Sex Education Season 2 การกลับมาอีกครั้งของซีรีส์ที่พูดเรื่องเซ็กซ์อย่างเข้าอกเข้าใจ

Highlights

  • Sex Education คือซีรีส์ที่พูดเรื่องเซ็กซ์อย่างเข้าอกเข้าใจวัยรุ่น ในซีซั่นแรกเนื้อเรื่องยังโคจรอยู่รอบๆ ความสัมพันธ์ระหว่าง Otis กับ Maeve และคลินิกบำบัดเซ็กซ์ แต่ซีซั่น 2 ได้พาเราหลุดออกจากวงโคจรนี้และหันไปให้ความสำคัญกับตัวละครอื่นๆ ที่ต่างก็แต่งเติมสีสันให้กับซีซั่นนี้ได้อย่างน่าสนใจ
  • เซ็กซ์ยังคงเป็นประเด็นที่แข็งแรงใน Sex Education เพียงแต่ในซีซั่นนี้เซ็กซ์ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในความกังวลใจของวัยรุ่นวัยเรียน แต่ยังครอบคลุมถึงผู้ใหญ่ที่แม้จะมีลูก มีครอบครัวแล้ว
  • ในสังคมที่เซ็กซ์ยังคงถูกกำกับด้วยศีลธรรม ความผิดบาป และศาสนาคาลิล พิศสุวรรณชวนเราเข้าเรียนวิชาเพศศึกษาผ่าน Sex Edcation ซีซั่น 2 ที่มองว่าเซ็กซ์คือคุณค่า

หาก Sex Education ซีซั่นแรกคือชั่วโมงโฮมรูมที่เราเพิ่งได้ทำความรู้จักกับเพื่อนๆ ร่วมชั้น ซีซั่น 2 ก็เป็นเสมือนการเริ่มต้นชั่วโมงเรียนอย่างจริงๆ จังๆ ด้วยเนื้อหาที่ยังคงเข้มข้นและประเด็นที่แข็งแรงขึ้น Sex Education ซีซั่น 2 ยังคงเป็นซีรีส์ที่พูดเรื่องเซ็กซ์ได้อย่างฉลาด ลุ่มลึก และเข้าอกเข้าใจ

Sex Education ซีซั่น 2 ดำเนินเรื่องราวต่อจากซีซั่นแรกแทบจะโดยทันที เมื่อ Otis (Asa Butterfield) พบว่าในที่สุดจู๋ของเขาก็สามารถแข็งตัวได้อย่างผู้ชายทั่วๆ ไป

ด้วยไม่เคยรับรู้ถึงความสุขของการช่วยตัวเองมาก่อน โอทิสจึงหมกมุ่นอยู่กับการขัดจรวดทุกๆ เช้า ปัญหาอยู่ที่ว่าเขาดันไม่สามารถควบคุมอาการหื่นของตัวเองได้นี่สิ เพราะกลายเป็นว่าอารมณ์ทางเพศของโอทิสสามารถถูกกระตุ้นเร้าได้ง่ายๆ จากหลายๆ กิจกรรมในชีวิตประจำวัน ระหว่างปั่นจักรยานเขาก็แข็ง ระหว่างวิ่งออกกำลังกายเขาก็แข็ง ระหว่างนั่งรอแม่อยู่ในรถเขาก็แข็ง

จากความสุขที่เพิ่งได้รู้จักก็เริ่มพัฒนาเป็นความกังวลขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อโอทิสเพิ่งคบกับ Ola (Patricia Allison) หมาดๆ การไม่อาจสงบกำหนัดได้ก็มีแต่จะสร้างความยุ่งยากให้กับเขามากขึ้นเรื่อยๆ

ในขณะที่โอทิสต่อสู้กับร่างกายที่ไม่ยอมเชื่อฟัง Maeve (Emma Mackey) คู่หูที่เคยเปิดคลินิกบำบัดเซ็กซ์ด้วยกันในซีซั่นแรกก็พบกับความวุ่นวายในชีวิต เมื่ออยู่ๆ แม่บังเกิดเกล้าที่ทิ้งเธอไปตั้งแต่เด็กๆ ได้หวนกลับเข้ามาในชีวิตอีกครั้งพร้อมกับลูกสาวคนใหม่และคำขอโทษขอโพยต่ออดีต หล่อนยืนยันว่าเลิกใช้ยาเสพติดแล้วและพร้อมจะเปลี่ยนเป็นคนใหม่ แน่นอนว่าเมฟไม่คิดศรัทธาในคำพูดใคร แต่กระทั่งกับคนที่เป็นแม่แท้ๆ ของตัวเองด้วยเหรอ นั่นคือคำถามสำคัญที่เมฟจำเป็นต้องตอบในซีซั่นนี้

