ตามไปช่วยชีวิตเต่า 4 ขาด้วย 2 ขาของเราในงาน #SeaYouTomorrowRun วิ่งคืนคุณค่าสู่ทะเล

Highlights

  • #SeaYouTomorrowRun วิ่งคืนคุณค่าสู่ทะเล คืองานวิ่งที่อยากสร้างพรุ่งนี้ที่ดีกว่าให้เต่าทะเล ด้วยการชวนทุกคนให้ออกมาวิ่งกัน รายได้จากการสมัครวิ่งมอบให้โรงพยาบาลเต่าทะเล ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ สัตหีบ และสนับสนุนหน่วยงานที่คืนคุณค่าสู่ทะเล กลุ่มจิตอาสา Sattahip Beach Defender กลุ่มจิตอาสา Green Road และกลุ่มจิตอาสา MAHASAMUT PATROL THAILAND
  • งานนี้มีการวิ่ง 10K มินิมาราธอน, 5K FUN RUN และพิเศษสุดๆ กับ 1K PLOGGING หรือการวิ่งเก็บขยะริมหาดดงตาล ชายหาดที่เกิดปัญหาเต่าทะเลวางไข่ไม่ได้เพราะมีขยะพลาสติกมากเกินไป
  • นอกจากจะได้ช่วยน้องเต่าด้วยการออกกำลังกายแล้ว ในงานยังมีเมนูขึ้นชื่อแสนอร่อยจากร้านดั้งเดิมของสัตหีบให้ลิ้มลอง รวมไปถึงวงเสวนาบนเวทีที่ช่วยป้อนอาหารให้สมอง ให้เราตระหนักถึงอันตรายจากพลาสติกที่ใกล้ตัวจนน่าตกใจ

ทุกครั้งที่เรารับถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อและทิ้งไปเมื่อใช้เสร็จ จะมีกี่คนที่รู้ว่าขยะพลาสติกเหล่านั้นมักไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมในชุมชนเมือง ทำให้เกิดการตกหล่นและปนเปื้อนสู่แม่น้ำและทะเล

และจะมีกี่คนที่รู้ว่าในหนึ่งวัน มีเต่าทะเลตายเพราะกินพลาสติกเข้าไปอย่างน้อย 1 ตัว

ปัญหาสัตว์ทะเลตายเพราะขยะได้รับความสนใจจากหน่วยงานในไทยและทั่วโลก รวมทั้ง บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ที่ได้ร่วมมือกับ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาชายฝั่ง จัดงาน #SeaYouTomorrowRun วิ่งคืนคุณค่าสู่ทะเล ขึ้นเพื่อให้สังคมตระหนักถึงปัญหาขยะชายฝั่งทะเลไทย ซึ่งนอกจากจะเปิดโอกาสให้นักวิ่งจากทั่วทุกสารทิศมาประชันความเร็วแข่งกัน งานนี้ยังบอกว่าทุกคนจะมีส่วนร่วมในการช่วยชีวิตเต่าทะเลและสัตว์ทะเลจากปัญหามลพิษในทะเลอีกด้วย

สารภาพตามตรงว่าเมื่อได้ฟัง เราจินตนาการไม่ออกว่าจะช่วยชีวิตเต่าทะเลจากการวิ่งได้ยังไง กระทั่งได้ไขข้อข้องใจว่าในงานนี้จะมีการวิ่งหลายแบบแบ่งตามระยะทาง ได้แก่ 10K มินิมาราธอน สำหรับนักวิ่งเชี่ยวสนาม, 5K หรือ FUN RUN สำหรับคนที่มาวิ่งสนุกๆ และสุดท้ายคือ 1K PLOGGING โปรแกรมวิ่งเก็บขยะริมชายหาดที่ออกแบบมาสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ 

