คุยกับอาจารย์ภูมิสถาปัตย์ผู้ใช้ ‘ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์’ ผลักเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก

Highlights

  • จังหวัดเชียงใหม่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเป็นเมืองมรดกโลก ซึ่งเชียงใหม่เป็นที่แรกของโลกที่นำเรื่องราวของต้นไม้ส่งไปให้ทางยูเนสโกร่วมพิจารณาในแง่ของวัฒนธรรมด้วย
  • คนล้านนามีความเชื่อเกี่ยวกับต้นไม้และดอกไม้หลายอย่าง เริ่มตั้งแต่ปฏิทินล้านนาที่ออกทุกวันปีใหม่เมือง (วันสงกรานต์) ที่บอกว่าในปีนั้นๆ มีต้นอะไรที่ห้ามตัด ต้นอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับการทำพิธี หรือการนำชื่อต้นไม้มาใช้เรียกชื่อสถานที่สำคัญๆ
  • ข้อมูลเหล่านี้ถูกรวบรวมโดยอาจารย์ป้อง–วรงค์ วงศ์ลังกา อาจารย์ภูมิสถาปัตย์จากคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่หวังไขรหัสความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับต้นไม้ หาคำตอบของคำถามที่ว่า อะไรทำให้ต้นไม้ต้นหนึ่งกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนเคารพ กระทั่งยืนอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงคู่เมืองเชียงใหม่มาได้เป็นร้อยๆ ปี

ปีผ่านมาผมได้ยินชื่อของอาจารย์ป้อง–วรงค์ วงศ์ลังกา อาจารย์ภูมิสถาปัตย์ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ออกตระเวนหาต้นไม้ทุกต้นที่อยู่กับศาลเจ้าและวัดทุกแห่งในบริเวณเขตเวียงเชียงใหม่ (พื้นที่เมืองเก่าภายในคูเมือง) เป็นครั้งแรก

สิ่งที่ทำคนเชียงใหม่อย่างผมสนใจงานวิจัยของอาจารย์คนนี้อย่างจัง นั่นคือขั้นตอนที่เขาบันทึกลักษณะของต้นไม้เหล่านั้นละเอียดยิบ ตั้งแต่สายพันธุ์ จำนวน อายุ รูปทรงต้น ลักษณะดอก ใบ กลิ่น สี ไปจนถึงขั้นทิศที่ปลูก

264 คือจำนวนศาลเจ้าทั้งหมดที่เขาศึกษา

278 คือจำนวนชนิดต้นไม้ที่อยู่กับศาลเจ้าเหล่านั้น

นี่เป็นข้อมูลเพียงเสี้ยวเดียวของงานวิจัย ‘การศึกษาภูมิศาสตร์ของต้นไม้ที่ทำให้เกิดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ภายในเขตเมืองเก่าของเชียงใหม่’ หัวข้อวิจัยด้านภูมิสถาปัตย์ระดับปริญญาเอก ซึ่งภาพใหญ่ที่อาจารย์ป้องต้องการนำเสนอผ่านงานวิจัยชิ้นนี้ คือการเข้าไปไขรหัสความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับต้นไม้ หาคำตอบของคำถามที่ว่า อะไรทำให้ต้นไม้ต้นหนึ่งเปลี่ยนพื้นที่ที่แวดล้อมมันให้กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ได้ หรือกระทั่งตัวมันเองก็กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และทำไมต้นไม้บางต้นถึงยืนต้นอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงคู่เมืองเชียงใหม่มาได้เป็นร้อยๆ ปี

“บางครั้งต้นไม้ก็ไม่ได้ถูกเอามาปลูกเพื่อความสวยงามอย่างเดียว แต่ยังมีการปลูกเพราะอยากจะสื่อถึงอะไรบางอย่าง หรือด้วยเหตุผลอื่น เรื่องราวแบบนี้มันหลบซ่อนอยู่ในอดีต กระทั่งอาจถูกลืมไปตามกาลเวลา ความสัมพันธ์ที่คนเคยมีต่อต้นไม้ก็หายไป”

สำหรับเขาแล้วต้นไม้ทุกต้นล้วนน่าปกป้อง ทั้งหมดนี้คือที่มาของงานวิจัยที่เขากำลังทำ

