บทสนทนาว่าด้วยความหมกมุ่นใน ‘บทสนทนา’ ของเต๋อ นวพล

Highlights

  • second hand dialogue คือนิทรรศการลำดับที่ 2 ที่เต๋อ–นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ทำกับ BANGKOK CITYCITY GALLERY ครั้งที่แล้วคือนิทรรศการภาพถ่ายประกอบบทสนทนาสั้นๆ ครั้งนี้เต๋อก็ยังยึดคอนเซปต์ในการทำอะไรบางอย่างกับบทสนทนา ซึ่งก็คือ การฟัง
  • นิทรรศการแบ่งเป็นห้องอัดเสียงและห้องเยี่ยมชม เต๋อชวนให้ทุกคนมาบริจาคบทสนทนาผ่านการโทรหาใครก็ได้ 3 นาที จากนั้นจะถอดเทปเสียงนั้น และนำไปตีความเป็นงานอื่น เช่น บทหนัง การแสดง ไลฟ์กระจายเสียง
  • เต๋อเล่าให้ฟังว่าได้ไอเดียมาจากกระบวนการสร้างบทที่ทำเป็นประจำ หลายบทสนทนาของตัวละครในหนังของเขามาจากการฟังบทสนทนาที่ลอยในอากาศ เช่น หมอแม่งพังก์ว่ะ

second hand dialogue ก่อนคุยกับนวพล ฉันเพิ่งทะเลาะกับเพื่อนมา

คุณอาจงงว่าฉันเท้าความทำไม แต่ฉันแค่อยากจะยกตัวอย่างสถานการณ์ส่วนตัวที่คิดว่ามันน่าจะเคยเกิดกับหลายคน

ไม่กี่นาทีก่อนหน้านี้ ฉันผิดใจกับเพื่อนเพราะคำว่า ‘555’ ในแชตส่วนตัว

สาบานว่ามันเป็น ‘555’ ที่พิมพ์ไปโดยปราศจากพิษภัย เป็นแค่การหัวเราะในใจที่บันดาลให้พิมพ์ไปอย่างนั้น

แต่ด้วยอารมณ์ตอนอ่าน มุมมองของเพื่อนต่อฉัน หรือเหตุผลอันใดก็ไม่อาจทราบได้ เพื่อนคงตีความว่าเลข ‘555’ ของฉันมีอะไรซ่อนอยู่

‘มึงหัวเราะประชดปะ มันดูไม่จริงใจอะ’ เอ้า…

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าฉันจะโดนเพื่อนหาเรื่องเพราะ ‘555’ และฉันคิดว่าหลายคนคงเคยประสบปัญหานี้มาก่อน หลายครั้งที่ข้อความบนหน้าจอกวนใจเรา ไม่ใช่แค่ ‘555’ ที่ไร้เสียง แต่คือการที่คู่สนทนาทิ้งช่วงนานเกินไป การไม่เปิดแชตอ่าน หรือแม้กระทั่งการอ่านแล้วไม่ตอบ

นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่เป็นแรงบันดาลใจของ ‘second hand dialogue’ นิทรรศการใหม่ของ เต๋อ–นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่ชวนให้ทุกคนมาเห็นความสำคัญของการได้ยินเสียง ในกิจกรรมสนุกๆ อย่างการยกหูโทรศัพท์หาใครสักคน แล้วบริจาคบทสนทนานั้นให้เต๋อนำไปแปลงเป็นสื่อประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือ กราฟิกบนกำแพง กระจายเสียงสู่ชุมชน หรือแม้กระทั่งบทหนังในอนาคตของเขา!

พูดถึงนวพลก็ถึงเวลานัดพอดี ฉันจึงพักบทสนทนาของเพื่อนไว้ แล้วเริ่มบทสนทนาใหม่ระหว่างฉันกับนวพล

และเพื่อให้เข้ากับคอนเซปต์นิทรรศการของเขา ฉันพยายามถอดเทปออกมาอย่างซื่อตรงและให้เห็นภาพ (และเสียง) ที่สุด อย่างน้อยทุกคนก็สามารถจินตนาการได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง

นี่คือบทสนทนาที่ว่าด้วยบทสนทนา ขออภัยล่วงหน้าที่คุณอาจไม่ได้ยินเสียงเขา

เหนื่อยไหมวันนี้ รอบสื่อให้สัมภาษณ์เยอะเลย

พอไหวครับ (หัวเราะขึ้นจมูก)