จากที่เรื่องราวของ Sex Education ในซีซั่นแรกโคจรอยู่รอบๆ ความสัมพันธ์ระหว่างโอทิสกับเมฟและคลินิกบำบัดเซ็กซ์ ซีซั่น 2 ได้พาเราหลุดออกจากวงโคจรนี้และหันไปให้ความสำคัญกับตัวละครอื่นๆ ที่ต่างก็แต่งเติมสีสันให้กับซีซั่นนี้ได้อย่างน่าสนใจ

ไม่ว่าจะเป็น Eric (Ncuti Gatwa) ที่พบรักใหม่กับหนุ่มหล่อจากฝรั่งเศส, Adam (Connor Swindells) ที่หลังจากถูกไล่ออกจากโรงเรียนก็ต้องย้ายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในโรงเรียนเตรียมทหาร และ Jackson (Kedar Williams-Stirling) ที่พยายามมองหาความสนใจใหม่หลังจากที่มั่นใจว่า เขาไม่อยากเป็นนักกีฬาว่ายน้ำของโรงเรียนอีกต่อไป Sex Education ซีซั่น 2 ยังได้แนะนำให้รู้จักกับตัวละครใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น Viv (Chinenye Ezeudu) หญิงสาวที่ได้ชื่อว่าฉลาดที่สุดในโรงเรียน ซึ่งจับพลัดจับผลูต้องมาเป็นติวเตอร์ส่วนตัวให้กับแจ็กสันที่ผลการเรียนไม่ค่อยดีนัก และ Maureen (Samantha Spiro) แม่ของอาดัม กับความกังวลที่เธอกับสามีไม่ได้ร่วมรักกันหลายปีแล้ว

เซ็กซ์ยังคงเป็นประเด็นที่แข็งแรงใน Sex Education เพียงแต่ในซีซั่นนี้เซ็กซ์ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในความกังวลใจของวัยรุ่นวัยเรียน แต่ยังครอบคลุมถึงผู้ใหญ่ ที่แม้จะมีลูก มีครอบครัว ไปแล้ว หากเซ็กซ์ก็ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่หาย พูดให้ชัดขึ้นคือการมีลูก มีครอบครัว ไม่ได้หมายความว่ากิจกรรมทางเพศจะต้องหยุดชะงักลง อายุที่เพิ่มขึ้นไม่ได้แปลว่าความต้องการทางเพศจะลดน้อยลง และร่างกายที่โรยราลงก็ไม่ได้จะสื่อว่าเซ็กซ์คืออภิสิทธิ์ของวัยหนุ่มสาว

Sex Education ซีซั่น 2 สำรวจประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจผ่านตัวละครอย่างเมารีน ที่แม้ว่าภายนอกจะดูเหมือนแม่วัยกลางคนทั่วไป แม่ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของสามีอย่างซื่อๆ ง่ายๆ ไม่เรียกร้องอะไร ทว่าลึกๆ แล้วความต้องการทางเพศของเมารีนยังคงคุกรุ่นอยู่ และแม้ว่าความชินชาของชีวิตจะเปลี่ยนให้เรื่องบนเตียงกลายเป็นบทสนทนาต้องห้ามระหว่างสามี-ภรรยา แต่ขณะเดียวกันมันกลับสร้างความร้าวฉานให้กับความสัมพันธ์อย่างเงียบๆ

ในแง่นี้สำหรับเมารีน การที่สามีไม่ยอมร่วมรักด้วยจึงยิ่งจะตอกย้ำความจริงที่ว่า นิยามความเป็นภรรยาของเธอได้ถูกลดทอนลงให้อยู่ในฐานะของการปฏิบัติหน้าที่ นั่นคือการทำข้าวกล่องให้สามีกินทุกๆ วัน ขณะเดียวกันมิติทางอารมณ์และความรู้สึกกลับถูกมองว่าเป็นเรื่องเสียเวลา ไร้สาระ และไม่สอดคล้องกับนิยามภรรยาที่ดีในสายตาของสามี

หันกลับมามองในฝั่งของวัยรุ่นกันบ้าง Sex Education ยังคงย้ำชัดว่า เซ็กซ์คือปัญหาโลกแตกของวัยเรียน

ปัญหาอยู่ที่ว่า แม้เด็กๆ จะรู้ตัวว่าหมกมุ่นกับเรื่องซั่มๆ เพียงใด แต่รอบตัวพวกเขากลับไม่มีใครที่พร้อมรับฟังความสงสัยหรือตอบคำถามเรื่องซั่มๆ ได้น่าพึงพอใจเลยสักคน หากการเกิดขึ้นของคลินิกบำบัดเซ็กซ์ของโอทิสและเมฟคือการหาทางออกจากปัญหาที่ผู้ใหญ่ไม่ยอมรับฟังเรื่องเซ็กซ์ Sex Education ซีซั่น 2 แสดงให้เห็นถึงการที่ผู้ใหญ่เริ่มจะมองเห็นและตั้งคำถามกับเรื่องเซ็กซ์ในระดับโครงสร้าง โดยเฉพาะกับหลักสูตรวิชาเพศศึกษาในโรงเรียนมัธยมที่ไม่เพียงแต่จะไร้เดียงสา หากยังไล่ตามความซับซ้อนของประเด็นทางเพศของโลกปัจจุบันไม่ทันอีกด้วย