เมื่อทราบข้อมูลแล้วก็ไม่รอช้า เราลงทะเบียนล่วงหน้า จ่ายเงิน (ซึ่งทุกบาททุกสตางค์นั้นมอบให้โรงพยาบาลเต่าทะเล ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ สัตหีบ และสนับสนุนหน่วยงานที่คืนคุณค่าสู่ทะเล กลุ่มจิตอาสา Sattahip Beach Defender กลุ่มจิตอาสา Green Road และกลุ่มจิตอาสา MAHASAMUT PATROL THAILAND) สิ่งที่ได้กลับมาคือ RUNNING RACE KIT ชุดอุปกรณ์ประกอบการวิ่ง ประกอบไปด้วยเสื้อวิ่งลายคลื่นทะเลสวยจากแบรนด์ Moreloop ซึ่งตัดเย็บจากผ้าส่วนเกินจากการผลิตตามแนวคิดทรัพยากรหมุนเวียน รู้มาว่าเสื้อหนึ่งตัวสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1.09 กิโลกรัม หรือเทียบเท่าระยะทางขับรถ 9.15 กิโลเมตรเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีถุงผ้าลดโลกร้อนและแก้วน้ำซิลิโคนแบบพับได้ ช่างเป็นไอเทมที่เข้ากับคอนเซปต์งานและส่งเสริมการนำกลับมาใช้ต่อเสียจริง

เราเดินทางไปถึงสัตหีบตั้งแต่ก่อนวันงาน แล้วเช้ามืดที่เรารอคอยก็มาถึง เพียงก้าวแรกที่เดินเข้าหน่วยอนุรักษ์พันธ์ุเต่าทะเลฯ สัตหีบ เราก็สัมผัสกับบรรยากาศครึกครื้นตามประสางานวิ่ง แต่ที่พิเศษกว่างานวิ่งทั่วไปคือ การได้ยินเสียงคลื่นซัดสาดหาดทรายคลอไปกับเสียงรองเท้าวิ่งกระทบพื้น ฟังแล้วรู้สึกฮึกเหิมอย่างน่าประหลาด

เสียงหวูดแตรลมดังเป็นสัญญาณปล่อยตัวนักวิ่ง 10K ที่เริ่มต้นก้าวขาตั้งแต่ฟ้ายังมืดอยู่ แต่เราไม่ได้เป็นหนึ่งในขบวนของพวกเขาหรอก เรามาที่นี่เพราะอยากเข้าร่วมไฮไลต์สำคัญคือการวิ่ง PLOGGING นั่นเอง

ไม่นานหลังจากปล่อยตัวนักวิ่งระยะทาง 10K ชาวนักวิ่ง PLOGGING ก็ชวนเราขึ้นรถสองแถวเพื่อนั่งไปหาดดงตาลด้วยกัน พอไปถึงที่นั่น เราพบกับวิทยากรกลุ่มจิตอาสา Sattahip Beach Defender มาสาธิตการเก็บขยะกันทีละขั้นตอน เมื่อสอนและแจกอุปกรณ์กันเสร็จสรรพ กองทัพนักเก็บขยะริมหาดก็ออกปฏิบัติการ

นำทีมโดย มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 ที่วันนี้ไม่ได้มาในชุดราตรีสวย แต่ออร่าความสง่ายังโดดเด้งออกมาพร้อมกับความมุ่งมั่นเก็บขยะอันแรงกล้าที่เราสัมผัสได้จากเธอ

“การที่เรามาเก็บขยะวันนี้ เราหวังว่าอย่างน้อยชายหาดนี้ต้องสะอาดขึ้น อาจจะแค่วันเดียว แต่มารีญาคิดว่าทุกคนที่มาร่วมงานในวันนี้จะช่วยไปเป็นกระบอกเสียง เพราะการได้มาลงมือเก็บขยะเองเราจะเห็นความยาก เห็นผลกระทบของขยะชิ้นหนึ่งที่มีต่อทะเล คิดว่าทุกคนที่มาเก็บขยะวันนี้จะกลับไปเปลี่ยนวิธีการใช้ถุงพลาสติกแบบเดิมๆ ที่บ้าน พอเขาได้เริ่มกับตัวเอง เพื่อนหรือครอบครัวเขาก็จะได้เรียนรู้ไปด้วย”