 

สองปีที่แล้วคุณทำ i write you a lot ที่เป็นนิทรรศการภาพถ่ายประกอบบทสนทนาสั้นๆ แล้ว second hand dialogue มีไอเดียตั้งต้นจากไหน

เอ่อ… (ลากเสียงยาว) จริงๆ มันมาจากกระบวนการทำงานของเราโดยปกติ ในฐานะคนเขียนบทกับคนทำหนังอยู่แล้ว การทำหนังมันคือการเอาความจริงต่างๆ ในชีวิตเรามาประกอบสร้างให้เป็นหนัง รีมิกซ์ ดัดแปลง ทำซ้ำ ซึ่งมันก็จะเกิดจากทั้งการมองเห็นกับการฟัง ซึ่งตอน i write you a lot มันคือการมองเห็น แต่อันนี้คือการฟัง

ในชีวิตประจำวัน เราได้ฟังเสียงคนรอบๆ มากมาย ไม่ได้ไปเงี่ยหูเสือกฟังนะ (หัวเราะ) แต่ว่าบางทีมันก็ลอยมาเอง มันเป็นของที่มันลอยอยู่ในอากาศที่ได้เก็บมาใช้ แล้วหลายๆ ครั้งมันก็กลายเป็นบทสนทนาของตัวละครในหนังเรา

เราก็รู้สึกว่า เออ ไอ้การเก็บบทสนทนาต่างๆ เนี่ยมันสนุกดีนะ เป็นแอ็กชั่นที่ประหลาดดี ก็อยากลองทำให้เป็นทางการไปเลย แบบตั้งศูนย์รับบริจาคบทสนทนาทางโทรศัพท์ เอาสิ่งที่มันอยู่ในอากาศมาแปลงเป็นเทกซ์แล้วก็เอาไปตีความใหม่

 

ตีความอย่างไร

หลายรูปแบบ แต่เราคงไม่ถึงขั้นทำหนังขึ้นมาเรื่องหนึ่งหลังจากงานนี้จบ เพราะว่าถ้ามันจะไปอยู่ในหนังเดี๋ยวมันจะอยู่ในหนังจริงๆ อยู่แล้ว และเจ้าของเขาจะรู้เองว่านี่ของเขา (หัวเราะ) หลักการว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรจริงๆ เราค่อนข้างเปิดกว้างอยู่ เช่น เดี๋ยวจะมีกิจกรรมให้นักแสดงละครเวทีเขาเอาบทสนทนาที่ถอดเทปทั้งหมด ซึ่งอันนี้เราก็จะปล่อยเขา ไม่กำกับ เอาเลยครับ ลองตีความกันเอง

บทสนทนาส่วนใหญ่จะไปอยู่ในหนังสือกับการแสดง ส่วนกระจายเสียงจะมีสองแบบคือ live พูดตรงนี้ก็ออกเลย เจ้าของไม่รู้ กับอีกแบบหนึ่ง เราจะเอาคลังเสียงทั้งหมดมา loop แล้วก็ปล่อยให้คนที่เดินไปเดินมาฟัง เพราะเรารู้สึกว่าแถวนี้จริงๆ มันมีคนเดินอยู่ เราว่าสนุกดี ปกติประกาศควรจะเป็นเรื่องสำคัญถูกปะ แต่ว่าพอเราเปลี่ยนประกาศให้เป็นการประกาศเสียงโทรศัพท์ มันจะเกิดเซนส์ใหม่

i write you a lot ส่งผลยังไงกับการทำ second hand dialogue

การทำ i write you a lot, second hand dialogue หรือทำ art exhibition สำหรับเรามันคือการย้ายสื่อครั้งยิ่งใหญ่เหมือนกัน หมายถึงครั้งก่อน เราเห็นจะๆ เลยว่า อ๋อ นี่มันคือการเล่าเรื่องผ่านสเปซ ทิศทางการเสพงานของคนดูไม่สามารถถูก direct ได้เหมือนการสร้างภาพยนตร์ เขาจะดูอะไรก่อนเราก็ไม่รู้ เข้ามาในห้องเขาจะเดินไปซ้ายหรือขวา