“สิ่งที่ผมทำคือออกไปตามหาข้อมูล ไขรหัสเงื่อนไขการเกิดคุณค่าของต้นไม้ในพื้นที่เวียงเชียงใหม่ว่าเกิดขึ้นมาได้เพราะอะไร คนกับต้นไม้ต้นนั้นเคยเชื่อมโยงกันยังไง เมื่อเขากลับมารู้จักต้นไม้นี้มากขึ้น มากกว่าแค่ป้ายชื่อที่ติดบนลำต้น แต่เป็นเรื่องราวความเป็นมาที่ทำให้มันมีค่า เป็นสัญลักษณ์แทนความทรงจำร่วมกันของเชียงใหม่”

งานวิจัยของอาจารย์ยังมีความหมายสำคัญยิ่งต่อทุกคนในเชียงใหม่ขณะนี้ เพราะงานวิจัยชิ้นนี้เป็นอีกส่วนข้อมูลสำคัญที่ถูกนำไปใช้สำหรับการเสนอให้เชียงใหม่ถูกพิจารณาเป็นเมืองมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก ซึ่งยื่นเสนอโดยภาคประชาชนและนักวิชาการ ถือเป็นครั้งแรกที่ต้นไม้เข้ามามีส่วนในการพลิกให้เมืองหนึ่งกลายเป็นมรดกของโลก

ที่เราต้องการให้เชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก เพราะตอนนี้เชียงใหม่คุมตัวเองให้อยู่ในร่องในรอยไม่อยู่แล้ว ภาครัฐก็เอาไม่อยู่ เมืองขาดการจัดการที่ดี วัดบางวัดในเชียงใหม่เป็นวัดร้าง สักพักก็เปลี่ยนไปเป็นโรงเรียน พอโรงเรียนเจ๊งก็กลายเป็นโรงแรม ในเขตเวียงเชียงใหม่มีอยู่ 42 วัด เป็นวัดร้าง 4 วัด มีแค่ 2 วัดที่ตีระฆังตอนเช้า เขาตีกันมาเป็นหลายร้อยปี ทำไมอยู่ดีๆ ถึงหยุดตี เพราะมันติดกับโรงแรม มันรบกวนแขกของเขา ถ้าไม่มีการจัดการที่ดีสักวันหนึ่งเราอาจไม่ได้ยินเสียงระฆังวัดอีกแล้ว

“ตอนนี้ทางยูเนสโกให้เวลา 10 ปีสำหรับจัดการเมืองเชียงใหม่ให้เป็นไปตามระเบียบและเกณฑ์ของเขา ระหว่างนี้นักวิชาการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก็จะลิสต์ข้อมูลสำหรับจากพิจารณากันมา หนึ่งในนั้นคือ ‘เรื่องต้นไม้’ ที่ผมทำ ดังนั้นต้นไม้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องจัดการ และเป็นเรื่องใหม่ของยูเนสโกด้วย งานวิจัยของผมรวมอยู่ในส่วนหนึ่งของงานอนุรักษ์เมืองและคิดว่ามันน่าจะได้ผล”

ระหว่างที่เราเอาใจช่วยให้เชียงใหม่ได้รับการพิจารณาเป็นเมืองมรดกโลกโดยมีต้นไม้เป็นส่วนสำคัญ บรรทัดต่อจากนี้คือข้อมูลวิจัยที่อาจารย์ป้องใช้เวลาเป็นปีๆ ออกเดินสำรวจ จดบันทึก หาข้อมูลเพิ่มเติม มาดูว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนเมืองเชียงใหม่กับต้นไม้ที่ชายตรงหน้าเราคนนี้ไขรหัสออกมาได้มีหน้าตาเป็นยังไงกันบ้าง

