Mahidol Channel : สื่อมหาวิทยาลัยมาแรงที่หยิบความรู้และงานวิจัยยากๆ มาย่อยให้เราเสพแบบง่ายๆ

คงไม่แปลกถ้าเราจะเห็นมหาวิทยาลัยผลิตสื่อของตัวเองขึ้นมา แต่ในความรู้สึกแรก หลายคนคงคิดว่าสื่อมหาลัย ‘น่าเบื่อ’ และจำกัดอยู่แค่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น

ท่ามกลางความเข้าใจเช่นนี้ Mahidol Channel ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงและพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าความรู้ไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อเสมอไป และความรู้บนหิ้งก็สามารถนำมาทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้

กว่า 5 ปีแล้วที่ Mahidol Channel เริ่มต้นถ่ายทอดความรู้จากมหาวิทยาลัยมหิดลทั้งช่องทางโทรทัศน์ ยูทูบและเพจเฟซบุ๊ก เอกลักษณ์ด้าน Edutainment (คำที่รวมเอา Education กับ Entertainment เข้าด้วยกัน) นำมาสู่การผลิตรายการป้อนสู่โลกออนไลน์ที่มีทั้งสาระ ความบันเทิงและประโยชน์ต่อผู้ชมทุกคน

เราได้มีโอกาสคุยกับผู้อยู่เบื้องหลังของสื่อการศึกษาที่กำลังมาแรงได้รับความนิยมนี้ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์แบงค์-ดร. วิริยะ เตชะรุ่งโรจน์ และ แมว-วีรณา โอฬารรักษ์ธรรม ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท ทีซีบีเอ็น จำกัด 2 ฟันเฟืองใหญ่ที่ขับเคลื่อน Mahidol Channel พวกเขาจะมาย้อนเล่าถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของสื่อการศึกษาที่มีผู้ติดตามบนยูทูปกว่า 280,000 คน และยอดชมกว่า 75 ล้านครั้ง รวมถึงเพจเฟซบุ๊กที่มียอดไลค์กว่า 310,000 ไลค์

เมื่อความรู้ไม่ได้อยู่แค่บนหิ้ง

อาจารย์แบงค์: มหาวิทยาลัยเริ่มทำ Mahidol Channel เมื่อ 5 ปีก่อน แรกเริ่มเกิดจากอธิการบดีท่านก่อน ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน ท่านมาจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่นั่นมี RAMA CHANNEL เป็นช่องทางถ่ายทอดความรู้เชิงการแพทย์แก่คนที่สนใจ ท่านคิดว่าน่าจะดีที่จะเอาโมเดลนั้นมาปรับใช้ในภาคส่วนที่ใหญ่ขึ้น โดยนำความรู้ทุกแหล่งของมหาวิทยาลัยสื่อสารออกไปถึงคนข้างนอกให้เข้าใจ

ปกติองค์ความรู้เหล่านี้มักมาจากนักวิจัย สิ่งที่นักวิจัยสื่อสารออกมาคืองานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ แต่วารสารเหล่านี้เหมาะกับคนสายตรงเท่านั้น โอกาสที่คนทั่วไปจะได้อ่านอย่างเข้าใจมีน้อย ผมมองว่า Mahidol Channel คือการเปลี่ยนระบบเหล่านี้ แทนที่จะตีพิมพ์เป็นงานวิจัยอย่างเดียว แต่เราเปลี่ยนรูปแบบจากการศึกษาเชิงวิชาการล้วนๆ ให้เป็นการศึกษาเพื่อคนทั่วไปมากขึ้น

แมว: ก่อนหน้านี้เราทำ thaiteachers.tv มาก่อน ได้งบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็งมาทำสื่อการศึกษาของครูทั่วประเทศ ทำได้ 2 – 3 ปี จนเป็นโปรไฟล์ว่าเราถนัดเรื่องสื่อการศึกษาซึ่งมีอยู่น้อยมากในวงการสื่อบ้านเรา

วันหนึ่ง ศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองอธิการบดีขณะนั้น โทรหาเราเพื่อชวนมาทำ Mahidol Channel ตอนนั้นเราถามอาจารย์ไป 2 คำถาม คือทำไมมหิดลถึงอยากทำสื่อแนวนี้ และทำให้ใครดู อาจารย์ตอบกลับมาว่ามหาวิทยาลัยมหิดลเป็นปัญญาของแผ่นดิน เราอยากทำหน้าที่นำองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วออกไปนอกรั้วมหาวิทยาลัย ส่วนคำถามที่สอง อาจารย์บอกว่าทำให้ประชาชนทั่วไปดู ทั้งสองคำตอบนี้เราชอบมาก เพราะอาจารย์ไม่ได้ทำให้เฉพาะนักศึกษาดู ไม่ได้มีเจตนาที่จะโปรโมตมหาวิทยาลัย แต่ทำเพื่อส่งต่อความรู้ให้คนทั่วไปจริงๆ รวมถึงที่อาจารย์รัชตะบอกในวันเปิดตัว Mahidol Channel ว่าส่วนใหญ่งานวิจัยของมหิดล ทำเสร็จแล้วก็แขวนไว้ ไม่มีใครเอามาเล่าเรื่องให้น่าสนใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ Mahidol Channel จะทำให้งานเหล่านั้นไม่อยู่บนหิ้งอีกต่อไป สื่อนี้จะนำข้อมูลมากรองให้เข้าใจง่าย น่าสนใจและน่าติดตามมากขึ้น เราจึงตอบตกลงและร่วมพัฒนาไปกับเขา”