งานที่เราทำมันค่อนข้างแบบ live interactive ด้วย หนังมันคือสิ่งที่สร้างเสร็จแล้วไปฉายเลย แต่อันนี้มันคือการตั้งไว้ เดาไม่ได้ว่าคนจะยังไงวะ คนแม่งจะยิ้ม จะสนุกไหม มันใหม่มาก ถามว่ารอบที่แล้วได้เรียนรู้อะไร ก็คือเรื่องพวกนี้แหละ

 

ครั้งนี้มันต่างออกไปอย่างไร

มันเป็นงานใหม่ กฎใหม่ คอนเซปต์ใหม่ มันใช้ความรู้จากครั้งที่แล้วได้แค่บางอย่าง อย่างรอบที่แล้วมันมีความเป็นคอนเซปต์ชวล ไม่ต้องมีการสร้างศูนย์อะไรขึ้นมา รอบนี้คือทุกอย่างมันเป็นของจริง รันได้ ทำงานได้ จริงๆ มันมีความเป็นหนังที่เป็นลำดับขั้นอยู่พอสมควร

คุณเคยพูดไว้ว่าการทำนิทรรศการให้ flow เหมือนการตัดต่อหนัง นิทรรศการ second hand dialogue คุณตัดต่อมันยังไง

คิดจากเราอยากสื่อสารอะไร เราเป็นคนดูเราเจออะไรก่อน คือเราเรียนรู้จากรอบที่แล้วว่าคนแม่งเดิน 360 องศามาก บางคนมางาน i write you a lot ไม่ได้มาดูงาน มาชาร์ตแบตอะไรแบบนี้ (หัวเราะเนือย) คือไม่ได้ว่าเขานะ (เสียงสูง) แต่แบบ อ๋อนี่ไง คนมันพลิกแพลงการใช้สเปซ เราก็ได้แต่แบบคิดสถานการณ์ว่า โอเค คนมา แล้วเขาจะไปไหนต่อ มันจะงงอะไร มันจะไม่งงอะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเรา แม้ว่าเราจะเดาพฤติกรรมคนเยอะแค่ไหน บางทีมันไปไกลกว่านั้นมากๆ

อย่างครั้งนี้จริงๆ ก็ถือว่ายากพอสมควรเพราะว่าเราโพสต์งานไป แม่งก็งง อธิบายทุกวัน แม่งก็งง (หลุดหัวเราะ) มันกึ่งแอ็บสแตรกท์ กึ่งไม่แอ็บสแตรกท์ มีความแบบ เอ๊ะ นี่เราทำอะไรกันว้า ไม่ใช่งานที่มาดูโฟโต้ครับ สวย ถ่ายรูปไป เอาไปคุยกับเพื่อน จบ อันนี้เหมือนมันต้องออกแรงนิดนึง อะมา คุณต้องเข้าห้องนี้ก่อน คุณเซ็น คุณเข้าห้องอัด คุณมาฟัง อะไรแบบนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าเราชอบงานที่สามารถมีส่วนร่วมได้ มันคือ experience ทางความรู้สึก เพราะฉะนั้น (ทำท่าคิดหนัก) สิ่งนี้แม่งอธิบายยาก ไม่รู้จะบอกว่านี่คืองานอีกชิ้น มาดูกันได้นะครับ หรือว่านี่คืองาน interactive คือต้องเล่น มันได้หลายอย่างมาก

ความท้าทายของ second hand dialogue คืออะไร

เราใช้เวลาสร้างนิทรรศการประมาณสามวัน เร็วมากเพราะมีทีมที่ชำนาญเรื่องโปรดักชั่นมาช่วย แต่ที่นานคือคุยเรื่อง system กับเรื่องกฎหมาย รอบนี้มันยากกว่าเดิม เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เรามาจากร่างกายเขา เอามาจากเสียงเขา ซึ่งสำหรับเรา เราคิดว่ามันคล้ายการบริจาคเลือดประมาณนึง บทสนทนาที่เกิดจากคุณมันมาจากประสบการณ์ชีวิต นิสัย หรืออะไรก็ตาม เรารู้สึกว่ามันเป็นของส่วนตัว

มันเลยต้องคุยว่าควรจะมีกฎอะไรบ้างที่จะทำให้ทุกคนสบายใจ และไม่ให้เกิดเหตุนองเลือด หรือว่าโทรไปแกล้งคน ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่จุดประสงค์ที่เราสร้างนิทรรศการนี้อยู่แล้ว เราแค่ต้องการแค่บทสนทนาธรรมดานี่แหละ แล้วคุณก็โทรไปหาคนที่คุณรู้จัก หรือว่าคนใกล้ตัวเลยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ฮา หรือเป็นบทสนทนาที่มีคำคมคุณภาพ

