‘i write you a lot’ งานแสดงภาพถ่ายประกอบบทสนทนาสั้นๆ ตามแบบฉบับเต๋อ-นวพล

เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ คือคนเขียนบท ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียน และนักอะไรต่อมิอะไรที่เราติดตามผลงานเขาอย่างใกล้ชิด พอรู้ล่วงหน้าว่าเขากำลังจะจัดนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกแสดงผลงานภาพถ่ายประกอบบทสนทนาสั้นๆ ที่คิดต่อยอดจากภาพนั้นๆ เราเลยอดตื่นเต้นไม่ได้ เพราะเชื่อว่าสายตาและฝีมือการจับภาพเหตุการณ์ปกติของนวพลไม่เคยธรรมดา ยิ่งงานนี้จัดร่วมกับ Bangkok Citycity Gallery ของ อ๊อป-อรรคพล สุทัศน์ ณ อยุธยา และ ลูกตาล-ศุภมาศ พะหุโล แกลเลอรี่สีขาวล้วนที่จัดงานสนุกทุกครั้ง

ขั้นตอนการคิดไอเดียและเบื้องหลังงานที่มากกว่าแค่พรินต์ภาพถ่ายมาติดตามผนังขาวๆ เป็นยังไง มาอ่านได้ตั้งแต่ย่อหน้าถัดไปนี้เลย

ฉาก 1

ศุภมาศ: “ปกติแกลเลอรี่ของเราจะวางแผนยาวว่าอยากทำงานกับใคร เต๋อนี่เราไปชวนตั้งแต่แกลเลอรี่ยังไม่เปิดเลยก็ไม่แน่ใจว่าจะไปเล่าอะไรให้เขาฟัง แต่ถ้าไม่ชวน เราก็จะไม่ได้เต๋อในช่วงเวลาที่เราอยากได้คือปีแรกของแกลเลอรี่ พอดีพี่อีกคนในทีมพอรู้จักเต๋อก็เลยให้ไปเกริ่นก่อน แต่ช่วงนั้นเต๋อก็ยุ่งมาก วันหนึ่งเต๋อต้องไปบรรยายที่ TCDC เราก็ไปขอนั่งฟังด้วยเพื่อจะได้ดักเจอเขาและชวนมาทำงานด้วยกัน”

นวพล: “ตอนแรกที่พี่เขาชวน เราไม่รู้มันจะเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า พี่เขารู้ใช่ไหมว่างานเราเป็นแบบไหน เพราะจริงๆ ตัวเรากับศิลปะห่างกันมาก แต่พอติดต่อมาอีกทีก็ดูจริงจังขึ้น ในแง่หนึ่งเราก็ดีใจเพราะไม่คิดว่าจะมีใครชวนมาทำงานศิลปะแนวนี้เลย”

ฉาก 2

นวพล: “ภาพถ่ายที่นำมาแสดงเป็นภาพสแน็ปผู้คนแบบ wide shot ในสถานที่อะไรสักแห่งที่แปลกประหลาดหน่อย ซึ่งเราถ่ายเก็บมา
4 – 5 ปี คือวัตถุดิบมีอยู่แล้ว เป็นงานอีกส่วนที่เราทำมาเรื่อยๆ จนมีจำนวนเยอะพอจะจัดแสดงได้ และเป็นอีกสื่อที่เราไม่เคยทำ ก็คิดว่างานนี้แหละเหมาะสุด เพราะอยู่ๆ จะให้ไปปั้นประติมากรรมก็คงไม่ใช่”

“ที่ทำผสมไปด้วยคือเขียนบทจากภาพถ่ายออกมาอีกที มันเริ่มจากเวลาเรากลับมาดูภาพ เราไม่รู้จักคนในภาพ เรื่องจริงเป็นยังไงก็ไม่รู้ แต่เราก็มีเรื่องราวที่คิดขึ้นมาเอง ยิ่งคิดก็ยิ่งสนุก เลยแต่งเป็นบทสนทนาสั้นๆ หน้าเดียวจบ เหมือน MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY แต่อันนี้กลับกันคือจากภาพเป็นข้อความ คิดว่าคนที่มาดูน่าจะสนุกดี ถ้าเขาดูภาพถ่ายแล้วมีเรื่องราวของตัวเองที่ไม่เหมือนกับที่เราเขียนด้วยก็ได้”

 