คลังความรู้ที่ไม่มีวันหมด

อาจารย์แบงค์: มหาวิทยาลัยมหิดลมียุทธศาสตร์หลายด้าน ทั้งการวิจัย การศึกษา การบริหารจัดการและการบริการสังคม สำหรับ Mahidol Channel เกิดขึ้นเพื่อบริการสังคมด้านการให้ความรู้ พาบุคลากรที่มีความสามารถของมหาวิทยาลัยให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น เชื่อมคนที่อยู่ไกลมาอยู่ใกล้ความรู้เหล่านี้

เรามีเป้าหมายอยู่แล้วว่าอยากเอาความรู้เหล่านี้ส่งต่อให้คนดู ให้เกิดผลกระทบที่ดี แม้เนื้อหาของเราผ่านมา 5 ปีก็ยังคงร่วมสมัยอยู่ เราจึงแบ่งกลุ่มผู้ชมเป็นช่วงอายุแล้วนำเนื้อหาที่มีหลากหลายมานำเสนอให้ตรงกับผู้ชม เราพยายามมองให้เป็นการเรียนรู้ระยะยาว พยายามให้ความรู้แก่ทุกช่วงวัย เช่น เด็กชอบรายการสัตว์ เราเลยมี Animals Speak, จิ๋วซ่าส์ นักประดิษฐ์ หรือ ฟิสิกส์สนุก พอวัยรุ่นเรามีรายการ Hipstyle เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของเขา ส่วนวัยทำงานก็จะเน้นสุขภาพมากขึ้น มองให้ครบทุกช่วง แต่เหนืออื่นใดคือเราขีดเส้นชัดเจนว่าเราเป็นใคร เนื้อหาเรามีสาระ กินง่ายแต่ไม่ตลกโดยเอาแค่บันเทิงอย่างเดียว

แมว: มหิดลมีองค์ความรู้เหล่านี้เยอะมากและเราเชื่อมั่นในเนื้อหาที่ครอบคลุมแง่มุมชีวิตต่างๆ จากการทำมา 4 – 5 ปี เนื้อหามีไม่อั้นเลย ซึ่งเราคิดว่าแต่ละข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือและเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ทั้งนั้น เช่น การสอนตรวจโรคต่างๆ ด้วยตนเอง การกินยาให้ถูกวิธี หรือแม้แต่การออกกำลังกายเพื่อสร้างซิกส์แพ็ก

ความรู้ในสื่อที่ก้าวไปตามจังหวะสังคม

อาจารย์แบงค์: สังคมกำลังเข้าสู่ยุค Video First Mahidol Channel เลยพยายามทำให้การศึกษาเข้าสู่รูปแบบวิดีโอและโทรศัพท์มากขึ้น การเข้าสู่สื่อออนไลน์คุ้มค่ามากกว่าเพราะสร้างผลกระทบได้พอๆ กับสื่อเก่าแต่ค่าใช้จ่ายต่ำลง เข้าถึงคนได้มากกว่า เราต้องพัฒนาไปตามสังคมปัจจุบัน ไปให้ถูกทาง ต้องปรับเปลี่ยนให้เร็วในทุกสถานะ

แมว: เทียบกับมหาวิทยาลัยในไทยทั้งหมด เรากล้าพูดว่ามหิดลเป็นผู้บุกเบิก และเป็น Edutainment Media ที่เติบโตเร็วที่สุดในไทย ปีแรกเรามียอดเข้าชมรวมประมาณล้านกว่าวิว ปีที่สองเป็น 13 ล้าน ปีที่สามเพิ่มเกือบ 30 ล้าน ตอนนี้เพิ่มเดือนละ 2 – 3 ล้านวิว ส่วนเฟสบุ๊กใน 3 เดือนนี้มียอดวิวกว่า 10 ล้าน เรื่องการเติบโตนี้ไม่ใช่เราเป็นคนพูด แต่เป็นคนจาก Google ที่สิงคโปร์ เขาจับตาดูและติดต่อเรามาเพราะเขาเห็นว่าเราเติบโตเร็วมากๆ เขามาคุยเรื่องการเป็น Official Partner ร่วมกันเพื่อวางแผนกลยุทธ์ทั้งทำเนื้อหาบางส่วนเป็นภาษาอังกฤษ ทำรายการให้สั้นลงเพราะพฤติกรรมคนเสพเปลี่ยนไป ตั้ง thumbnail มีชื่อดึงดูดให้คนอยากชม หรือช่วยเราเรื่อง SEO ให้ค้นหาแล้วเจอเราง่ายขึ้น โดยรวมแล้วถือว่าเราพัฒนาขึ้นกว่าเดิมมากนะ