 

สำหรับคุณ การได้ยินเสียงมันสำคัญอย่างไรในยุคที่คนเทกซ์กันตลอดเวลา

เราคิดว่าปัญหาของเทกซ์คือมันไม่มีเสียงนี่แหละ มันตีความไปได้หลายๆ อย่าง และการตีความนั้นมักจะเป็นการตีความที่เราอยากได้ยิน สมมติเราเกลียดคุณ (หัวเราะ) คุณพิมพ์ยินดีเรื่องอะไรมา มันจะเป็นการยินดีที่น่าหมั่นไส้มาก มันมีโอกาสตีความผิดได้เยอะมาก แล้วคนเราแม่งทะเลาะกันเพราะอย่างนี้แหละ พิมพ์แบบนี้ มันโกรธกูแน่เลย คือเกิดจากจิตคนอ่านอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหาอะไรกัน เราไม่ชอบเทกซ์เลย จังหวะอ่านผิดคือผิดแล้วนะ จังหวะปรากฏผิดก็ผิดเหมือนกันนะ ส่งไปแม่งยังไม่ตอบ นานเกิน มันอาจจะยังพิมพ์ไม่เสร็จ แม่งพิมพ์ยาวมาก แล้วกว่าเทกซ์ต่อไปจะมาถึง ฝั่งนั้นอาจจะตีความผิดไปแล้ว แบบแม่งเงียบไป หรือแม่งต้องอย่างนี้แน่เลย มันมีการ lack ของเวลา มันผิดไปหมด

แต่ว่าถ้าโทรคุย บางประโยคเวลาฟังน้ำเสียงแล้วแม่งไม่น่าหงุดหงิด ก็จะเข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งนี่คือเสียงด้วยนะ บางเรื่องแม่งต้องเจอหน้ากันด้วยซ้ำ บางเรื่องตอนพูดหน้ามึงเป็นยังไงวะ แต่เทกซ์มันตัดทุกอย่างทิ้งหมดเลย เหลือแค่ข้อความที่พร้อมจะไปทิศทางไหนก็ได้ เรารู้สึกว่าคนทะเลาะกันเยอะขึ้นเพราะเทกซ์

ดูคุณเป็นคนให้ความสำคัญกับการได้ยินเสียงมากเลย

เราคิดว่าการคุยต่อหน้ามันก็น่าจะดีกว่าอยู่แล้ว เนี่ย เราเจอคนที่มาเล่น ส่วนใหญ่บอกว่าโทรศัพท์เป็นสิ่งที่หนูไม่ได้ทำมาตั้งนานแล้วค่ะ กับประเภทที่แบบโทรหาใครดีอะ งงอะ เราก็แบบ หื้ม แค่นี้เราก็ได้เรียนรู้แล้วนะว่าคน move ไปเทกซ์หมดเลยจริงๆ แต่เรายังเป็นพวกที่ถ้าเกิดจะคุยอะไรกันนาน ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนก็ได้ เราจะโทรศัพท์ เพราะว่าขี้เกียจพิมพ์ เหนื่อย (หัวเราะ)

คือการสื่อสารกับคนมันไม่ใช่แค่ใจความ มันจะมีเรื่องอารมณ์ แต่เทกซ์แบบนี้คุณจะอ่านแบบไหน มันก็ตีไปได้ทุกทางทั้งนั้นแหละ เฮ้ย (เสียงดัง) กับ เฮ่ย (เสียงอ่อย) แค่นี้มันก็คนละเรื่องกันแล้ว ไปไหนวะ (เสียงปกติ) กับ ไปไหนวะ (เสียงโหด) หรือ ไปไหนวะ (เสียงโหดกว่า) มันคนละอันกับ ไปไหน (เสียงเนือย) หรือ ไปไหนอ่า (เสียงหวาน) มันก็อีกแบบนึง

second hand dialogue

ในมุมของการเป็นผู้กำกับ ไดอะล็อกแบบไหนที่คุณชอบที่สุด

เราว่าไดอะล็อกที่ดีที่สุด คือไดอะล็อกที่ธรรมดาที่สุดครับ จริงๆ หนึ่งในกฎที่คนเขียนบทไม่ควรทำ คือเขียนคำคมนี่แหละ แม่งอันตรายสุดเลย เพราะคนเราปกติเวลาคุยกันมันไม่พูดคำคมอะ เวลามันคมมันคมเอง แล้วบางทีมันไม่ใช่จากคำนะ ไอ้ความคมมันไม่ใช่จากบท มันจะเป็นเรื่องการตอบโต้ระหว่างสองคน

