The Stanford Thailand Research Consortium : การทำวิจัยมาตรฐานโลกที่ค้นคว้าเรื่องไทยๆ ให้คนไทยก้าวไกลทันโลก

Highlights

  • The Stanford Thailand Research Consortium คือการรวมกลุ่มวิจัยล่าสุดที่เกิดจากการจับมือกันระหว่าง ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (Southeast Asia Center: SEAC) และสามยักษ์อย่าง AIS, AP และ KBank
  • การรวมกลุ่มครั้งนี้จึงเป็นเหมือนสื่อกลางที่อิมพอร์ตองค์ความรู้และกระบวนการทำวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเข้ามาไทย แต่มีการจำกัดขอบเขตการวิจัยให้อยู่ในบริบทของเมืองไทย เพื่อให้ได้งานวิจัยที่เข้าอกเข้าใจคนไทย
  • งานวิจัยที่จะทำในเมืองไทยนั้นครอบคลุม 4 ด้านด้วยกัน คือยกระดับความสามารถคนไทย, พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจไทย, สร้างเสริมคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ยั่งยืน และตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

เราคงเคยได้ยินคำว่า disruption กันมานับครั้งไม่ถ้วนในยุคที่ความเปลี่ยนแปลงถาโถมเข้ามาไม่ขาดสายเป็นรายวินาที คำถามใหญ่คืออะไรจะช่วยให้เราตั้งรับและเตรียมพร้อมสำหรับความท้าทายใหม่ๆ

บางคนอาจคาดหวังในการพัฒนามนุษย์ บางคนอาจเชื่อมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวล้ำ

แต่เอาเข้าจริงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุค disruption นั้นไม่มีคำตอบตายตัว เว้นเพียงคำตอบหนึ่งที่สามารถยืดหยุ่นเพื่อตอบรับได้ทุกโจทย์ นั่นคือการส่งเสริมการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัย

เพราะหากลองสังเกตสถานการณ์โลก จะเห็นว่าประเทศที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนั้น ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการทำวิจัยอย่างเจาะลึกเป็นจำนวนหลายหมื่นชิ้นต่อปี ซึ่งองค์ความรู้จากการวิจัยเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดเพื่อวิเคราะห์ถึงต้นตอของปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญ และจะนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ 

ข่าวดีคือตอนนี้ในเมืองไทยได้มีการรวมกลุ่มเพื่อทำวิจัยในนาม The Stanford Thailand Research Consortium ซึ่งไม่ได้เป็นการรวมกลุ่มเพื่อทำวิจัยช่วงสั้นๆ แบบวิ่งผลัด แต่เป็นโครงการวิจัยแบบมาราธอนที่ทำกันยาวถึง 5 ปี

การรวมกลุ่มในครั้งนี้มีทั้งศาสตราจารย์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จากหลากหลายสาขาวิชามาฝังตัวทำวิจัยแบบเจาะลึกในเมืองไทย เพื่อผลิตเป็นองค์ความรู้ไปยังองค์กรภาคีต่างๆ และตีพิมพ์สู่สาธารณะให้คนทั่วไปนำความรู้ไปใช้ได้อย่างฟรีๆ

โดยทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือของผู้บุกเบิกภาคเอกชนสามยักษ์ใหญ่ อย่าง AIS, AP และ KBank ที่ร่วมทุ่มงบประมาณกว่าร้อยล้านบาทเพื่อร่วมสนับสนุนงานวิจัย โดยมีศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (Southeast Asia Center: SEAC) เป็นผู้ดูแลและสนับสนุนโครงการวิจัยในไทย

 

ความรู้เป็นของทุกคน

The Stanford Thailand Research Consortium เป็นเหมือนสื่อกลางที่อิมพอร์ตองค์ความรู้และกระบวนการทำวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเข้ามาไทย แต่มีการจำกัดขอบเขตการวิจัยให้อยู่ในบริบทของเมืองไทย เพื่อให้ได้งานวิจัยที่เข้าอกเข้าใจคนไทย และเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างแท้จริง ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขได้อย่างตรงเป้า ทั้งเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ และการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับ AI 

อธิบายง่ายๆ คือ เมืองไทยจะได้คอนเทนต์งานวิจัยคุณภาพสูงจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ภายใต้การประสานงานของ SEAC ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงที่ช่วยตระเตรียมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบริบทสังคมไทย และเป็นตัวเชื่อมเพื่อสื่อสารกับคณะนักวิจัยว่าความท้าทายอะไรที่องค์กรในไทยกำลังเผชิญอยู่