1. ต้นไม้ในวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้

“มีนักวิชาการไปดูภาพวาดภายในปราสาทในสวิสเซอร์แลนด์แล้วค้นพบว่าทุกภาพวาดมีภาพดอกไม้ประกอบอยู่เลยสันนิษฐานว่าสวิสเซอร์แลนด์น่าจะมีดอกไม้เหล่านี้อยู่ เขาออกไปตามหาคำตอบจนพบว่าดอกไม้บนภาพวาดมันมีแค่บนเขาบางลูกเท่านั้น เมื่อสืบให้ลึกขึ้นจึงค้นพบว่า ท่านลอร์ดเจ้าของปราสาทนี้เดิมทีบ้านของเขาอยู่ในที่ที่มีดอกไม้เหล่านี้บานอยู่ ดอกไม้ในภาพวาดจึงสื่อถึงถิ่นกำเนิดของผู้เป็นเจ้าของ ผมรู้สึกว่าถ้าเราทำแบบนี้กับต้นไม้ที่ไทย คนจะต้องรักต้นไม้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าเลย และวิธีการมองต้นไม้จะเปลี่ยนไปอย่างมาก คนจะไม่มองแค่เป็นสิ่งที่ให้ร่มเงาแต่กลายเป็นว่ามันเข้าถึงความรู้สึกในใจของคนได้ และก็จะรักต้นไม้เหล่านี้โดยอัตโนมัติ

“เหตุผลที่งานวิจัยนี้เลือกศึกษาต้นไม้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ผมเชื่อว่ามันมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่ในนั้น มันมีความหมายบางอย่าง” เขาแบ่งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในงานวิจัยออกเป็น 2 แบบ อิงตามความเชื่อของคนเมืองเหนือ ซึ่งได้แก่ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาอย่างวัด และพื้นที่กลุ่มนับถือผีทั้งหลาย ตั้งแต่สเกลเมือง เช่น ประตูเมือง แจ่ง อนุสาวรีย์ ศาลกษัตริย์ต่างๆ ระดับชุมชนพวกหอผีมด ศาลเจ้าพ่อดินดำ ฯลฯ ไล่ลงมาถึงระดับบ้านอย่างศาลเก๊า (ศาลบรรพบุรุษ), ศาลตายาย และศาลพระภูมิ

เป้าหมายของเขาคือการออกตามหาต้นไม้ตามศาลเจ้าและวัดต่างๆ จนกลายเป็นเรื่องเล่าในหมู่นักวิชาการที่นี่กระทั่งส่งผ่านมาถึงหูเรา ซึ่งนับว่ายังเป็นเพียงแค่ส่วนผิวเผินของงานวิจัยทั้งหมดที่อาจารย์ป้องทำเท่านั้น

“เรามองต้นไม้ที่จะศึกษาเป็นภูเขาน้ำแข็ง ปลายยอดที่เห็นมันยังมีก้อนใหญ่ๆ อยู่ข้างล่างอีก ในงานวิจัยนี้เราแบ่งต้นไม้ออกเป็นในวัฒนธรรมที่จับต้องได้คือยอดภูเขาน้ำแข็ง เช่น ต้นไม้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้มีอะไรบ้าง เปอร์เซ็นต์ของจำนวนแต่ละชนิด ลักษณะ รูปทรง สี ของต้นไม้เป็นยังไง การใช้งาน เป็นไม้กิน ไว้ทำยา หน้าวัด ข้างวัด หลังวัด เป็นยังไง พวกนี้คือวัฒนธรรมที่เรามองเห็น จับต้องได้

“อีกส่วนคือข้างล่างที่ทับถมจนเกิดเป็นยอดข้างบน เป็นวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกเบื้องหลังที่ทำให้คนตัดสินใจปลูกต้นไม้ หรือทำให้ต้นไม้นี้มีความสำคัญขึ้นมา ซึ่งมันสามารถผูกพันเข้าไปถึงระดับยีนของเราได้เลย เช่น ทำไมเราถึงมีปฏิกิริยากับต้นไม้ที่มีทรงร่มแผ่กว้างมากที่สุด อาทิ ต้นฉำฉา (ก้ามปู) เราเอามันมาจากเม็กซิโก บราซิลมาปลูกด้วยซ้ำ แต่ทำไมเราถึงแทบไม่เคยเห็นใครกล้าเอาป้ายโฆษณาไปแปะ แถมบางต้นยังได้รับการยกย่องให้ศักดิ์สิทธิ์เทียบเท่ากับต้นโพธิ์

“สิ่งเหล่านี้มีที่มา เรียกกันว่า Brachial Effect ย้อนกลับไปในยุคที่มนุษย์ยังไม่ได้มีวิวัฒนาการมาจนถึงวันนี้ เราอยู่ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ทรงแผ่กว้างเหล่านี้ เราปีนป่ายขึ้นไปเพื่อส่องดูพื้นที่ เราอยู่กันเป็นฝูงใหญ่ภายใต้ร่มเงา และพฤติกรรมเหล่านี้ได้ฝังเข้าไปอยู่ในยีน ดังนั้นเวลาเราเห็นต้นไม้รูปทรงแผ่กว้าง เราจะรู้สึกอบอุ่นอยู่ข้างใน ให้ความรู้สึกเหมือนบ้าน”

