วันหยุดไม่ได้หยุด วันลาไม่กล้าใช้ พิธีสวดส่งวันหยุดสไตล์มนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่น

Highlights

  • ผลสำรวจ work-life balance ของชาวญี่ปุ่นพบว่า สาเหตุหลักที่คนไม่ยอมหยุดงานคือกลัวทำให้คนอื่นเดือดร้อน 73 เปอร์เซ็นต์ ถัดมาคือกลัวยุ่งกว่าเดิมหลังกลับมาทำงาน 47.5 เปอร์เซ็นต์ และอันดับ 3 คือบรรยากาศในที่ทำงานไม่อำนวยให้ลางาน 15.2 เปอร์เซ็นต์
  • รัฐบาลพยายามหาทางแก้ปัญหานี้ด้วยการเพิ่มวันหยุดเพื่อส่งเสริมให้คนพักผ่อนมากขึ้น แต่ก็ไม่ค่อยได้ผล จนปีนี้ถึงกับต้องออกกฎบังคับว่า เป็นหน้าที่ของพนักงานทุกคนที่ต้องลางาน
  • บริษัทจัดอีเวนต์ชื่อ Ningen รู้สึกว่านี่มันเศร้าเกินไปแล้ว พวกเขาจึงจัดอีเวนต์ 'งานศพของวันลา' ขึ้นมา ด้วยความหวังว่าคนญี่ปุ่นจะกล้าลางานกันมากขึ้น

ที่ญี่ปุ่นเดือนธันวาคมที่ผ่านมามีอีเวนต์พิเศษปนเศร้าหน่อยๆ เพิ่มขึ้นมาคืองานศพของวันลา

ใครๆ ก็รู้ว่าคนญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อเรื่องความขยันและการทำงานหนัก บางคนทุ่มเทให้กับงานแทบไม่พักจนความเหนื่อยที่สะสมมายาวนานพรากชีวิตของเขาไป อาจเป็นประเทศเดียวในโลกก็ได้ที่มีโรคทำงานจนเหนื่อยตายรัฐบาลพยายามหาทางแก้ปัญหานี้ด้วยการเพิ่มวันหยุดเพื่อส่งเสริมให้คนพักผ่อนมากขึ้น แต่ก็ไม่ค่อยได้ผล เพราะคนไม่ค่อยยอมลางานสักเท่าไหร่ ญี่ปุ่นจึงยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราการลางานต่ำที่สุดในโลก

จนปีนี้ถึงกับต้องออกกฎบังคับว่า เป็นหน้าที่ของพนักงานทุกคนที่ต้องลางาน

นี่เป็นเรื่องที่เซอร์เรียลมากสำหรับคนไทยอย่างเราที่เริ่มคำนวณวันหยุด วางแผนเที่ยวตั้งแต่ต้นปี อย่าว่าแต่จะมีเหลือให้โดนบังคับใช้ มีแต่จะไม่พอ เตรียมป่วยล่วงหน้ากันยาวๆ และที่น่าตกใจไปกว่าการบังคับให้หยุดงานคือ คนก็ยังไม่ค่อยหยุดงานกันอยู่ดี บ้างก็ไม่รู้ บ้างก็ไม่กล้า

ผลสำรวจ work-life balance ของชาวญี่ปุ่นประจำปี 2018 พบว่า สาเหตุหลักที่คนไม่ยอมหยุดงานคือ กลัวทำให้คนอื่นเดือดร้อน (73 เปอร์เซ็นต์) ถัดมาคือกลัวยุ่งกว่าเดิมหลังกลับมาทำงาน (47.5 เปอร์เซ็นต์) และอันดับ 3 คือบรรยากาศในที่ทำงานไม่อำนวยให้ลางาน (15.2 เปอร์เซ็นต์)

เรื่องมันก็เป็นแบบนี้ มนุษย์เงินเดือนส่วนมากจึงตัดใจทิ้งวันลาไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ทุกปี เหมือนวันลาได้เกิดมาบนโลกนี้และตายจากไปโดยยังไม่ได้เดบิวต์ บริษัทจัดอีเวนต์ชื่อ Ningen รู้สึกว่านี่มันเศร้าเกินไปแล้ว พวกเขาจึงจัดอีเวนต์ ‘งานศพของวันลาขึ้นมา ด้วยความหวังว่าคนญี่ปุ่นจะกล้าลางานกันมากขึ้น

เริ่มต้นจากการให้ผู้คนร่วมส่งเรื่องราวความเจ็บปวด ความคับข้องใจ ความเสียดายที่ไม่ได้ลางานมาทางเว็บไซต์ Ningen จะรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นมาสรุปเป็นเรื่องราวสั้นๆ เขียนลงบนโคมไฟในวันงาน และเชิญพระมาสวดมนต์ส่งน้องไปสู่สุคติ โดยผู้ที่มาร่วมงานศพวันลาสามารถเดินอ่านเรื่องราวของเพื่อนร่วมชะตากรรมได้อย่างสำรวมตามอัธยาศัย

ตัวอย่างความคับแค้นใจของพนักงานญี่ปุ่นมีตั้งแต่เบาๆ ไปจนสาหัส เช่น ลืมต่อใบขับขี่, ไข้ขึ้น 40 องศาฯ ก็โดนบังคับไปทำงาน, อดไปฮันนีมูน, จะไปขอสาวแต่งงาน แต่เจ้านายไม่ให้ลางานไปสู่ขอ, วางแผนเที่ยวกับครอบครัวแต่โดนลากไปทำงาน สุดท้ายต้องให้ครอบครัวไปเที่ยวกันเอง, ฉลองวันเกิดลูกช้าไป 7 เดือน, ตอนลูกชายคนแรกคลอด ตนเองต้องไปตีกอล์ฟกับลูกค้า