ขบคิดระหว่างคุณภาพและปริมาณ

อาจารย์แบงค์: ถึงเราจะทำสื่อแต่ต้องเข้าใจว่าเอาแค่ยอดวิวอย่างเดียวไม่ได้ อย่างยอดรวมคนดูปัจจุบันประมาณ 96 ล้านวิว ปีนี้เราตั้งเป้าให้ไปถึง 130 ล้านวิว ซึ่งเนื้อหาที่นำเสนอยังต้องเป็นเนื้อหาที่เราอยากสื่อสารออกไปจริงๆ ถ้าเราจะบังคับให้ถึง 130 ล้านมันไม่ยากหรอก บูสต์โพสต์ก็ได้ แต่เราไม่ทำ ทั้งหมดตอนนี้เป็นออร์แกนิกล้วนๆ เน้นเนื้อหาที่คนดูแชร์จริงๆ โชคดีที่เราไม่ใช่บริษัทเอกชนที่ทุกอย่างต้องสู้กันด้วยยอดวิว ไม่ต้องนำยอดไปขายโฆษณา โอเค เราอยากได้ความนิยมเพื่อสื่อสารออกไป แต่สุดท้ายเราต้องให้ความรู้และไม่บันเทิงจนเกินไป และต้องบาลานซ์ให้ดีระหว่างคุณภาพและปริมาณ

ส่วนการสื่อสารกับทีมโปรดักชัน สิ่งที่เราให้ทีมนั้นคือนโยบายและทิศทางในแต่ละปี ปีล่าสุดเราเน้นแคมเปญเพื่อส่งผลกระทบต่อสังคมมากขึ้น เรามี 4 แคมเปญ เรื่องแรกคือ ‘มะเร็งรู้เร็วหายได้’ ต่อมาเป็นเรื่องอาหาร ผู้สูงอายุ และสิ่งแวดล้อม ในขั้นตอนการทำงาน ทั้งฝ่ายโปรดักชันและเราต้องจูนข้อมูลและวิธีนำเสนอร่วมกัน ประชุมกันเดือนหนึ่งมากกว่าหนึ่งครั้ง อัพเดตผลงานว่าออกมาเป็นยังไงแล้วดูว่าอะไรดีอะไรไม่ดี

 

แมว: เรามองคอนเทนต์เป็นคอนเทนต์ ไม่ได้มองเป็นรายการทีวี พอมองแบบนี้จะเห็นจุดมากมายในรายละเอียด จะรู้ว่าน่าเอาอะไรออกมาเล่น ถ้าเนื้อหาดี เล่าเรื่องได้ดี กระแสจะดีเอง เราไม่ต้องการเอาเปลือกมาหุ้มแล้วบอกคนอื่นว่าสิ่งนี้ดี ถือเป็นความโชคดีที่เราไม่ได้ทำโปรเจกต์ที่วัดกันที่ปริมาณ แต่วัดที่คุณภาพ พูดง่ายๆ คือแง่การตลาด เราทำเรื่องของ Mass Communication คือทำให้ดีและทำให้ดังเท่านั้น ไม่ได้ทำเรื่องการขาย แต่ละรายการถูกสร้างเพื่อตอบโจทย์บางเรื่อง เช่น รายการนี้ทำเพื่อยอดวิว รายการนี้ทำเพื่อสร้าง Brand Awareness หรือรายการนี้สร้างเพื่อความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ต้องมียอดวิวหวือหวา ขอแค่เวลาที่นึกถึงเรื่องนี้แล้วเสิร์ชเจอก็พอ

