Marriage Story ชีวิตคู่ที่ไปต่อไม่ได้ กับการล่มสลายของความรัก?

Highlights

  • Marriage Story (2019) คือภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ Noah Baumbach ผู้กำกับที่เคยสร้างเสียงหัวเราะแบบขื่นๆ ให้กับเราผ่านชีวิตเฉาๆ ของหญิงสาวนักเต้นใน Frances Ha (2012)
  • เรื่องนี้บอมบัคพาเราไปสำรวจฉากชีวิตหลังแต่งงานของคู่รักชวนฝัน ชาร์ลี (Adam Driver) ผู้กำกับละครเวทีดาวรุ่ง กับนิโคล (Scarlett Johansson) อดีตดาราหนังวัยรุ่นที่ผันตัวมาเป็นนักแสดงละครเวที
  • Marriage Story เริ่มต้นด้วยการแจกแจงสารพัดเหตุผลที่ทำให้ทั้งคู่รักกัน
  • แต่แล้วภายในเวลาไม่ถึงแปดนาที บอมบัคก็ได้ถีบเราออกจากภาพของครอบครัวชวนฝันนี้ ผ่านการเปิดเผยว่า ข้อมูลต่างๆ ที่เราเพิ่งได้รับรู้ไป จริงๆ แล้วคือการบอกเล่าผ่านกระบวนไกล่เกลี่ยก่อนการหย่าร้าง

Marriage Story (2019) คือภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ Noah Baumbach ผู้กำกับที่เคยสร้างเสียงหัวเราะแบบขื่นๆ ให้กับเราผ่านชีวิตเฉาๆ ของหญิงสาวนักเต้นใน Frances Ha (2012) มาคราวนี้ Baumbach พาเราไปสำรวจฉากชีวิตหลังแต่งงานของคู่รักชวนฝัน ชาร์ลี (Adam Driver) ผู้กำกับละครเวทีดาวรุ่ง กับนิโคล (Scarlett Johansson) อดีตดาราหนังวัยรุ่นที่ผันตัวมาเป็นนักแสดงละครเวที

ชาร์ลีกับนิโคลพบรักกันในวานวันที่ทั้งคู่ยังเยาว์วัย ฝ่ายหญิงเพิ่งจะโด่งดังในวงการบันเทิงใหม่ๆ ส่วนฝ่ายชายยังเป็นเพียงผู้กำกับละครเวทีโนเนมที่ไม่มีผลงานดังๆ เป็นของตัวเอง ในวันที่ชีวิตของชาร์ลียังอุดอู้แออัดอยู่ในนิวยอร์ก แต่ชีวิตของนิโคลกลับกำลังไปได้สวยในลอสแอนเจลิส ทว่าด้วยไฟรักแผดเผาร้อนแรงของทั้งสองนิโคลตัดสินใจทิ้งอนาคต เลิกรับงานแสดง โยกย้ายสำมะโนครัวมาเริ่มต้นชีวิตใหม่กับชาร์ลีที่นิวยอร์ก ก่อนจะผันชีวิตมาสู่นักแสดงละครเวที นิโคลช่วยผลักดันคนรักอย่างเต็มที่กระทั่งในที่สุดเขาก็ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้กำกับละครเวทีผู้โด่งดังสมใจ