ฉาก 3

นวพล: “ภาพถ่ายที่เอามาแสดงมีทั้งหมด 3 เซ็ต เซ็ตแรกเป็นรูปที่เราเคยไปแสดงแล้วร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ ที่สิงคโปร์ เซ็ตที่สองคือซีนรวมภาพจากโตเกียว ซึ่งตอนนั้นเหมือนจะมีคนเห็นแค่ 200 คนเองมั้ง เลยคิดว่าเอามาแสดงด้วยดีกว่า เหมือนให้ดูว่าเราเคยทำอะไรมาบ้าง”

“ส่วนภาพเซ็ตใหม่เราก็คัดรูปที่ถ่ายมาจากหลายประเทศ พยายามเลือกรูปที่เราชอบและมองแล้วเราคิดเรื่องราวสนุกๆ ต่อจากมันได้มากน้อยแค่ไหน ตอนแรกคัดและเขียนมาแล้ว 28 รูป แต่ด้วยพื้นที่ห้องและวิธีจัดแสดงเป็นไลต์บ็อกซ์ทำให้สุดท้ายติดได้แค่ 19 รูป ตอนเขียนบทก็จะยากกว่าเซ็ตโตเกียว เพราะเราอยากให้ไม่มีคอนเซปต์กลาง แต่เป็นเหมือนคนมาดูหนังสั้น 19 เรื่อง ซึ่งสุดท้ายก็พยายามเขียนให้มันมีเรื่องราวประหลาดหน่อย ภาพที่คิดว่าคนจะเข้าใจแบบหนึ่ง เราก็เขียนให้เป็นอีกแบบหนึ่ง หักการรับรู้เดิมซึ่งเรื่องนั้นอาจจะไม่เกี่ยวกับภาพจริงเลยก็ได้”

ฉาก 4

นวพล: “ตอนมาดูสถานที่จริงก็เหมือนขั้นตอนบล็อกกิ้งเลย เราเริ่มอยากเล่นกับสเปซของแกลเลอรี่มากกว่าแค่แสดงภาพถ่ายเฉยๆ เลยคิดว่าจะเขียนเรื่องที่เกิดขึ้นในห้องจัดแสดงอีกทีหนึ่ง ฝั่งหนึ่งของกำแพงจะเป็นจอเชื่อมกับที่เราเขียนถึงคนที่เดินอยู่ในห้องจริงๆ แบบสดๆ แต่เราไม่บอกนะว่าจะเขียนถึงทุกคน เราอยากเขียนถึงอะไรก็ได้ที่เกิดขึ้นในห้องจัดแสดงมากกว่า ไม่รู้ด้วยว่าเราอยู่ที่ไหน กี่โมง วันไหนบ้าง เพราะไม่อยากให้นัดกันมา พอผ่านไปสัก 2-3 สัปดาห์ สิ่งที่เราเขียนก็จะพิมพ์ออกมาให้คนดูได้อ่านกันด้วยว่าวันหนึ่งๆ เราเขียนได้กี่หน้า นี่เป็นพฤติกรรมของคนเขียนบท คนทำหนังโดยปกติที่เราเห็นใครก็จะมโนต่อไปในเวอร์ชั่นตัวเองทั้งนั้น ซึ่งถ้าเลยไปหน่อย นี่คือธรรมชาติคนเราด้วย ทุกคนก็เขียนเรื่องของอีกคนขึ้นมาเองทั้งนั้น”

“ส่วนห้องเล็ก เรามายืนแล้วมองออกไปนอกหน้าต่างกระจก มันเหมือนจอหนังเลยนี่หว่า ก็คิดว่าเดี๋ยวเขียนเรื่องจากภาพข้างหน้าที่มีแต่ตึกกับต้นไม้นี้อีกที คราวนี้เขียนจากธรรมชาติข้างนอก แต่จะเป็นเสียงให้คนเอาหูฟังมาฟังเราอ่านบทอีกที ไม่รู้เหมือนกันว่าจะออกมาเป็นยังไง”

ฉาก 5

ศุภมาศ: “ตอนคุยกันเราไม่ได้คิดว่าเต๋อกำลังแสดงงานภาพถ่ายด้วยซ้ำ เราเรียกมันว่า text-based exhibition เพราะที่เราดึงเต๋อมาคือคนเขียนบท แต่สำหรับเราเต๋อเป็นศิลปิน และงานที่เต๋อทำเป็นศิลปะอยู่แล้ว ก็ไม่ได้บังคับอะไรเลยเพราะอยากให้เป็นงานของเขา
แค่เสนอว่าอยากให้เขาจัดกิจกรรมทั้ง 2 ห้องเลย เต๋อก็ไปคิดมา ทุกครั้งที่เจอกันเต๋อจะมาพร้อมไอเดียใหม่ที่ปรับให้เหมาะกับข้อจำกัดและพื้นที่มากขึ้น อย่างตอนแรกห้องเล็กนี้เขาคิดว่าต้องฉายโปรเจกเตอร์ไปที่กระจก เราจะต้องมีเครื่องโปรเจกเตอร์ใหญ่ขนาดไหนถึงจะสู้แสงอาทิตย์ได้ แต่ต่อมาเขาก็เปลี่ยนเป็นเสียงดีกว่า เราจะตกลงหาทางที่คิดว่าสนุกและใช้พื้นที่ได้ดีที่สุด”

