เต๋อ นวพล ชวนจับตาความเคลื่อนไหววงการหนังช่วงสิ้นปี

ปลายทางของปี
2016
คือต้นทางของปี 2017
มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมเฝ้ามองและคิดว่าน่าจะเขียนถึงเพื่อเป็นการสรุป

 

1.
เกาหลีบุกมาสร้างหนังในไทย

 

เคสการเข้ามาเปิดบริษัทในไทยของ
CJ Entertainment ร่วมกับเครือเมเจอร์
ในการสร้างหนังเรื่อง 20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น นั้นค่อนข้างน่าสนใจมากทีเดียว
แม้ว่าตัวหนังอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้มากนัก
แต่แผนการขยายบริษัทของเกาหลีเพื่อเข้าสู่ภูมิภาคต่างๆ นั้นก็ยังดูเป็นสิ่งที่น่าจับตามองต่อไป
เพราะมันไม่ใช่แค่การส่งหนังมาฉายอีกต่อไปแล้ว
มันคือการเดินทางเข้ามาสร้างในนี้ไปเลย โชคดีที่ได้พูดคุยกับทางโปรดิวเซอร์เกาหลีของหนังเรื่องนี้
พวกเขามึนงงกับรายได้ที่เกิดขึ้นกับหนังอยู่ เพราะก่อนสร้างนั้นได้มีการรีเสิร์ชมาอย่างดี
พวกเขาเลยสงสัยเล็กน้อยว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะมันเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยมาก
ตั้งแต่รสนิยมการดูหนังของไทยและเกาหลีที่อาจไม่เหมือนกัน
ไปจนถึงช่วงเวลาที่ฉาย นี่ยังเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องศึกษาต่อไปเพื่อทำหนังเรื่องใหม่ในปีหน้า
แต่เอาจริงๆ แล้ว ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องหนึ่งแทบไม่มีใครคาดเดาได้ ไอ้ที่่ว่าจะได้แน่ๆ
ก็ไม่ได้กันมาหลายเรื่องแล้ว หรือไอ้ที่ว่าไม่น่ารอดก็ได้ร้อยล้านมาหลายรอบแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าโปรดักชันและงานสร้างของ 20 ใหม่ฯ นั้น ถือว่าอยู่ในระดับดีมาก เท่าที่ได้ฟังทีมงานพูดถึงระบบการทำงานของทีมเกาหลีก็พบว่า นี่มันระบบฮอลลีวูดมากๆ เป๊ะมากๆ เป็นระเบียบมากๆ
น่าดีใจที่เราจะมีภาพยนตร์จากอีกสตูดิโอหนึ่งมาช่วยเพิ่มความหลากหลายของวงการ

2.
หนังโรงเตรียมตัว
ซีรีส์กำลังมา

ผมมีโอกาสได้ดูซีรีส์ Black
Mirror
ที่ทาง
Netflix
เป็นคนผลิตเองเพื่อฉายในช่องตัวเองเท่านั้น
ที่ดูเพราะว่ามีคนบิลด์กันเยอะเหลือเกินว่า พี่เต๋อควรดูนะ บิลด์คนเดียวไม่ว่า
แม่งบิลด์กัน 10
คนพร้อมกัน
เลยคิดว่าต้องหาดูเสียหน่อย แน่นอนว่าเราเคยได้ยินมาสักพักใหญ่ว่าซีรีส์กำลังจะมาตีหนังโรง
ความฮิตของ Game of Thrones อาจจะไม่ใช่วงกว้างในประเทศเรา
แต่อย่างน้อยมันก็เป็นกระแสมากพอที่จะทำให้คิดถึงประเด็นนี้
ปกติแล้วผมไม่ค่อยได้ดูซีรีส์ เพราะว่ามันยาวหลายตอนกว่าจะดูจบ แต่พอได้ดู Black
Mirror
ซีรีส์ที่ว่าด้วยเทคโนโลยีและสังคมมนุษย์
ผมก็เริ่มคิดว่า เป็นไปได้มากที่อนาคตนั้นซีรีส์จะมาแย่งกลุ่มคนดูหนังโรงจริงๆ
ตัวซีรีส์นั้นแบ่งเป็นหลายตอน แต่ละตอนจบในตัวไม่ต่อกัน
ตอนหนึ่งยาวประมาณ 45 นาทีถึง 1 ชั่่วโมง
ในแต่ละตอนผมพบว่า ทุกตอนถ่ายทำในระบบภาพยนตร์ปกติ (จริงๆ ซีรีส์ของอเมริกาจะเป็นแบบนี้อยู่แล้ว
มันจะเหมือนดูหนังมาก) อีกอย่างคือ พล็อตเรื่องของแต่ละตอนนั้นแข็งแรงจนกลายเป็นหนังยาวในโรงปกติได้เลย
ยิ่งบางตอนที่ความยาวดันเกิน 1 ชั่วโมง
มันให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังดูหนังปกติอยู่จริงๆ ทำให้ผมคิดต่อไปว่า เป็นไปได้มากที่คนจะขี้เกียจออกจากบ้าน
ขี้เกียจจ่ายตังค์แพงๆ และหาความบันเทิงได้ภายในบ้าน จริงๆ
นี่คงเป็นโจทย์ที่ชาวหนังโรงต้องหาทางแก้ให้ได้ว่าจะทำให้หนังตัวเองแตกต่างจากซีรีส์พวกนี้ได้อย่างไร
ซึ่งก็เห็นๆ กันอยู่ว่าฮอลลีวู้ดพยายามพัฒนาระบบ
IMAX
3D อย่างมาก
พยายามทำหนังอภิมหาเอฟเฟกต์อย่างเยอะ
เพื่อให้ตัวเองแตกต่างจากหนังในจอเล็กเหล่านั้น
นี่อาจจะเป็นการปรับตัวกันอีกครั้งในโลกของภาพยนตร์