นอกจากนี้ เรายังได้เจอ รวิศ หาญอุตสาหะ นักเขียนและเจ้าของเพจ Mission To The Moon ที่มาช่วยเก็บขยะในงานนี้อีกแรง รวิศบอกว่ารู้สึกดีใจที่สิงห์ เอสเตทจัดงานนี้ขึ้นมา แต่มากกว่าความดีใจคือความตกใจที่ได้มาเห็นขยะบนหาดจริงๆ

“ผมค้นพบว่ามันโหดร้ายกว่าที่เราเห็น มันไม่ใช่ขยะเป็นชิ้นๆ วางอยู่ แต่มันฝังอยู่ในทราย ดึงขึ้นมาแล้วก็ขาด ผมเดินไปได้แค่ไม่กี่เมตรยังเก็บกันจนหอบ แล้วที่นี่น่าจะเป็นที่ที่เขาเก็บกันเป็นประจำอยู่แล้ว นั่นหมายความว่าที่ที่ถูกละเลยยังมีอีกเยอะมาก

“ผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ปัญหาใหญ่ต้องย่อยเป็นปัญหาเล็กๆ แล้วพยายามแก้กันไปทีละสเตป งานนี้จะอิมแพกต์ต่อไปได้ถ้าทุกคนค่อยๆ ช่วยกันทำ อย่างน้อยที่สุดผมเชื่อว่า ถ้าหลายคนที่มาวันนี้เล่าเรื่องนี้ในโซเชียลมีเดียของตัวเองก็น่าจะช่วยได้เยอะเหมือนกัน”

กว่า 1 ชั่วโมงที่เราใช้เวลาอยู่บนหาดดงตาล เราเห็นขยะมากมายถูกขุดขึ้นมาจากการช่วยกันคนละไม้คนละมือของนักวิ่ง บ้างขุดได้ บ้างก็เปื่อยในผืนทรายจนยากจะเก็บ เราเห็นภาพขยะที่กองรวมกันแล้วจินตนาการไปถึงทะเลที่ไม่รู้ว่ามีอีกกี่มากน้อยแล้วก็รู้สึกสลดใจกับภาพที่เห็น 

ก่อนวิ่งกลับ เราสัญญากับตัวเองว่าต่อไปนี้จะหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกให้ได้มากที่สุด และจะชวนคนใกล้ตัวให้ตระหนักถึงปัญหานี้ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป

เรากลับมาถึงจุดปล่อยตัวตอนฟ้าสว่างแล้ว ทักทายมาสคอตทั้ง 4 ตัวผู้เป็นสีสันของงาน อย่างเต่ามะเฟือง, วาฬบรูด้า, วาฬโอมูระ และฉลามวาฬ จากนั้นก็ต่อแถวอิ่มอร่อยไปกับแจงลอน (เมนูขึ้นชื่อจากร้านดั้งเดิมของสัตหีบ ลูกผสมระหว่างทอดมันกับลูกชิ้นเสียบไม้) และอาหารอีกหลายเมนูที่ยกทัพกันมาเสิร์ฟความอร่อยให้นักวิ่ง ทานเสร็จก็ไม่วายประทับใจกับจุดแยกขยะที่แบ่งถังขยะออกเป็น 4 ใบชัดเจน แถมยังมีป้ายเล็กๆ บอกว่า ขยะในมือของทุกคนนั้นจะนำไปคัดแยก รีไซเคิล และแปรรูปกลายเป็นไอเทมอย่างอื่น

