Upcycling the Oceans, Thailand โครงการที่เนรมิตขยะพลาสติกในท้องทะเลให้กลายเป็นสินค้าแฟชั่น

ทุกๆ ปีประเทศไทยทิ้งขยะกว่า 2 ล้านตันลงสู่ท้องทะเล ด้วยเห็นว่าปัญหาขยะล้นทะเลเป็นวิกฤตการณ์สำคัญที่ไม่อาจนิ่งนอนใจได้อีกต่อไป บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จึงมุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการจัดการกับขยะในท้องทะเล

เราอยากชวนไปทำความรู้จักกับโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ซึ่งเป็นโครงการที่จะคืนชีวิตพลาสติกที่ถูกทิ้งแล้วให้กลายเป็นสินค้าแฟชั่นมีมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด กระเป๋าเป้ และกระเป๋าถือ Tote bag

เชื่อว่ายุคนี้ไม่ว่าใครก็ต้องเคยได้ยินคำว่า ‘recycle’ หรือการแปรรูปวัสดุเหลือใช้และขยะให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง แต่ถ้าพูดถึง ‘upcycle’ หรือการ ‘upcycling’ ขึ้นมาล่ะ รู้มั้ยว่าคำคำนี้หมายถึงอะไร

จริงๆ แล้ว การ upcycling เป็นกระบวนการที่คล้ายคลึงกับ recycle นั่นคือการมอบชีวิตใหม่ให้กับวัสดุเหลือใช้ รวมถึงขยะที่นำไปแปรสภาพแล้วนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ในขณะที่การ upcycling จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของนั้นๆ ผ่านการดีไซน์ ใช้นวัตกรรม ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้ ไม่เพียงแต่จะสวยงาม ดูน่าใช้ แต่ยังมีคุณภาพ พร้อมกับมูลค่าที่สูงขึ้นนั่นเอง

การ upcycling ถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากปัญหาขยะล้นโลกได้กลายเป็นวิกฤตการณ์สำคัญที่ไม่อาจชะล่าใจได้อีกต่อไป สหประชาชาติระบุว่า ทุกๆ ปีมีขยะเกิดขึ้นกว่า 2.12 พันล้านตัน ซึ่งประเทศไทยเราถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงในทะเลมากที่สุดในโลก ด้วยปริมาณขยะกว่า 2 ล้านตันทุกๆ ปี เป็นรองแค่จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามเท่านั้น

ด้วยเห็นว่าปัญหาขยะล้นทะเลไม่ใช่เรื่องที่จะนิ่งนอนใจได้อีกต่อไป บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จึงได้มุ่งมั่นให้เกิดการบริหารจัดการขยะในท้องทะเล ผ่านกระบวนการ upcycling ที่จะแปรสภาพพลาสติกใช้แล้วให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า

“เราเชื่อว่าพลาสติกเป็นสิ่งจำเป็น เพราะถ้าไม่มีพลาสติกชีวิตคนย่อมต้องเปลี่ยนไป เราอยากให้คนทั่วไปเข้าใจว่าพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย GC จึงมองว่า ขยะพลาสติกสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ต้องไม่ใช่การ recycle ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพราะเราอยากให้มีการใช้ซ้ำเรื่อยๆ พร้อมเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น” วราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กรของ GC อธิบาย

ด้วยเหตุนี้ GC จึงได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมูลนิธิ ECOALF ประเทศสเปน ริเริ่มโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand เพื่อช่วยในเรื่องการลดจำนวนขยะในท้องทะเลผ่านกระบวนการ upcycling ที่จะแปรสภาพขยะให้กลายเป็นเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อยืด กระเป๋า และรองเท้า มาปรับใช้กับประเทศไทย

“เรามีการพูดคุยกันทั้งสามฝ่ายว่าจะเริ่มต้นโครงการได้ที่ไหนบ้าง โดยเราได้เลือกเกาะเสม็ดเป็นที่แรก เราเริ่มเก็บขยะครั้งแรกเมื่อปี 2560 มีอาสาสมัคร และนักดำน้ำมาช่วยเก็บขยะทั้งบนชายหาดและใต้น้ำ เราพบว่าขยะที่เกาะเสม็ดมีไม่น้อยเลย แล้วขยะที่เจอไม่ได้มีแค่ขวดพลาสติก แต่ยังมียางรถยนต์ และเศษแห อวนด้วย เราได้ขยะมาถึง 10 ตันหลังจากเก็บไปสักระยะหนึ่ง”