แล้วชาร์ลีกับนิโคลก็มีลูกด้วยกัน เฮนรี่ (Azhy Robertson) คือชื่อของเด็กน้อยผู้โชคดีคนนั้น เด็กน้อยที่เติบโตขึ้นท่ามกลางพ่อแม่ที่ให้ความรัก ความอบอุ่นกับเขาอย่างเต็มที่ ชาร์ลีนั้นใส่ใจในรายละเอียด รักการได้เป็นพ่อคน อีกทั้งไม่เคยบ่นเมื่อลูกมาปลุกให้ไปนอนด้วยยามดึกดื่น ส่วนนิโคลก็เป็นแม่ที่ห่วงใยความรู้สึก ทุ่มเวลากับเด็กน้อยอย่างเต็มที่ และรักที่จะตัดผมให้ลูกและสามีเมื่อเห็นว่ามันยาวเกินไป Marriage Story เริ่มต้นด้วยสารพัดเหตุผลว่า ทำไมเราถึงต้องรักสามีภรรยาคู่นี้ แต่แล้วภายในเวลาไม่ถึงแปดนาทีที่ตัวตนอันน่าหลงใหลของชาร์ลีกับนิโคลเบ่งบานในหัวใจคน ดูบอมบัคก็ได้ถีบเราออกจากภาพของครอบครัวอบอุ่นชวนฝัน ด้วยการเปิดเผยความจริงว่า เรื่องราวของนิโคลกับชาร์ลีที่เราเพิ่งได้รับรู้ไป แท้จริงแล้วถูกบอกเล่าผ่านกระบวนไกล่เกลี่ยก่อนการหย่าร้าง ที่พยายามจะให้คู่รักที่กำลังจะเลิกกันได้นึกถึงความทรงจำดีๆ ของอีกฝ่ายเมื่อแรกตกหลุมรัก–ใช่ชาร์ลีกับนิโคลกำลังจะหย่ากัน

Marriage Story คือภาพยนตร์ที่ว่าด้วยกระบวนการหย่าร้างซึ่งไม่มีอะไรสวยงาม มันเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ความโกรธเกรี้ยว และหยดน้ำตาที่ร่วงหล่นซ้ำๆ ร้ายไปกว่านั้นคือ เมื่อการตัดสินใจจะเลิกราระหว่างชาร์ลีกับนิโคลไม่ได้สิ้นสุดลงที่ข้อตกลงของพวกเขา แต่กลายไปสู่การขึ้นโรงขึ้นศาล จากจุดเริ่มต้นของหนังที่เรียกร้องคนดูให้หลงรักตัวละครผ่านความทรงจำ ทว่าผ่านกระบวนการหย่าร้าง บอมบัคกลับค่อยๆ ลบล้างความทรงจำดีๆ ที่ทั้งสองเคยมีให้กัน Marriage Story เปิดเผยให้เราเห็นถึงด้านอัปลักษณ์ของอดีตคู่รัก ที่แม้ว่าลึกๆ แล้วทั้งคู่อาจยังห่วงใยกันอยู่ แต่ต่อหน้าทนายความและชั้นศาล ความนึกคิดด้านบวกของพวกเขากลับถูกทุบทำลายลงไป ภาพอดีตอันหอมหวานถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นสมรภูมิสงครามที่สามีภรรยาจะคอยขุดคุ้ยพฤติกรรมแย่ๆ ของอีกฝ่ายขึ้นมาอย่างมาดร้าย ยิ่งเมื่อชาร์ลีกับนิโคลต่างมีนิสัยเหมือนกันคือทั้งคู่เกลียดความแพ้พ่าย ยิ่งพอเป็นเกมของการหย่าร้างที่รางวัลของผู้ชนะคือสิทธิในการเลี้ยงดูลูกชาย ชาร์ลีกับนิโคลจึงงัดอุบายเพื่อหวังจะชนะอีกฝ่ายอย่างเต็มที่

หากพูดถึงการหย่าร้าง โดยเฉพาะในบริบทสังคมตะวันตก อาจกล่าวได้ว่าคล้ายจะเป็นเรื่องปกติของชีวิตครอบครัวไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันที่ทัศนคติต่อการหย่าร้างเป็นไปในแง่บวกมากขึ้น Anthony Giddens นักสังคมวิทยากล่าวถึงการหย่าร้างว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของกระบวนการค้นพบตัวเองซึ่งคือเงื่อนไขที่สังคมสมัยใหม่คอยกดดันเราพูดอีกอย่างคือ ภายใต้สังคมสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของปัจเจก ความหมายของการหย่าร้างได้แปรเปลี่ยนไปสู่ความเป็นอิสระ และการถือกำเนิดใหม่ของปัจเจกที่หลุดพ้นจากพันธนาการของชีวิตคู่ ความเก่งกาจอย่างหนึ่งของบอมบัคคือ แม้ประเด็นของหนังจะหนักหน่วงเพียงใด แต่เขาจะหยอดแสงสว่างเล็กๆ ไม่ให้สถานการณ์ที่ตัวละครกำลังเผชิญอยู่นั้นมืดมนเกินไปนัก กับ Marriage Story ก็เช่นกัน เพราะในขณะที่บอมบัคนำเสนอด้านที่ไร้หัวจิตหัวใจของกระบวนการหย่าร้าง หากเขาก็ไม่ลืมจะย้ำเตือนว่า หากมองให้ดีๆ การเลิกราก็มีแง่งามหลบซ่อนอยู่เหมือนกัน ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นอย่างน่าสนใจผ่านความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชาร์ลีกับนิโคลที่รับรู้ผ่านบทสนทนาอันเรียบง่าย แต่แยบคายและแหลมคม 

