‘ภาวิณี ไชยภาค’ กับธนาคารเมล็ดพันธุ์ ความหลากหลายแห่งชีวิตที่ผลิตได้เอง

Highlights

  • ภาวิณี ไชยภาค คือผู้ริเริ่มโครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์หลังตรวจพบก้อนเนื้อบริเวณหน้าอก ที่เธอเชื่อว่าเกิดจากการได้รับสารพิษในอาหาร จึงเริ่มเปลี่ยนวิถีการกิน
  • ภาวิณีเริ่มปลูกผักเองและเก็บเมล็ดเองด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าเมล็ดนั้นไม่ปนเปื้อนสารเคมี โดยเริ่มจากผักสวนครัวที่บ้าน
  • เมื่อเก็บได้มาขึ้น ภาวิณีจึงเปิดเพจเพื่อแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ให้คนที่สนใจเข้ามาพูดคุย จนเกิดเป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ขึ้นมา

ภาวิณี ไชยภาค ผู้ริเริ่ม ‘ธนาคารเมล็ดพันธุ์’

“เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราตรวจพบก้อนเนื้อตรงเต้านมซึ่งไม่ใช่ถุงน้ำ ซีสต์ หรือก้อนเนื้ออื่นๆ ที่จัดการง่าย ทางเดียวที่จะรู้คือต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ แต่เราไม่อยากไปกระทบกระเทือนเขา เราเชื่อว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสารพิษที่เข้าไปในร่างกายแล้วร่างกายเราขับออกได้ไม่หมด เราก็ให้เขาอยู่ตรงนั้น แค่ไม่เพิ่มสารพิษเข้าไปก็พอ

“พอมีปัญหาสุขภาพ อย่างแรกที่ต้องเปลี่ยนคือวิถีการกิน เราเริ่มปลูกผักเองและต้องเก็บเมล็ดเองด้วย ถึงจะแน่ใจว่าเมล็ดนั้นไม่ปนเปื้อนสารเคมี เลยเริ่มเก็บเมล็ดพันธุ์โดยเริ่มจากมะเขือแก้วที่พี่ข้างบ้านปลูกแล้วเอามาแบ่งให้ มะเขือแก้วลูกหนึ่งมีเมล็ดพันธุ์เยอะมาก ตั้งแต่ 700-1,600 เมล็ด เราปลูกกินทีนึงเต็มที่ก็แค่ 3 ต้น ก็เลยแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ไปให้คนอื่น ซึ่งเขาก็ให้เมล็ดพันธุ์อื่นกลับมา เราเลยมีเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นและหลากหลายขึ้นเรื่อยๆ ทั้งถั่วฝักยาว พริกชนิดต่างๆ ยิ่งให้ไปเยอะเท่าไหร่ก็ยิ่งได้กลับมาเยอะเท่านั้น

“พอมีเมล็ดพันธุ์เยอะขึ้นก็ต้องมีการจัดการเราเปิดเพจเพื่อบอกว่าเราทำหน้าที่เก็บและแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ ใครสนใจก็มาคุยกันเลยได้เจอคนทำเรื่องนี้มากขึ้น เริ่มมีข้อตกลงร่วมกันในการแลกว่า หนึ่ง ถ้าเขามีเมล็ดพันธุ์ก็เอามาแลกกัน สอง ถ้าเขายังไม่มี ให้รับเมล็ดไปปลูกก่อน แล้วคืนเมล็ดกลับมาแบบ 1 ต่อ 2 และสาม ถ้าเขาไม่มีเมล็ดและไม่ถนัดปลูกคืนก็สามารถสมทบมาเป็นเงินได้ แล้วเราก็จะส่งเมล็ดให้ แนวคิดนี้ทำให้ธนาคารเมล็ดพันธุ์และคนทำงานสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ตอนนี้เริ่มมีเพื่อนๆ ทางเชียงใหม่ พิษณุโลก นครศรีธรรมราช สตูล ประจวบคีรีขันธ์ เอาแนวคิดนี้ไปทำ เราก็ส่งเมล็ดพันธุ์ให้กัน ทางนั้นก็จะมีเมล็ดพันธุ์ที่หลากหลาย ถ้าหากเมล็ดพันธุ์ของเราหายเขาจะยังมีอยู่

“การเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ประทับใจที่สุดคือเมล็ดพันธุ์ของผักกาดนกเขา มันเป็นผักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ อยู่ตามทุ่งหญ้าหรือป่ายาง รสชาติมันๆ กินแล้วหอมสดชื่น ดอกเป็นตุ่มสีชมพูเล็กๆ พอรุ่งเช้าจะบานเป็นปุยขาวๆ รอบๆ เหมือนพระอาทิตย์ ใจกลางดอกคือเมล็ดสีดำ พอลมพัดมาปุ๊บดอกก็จะปลิว กว่าจะเก็บเมล็ดได้ต้องทดลองอยู่หลายแบบ เพราะถ้าเราไม่นิ่มนวลจริงๆ ดอกก็จะปลิวไป เก็บไม่ได้ ตอนหลังใช้วิธีเอาถุงครอบดอกทุกดอกแล้วเคาะลงในถุงเลยแต่สิ่งที่ต้องระวังคือถ้าพื้นที่ตรงนั้นมีการฉีดยาฆ่าหญ้า ผักกาดนกเขาจะไม่ตาย แต่จะปรับตัวโดยดูดสารพิษเข้ามาอยู่ในตัวเอง ถ้าใครเก็บเมล็ดนั้นก็จะได้รับสารพิษเข้าไปเต็มๆ

“จริงๆ ผักชนิดนี้มีอยู่ทั่ว ภาคเหนือ ภาคอีสานก็มี แต่ไม่มีใครกินเพราะไม่รู้ว่ากินได้ แต่พอ เราเอามากิน ศึกษาสรรพคุณว่ามันมีสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นผักที่นอกจากจะเป็นอาหารแล้วยังเป็นยาด้วย ความนิยมเลยเพิ่มขึ้น แต่ก่อนไม่มีใครขาย อยากกินต้องหาเก็บเอา ตอนนี้กิโลกรัมละเป็นร้อยแล้ว

“ความท้าทายของการทำเรื่องผักปลอดสารพิษคือ ตอนนี้หมู่บ้านเรายังใช้ยาฆ่าหญ้า ใช้ปุ๋ยเคมีจนเคยชิน เพราะเขาเชื่อว่าถ้าไม่ใช้สิ่งเหล่านี้จะไม่ได้ผลผลิตไปกินหรือขาย ทรัพยากรตรงนั้น ทั้งน้ำ ดิน อากาศก็เป็นทรัพยากรเดียวกัน เขาฉีดในที่ของเขา เราก็ได้รับผลกระทบ นับเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เราเก็บเมล็ดพันธุ์ปลอดสารได้ยากเพราะยังอาจมีการปนเปื้อนได้อยู่

“ต้นไม้ก็คือชีวิตคนนั่นแหละ ต้นไม้ให้ทั้งอาหาร อากาศ น้ำ ช่วยดูแล ปรับสมดุลธรรมชาติ ให้ความสวยงามเบิกบานกับเราได้ในทุกๆ วันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ ยิ่งเรานี่ชัดกว่าคนอื่นเพราะมีก้อนเนื้อที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ถ้าเราไม่ได้อากาศที่ดี อาหารที่ดีจากเขา เราก็ไม่มีชีวิตอยู่”

AUTHOR