เวลาเราจะทำสคริปต์ การให้ตัวละครพูดอะไรแจ๋วๆ มันไม่ยากเว้ย สำหรับเราเป็น process แรกด้วยซ้ำ โอเคคิดไว้ก่อนว่ามันควรจะพูดพอยต์นี้ที่มันคม แต่สุดท้าย เวลาเราไปทำจริงๆ เราต้องค่อยๆ ละลายมันจนเป็นบทสนทนาในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ประโยคที่ดีสำหรับเราคือประโยคที่ธรรมดามากๆ

 

ลองยกตัวอย่างประโยคธรรมดาที่คุณบังเอิญได้ยินมา แล้วมันไปกลายเป็นไดอะล็อกในหนังของคุณให้ฟังหน่อย

อย่างในฟรีแลนซ์จะมี ‘หมอแม่งพังก์ว่ะ’ เราได้ยินมาจากรุ่นพี่คนหนึ่ง ซึ่งเอาจริงๆ มันอาจไม่ได้ตรงกับความหมายคำว่าพังก์ก็ได้ แต่ฟีลลิ่งมันถูกต้อง ฟังแล้วมันตลกดี ได้ยินนานหลายปีจนมาถึง ฟรีแลนซ์ฯ ซึ่งมันเป็นซีนที่ต้องพูดว่าหมอแม่งแจ๋วว่ะ คำไหนดีวะ หมอแม่งคูลว่ะ มันก็อะไรไม่รู้ หมอแม่งดีว่ะ ก็ยังไม่ใช่ อยู่ดีๆ ก็นึกถึงคำนี้ หมอแม่งพังก์ว่ะ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าคนแม่งเข้าใจหรือไม่เข้าใจ (หัวเราะ) แต่เราว่าคนดูแม่งรู้ว่ามันแปลว่าอะไร เรารู้สึกว่าเซนส์อย่างเนี้ยแม่งสนุกดี

 

มีคำพูดไหนของคุณไหมที่ไปโผล่ในหนังคนอื่น

โอ้โห อันนี้ไม่รู้ว่ะ แต่ว่าไดอะล็อกเราไปอยู่ในหนังคนอื่นยาก เพราะว่าเอาจริงๆ ขนาดทำงานกับนักแสดง เวลาเขียนสคริปต์ส่วนใหญ่ คำจะเป็นของเรา พอนักแสดงพูดไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนตามที่เขาเป็น เพราะว่าคำบางคำ ประโยคบางประโยค เราพูดแล้วเป็นธรรมชาติ ถ้าคนอื่นพูดจะไม่เป็นธรรมชาติ

 

มีไดอะล็อกในหนังที่ชอบไหม

“You’re gonna miss that plane.” ใน Before Sunset เป็นไดอะล็อกสุดท้ายเลยมั้ง แต่เป็นประโยคธรรมดาที่ชอบ คือมันพูดอย่างอื่นก็ได้ แต่มันพูดอันนี้แล้วมีความรู้สึกว่ามันถูกต้อง

 

ไดอะล็อกที่คุณเขียนเองแล้วชอบที่สุดล่ะ

(เว้นช่วงไปนาน) มันธรรมดามากนะ แต่เราชอบไดอะล็อกใน Die Tomorrow ตอนท้ายซีนของซันนี่กับพลอย ตัวซันนี่กำลังจะไปต่างประเทศ แต่ว่าเขาจะเครื่องบินตก ประโยคสุดท้ายคือบอกว่า “เฮ้ย เดี๋ยวมา” แล้วตัวละครเหมือนจะไปหยิบของเฉยๆ แล้วซีนนั้นมันก็ผ่านเวลาไปเลย กลายเป็นว่า เดี๋ยวมา มันไม่มาแล้ว