ตัวอย่างเช่น ในฉากเล็กๆ หนึ่งที่ชาร์ลีเริ่มจะกังวลว่าเขาอาจสูญเสียสิทธิเลี้ยงดูลูกชายไป อยู่ๆ เขาก็เอ่ยถามนิโคลว่าเธอย้อมสีผมใหม่หรือเปล่า

เปล่านะ ฉันก็เป็นอย่างนี้ ครั้งก่อนที่เจอคุณก็สีนี้” นิโคลตอบด้วยสีหน้างุนงง 

ผมรู้ แต่ตอนนั้นผมไม่ได้ทักน่ะ” ชาร์ลีรีบสวนทันที

ไม่ชอบเหรอ” นิโคลถามอย่างไม่เข้าใจ 

เปล่า ผมก็ว่าดี มันสั้นลงหรือเปล่า ผมชอบให้ยาวกว่านี้ แต่…”

แต่ไม่ทันที่ชาร์ลีจะพูดจบ หญิงสาวก็พลันหัวเราะแทรกขึ้นมา แต่พอเห็นสีหน้าสับสนของคู่สนทนา นิโคลเลยขอโทษอย่างรีบๆมันน่าขันดีน่ะเธอว่า 

ทุกอย่างโอเคหรือเปล่า” ชาร์ลีถามอย่างไม่แน่ใจ

โอเคสิ ทำไมเหรอ” นิโคลยิ้ม

คุณดูไม่รู้สิ เหมือนมีอะไร…”

ทุกอย่างเรียบร้อยดี” นิโคลชิงตอบอย่างรวดเร็ว สีหน้าของเธอดูผ่อนคลาย ตรงกันข้ามกับชาร์ลีที่บัดนี้เต็มไปด้วยความไม่สบายใจ

ผ่านบทสนทนาสั้นๆ นี้ เราพอจะอนุมานได้ถึงรูปแบบความสัมพันธ์คร่าวๆ ของทั้งคู่ในวันที่ยังรักกันอยู่ ความพิลึกพิลั่นของบทสนทนานี้อยู่ที่ว่า ทำไมชาร์ลีที่มักจะใส่ใจรายละเอียดถึงเพิ่งจะสังเกตได้ว่าสีผมของภรรยาเปลี่ยนไป? ยิ่งกับคำพูดที่ว่า “…ผมชอบให้ยาวกว่านี้…” ก็ยิ่งจะเปิดเผยให้เห็นถึงตัวตน และลักษณะการใช้อำนาจของชาร์ลี นั่นคือเขาในฐานะผู้กำกับ และเขาในฐานะผู้ชาย ต่อบทบาทของผู้กำกับชาร์ลีคุ้นเคยอยู่แล้วกับการเป็นผู้สั่งและผู้กำหนดรายละเอียดต่างๆ ของละครเวทีแต่ละเรื่อง นั่นจึงทำให้เขามีสถานะเป็นผู้ตัดสินใจการที่เขาออกความเห็นเรื่องทรงผมของนิโคลจึงเป็นการออกความเห็นในฐานะผู้กำกับ ทว่าอีกตัวตนหนึ่งที่ซ้อนทับชาร์ลีอยู่อีกชั้นหนึ่งคือความเป็นผู้ชายที่มักจะมองนิโคลว่าต่ำกว่าเสมอ ซึ่งนิโคลเองก็รับรู้ถึงมันอยู่ตลอด