ภายใต้โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand GC นำขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลที่เก็บได้ไปแปรสภาพต่อเป็นเสื้อยืด กระเป๋าเป้ และกระเป๋าถือ Tote bag ด้วยนวัตกรรมการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ที่จะเปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลายเป็นเส้นใยผ้าที่ถักทอได้ไม่ต่างจากเส้นใยธรรมชาติแต่อย่างใด วราวรรณเล่าว่า นวัตกรรมนี้จะช่วยเปลี่ยนขวดพลาสติกจำนวน 14 ขวดให้เป็นเสื้อยืด 1 ตัว หรือกระเป๋าเป้ 1 ใบได้ ส่วนถุงพลาสติกจำนวน 43 ถุงก็สามารถแปรรูปเป็นกระเป๋าถือ Tote bag ได้ 1 ใบนั่นเอง

“เราเชื่อมั่นว่าพลาสติกมีทางออก ถ้าเรามีนวัตกรรมทางความคิด และการออกแบบ เราจะสามารถเปลี่ยนพลาสติกให้เป็นผลิตภัณฑ์และสินค้าแฟชั่นมากมายแทนที่จะทิ้งไปเลย เราเลือกจะนำพลาสติกกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่” วราวรรณกล่าวด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่

นอกจากโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand แล้ว GC ยังมีโครงการอื่นๆ ที่จะปลูกฝังจิตสำนัก และส่งเสริมพฤติกรรมการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง เช่น โครงการโรงเรียนธนาคารขยะ ที่ GC ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยจัดการข้อมูลธนาคารขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับนักเรียนในเรื่องการแยกขยะ โดยเด็กๆ จะนำขยะแต่ละชนิดมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินออมในสมุดบัญชีของพวกเขา ทั้งนี้โครงการธนาคารขยะถือยังเป็นโครงการนำร่องที่กำลังทดลองใช้กับโรงเรียน 10 แห่งในจังหวัดระยองเท่านั้น

“GC อยากจะเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตแบบหมุนเวียน (Circular Living) เพราะเราเป็นต้นทางการผลิตพลาสติก เราไม่สบายใจที่จะเห็นว่ามีพลาสติกในท้องทะเล ไม่เพียงแต่ในองค์กรเท่านั้น แต่ GC อยากจะร่วมมือกับผู้บริโภคเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้มีการใช้พลาสติกอย่างถูกต้อง”

วราวรรณเล่าว่า ในช่วงสองปีมานี้มีความตื่นตัวในเรื่องการ upcycling ขยะพลาสติกเป็นอย่างมาก ยิ่งพอสังคมเริ่มเห็นว่า ขยะที่ไร้ราคาสามารถเปลี่ยนเป็นสินค้าแฟชั่นที่มีมูลค่า กระบวนการ upcycling และการใช้พลาสติกหมุนเวียนจึงกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

“ตอนนี้เริ่มมีการรับรู้เรื่องการ upcycling มากขึ้น ทั้งในชุมชนเองหรือในกลุ่มนักเรียน นิสิตนักศึกษา และคนวัยทำงาน หลายๆ ประเทศในเอเชียเองก็เริ่มมีความพยายามในเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งหลังจากที่ GC ได้มีการพูดคุยกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เราพบว่า ประเทศไทยเริ่มมีคัดแยกขยะและ upcycling ก่อนหลายๆ ประเทศด้วยซ้ำ เราเชื่อในศักยภาพของสังคมไทย ถ้ามีการร่วมมือที่ดีระหว่างภาครัฐและเอกชน มีโปรแกรมนำร่อง และมีโมเดลต้นแบบที่ดี สร้างความตระหนักรู้ว่าพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขอแค่ให้ใช้อย่างถูกวิธีและคิดก่อนทิ้งก็เท่านั้น”
วราวรรณทิ้งท้าย

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!