นวพล: “เราไม่ใช่คนประเภทที่มีภาพในใจแล้วต้องเป๊ะๆ พี่ครับเอาอย่างนี้ แต่จะพัฒนาไปตามสถานที่ คิดแทนตัวเองเป็นคนดู มานั่งแล้วจะเห็นอะไร ไม่เห็นอะไร ระยะการดูต้องใช้พื้นที่แค่ไหน ภาพขนาดใหญ่พอรึเปล่า แสงแค่นี้อ่านข้อความเห็นไหม อย่างห้องจัดแสดงตอนแรกคิดว่าอยากให้มืดมากๆ แต่พอมีไลต์บ็อกซ์ 19 กล่องก็คิดว่าไม่ต้องมืดมากก็ได้ เวลาเสนอไอเดียอะไรก็จะพยายามถามพี่ๆ ว่าอย่างนี้สนุกไหม ไม่อยากให้คิดว่าศิลปะต้องซีเรียส เพราะนิทรรศการส่วนใหญ่ที่เราชอบและจำได้ก็เป็นอย่างนั้น”

 

ฉาก 6

ศุภมาศ: “ศิลปินส่วนใหญ่ที่เราชวนมาร่วมงานด้วยเขามักจะแคร์คนดูอยู่แล้วในตัวผลงาน คิดถึงการปะทะและการสื่อสารกับคนจำนวนมากตลอด เวลาดูงานเราเลยชอบคิดโฟลว์งาน เพราะโฟลว์ที่ดีจะทำให้งานสมบูรณ์ขึ้น ประสบการณ์ของคนดูทั้งหมดตั้งแต่เดินเข้ามาจนถึงเดินออกไปสำคัญ ยกตัวอย่างห้องเล็กที่จริงๆ ไม่มีสเต็ปยกขึ้นมา พอเต๋อนั่งก็บอกว่ามันไม่ได้ในสิ่งที่เขาเห็น เลยต้องยกพื้นขึ้นและสั่งทำเก้าอี้ในโรงหนังขึ้นมาใหม่ คิดแก้ปัญหาพฤติกรรมคนว่าถ้าคนนั่งอยู่แล้วมีคนเดินตัดหน้าเก้าอี้จะทำยังไง เราก็เลยย้ายทางขึ้นอีกฝั่งไว้ด้านหลังเพื่อให้คนเดินอ้อมหลังเก้าอี้ไป รายละเอียดพวกนี้ก็ต้องมาเคลียร์กันให้ดี”

นวพล: “การคิดโฟลว์ของนิทรรศการก็เหมือนตัดต่อหนังเลย จะให้คนดูดูอะไรก่อน หลอกให้เขาดูอะไร เขาควรเห็นอะไร แต่ในพื้นที่จริงของแกลเลอรี่เราควบคุมคนดูไม่ได้ แค่เดินเข้าห้องเล็กก่อนไปเข้าห้องใหญ่ หรือเดินดูภาพในห้องใหญ่ก่อนก็รู้สึกต่างกันแล้ว เดินวนดูภาพที่ 3 ใน 19 รูปก็เป็นอีกแบบ ถ้าเข้ามาในห้องแล้วเขาไม่นั่งจะทำยังไง เราควบคุมไม่ได้ว่าสุดท้ายใครจะได้อะไรจากมัน แต่อยากให้สนุกไปกับงานนี้ที่เรากำลังเล่าเรื่องที่สนใจอยู่ สนุกดีที่ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ เพราะคนที่ดูงานเรา เขาก็ควรได้ดูอะไรไม่เหมือนเดิมบ้าง ใครจะไปดู 36 ตลอดชีวิตล่ะ”

 

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์, ช่อไพลิน ไพรบึง และนวพลธำรงรัตนฤทธิ์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย

ช่อไพลิน ไพรบึง

ช่างภาพฝึกหัดแห่ง a team junior 12