช่การ์ตูนแบบนี้แล้ว แต่กับประเด็นสังคมที่เราอยากสื่อสาร เช่น การตั้งคำถามต่อการศึกษา การจัดทอล์ก การสร้างการศึกษาในแบบของผู้เรียน สิ่งเหล่านี้เราคนเดียวไม่มีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ช่วงหลังๆ เราเลยทำงานกับคนอื่นมากขึ้นเพื่อทำให้งานมีพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น”

ภูมิเล่าให้เราฟังว่า เร็วๆ นี้ เขากำลังมีโปรเจกต์ชื่อเล็กแต่เป้าหมายใหญ่เป็นการตั้งสตูดิโอชื่อ ‘ด้วง’ ซึ่งจะแปลการ์ตูนต่างชาติที่พูดถึงเรื่องสังคมในระดับที่ใหญ่กว่าประเทศไทย แต่ไม่ต้องกลัวว่าตัวเขาจะหายไปไหน เพราะภูมิยืนยันว่าเราจะยังได้อ่านการ์ตูนของสะอาดเหมือนเดิม อย่างโปรเจกต์แรกที่เขาลงมือวาดเองที่เกี่ยวกับปัญหาการศึกษาที่มองจากมุมมองของผู้เรียนที่ได้รับผลกระทบจากระบบจริงๆ ส่วนโปรเจกต์ต่อๆ มานั้น เขาก็คิดจะขยายขอบเขตจากเรื่องการศึกษาสู่ปัญหาอื่นๆ อย่างเรื่องเพศ การท้องไม่พร้อม ระบบกฎหมาย หรือกระทั่งกองทัพบ้างเช่นกัน

“โดยเป้าหมายแล้วเราอยากสร้างทีม สร้างคนขึ้นมา หรือถ้าสร้างไม่ได้ ก็ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง”

แม้ภูมิจะมองว่าหนทางข้างหน้ายังอีกไกล แต่ในฐานะคนอ่านที่ติดตามกันมา เราคิดว่าเขาเดินทางมาไกลมากแล้ว และไม่ว่าในอนาคตเขาจะตัดสินใจทำอะไร เราก็คิดว่ามันจะต้องออกมาเจ๋งเป้งแน่นอน


ตามไปอ่านการ์ตูนของสะอาดได้ที่เพจ Sa-ard สะอาด ไม่แน่ คุณอาจจะต้องกด see first ไว้เหมือนเราก็ได้


ภาพ
ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!