2. ต้นไม้กับศาลประจำบ้าน

ตามความเชื่อเดิมของคนเชียงใหม่ การปลูกเรือนทุกหลังจำเป็นยิ่งที่จะต้องมีศาลประจำบ้าน ยิ่งในพื้นที่เวียงเชียงใหม่เป็นพื้นที่เก่าแก่ ความเชื่อเรื่องการปลูกต้นไม้ใกล้กับศาลประจำบ้านจึงแข็งแกร่งและน่าค้นหามากเช่นกัน

“ผมหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะสามารถใช้เป็นข้อมูลอนุรักษ์ต่อไปในอนาคตถ้าเราจะสร้างบ้านและมีศาลสักหลัง ต้นอะไรที่ควรปลูกใกล้ศาลบ้าง” กว่าจะได้ข้อมูลที่ต้องการเขาต้องเดินลัดเลาะซอกซอยเพื่อมองหาศาลของแต่ละบ้าน และการจะขออนุญาตจากป้ออุ้ยแม่อุ้ย (คุณตาคุณยาย) เจ้าของบ้าน เพื่อเก็บข้อมูลนั้นไม่ใช่งานง่ายเลย

“จากข้อมูลเราจะพบว่ามันมีสถิติความซ้ำอยู่คือ มีดอกสีขาว มีกลิ่นหอม และเป็นยา นี่คือลักษณะร่วมและศาลพระภูมิกับศาลเก๊า ศาลพระภูมิไม่ใช่วิธีคิดของล้านนา เป็นวิธีคิดของสยาม มักเป็นต้นไม้ในกระถาง แต่ศาลเก๊าปลูกกับดินเลย ลักษณะของมันมีความต่างกัน”

ในฐานะอาจารย์คณะสถาปัตย์ ไม่แปลกที่ระหว่างการทำงานเขาจะสนใจเรื่องความเชื่อเรื่องต้นไม้ที่ควรปลูกและไม่ควรปลูกในรั้วบ้านด้วย

ต้นไม้แทรกซึมอยู่ในหลายๆ วิธีคิดของคนเชียงใหม่ อย่าง ‘ขึด’ ที่เป็นความเชื่อตามประเพณีของชาวล้านนาที่ว่าหากฝ่าฝืนข้อห้ามที่ว่าตามกันมานั้นจะเกิดความอัปมงคลกับผู้กระทำ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการห้ามปลูกอะไร ควรปลูกอะไร เหมือนเป็นการเตือนทางอ้อม ซึ่งโดยเบื้องลึกเบื้องหลังแต่ละข้อห้ามก็มีเหตุผลของมันอยู่ เช่น ‘ต้นกล้วย’ ห้ามปลูกให้เงาทับเรือนเป็นเพราะว่ากล้วยเป็นพืชที่สะสมความชื้น ซึ่งทำให้บ้านที่สร้างจากไม้ผุพังง่าย มีแมลง เช่นเดียวกับ ‘ต้นมะพร้าว’ ถ้าลูกหรือก้านหล่นลงมาหลังคาบ้านอาจจะพัง หรือหล่นใส่หัวคนก็เจ็บ นอกจากนี้ก็มี ‘ต้นแค’ ที่ไม่ควรปลูกใกล้บ้านเพราะกิ่งก้านของมันค่อนข้างอ่อน เวลาลมพักแรงอาจหล่นทับหลังคาบ้านได้ เป็นต้น”

3. ต้นไม้ประจำปีปฏิทินล้านนา

เมื่อเรื่องของต้นไม้ไม่อาจพิจารณาได้แค่จำนวนตัวเลขเชิงสถิติ ในแง่ของข้อมูลรอบด้านที่เกี่ยวกับต้นไม้ต่างๆ เขาลงมือศึกษามันด้วยทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า ตำนาน ภาพวาด ประเพณีต่างๆ เพื่อค้นหาเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้ต้นไม้มีคุณค่าขึ้นมา