การส่งต่อความรู้ (สึก) ที่ยากให้โดนใจคนเสพ

แมว: วิธีที่เราทำให้เนื้อหาส่งถึงคนทั่วไป คือคิดแบบคนทั่วไปก่อน จงเป็นคนดูคนที่หนึ่ง อย่าเป็นโปรดิวเซอร์ อย่าเป็นผู้รับจ้างของมหิดล ฉะนั้นเวลาคุยกับหมอหรือนักวิชาการแล้วไม่รู้เรื่อง เราจะถามจนกว่าจะรู้เรื่องและหาจุดดราม่าในนั้นและต้องเป็นดราม่าที่จริง ถ้าเอาเรื่องวิชาการเป็นตัวตั้ง คนดูจะเสพเนื้อหาที่ปราศจากอารมณ์ซึ่งไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมคนเวลาเสพสื่อ เราจึงให้คนดูเสพอารมณ์เพื่อไปสู่เนื้อหายกตัวอย่างรายการ Change ที่นำเสนองานวิจัยของมหิดล เราคุยกันในทีมว่ามี 3 องค์ประกอบ หนึ่งคืองานวิจัย สองคืออาจารย์ที่วิจัย เขามีแรงบันดาลใจหรือการทำงานหนักอะไรที่พาเขามาถึงจุดนี้ สามคือคนที่ใช้นวัตกรรมของเขา ดราม่ามีอยู่ 2 จุดคือแรงบันดาลใจของอาจารย์ อะไรที่มากระทบจิตใจเขาให้ทำนวัตกรรมนี้ขึ้นมา แต่จุดที่ดราม่ากว่าคือคนที่ใช้นวัตกรรม ดังนั้น เราจึงหาคนมาใช้จริงในรายการเพราะเราต้องการโมเมนต์ที่คนได้ลองใช้ เราเสพดราม่าจากตรงนั้นแล้วค่อยนำมาสู่เนื้อหาว่านวัตกรรมมีคุณค่าแบบนี้นี่เอง

องค์ประกอบอื่นๆ ก็ช่วยอย่างวิธีเล่าเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเล่าจาก 1 ไป 10 เราเอา 8 ขึ้นเลยได้ บางตอนถ้าทำได้ เราจะทำเหมือนพล็อตละคร ถามตัวเองว่าไฮไลต์อยู่ไหน เอาขึ้นก่อนเลยได้มั้ย เพราะเดี๋ยวนี้คนดูแค่ 2 นาทีก็เบื่อแล้ว ส่วนอื่นก็เป็นเรื่องที่มาประกอบกันเพื่อให้เข้าใจง่าย เช่น กราฟิก ยกตัวอย่างเรื่องเม็ดเลือดขาวกับมะเร็งที่ต่อสู้กัน ถ้ามายืนพูดเฉยๆ อาจจะไม่ช่วยในการจดจำ แต่ถ้าวาดเป็นกราฟิกก็จะเข้าใจง่ายมากขึ้น ใน Mahidol Channel เราใช้กราฟิกและภาพประกอบเยอะเพื่อเสริมความเข้าใจ

หลังจากตัดต่อเสร็จจะมีขั้นตอนการตรวจสอบ หนึ่งคือจากตัวเราเอง สองคือจากอาจารย์มหิดลที่มี 2 ส่วนย่อย คือ Commissioner เป็นคณะกรรมการของ Mahidol Channel แล้วถึงเป็นอาจารย์เจ้าของเนื้อหา ทุกคลิปเราจะตรวจถึง 3 ขั้นตอนเพราะเราต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาวิชาการให้ถูกต้อง เราซีเรียสว่า 1+1 จะเป็น 3 ไม่ได้ ต้องเป็น 2 ถือเป็นเรื่องดีที่ผ่านมาเราไม่มีความขัดแย้งกันเลย

ก้าวต่อไปของ Mahidol Channel และสื่อการศึกษาในไทย

อาจารย์แบงค์: ถึง Mahidol Channel จะอยู่ภายใต้มหิดลและผู้บริหารที่จะกำหนดนโยบาย แต่ผมมั่นใจว่าถ้าเราสร้างอิมแพ็คอย่างต่อเนื่อง เราไม่มีเหตุผลที่ต้องหยุด ในอีก 10 ปี 50 ปี 100 ปีข้างหน้า มหิดลยังมีบุคลากรที่พร้อมจะช่วยเหลือคน เพราะนี่คือปรัชญาและแก่นของมหาวิทยาลัย Mahidol Channel จึงเป็นช่องทางให้คนเหล่านั้นส่งต่อความรู้สู่สังคมได้มากและง่ายขึ้น

เป้าหมายที่เราซีเรียสที่สุดคือการเปลี่ยนพฤติกรรม เราให้ค่าสิ่งนี้มากกว่าคำชม เพราะคือเชื้อไฟที่ทำให้เราลุยทำเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง ผมจะพอใจมากถ้ามีคนอื่นทำแบบ Mahidol Channel บ้างไม่ว่าเป็นมหาวิทยาลัยไหน เพราะเรื่องนี้ดีกับทุกคน เป็นประโยชน์ต่อสังคมและทำให้สังคมดำเนินไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน

*หมายเหตุ เป็นการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560

website| Mahidol Channel
facebook| Mahidol Channel
youtube| Mahidol Channel

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ และ ทศพล แซ่จาง

AUTHOR