ในฐานะของอดีตนักแสดงดาวรุ่งที่ยอมทิ้งอนาคตเพื่อมาเป็นลมใต้ปีกให้กับคนรัก แม้เธอจะภูมิใจกับการได้เห็นว่าสามีประสบความสำเร็จในทางที่ฝัน แต่ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกันนิโคลกลับไม่เคยรู้สึกเลยว่าชาร์ลีมองเห็นเธออยู่ในสายตา ไม่ว่าจะในฐานะนักแสดงละครเวทีในสังกัด ในฐานะแม่ของลูกชาย หรือในฐานะภรรยา แค่เพราะว่านิโคลเป็นผู้หญิง นั่นจึงเท่ากับว่า สถานะของเธอจะอยู่ต่ำกว่าชาร์ลีโดยทันที นิโคลไม่เพียงจะต้องเผชิญกับอำนาจของชาร์ลีในบทบาทของผู้กำกับเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบทบาทของสามี ที่ไม่เคยจะรับรู้ หรือสนใจเลยด้วยซ้ำว่าภรรยาของเขาเหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้ากับความสัมพันธ์นี้มากมายเพียงใด

สำหรับนิโคล การที่สามีเกิดสังเกตได้ว่าทรงผมของเธอเปลี่ยนแปลงไปในช่วงของการหย่าร้างจึงเป็นเรื่องน่าขัน นั่นเพราะนิโคลรู้ดีว่า การที่อยู่ๆ ตัวตนของเธอก็ถูกรับรู้โดยสามีในครั้งนี้ไม่ได้มาจากการที่ชาร์ลียอมรับว่า เขากับภรรยามีสถานะเท่ากันหรอก แต่มันมาจากความหวาดกลัวของเขาต่างหาก เป็นความสิ้นหวัง และกังวลว่าจะสูญเสียสิทธิในการเลี้ยงดูลูกไปต่างหากที่เป็นสาเหตุให้ชาร์ลีสร้างบทสนทนาลอยๆ นี้ขึ้นด้วยหวังว่ามันจะช่วยเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างเขากับนิโคล

อาจเรียกได้ว่า Marriage Story คือหนังที่ว่าด้วยการล่มสลายของความเป็นชายความเป็นชายที่ไม่ได้หมายถึงเพศชาย แต่คืออุดมการณ์ความเป็นชายที่มองผู้หญิงว่ามีสถานะที่ต่ำกว่า และคอยแต่จะตัดสินว่าผู้หญิงคืออารมณ์ ส่วนผู้ชายเท่านั้นคือเหตุผล บอมบัคได้ล้มล้างมายาคตินี้อย่างถอนรากถอนโคน และชี้ให้เห็นว่าความหมกมุ่นที่คอยแต่จะสร้างคู่ตรงข้ามระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงเช่นนี้ไม่เคยจะเกิดประโยชน์อะไร อารมณ์กับเหตุผลไม่เคยจะผูกขาดอยู่แค่กับเพศภาวะใด และอำนาจของเพศชายก็ไม่ได้หมายความถึงชัยชนะไปเสียทุกครั้ง

เมื่อโครงสร้างของ Marriage Story ขับเคลื่อนไปบนตรรกะการแพ้ชนะของกระบวนการหย่าร้าง อำนาจทางเพศจึงยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดผ่านความหมกมุ่นของตัวละครที่ต้องการจะเอาชนะอีกฝ่ายเสมอมาในอดีต การหย่าร้างไม่เคยจะสร้างข้อจำกัดกับผู้ชาย เท่ากับที่มันสร้างภาระให้กับผู้หญิง หากลองพิจารณาวาทกรรมที่บอกว่า ผู้หญิงที่ดีคือผู้หญิงบริสุทธิ์ และบ้านคือพื้นที่ของผู้หญิง ในบริบทของการหย่าร้าง จะเห็นว่าการทำงานของวาทกรรมเหล่านี้ไม่เพียงจะจำกัดผู้หญิงจากความเป็นอิสระ และคอยแต่จะจำกัดว่าผู้หญิงต้องเป็นทรัพย์สินของผู้ชายที่แต่งงานด้วย แต่ Marriage Story แสดงให้เห็นว่านิโคลนั้นได้หลุดพ้นจากวาทกรรมเหล่านี้ไปแล้ว เพราะไม่เพียงแต่การหย่าร้างกับสามีจะส่งผลให้เธอคล่องตัวกับชีวิตขึ้นเท่านั้น แต่นิโคลยังมีความสามารถที่จะเลี้ยงดูเฮนรี่ได้อย่างเต็มกำลังโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งความช่วยเหลือจากชาร์ลี