สำหรับเราประโยคที่ดีมันไม่ใช่คำคมสวยงาม มันต้องเป็นคำธรรมดาที่มาจากตัวละครในสถานการณ์หนึ่ง แล้วคน get message ทองด้วยตัวเอง คน get message คมจากประโยคธรรมดาที่มาในจังหวะที่ถูกต้อง สำหรับเรา ไอ้พวกนั้นมันตรึงอยู่ในใจได้ยาวกว่าจริงๆ

second hand dialogue

 

มีไดอะล็อกไหนไหมที่เราได้ยินนานแล้ว แต่มันยังติดอยู่ในหัวคุณจนถึงทุกวันนี้

(เงียบไปนาน) อาจจะเป็น “โชคดีลูก” มั้ง แม่จะพูดกับเราตอนไปส่งเราที่สนามบินทุกครั้ง เข้าใจปะว่าบางที แม่เราเขาไม่ได้ช่วยเราในเชิงการสร้างสรรค์งานอะไร แต่เขาช่วยเป็นกำลังใจ หรือขอให้เราโชคดีเฉยๆ นี่คือสิ่งที่แม่เราสามารถทำให้เราได้ ขับรถมาส่งเราแล้วพูดสิ่งนี้ เป็นอะไรแค่นี้

 

ไดอะล็อกไหนที่คุณเคยพูดผิดพลาดในชีวิตจริง แต่เอาไปแก้ไขในหนัง

ส่วนใหญ่จะเป็นไม่เคยพูดเลย แล้วพูดในหนังมากกว่า

 

ยกตัวอย่างให้ฟังหน่อย

ไม่บอก (หัวเราะเสียงดัง) อันนี้เป็นแบบ hidden message เจ้าตัวรู้คนเดียว

 

ประโยคไหนที่ทำให้คุณมีความสุขที่สุด

อาจจะเป็นพวกแบบ “ขอบคุณที่ทำงานนี้ขึ้นมา” เพราะบางทีเรารู้สึกว่าหนังที่เราทำหรืองานที่เราทำ บางทีมันมาจากเรื่อง personal หรือเรื่องเล็กๆ เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำมันให้อะไรกับใครบ้างหรือเปล่า บางทีทำหนังเล็กๆ ก็เหงาเหมือนกันนะ แบบ ไอ้เชี่ยกูทำมันคนเดียวหรือเปล่าวะ แต่พอมันมีประโยคพวกนี้ขึ้นมา สำหรับคนที่สร้างงาน ไอ้คำพวกนี้แม่งโคตรมีพลัง แม้ว่ามันจะดูไม่ได้เป็นคำพิเศษอะไรมากมาย แต่บางทีก็ช่วยเรา ช่วยให้คนทำงานที่เล็กแบบเรามันทำต่อไปได้

 

เหงาที่สุดล่ะ

จริงๆ “ไม่รู้จะโทรหาใคร” ที่เจอล่าสุดนี่ก็เหงาเหมือนกันนะ มันแสดงให้เห็นว่าคนมัน disconnect กันมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นธรรมชาติ เรารู้สึกว่าคนเราเดี๋ยวนี้มันเหงาไม่รู้ตัวเยอะ เพราะสภาพแวดล้อมจากที่เราต้องคุยกันมันค่อยๆ เงียบไปเรื่อยๆ เหมือนเราเข้าสู่ยุคใหม่ที่คนจะมีฟีลลิ่งบางประเภทมากขึ้น อาจจะไม่ใช่แค่ depressed แต่จะมีอาการอะไรแปลกๆ อย่าง burn out syndrome หรือพวกอาการที่มัน mental เราว่าธรรมชาติของการติดต่อสื่อสารที่เปลี่ยนไปมันทำให้คนเป็นอะไรแบบนี้เยอะ เวลาจะคุยกับเพื่อนก็เทกซ์โดยธรรมชาติเลยนะ แต่ว่าบางทีลืมไปแล้วว่าโทรคุยแม่งดีกว่านิดนึง

second hand dialogue

เพราะฉะนั้น การได้ยินเสียงถือว่าเป็นการสื่อสารที่มีความหมายสำหรับคุณ

เรื่องนี้ก็เพิ่งรู้ตอนที่ทำงานนี้ ว่าแบบ เอ้า ไม่คุยกันแล้วเหรอ (หัวเราะ) งงเหมือนกันนะ เหมือนเราโต เราอยู่ในยุคโทรศัพท์ การที่ยังมีเซนส์ ยังมีฟีลลิ่งจากการยกหูหาใครสักคน แม่งมันยังมีความตื่นเต้นอยู่ ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นผลตกค้างมาจากยุค 90s หรือยุคก่อนหรือเปล่า จริงๆ งานนี้มันอาจจะมีที่มาจากยุคนั้นด้วยก็ได้