“ความผูกพันกับต้นไม้ของเชียงใหม่ปรากฏในรูปวัฒนธรรมของปฏิทินล้านนาที่ประกาศทุกวันปีใหม่เมือง (วันสงกรานต์) ทุกปีเขาจะมีการคำนวณและบอกเลยว่าปีนี้พญาดอก พญาไม้ ขวัญข้าว ผีเสื้อ อยู่ไม้อะไร วิธีใช้ของมันก็คือ ทุกวันพระ ผู้คนจะนำดอกพญาดอกมาทัดผมเพื่อเสริมขวัญและใช้ถวายพระ เป็นต้น”

สำหรับปีนี้ พญาดอกคือส้มสุก พญาไม้คือมะเดื่อเกลี้ยง หากใครขึ้นบ้านใหม่จะต้องมีไม้จากต้นมะเดื่อเกลี้ยงผูกติดเสาบ้านเพื่อทำพิธีและห้ามตัดหรือฟันไม้ชนิดนี้ ผีเสื้อจะอยู่ในต้นหมากขวิด (มะขวิด) ห้ามมีการตัดเพราะเชื่อว่าจะเกิดเหตุอัปมงคล ในปฏิทินล้านนายังบอกละเอียดถึงทิศในการทำพิธีมงคลต่างๆ ซึ่งแต่ละปีจะไม่เหมือนกัน ต้นไม้กับคนล้านนาผูกพันกันในเชิงวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน

4. ต้นไม้ที่ทำให้เชียงใหม่อยู่ตรงนี้

“เมืองเชียงใหม่ถูกสร้างตามชัยมงคล 7 ประการ หนึ่งก็คือดอยสุเทพ สองคือแม่น้ำปิง สามคือมีน้ำแม่ข่าไหลจากดอยสุเทพมาหาน้ำปิงไม่เคยขาด สี่มีหนองบัว ห้ามีฟานเผือก (เก้ง) หกมีหนูเผือกตัวใหญ่เท่าดุมเกวียน (ส่วนกลางของวงล้อเกวียน) และเจ็ดคือมี ‘ต้นผักเฮือดใหญ่’ ที่หนูเผือกวิ่งเข้าไปหลบ จะเห็นว่าต้นไม้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ใช้เป็นตัวตัดสินใจในการตั้งเมือง

“ทีนี้ถามว่าทำไมต้นผักเฮือดถึงสำคัญ สำหรับวิถีชีวิต มันเป็นพืชผักที่กินได้ เป็นพืชพื้นถิ่น เติบโตง่าย แม้ว่าจะไม่มีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ แต่ถ้ามองให้ดีลำต้นของต้นผักเฮือดมีรูปทรงคล้ายต้นโพธิ์ลักษณะการแผ่ร่มเงาของมันจึงจับใจคน”

 

5. ไม้หมายเมือง

“ไม้หมายเมืองเป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่มาก เป็นต้นไม้ที่กษัตริย์คอยอุ้มชู เพราะเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่และแสดงถึงจิตวิญญาณของเมือง

“เชียงใหม่ในยุคแรกก็คือต้นผักเฮือด ต่อมาในยุคพระเจ้ากาวิละ ตามตำนานเล่าว่าต้นยางใหญ่ถูกเลือกให้ปลูกที่วัดเจดีย์หลวงเพื่อคู่กับเสาอินทขิล ซึ่งถือว่าเป็น ‘ใจเมือง’ หรือศูนย์กลางของเมือง และต้นยางนาเป็น ‘เสื้อเมือง’ อันเป็นสถานที่รวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องเมือง แต่ก็มีอีกความเชื่อว่าเกิดจากยุคที่ชาวไทลื้อถูกกวาดต้อนเข้ามา ต้นยางถูกปลูกเพราะเป็นไม้สำคัญ เป็นขวัญกำลังใจของชาวไทลื้อ อีกฟังก์ชั่นของมันก็คือการทำหน้าที่บอกคนรุ่นหลังว่าผู้ที่เดินทางมาในอดีตก่อนหน้าได้มาถึงเชียงใหม่แล้ว