ประโยคที่ทนายฝั่งนิโคลพูดขึ้นในฉากหนึ่งว่าแปลว่ามันเป็นข้อตกลงเมื่อมันเป็นสิ่งที่คุณต้องการ และเป็นการคุยกันเมื่อเป็นสิ่งที่นิโคลต้องการเหรอจึงสรุปปัญหาของความขัดแย้งระหว่างนิโคลกับชาร์ลีที่วางอยู่บนฐานของความสัมพันธ์เชิงอำนาจได้อย่างชัดเจน เพราะเสียงชาร์ลีนั้นดังเกินไป คอยแต่จะกดเสียงของนิโคลไว้จนไม่เคยถูกรับรู้และได้ยิน ทว่าเสียงอันเงียบเชียบนี้ไม่เคยจะสูญสลายไป มันสะสมความอัดอั้นไว้ ค่อยๆ เติบใหญ่ กระทั่งวันหนึ่งก็ปะทุขึ้นมา ในอดีต ไม่เคยเลยที่เสียงของนิโคลจะมีคุณค่า หากในวันนี้เสียงของเธอกลับดังเกินกว่าที่ชาร์ลีจะต้านทานได้ เป็นเสียงของอดีตภรรยาที่กำหนดความเป็นไป ไม่ใช่เสียงของอดีตสามีอีกแล้ว

Alain de Botton ได้กล่าวถึงนิยามการแต่งงานไว้ในหนังสือ The Course of Love ว่า “การแต่งงานนั้นเปี่ยมด้วยความหวัง ความเมตตา และการพนันอย่างไม่มีสิ้นสุดของสองชีวิตที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองคือใคร และอีกฝ่ายเป็นใคร พันธนาการทั้งคู่ไว้ด้วยอนาคตที่พวกเขาไม่อาจมองเห็น หรือกล่าวได้ว่าพิจารณาแล้วอย่างถ้วนถี่

ชีวิตคู่ของชาร์ลีกับนิโคลก็ดำเนินไปคล้ายกับการพนัน ที่แม้ว่าในระหว่างการแต่งงาน อำนาจของชาร์ลีคล้ายจะกดทับให้นิโคลรู้สึกพ่ายแพ้อยู่ซ้ำๆ ทว่าภายในสนามของการหย่าร้าง มันกลับเป็นเกมกติกาที่ต่างกันไป ในเกมนี้นิโคลเป็นฝ่ายที่ถือไพ่เหนือกว่า ในเกมนี้กลายเป็นเธอที่ได้รับชัยชนะไป

และแม้ว่าถึงที่สุดแล้วทั้งคู่ต้องแยกทางกัน แต่ก็อย่างที่นิโคลลงท้ายไว้ในจดหมายที่เขียนเล่าความรู้สึกของเธอต่อชาร์ลีว่า “…ฉันจะไม่มีวันเลิกรักเขาเลย แม้มันจะดูไม่สมเหตุสมผลแล้วก็ตามความรักของทั้งสองจะยังคงอยู่ ความคำนึงของทั้งคู่จะยังไม่เลือนหายไปไหน เพียงแต่ความรู้สึกเพียงอย่างเดียวไม่อาจจะรักษาความสัมพันธ์ไว้ได้อีกต่อไป

ถึงแม้ว่านิโคลจะยังรักชาร์ลีเพียงใด หากการเลือกอยู่กับเขาต่อจะต้องแลกมากับตัวตนของเธอที่ถูกลดทอนลงเรื่อยๆ ทุกวัน การที่นิโคลจะเลือกถอยออกจากเส้นทางสายนั้นก็ไม่ใช่ความผิดอะไรเลย

AUTHOR