 

งานนี้กับงานก่อนหน้าของคุณ เรียกได้ว่าหมกมุ่นกับบทสนทนาหรือเปล่า

ไม่รู้จะเรียกว่าเราหมกมุ่นกับบทสนทนาหรือเปล่า แต่ว่าเรดาร์เราแรงเรื่องนี้มั้ง หรือมันอาจจะเป็นเพราะว่าเราเป็นคนเขียนบท ก่อนเขียนมันต้องเข้าใจก่อนว่า ตัวละครคิดอะไร รู้สึกอะไรบ้าง แล้วมันจะพูดว่าอะไร เพราะฉะนั้น every word counts. เหมือนด้วยตัวเนื้องานด้วยมั้งที่เราต้องครีเอตสิ่งพวกนี้ขึ้นมา แล้วหนังที่เราทำส่วนใหญ่มัน dialogue drives มันไม่ได้มีพล็อตอะไรมากมาย แต่มันพูดถึงว่าคนสองคนที่คิดไม่เหมือนกันแล้วต้องเจรจากัน หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการที่คนนี้พูดอย่างนี้ ส่วนใหญ่เหมือนเราเป็นแบบนั้น มันเลยธรรมชาติ

มีความจิตวิทยานิดนึง สมมติเราถาม เฮ้ย ตกลงนี่ชอบกันหรือเปล่า ถ้าคุณแบบ นิ่งไปสองวิฯ แสดงว่ามีอะไรบางอย่าง กับอีกคู่หนึ่งที่อาจจะไม่ได้คิดอะไร ถามเสร็จแม่งตอบเลยมึงจะบ้าเหรอ แต่ ‘มึงจะบ้าเหรอ’ อาจจะเป็นกลไกการป้องกันตัวของเขาก็ได้ เรารู้สึกว่าของพวกนี้สนุก นี่ก็อาจจะเป็นที่มาของงานนี้ และเป็นที่มาของ practice ปกติที่เราปฏิบัติในชีวิตประจำวัน แต่ก็ไม่ดีนะ หมายถึงสมมติเราฟังใครแล้วเราต้องสงสัยว่า ทำไมมันพูดอย่างนั้นวะอยู่ตลอด (หัวเราะ) แต่ข้อดีของมันคือการทำให้เราเข้าใจคนได้มากขึ้น

second hand dialogue

 

สุดท้ายละ อยากให้คุณฝากนิทรรศการนี้หน่อย

ฮัลโหลมาเถอะ ไม่ต้องถามแล้วแม่งคืออะไร มาเถอะ กูไม่รู้จะอธิบายยังไง (หัวเราะเอิ๊ก) / จบ.

second hand dialogue

หลังคุยกับนวพลเสร็จ ฉันเช็กมือถืออีกครั้ง แล้วก็ต้องตกใจกับข้อความนับสิบจากเพื่อนคนเดิมที่ส่งมาขอโทษขอโพยใหญ่ มันคงกลัวฉันน้อยใจเพราะเห็นว่าฉันเงียบไปนาน (ซึ่งอันที่จริงแล้วเราติดสัมภาษณ์อยู่ต่างหาก)

ถึงกับหลุดขำ เพราะข้อความที่เพื่อนส่งมามันช่างไพเราะ จริงใจ เลี่ยน และแสนจะเป็นห่วงเป็นใยความรู้สึก แต่ครั้งนี้ฉันจะไม่พิมพ์ตอบมันหรอก

ครั้งนี้ ฉันจะยกสายโทรหาเพื่อน

สัญญาณรอสายดังได้ไม่นาน แล้วก็มีเสียงกรอกออกมาอย่างหงอๆ ว่า “มึงโกรธกูเหรอ”

ฉันยิ้ม รู้สึกว่าการได้ยินเสียงกันมันช่างให้ความรู้สึกที่พิเศษเหลือเกิน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชย์ สุนทโรสถ์

ช่างภาพหน้าหมี ผู้ชอบเพลงแจ๊สเป็นชีวิตจิตใจ