โดยองค์กรต่างๆ สามารถหยิบองค์ความรู้จากการวิจัยไปใช้แก้ปัญหาได้เลย และในอนาคตข้อมูลเหล่านี้จะถูกเปิดสู่สาธารณะเพื่อให้คนทั่วไปได้รับประโยชน์ด้วย ถือเป็นการลงทุนแบบยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะภาคเอกชนก็ได้องค์ความรู้กลับไปพัฒนาบริษัทตัวเอง และภาคประชาชนก็ได้นำความรู้ไปต่อยอดในแบบของตัวเอง

เมื่อความรู้ไม่ได้ผูกขาดกับใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อนั้นคนทุกคนจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าพร้อมกันได้

 

งานวิจัยมาตรฐานโลก สู่การพัฒนาองค์กรไทย

จุดประสงค์ของศูนย์วิจัยแห่งนี้ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง–ยกระดับความสามารถคนไทยให้เท่าทันโลก สอง–นำเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจไทย สาม–เสริมสร้างมาตรฐานคุณภาพชีวิตของคนไทยให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน และ สี่–ส่งเสริมการพัฒนาสังคมเมืองที่คิดถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

อริญญา เถลิงศรี แม่ทัพใหญ่แห่ง SEAC กล่าวถึงเป้าหมายหลักของการริเริ่มรวมกลุ่มทำวิจัยครั้งนี้ว่า หัวใจคือโอกาสในการเพิ่มศักยภาพให้คนไทยจากงานวิจัยของทีมงานสแตนฟอร์ด “SEAC เล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำวิจัยโดยเฉพาะที่เป็นในระดับประเทศ เพราะจากข้อมูลสถิติทั่วโลกพบว่าประเทศที่ยิ่งลงทุนและให้ความสำคัญเรื่องการทำวิจัยมากเท่าไหร่ จะส่งผลให้อัตรา GDP สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ SEAC จึงผลักดันให้เกิด The Stanford Thailand Research Consortium ขึ้นมาในประเทศไทย เพราะเราอยากผลักดันการทำวิจัยทั้งในส่วนที่เป็นการพัฒนาความสามารถขององค์กร เพิ่มศักยภาพของคนไทยและประเทศไทยในระยะยาว เพื่อให้ประเทศเติบโตอย่างก้าวไกลและยั่งยืน”

ภารกิจหลักของ SEAC จึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างองค์กรต่างๆ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เพื่อผลิตงานวิจัยที่ตอบโจทย์องค์กรภาคเอกชนและประเทศไทยในภาพรวม

ส่วน พอล มาร์คา หัวเรือใหญ่แห่ง Stanford Center for Professional Development (SCPD) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ดูแลโครงการวิจัยต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ร่มของ SCPD กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเล็งเห็นการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก จึงร่วมมือกับ SEAC จัดตั้ง The Stanford Thailand Research Consortium ซึ่งเป็นการผนึกกำลังขององค์กรชั้นนำของประเทศไทยเข้าด้วยกัน โดยองค์กรเหล่านี้มีอุดมการณ์และความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะผลักดันประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและก้าวหน้าไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยความเฉลียวฉลาด” 

พอลอธิบายว่า เมื่อโครงการ The Stanford Thailand Research Consortium สำเร็จแล้ว จะนำข้อสรุปและผลสำเร็จของงานวิจัยมาต่อยอดในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของประเทศไทย โดยจะฟื้นฟูและผลักดันศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และนำองค์ความรู้ต่างๆ มาต่อยอดอย่างสร้างสรรค์เพื่อก้าวข้ามขีดความสามารถขององค์กรไทยและสังคมไทย

 

ปลายน้ำงานวิจัยที่ไหลคืนสู่สังคม

ตอนนี้โครงการ The Stanford Thailand Research Consortium มีการทำวิจัยในประเทศไทยไปบางส่วนแล้ว แม้เป้าหมายส่วนหนึ่งจะเป็นการนำผลวิจัยมาแก้ปัญหาภายในองค์กร แต่ผลลัพธ์หลังจากนั้นคือการแชร์สู่สาธารณะเพื่อให้คนไทยได้รับประโยชน์ร่วมกัน

ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)  ได้ยกตัวอย่างโครงการ ‘รักษ์ป่าน่าน’ ที่ทำร่วมกับ The Stanford Thailand Research Consortium ว่าหากดูแลป่าน่านซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาได้ คนไทยจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ

“สำหรับโครงการรักษ์ป่าน่าน เรามองว่าการแก้ปัญหาเรื่องป่า ไม่ใช่แค่เรื่องป่าไม้ แต่เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และแรงงานในท้องถิ่นด้วย เรากับทีมวิจัยจากสแตนฟอร์ดจึงร่วมมือกันเพราะอยากแก้ปัญหาป่าน่านให้สำเร็จ เพราะในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นเส้นเลือดหลักของประเทศไทยมีน้ำจากแม่น้ำน่านถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ถ้าป่าน่านถูกทำลาย แม่น้ำเจ้าพระยาก็จะกระทบไปด้วย

“เราจึงให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยเพื่อจะสร้างความตระหนักสู่วงกว้างเกี่ยวกับเรื่องป่าไม้ เพื่อปฏิรูปและหาวิธีแก้ปัญหารากฐานของความถดถอยของทรัพยากรธรรมชาติของประเทศอย่างยั่งยืน และในอนาคตจะเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาในจังหวัดอื่นๆ ด้วย”

ส่วนทางบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS มี กานติมา เลอเลิศยุติธรรม แม่ทัพด้านทรัพยากรบุคคล กล่าวว่า การร่วมมือทำวิจัยในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การต้านกระแส disruption ที่กำลังลามไปทั่วทุกวงการ แต่คือการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้ปรับตัวทันกระแสโลกยุคดิจิทัลด้วย

“สิ่งสำคัญคือผลการวิจัยที่ออกมา จะเตรียมพร้อมให้คนไทยมีความเข้าใจ ตื่นตัว และพร้อมนำองค์ความรู้ใหม่ๆ ไปคิดค้นต่อยอดทำสิ่งใหม่ๆ โดยมีพื้นฐานจากความคิดสร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพื่อก่อเกิดเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในวงกว้าง และช่วยผลักดันให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นในเมืองไทย จะได้ร่วมกันขับเคลื่อนเมืองไทยไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

“ซึ่งการเข้าร่วมศึกษาวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกอย่างมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ SEAC ในครั้งนี้ จึงถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยยกระดับองค์ความรู้ของคนไทยได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป”

อนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นมากมาย ‘คุณภาพของคน’ คือประเด็นสำคัญที่โลกธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ ดังนั้น AP จึงมองว่าการยกระดับความสามารถของคนไทยให้เท่าทันโลกควรเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ The Stanford Thailand Research Consortium หยิบขึ้นมาทำการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเจาะลึกอย่างเต็มรูปแบบ

“ผมเชื่อมั่นว่าด้วยการจัดตั้ง The Stanford Thailand Research Consortium ในครั้งนี้ ไทยจะได้รับองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์  ทั้งจากศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญระดับโลกของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งงานวิจัยต่างๆ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาศักยภาพคนไทย ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นำประเทศก้าวเดินไปสู่มาตรฐานใหม่  ให้เท่าทันกับบริบทของโลกธุรกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องการเพิ่มศักยภาพของคนในประเทศ เราจะมีการวิจัยเรื่องการ upskill และ reskill สำหรับคนไทยด้วย”

The Stanford Thailand Research Consortium จะช่วยให้ประเทศไทยมีองค์ความรู้ที่จำเป็นในการแก้ปัญหาส่วนรวมและผลักให้ประเทศเคลื่อนตัวไปข้างหน้า โดยที่ทุกองค์กรที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้เห็นตรงกันว่า การจะทำเช่นนี้ได้ ทุกคนต้องร่วมมือกัน ดังเช่นที่โครงการนี้ได้ทำเป็นตัวอย่างแล้ว

แม้ตอนนี้องค์กรจะยังมีงานวิจัยออกมาไม่มาก แต่เราก็ตั้งตารอด้วยความเชื่อมั่นว่า นับจากนี้เราจะได้องค์ความรู้ดีๆ มาใช้เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศแน่นอน

AUTHOR

ILLUSTRATOR

banana blah blah

นักวาดภาพประกอบ ที่ชอบกินอาหารสุกๆดิบๆ เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนชีวิตนั้นก็สุกๆดิบๆไม่ต่างกัน