คนที่มาร่วมงานคงคิดในใจอยู่ 2 อย่าง ถ้าไม่รู้สึกว่ามีคนแย่กว่าเราอีก ก็ชีวิตฉันเศร้ากว่านี้อีกเธอ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ได้เห็นการมีอยู่ของเพื่อนร่วมชะตากรรมนับร้อยแบบนี้ มันต้องส่งพลังใจให้กันได้บ้าง ปีนี้ไม่ทันแล้ว ปีหน้ามาพยายามด้วยกันใหม่นะพวกเรา

พระสงฆ์จากวัด Sainenji ที่รับหน้าที่ทำพิธีให้ในงานเองก็เคยมีประสบการณ์แบบนี้เหมือนกัน ก่อนจะเข้าสู่สมณเพศเคยทำงานในบริษัทที่ลางานยากมาก จึงเข้าใจหัวอกคนที่ส่งเรื่องเข้ามาระบาย หรือเดินมาตามหาความสงบของจิตใจในวันงานได้ดี

จริงๆ แล้วความเสียดาย ความอึดอัดใจ ที่ไม่สามารถลางานตอนที่ต้องการได้ของคนจำนวนมากอาจเป็นสิ่งที่ทำให้โลกใบนี้เศร้าหมองก็ได้ ถ้าเราจัดการกับความรู้สึกหม่นหมองนั้นได้ด้วยการส่งวันลาที่เราทำหล่นหายไประหว่างปีไปสู่สุคติ ปีหน้าเราอาจจะมีกำลังใจที่จะใช้วันหยุดให้เกิดประโยชน์ก็ได้

และแล้วโคมไฟ 275 จาก 300 ดวง เรื่องราวก็ถูกนำมาชำระความผูกพันกับโลกนี้และส่งไปยังโลกหน้า (จริงๆ เรียกว่าปีหน้าน่าจะถูกต้องกว่า) ที่โอซาก้าเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

สาเหตุที่ใช้โคมไฟเป็นสื่อแทนเรื่องราวนั้นแอบลึกซึ้งกว่าที่คิด

ตามปกติโคมไฟเป็นส่วนหนึ่งของงานศพญี่ปุ่นอยู่แล้ว เชื่อกันว่าไฟในโคมจะช่วยส่องทางให้วิญญาณไปยังที่ที่ควรไป ส่วนโคมไฟในงานศพของวันหยุดนี้ Ningen อยากให้ไฟช่วยส่องคุณค่าของวันหยุดไปถึงหัวใจของเหล่ามนุษย์เงินเดือนและนำทางพวกเขาเหล่านั้นไปสู่การลางานปีหน้า

วันหยุดเป็นสิ่งที่เราจับต้องไม่ได้ พวกเราจึงอยากทำให้มันกลายเป็นวัตถุขึ้นมา คนจะได้สัมผัสถึงการมีอยู่และความสำคัญของมันได้มากขึ้น

จะว่าไปก็จริงของเขา วันหยุดเป็นนามธรรมที่จะกลายเป็นรูปธรรมได้ก็ต่อเมื่อเรานำมาใช้ คนญี่ปุ่นอาจรู้สึกว่าเป็นของฟรีที่ติดมากับสถานภาพพนักงานทุกปี ไม่ได้ใช้ก็ไม่มีผลอะไร แต่การใช้หรือไม่ใช้วันหยุดเป็นส่วนหนึ่งในการหล่อหลอมตัวตนและสภาพจิตใจของเราในปัจจุบันเหมือนกัน

นอกจากนี้ในงานยังมี ‘เซียมซีแห่งการพักผ่อน’ ช่วยเสนอแนะแนวทางในการใชัวันหยุดให้แก่คนญี่ปุ่นที่ไม่ชินกับการลางานด้วย เมื่อได้ยินเสียงกรีดร้องแห่งความช็อกของเรา เจ้าหน้าที่ของ Ningen ยืนยันอีกครั้งว่ามีจริงๆ นะครับคนที่หยุดงานแล้วทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ว่าควรจะต้องทำตัวยังไง

แม้ในใบเซียมซีจะเขียนเรื่องง่ายๆ อย่างไปเที่ยวออนเซน, ไปเที่ยวภูเขา, อ่านหนังสือ, ดูหนัง, นั่งเฉยๆ สำหรับคนที่ไม่รู้จักการพักผ่อนจริงๆ ข้อความในกระดาษบางๆ แผ่นนั้นอาจเป็นกำลังใจสำคัญให้เขากล้าลางานก็ได้

วันหยุดเป็นหนึ่งในทรัพยากรทางจิตใจที่แสนมีคุณค่า การปล่อยให้มันตายจากไปโดยไม่ใช้ประโยชน์ในสังคมที่การทำงานเคร่งเครียดมากอาจเป็นปัญหาที่สำคัญพอๆ กับสิ่งแวดล้อม เราเลยเห็นด้วยกับทางผู้จัดงานศพวันลาอย่างมากเมื่อเขาบอกว่าเราทุกคนควรจะได้รู้จักกับความดีงามของวันหยุดนะ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Kanith

นักเขียนภาพประกอบอิสระที่ติดเกม