“นอกจากต้นยาง ยังมีต้นไม้อีกต้นที่มีความหมายใกล้กัน บริเวณประตูเชียงใหม่ฝั่งด้านนอกจะมีต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ออกลูกสีเหลืองอยู่ นั่นคือ ต้นไฮ (ต้นไทรกร่าง) ซึ่งเดิมเป็นต้นไม้สำคัญของคนไต (ไทใหญ่) ปลูกเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจชาวไตที่ถูกกวาดต้อนเข้ามา สร้างความรู้สึกว่าจิตวิญญาณจากบ้านเกิดเมืองนอนของเขาอยู่ที่นี่แล้ว นั่นคือความหมายของต้นไฮตรงประตูเชียงใหม่”

6. ไม้หมายถิ่น

ต้นไม้ยังถูกนำมาใช้ในการบอกลักษณะของพื้นที่นั้นๆ นี่คือความหมายของไม้หมายถิ่น

“คนเราจะเข้าใจว่าตัวเองอยู่ตรงไหนด้วยการสังเกต และการสังเกตนี่แหละทำให้เกิดการขนานนาม อย่างดอยสุเทพแต่ก่อนชื่อ ‘ดอยอ้อยช้าง’ เพราะมีต้นกุ้ก ไม้ขนาดกลางหักมาแล้วมีน้ำยางไหลคล้ายน้ำอ้อยเยอะ หลายคนจึงเรียกดอยสุเทพในอดีตด้วยชื่อนี้ ถัดจากดอยสุเทพคือดอยปุย ปุยเป็นชื่อของ ‘ต้นกระโดนบก’

“เชียงใหม่เราใช้ลักษณะทางภูมิประเทศบวกกับชื่อต้นไม้เรียกสถานที่หรือหมู่บ้านต่างๆ เช่น สัน ที่หมายถึงที่สูง สันปู่เลย นี่ไม่ได้หมายความว่าปู่ขับรถเลยนะครับ (หัวเราะ) แต่หมายถึงพื้นที่สูงและมี ‘ต้นไพล’ หรือ ‘ปูเลย’ ในภาษาถิ่นเยอะ อย่างสันป่าข่อย สันผักหวานก็เช่นกัน แต่ก็มีหลายชื่อที่คนลืมไปแล้ว เช่น บ้านเหมืองจี้ ซึ่งไม่ได้หมายถึงลำเหมือง (ทางน้ำขนาดเล็ก) ที่ไหลมาจี้ใกล้บ้าน แต่หมายถึง ‘ต้นเหมือดจี้’ หรือ ‘ต้นพลอง’ หรือ บ้านป่าห้า ที่ห้าหมายถึง ‘ต้นหว้า’ เมืองเชียงใหม่มีจำนวนหมู่บ้านราวๆ 2,066 หมู่บ้าน มี 481 หมู่บ้านที่มีชื่อเสียงเรียงนามเกี่ยวพันกับพืชพรรณ”

7. ต้นไม้ยอดฮิตของวัดเชียงใหม่

“พระพุทธเจ้าได้บอกว่าสิ่งที่ระลึกหาพระองค์มีอยู่ 3 อย่าง หนึ่ง พระธรรม สอง วิหารเจดีย์ สามคือต้นโพธิ์ พอต้นไม้ถูกยกย่องสูงขนาดนั้น ต้นโพธิ์เลยกระจายตัวหลายที่ในเชียงใหม่ โดยเฉพาะในวัด ต้นโพธิ์มีบทบาทมากหลังจากสุโขทัยเอาหน่อโพธิ์มาจากลังกาและขยายอิทธิพลมาที่เชียงใหม่ วัดในเขตเวียงเชียงใหม่ 42 วัด มีแค่ 9 วัดที่ไม่มีต้นโพธิ์ มี 2-3 วัดที่ปลูกต้นโพธิ์ไว้ตั้งแต่คราวสร้างเมือง หนึ่งในนั้นคือคนรู้จักกันดีอย่างวัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ เดิมชื่อว่า ‘วัดโพธิ์น้อย’ เพราะเดิมมันเคยเป็นต้นโพธิ์ที่ไม่ยอมโต”

ปัจจุบันต้นโพธิ์ต้นนี้อยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วงจากการก่อสร้างเพิ่มเติมภายในวัดที่ขาดความรู้ในการดูแลต้นไม้อย่างถูกวิธี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นโพธิ์นี้ต่อไปหากไม่มีการเข้าไปจัดการ