เราอยู่งานต่อจนถึงช่วงสายเพื่อฟังเสวนา S talks จากผู้เชี่ยวชาญทางทะเลและวิทยากรที่มาให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาขยะ และได้มีโอกาสสนทนากับนักวิ่งมากหน้าหลายตา 

ต่อไปนี้คือเหตุผล ความประทับใจ และสิ่งที่พวกเขาได้จากงาน #SeaYouTomorrowRun วิ่งคืนคุณค่าสู่ทะเล

“ผมเป็นคนในพื้นที่ เมื่อก่อนชายหาดสะอาดกว่านี้ แต่พอคนมาเที่ยวก็เริ่มมีขยะเยอะขึ้น จะให้คนในท้องที่เก็บอย่างเดียวคงไม่ไหว ผมว่าเราต้องมีการปลูกจิตสำนึกกัน เอามาแค่ไหนก็เอากลับไปแค่นั้น 

“การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ทำให้ผมเห็นว่าทุกวันนี้ชายหาดมีขยะเยอะแค่ไหน ถ้าในอนาคตเราอยากให้ลูกหลานของเรามีทะเลสวยๆ ไว้มาเที่ยวเหมือนที่เราเคยมา เราก็ต้องช่วยกันเก็บขยะและช่วยกันอนุรักษ์ทะเลไว้”

บัญชา นาคะศิริ อายุ 37 ปี อาชีพ ทหารเรือ / ประเภท 1K PLOGGING

“ในฐานะพนักงานเครือบริษัทสิงห์ เราคาดหวังว่ากิจกรรมนี้จะกระตุ้นให้คนในสังคมเห็นความสำคัญของการจัดการขยะในชีวิตประจำวัน เพราะเราทิ้งขยะกันทุกวัน ซึ่งที่บริษัทก็รณรงค์เรื่องนี้เหมือนกัน ไม่ใช่แค่จัดกิจกรรมนี้กิจกรรมเดียว

“เราประทับใจมากที่มีคนมาร่วมเยอะมาก ทั้งที่จัดกิจกรรมในต่างจังหวัด ไม่คิดว่าจะมีจิตอาสามาร่วมเยอะขนาดนี้”

สมลักษณ์ แซ่ก๊วย อายุ 45 ปี อาชีพ พนักงานบริษัท แม็กซ์ ฟิวเจอร์ จำกัด / ประเภท 1K PLOGGING 

“งานวันนี้เปลี่ยนแปลงความคิดเราไปเลย เราคงใส่ใจเรื่องขยะมากขึ้น ไม่ทิ้งขยะเรี่ยราด และช่วยกันเก็บขยะให้ดีขึ้นกว่าเดิม”

“พอได้มาเก็บขยะจริงๆ เราได้เห็นว่าบางอย่างมันฝังลงไปในทรายเลย เช่น ถุงพลาสติกเปื่อยๆ ที่ดึงขึ้นมาแล้วขาด เราไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสัตว์ทะเลกินแล้วตาย ภาพนี้ทำให้เรามีจิตสำนึกมากขึ้น”

มนธิรา บุญเพ็ญ อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปี 2 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ โสภิดา ศุภเกียรติกุล อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปี 4 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ / ประเภท 1K PLOGGING 

“ผมมาจากทีมกรีฑาของโรงเรียนสิงห์สมุทร ชลบุรี วันนี้ได้รางวัลอันดับ 1 ประเภท 10K รุ่น 13-15 ปี นอกจากได้ออกกำลังกาย การมางานนี้ผมยังได้สนุกกับเพื่อน และยังประทับใจการนำทรัพยากรมาใช้ต่อ เช่น แก้วน้ำหรือเหรียญที่ทำมาจากวัสดุเหลือใช้”

ชวนันท์ เพชรทะเล อายุ 13 ปี นักเรียนจากโรงเรียรสิงห์สมุทร / ประเภท 10K มินิมาราธอน