เพศศึกษาในโรงเรียนยังคงวนเวียนอยู่ระหว่างเพศชายกับเพศหญิง และเรื่องของการสอดใส่ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง แต่ในยุคที่เพศภาวะไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่สองอีกต่อไป คำถามจึงคือทำไมวิชาเพศศึกษาถึงยังคงดึงดันจะกักขังตัวเองอยู่ในกรงแคบๆ นี้

ผมคิดว่าสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะมันง่ายดี มีแค่ผู้หญิงกับผู้ชายก็ปวดหัวพอแล้ว จะมาเพิ่ม gender อื่นๆ ให้วุ่นวายไปอีกทำไม หากเราลองมองประเด็นนี้ผ่านสายตาของผู้มีอำนาจการลดทอนความซับซ้อน’ (simplification) คือเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้การปกครองสามารถเป็นไปได้ง่าย กล่าวคือปัจเจกถูกลดทอนความพิเศษและรายละเอียดอันเฉพาะเจาะจงลงให้อยู่ภายใต้มาตรฐานที่สามารถตรวจสอบได้อย่างง่ายดาย อวัยวะเพศจึงถือเป็นลักษณะบ่งชี้ต่อการจัดจำแนกความแตกต่างได้อย่างชัดเจนที่สุดอยู่แล้ว แต่ภายใต้ความสะดวกสบายของการลดทอนความซับซ้อนใดๆ ลง ประเด็นหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมคือยิ่งง่าย อำนาจก็ยิ่งมาก

กล่าวได้ว่า หนึ่งในสาเหตุที่วิชาเพศศึกษายังคงไม่ยอมรับความหลากหลายเพราะนั่นจะนำมาซึ่งความไม่ง่ายต่อการปกครองของรัฐ ขณะเดียวกันการที่ประชาชนจะไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ผู้ชายกับผู้หญิงอีกต่อไป จึงสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจการต่อรองของประชาชนที่เพิ่มขึ้น แต่รัฐไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐเผด็จการที่ความซับซ้อนทางเพศคือของแสลง ในแง่นี้การสร้างวาทกรรมความเกลียดชังความหลากหลายทางเพศจึงทำงานร่วมกับวิชาเพศศึกษาที่จะยังคงหมกมุ่นอยู่ระหว่างเพศชายกับเพศหญิงต่อไปในฐานะเครื่องมือหนึ่งของรัฐ

แม้ในโลกแห่งความเป็นจริงอาจฟังดูสิ้นหวัง แต่ Sex Education แสดงให้เห็นว่าสังคมอุดมคติที่โอบรับความหลากหลายทางเพศนั้นน่าอยู่และชวนฝันเพียงใด เพราะไม่เพียงแต่ตัวตนของปัจเจกจะถูกรับรู้และยอมรับ หากความหลากหลายนี้ยังแต่งแต้มสีสันให้กับการรับรู้โลกรอบตัวและชีวิตประจำวันที่ปราศจากความหวาดกลัวและเต็มไปด้วยอิสระ แม้ในทางหนึ่งตัวละครใน Sex Education จะเป็นวัยรุ่นที่จมดิ่งอยู่แต่กับเรื่องบนเตียง ทว่าพวกเขาก็มองมนุษย์ทุกๆ คนอย่างเท่าเทียม พร้อมจะโอบกอดและรับฟัง

และแม้ว่าเราอาจยังเห็นความพยายามที่จะเข้ามาครอบงำความคิดของเด็กๆ ในโรงเรียนจากผู้ใหญ่ที่มองว่าเซ็กซ์เป็นเรื่องผิดศีลธรรมอยู่บ้าง หากถึงที่สุดแล้วความพยายามเหล่านี้มีแต่จะล้มเหลวและจำต้องถอยร่นออกไป นักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ล้วนมีปากมีเสียง และพวกเขาก็รู้ดีว่าหากนิ่งเฉยอยู่เงียบๆ ความสุขของชีวิตก็ย่อมจะถูกลิดรอนไปโดยอำนาจของผู้ใหญ่หัวโบราณที่พวกเขาเกลียดชัง

เซ็กซ์สำหรับเด็กๆ เหล่านี้จึงคือความสุข คือความทุกข์ คือการค้นพบ คือการลองผิดลองถูก คือความเจ็บปวด คือการเติบโต และคือชีวิตชีวา

ในโลกของ Sex Education เซ็กซ์คือคุณค่า แต่ในสังคมของเราที่เซ็กซ์ยังคงถูกกำกับด้วยศีลธรรม ความผิดบาป และศาสนา คำถามที่ว่าเซ็กซ์คืออะไรนั้น ต่อให้ใช้เวลาตลอดชั่วชีวิตก็อาจแสวงหาคำตอบไม่พบเลยด้วยซ้ำ

AUTHOR