“ดอกพิกุลเป็นดอกไม้ที่พบบ่อยภายในวัด โดยปรากฏทั้งแบบเป็นต้นและเป็นลวดลายประดับภายในวัด ซึ่งดอกพิกุลเป็นดอกไม้ที่ว่ากันว่าเวลาพระอินทร์เดินทางไปไหนมันจะโปรยเอง ในความเชื่อจักรวาลคติเชื่อว่าโลกของเราเป็นทะเล มีทวีปลอยอยู่ตรงกลางซึ่งก็คือเขาพระสุเมรุ แล้วคนที่นั่งอยู่ชั้นบนสุดก็คือพระอินทร์ ตีนเขาเป็นป่าหิมพานต์ ในป่ามีถ้ำถ้ำหนึ่งหน้าถ้ำมีแผ่นหินคล้ายคูหา ทุกวันพระจะมีพระลงมาแสดงธรรม และวันนั้นพระอินทร์จะลงมา วัดเปรียบเสมือนพื้นที่ตรงนั้น เจดีย์คือเขาพระสุเมรุ วิหารก็คือพื้นที่แสดงธรรม วัดเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ตามตำนานจึงเชื่อว่าพระอินทร์จะลงมา ด้วยเหตุนี้ ภายในวัดเลยต้องมีดอกพิกุล

“การที่เราทราบข้อมูลเหล่านี้ เราจะสามารถปกป้องของบางอย่างที่สักวันหนึ่งมันอาจจะสูญหายไป เช่น ถ้าเรามีลายดอกพิกุลบนผนัง แล้วอยู่มาวันหนึ่งในวัดไม่เหลือต้นพิกุลเลย บนผนังจะกลายเป็นนิทานเลย นี่มันดอกอะไรก็ไม่รู้ ลูกหลานก็ได้แต่สงสัย สุดท้ายอาจกลายเป็นลายดอกที่คนผลิตขึ้นมาโดยไม่ทราบว่ามีที่มายังไง”

 

8. ผลที่อยากจะได้รับ

“อยากให้ต้นไม้เหล่านี้จะเข้าไปหยั่งรากลึกในหัวใจของคน คนจะรักต้นไม้เพราะเขาสามารถเชื่อมโยงได้แล้วว่า เขากับต้นไม้ต้นนั้นมีความเกี่ยวข้องกันยังไงบ้าง เมื่อเราฟื้นความสัมพันธ์ตรงนี้ได้ คนก็จะหันมารักและปกป้องต้นไม้เหล่านี้โดยอัตโนมัติ เพราะมันมีความหมายต่อเขา

“เมื่อพูดถึงการอนุรักษ์เมือง หรือการเป็นเมืองมรดกโลก คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นการแช่แข็งเมือง ปัจจุบันยูเนสโกเพิ่มความสำคัญในเรื่องของเวลาเข้ามาด้วย ยูเนสโกมองว่าเมืองผ่านกาลเวลา สิ่งที่แสดงออกถึงร่องรอยของเวลานั้นๆ ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ และเมื่อต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงก็ต้องยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงต่อไป เราเพียงเก็บหลักฐานของเวลาไว้”

ต่อให้ต้นไม้เหล่านั้นล้มลงหรือไม่ว่าวันข้างหน้ามันจะเป็นอย่างไร และเชียงใหม่จะได้เป็นเมืองมรดกโลกจากองค์กรยูเนสโกหรือไม่ สิ่งที่เขาหวังผลจริงๆ คือการปลูกเมล็ดพันธุ์ต้นไม้เหล่านี้ไว้ในใจของทุกผู้คนที่ได้ทราบเรื่องราวที่เขาพยายามดึงมันออกจากการเป็นสิ่งที่ผู้คนลืมเลือน

“การเปลี่ยนแปลงคือส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ เพียงแต่เราต้องไม่ลืมว่าอดีตของเราคืออะไร การเป็นเมืองมรดกโลกคือการที่เราเจอคนคนหนึ่งที่เราตั้งใจจะแต่งงานและอยู่ด้วยกันกับเขาไปนานๆ ดังนั้นเราต้องทำความรู้จักเขาให้มาก แสดงความรักต่อเขาเยอะๆ จนคนอื่นเห็นว่าคุณสองคนโคตรรักกัน นี่คือสิ่งที่ยูเนสโกใช้พิจารณาและมอบมรดกโลกให้ครับ”

AUTHOR