NOT A BOX นิทานที่เตือนให้เราไม่ลืมจินตนาการในตัวเอง

หากคุณมีประสบการณ์การใกล้ชิดเด็กๆ วัย 2 – 6 ขวบ ในบทบาทคนทำงาน บทบาทพ่อแม่ บทบาทญาติ หรือแม้แต่เดินสวนกันตามที่ต่างๆ

ประโยคคุ้นหูที่พวกเรามักได้ยินซ้ำๆ จากเด็กๆ คือคำตอบหรือคำถามที่เต็มไปด้วยจินตนาการไม่รู้จบ

เขาไม่ได้ถามตอบเล่นๆ แววตาของเด็กแต่ล่ะคนเป็นประกายราวกับเรื่องที่พูดออกมาคือความจริงหนึ่งเดียว ยิ่งถ้าผู้ใหญ่บางคนเริ่มคิ้วขมวด บางคนเริ่มหัวเราะ บางคนอยากแก้ไขด้วยการเติมข้อมูลที่ถูกต้องลงไป เด็กๆ กลับยิ่งพยายามยืนยันข้อมูลด้วยเหตุผลมากมายเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ฟังตัวใหญ่อย่างเราๆ ยอมฟังและเชื่อเขาเถอะ เพราะมันคือความจริงในแบบที่เขาเลือกจะเชื่อในวันนี้ วัยนี้เท่านั้น เมื่อเขาโตมากพอเขาจะย่อยความจริงต่างๆ ได้ด้วยตนเอง

ยกตัวอย่างเช่น

ระหว่างที่เด็กๆ เล่นทรายอย่างอิสระ เด็กๆ เลือกที่จะเล่นบทบาทสมมติหลากหลาย มีทั้งแม่ครัว เชฟโอมากาเสะ คนสร้างสะพาน นักดับเพลิง คนขุดหาฟอสซิลไดโนเสาร์ ฯลฯ การเล่นของเด็กๆ สมจริงขั้นที่ว่าเอาทรายมาทำเป็นเมนูอาหารพร้อมวัตถุดิบมากมาย เหมือนในอาหารของจริง เช่น ข้าวผัดกุ้ง เม็ดทรายเล็กๆ เหล่านั้น สามารถแปลงร่างเป็นข้าว เป็นกุ้ง เป็นผัก เป็นน้ำปลาได้ทันที ปรุงเสร็จแล้วแม่ครัวตัวจิ๋วจะตั้งใจเดินนำจานทรายมาเสิร์ฟคุณครูและเพื่อนๆ ยิ่งถ้าเป็นเมนูเผ็ด แม่ครัวบางคนใจดีหน่อยก็จะนำน้ำทรายมาให้ดื่มแก้เผ็ด

หรือแม้แต่ก้อนหินธรรมดา เด็กๆ ก็สามารถชุบชีวิต ให้กลายเป็นสัตว์เลี้ยงตัวโปรด และ เพื่อนๆ ในจินตนาการได้ทันที

หากมองเผินๆ อาจคิดว่าพวกเขาเล่นอะไรกัน เด็กหนอเด็ก ถ้าคิดในใจไม่บ่นออกมาคงไม่กระทบเท่าไหร่ เพราะถึงคุณจะทำหน้าไม่เชื่อเรื่องเล่าตรงหน้า เด็กๆ เขาไม่สนใจพวกเราเช่นกัน ฮ่า ยังคงมุ่งมั่นเล่นมันต่อไป แต่ถ้าเริ่มมีเสียงของการตัดสินขึ้นมา เช่น

“เล่นอะไรไร้สาระ” “นี่มันดินกินไม่ได้” “ก้อนหินมันไม่มีชีวิตหรอก”
ไม่ว่าจะมองในมุมครู มุมพัฒนาการ มุมความเป็นมนุษย์ ประโยคเหล่านั้นเป็นประโยคทำลายจินตนาการที่รุนแรงเหลือเกิน

เราไม่รู้เลยว่าเด็กแต่ละคนมีภูมิต้านทานแค่ไหนในการรับมือกับเรื่องนี้ เด็กบางคนอาจจะปล่อยผ่านแล้วชิลล์กับการเล่นต่อ แต่มีเด็กอีกไม่น้อยที่ต้องเดินเข้ามาสู่โลกความจริงเร็วเกินไปจนทำให้ไม่มีความสุขสมวัยเท่าที่ควร ต้องรีบโตเพื่อให้ผู้ใหญ่รอบข้างพึงพอใจว่าลูกโตแล้ว