3.
นักแสดงเสียชีวิตแล้วกลับมาเล่นหนังได้

เรื่องท้ายปีที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ
การปรากฎตัวของนักแสดงรุ่นลุงคนหนึ่งในหนังเรื่อง Rogue One เขาเป็นตัวละครที่เคยปรากฏตัวในหนังชุด Star
Wars
ภาคแรก
ตัวจริงของเขาเสียชีวิตไปแล้ว แต่ในหนังเรื่อง Rogue
One
นั้น
เขากลับมาปรากฏตัวได้อีกครั้งด้วยความช่วยเหลือของทีม CG เรียกได้ว่ามีความตื่นตะลึงกันไปประมาณหนึ่ง สาเหตุหนึ่งคือความโคตรเนียนของซีจี
อีกสาเหตุคือประเด็นการยินยอมของตัวนักแสดง (ที่ตายไปแล้วในปี
1994)
เหมือนโดนจ้างมาเล่นโดยที่นักแสดงไม่ได้เซ็นรับเล่น ในเว็บไซต์ imdb ก็ไม่ได้ลงเครดิตนักแสดงใดๆ ไว้ เรียกว่าเป็นการเอาหน้าคุณลุงมาใช้เสียอย่างนั้นเลย จริงๆ แล้วโดยปกติการจะทำอะไรแบบนี้มักทำกันในกรณีของนักแสดงที่เสียชีวิตระหว่างถ่ายทำ
เช่น พอล วอล์กเกอร์ ใน Fast and Furious 7 หรืออาจจะใช้ลดอายุนักแสดง เช่น
แบรด พิตต์ ร่างหนุ่มใน The Curious Case of Benjamin Button แต่ในเคสของ
Rogue
One
นี้น่าจะพิเศษและน่าจะเป็นที่ถกเถียงกันในอนาคต
ต่อไปเราอาจจะจ้างใครมาเล่นก็ได้แล้วทำซีจีให้หน้าคล้ายนักแสดงสักคน การทำอย่างนี้เสียเงินเยอะ
แต่มันเป็นไปได้ ปัญหาทางข้อกฎหมายอาจต้องได้รับการทบทวนใหม่ในโลกภาพยนตร์
นี่ยังไม่นับการเริ่มต้นเข้าสู่โลก VR ของพวกเรา และโลกของเกมที่พยายามจะทำให้กราฟิกต่างๆ ดูคล้ายคนจริงๆ มากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าวันหนึ่งที่เราทำซีจีหน้าใครขึ้นมาก็ได้คงต้องมาถึง
ซึ่งวันนั้นคงมีประเด็นใหม่ๆ ให้ถกเถียงมากมาย

อนาคตนี่มันน่าตื่นเต้นจริงๆ,
สวัสดีปีใหม่

ภาพ inverse.com

AUTHOR