“เราประทับใจสถานที่เพราะได้วิ่งริมทะเล และระหว่างทางวิ่งก็มีป่า มีต้นไม้เยอะ วิ่งไปก็เหมือนได้ชมวิวไปด้วย ไม่เหมือนวิ่งในกรุงเทพฯ ที่จะมีแต่ตึก นอกจากนี้เรายังชอบที่จุดประสงค์หลักของงานนี้ คือเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เหมือนเราไม่ได้วิ่งเอาสนุกเฉยๆ แต่เราได้สนับสนุนคนที่ทำเรื่องการอนุรักษ์เต่าทะเลด้วย”

ภุมริน ปทุมพรรุจี อายุ 25 ปี อาชีพ กองบรรณาธิการ / ประเภท 5K FUN RUN

“ผมตัดสินใจมางานนี้เพราะประเด็นเรื่องการช่วยกันอนุรักษ์ การรณรงค์ไม่ใช้พลาสติก และแฟนผมก็เป็นนักวิ่งอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เราจะสมัครมาอีเวนต์พวกนี้ เพราะอย่างน้อยก็เป็นการร่วมกันทำบุญ

“มางานนี้เราคาดหวังให้ทุกคนนำแนวคิดไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย ถ้าคนมีจิตสำนึก โลกก็จะดีขึ้น ผมประทับใจที่ในงานมีการให้ความรู้ มีงานเสวนาให้ฟังด้วย เพราะมันเป็นประโยชน์ต่อทุกคน”

พล.ร.ต. บัณฑิต สุนทรธนวัจน์ อายุ 58 ปี อาชีพ ทหารเรือ / ประเภท 10K มินิมาราธอน

“ผมมาจากกรุงเทพฯ พอดีว่าทางงานชวนมาออกบูทอาหาร เราเลยคิดว่ามาทั้งทีก็มาวิ่งด้วยเลยดีกว่า ขนกระเพาะปลามาด้วย วิ่งด้วย (หัวเราะ)

“อีกหนึ่งเหตุผลที่อยากมาสนับสนุนงานนี้คือ เราเห็นข่าวเต่าหรือพะยูนกินเศษพลาสติกแล้วตาย ทำให้รู้สึกเศร้ามาก ซึ่งข่าวนี้ทำให้เราปรับวัสดุที่ใช้ใส่อาหารด้วย คือใช้จานกระดาษและวัสดุย่อยสลายง่าย”

ประทีป ธรรมจง อายุ 43 ปี อาชีพ สถาปนิก / ประเภท 10K มินิมาราธอน

“เวลาคนนึกถึงขยะทะเล อาจนึกถึงถุงพลาสติกที่วางอยู่บนหาด แล้วคิดว่ามันจะไปเก็บยากอะไร แต่ที่วางอยู่เป็นส่วนน้อยเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง จริงๆ ยังมีที่จมอยู่ใต้ทราย ขุดยาก ดึงออกมาก็เปื่อย ไม่เป็นชิ้น เก็บยาก

“พลาสติกพวกนี้จะย่อย เปื่อย แตกเป็นชิ้นเล็กๆ พอลงไปสู่ทะเล หอย ปลาก็กิน เข้าไปในห่วงโซ่อาหาร แล้วมันก็กลับมาสู่สิ่งที่เรากิน มันก็กลับมาเป็นความเสี่ยงของพวกเราทุกคน องค์การอนามัยโลกก็บอกว่ามันคือความเสี่ยงของโรคร้ายมากมาย เพราะฉะนั้นเรื่องขยะทะเลมันไม่ใช่เรื่องของสัตว์ทะเลเท่านั้น แต่มันกำลังสร้างปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์”

ผศ. ดร.ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญทางทะเล พูดในการเสวนาบนเวที S talks 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชย์ สุนทโรสถ์

ช่างภาพหน้าหมี ผู้ชอบเพลงแจ๊สเป็นชีวิตจิตใจ