นิทานเรื่อง NOT A BOX โดย Antoinette Portis เราได้นิทานเล่มนี้ในเวอร์ชั่นที่หน้าปกใช้กระดาษลังมาเป็นวัสดุหลักในการพิมพ์ เมื่อได้สัมผัสครั้งแรกรู้สึกประทับใจมากๆ รับรู้ถึงการใส่ใจในรายละเอียดของผู้จัดทำ ภาพในแต่ละหน้ามีความชัดเจนของเนื้อหา รายละเอียดในภาพน้อยแต่กลับมีพลังในการสื่อสารกับผู้อ่านวัยเด็กได้เต็มๆ

ใจความหลักของนิทาน คือ การที่เจ้ากระต่ายหูยาวผู้มาพร้อมกล่อง 1 ใบ เขายืนยันกับผู้อ่านในทุกๆ หน้าว่านี่ไม่ใช่กล่องนะ มันพร้อมแปลงร่างเป็นรูปแบบต่างๆ ได้มากมาย ทั้งรถ ภูเขาที่สูงที่สุดในโลก หุ่นยนต์ พลังของจินตนาการแข็งแรงมากจนช่วยให้เจ้ากระต่ายกับกล่องใบน้อยขึ้นไปในอวกาศได้

เล่ามาถึงตรงนี้เผลอเรียกกล่องไปหนึ่งครั้ง ถ้าเจ้ากระต่ายได้ยินคงน้อยใจแย่ : )

เมื่อได้เล่านิทานพร้อมเด็กๆ พบว่ามีผู้ฟังอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ เด็กที่ตาแป๋ว เอาใจช่วยเจ้ากระต่ายตลอดเวลาและเมื่อได้ลงมือทำงานศิลปะกับกล่องใบหนึ่ง พวกเขาจะมีความสุขมากๆ กับการได้ปล่อยให้จินตนาการออกมาวิ่งเล่นอย่างอิสระ คำตอบก็มีสีสันจนครูผู้ถามอมยิ้มไปด้วย

ส่วนเด็กอีกกลุ่ม เขาจะหงุดหงิดและเบื่อเจ้ากระต่ายตัวนี้เหลือเกินว่าทำไมถึงเล่นเหมือนเด็กๆ นี่มันกล่องงงงงงง!!! จะเป็นจรวดไปนอกโลกได้อย่างไรก็แค่กล่อง แน่นอนว่าตอนได้ลงมือประดิษฐ์กล่องตรงหน้า เขาจะเหนื่อยล้า เบื่อ และยืนยันคำตอบเดิมเสมอไม่ว่าครูจะพลิกแพลงประโยคคำถามอย่างไร คำตอบที่ได้คือ กล่อง

เช่นเดียวกันเมื่อเล่าให้ผู้ใหญ่ฟังในบทบาทการใช้หนังสือนิทานบำบัด (Bibliotherapy) นิทานเล่มเดียวกันนี้ก็พอจะช่วยแบ่งผู้ฟังออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ผู้ฟังที่รู้ว่าคือกล่องนั่นแหละ แต่ยอมเปิดใจชวนเด็กน้อยในตัวเราออกมาวิ่งเล่นไปตามจินตนาการของเจ้ากระต่ายจนเชื่อมโยงกับจินตนาการของตัวเองได้อีกครั้ง พวกเขาเริ่มกลับมายิ้มกับความสุขง่ายๆ ที่เกิด กับผู้ฟังอีกกลุ่มที่หงุดหงิดและเบื่อเจ้ากระต่ายตัวนี้เหลือเกินว่าทำไมถึงเล่นเหมือนเด็กๆ นี่มันกล่องงงงงงง!!! พวกเขายิ้มแห้งๆ

บทความนี้คงเหมือนนิทานที่ไม่มีการเฉลยตอนจบว่าแบบไหนดีกว่ากัน และดีกว่ากันอย่างไร เพราะกล่องความจริงในใจของแต่ละคนไม่มีทางเหมือนกัน ทั้งรูปทรง วัสดุ การใช้งาน

คงจะดีไม่น้อยถ้าเด็กๆ มีโอกาสได้ให้พื้นที่กับกล่องธรรมดาใบหนึ่งเดินทางไปกับจินตนาการของเขานานมากพอและเขาเป็นคนตัดสินใจได้ด้วยตนเองว่าจะพักจินตนาการจุดตรงไหนเมื่อก้าวเข้ามาในโลกความจริง ไม่ใช่การชี้นำหรือการตัดสินจากคนอื่น

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย